Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

สธ.พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ให้กลุ่มเสี่ยงฟรี ที่ รพ.ของรัฐ เริ่ม 1 มิ.ย. – 31 สค.2560



สธ.พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่3.5 ล้านโด๊ส ให้กลุ่มเสี่ยงฟรี ที่รพ.ของรัฐเริ่ม 1 มิ.ย. – 31 สค.60

//www.thaigov.go.th/news/contents/details/4076

https://www.hfocus.org/content/2017/05/14016

กระทรวงสาธารณสุขให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่3 สายพันธุ์ แก่ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3.5 ล้านโด๊ส ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านฟรี 1มิถุนายน - 31สิงหาคม2560

นายแพทย์โสภณเมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ว่า โรคไข้หวัดใหญ่เกิดได้ประปรายตลอดทั้งปี โดยจะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาวไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันทั้งนี้เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี จากสถานการณ์ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –1 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วย 22,117 ราย เสียชีวิต 2 ราย เพื่อลดความรุนแรงของโรค การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีการฉีดวัคซีนทุกปี

“ปี 2560 นี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคและ สปสช.จึงขอเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นอกจากป้องกันโรคแล้ว ยังลดภาวะแทรกซ้อน และการแพร่ระบาดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีผลป้องกันร้อยละ 60-70 ดังนั้นประชาชนจึงต้องควบคู่กับการดูแลตนเองโดยหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองจากการสัมผัสผู้ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่การทำร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ และล้างมือให้สะอาดซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวว่า ปี 2560องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด3 สายพันธุ์ ประกอบของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1 N1) สายพันธุ์ใหม่/มิชิแกนแทนแคลิฟอร์เนีย2009, ชนิด A(H3 N2) สายพันธุ์เดิม/ฮ่องกง และไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B สายพันธุ์ เดิม/วิคตอเรีย ขณะที่วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ได้เพิ่มชนิดB/ยามากาตะซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกพิจารณาว่ามีโอกาสพบน้อยที่สุดของทั้งหมดโดยมีความชุกไม่ถึงร้อยละ 5 ทางการแพทย์ถือว่าประสิทธิภาพครอบคลุมใกล้เคียงจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีราคาสูงกว่า

ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจำนวน 3 ล้าน 5 แสนโด๊ส ให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4 แสนโด๊สและประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3 ล้าน 1แสนโด๊ส ประกอบด้วย

1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

3.ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมองไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

5.ผู้มีน้ำหนักตัว มากกว่า 100 กิโลกรัม

6.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

7.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

8.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)

การเตรียมตัวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นก่อนฉีดวัคซีน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ สุขภาพโดยรวมสามรถปฏิบัติงานได้ปกติไม่ป่วยหรือมีอาการไข้ก่อนรับการฉีดวัคซีนนอกจากนี้ผู้ที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 6เดือน ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรงมีประวัติเคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง

โดยทั่วไปอาการข้างเคียงพบได้น้อยส่วนใหญ่เป็นอาการเฉพาะที่ เช่น บวม แดง ตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีไข้ต่ำๆอาการที่เกิดขึ้นมักหายได้เองภายใน 1-3 วัน การดูแลรักษาอาการข้างเคียง หากปวดบวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลในขนาดที่เหมาะสม ส่วนอาการแพ้รุนแรงหลังการฉีดนั้นพบได้น้อยมากจะมีอาการปรากฏให้เห็นภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง หลังฉีด อาจมีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงดัง หอบ เสียงแหบลมพิษ หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนควรสังเกตอาการ 2-4 ชั่วโมง หากมีอาการรุนแรงหรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 02-590-3183


แถม...

ข้อมูลสำคัญไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ สถานการณ์ล่าสุด ... แถม เวบน่าสนใจ

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-11-2009&group=4&gblog=79

จากไข้หวัดใหญ่MEXICOถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 .... บทเรียนสาธารณสุขไทย

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-05-2009&group=4&gblog=76

โรคหน้าฝน... (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-06-2016&group=4&gblog=123




Create Date : 06 มิถุนายน 2560
Last Update : 6 มิถุนายน 2560 13:44:07 น. 4 comments
Counter : 3891 Pageviews.  

