Group Blog
กรกฏาคม 2564

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
เขียนเอาไว้ในความทรงจำ - ความประทับใจต่อ "ทวิภพ" นวนิยาย / หนัง / ละครปี 2537





ช่วงนี้ไม่มีอะไรทำครับ  ก็ดูอะไรๆไปเรื่อยๆตามยูทูป  วันก่อนเห็นภาพยนตร์เรื่อง  “ทวิภพ”  อัพโหลดใหม่  เลยคลิกเปิดดู  แล้วเลยไปตามหา  ทวิภพ  ซึ่งเป็นละครปี  2537  ดูด้วย  รู้สึกประทับใจมากๆ  วันนี้เลยนั่งเขียนบล็อกยาวยืดดดดดด  เล่าถึงความประทับใจของ  “ทวิภพ”  ครับ
 
 


ตอนแรกว่าจะยัดบล็อกนี้เข้าไปอยู่ใน
  “ละครไทย”  มันก็ไม่เชิง  มีทั้งที่เป็นนวนิยาย  ทั้งภาพยนตร์  เลยเอามาใส่ในบล็อก  “เขียนถึงตัวเอง”  เป็นความทรงจำที่ดีๆ  ต่อทั้งนวนิยาย  ภาพยนตร์  และ  ละคร ปี  2537  ดีกว่าครับ
 
 





ทนายอ้วน  กับ  ทวิภพ  






เคยเล่าไปในงานเขียนโจทย์ตะพาบว่าเคยได้อ่านนวนิยาย   “ทวิภพ”  ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกๆ  ไม่รู้ทำไมเจ้าของบล็อกถึงประทับใจกับนวนิยายเรื่องมากก็ไม่รู้  อาจจะเป็นเพราะเป็นคนชอบอ่านเรื่องเก่าๆ  โบราณๆ  ชอบเที่ยวชม  ถ่ายรูปวัดโบราณ  สนใจเรื่องประวัติศาสตร์อยู่แล้วก็เป็นไปได้  ขอบบอกว่าอ่าน  “ทวิภพ”  เป็นสิบๆรอบไม่เคยเบื่อเลยครับ  เวลาว่างๆ  ไม่มีอะไรทำสิ่งที่นึกถึงเป็นอย่างแรกคือ  “หยิบทวิภพมาอ่านดีกว่า”
 
 


สารภาพตรงๆเลยว่าตอนที่คุณเชิด  ทรงศรี  เอานวนิยาย 
 “ทวิภพ”  มาทำเป็นภาพยนต์ครั้งแรก  เจ้าของบล็อกอยู่มหาวิทยาลัยปี 1  ครับ ...... ที่พิษณุโลกนู้นนนน  .....    จำได้ว่าเด็กมอโดยเฉพาะผู้หญิงต่างดี๊ด๊าอยากดู   “ทวิภพ”  มากๆ  เข้าฉายที่โรงหนัง  “เจริญผล”  กลางเมืองพิษณุโลก  ตรงวงเวียนหอนาฬิกา  เจ้าของบล็อกไปชมตั้งแต่รอบแรกที่เข้าเลย  ภาพยนตร์จะเริ่มฉายตอนหัวค่ำ  ตอนนั้นเจ้าของบล็อกมาพักอยู่ที่หอพักนอกมหาวิทยาลัยแล้ว  ขี่จักรยานกันไปเป็นแกงค์ใหญ่ๆ  10  กว่าคันกับเพื่อนและรุ่นพี่ต่างคณะและคณะเดียวกันที่พักอยู่หอเดียวกัน  พอไปถึงโรงหนังเจริญผลก็พบเจอเพื่อนรุ่นเดียวกัน  รุ่นพี่  ทั้งต่างคณะและคณะเดียวกันอีกกลุ่มใหญ่มากๆ  ....  เรียกได้ว่า  “ทวิภพ” ในรอบปฐมทัศน์ในวันนั้น  “มศว. เหมารอบ”  กันเลยทีเดียว






 
 

 
เจ้าของบล็อกจำได้ว่าได้นั่งติดกับรุ่นพี่คณะมนุษยศาสตร์ที่อยู่หอเดียวกันและค่อนข้างสนิทกัน  พี่คนนี้ชอบพี่นก  ฉัตรชัยมากๆ  ............. ฉากแรกที่พี่นกปรากฏตัวในภาพยนตร์เป็นภาพรางๆ  ดำๆ  ในกระจก  พร้อมกับพูดว่า
  “แม่มณี  ...  แม่มณี  ...  แม่มณีจ๋า ....”  สาวๆในโรงภาพยนตร์ทั้งหลายรวมทั้งพี่ผู้หญิงที่สนิทกันต่างขานรับบทพูดของพี่นก  ฉัตรชัยขึ้นพร้อมกันว่า  “จ๋า .......”  เล่นเอาคนดูคนอื่นฮากันครึน  !!!!!!
 



