Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac (ข่าว และ ความเห็นทางการแพทย์)

ศาลฎีกา พิพากษากลับ สั่ง หมอ-รพ.เเพทย์รังสิต ชดใช้ครอบครัวคนไข้ปวดขาถูกเเพทย์ฉีดยาเเต่เเพ้จนตายเมื่อปี 2560 กว่า 1.5 ล้านพร้อมดอกเบี้ย
15 ก.ย. 2565 - 15:28 น.
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7267379

วันที่ 15 ก.ย.2565 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ ผบ.78/2561 ที่ นางอำพร กระตุดนาค, นายชาตรี ศรีชนะ, ด.ช.ภาคิณ ศรีชนะ เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม, บริษัทปทุมรักษ์ จํากัด, แพทย์ผู้ทำการรักษา เป็นจำเลย 1-3 ในความผิดฐานละเมิด

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1-3 ป็นมารดา สามี และบุตร ของ น.ส.วนิดา ทองเวียน ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้จัดหาสถานพยาบาลให้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมใช้บริการ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ประกอบธุรกิจให้บริการสถานพยาบาลชื่อโรงพยาบาลแพทย์รังสิต และ ให้บริการผู้ใช้สิทธิประกันสังคมภายใต้การควบคุมคุณภาพของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ผู้ตายใช้สิทธิประกันสังคมรักษาโรคหอบหืดซึ่งเป็นโรคประจำตัวและอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2560 ผู้ตายเข้ารับการรักษากับจำเลยที่ ด้วยอาการปวดขา จำเลยที่ 3 วินิจฉัยว่าเป็นโรคเส้นเอ็นอักเสบ จึงสั่งยาฉีดไดโคลฟีแนค ฉีดให้แก่ผู้ตาย พร้อมทั้งให้ยานอร์จีสิก, บรูเฟน และทรามอล ไปรับประทาน ผู้ตายได้รับการฉีดยาเวลา 18.16 น.แล้วรับยาอื่นและออกจากโรงพยาบาลเวลา 18.30 น. เมื่อกลับถึงบ้านยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และยังไม่ได้รับประทานยา ผู้ตายมีอาการขาอ่อนแรง หายใจไม่ออก และแน่นหน้าอกแล้วหมดสติไป

พี่สาวผู้ตายนำผู้ตายส่งโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ที่อยู่ใกล้บ้านเมื่อเวลา 19.30 น. ผู้ตายความดันโลหิตตก โคม่า ไม่หายใจ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ สมองเสียหาย ม่านตาสองข้างขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสง ต่อมาถูกนำส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตและเข้ารักษาในห้องไอซียูโดยใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ผลการเอกซเรย์สมองเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2560 พบว่าสมองบวม ก้านสมองตาย และเสียชีวิตในวันที่ 12 ส.ค.2560

การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการรักษาโรคด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นแพทย์ผู้รักษาโรคจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย กล่าวคือ จำเลยที่ 3 สั่งฉีดยาไดโคลฟีแนคซึ่งเป็นยาที่ไม่ควรใช้ในคนไข้โรคหอบหืดให้แก่ผู้ตาย ที่มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด และไม่ได้สั่งให้เฝ้าดูอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดยา เช่น อาการแพ้ยา หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ความดันโลหิตตก

ซึ่งปกติต้องเฝ้าดูผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 15 นาที และให้ผู้ป่วยนั่งคอยอีก 15 นาที จึงให้กลับออกจากโรงพยาบาล เป็นเหตุให้ผู้ตายแพ้ยารุนแรง หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก จนเสียชีวิต จำเลยที่ 3 จึงกระทำละเมิดและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม โดย จำเลยที่ 1, 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายเป็นลูกจ้างบริษัทฝาจีบ จำกัด มีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท ผู้ตายอายุ 27 ปี มีโอกาสทำงานอีก 33 ปี คิดเป็นเงิน 5,940,000 บาท

ผู้ตายเคยให้เงินแก่โจทก์ที่ 1 ตามหน้าที่บุตรเดือนละ 8 พันบาท โจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 33 ปี คิดเป็นเงิน 3,168,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นสามี และโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของผู้ตายต้อง ขาดไร้อุปการะ เฉลี่ยคนละวันละ 300 บาท เป็นเงินเดือนละ 9 พันบาท จนถึงโจทก์ที่ 2 มีอายุ 60 ปี เป็นเวลา 34 ปี คิดเป็นเงิน 3,672,000 บาท และจนโจทก์ที่ 3 บรรลุนิติภาวะเป็นเวลา 20 ปี คิดเป็นเงิน 2,160,000 บาท ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นในการจัดพิธีศพผู้ตาย 2 เเสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,140,000 บาท

ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้ง 3 ยื่นขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต โดยศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์เเผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้ง 3 ยื่นฎีกา ศาลฎีกาเเผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา วันนี้โจทก์ทั้ง 3 ผู้รับมอบอำนาจจำเลยมาศาลพร้อมทนายความ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นสรุปว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 2-3 ไม่ปรากฏว่า นอกจากยากลุ่มเอ็นเสดแล้ว ไม่มียาอื่นที่จะนำมาใช้รักษาอาการปวดของผู้ตายได้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับว่าอาการปวดของผู้ตายไม่มากถึงขนาดจำเป็นต้องฉีดยา จำเลยที่ 3 จึงสมควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตายโดยหลีกเลี่ยงการให้ยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หากจำเป็นต้องให้ยาดังกล่าวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ควรต้องให้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

