ขอโม้ ขอเม้า ขอฝอยเรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา วิวาทะ ว่าด้วยเรื่องมโนสาเร่
 
รักแห่งสยาม" (เปิดตำนานรักฉบับสีม่วง)บทวิพากษ์หนัง ในมิติทางสังคมวิทยา



สำหรับวัยรุ่นและครอบครัว

“รักแห่งสยาม” (เปิดตำนานรักฉบับสีม่วง)บทวิพากษ์หนัง ในมิติทางสังคมวิทยา

คำเตือน: ดูหนัง ดูละคร ย้อนดูตัวเองนาย

ชลเทพ ปั้นบุญชู(นักวิชาการอิสระด้านสังคม)

ภาคอารัมภบท

ในช่วงเวลายามบ่าย ณ โรงหนังแห่งหนึ่งย่านพระราม 3 แม้ว่าผู้คนจะมิได้มากมายอย่างที่คิด แต่ก็สงบเพียงพอที่จะทำให้ผมได้ดูหนังพร้อมกับทบทวนเนื้อหา วิธีคิด วิธีถ่ายทอดได้อย่างละเอียดเพื่อเขียนบทความมหากาพย์เกย์ภาคสาม ผมถือว่านี่คือซีรี่ส์ต่อเนื่องจากชุดที่หนึ่งและชุดที่สองที่ผมเคยได้เขียนเอาไว้ในบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์เกย์ในสยามประเทศ[1] และเรื่อง เพื่อนกูรักมึงว่ะ[2] ผมเองก็มิได้เชี่ยวชาญเรื่องเกย์อะไรแต่ที่สนใจเพราะช่วงนี้หนังเกย์เข้ามาบ่อยๆต่อเนื่องและแฝงไปด้วยนัยยะต่างๆที่ต้องการค้นหาคำตอบ อีกทั้งเพื่อนหลายคนรบเร้าให้ผมไปดูเรื่องนี้จนผมต้องออกโรงไปชมหนังเรื่องดังกล่าว ทั้งๆที่ชีวิตจริงคือไม่ค่อยได้ดูหนังโรงซักเท่าไร (คืองบน้อยและเสียดายเงินนะครับ) แต่อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าคุมค่ากับราคาเพราะเนื้อหาดีจนผมคาดไม่ถึง ตอนแรกก็นึกว่าหนังรักทั่วๆไปตามประสาหนุ่มสาววัยรุ่นเพราะได้เห็นการทำPR ของหนังเรื่องนี้ ก็ดูเรียบๆธรรมดา ผมมันวัยรุ่นช่วงปลายกลัวจะไม่สามารถรับอรรถรสของเนื้อหาได้อย่างเต็มบริบูรณ์ (เลยช่วงวัยของรักแบบนั้นไปแล้ว) แต่ที่ไหนได้ครับมีเรื่องอื่นมาด้วย ทั้งความรัก(เพื่อน หรือ? ครอบครัว และแฟน)เรียกได้ว่าเกินความคาดหมายจนนึกว่าดูผิดเรื่อง

ภาคสารัตถะ ว่าด้วยสังคมวิทยากับการศึกษางานภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” บทวิพากษ์ วิจารณ์วิเคราะห์

