Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ–ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ ??... โดย ศ.พญ.ถนอมศรี ศรีชัยกุล

พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข – ประชาชน
ได้ประโยชน์จริงหรือ?

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล
พ.บ. M.Sc. Med (Penn)



ผู้เขียนบทความนี้เป็นอายุรแพทย์ ซึ่งใช้ชีวิตการเป็นอายุรแพทย์มายาวนานถึง 56 ปี เคยเป็นอาจารย์แพทย์ก่อตั้งหน่วยโลหิตวิทยาในสถาบันการแพทย์ถึง 2 สถาบัน คือ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี (2510-2522) และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (2525-2533) ปัจจุบันก็ยังเป็นอายุรแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่

ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์ไทยมาตลอด โดยเฉพาะในระยะ 10 ปีหลัง มีความสะเทือนใจและห่วงใยว่า ความเสื่อมที่เกิดขึ้นนี้เพราะเรากำลังหลงทาง และเดินไปสู่ขอบ “เหว” ซึ่งเมื่อตกลงไปแล้วการแพทย์ไทยก็จะล่มสลาย เมื่อได้ทราบว่ามี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งประชาชนน่าจะได้ประโยชน์และอาจทำให้วงการแพทย์ไทยฟื้นตัวขึ้น จึงเกิดความสนใจและศึกษา ซึ่งจะขอสรุปผลดังนี้คือ

จุดมุ่งหมายของ พรบ.ฉบับนี้ มี 4 ประการคือ

1) ต้องการชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์แก่ผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว โดยจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายนั้น ๆ

2) ผู้ป่วยได้ประโยชน์จาก พรบ. ฉบับนี้ เพราะได้เงินชดเชยเร็วขึ้นโดยมาตรฐานบริการทางการแพทย์มิได้ลดลง

3) จะช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ให้น้อยลง

4) จะเป็นการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รับ (ผู้ป่วย) และผู้ให้บริการ (แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์)



พรบ.นี้มี 7 หมวด และ 50 มาตรา จากการอ่านพิจารณาดูในฐานะแพทย์ซึ่งมิใช่นักกฎหมาย มีความเห็นว่า พรบ. นี้มีข้อบกพร่องหลายประการที่จะนำไปสู่ความเสียหายแก่การแพทย์และการสาธารณสุขของชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย ความวกวน ไม่กระจ่างชัด ขัดแย้งกันเอง ทำให้ พรบ. นี้ไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมาย 4 ข้อต้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


ข้อ 1 หมวดที่ 1 ตามมาตรา 5 ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุน โดยมิต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่ในมาตรา 6 มีข้อขัดแย้งกันเอง กล่าวคือ มีข้อยกเว้นสามข้อซึ่งจะจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 5 ไม่ได้ คือ 1) ความเสียหายเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น ๆ 2) ความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ และ 3) ความเสียหายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

ข้อยกเว้นในมาตรา 6 ทั้งสามข้อ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ซึ่งในคณะกรรมการไม่มีผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว การใช้ความเห็นของกรรมการที่ปราศจากความรู้ทางแพทย์ และให้ลงมติโดยการใช้คะแนนเสียง ทำให้การตัดสินเป็นไปโดยขาดหลักเกณฑ์ ปราศจากความยุติธรรม เป็นผลเสียหายทั้งแก่แพทย์และผู้ป่วย นอกจากนั้นการมีข้อยกเว้นต้องพิสูจน์โดยใช้เวลา การจ่ายเงินชดเชยจึงทำไม่ได้ในเร็ววันตามที่กำหนดไว้ ผิดจุดประสงค์ของ พรบ. ข้อ 1 และ ข้อ 2 การไม่ได้เงินชดเชยในระยะเวลารวดเร็วจะนำไปสู่การฟ้องร้องให้มากขึ้น กระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ผิดเจตจำนง ข้อ 3 และ ข้อ 4 ของ พรบ.นี้


ข้อ 2 การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย ในหมวด 4 (มาตรา 27-37) มีข้อน่าสังเกตว่า มีการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น ถ้าผู้เสียหายไม่พอใจ ให้อุทธรณ์ได้ ถ้ายังไม่พอใจกับเงินชดเชยจากการอุทธรณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องศาลได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ดังนั้นจะทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จึงเกิดผลเสียหายตามมาคือ

1) ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลวลง นำไปสู่การฟ้องร้องมากขึ้น การรักษาพยาบาลไม่ได้ผล มาตรฐานการแพทย์ต่ำลง เพราะผู้ป่วยขาดความเชื่อถือแพทย์ แพทย์ต้องโดนทำร้ายทางจิตใจอย่างมาก เสียทรัพย์สินและอาจจะเสียอิสรภาพ หมดกำลังใจในการดูแลรักษาผู้ป่วย

2) การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียหายเมื่อมีปัญหา ต้องพิสูจน์โดยกรรมการที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์ การพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์และอาจจ่ายให้โดยพิจารณายังไม่เสร็จเป็นการ ผลาญ เงินจากกองทุน ซึ่งได้จากภาษีอากรของประชาชนซึ่งถูกรีดมาใช้ด้วยวิธีการต่าง ๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่ากรรมการที่ดูแลกองทุนนี้มีสิทธิจ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการบริหารจัดการกองทุนมากถึง 10% จากเงินกองทุน โดยไม่ได้ระบุว่ามีกลไกตรวจสอบการใช้เงินอย่างรัดกุมหรือไม่?


ข้อ 3 ที่มาของกองทุน (หมวด 3 มาตรา 20-24)

กองทุนมีที่มาหลายแห่ง ขอวิจารณ์เพียง 2 แห่ง คือ
1. จากโรงพยาบาลเอกชน
2. จากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย

ผลที่เกิดขึ้น

1. โรงพยาบาลเอกชนจะขึ้นค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำมาจ่ายให้กองทุน ผู้ป่วยจะต้องเสียเงินมากขึ้นโดยไม่ได้รับการบริการที่ดีขึ้น

2. โรงพยาบาลของรัฐซึ่งไม่มีเงินอยู่แล้ว คงต้องหาเงินโดยการหักจากงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยมาตรฐานที่ต่ำลงทั้งที่ปัจจุบันก็แย่อยู่แล้ว


ข้อ 4 กรรมการบริหารพรบ. (หมวดที่ 2 มาตรา 7-16)

1. คุณสมบัติของกรรมการ ไม่ครบถ้วน ขาดองค์ประกอบที่สำคัญคือ กรรมการวิชาชีพ ได้แก่ ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนทันตแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนสภาเภสัชกรรม ผู้แทนสมาคมแพทย์คลินิกไทย ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ปรากฏใน พรบ.มีเพียงผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านบริการสุขภาพ จำนวน 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชน สิทธิมนุษยชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุขด้านละหนึ่งคน

ผู้แทนสภาวิชาชีพเป็นหัวใจสำคัญ จำเป็นมากเพราะต้องดูแลและสร้างมาตรฐานตามมาตรา 6 ที่เป็นด้านวิชาการ ความรู้ไม่ใช่การให้ความเห็น แต่ต้องนำไปวางมาตรฐานในการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนต่อไป

กรรมการวิชาชีพดังกล่าวข้างต้นได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ถูกตัดทิ้งไปด้วยเหตุผลอย่างไรไม่ชัดเจน

2) ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของกรรมการ เขียนไว้ไม่ชัดเจน ไม่มีข้อจำกัด สามารถปรับไหมผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าไป สามารถฟ้องศาลพิจารณาผู้ที่ไม่ร่วมมือจำคุกได้ 6 เดือน

ปรับไหม ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าถูกปรับเดือนละ 2% ปีละ 24% ไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์อะไร ในเมื่อดอกเบี้ยนอกระบบยังน้อยกว่านี้ ถ้าพรบ.นี้ร่างโดยนักสิทธิมนุษยชน และแพทย์ที่ได้ MD แต่เลิกไม่ดูแลผู้ป่วยแล้ว ประเทศไทยจะหวังอะไรกับการร่างกฎหมายชนิดนี้?