แต่ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่า ผู้ตายไม่ได้มีอาการปวดรุนแรง จึงไม่ได้ติดตามอาการหลังฉีดยา แสดงว่าจำเลยที่ 3 สั่งยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อให้แก่ผู้ตาย โดยไม่ได้สั่งให้มีการเฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์หลังฉีดยา ที่พยานจำเลยซึ่งเป็นพยาบาลผู้ฉีดยาให้แก่ผู้ตายเบิกความว่า หลังจาก ฉีดยาเสร็จพยานให้ผู้ตายนอนพักที่เตียงเพื่อสังเกตอาการประมาณ 10 นาที จากนั้น ได้สอบถามอาการจากผู้ตายทราบว่าอาการดีขึ้นและผู้ตายได้เดินออกไปรับยาที่ห้องจ่ายยานั้น

ปรากฏจากสำเนาบทความตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยาว่า การฉีดยาไดโคลฟีแนคเข้ากล้ามเนื้อยาจะออกฤทธิ์ภายใน 10-22 นาที สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ยาที่ฉีดให้ผู้ตายจะออกฤทธิ์ ประมาณ 10-30 นาที ดังนี้ แม้จะฟังว่าพยาบาลผู้ฉีดยาได้เฝ้าระวังอาการหลังฉีดยาของผู้ตายจริงก็เป็นการใช้เวลาในการเฝ้าระวังไม่เพียงพอต่อการประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการฉีดยา

พยานหลักฐานจำเลยที่ 2-3 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 ให้การรักษาผู้ตายซึ่งมีอาการหอบหืดด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และไม่ได้สั่งให้เฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นหลังฉีดยาเป็นการให้การรักษาที่ เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า หลังผู้ตายเสียชีวิต จำเลยที่ 3 ได้ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังแพทยสภาแล้ว แต่ไม่เคยถูกเรียกไปสอบสวน และไม่เคยถูกลงโทษนั้น

เห็นว่าเเม้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภาฯตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวช กรรม ชุดที่ 7 ซึ่งเห็นสอดคล้องกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยที่มีความเห็นว่า จำเลยที่ 3 ให้การรักษาผู้ตายด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นยาเดิมที่ผู้ตายเคยได้รับ และเฝ้าสังเกตอาการเบื้องต้นไม่มีภาวะแทรกซ้อนจึงให้กลับบ้าน เป็นการให้การรักษาถูกต้องเหมาะสมตามภาวะวิสัย และพฤติการณ์ในขณะนั้นแล้ว แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้มติของคณะกรรมการแพทยสภามีผลผูกพันศาลในการวินิจฉัยคดี มติของคณะกรรมการแพทยสภาเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง

หากมติดังกล่าวได้มีการพิจารณากันอย่าง รอบด้านจากข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและมีมติตามความเห็นที่สมเหตุสมผลย่อมเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟังประกอบการวินิจฉัย แต่มติของคณะกรรมการแพทยสภาที่ส่งมายังศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่มีรายละเอียดพอที่จะพิจารณาว่าเป็นไปดังที่ได้กล่าวมาหรือไม่ เพียงใด จึงไม่มีน้ำหนักให้นำมารับฟัง

เมื่อจำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการให้การรักษาผู้ตายของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิดต่อผู้ตาย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย

ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า สั่งให้ฉีดยาไดโคลฟีแนค แก่ผู้ตายเพราะผู้ตายยืนยันให้ฉีดยานั้นเห็นว่า ผู้ป่วยทั่วไปรวมทั้งผู้ตายซึ่งไม่มีความรู้ ทางการแพทย์ย่อมไม่อาจทราบถึงอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการใช้ยา การจะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึง ถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หาจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกเหตุที่สั่งฉีดยาตามคำยืนยันของผู้ตายมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้

ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต การที่จำเลยที่ 3 มานั่ง ตรวจรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิตแม้จะมาเป็นครั้งคราวและได้รับค่าจ้างจาก จำเลยที่ 2เป็นรายชั่วโมง แต่เป็นการตรวจรักษาผู้ป่วยในนามของโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตรวจรักษาผู้ตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทน ของตนได้กระทำไปในการตรวจรักษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับ จำเลยที่ 2, 3 นั้น

ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นพิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และ 3 ร่วมกันชำระค่าปลงศพ 5 หมื่นบาท แก่โจทก์ทั้ง 3 ค่าขาดไร้อุปการะ 5 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 1 ค่าขาดไร้อุปการะ 3เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 2 และค่าขาดไร้อุปการะ 7 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ม.ค.61) ถึงวันที่ 10 เม.ย.64 และอัตรา ร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

นางอำพร กระตุดนาค กล่าวทั้งน้ำตาและขอบคุณศาลฎีกาว่า ได้เมตตาและมีคำพิพากษากลับให้ตนชนะคดี ตนได้พยายามขอความช่วยเหลือทั้งจากสภาทนายความ หน่วยงานของรัฐมาโดยตลอดหลายปี ตนเหนื่อย ท้อแท้และยากลำบากอย่างมากในการต่อสู้คดีแพทย์ มีกำลังใจต่อสู้มาตลอดก็เพราะเป็นห่วงอนาคตหลาน ตนก็ทำงานหาเช้ากินค่ำไปวัน ๆ และมาเจอในสถานการณ์โรคระบาดอีก ขอบคุณศาลฎีกาจริง ๆ

ด้าน นายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน ทนายความ กล่าวว่า ต้องขอบคุณศาลฎีกาที่เมตตาเช่นกัน และศาลฎีกาได้วางหลักสำคัญไว้หลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องการฉีดยารักษาย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ เป็นการจบข้อถกเถียงเพราะศาลฎีกาตัดสินแล้ว และได้เป็นแนวทางการวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในยุคที่ประชาชนต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคต่า งๆ และแพทย์จะได้กรุณาระวังมากยิ่งขึ้นด้วย

นายภิญโญภัทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนความยากลำบากของการต่อสู้คดีแพทย์นั้น ตนเห็นว่าเป็นปัญหาที่มีมานาน ตนเห็นใจทุกฝ่าย แต่เพราะความสูญเสีย เสียหาย หรือความพิการ จะตกอยู่กับฝ่ายผู้เสียหายทางแพทย์มาโดยตลอด กว่าจะได้เยียวยาก็เนิ่นนาน ตนเป็นทนายพยายามสู้จนอุทธรณ์ฎีกา สู้ตั้งแต่อุ้มลูกผู้ตายมาศาล จนลูกผู้ตายวิ่งได้แล้ว มันเป็นหน้าที่ และต้องขอบคุณทางประกันสังคมด้วยที่ได้เยียวยาเบื้องต้นโจทก์ในคดีนี้

......................................................

ต่อไปนี้ จะเป็น ความเห็น ทางการแพทยื ที่ "ผม" คัดลอกมาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาแง่มุมของกฎหมาย กับ แนวทางการทำงานของแพทย์ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง วิธีการทำงาน ให้เหมาะสมมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ..



อำนาจ กุสลานันท์
15 กันยายน

วันนี้ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ (จากที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นยกฟ้อง) ให้แพทย์และรพ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ตาย 1.5 ลบ.พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่เกิดเหตุในปี 2560
เป็นกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac โดยฉีดเวลา 18.16 น.แล้วออกจากรพ.18.30 น.ต่อมาเกิด  anaphylactic shock ถูกนำส่งรพ.รักษาและในที่สุดเสียชีวิต
ในคำพิพากษาฎีกาให้เหตุผลที่สำคัญไว้ 3 ประการคือ
1.แพทย์ยอมรับว่าอาการปวดขาของผู้ป่วยไม่รุนแรง
2.ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด
3.ไม่เฝ้าดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด 15 นาทีแล้วให้นั่งคอยที่รพ.อีก 15 นาที

การต่อสู้คดีในศาลนั้นมีโอกาสที่จะแพ้หรือชนะโดยพลิกกลับไปมาได้เสมอ ยาทุกตัวมีโอกาสแพ้รุนแรงได้ทั้งสิ้นแม้รายนี้ได้เคยฉีดมาแล้วไม่แพ้ก็ตาม

ดังนั้นแพทย์จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรักษาให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ โดย
1.ฉีด diclofenac เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
2.หลังฉีดต้องเฝ้าดูอาการผู้ป่วยอย่างน้อย 15 นาทีและให้อยู่ที่สถานพยาบาลอีกอย่างน้อย 15 นาทีรวมเป็นอย่างน้อย 30 นาที จึงจะให้กลับได้

ด้วยความรักและความห่วงใย
ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
อดีตนายกแพทยสภา
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02a7UvmM2jTAvLJKMKuyaci8unypdqBHRRJ5E6YYwD6A93t1yFnUGwMxUF9PtCp1Zvl&id=100027617971731

หลังจากได้อ่านคำพิพากษาฎีกาคดี diclofenac แล้ว
ผมมีคำแนะนำสำหรับเพื่อน ๆ เพิ่มเติมอีกครั้งดังนี้ครับ
1. หลังฉีดยาทุกชนิดต้อง observe อย่างน้อย 30 นาทีเสมอ ถ้าผู้ป่วยปฏิเสธต้องให้ลงนามไว้
2. เมื่อเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้นในการรักษาแล้วเสียชีวิตควรต้องทำ autopsy เสมอเพื่อพิสูจน์ว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด
3. ต้องมีการนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นกลางในสาขานั้น ๆ เสมอเพื่อให้เห็นว่าแพทย์ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพภายใต้ข้อจำกัดตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่มีอยู่ในขณะนั้นแล้วหรือไม่

ด้วยความรักและปรารถนาดี
ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid021jWEd2y9NNbndEL4rJKGCrJBsYBmGT53DqxeZqsbpfTY7zAvZTrroDQ8HiwX4d81l&id=100027617971731

..........................................

Chat-san Cvs
17 กันยายน

ฎีกานี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายเรื่อง

(1)
"ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า สั่งให้ฉีดยาไดโคลฟีแนค แก่ผู้ตายเพราะผู้ตายยืนยันให้ฉีดยานั้นเห็นว่า ผู้ป่วยทั่วไปรวมทั้งผู้ตายซึ่งไม่มีความรู้ ทางการแพทย์ย่อมไม่อาจทราบถึงอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการใช้ยา การจะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึง ถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หาจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกเหตุที่สั่งฉีดยาตามคำยืนยันของผู้ตายมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้"

(1.1) ถ้าใครประกอบวิชาชีพแพทย์ แพทย์(เกือบ)ทุกคน จะต้องเจอ คนไข้หรือญาติ
"หมอ.. ขอฉีดยา" "ขอยาฉีดจะได้หายไว ยากินไม่ดี" "ไม่มีแฮง อยากได้ยาเพิ่มแรง" ฯลฯ
(1.2) ผู้ป่วยมักจะเรียกร้องนั่นนี่ เพื่อให้หมอทำตามความต้องการของคนไข้ .. ถ้าไม่ทำตาม ก็จะไม่กลับ บางคนก็จะขู่ฟ้องหมอ
(1.3) จะเห็นว่าศาลพิจารณาว่า "การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึง ถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หาจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่"