 
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) สาเหตุ อาการและวิธีป้องกันโรค
14 มีนาคม 2016
https://healthtio.com/influenza/

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย และเป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่มักจะพบได้มากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว และในบางปีก็จะพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ไปทั่ว อีกทั้งยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้นโรคไข้หวัดใหญ่จึงถือได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่ค่อนข้างรุนแรง หากได้รับการรักษาไม่ทันก็อาจทำให้เสียชีวิตจากการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้

ไข้หวัดใหญ่
สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า influenza virus ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ บี และซี ซึ่งเชื้อชนิดเอ เป็นเชื้อที่มักก่อให้เกิดอาการที่ค่อนข้างรุนแรงและมีโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์ได้ง่าย ส่วนเชื้อชนิดบีเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงน้อยกว่าเชื้อชนิดเอและสามารถกลายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับเชื้อชนิดเอ แต่มีอัตราของการกลายพันธุ์ที่น้อยกว่า ส่วนเชื้อชนิดซี เป็นเชื้อที่ก่อให้อาการเพียงเล็กน้อยและไม่ค่อยพบการระบาด
เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ

ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอเป็นเชื้อที่สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ มีประวัติของการแพร่ระบาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและได้คร่าชีวิตของผู้ป่วยไปแล้วมากมาย ซึ่งต่อไปนี้คือบางส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดการแพ้ระบาดของเชื้อชนิดเอ

H1N1

สายพันธุ์ H1N1 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเอสายพันธุ์เก่า เป็นเชื้อที่เป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 ล้านคนในช่วงปี พ.ศ. 2461-2462 โดยมีต้นตอมาจากประเทศสเปน จึงทำให้มีการเรียกเชื้อนี้อีกชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu)” และก็ได้กลับมาระบาดอีกครั้งที่รัซเซียในปี พ.ศ. 2520 และในปี พ.ศ. 2552 ก็ได้กลับมาระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลกอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าเก่า จึงได้ให้ชื่อว่า “ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ 2009)” ซึ่งมีต้นตอของเชื้อมาจากประเทศเม็กซิโก
สายพันธุ์ H2N2 เป็นเชื้อที่มีการระบาดในทวีปเอเชีย เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2500-2501 ซึ่งเป็นต้นเหตุที่คร่าชีวิตคนในเอเชียไปกว่า 1 ล้านคน
สายพันธุ์ H3N2 เป็นเชื้อไวรัสที่มีการระบาดใหญ่ในฮ่องกง ซึ่งได้ทำให้ชาวฮ่องกงเสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ. 2511-2512 ไปกว่า 7 แสนคน
สายพันธุ์ H5N1 หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “ไข้หวัดนก” ซึ่งเป็นเชื้อที่มีการแพร่ระบาดจากสัตว์ปีกสู่สัตว์ปีก และยังก่อผลกระทบต่อคนด้วย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ได้มีการกำจัดสัตว์ปีกที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไปเป็นจำนวนมาก

การแพร่เชื้อของโรค

เชื้อไข้หวัดใหญ่ จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยเหมือนกับโรคไข้หวัดธรรมดา ซึ่งจะติดต่อผ่านการสูดหายใจเอาละอองของเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามออกมา หรือโดยการสัมผัสถูกร่างกายและข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่มีการเปื้อนเชื้อ
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงกว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดธรรมดา
ผู้ป่วยจะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ขมในคอ เบื่ออาหาร เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไส จุกแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไอแห้งๆ เป็นต้น
บางรายอาจมีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ปวดหู หูอื้อ หายใจหอบหืด เป็นต้น
อาจเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ขึ้นได้ ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดทุกชนิด เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางและชั้นในอักเสบ หลอดลมพอง ปอดอักเสบ เป็นต้น

อาการในข้างต้นทั้งหมดก็เหมือนกับอาการของโรคไข้หวัดธรรมดา ซึ่งทำให้แยกแยะออกได้ยากว่า แท้จริงเป็นโรคอะไรกันแน่ ซึ่งในทางที่ดี หากพบว่ามีอาการป่วยโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยอาการของโรค
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
ป้องกันไข้หวัดใหญ่