แล้วภาพจำของ 
 “ทวิภพ”  สำหรับเจ้าของบล็อกที่ติดมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นภาพฉากที่พี่นก  ฉัตรชัย  ปรากฎตัวในภาพยนต์เป็นฉากแรก  พร้อมกับเสียงสาวๆขานรับว่า  “จ๋า ......”  นึกถึงทีไรก็อมยิ้มทุกที












 



 
จนเมื่อ  พ.ศ.  2537  ดาราวิอีโอ  ได้นำ 
 “ทวิภพ” มาทำละครออกฉายในเวลาไพร์มทางช่อง  7   นำแสดงโดย  พี่ตั้ว  ศรันยู  พี่แอน  สิเรียม  คุณอารัญญา  นามวงศ์  คุณดวงใจ  หทัญกาญจน์  คุณเมตตา  รุ่งรัตน์  เจ้าของบล็อกก็ติดตามดูทุกตอน  จนเมื่อหลายปีก่อนที่เจ้าของบล็อกเข้าไปโพสทำอาหารในห้อง  “ก้นครัว”  แล้วได้มีการคุยกันถึงเรื่อง   “ทวิภพ” มีพี่คนนึงเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์อยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์  โรงพยาบาลพระมงกุฎ  ได้ส่ง  “CD”  ละครเรื่องทวิภพมาให้เจ้าของบล็อกพร้อมบอกว่าเป็นละครที่ทั้งคุณพี่และสามีประทับใจมากๆ  จนต้องสั่งอัดลงแผ่น  CD  เก็บเอาไว้  เห็นว่าเจ้าของบล็อกก็ชอบบทประพันธ์เรื่องนี้ด้วยจึงสั่งก๊อปปี้และส่งมาให้เป็นที่ระลึก  (เมื่อหลายๆปีที่แล้วยังไม่มีละครเก่าอัพโหลดในยูทูปครับ  ถ้าอยากดูละครเก่าๆ  ต้องสั่งอัดใส่แผ่น  CD  เอาตามเวบต่างๆ)
 
 


เจ้าของบล็อกประทับใจทั้งมิตรภาพที่มีให้กันผ่านตัวหนังสือในห้องก้นครัว  ทั้งความเอ็นดูที่พี่สาวคนั้นมีให้กับ  login  ทนายอ้วน  และประทับใจในละคร 
 “ทวิภพ” เอาออกมาดูหลายต่อหลายครั้งอย่างไม่เบื่อเลย  จนแผ่น  CD  นั้นหมดสภาพไปเอง
 
 



แต่เมื่อช่อง  7  นำ 
 “ทวิภพ”  มารีเมคใหม่อีกครั้ง  เจ้าของบล็อกปฎิสธที่จะติดตาม  ด้วยเจ้าของบล็อกคิดว่า  “ภาพจำ”  ของ   “ทวิภพ”  ของเจ้าของบล็อกทั้งที่เป็นภาพยนตร์และละคร  “มันสวยงามดีอยู่แล้ว”  และตอนที่ช่อง  7  นำมารีเมค  ก็เป็นช่วงที่เจ้าของบล็อกสนุกกับการทำงานเลยไม่ได้สนใจอะไรมากนัก
 




 
สำหรับตัวเอกฝ่ายชาย
  “คุณหลวง / พอเทพ  / หลวงอัครเทพวรากร / พระยาอัครเทพวรากร”  (ภาพยนต์แสดงโดย  พี่นก  ฉัตรชัย  / ละครแสดงโดย  พี่ตั้ว  ศรันยู  ผู้ล่วงลับ)



 
 