น่าจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ได้ว่า ถ้าแพทย์ลงความเห็นว่าไม่ฉีด คนไข้ก็จะเรียกร้องไม่ได้ อ้างฎีกานี้ไป
เพราะฉะนั้น Dexa+linco 5DS+Vitamin Diclifenac/Tramadol IM ฯลฯ ที่คนไข้ชอบขอ
คราวนี้ แพทย์สามารถอ้างฎีกานี้ได้ในการไม่ทำตามคำขอ

(2)
"จากสำเนาบทความตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยาว่า การฉีดยาไดโคลฟีแนคเข้ากล้ามเนื้อยาจะออกฤทธิ์ภายใน 10-22 นาที สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ยาที่ฉีดให้ผู้ตายจะออกฤทธิ์ ประมาณ 10-30 นาที ดังนี้ แม้จะฟังว่าพยาบาลผู้ฉีดยาได้เฝ้าระวังอาการหลังฉีดยาของผู้ตายจริงก็เป็นการใช้เวลาในการเฝ้าระวังไม่เพียงพอต่อการประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการฉีดยา"

(2.1) การเฝ้าระวังหลังการให้ยา จะไม่ควรใช้ตามการปฏิบัติของโรงพยาบาลนั้น ๆ แล้ว อย่าง รพ. นี้เฝ้าระวัง 10 นาที แล้วไปรับยา มันไม่เพียงพอในความเห็นศาล
(2.2) การเฝ้าระวังหลังการให้ยา ตามมาตรฐานศาลคือจะต้องเฝ้าระวัง จนครบ Onset / Duration ของยานั้น

... กลายเป็นว่าคนไข้ที่ได้ยา จะต้อง observe นานขึ้น ถ้าได้ยา long acting สิ่งที่ตามมาคือ ปลอดภัยมากขึ้น แลกกับคนไข้ล้นโรงพยาบาล D/C ไม่ได้
... ถ้าคนไข้รีบร้อนอยากกลับ ก็ห้ามกลับ ไม่งั้นต้องเซ็นปฏิเสธการรักษา ต้องอยู่ตามให้ครบตาม Pharmacokinetic ของยา

(3)
"ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นสรุปว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 2-3 ไม่ปรากฏว่า นอกจากยากลุ่มเอ็นเสดแล้ว ไม่มียาอื่นที่จะนำมาใช้รักษาอาการปวดของผู้ตายได้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับว่าอาการปวดของผู้ตายไม่มากถึงขนาดจำเป็นต้องฉีดยา จำเลยที่ 3 จึงสมควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตายโดยหลีกเลี่ยงการให้ยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หากจำเป็นต้องให้ยาดังกล่าวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ควรต้องให้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ"

(3.1) คนไข้สิทธิ์การรักษาประกันสังคม หรือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในตอนนี้ ไม่สามารถเบิก ยา NSAIDs กลุ่ม COX-2 inhibitors ได้ แม้ว่ายานี้จะ มี local made ราคาถูกแล้ว
(3.2) คนไข้ที่มีข้อห้ามในการใช้ NSAIDs เช่น Asthma, ประวัติ GI Ulcers ฯลฯ แต่ยังพอใช้ COX-2 inhibitors ได้ และไม่ได้ปวดถึงขั้น จะใช้ Weak opioid, Opioids อยากจะใช้ COX-2 inhibitors ก็ไม่ได้
จะให้แพทย์สั่งอะไร ในเมื่อบัญชียาไม่อนุญาต (ถ้าอนาคตอนุญาตแล้วขอขอบคุณผู้แก้ไข ด้วย)
(3.3) รวมยาฉีดแก้ปวด
-Paracetamol IV ... เบิกไม่ได้
-Diclofenac IM ... เบิกได้ แต่ห้ามใช้ Asthma
-Ketorolac IV ... เบิกไม่ได้(บาง รพ.) ห้ามใช้ Asthma
-Parecoxib IV ... เบิกไม่ได้
-Tramadol IM/IV ... เบิกได้ แต่ต้องระวังคลื่นไส้อาเจียน แก่หน่อยระวัง delirium หรือ ถ้ามีกินยาอื่นต้องระวัง serotonin syndrome
-Morphine/Pethidine/Fentanyl IV ... เบิกได้ แต่ยาฤทธิ์แรง อันตราย
-Nefopam IV ... เบิกไม่ได้
ฯลฯ

จะให้แพทย์ใช้อะไร ถ้าไม่มีให้ใช้ เพราะเบิกไม่ได้ สามารถบังคับให้คนไข้จ่ายเงินได้หรือไม่ อย่างไร 🤔

https://www.facebook.com/chatsans/posts/pfbid033mfmM6h8S5TzGyhBkDFoeeDWPxKEGaYRZtMLKa3J1V2F3idgvj1fbEBUDhxZguFGl

.......................................................................

Methee Wong
23 กันยายน

เท่าที่บอกได้ก่อนสำหรับคดี Diclofenac (อ้างอิงจากฎีกาเป็นหลักเท่านั้น)
ไม่ว่าอย่างไร คดีคือถึงที่สุดตามนัยยะของกระบวนการทางกฎหมาย
คงต้องรอรายละเอียดฉบับเต็มที่ประกอบด้วยคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ตลอดจนคำเบิกความพยานทั้งสองฝ่าย ว่าอะไรที่คู่ความสองฝ่ายรับ อะไรไม่รับ
รายละเอียดtimelineนี้ สรุปจาก ฎีกา และเอกสารของแพทยสภาเท่านั้น ยังขาดอีกหลายส่วน  สำหรับ ท่านที่ไม่อยากอ่านฎีกาทั้งฉบับ ...ก็ดูจากtimelineนี้ได้  ..
ขออนุญาตไม่พูดถึงรายละเอียดคำพิพากษาจนกว่าจะได้ครบทั้งสามฉบับจากสามศาล แต่สิ่งที่เห็นแน่ ๆ คือ อย่างน้อยศาลฎีกาก็ผ่อนหนักเป็นเบาในแง่ของการจ่ายสินไหมทดแทนโดยมีแนวทางการตัดสินผ่อนหนักเบาตามที่สรุปไว้ให้ในรูป และทุกรพ.คงต้องทำบันทึกไว้เป็นแนวทางการผ่อนหนักเบา
ที่ต้องใส่ใจและเห็นชัดว่าเป็นจุดสลบในคดีนี้คือ