สวมหน้ากากป้องกัน

ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่ตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อยิ่งต้องดูสุขภาพเป็นเป็นพิเศษ
หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้และสัมผัสผู้ป่วย แต่ถ้ามีความจำเป็นก็ควรป้องกันให้พร้อม เช่น สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสกับผู้ป่วยหรือข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย
แยกผู้ป่วยออกมาจากผู้ที่ไม่ป่วย เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ดี ครูหรือผู้ดูแลต้องหมั่นสอดส่องเป็นพิเศษ
หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
ฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งจะสามารถฉีดวัดซีนป้องกันได้เฉพาะกับเชื้อสายพันธุ์เก่าเท่านั้น

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดต่อที่นับได้ว่าค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาไม่ทัน ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแร็งอยู่ตลอดและป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อย่างรัดกุม และหากพบว่ามีอาการป่วยเป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการข่าวการแพร่ระบาดหรือในช่วงที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากๆ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยว่า คุณเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่ หากพบว่าเป็น จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที


โดย: หมอหมู วันที่: 12 มิถุนายน 2560 เวลา:16:40:44 น.  

 
โรคไข้หวัดใหญ่
//www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Influenza.html

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งเชื้อนี้มี หลายชนิดมาก นอกจากคนแล้วยังก่อให้โรค ในสัตว์ได้หลายชนิด เช่น หมู นก ม้า แต่โดยทั่วไปไวรัสของสัตว์ชนิดใดก็จะก่อให้เกิดโรคเฉพาะสัตว์ชนิดนั้น เช่น ไวรัสไข้หวัดนก (H5N1) จะก่อโรคในสัตว์ปีกเป็นหลัก แต่ในช่วงหลังที่ตกเป็น ข่าวดัง ก็เนื่องจากว่าไวรัสนี้มีการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการติดต่อมายังมนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ และมีความรุนแรงสูง ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ยังโชคดี ที่การติดต่อมาสู่คนไม่ง่ายนัก ต้องสัมผัสใกล้ชิดมาก และการติดต่อจากคนสู่คน ก็เกิดได้น้อยมาก เราจึงสามารถควบคุมการระบาดได้

ส่วนไข้หวัดใหญ่ในคนมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดการ ระบาดทั่วโลก

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เนื่องจากเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีกถ้าเชื้อมีการเปลี่ยน แปลงไป แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากเรามีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง

ไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ หรือในปัจจุบันเรียกว่า
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อไวรัส H1N1 เดิมมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการระบาดหรือ ติดเชื้อเป็นวงกว้าง ดังจะเห้นตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือตามโทรทัศน์ ซึ่งเชื้อนี้มีระบาดไปในแทบทุกประเทศทั่วโลกในเวลาอันสั้น แต่โชคดีที่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ มีความรุนแรงต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเองได้

>> อาการ

โดยทั่วไปของโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ไอ น้ำมูก บางคนมีอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เป็นอยู่ประมาณ 3-5 วัน ซึ่งบางครั้งจะคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดา แต่ท้ายที่สุด อาการก็จะหายไปเองได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ทำให้ เกิดการอักเสบของปอด ทำให้ปอดบวม การหายใจล้มเหลว ซึ่งอาการอาจจะ รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรงคือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ




>> การรักษา

โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ทำได้โดยการรักษาแบบประคับประคองให้การดูแล รักษาตามอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาเป็นรายๆ ไป ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีปอดบวมจำเป็นต้องนอนรักษาตัวใน โรงพยาบาล

เมื่อมีบุคคลในบ้านหรือผู้ใกล้ชิดป่วยหรือสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่จำเป็น ต้องป้องกันการติดต่อให้ดี การติดต่อของไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่เกิดจากการ สัมผัสละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยละอองฝอยที่มีเชื้อเหล่านี้ เมื่อสัมผัสกับทางเดินหายใจหรือตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตา จะทำให้เชื้อเข้า สู่ร่างกายและเป็นโรคได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่ กระจายของละอองฝอย และทุกคนควรล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใช้มือ สัมผัสหน้า ตา จมูกโดยไม่จำเป็นเพราะเป็นทางแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ถ้าเรา ปฏิบัติได้ดังนี้จะช่วยลดการติดต่อของโรคได้มาก

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัด ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้ว ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีน ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง ตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จึงมีการเปลี่ยนทุกปีตามเชื้อ ที่เปลี่ยนไป คนที่เสี่ยงต่อโรคนี้จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อให้ได้ผลดีในการป้องกันโรคมากที่สุด


โดย: หมอหมู วันที่: 12 มิถุนายน 2560 เวลา:16:42:09 น.  