เจ้าของบล็อกว่าสมบทบาทกันทั้งคู่ครับ 
“คุณหลวง”  ของแม่มณี  หรือ  เมนี่  เป็นคนสูงโปร่ง  สง่า  ในนวนิยายไม่ได้บอกว่าคุณหลวง  “หล่อ”  นะครับ  แต่บอกว่าเป็นคนเรียบร้อย  ถือตัวเรื่องขนบธรรมเนียม  ประเพณีมาก  ซึ่งทั้งพีนกชาย  และพี่ตั้ว  สมบทบาทมากๆ  แต่ให้พี่นกชายเฉือนไปนิดเดียวตรงที่เสียงนุ่มและทุ้มมากว่า  ตอนที่เรียก  “แม่มณีจ๋า ......”   มันฟังแล้วน่าฟังกว่านิดนึงครับ
 
 


ตามเนื้อเรื่องแล้วคุณหลวงเป็นคนพูดน้อยก็จริงแต่พูดออกมาแต่ละคำนี่เชือดเฉือนจนเมนี่หงายไปหลายทีเหมือนกันครับ  คงเป็นตามกิริยาของผู้ดีในสมัยโบราณที่พูดน้อย  แต่ต่อยแต่ละคำล้วนหมัดน็อคทั้งนั้น  บทหวานๆของคุณหลวงก็มีนะครับ  พอให้บทไม่น่าเบื่อในความเคร่งขรึมมากจนเกินไปนัก











 





 

ตัวเอกฝ่ายหญิง  “มณีจันทร์ / เมนี่ / แม่มณี”    (ภาพยนต์แสดงโดย  จันทร์จิรา  จูแจ้ง  / ละครแสดงโดย  พี่แอน  สิเรียม)
 

 
ดาราทั้งสองคนมีพื้นฐานการเป็นนางแบบมาก่อน  เหมาะสมกับการรับบทเป็น 
“มณีจันทร์”  มาก  เพราะสวยสง่า  ทันสมัยหรือในนวนิยายใช้คำว่า  “เปิ๊ดสะก๊าด”  ในขณะเดียวกันก็มีความเรียบร้อยสมเป็นกุลสตรีไทยบ้างเพราะเป็นลูกสาวท่านทูต  ถึงจะไม่ได้เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้อย่างกุลสตรีในสมัยรัชการที่  5  ซึ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินเรื่อง  แต่ก็ไม่ได้กระโดกกระเดกจนไม่รู้จักการ  “เข้าผู้ใหญ่”  อย่างที่คุณหญิงแส  คุณหญิงแม่ของคุณหลวงกล่าวถีงกิริยาของ  “แม่มณี”  ว่า  “กิริยาพอใช้ได้  แต่ต้องฝึกให้เรียบร้อยกว่านี้  จะได้ไม่ขายหน้าเค้า”  ซึ่งทั้งในภาพยนต์และในละครก็เอามุมเรียบร้อยและแก่นๆของ  “แม่มณี”  มาให้เราเห็นทั้ง  2  แบบ  โดยในละครเราจะเห็นมากกว่าในภาพยนต์เพราะมีเวลาดำเนินเรื่องยาวนานกดว่า 
 
 
แต่ที่สำคัญที่ทำให้เรื่อง 
 “ทวิภพ”  ดำเนินเรื่องมาได้ถึงจบก็คือความที่นางเอกเป็นสาวไฮโซ  บ้านรวยมาก  วันๆก็ไปทางนั้นทีทางนี้ทีไม่ได้ทำอะไรเป็นหลักแหล่ง  พอมาอยู่ในภพอดีต  ความรู้ที่ติดตัว  “แม่มณี”  มาทั้งภาษาอังกฤษ  ภาษาฝรั่งเศส  ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์  กลับมีค่ามหาศาล  จนทำให้  “แม่มณี”  ปรารภกับ  “คุณหลวง”  อยู่เนืองๆถึงเรื่องนี้












 

คุณหญิงแส   (ภาพยนต์แสดงโดย  คุณอรวรรณ  โปร่งมณี  / ละครแสดงโดย  คุณอรัญญา  นามวงศ์)
 