ลงโทษ ฟ้องศาลจำคุกได้ถึง 6 เดือน เป้าคือใคร? นอกจากแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ผู้ร่าง พรบ.ควรทราบว่า แพทย์และพยาบาลที่จะมีปัญหาในเรื่องคดีส่วนใหญ่เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลรัฐบาล ที่คนไข้ล้นมือจนทำไม่ไหว เมื่อทำไม่ไหวก็ย่อมมีข้อผิดพลาด ถ้าแพทย์หรือพยาบาลต้องเดินทางมาให้ปากคำ คนไข้ก็ไม่มีคนตรวจรักษาดูแล มาตรฐานการแพทย์ก็ยิ่งต่ำลง ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ยิ่งเลวลง คนไข้จำนวนมากอาจพิการหรือเสียชีวิตเพราะมีหมอไม่พอจะรักษา

ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา ถูกบังคับใช้ จะนำไปสู่ความล่มสลายของการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบคือ รัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะไม่ได้ใช้สติและปัญญาพิจารณาไตร่ตรองผลเสียหายที่จะเกิดตามมา รัฐบาลมัวแต่เป็นห่วงแต่คะแนนเสียงของประชาชน ประชาชนชาวไทย “ไม่โง่” แต่ต้องให้เขารู้ความจริงว่า พรบ.ฉบับนี้มิได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเลย มีแต่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา รัฐควรใช้สื่อชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ แทนที่จะตัดสินใจด้วยความกลัวและละเลยต่อปัญหาสำคัญของชาติ

ในปัจจุบันนี้ประชาชนที่ยากจนเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะแพทย์ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการฟ้องร้องระบาดไปทั่วจนแพทย์ “ขยาด” จะให้การรักษาผู้ป่วยหนักในภาวะที่มีความ “จำกัด” ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางแพทย์โดย “รัฐ” ไม่เคยเหลียวแลแก้ปัญหาให้อย่างจริงใจ พรบ.ฉบับนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเดือดร้อนมากขึ้นจนนำไปสู่ความล่มสลายของแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศให้เกิดรวดเร็วขึ้น


เราควรจะปล่อยให้ พรบ.ฉบับนี้ผ่านไปหรือ?



Create Date : 07 ตุลาคม 2553
Last Update : 7 ตุลาคม 2553 11:43:53 น. 2 comments
Counter : 2413 Pageviews.  

 
ถ้าว่าง ก็ลองอ่านฉบับเต็ม ๆ นะครับ ..



พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (ฉบับรัฐบาล)
ใครได้ประโยชน์? การแก้ไขวิกฤตการแพทย์และการสาธารณสุข
ของประเทศไทยทำได้อย่างไร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล
พ.บ. M.Sc. Med (Penn)

ผู้เขียนเป็นแพทย์ศิริราชรุ่นที่ 59 ตั้งแต่จบแพทย์ในปี พ.ศ. 2497 ได้ใช้ชีวิตเป็นอายุรแพทย์มาทั้งหมด 56 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2510-2533 ได้เป็น “ครูแพทย์” ผู้ก่อตั้งหน่วยโลหิตวิทยาในสถาบัน 2 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี (2510-2522) และที่กองอายุรกรรม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (2525-2533) ในปัจจุบันยังเป็นแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่

กาลเวลาที่ผ่านมาถึง 56 ปี มีการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย วิชาการใหม่ ๆ ได้เกิดขึ้นทำให้แพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ดีขึ้น โรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตา มะเร็ง ได้รับการรักษาให้หายได้ในระดับหนึ่ง เป็นที่น่าชื่นชมและยินดีสำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เกิดตามมาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ – ผู้ป่วย ซึ่งเคยมีมาฉันท์ญาติมิตรได้เปลี่ยนไป แพทย์ซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น “ผู้ให้” ชีวิตแก่ผู้ป่วย มิได้รับการยอมรับต่อไป จากคำนิยามของทางราชการ (กระทรวงสาธารณสุข) แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็น “ผู้ให้บริการ” ผู้ป่วยเป็น “ผู้รับบริการ” เปรียบเสมือนการจ้างทำของ – ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ผู้นิยามศัพท์ดังกล่าวนี้คงไม่ใช่แพทย์โดยจิตใจและเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้ ความผูกพันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลือนหายไป การฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมาย แพทย์ถูกตัดสินให้ถูกจำคุก ผู้ป่วยถูกหลอกลวง โดยการกระทำของแพทย์ซึ่งขาดจรรยาแพทย์แม้ว่าจะเป็นแพทย์ส่วนน้อย – แต่ก็เป็นต้นเหตุให้สถานภาพของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในสังคมเปลี่ยนไปในทางเสื่อม สาเหตุที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือ ความโลภ ไม่รู้จักพอของทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ป่วย แพทย์ และสภาพสังคมซึ่งเชี่ยวกรากด้วยวัตถุนิยม ผู้เขียนได้แต่มองดูด้วยความเป็นห่วงและสะเทือนใจ เพราะในระยะอันยาวนานด้วยอำนาจของวัตถุนิยมเราได้หลงทางเดินมาไกล จนบัดนี้สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยกำลังอยู่ที่ขอบเหว

“พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ทำให้เกิดความหวังขึ้นว่าสถานการณ์อันเลวร้ายจะดีขึ้น จุดประสงค์ใหญ่ ๆ ของ พรบ. ฉบับนี้มี 4 ข้อ คือ
1) ต้องการชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์แก่ผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว โดยจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายนั้น ๆ
2) ผู้ป่วยได้ประโยชน์จาก พรบ. ฉบับนี้ เพราะได้เงินชดเชยเร็วขึ้นโดยมาตรฐานบริการทางการแพทย์มิได้ลดลง
3) จะช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ให้น้อยลง
4) จะเป็นการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รับ (ผู้ป่วย) และผู้ให้บริการ (แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์)

พรบ.นี้มี 7 หมวด และ 50 มาตรา จากการอ่านพิจารณาดูในฐานะแพทย์ซึ่งมิใช่นักกฎหมาย มีความเห็นว่า พรบ. นี้มีข้อบกพร่องหลายประการที่จะนำไปสู่ความเสียหายแก่การแพทย์และการสาธารณสุขของชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย ความวกวน ไม่กระจ่างชัด และขัดแย้งกันเอง จะทำให้ พรบ. นี้ไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมาย 4 ข้อต้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ข้อ 1 หมวดที่ 1 ตามมาตรา 5 ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุน โดยมิต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่ในมาตรา 6 มีข้อขัดแย้งกันเองกล่าวคือ มีข้อยกเว้นที่นำมาใช้กับมาตรา 5 ไม่ได้ ดังนี้ คือ 1) ความเสียหายเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น ๆ 2) ความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ และ 3) ความเสียหายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

ข้อความในมาตรา 5 และมาตรา 6 ขัดแย้งกันเอง ในมาตรา 6 ข้อยกเว้น 3 ข้อ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แต่ละสาขา ซึ่งในคณะกรรมการที่รับผิดชอบ พรบ.ฉบับนี้ไม่มีผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว การใช้ความเห็นกรรมการที่ปราศจากความรู้ทางการแพทย์ และให้ลงมติโดยการใช้คะแนนเสียง ทำให้การตัดสินเป็นไปโดยขาดหลักเกณฑ์ ปราศจากความยุติธรรม เป็นผลเสียหายทั้งแก่บุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ และผู้ป่วย นอกจากนั้นเมื่อมีข้อยกเว้นจึงต้องพิสูจน์โดยใช้เวลา การจ่ายเงินชดเชยจึงทำไม่ได้ในเร็ววันตามที่กำหนดไว้ ผิดจุดประสงค์ใหญ่ของ พรบ. ในข้อ 1 และ ข้อ 2 การไม่ได้เงินชดเชยในระยะเวลารวดเร็วจะนำไปสู่การฟ้องร้องให้มากขึ้น กระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ผิดเจตจำนง ข้อ 3 และ ข้อ 4

ข้อ 2 การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย ในหมวด 4 (มาตรา 27-37) มีข้อน่าสังเกตว่า มีการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น ถ้าผู้เสียหายไม่พอใจ ให้อุทธรณ์ได้ ถ้ายังไม่พอใจให้ผู้เสียหายฟ้องศาลได้ ทั้งทางแพ่ง อาญา วิ กฎหมายผู้บริโภค อยากตั้งข้อสังเกตว่า มีการฟ้องต่อเป็นลูกโซ่ ซึ่งมีผลเสียหายคือ การฟ้องร้องมีแต่จะมากขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น ความร้าวฉานระหว่างแพทย์ บุคลากรทางแพทย์ และผู้ป่วย หรือผู้เสียหายฝ่ายผู้ป่วยก็จะยิ่งมากขึ้น สัมพันธภาพของแพทย์และผู้ป่วยยิ่งเลวลงเป็นลำดับ อายุความที่จะฟ้องร้องจะยืดเยื้อจากเดิม 1 ปี เป็น 3 ปี – 10 ปี การที่แพทย์ – บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด แต่ต้องมาพบผลกระทบกับคดีฟ้องร้องอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้เป็นการบั่นทอน กำลังใจ กำลังสมอง กำลังกาย ที่ควรจะนำมารับใช้ผู้ป่วยหรือประชาชน มาตรฐานการแพทย์จะลดลง การมีขบวนการไกล่เกลี่ยซึ่งอาจจะต้องใช้เงินชดเชยแก่ผู้ร้อง ใน พรบ. ฉบับนี้ไม่ได้ระบุไว้ว่าใครจะเป็นผู้จ่าย อาจเป็น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถานพยาบาล ที่เป็นจำเลยก็ได้ พรบ.นี้ให้อำนาจกรรมการอย่างไม่มีขอบเขตและไม่เป็นธรรม