- อะไรคือสาเหตุการตายกันแน่ เพราะประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นที่ถือเป็นจุดตายของคดี(ญาติไม่ยอมให้ชันสูตร แต่กลับไปฟ้องโดยมีประเด็นแพ้ชนะที่สาเหตุการตาย)

- การอ้างอิงเอกสารแพทยสภา อาจมีปัญหา เพราะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นใช้สำหรับแพทย์ด้วยกันอ่าน อุปมาเหมือนคนไข้มาขอใบรับรองแพทย์ตรวจร่างกายโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเอาไปทำอะไร  แต่แพทย์กลับมาทราบทีหลังว่าจะเอาไปทำนิติกรรมสำคัญ ซึ่งหากแพทย์ทราบก็จะตรวจร่างกายพิเศษบางอย่างหรือส่งให้ผู้ชำนาญการออกให้แทน

- บันทึกการเฝ้าระวังสำหรับการฉีดยา ซึ่งเป็นจุดตายในคดีนี้ ไม่ปรากฎในสำนวนฎีกา ...มีหรือไม่มี ถ้ามีหายไปไหน   ถ้าไม่มี..เพราะอะไรจึงไม่มี....ไม่ได้เฝ้า เฝ้าแต่ไม่ได้เขียน หรือผู้ป่วยปฏิเสธการเฝ้าระวังซึ่งเป็นอีกปัญหาที่พบกันเป็นประจำและรพ.ก็บังคับไม่ได้เพราะไม่อยากมีเรื่องกับผู้ป่วย(ลูกค้า!!)ที่มักไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้  ....

- ที่เห็นได้ชัดจากฎีกา การต่อสู้ฝั่งจำเลยไม่รู้ใครเป็นช้างเท้าหน้า ...เหมือนพาหมอลงเหว....ไม่นำพยานเอกสารวิชาการขึ้นสู่ศาล ...ไม่นำพยานผุ้เชี่ยวชาญคนกลางขึ้นสู่ศาล ทั้ง  ๆที่แพทยสภาให้ความรู้เรื่องนี้ผ่านการอบรมทั้ง onsite และ online หลายครั้งแล้ว...เหมือนแพ้ technical knockout ยังไงยังงั้น

- สิ่งที่ยังตอบไม่ได้คือ อะไรเป็นเหตุให้ศาลชัั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งสองศาลพร้อมใจกันยกฟ้อง  และทำไมศาลฎีกาถึงกลับคำพิพากษา

ผลที่ได้จากคำพิพากษานี้ อาจเกิดปรากฎการณ์ "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว...the butterfly effect"  ...คาดว่า Diclofenac คงถูกทำแท้งโดยสมบูรณ์หลังคำพิพากษานี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นสภาการพยาบาลออกคำสั่งพยาบาลห้ามฉีดยาตัวนี้ เพราะเกิดกรณีฉีดโดนsciatic nerve

และอาจเลยเถิดถึงขนาดห้ามฉีดยาทุกตัว หรือต้องให้แพทย์มาเฝ้าระวังเอง แล้วจะเอาคนจากไหนมาเฝ้าระวัง เพราะคนที่เฝ้าได้ หากไม่ใช่แพทย์ก็ต้องพยาบาล เพราะการเฝ้าระวังถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และ การพยาบาล  .......จะให้คนอื่นมาทำ อาจโดนข้อหาประมาทหรือทำผิดกฎหมายได้

ถ้าได้คำพิพากษาทั้งสามศาล และคำเบิกความสองฝ่าย คงสรุปได้ละเอียดกว่านี้มาก

รูปสุดท้าย เป็นกระบวนการต่อสู้คดีที่ควรจะเป็นไปตามแนวทางนี้ แม้จะเป็นกระบวนการของรพ.รัฐบาล แต่หลายอย่างปรับไปใช้ในภาคเอกชนได้ โดยเฉพาะเรื่องการนำความเห็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพยานคนกลางที่เชี่ยวชาญจริงและต้องเป็นคนกลางขึ้นสู่ศาล ...ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการหักล้างพยานอีกฝ่ายในชั้นศาล...และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพ้คดีนี้ เพราะทนายจำเลยไม่ทำตามกระบวนการในdiagramนี้....

แพทยสภา แพทยสภา แพทยสภา อาคารสภาวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข  จัดอบรมเรื่องนี้ไปหลายครั้ง  แต่ปัญหาเดิม ๆ และจุดอ่อนที่เคยชี้ให้เห็น ก็วนกลับมาอีก

ปล.ถ้าได้คำพิพากษาสามศาลครบ ค่อยมาupdateอีกครั้ง

แต่ยังกังวลกับกระบวนการพิจารณาคดี ที่ถือเป็นคดีผู้บริโภค แต่ดูเหมือนแนวทางการพิจารณาคดีจะออกไปทางระบบกล่าวหา ไม่ใช่ระบบไต่สวนเต็มรูปแบบตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย....คงเพราะการจะไต่สวนจำเป็นต้องได้ผู้มีความรู้จริงในประเด็นที่จะไต่สวนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตลอด ... ระบบแพทยสภาจึงถูกออกแบบให้เป็นระบบไต่สวนและรัดกุมมากโดยไต่สวนเป็นองค์คณะ ประกอบกับองค์คณะสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง โดยไม่ต้องฟังแต่โจทก์หรือจำเลย ก่อนจะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน องค์คณะจะแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพิ่มเติมได้ด้วยตนเองก่อน ..... แต่ระบบนี้กลับถูกคนนอกมองว่าเป็นการช่วยเหลือแพทย์โดยแพทย์......... ทั้ง ๆที่จริง ๆ แล้วก็เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย...หากกระบวนการไต่สวนพบว่าแพทย์เป็นฝ่ายพลั้งพลาดก็คงต้องรับผิดชอบตามสมควร    แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าแพทย์ที่สุจริตถูกแพทยสภาตัดสินว่าผิด เพียงเพราะสู้คดีไม่เป็น หรือสู้ไม่ดี   ...