 
สมบทบาททั้งสองคนครับ  ....  ในนวนิยายคุณหญิงแสเป็นหญิงผู้ดีวัยกลางคน  รูปร่างท้วมนิดหน่อย  (อย่างกับที่คุณหญิงแสเคยบอกว่าเป็นลูกผู้ดีต้องท้วมนิดหน่อย  ดูมีน้ำมีนวล  ผอมไปเป็นไม้เสียบผีไม่ดี)  ท่าทางมีอำนาจ  ใครๆเห็นก็เกรง 
 


ทั้งคุณอรวรรณ  และคุณอรัญญา  มีบุคคลิคสมเป็นคุณหญิงแสทั้งสองคนครับ  ผิวขาว  ท้วม  ดูมีอำนาจให้บ่าวไพร่ในเรือนรวมทั้ง  “คุณหลวง”  กับ  “แม่มณี”  เกรงใจ  คุณหญิงแสเป็นคนหนักแน่น  มีเหตุผล  เมื่อทราบว่า  “แม่มณี”  ผ่านกระจกมาที่ห้องคุณหลวงได้ก็ไม่เอะอะโวยวาย  แต่ใช้วิธีคอยดูให้เห็นด้วยตาตนเอง  พอได้เห็นแล้วก็ไม่เอะอะ   ฉากที่แสดงให้เห็นถึงความใจดีและมีเมตตาของคุณหญิงแสต่อแม่มณีก็มีหลายฉากนะครับ  เช่น
 


ฉากที่  “แม่มณี”  ช่วยคุณหญิงแสกวนขนมเม็ดสาคูใส่น้ำใบเตย  คุณหญิงแสเห็นว่าขนมนี้ยังไม่มีชื่อ  เลยเรียกชื่อขนมนี้ว่า  “หยกมณี”  เพื่อแทนตัวแม่มณี 
 

 
หรือตอนท้ายๆของเรื่อง  คุณหญิงแสมอบสร้อยและตะกรุด  2  ดอก  ที่จารึกดวงชะตาของพ่อคุณหลวงกับของคุณหญิงให้กับแม่มณี  แล้วรับแม่มณีเป็นลูก  ก็ซึ้งกินใจมากๆ  ....
 
 



“สร้อยเส้นนี้มีตะกรุด  2  ดอก  เป็นแผ่นทองจารึกดวงชะตาของท่านเจ้าคุณพ่อของพ่อเทพกับของแม่ทำไว้คู่กัน  แม่ขอมอบให้แม่มณีเป็นของรับขวัญ  เป็นความผูกพันว่าแม่มณีมีพ่อมีแม่รักษา  ขอให้ลูกอายุมั่นขวัญยืน  เจริญด้วยยศศักดิ์  อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  รักษาเกียรติของวงศ์ตระกูลให้ดีเพราะเท่ากับเป็นเชื้อสายเดียวกันแล้ว”
 
 



เจ้าของบล็อกสารภาพตรงนี้เลยว่าไม่ว่าจะดูภาพยนตร์ย้อนหลังกี่ครั้ง  ดูละครย้อนหลังกี่ครั้ง  พอถึง  2  ฉากนี้  เจ้าของบล็อกน้ำตาร่วงทุกครั้งครับ








 
 






นุ่ม / ม้วน  (ภาพยนต์แสดงโดย  ไม่ทราบชื่อ  / ละครแสดงโดย  คุณเมตตา  รุ่งรัตน์)
 
 


จริงๆแล้วในหนังสือ  นุ่ม  และ  ม้วน  ไม่ค่อยมีบทบาทมากครับ  ในภาพยนตร์ก็พอๆกับหนังสือ  แต่ละครมีบทบาทค่อนข้างมาก  คงเป็นเพราะเป็นตัวสร้างสีสันให้กับละคร  และเป็นตัวเชื่อมสิ่งหรือบุคคลต่างๆเข้ากับตัวของนางเอก
 


 
อย่างเช่น  ม้วน  ซึ่งเป็นบ่าวต้นห้องของคุณหญิงแสที่กลายมาเป็นต้องห้องของแม่มณีเวลาที่ไปอยู่ในยุคอดีตก็เชื่อมโยงคุณหญิงแส  คุณหลวง  และสิ่งต่างๆที่แม่มณีไม่เคยพบเคยเห็นเข้ากับตัวแม่มณี
 