นาฏลักษณ์ตัวละครและเนื้อหา

เรื่อง รักแห่งสยาม เป็นภาพยนตร์ที่ผมจัดให้อยู่ในประเภทromantic dramaโดยมีตัวดำเนินเรื่องหลักคือ มิว เด็กหนุ่มผู้มีอดีตที่อ่อนแอถูกเพื่อนแกล้ง พลัดพรากจากพ่อมาอาศัยอยู่กับอาม่า โดยความรู้สึกเสมือนถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว และโต้งเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียวกันที่มีพี่สาวชื่อแตงและครอบครัวที่อบอุ่น มิวรู้สึกว่าตนเองผูกพันธ์กับโต้งเพราะโต้งคอยช่วยเหลือจากการรังแกของเพื่อนๆที่โรงเรียน มิวสนิทกับโต้งซึ่งบ้านอยู่ใกล้กัน และรู้สึกว่าครอบครัวโต้งน่าอิจฉาเพราะอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา มีพี่สาวที่น่ารัก พ่อแม่ที่รักลูก แต่แล้ววันหนึ่งโต้งก็สูญเสียพี่สาวไปจากการหายสาบสูญเมื่อครั้งที่พี่สาวขอไปเที่ยวเชียงใหม่ หลังจากนั้นครอบครัวโต้งก็เปลี่ยนไป ทุกคนต่างเศร้าซึมพ่อโทษตนเองที่อณุญาติให้ไปเที่ยวโดยไม่ฟังคำทัดทานของแม่ โต้งคิดถึงพี่สาว ภาพต่างๆมันติดตาทำให้ทุกคนลืมแตงไม่ลงและในที่สุดก็ต้องย้ายบ้านไปเพื่อลบภาพในอดีตลง โต้งกับมิวจึงแยกห่างกันไป มิวได้เติบโตอยู่กับอาม่าจนวาระสุดท้ายของชีวิตอาม่าและใช้ชีวิตมาเพียงลำพังตลอดแต่ได้พบเพื่อนข้างบ้านใหม่อย่างหญิงจนได้กลายมาป็นเพื่อนสนิทในเวลาต่อมา ส่วนโต้งก็ได้เติบโตกับความปล่าวเปลี่ยวที่ทุกคนในบ้านพยายามหวนหาพี่แตงพี่สาวอันเป็นที่รักของคนในบ้าน พ่อติดเหล้าตนป่วย ส่วนแม่ก็ทำงานหนักมากขึ้นจนสร้างฐานะที่มั่นคงให้กับครอบครัว แม่โต้งจึงเปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวในเวลานั้น ชีวิตของโต้งดูจะเต็มไปด้วยความคาดหวังของแม่เพราะเหลือลูกชายเพียงคนเดียวในบ้าน จึงพยายามหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับโต้ง มิวเป็นนักแต่งเพลง นักร้องนำวงออกัส วงที่มิวและเพื่อนๆที่โรงเรียนรวมกลุ่มกันขึ้นมาจากเด็กที่มีใจรักด้านดนตรี มิวเองมีความสามารถด้านการดนตรีและร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กและในที่สุดก็ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก จนเมื่อวันหนึ่งที่มิวและเพื่อนๆเดินเที่ยวเล่นอยู่แถวหน้าแผงขายเทป มิวก็ได้พบกับโต้งเพื่อนเก่า จนความรู้สึกที่มิวเคยมีต่อโต้งเมื่อครั้งสมัยเด็กๆกลับมาอีกครั้ง ทั้งสองต่างดีใจมากที่ได้พบกันอีกและได้มีโอกาสนักพบกันในช่วงเวลาหลฃังจากวันนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โต้งเองเริ่มรู้สึกแย่กับแฟนสาวที่ชื่อโดนัท หญิงสาวที่เพรียบพร้อมในแบบที่เรียกว่าสวยเลือกได้ โต้งรู้สึกว่าอึดอัดเมื่ออยู่กับโดนัทที่คอยจับผิดและเอาใจยาก โต้งไม่สามารถเข้าใจอารมณ์โดนัทได้เลยและในขณะเดียวกันโต้งเองก็กลับรู้สึกดีกับมิวขึ้นเรื่อยๆ จากเพื่อนที่เคยผูกพันธ์กันมานาน มีความเข้าอกเข้าใจกันอย่างดีจนแทบที่จะเรียกได้ว่ามองตาก็รู้ใจ มิวเป็นเพื่อนที่โต้งรู้สึกว่าเข้าใจปัญหาที่โต้งผชิญอยู่ ทั้งเรื่องพี่สาว เรื่องที่บ้าน หลายครั้งที่โต้งระบายและแลกเปลี่ยนความรู้สึกในใจกันอยู่เสมอ ต่อมามิวก็ได้พบกับผู้ดูแลศิลปินที่คอยดูแลวงออกัสอย่างพี่จูนซึ่งมีหน้าตาละม้ายคล้ายพี่สาวโต้งที่หายสาบสูญไปคือจูน จนมิวเกิดความคิดที่จะให้ทั้งคู่มีโอกาสพบกันและมิวก็นัดโต้งไปที่ห้องซ้อมดนตรี โต้งเองตกใจและดีใจที่ได้พบกับคนหน้าเหมือนพี่สาวจนได้มีโอกาสได้แนะนำให้รู้จักกับแม่ของโต้งเพื่อได้เข้าไปช่วยรักษาสภาพจิตใจของพ่อที่ย่ำแย่จากการป่วยเป็นโรคตับเนื่องจากการหายตัวของพี่แตง พ่ออาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและได้จัดงานเลี้ยงใหกับลูกสาวที่กลับมา(ซึ่งหมายถึงพี่จูนที่ปลอมตัว) มิวและเพื่อนๆก็มาเล่นดนตรีให้ที่บ้านโต้ง และทั้งคู่ได้แสดงความรู้สึกที่มีต่อกันในค่ำคืนนั้นแต่แม่โต้งผ่านเข้ามาเห็นพอดี จนแม้สั่งห้ามให้โต้งกับมิวพบกันและคบกัน โต้งไม่เข้าใจว่าหลังจากวันนั้นทำไมมิวต้องหลบหน้า ส่วนมิวเองก็สับสนเสียใจและไม่มีกำลังใจที่จะเล่นดนตรีอีก เพราะเพลงที่เล่นในคืนวันนั้นมิวแต่งขึ้นจากความรู้สึกที่มีต่อโต้ง มิวหายหน้าไปจากวงดนตรีจนเพื่อนๆในวงไม่พอใจ ส่และก็พยายามหลบหน้าโต้ง โต้งมารู้ว่าแม่สั่งห้ามไม่ให้มิวพบกับโต้งก็ไม่พอใจแม่และประชดตนเองโดยการไปเที่ยวเตร่กินเหล้ากับเพื่อน แม่เสียใจและตัดพ้อว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆต้องประดังเข้ามาที่ครอบครัวเธอ พ่อเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการตับที่เป็นอยู่ จูนได้แต่ให้กำลังใจและแนะนำแม่โต้ง โต้งเริ่มสนิทกับหญิงมากขึ้นเพราะได้พบกันที่วงเหล้าในบ้านของเพื่อน หญิงก็ให้กำลังใจกับโต้งโดยที่ตัว เองก็รู่ว่าโต้งและมิวรู้สึกอย่างไรต่อกันและคอยช่อยเหลือทุกสิ่งอย่างเท่าที่เธอจะทำได้ มิวเองก็มาค้นพบภายหลังว่าหญิงแอบชอบตน หลังจากอาการการป่วยดีขึ้นพ่อเริ่มเห็นใจและสงสารแม่มากขึ้น โต้งเริ่มเข้าใจแม่มากขึ้น และแม่เริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดที่มีต่อโต้งและพ่อลง มิวปรับความเข้าใจกับเพื่อนและหันกลับไปเล่นดนตรีในงานคริสต์มาสอีกครั้ง โต้งไปเชียร์มิวที่ขอบสนามและช่วงจบรายการได้พูดความในใจให้มิวได้รับฟัง ทั้งคู่ต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน

ภาควิเคราะห์เนื้อหา สังคมวิทยาว่าด้วยเรื่องครอบครัว ความรัก และวิถีชีวิตวัยรุ่น

หากจะว่ากันไปแล้วในมุมมองของผมกับแนวคิดเรื่องการประกอบสร้างเนื้อหา ผมกับชอบวิธีการดำเนินเรื่องนี้และวิธีกาใช้ตรรกะแสดงความเป็นเหตุและผลจุดยุบ จุดแยกและ จุดยืนของเรื่องราวได้ดี ต่างกับหนังเกย์ของคุณพจน์ ที่ออกจะดูจาบจ้วงและรวบรัดมากไปหน่อย อย่างน้อยหนังเรื่องนี้ก็มีคำอธิบายเพียงพอสำหรับการเข้ามาสู่วังวนแห่งชายรักชาย และที่สำคัญผมดูเรื่องนี้ผมกลับรู้สึกว่าไม่ใช่แก่นเรื่องแบบหนังชายรักชาย แต่มันน่าจะหมายถึงนิยมความรักในหลากหลายมิติทั้งมิตรภาพ ครอบครัว ความรู้สึกที่ผูกพันธ์ที่มุ่งเน้นสุนทรียศาสตร์ทางจิตใจมากกว่าที่จะเอากามรมณ์เป็นที่ตั้ง คือเรียกว่า”ความรัก”อยู่เหนือและก้าวพ้น “ความ ใคร่”