 
//haamor.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88/
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

บทนำ

ไข้หวัดใหญ่ หรือ ฟลู (Influenza หรือ flu) เป็นอีกโรคพบบ่อยในทุกอายุทั้งในเด็กจน ถึงผู้สูงอายุ และมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย เป็นโรคเกิดได้ตลอดปี แต่พบได้สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดได้อย่างไร?

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคเกิดจากติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza viruses) เป็นโรคติด ต่อทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคหวัด (ไข้หวัดธรรมดา หรือ ไข้หวัด) แต่จากไวรัสคนละชนิด และมีความรุนแรงสูงกว่าโรคหวัดธรรมดามาก

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ย่อย ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ย่อยมีความรุนแรงของโรคต่าง กัน และเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับไวรัสไข้หวัดนก แต่เป็นคนละสายพันธุ์ย่อย
โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการอย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่

อาการสำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง บางครั้งสูงมาก 38 - 41 อง ศาเซลเซียส (Celsius) โดยไข้ขึ้นสูงภายใน 1 วัน ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลาตาเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลเมื่อมีแสงสว่าง ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก ไอแห้ง ๆ เจ็บคอ คัดจมูก เบื่ออาหาร ทั้งหมดเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่อาการที่อาจพบได้และเป็นอา การรุนแรงกว่า เช่น หายใจเหนื่อย หอบ หายใจมีเสียงหวีด ไอรุนแรง หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้อง เสีย มึนงง ซึม และ/หรือ หัวใจล้มเหลว
โรคไข้หวัดใหญ่รุนแรงไหม? มีโรคแทรกซ้อนไหม?

โดยทั่วไป ในโรคไข้หวัดใหญ่ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) อาการไข้ และอา การต่างๆจะดีขึ้นภายใน 5 - 7 วัน ผู้ป่วยจะค่อยๆฟื้นตัวกลับเป็นปกติ แต่ในเด็กเล็ก คนท้อง/หญิงตั้งครรภ์ ในผู้สูงอายุ หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (กลุ่มเสี่ยง) ภายหลังไข้ลง อาจยังมีอาการอ่อนเพลียมากต่อเนื่องได้อีกหลายสัปดาห์

โรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ มีทั้งชนิดไม่รุนแรงและชนิดรุนแรง

ชนิดไม่รุนแรง เช่น การอักเสบของหูชั้นกลาง (หูติดเชื้อ, หูน้ำหนวก) และของไซนัส (ไซนัสอักเสบ)
แต่เมื่อมีโรคแทรกซ้อนชนิดรุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดสูงในบุคคลกลุ่มเสี่ยง อาจเป็นสาหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น
ปอดบวม
ผู้ป่วยโรคหืด จะมีอาการรุนแรงขึ้นมาก
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
สมองอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดอัมพาต ชัก แขน/ขาอ่อนแรง และโคม่า

โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร?

โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้โดยวิธีเช่นเดียวกับโรคหวัด โดยติดต่อทางการหายใจ จากการไอ จามของผู้ป่วย, จากเชื้อที่อยู่ในละอองอากาศเข้าสู่จมูกจากการหายใจ หรือสัมผัสกับเยื่อตา หรือ เยื่อเมือกช่องปาก, และจากสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น จากมือสัมผัสเชื้อ แล้วมือเช็ดปาก หรือขยี้ตา ซึ่งการแพร่กระจายเกิดได้สูงในสัปดาห์แรกของอาการ
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้จากอาการและการตรวจร่างกาย แต่ที่แน่ นอน คือ การตรวจเพาะเชื้อ จากลำคอ โพรงหลังจมูก และเสมหะ และ การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานโรค
โรคไข้หวัดใหญ่รักษาอย่างไร?

โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวทางดูแลรักษาเช่นเดียวกับในโรคหวัด ซึ่งที่สำคัญคือ พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม) ให้ยาลดไข้พาราเซตามอลหรือตามแพทย์แนะนำ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน โดยเฉพาะในเด็ก เพราะอาจเกิดการแพ้ยาแอสไพริน) ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ในรายที่รุนแรงหรือกลุ่มเสี่ยง อาจรักษาโดยยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ
มีวิธีดูแลตนเองอย่างไร? และควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง/การพบแพทย์ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ที่สำคัญ คือ

เมื่อมีไข้ ควรหยุดโรงเรียนหรือหยุดงาน แยกตัวและของใช้จากผู้อื่น เพื่อพักผ่อนและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
พักผ่อนให้มากๆ
รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคข้างเคียงแทรกซ้อนและลดการแพร่เชื้อ
พยายามกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในทุกวัน
ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
กินยาลดไข้พาราเซตามอล หรือตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ ไม่ควรกินยาแอสไพรินเพราะอาจเกิดการแพ้ ดังกล่าว
ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
ใช้ทิชชู่ในการสั่งน้ำมูกหรือเช็ดปาก ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า หลังจากนั้นทิ้งทิชชู่ให้ถูกสุขอนามัย
รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุให้อาการรุนแรงขึ้น
ควรรีบพบแพทย์เมื่อ
ไข้สูงเกิน 39 - 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ภายใน 1 - 2 วันเมื่อเป็นคนในกลุ่มเสี่ยง ภายใน 3 วันเมื่อเป็นคนสุขภาพแข็งแรง
มีผื่นขึ้น
ดื่มน้ำได้น้อยหรือกินอาหารได้น้อย
ไอมาก มีเสมหะ และ/หรือ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว ซึ่งแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
อาการไม่ดีขึ้นหลังไข้ลง หรือ หลังไข้ลงกลับมีไข้อีก
เป็นโรคหืด เพราะโรคหืดมักกำเริบและควบคุมเองไม่ได้
อาการต่างๆเลวลง
เมื่อกังวลในอาการ
ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน เมื่อ
หอบเหนื่อยร่วมกับไอมาก อาจร่วมกับนอนราบไม่ได้ เพราะเป็นอาการแทรกซ้อนจากปอดบวม
เจ็บหน้าอกมากร่วมกับหายใจขัด เหนื่อย เพราะเป็นอาการจากอาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ชัก ซึม สับสน แขน/ขาอ่อนแรง อาจร่วมกับปวดศีรษะรุนแรง และคอแข็ง เพราะเป็นอาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ/หรือ สมองอักเสบ

โรคไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ไหม?

โรคไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ที่สำคัญ คือ

รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) พักผ่อนให้มากๆ กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบห้าหมู่ทุกวัน โดยเพิ่มผัก/ผลไม้มากๆ
ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆและทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
หลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด
รักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น ไม่ใช้ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับบุคคลอื่น
ไม่ใช้มือไม่สะอาดขยี้ตา ล้างมือก่อนเมื่อจะสัมผัสดวงตา
รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือต้องดูแลผู้ป่วย ควรปรึกษาแพทย์ขอรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ต่างจากโรคหวัดไหม?

โรคไข้หวัดใหญ่และโรคหวัด เป็นคนละโรค แต่มีวิธีติดต่อ อาการ วิธีวินิจฉัย และแนว ทางการรักษาในระยะแรกเหมือนกัน ที่แตกต่าง คือ

เกิดจากติดเชื้อไวรัสคนละชนิด
อาการจากไข้หวัดใหญ่ รุนแรงกว่ามากและมีอาการรุนแรงทันที แต่อาการของไข้หวัดจะค่อยเป็นค่อยไป
โรคไข้หวัดใหญ่มักเกิดโรคข้างเคียงแทรกซ้อนได้โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง
ในไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยยาต้านไวรัสตั้งแต่แรก
โรคไข้หวัดใหญ่มีวัคซีนป้องกัน (ปรึกษาแพทย์เรื่องการได้รับวัคซีนเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง) แต่ไข้หวัดไม่มี

บรรณานุกรม

1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s:Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill.
2. Influenza. //emedicine.medscape.com/article/219557-overview#showall [2014,June17 ].
3. Seasonal influenza (flu). //emedicine.medscape.com/article/219557-overview#showall [2014,June17 ].