หรือแพทยสภาอาจต้องสัมมนาให้ความรู้แพทย์และรพ.ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเหล่านี้อีก  

https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/pfbid0W8PpnVGgchDUk92iT9VmSg9rMLUYCAR1iYeEcrzX3ftN7sFms42uujLZBToxmkj9l






..............................................................
 
กรณีคดีแพทย์ให้ฉีด diclofenac ต่อมาคนไข้เสียชีวิต สุดท้ายศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยฝั่งแพทย์มีความผิดต้องชดใช้เงิน ผมได้อ่านคำพิพากษาตัวเต็มแล้ว ผมขอสรุปเนื้อหา และแนะนำสิ่งที่อาจมีประโยชน์ต่อแพทย์ให้ครับ
คนไหนขี้เกียจอ่านดูที่ **** พอครับ
 
1. คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค ดังนั้นภาระในการพิสูจน์จึงตกที่จำเลยฝั่งแพทย์ ถ้าจำเลยนำสืบไม่พอก็มีโอกาสแพ้สูงมาก ซึ่งคดีนี้ผมเห็นว่าทนายจำเลยไม่ได้นำพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง (แพทย์ที่ไม่ใช่จำเลย) หรือเอกสารทางวิชาการ มานำสืบเลย รวมทั้งนำสืบบางประเด็นไม่ครบ ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาในรูป 1 และ 2
 
2. ประเด็นสำคัญอีกข้อ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาก่อนที่จะมีคำตัดสินจากแพทยสภาด้วย ดังนั้นผมคิดว่า จำเลยนำสืบไม่ครบจริงๆ เพราะยิ่งไม่มีมติจากแพทยสภา ยิ่งต้องนำสืบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะไม่รู้มติแพทยสภาที่มาภายหลังจะเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อแพทย์ โดยหากมติแพทยสภาเป็นผลร้าย การสู้ต่อในขั้นอุทธรณ์กับฎีกา จำเลยจะนำพยานมาสืบสู้เพิ่มไม่ได้ ถ้าไม่มีหลักฐานใหม่ตามหลักกฎหมาย ดังนั้นจำเลยก็มีโอกาสแพ้สูงมากครับ
 
3. ****ขอสรุปบทเรียนจากคดีนี้สำหรับแพทย์**** คือ หากโดนฟ้องร้อง การหาทนายเก่งมีความสำคัญมากๆ เพราะถ้าทนายนำสืบดีตั้งแต่ศาลชั้นต้น นำสืบได้ครบประเด็น นำผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเข้าสืบ มีหลักฐานเอกสารยิ่งมีโอกาสชนะ เช่นกรณีสาเหตุการตายในคดีนี้ ผมดูแล้วมันไม่ชัดเจนมากๆ ถ้ามีการนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางมีประโยชน์แน่ๆ
 
นอกจากนี้ แพทย์ที่เป็นจำเลย ก็อาจช่วยทนายได้ โดยการหาหลักฐานในรูปแบบเอกสารที่สนับสนุนสิ่งที่เเพทย์ทำ
 
ทั้งนี้ ผมขอบอกว่า ผมในฐานะนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยพร้อมเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางให้ครับ หากมีการฟ้องร้องที่มีประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุการตายหรือนิติเวช ทนายสามารถส่งหมายมาให้ผมได้ครับ บอกไว้ก่อนว่าผมจะให้ความเห็นตามหลักการ ไม่ได้ช่วยฝั่งไหน แค่ต้องการนำสืบให้คดีมันชัดเจนครับ
 
4. ทั้งนี้มติจากแพทยสภาที่ออกมาหลังจากศาลชั้นต้นตัดสิน ศาลฎีกาก็เอามาพิจารณาด้วย แล้วมีความเห็นว่า “มติของคณะกรรมการแพทยสภาฯที่ส่งมายังศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่มีรายละเอียดพอที่จะพิจารณาว่าเป็นไปดังที่ได้กล่าว มาหรือไม่ เพียงใด จึงไม่มีน้ำหนักให้นำมารับฟัง”
 
ส่วนนี้ผมจะผลักดันให้แพทยสภารับไปพิจารณาว่า มติแพทยสภาบกพร่องตรงไหน ผมคิดว่า มีสองอย่างที่อาจทำได้คือ ทำหนังสือไปถามว่าที่บอกว่ารายละเอียดไม่เพียงพอคือขาดเรื่องใด หรือแพทยสภาอาจทำข้อตกลงกับศาลฎีกาว่าให้เชิญกรรมการแพทยสภาไปอธิบายรายละเอียดของมติไหม หากศาลเห็นว่ามติไม่สมบูรณ์
 
5. ประเด็นเรื่องที่แพทย์กลัวกันว่า ต่อไปนี้ ฉีดยาต้อง observe มากกว่า 30 นาทีทุกครั้ง หรือไม่ควรใช้ยา diclofenac เพราะคำพิพากษาบอกไว้แบบนั้น ผมมีสองประเด็นที่อยากบอกครับ
 