โดยสรุป พรบ. ฉบับนี้มีผลเสียหายต่อการแพทย์และการสาธารณสุขดังนี้ คือ
1. การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียหาย เมื่อมีข้อขัดแย้งต้องพิสูจน์โดยกรรมการที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์ การพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์และอาจจ่ายให้โดยพิจารณายังไม่เสร็จเป็นการ ผลาญ เงินอย่างมหาศาล โดยการใช้เงินจากกองทุนซึ่งได้มาจากภาษีอากรของราษฎรซึ่งถูกรีดไปโดยวิธีการต่าง ๆ
2. คดีฟ้องร้องไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
3. ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลวลง นำไปสู่การฟ้องร้องมากขึ้น การรักษาพยาบาลไม่ได้ผล มาตรฐานการแพทย์ต่ำลง เพราะผู้ป่วยขาดความเชื่อถือแพทย์ แพทย์ต้องโดนทำร้ายทางจิตใจ เสียทรัพย์สิน และอาจเสียอิสรภาพ หมดกำลังใจในการดูแลรักษาผู้ป่วย
4. พรบ.ฉบับนี้ถ้าผ่านเป็นกฎหมายจะนำไปสู่การล่มสลายของการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ให้เร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบันนี้แพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาลชุมชนหรือแม้แต่โรงพยาบาลศูนย์ทำงานด้วยความยากลำบาก ทุกคนหมดกำลังใจ ขยาดต่อการรักษาดูแลผู้ป่วยหนักเพราะโรงพยาบาลมีขีดความสามารถจำกัดทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าการรักษาไม่ได้ผลจะถูกฟ้องร้อง แพทย์เคยถูกตัดสินจำคุกมาแล้ว 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา (คดีที่อำเภอร่อนพิบูลย์) ดังนั้นเมื่อไม่แน่ใจจึงต้องใช้ระบบส่งต่อทั้ง ๆ ที่ไม่อยากทำ เพราะทราบดีว่าเวลาที่ผ่านไปแต่ละนาทีมีค่าต่อชีวิตผู้ป่วยเพียงไร ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ โอกาสจะพิการและเสียชีวิตมีมาก เพราะเสียเวลาในการเดินทาง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ก็ต้อง “รอคิว” เพราะคนไข้ไปรออยู่มากมาย ถ้า พรบ.ฉบับนี้ผ่าน การฟ้องร้องทำง่ายขึ้น ผู้ที่เดือดร้อนคือประชาชน และแพทย์ พยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีหัวใจสำหรับผู้ป่วยอยู่

ในอนาคตจะไม่มีใครเรียนแพทย์ พยาบาล นอกจากคนที่ไม่อยากเรียนแต่ไม่มีทางเลือก สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยจะล่มสลาย ประชาชนจะไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องตามมาตรฐาน

ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ กรรมการที่มีหน้าที่กำกับดูแลกองทุนนี้เพราะมีสิทธิใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลถึง 10% จากกองทุน โดยไม่ทราบว่าจะมีการตรวจสอบที่รัดกุมเพียงไร มีอำนาจให้คุณให้โทษกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมหาศาล

ข้อ 3 ที่มาของกองทุน (หมวด 3 มาตรา 20-24)
กองทุนมีที่มาจากหลายแห่ง ขอวิจารณ์เพียง 2 แห่ง คือ
1. จากโรงพยาบาลเอกชน
2. จากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย

ผลร้ายที่จะเกิดตามมาคือ 1) รพ.เอกชนจะขึ้นค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำมาจ่ายให้กองทุน ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินมากขึ้นโดยได้รับบริการเช่นเดิม 2) โรงพยาบาลของรัฐปกติมีเงินน้อยอยู่แล้ว คงต้องใช้เงินในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ใช้บัตรทองมาจ่ายให้กองทุน ดังนั้นประชาชนที่รับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐจะได้รับการรักษาพยาบาลด้วยมาตรฐานที่ต่ำลง ทั้ง ๆ ที่ทุกวันนี้ก็แย่อยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นการทำลายความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วยให้เลวลง

ข้อ 4 กรรมการบริหารพรบ.ฉบับนี้ (หมวดที่ 2 มาตรา 7-16)
1. คุณสมบัติของกรรมการ ไม่ครบถ้วน ขาดองค์ประกอบที่สำคัญคือ กรรมการวิชาชีพ ได้แก่ ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนทันตแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนสภาเภสัชกรรม ผู้แทนสมาคมแพทย์คลินิกไทย ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ปรากฎในพรบ.มีเพียงผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านบริการสุขภาพ จำนวน 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชน สิทธิมนุษยชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุขด้านละหนึ่งคน
ผู้แทนสภาวิชาชีพเป็นหัวใจสำคัญ จำเป็นมากเพราะต้องดูแลและสร้างมาตรฐานตามมาตรา 6 ที่เป็นด้านวิชาการ ความรู้ไม่ใช่การให้ความเห็น แต่ต้องนำไปวางมาตรฐานในการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนต่อไป
กรรมการวิชาชีพดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าควรมี แต่ถูกตัดทิ้งไปด้วยเหตุผลไม่ชัดเจน

2) ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของกรรมการ เขียนไว้ไม่ชัดเจน ไม่มีข้อจำกัด สามารถปรับไหมผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าไป สามารถฟ้องศาลพิจารณาผู้ที่ไม่ร่วมมือจำคุกได้ 6 เดือน
ปรับไหม ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าถูกปรับเดือนละ 2% ปีละ 24% ไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์อะไร ในเมื่อดอกเบี้ยนอกระบบยังน้อยกว่านี้ ถ้าพรบ.นี้ร่างโดยนักสิทธิมนุษยชน และแพทย์ที่ได้ MD แต่เลิกไม่ดูแลผู้ป่วยแล้ว ประเทศไทยจะหวังอะไรกับการร่างกฎหมายชนิดนี้?
ลงโทษ ฟ้องศาลจำคุกได้ถึง 6 เดือน เป้าคือใคร นอกจากแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ บุคคลดังกล่าวที่ถูกฟ้องร้องต้องมาให้กรรมการที่ไร้ความรู้ ขาดสติ ขาดน้ำใจ ทำการไต่สวน เป็นการกดขี่ บีบคั้นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน ผู้ร่าง พรบ.ควรทราบว่า แพทย์และพยาบาลที่จะมีปัญหาในเรื่องคดีส่วนใหญ่เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลรัฐบาล ที่คนไข้ล้นมือจนทำไม่ไหว เมื่อไม่มีเวลาในการดูแลเพียงพอก็ย่อมเกิดความผิดพลาดมากขึ้น ถ้าแพทย์ต้องเดินทางมาให้ปากคำคนไข้ก็ไม่มีคนตรวจรักษาดูแล มาตรฐานการแพทย์จึงต่ำลง ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ยิ่งเลวลง คนไข้จำนวนมากอาจพิการหรือเสียชีวิตเพราะมีหมอไม่พอจะรักษา

สรุป พรบ. ฉบับนี้เขียนขึ้นโดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีใจไม่เป็นกลาง มีอคติกับบุคลากรทางการแพทย์มีความรังเกียจเดียดฉันท์? เป็นประการแรก มีความหลงหรือโมหะ เป็นประการที่สอง และมีความโลภโดยผลประโยชน์ที่ได้จากพรบ.ฉบับนี้อย่างน้อยๆ ก็คือ อำนาจในการใช้เงินจำนวนมหาศาลจากกองทุน และควบคุมการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย เป็นที่น่าเสียดายที่บุคลากรกลุ่มนี้ซึ่งมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนสูง มีความสามารถในเชิงความคิดที่ต้องการให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ยากไร้ แต่ความคิดเหล่านี้ถูกครอบงำด้วย อคติ และอวิชชา ไม่สมกับที่เกิดเป็นชาวพุทธ และมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนมากกว่าคนอื่น น่าจะได้กระทำประโยชน์ตามหน้าที่ของตนเองให้ประเทศชาติได้เต็มที่ น่าเสียดายนัก

ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา ถูกบังคับใช้ จะนำไปสู่ความล่มสลายของการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ผู้ที่ต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งคือ รัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะไม่ได้ใช้สติและปัญญาพิจารณาไตร่ตรองข้อเสียหายที่จะเกิดตามมา รัฐบาลเป็นห่วงแต่คะแนนเสียงของประชาชน, ประชาชนไทย ไม่โง่ แต่ต้องให้เขารู้ความจริงว่า พรบ.ฉบับนี้มิได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเลย มีแต่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา รัฐควรใช้สื่อชี้แจงให้เกิดประโยชน์แทนที่จะตัดสินใจด้วยความกลัว และผลประโยชน์ของตนเองโดยละเลยปัญหาที่สำคัญของชาติ

บทส่งท้าย สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย กำเนิดขึ้นด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ และทรงเสียสละอย่างใหญ่หลวงของพระบรมราชชนก เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยอย่างยิ่ง ก่อนมีสถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยแผนปัจจุบัน ประชาชนล้มตายด้วยโรคระบาด ในอดีตที่ไม่มีการแพทย์แผนปัจจุบันโรคส่วนมากรักษาไม่หาย เช่น วัณโรค ฝีบิดในตับ ไตวาย ยิ่งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ไม่ต้องพูดถึง เราก้าวมาไกลด้วยรากฐานที่พระองค์ทรงวางไว้ให้ แต่ต้องมาเสื่อมลงด้วยกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง กล่าวคือ 1) ความแตกความสามัคคีในหมู่แพทย์ 2) ความไร้น้ำใจต่อผู้ป่วยซึ่งเกิดจากการกระทำของแพทย์ส่วนน้อย แต่ทำให้ผู้ป่วยหมดความไว้วางใจในแพทย์ ทำให้เกียรติภูมิของแพทย์ถูกเหยียดหยาม แพทย์ซึ่งมิได้ปฏิบัติตนตามจรรยาเหล่านี้ควรได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาด 3) ความโลภ ของผู้ป่วยที่อยากได้เงินจากการฟ้องร้องที่ไร้เหตุผล (ไม่รู้จักพอ) 4) ความเจ็บแค้นชิงชังของผู้ป่วยเพียงหนึ่งถึงสองคนที่มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับแพทย์แม้ว่าจะนานแสนนานมาแล้ว และความคิดจากบุคคลที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งนักฉวยโอกาสในคราบของนักบุญ

ทุกสิ่งนี้ได้ฉุดสถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทย ซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศให้ตกต่ำลงจนเกือบถึงขอบเหว ในปัจจุบันประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสเพราะแพทย์ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการฟ้องร้องระบาดไปทั่ว ความบกพร่องเหล่านี้เป็นสนิมในเหล็กทำให้ทุกอย่างพังทลายลงอย่างรวดเร็ว เราซึ่งเป็นคนไทยจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ช่วยกันแก้ไขหรือ?

การแก้ไข มีปัจจัยเกี่ยวข้องในวงการแพทย์หลายอย่างที่ต้องช่วยกันแก้ไข โดยทุกคนทำหน้าที่ของตนเองเพื่อส่วนรวมให้ดีที่สุด ขอให้เราตอบคำถามต่อไปนี้ คือ
1. แพทย์ ปัจจุบันนี้แพทย์ส่วนใหญ่ทำงานหนัก เพราะต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งเอาชีวิตมาฝากไว้ อย่างไรก็ตามอุปสรรคในเรื่องความขาดแคลนทุกอย่างโดยเฉพาะ “เวลา” ทำให้ขาดการติดต่อชี้แจงต่อผู้ป่วย ขอให้แพทย์อดทน เห็นใจ ผู้ป่วยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้กำลังใจและเวลาแก่ผู้ป่วยบ้าง


ถ้าแพทย์รัก ห่วงใย คนไข้ สัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วยจะเกิดขึ้น เป็นผลดี เป็นบุญกุศล สำหรับแพทย์และผู้ป่วย สถาบันแพทย์จะอยู่รอด