ส่วน  นุ่ม  ซึ่งเป็นคุณแม่บ้านของ  “เมนี่”  ก็เชื่อมโยงเหล่าเพื่อนๆของ  “เมนี่”  อันมี  ไรวัต  ดร.ตรอง  กุลวรางค์  และแม่แต่กระทั่งคุณมาลิดา  ซึ่งเป็นคุณแม่ของ  “เมนี่”  เข้ากับตัวเมนี่ทางฝั่งภพปัจจุบัน  นุ่ม  เป็นสาวใหญ่  น่าจะเข้าวัยกลางคน  เพราะฉะนั้นจะรู้เรื่องราวเล็กๆน้อยๆที่เป็นเรื่องเก่าๆ  เป็นคนให้ความกระจ่างกับ  “เมนี่”  ในหลายๆเรื่อง
 


 
คุณทมยันตียังให้  นุ่ม  หน้าเหมือน  ม้วน  ราวกับแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกัน  ที่ยิ่งไปกวานั้น  ม้วน  คือ  ยายทวดของ  นุ่ม  อีกด้วย  นับว่าฉลาดมากที่เลือกบุคคลที่ใกล้ชิดกับนางเอกมาเป็นตัวเชื่อมโยงบุคคลต่างๆ  หรือสิ่งต่างๆเข้ากับตัวนางเอก
 


 
สิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นความบังเอิญ  (หรือตั้งใจ)  ของผู้สร้างละครคือ  คุณเมตตา  รุ่งรัตน์  ที่เคยรับบท  (รับเชิญ)  เป็นคุณมาลิดา  คุณแม่ของเมนี่  ได้กลับมารับรองเป็น  นุ่ม  และ  ม้วน  ในทวิภพภาคละคร  เจ้าของบล็อกจึงรู้สึกว่าทวิภพภาคภาพยนต์และทวิภพภาคละครเกี่ยวเนื่องกันอยู่เล็กๆ











 
ตัวละครอื่นๆขอไม่พูดถึงนะครับ  อ้อ ...  ที่ชอบทวิภพภาคภาพยนตร์ก็เพราะว่า
 “คุณปกรณ์  พรพิสุทธิ์”  พระเอกละครของกรมศิลปากร  ร่วมเล่นเป็นไรวัต  นายทหารที่มาชอบ  “เมนี่”  ด้วยครับ  ติดเสียแต่ว่าการเคลื่อนไหวยังมองดูคล้ายๆเล่นละครรำ  เล่นโขน  อยูนิดๆครับ









 
 
อ้อที่  2  บท 
“แม่ประยงค์”  คู่หมายของ  “พ่อทพ”  รับบทโดยนางสาวไทยในดวงใจ  พี่อร  อรอนงค์  ปัญญาวงศ์  จริงๆในหนังสือแม่ประยงค์  กับ  แม่มณี  ไม่ได้เจอกันจังๆนะครับ  สวนกันไปมา  ที่เห็นว่าในหนังสือกล่าวถึงแม่ประยงค์เยอะก็เพราะแม่มณีนั่นแหละเอามา  “อำ”  คุณหลวง  แต่ในละครปี  2537  แม่มณีได้เจอ  ได้นอนคุยกับแม่ประยงค์ด้วย  2 – 3 ฉากสั้นๆ  คงเพื่อสร้างสีสันให้ละครมั๊งครับ  ปีนั้นพี่อรได้เป็นนางส่าวไทยใหม่ๆ  ได้รับเชิญเล่นทวิภพหลังจากที่เล่น  “ละครเร่”  เป็นตัวเปรียบเทียบกับแม่มณีได้ดีทีเดียว  ฮ่าๆๆๆ  สมัยก่อนคนเป็นนางสาวไทยต้องมีขาว  น้ำมีนวล  แบบพี่อร  ซึ่งต่างกับนางแบบอย่างพี่แอนที่ผอม  สูง  กิริยามารยาทพี่อรก็เรียบร้อยซ้า  ......  คงเป็นเพราะนำเอาวิชานาฎศิลป์ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้










 
 
เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ทำให้เจ้าของบล็อกหลงรักทวิภพทั้งภาคภาพยนตร์และละครปี  2537  เนื่องจากผู้สร้างทั้ง  2  ท่าน  “เคารพบทประพันธ์เดิมเป็นอย่างมาก”  ดำเนินเรื่องตามบทประพันธ์เดิมทุกอย่าง  บทพูดสำคัญๆก็อ้างอิงบทประพันธ์เดิมทั้งสิ้น  เจ้าของบล็อกไม่แน่ใจว่าเรือนของคุณหลวงในภาคภาพยนตร์จะเป็นเรือนหลังเดียวกับภาคละครปี  2537  หรือไม่  แต่หน้าตาคล้ายกันมากๆ  เพลงประกอบละครต่างๆก็คล้ายกันเสียจนคิดว่าเป็นเพลงเดียวกัน
 


ในบทประพันธ์มีกลอนท่อนหนึง  ซึ่งคุณหลวงชอบร้อง 





“เจ้าเอยเจ้าปลูกรัก ..... จะปลูกไว้ในอ่างแก้ว
    ต้นรักพี่แล้ว.......... ปลายไปเร่รักเขาอื่น
จะเด็ดยอดเสีย ......... แล้วจะรดน้ำให้ชื่น
อย่าเร่ไปรักเขาอื่น ..... ให้คืนมารักพี่เอย”
 

 
ซึ่งเป็นคำร้องของเพลงไทยเดิมชื่อเพลง  “สะสม”
 
 




ในภาพยนตร์ก็นำไปดัดแปลงใส่ทำนองให้พี่นก  ฉัตรชัย  และ  คุณจันทร์จิรา  ร้องประกอบภาพยนตร์  
 





“  (พี่นกชาย)  เจ้าเอยปลูกรักไว้ในอ่างแก้ว
ปลูกรักแล้วพี่ไม่ปลูกรักอื่นนะน้องเอ๋ย
มอบกายใจทุกชาติไปไม่คลายคืน
เจ้าอย่ามีรักอื่นนะชื่นใจ
 



(คุณจันทร์จิรา)  เจ้าเอยปลูกรักไว้ในอ่างแก้ว
ปลูกรักแล้วไม่สมัครปลูกรักใหม่นะพี่เอ๋ย
มอบกายใจไม่แคล้วคลาดทุกชาติไป
พี่อย่ามีรักใหม่ชื่นใจเอย”
 




 
แต่ในละครปี  2537  ให้พี่ตั้ว  ศรันยู  ร้องคนเดียวครับ  โดยใช้เนื้อและทำนองเดียวกันเฉพาะท่อนที่ผู้ชายร้อง
 
 

“เจ้าเอยปลูกรักไว้ในอ่างแก้ว
ปลูกรักแล้วพี่ไม่ปลูกรักอื่นนะน้องเอ๋ย
มอบกายใจทุกชาติไปไม่คลายคืน
เจ้าอย่ามีรักอื่นนะชื่นใจ”

 






และที่เจ้าของบล็อกเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทั้งทวิภพภาคภาพยนตร์และละครปี  2537  ให้ความเคารพบทประพันธ์มากๆคือ
  “กระจก”  “อ่างล้างหน้า”  และ  “เหยือกน้ำ”  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เมนี่ใช้เดินทางไปๆมาๆ  ระหว่างภพอดีตกับปัจจุบัน  จำได้รางๆว่าบทประพันธ์บรรยายเอาไว้ว่าเป็นกระจกบานใหญ่  สูงกว่าตัวคน  กรอบเป็นไม้แกะสลักอ่อนช้อยเป็นรูปพรรณพฤกษาและรูปสัตว์  ......  ซึ่งทั้ง  3  สิ่งทั้งในทวิภพภาคภาพยนตร์และละครปี  2537  ถ่ายทอดออกมาได้ใกล้เคียงมากๆ  แล้วเจ้าของบล็อกก็ไม่แน่ใจด้วยว่ากระจกบานในทวิภพภาคภาพยนตร์เป็นบานเดียวกันกับในละครปี  2537  หรือเปล่า  เพราะว่าคล้ายกันมาก  ถ้าเป็นบานเดียวกันละก็ถือว่าสุดยอดมากๆครับ 













 



Create Date : 08 กรกฎาคม 2564
Last Update : 8 กรกฎาคม 2564 11:23:40 น.
Counter : 2455 Pageviews.