Updated 2014, June 21




โดย: หมอหมู วันที่: 12 มิถุนายน 2560 เวลา:16:43:34 น.  

 
Thiravat Hemachudha
https://www.facebook.com/thiravat.h/posts/1654098624623685
๒๒สิงหาคม๒๕๖๐

ไข้หวัดใหญ่...
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัส และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคทางระบบทางเดินหายใจทั้งนี้ ด้วยอาการตั้งแต่น้อยๆคือไข้ มีน้ำมูกร่วมหรือไม่ก็ตาม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและถ้ามีอาการมากจะลงไปถึงหลอดลม และปอดเกิดอาการปวดบวมและซ้ำร้ายมีติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน วิธีการป้องกันนอกจากการรักษาสุขอนามัย การแยกตัวออกห่างจากผู้อื่นเมื่อเริ่มมีอาการไม่สบาย และสังเกตุอาการใกล้ชิด ถ้ายังทรุดภายใน 12-24 ชั่วโมงต้องพบแพทย์ นอกจากนั้นยังมีวัคซีนสำหรับป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีผลต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal influenza) ทั้งนี้โดยองค์กรกลางระหว่างประเทศจะมีการคัดเลือกไวรัสสายพันธุ์และชนิดที่เหมาะสมมาใช้เป็นวัคซีน ทั้งนี้ได้จากการสำรวจติดตามจากแหล่งต่างๆทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ซึ่งจะมีการผ้นแปรต่างๆกันออกไปทุกปี
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันได้เต็ม 100% แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังคงประสิทธิภาพได้มากกว่า 50%
อย่างไรก็ตามวัคซีนที่ใช้อยู่ไม่สามารถมีผลได้เลยในกรณีที่ไวรัสมีการผันแปร ตัวเองเบี่ยงเบนหลุดพ้นจากรหัสพันธุกรรมที่มีอยู่ตามครรลองในขอบเขตปกติ ดังที่เราเจอในกรณีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีการผสมรวมตัวของไวรัสจากหลายกำเนิดจากหมู นก คน และมนุษย์ไม่เคยเจอมาก่อน เช่นนั้น จึงไม่มีความจำทางระบบภูมิคุ้มกันซึ่งพอที่จะผ่อนหนักเป็นเบา ลดความสามารถในการติดต่อ และความรุนแรงของโรค

ลักษณะที่อาจจะบ่งถึงความผันแปรของไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ที่
ประการแรก พบคนที่มีการติดเชื้อมากขึ้นกว่าที่เคยพบในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาในภูมิภาคเดียวกัน หรือมีจำนวนพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนๆที่ผ่านมา

ประการที่สอง ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นมากอย่างผิดสังเกตทั้งนี้ไม่ได้ดูจากอัตราส่วนของคนที่มีอาการต่อคนที่ติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ตัวเลขจริงของคนที่ติดเชื้อ เนื่องจากจะมีอาการน้อยและไม่ได้ทำการตรวจพิสูจน์ ดังนั้นจึงควรพิจารณาจากสัดส่วนของคนป่วยที่มีอาการมากขึ้น ที่ถึงขนาดที่ต้องเข้าโรงพยาบาล

ประการที่สาม พิจารณาจากอัตราของผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลและที่พัฒนาความรุนแรงจนเป็นอาการหนักได้แก่ ช็อก ปอดบวม โดยเฉพาะถึงขนาดที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยพยุงออกซิเจนในเลือด และตต้องอยู่ในห้องผู้ป่วยอาการหนักไอซียู

ประการที่สี่ อาการทางระบบอื่นที่ไม่ได้อยู่ในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ช็อก และอื่นๆโดยเฉพาะอาการทางระบบประสาทโดยอาจมีอาการได้ตั้งแต่ชัก ไม่รู้สึกตัว จากความผิดปกติในเนื้อสมอง ทั้งนี้กลไกที่เกิดขึ้น อธิบายจากการที่มีกระบวนการอักเสบที่เกิดจากไวรัสและการอักเสบส่งผลทำให้มีความผิดปกติของผนังหลอดเลือดสมองและเซลล์สมองเองนอกจากนั้นยังมีกลไกอื่น ขึ้นกับการตอบสนองที่มากเกินไปนั้นเกิดขึ้นโดยระบบใดหลังจากที่มีการติดเชื้อนอกจากนั้นตัวไวรัสเองยังสามารถแฝงเข้าไปในเซลล์ได้ระยะหนึ่งและจุดปะทุให้มีการอักเสบต่อเนื่องไปอีก