ประเด็นแรก ที่โรงพยาบาลของเคสนี้มีเกณฑ์ให้ observe หลังฉีดยา 30 นาที แต่มันอาจไม่มีระบุชัดเจน ซึ่งเคสนี้ที่คนไข้กลับเร็ว เพราะคนไข้อยากกลับเอง แต่เวลาพิจารณาจำเลยไม่สามารถนำสืบให้ผู้พิพากษาเชื่อได้ว่า จำเลยได้แจ้งคนไข้ให้ observe 30 นาทีแล้ว ดังนั้น
 
****คำแนะนำที่สำคัญมากกับแพทย์คือ ถ้าได้สั่งการฉีดยาทุกชนิดที่ห้องฉุกเฉินหรือ opd ควรแจ้งคนไข้เรื่องนี้และ note ในเวชระเบียนว่า observe 30 นาทีหลังฉีดยา หรือให้ทางโรงพยาบาลทำป้ายแปะข้อมูลนี้ไว้เพื่อให้คนไข้ทราบเรื่องนี้**** (อาจขึ้นอยู่กับการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวด้วย ดังนั้นอาจน้อยกว่า 30 นาทีได้)
 
ประเด็นที่สอง แพทย์ควรทำตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์ โดยไม่ต้องสนใจคำพิพากษา (ยิ่งคำพิพากษาอันนี้ ยิ่งไม่ต้องสนใจ เพราะฝ่ายจำเลยนำสืบบางประเด็นไม่ครบจริงๆ) ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการหลีกเลี่ยงการฉีดยา diclofenac ถ้าแพทย์ทำตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์แล้ว ไม่งั้นในอนาคตฉีดยาหรือกินยาอะไรก็ไม่ได้ เนื่องจากคนไข้มีโอกาสแพ้ยาได้หมด หรือมองในมุมกลับ ถ้าคนไข้ควรต้องได้รับยา แต่แพทย์ไม่ให้ แพทย์ก็อาจโดนฟ้องกรณีนี้แทน
 
ดังนั้นผมจะผลักดันให้ แพทยสภาทำข้อสรุปประเด็นนี้ เช่น เรื่องการ observe หลังฉีดยาควรทำนานเท่าไหร่ แพทย์สามารถใช้ยา diclofenac กับคนเป็นโรคหอบหืดได้หรือไม่ มันจะมีประโยชน์ในอนาคตแน่นอน
 
ปล. มีคนถามว่าแล้วจะหาทนายจากที่ไหนดี ผมพอรู้จักที่หนึ่ง ก็เอาไว้พิจารณาได้ครับ คือ สำนักการกฎหมายการแพทย์ www.thaimedlaw.com หรือดูนามบัตรในรูปสามได้ (ผมไม่ได้เป็นหุ้นส่วนนะครับบอกไว้ก่อน แค่เคยใช้บริการครับ) โดยสำนักงานกับพันธมิตรของเค้ารับทำคดีหลากหลาย รวมถึงกรณีฟ้องร้องหมิ่นประมาทด้วยเช่น กรณีแอบถ่ายแพทย์แล้วเอาไปลงโซเซียลจนแพทย์เสียหาย ซึ่งกรณีนี้ผมแนะนำให้ฟ้องเลยครับ จะจ้างที่นี่ก็ได้ครับ คิดว่าค่าสินไหมทดแทนได้มากกว่าค่าจ้างอยู่แล้ว จะได้เป็นบรรทัดฐานเหมือนอย่างกรณีข่าวดังที่ พ่อของหมอฟ้องคนแอบถ่าย
 
ปล. 2 สเตตัสนี้ผมไม่ต้องการตำหนิใคร ทั้งโจทก์ จำเลย ทนาย ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล แพทยสภา หรือผู้พิพากษา แค่อยากถอดบทเรียนให้มารับรู้กันครับ

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0LUhZk3mXqGpYrKyHMCdzk7o2Gf5r7mt1DWHPRopLRN93yu5teN2ZaeG1BFs4Lebyl&id=100001957212970

......................................

 
 
ขอกลับมาเพิ่มเติมในกรณีคำพิพากษาฎีกาคดี diclofenac ครับ อันนี้ผมขอถอดบทเรียนโดยพิจารณาเฉพาะจากการอ่านคำพิพากษาฎีกาเหมือนเดิมนะครับ
 
ตอนนี้จะมีแพทย์สงสัยว่าทำไมศาลฎีกาตัดสินว่า diclofenac ซึ่งเป็นยา NSAIDS ห้ามใช้ในคนเป็นโรคหอบหืด (asthma) ซึ่งอาจขัดกับหลักฐานทางทางการแพทย์ ผมขอสรุปมาให้ดูว่า ถ้าตามคำพิพากษาจริงๆ เป็นอย่างไรนะครับ
 
1. เคสนี้ฝ่ายโจทก์ ยกหลักฐานที่เป็นเอกสารกำกับยา diclofenac ซึ่งมีระบุว่า “ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือผู้ที่มีอาการหอบหืด ลมพิษ หรือโพรงจมูกอักเสบแบบเฉียบพลันจากการแพ้ยาแอสไพริน หรือ NSAIDS” ตามรูปที่ 1 ซึ่งถ้าอ่านแล้วจะชัดเจนว่า NSAIDS ไม่ได้ห้ามใช้ในคนเป็นโรคหอบหืด แต่ห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคหอบหืดจากการแพ้ยา NSAIDS ซึ่งทางการแพทย์เป็นคนละกรณีกัน
 