12 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณตะลีกีปัส, คุณPooh Station TH, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณกะว่าก๋า, คุณอุ้มสี, คุณสองแผ่นดิน, คุณhaiku, คุณnewyorknurse, คุณkae+aoe, คุณ**mp5**, คุณเริงฤดีนะ, คุณป้าทุยบ้านทุ่ง

  
สมัยก่อนตอนดูนี่ชอบมากครับ เรียกว่าติดเลยแหละนั่งดูกันทั้งครอบครัวเลย
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 8 กรกฎาคม 2564 เวลา:12:18:56 น.
  
สวัสดีมีสุขค่ะ

เป็นละครที่ชอบมากๆ ติดตามทุกตอนเลยค่ะ
แต่ภาพยนต์ไม่เคยดูสักครั้งเดียวค่ะ
โดย: ตะลีกีปัส วันที่: 8 กรกฎาคม 2564 เวลา:12:40:20 น.
  
สวัสดีมีสุขค่ะ

ขอบคุณกำลังใจที่หมึกไข่นึ่งมะนาวด้วยค่ะ
โดย: ตะลีกีปัส วันที่: 8 กรกฎาคม 2564 เวลา:14:55:57 น.
  
แสดงว่าคุณบอลชอบเรื่องนี้มากๆเลยนะครับ
ติดตามทุกเวอร์ชั่นเลย
ผมไม่เคยได้อ่านหรือดูเลยครับ
รู้แต่ว่าดังมากๆ ไม่ว่าจะเป็นนิยาย ละครหรือหนังก็ตาม
ถ้าจำไม่ผิดมีนำมาแสดงเป็นละครเวทีด้วยนะครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 8 กรกฎาคม 2564 เวลา:18:33:06 น.
  
เป็นความทรงจพดีดี
เลยจ๊ะน้องบอล
โดย: อุ้มสี วันที่: 8 กรกฎาคม 2564 เวลา:20:52:55 น.
  
สวัสดียามเช้าครับคุณบอล

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 9 กรกฎาคม 2564 เวลา:6:32:19 น.
  
ชอบเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ สนุกดี

ขอบคุณสำหรับกำลังใจด้วยนะคะ
โดย: kae+aoe วันที่: 9 กรกฎาคม 2564 เวลา:8:36:02 น.
  
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ
โดย: **mp5** วันที่: 9 กรกฎาคม 2564 เวลา:9:18:07 น.
  
ชอบๆๆแม่มณจันทร์
จันทร์จิรา จูแจ้ง มากค่ะ

เธอก็คงจะชอบตัวเองมากไป
จนมาทำละครช่อง3 ใช่ชื่อบริษัทว่า มณีจันทร์
โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 9 กรกฎาคม 2564 เวลา:11:43:27 น.
  
เป็นหนังตุรกีเรื่องแรกที่ผมเคยดูเลยครับคุณบอล
แล้วก็ชอบมากๆครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 9 กรกฎาคม 2564 เวลา:11:54:26 น.
  
ทวิภพ ฉัตรชัย-จันจิรา ไปดูที่สยามค่ะ
(จำชื่อโรงมิได้ดอกหนา ผ่านมานานโข)
คุณจันจิรานี่มีผลงานพริกขี้หนูกับหมูแฮมอีกเรื่อง
และอิฉันก็เป็นแฟนคลับคุณฉัตรชัย แต่มิได้ "จ๋า" ดอกนะ
มีแค่ขำหน้านางเอกหัวเราะน้ำหูน้ำตาไหลตอนข้ามภพ
เพราะหน้าคุณจันจิราเธอค่อนข้างสวยแปลก
นอกนั้นตลอดเรื่องอบอุ่นละมุนละไมตลอด
โดย: ป้าทุยบ้านทุ่ง วันที่: 11 กรกฎาคม 2564 เวลา:16:29:56 น.
  
ปีภาพยนตร์ที่คุณฉัตรชัยเล่นน่าจะ 2533 ไหมคะ ?
ละครโทรทัศน์ ตอนคุณตั้ว 2537

เพราะปี 2535 อิฉันไปตะแล๊ดแถ่ดแถอยู่เชียงใหม่แล้ว
หนังโรงที่เชียงใหม่ น่าจะ "โลกทั้งใบให้นายคนเดียว"
โดย: ป้าทุยบ้านทุ่ง วันที่: 11 กรกฎาคม 2564 เวลา:16:34:36 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]