ประการที่ห้าลักษณะที่มีการระบาดเกิดในช่วงเวลาปกติที่เคยเป็นประจำหรือไม่ทั้งนี้มักจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กำเนิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนซึ่งควรจะเป็นช่วงที่สงบ จะไวรัสไม่มีปัจจัยในการเอื้อให้แพร่กระจาย ในประเทศไทยเองนั้น ในช่วงปี 2014 ยกตัวอย่างเช่นที่จังหวัดนครราชสีมามีการปะทุของไข้หวัดใหญ่ อย่างรุนแรงสองช่วงทั้งครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังโดยเกิดจากไวรัส 2009 ทั้งๆที่ในช่วงปี 2009 ในพื้นที่ต่างก็มีการติดเชื้อแทบทั้งหมดแต่ยังมีการติดเชื้อซ้ำที่มีอาการ ถึง 2406 รายและเสียชีวิต 22 รายจากปอดบวมอักเสบอย่างรุนแรงยกเว้นหนึ่งรายที่มีอาการสมองบวมชักไม่หยุดโคม่าจนเสียชีวิต การที่เกิดจากสายพันธุ์เดียวกันน่าจะแสดงว่ามีการผันแปรของรหัสพันธุกรรมดังข้างต้น

รายงานการติดตามและสืบสวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ฮ่องกงและมีอาการรุนแรงในช่วงปี 2017
ที่เกาะฮ่องกงเริ่มมีการติดตามอย่างเข้มข้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2017
-ทั้งนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 19 กรกฎาคม พบว่ามีผู้ป่วยอาการรุนแรง 312 รายโดยที่มีผู้เสียชีวิต 208 ราย
-297 ราย มีเสียชีวิต 205 รายเป็นผู้ใหญ่อายุ 18 และเกิน 18 ปีโดยที่ 257 รายเกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H3N2 และ 21 รายไข้หวัดใหญ่ H1N1 pdm09 และ 11 รายจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B โดยที่ยังมีอีก 8 รายเป็นสายพันธุ์ A และอยู่ในระหว่างการแยกชนิด
-ผู้ป่วย 101 รายหรือ 34% ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เตรียมสำหรับปี 2016/17
ในผู้ป่วยที่เสียชีวิต 205 รายมีจำนวน 85 รายหรือ 41.5% ที่ได้รับวัคซีน
-ทั้งนี้ 66 รายที่มีอาการหนักซึ่งรวม 41 รายที่เสียชีวิตเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2017

ผู้ป่วย 15 รายที่เหลือเป็นเด็กและในจำนวนนี้ 3 รายเสียชีวิต
-13 รายหรือ 86.7%ไม่ได้รับวัคซีน
-จนกระทั่งถึงปัจจุบันในปี 2017 มีผู้ป่วยเด็ก 23 ราย (4 รายเสียชีวิต)

การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในผู้ใหญ่ที่อายุ18 และมากกว่า -ในสัปดาห์ที่ 28 พบมีผู้ป่วย 72 รายที่มีอาการ หนักและเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยICU
-ในจำนวนนี้มี 50 รายเสียชีวิตซึ่งสูงกว่าในสัปดาห์ที่ 27 ที่มีผู้ป่วยอาการหนัก 39 รายและเสียชีวิต 16 ราย
-ในสี่วันแรกของสัปดาห์ที่ 29 คือวันที่ 16 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม มีผู้ป่วยอาการหนัก 38 ราย และ25 รายเสียชีวิต
การติดตามสืบสวนอย่างเข้มข้นในผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 18
-ในสัปดาห์ที่ 28 มีผู้ป่วยเด็ก อาการหนักสามราย และเสียชีวิตหนึ่งราย
-ในช่วงสี่วันแรกของสัปดาห์ที่ 29 วันที่ 16 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม มีผู้ป่วยหนักสองราย
-โดยสัปดาห์ที่ 28 เด็กผู้ชายอายุ 19 เดือนเด็กผู้หญิงสองขวบและสามขวบมีอาการทางสมองโดยที่รายที่สองเสียชีวิต
-รายแรกและรายที่ 2 เกิดจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H3
-สัปดาห์ที่ 29 มีเด็กผู้หญิงอายุห้าขวบเด็กผู้ชายอายุเก้าเดือน รายแรกมีอาการช็อกและเกิดจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A H3 รายที่สองมีอาการสมองอักเสบและเกิดจากเชื้อเดียวกันทั้งสองรายไม่เสียชีวิต
เมื่อเทียบเคียงกับประเด็นข้อสังเกตที่ให้ไว้ดังข้างต้นอาจจะสันนิษฐานได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง ของตัวไวรัสและทำให้จำนวนของผู้ป่วยสูงขึ้นและรวมถึงผู้ป่วยมีอาการและที่มีอาการหนักและที่เสียชีวิตรวมทั้งมีอาการทางสมองและช็อก
ในประเทศไทยเอง ไวรัส H3N2 พบว่าเริ่ม เป็นตัวสำคัญอีกครั้งในเดือนกันยายน 2017 ที่โรงพยาบาลจุฬาและก่อนหน้านั้นพบผู้ป่วยอายุ 15 ปีและเด็กโตมีอาการทางสมองเช่นเดียวกัน แต่จากการติดตามอย่างใกล้ชิดยังไม่พบอาการทางสมองช็อกและปอดบวมรุนแรงจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ AหรือB ก็ตาม
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ดังปี 2014 และเช่นที่เกิดในปี 2009 จะไม่เกิดชึ้น ที่ต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดยังคงต้องทำในขณะที่การเฝ้าระวังยังคงต้องเข้มข้นเช่นเดิม และแน่นอนแม้ได้รับวัคซีนแล้วยังคงเป็นและถึงมีอาการหนักได้ โดยเฉพาะในกรณีที่การพยากรณ์เชื้อไวรัสที่จะทำวัคซีนไม่ทันกับความฉลาดของไวรัสที่ปรับแต่งหน้าตาไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามจบจนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม ขณะนี้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เริ่มเปลี่ยนจาก H3N2 ที่มีจำนวนมากหนาตามาตลอด แทนที่ด้วย H1N1 2009 และมีผู้เสียชีวิต แต่เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ และตอกย้ำถึงการที่ต้องรักษาสุขภาพ
-ลดโอกาสเสี่ยงที่จะสัมผัสกับคนที่เริ่มมีอาการป่วย มี ไอ จาม
-ละเว้น ในการแพร่เชื้อ ที่เอาตัวเราเองที่รู้สึกว่าไม่สบาย ตัวร้อน เข้าไปใกล้คนอื่น
-ปิดปาก จมูก เวลาไอจาม ล้างมือบ่อยๆ เพราะอาจสัมผัส ไวรัสที่ติดตามภาชนะ เครื่องเรือนต่างๆ
-ขณะนี้ ทางปฏิบัติ ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าอาการใดเกิดจากไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสอื่นๆ และอาจเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจเชื้อทุกราย จากการป้ายจมูก คอ
-นอกจากนั้นการตรวจ ด้วยวิธีเร่งด่วนมิได้มีความไวร้อยเปอร์เซ็นต์และการตรวจรหัสพันธุกรรมก็ไม่สามารถทำในคนไข้ทุกคนได้เนื่องด้วยแต่ละวันจะมีคนป่วยที่มีอาการไอ น้อยบ้างมากบ้างเป็น 1000 เป็น 10,000
-และที่สำคัญยาต้านไวรัสที่ดูเสมือนว่าจะเป็นยาวิเศษ ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น แต่จะสามารถลด ระยะเวลาของการเจ็บป่วยให้สั้นลงได้บ้าง ถ้าเริ่มกินเร็ว
อย่างไรก็ตามในกรณีที่โรครุนแรงลงไปถึงหลอดลมลึกๆและปอดดูจะไม่มีประสิทธิภาพนัก


โดย: หมอหมู วันที่: 22 สิงหาคม 2560 เวลา:13:09:06 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]