2. ทำไมศาลถึงคิดว่าห้ามใช้ในคนเป็นโรคหอบหืดละ มาดูเหตุผลกันครับ
- พยานฝ่ายจำเลยที่เป็นหมอโรงพยาบาลเดียวกัน ตอนโดนถามค้านให้การว่า “ต้องให้ยา diclofenac อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหอบหืด และควรหลีกเลี่ยงการใช้หากมีตัวยาอื่น” ตามรูปที่ 1 ส่วนล่างสุด
ส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นคำให้การที่พลาดครับ แต่ผมเข้าใจพยานจำเลยครับ ที่เวลาขึ้นศาล บางทีโดนถามงงๆ อาจตอบพลาดได้ ผมไม่ได้ตำหนิใดๆ ครับ
 
แต่มีประเด็นสำคัญจะแนะนำแพทย์ที่ถูกฟ้องว่า
*****ถ้าจะนำพยานผู้เชี่ยวชาญมา ควรนำพยานที่มีทักษะในการเป็นพยานในศาลและเข้าใจการให้การครับ เพราะการให้การผิด เป็นผลเสียต่อจำเลยได้ครับ*****
 
- ฝ่ายจำเลย ไม่ได้มีการนำสืบประเด็นที่ว่า โรคหอบหืดที่คนไข้เป็น มันเป็นคนละอย่าง กับโรคหอบหืดจากการแพ้ยา NSAIDS ทั้งๆ ที่ถ้าดูประวัติแล้ว คนไข้คนนี้เคยได้รับยา NSAIDS มานานก่อนหน้านี้ แล้วไม่มีอาการแบบนี้ โรคหอบหืดของคนไข้จึงไม่น่าเกี่ยวข้องกันกับการแพ้ยา NSAIDS จนเป็นหอบหืด ซึ่งจะมีอาการหลังรับยาทันทีในช่วงก่อนหน้านี้
 
ส่วนฝ่ายโจทก์กลับนำสืบเรื่องนี้ โดยเอาแพทย์คนกลางมายืนยันว่า หอบหืดที่ผู้ป่วยเป็นเกิดจากการได้ยา NSAIDS ดูตามรูปที่ 2 และ 3
 
3. ตามความคิดผม ถ้าจำเลยนำสืบโดยนำเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง มาอธิบายใบกำกับยาว่า อาการหอบหืดจาก NSIADS แบบนี้คืออะไร มันควรเจอตอนไหน ต่างจากอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดจนต้องพ่นยาก่อนหน้านี้อย่างไร หากได้รับยา NSIADS มาก่อนแล้วไม่มีอาการจึงไม่ใช้ข้อควรระวังในการให้ยาคนไข้นี้ ใช่หรือไม่
 
หรือจริงๆ ตอนซักพยานก็ถามหมอผู้รักษาผู้เป็นจำเลยให้อธิบายประเด็นความแตกต่างนี้ก็ยังได้ หรือหาเอกสารที่อธิบายอาการหอบหืดแบบแพ้ยาหลังใช้ยา NSIADS แบบนี้ ต่างจากโรคหอบหืดที่คนไข้เป็นอย่างไร
 
แล้วสุดท้ายในผู้ป่วยรายนี้ ถ้าจำเลยสามารถนำสืบตีตกประเด็นตามข้างต้นได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสังเกตอาการถึง 30 นาทีด้วยซ้ำ แต่สังเกต 10 นาทีก็อาจพอแล้วตามที่จำเลยทำ เพราะไม่มีประเด็นต้องกังวลอะไรในคนไข้รายนี้ เห็นได้จากคำพิพากษา ที่ระบุว่า “การรักษาผู้ตายซึ่งมีอาการหอบหืด ด้วยยา diclofenac แล้วไม่ได้สังเกตอาการหลังฉีดยา ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน” ตามรูปที่ 4
 
4. สรุป ตามความเห็นผม *****ผมคิดว่า diclofenac หรือ NSIADS สามารถใช้ในคนเป็นโรคหอบหืดได้ เพราะไม่มีข้อห้ามใช้ ดูในเอกสารกำกับยารูปที่ 5 ได้*****
และประเด็นที่อยากย้ำคือ เราควรรักษาพยาบาลตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์ โดยไม่ต้องอ้างอิงตามคำพิพากษาใดๆ (เช่นกรณีนี้ก็ชัดเจนว่า คำพิพากษาไม่ควรเอามาแทนได้เลย เพราะจำเลยนำสืบไม่พอ) แต่ผมเข้าใจแพทย์หลายๆ คน ที่กลัว ก็ให้ทำตามความสบายใจของท่าน แต่ก็ระมัดระวังว่า ที่เราไม่ยอมทำบางเรื่องโดยอ้างคำพิพากษา มันจะผิดหลักปฏิบัติทางการแพทย์ไหม

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0BRcpereE59CX4vbjnQggA9x3by2fS7hfbPFbuSuXprtSXDedfe4BMEoxDPrrxavul&id=100001957212970

 
..............................................................

บล๊อก ที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB )    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61


ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( เอนเสด ) ... ไม่ใช่ขนมนะครับ จะได้กินกันไปเรื่อย ...    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-08-2008&group=28&gblog=3

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

 


Create Date : 29 กันยายน 2565
Last Update : 13 ตุลาคม 2565 14:15:24 น. 2 comments
Counter : 1955 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณนายแว่นขยันเที่ยว


 
ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB ) https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

ฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-02-2008&group=4&gblog=8



โดย: หมอหมู วันที่: 30 กันยายน 2565 เวลา:15:55:34 น.  

 

ทำอย่างไรดีเมื่อแพทย์โดนฟ้อง ... รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-10-2022&group=7&gblog=239



โดย: หมอหมู วันที่: 17 ตุลาคม 2565 เวลา:14:45:23 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]