แพทย์ต้องเป็นผู้เริ่มก่อน

2. อาจารย์แพทย์และโรงเรียนแพทย์ เป็นผู้ให้กำเนิดแพทย์ ขอให้ช่วยกันให้ทั้งวิชาและคุณธรรม เป็นตัวอย่าง ปลูกฝัง ความดี แก่ลูกศิษย์ของเรา สิ่งเหล่านี้จะทำได้ด้วย “ความรักและเมตตา” และใช้เวลา
3. ผู้ป่วย เราให้ความไว้วางใจ ซื่อสัตย์ ต่อแพทย์ที่รักษาเราเพียงไร?
เราสามารถเข้าใจและให้อภัยแพทย์ได้หรือไม่ เมื่อการรักษาพยาบาลไม่ได้ผล ทั้ง ๆ ที่แพทย์ได้กระทำอย่างดีที่สุดแล้ว

อย่าลืมว่าผู้ป่วยเป็นกำลังใจสำคัญของแพทย์

4. ผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่รัฐมนตรี ลงมาถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง เราพยายามช่วยเหลือบุคลากรในความดูแลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุด โดยให้กำลังใจ สนับสนุนทั้งกำลังคนและทางเทคนิค ขจัดความขาดแคลน และปกป้องการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จากผู้ที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เช่น นักการเมือง ได้หรือไม่? ถ้าไม่เคยคิดจะทำโปรดทำหน้าที่ของท่านเพื่อกอบกู้สถาบันหลักของชาติ
ถ้าท่านทำได้ หน่วยงานที่ท่านรับผิดชอบจะประสบความเจริญ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง
5. โรงพยาบาลเอกชน ท่านได้บริหารกิจการโรงพยาบาลตามหลักธรรมะแห่งวิชาชีพของการแพทย์ที่ดี ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ต่อผู้ป่วย และได้ส่งเสริมให้แพทย์ในสังกัดของท่านใช้วิชาชีพตามจรรยาบรรณแพทย์อย่างมีความอิสสระหรือไม่? ถ้าท่านทำจะเป็นการส่งเสริมสถาบันแพทย์ให้อยู่รอด ถ้าไม่ทำ ท่านกำลังทำลายสถาบันแพทย์ให้เสื่อมลง โปรดอย่าหาความร่ำรวยบนความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์
6. แพทย์ส่วนน้อยซึ่งยังวนเวียนอยู่ในกิเลส คือ ความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด ความหลงและความโกรธ จนประพฤติผิดจรรยาแพทย์ ควรได้รับการลงโทษ เพื่อมิให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แพทย์ส่วนน้อยนี้เป็นผู้ทำให้เกียรติภูมิของแพทย์ต่ำลงและทำลายสถาบันแพทย์
7. สังคม ประกอบด้วย สื่อ นักคิด รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชน ท่านเคยคิดถึงแพทย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจหรือไม่? หรือคิดแต่เพียงเป็นแหล่งข่าวที่ทำให้ข่าวมีสีสันยิ่งขึ้น นักคิดและนักสิทธิมนุษยชน ขอให้ใช้สติและปัญญา ในการคิด ในทางสร้างสรรค์ มิใช่การทำลายแพทย์ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ยังพยายามให้การรักษาพยาบาลที่ดีต่อผู้ป่วยโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ความมี ความจน ถ้าท่านคิดในทางทำลายกรุณาเลิกเพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ แม้แต่ตัวท่านเอง เพราะถ้าขาดสถาบันแพทย์และการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ชีวิตของท่านก็ไม่มีคุณภาพ

ถ้าเราทุกฝ่ายสามารถแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ได้ สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยก็จะอยู่รอด เป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับลูกหลานเราต่อไป


พระบรมราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนก สำหรับแพทย์ทุกคน

“หมอไม่ใช่ผู้รับจ้าง หมอที่ดีไม่รวย แต่ไม่อดตาย”


‘ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัว เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์’


24 กันยายน 2553


โดย: หมอหมู วันที่: 7 ตุลาคม 2553 เวลา:11:48:09 น.  

 


ใครสนใจก็ลองแวะไปโหลดมาอ่านกันนะครับ ...

ร่างใหม่ จาก สภาทนายความ
//www.mediafire.com/?4lyz3rpl37pa8xc

เปรียบเทียบ ๓ ร่าง พรบฯ
//www.mediafire.com/?slodsosamvks28e

รวมบทความ พรบฯ
//www.mediafire.com/?p7r6az6gk19ot



โดย: หมอหมู วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:2:09:35 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]