สังคมวิทยาว่าด้วยเรื่องครอบครัว

เรื่อง”รักแห่งสยาม”ได้พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวไว้อย่างดีเลยทีเดียว โชคดีที่ผมได้มีโอกาสเรียนรายวิชาสัมพันธภาพทางครอบครัวในรายวิชาทางมานุษยวิทยาเมื่อครั้งยังเรียนในระดับปริญญาตรี ทำให้สามารถเข้าใจวิธีการสร้างปมปัญหาในโครงเรื่องตามแนวทางจิตวิเคราะห์[3] ผมประทับใจในฉากอาม่าพยายามสร้างกุศโลบายชักจูงให้มิวเกิดความเข้าใจแบบง่ายๆเพื่อให้มิวมีความรู้สึกอยากที่จะอยู่เป็นเพื่อนอาม่าได้ นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างลูกผู้หญิงกับพ่อกและลูกผู้ชายกับแม่ยังได้ถูกนำเสนอในเนื้อเรื่องอีกด้วย พ่อจะมีความรู้สึกห่วงหาลูกผู้หญิงมากเป็นพิเศษเพราะถือเป็นการปรับตัวระหว่างคู่ตรงข้าม ในขณะที่ลูกชายก็จะปรับตัวเข้าหาแม่ จึงไม่แปลกที่เนื้อเรื่องนำเสนอในลักษณะที่พ่อจะรักลูกสาวและตามใจลูกสาวมาก ผิดกับแม่ที่จะคอยห้ามปรามอยู่ตลอดเวลา แม่ยังมีโครงสร้างแบบแข็งกร้าวที่เป็นผู้นำครอบครัวแต่พ่อกลับกลายเป็นผู้ชายขี้เหล้าไม่เอาไหน การปรับตัวทางสังคมของลูกอาจมีปัญหาภายหลังได้[4] แม่ได้แสดงบทบาทที่เป็นความคาดหวังของผู้ชายที่ต้องมีลักษณะผู้นำครอบครัว เมื่อโครงสร้างเปลี่ยนกรปรกับโต้งเองก็รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมพ่อได้นอกจากนั้นยังมีความโหยหาพี่สาวแบบในอดีต ทำให้โต้งพยายามที่จะหาคนที่เข้ามาทดแทนความรู้สึกเหงาในตรงนี้ และมิวก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงพอที่จะทำให้โต้งปกป้องและดูแลได้นั่นเอง[5]

โครงเรื่องและเนื้อหาเรื่องนี้ลงลึกไปถึงสัมพันธภาพของครอบครัว ผมคิดว่าพ่อแม่ลูกควรจูงมือกันดูหนังเรื่องนี้อาจจะได้คำตอบให้กลับมานั่งขบคิดกันมากมายและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองมากขึ้น ในทางสังคมวิทยาเกี่ยวกับเรื่องสถาบันครอบครัว การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อาทิ ลูกจำเป็นจะต้องคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ตั้งใจเรียน พ่อจะต้องเป็นเสาหลักของบ้าน ส่วนแม่จะต้องคอยอบรมสั่งสอนลูกและคอยดูแลงานภายในบ้านเรือน[6] หากทว่าถ้าความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่สามารถดำรงไปตามค่านิยมแล้วจะเกิดปัญหาครอบครัวตามมาอย่างที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า พ่อมิสามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ทำให้แม่จะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งสองฝ่ายซึ่งอาจมีเวลาดูแลลูกได้ไม่เต็มที่ ขาดการเติมให้เต็มในการเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของเพศตนเองตามสถานภาพและบทบาทที่พึงกระทำ ทำให้เกิดปมปัญหาในการปรับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้[7] โต้งเองขาดการเรียนรู้บทบาทของตนเองที่พ่อพึงจะต้องสอนในกระบวนการขัดเกลาทางวัฒนธรรม(socailization)ตามอย่างที่สังคมคาดหวัง

การใช้เพลงถักทอเรียงร้อยความรู้สึกซึ่งถือว่านี่คือเสน่ห์และความโรแมนติคของเรื่อง การประกอบสร้างโดยถ่ายทอดเรื่องราวความรักผ่านความรู้สึกออกมาเป็นเสียงทำนองและคำร้องที่กินใจทำให้ผมรู้สึกว่าผู้สร้างฉลาดที่จะใช้กลวิธีในการเล่าเรื่องเพื่อเติมความสมบูรณ์ให้เนื้อหามีความน่าสนใจ ฉากหนึ่งที่อาม่าเล่าให้มิวฟังว่า อากงชอบเล่นเพลงนี้ให้อาม่าฟังเพราะมันเป็นเพลงที่สื่อถึงความรู้สึกที่มีต่ออาม่าได้ดี จนทำให้มิวเองรู้สึกว่าหากเรารักใครซักคน(ที่ไม่ใช่ความใคร่)แล้ว การถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นเพลงจึงเป็นวิธีการถายทอดที่บ่งบอกอัตลักษณ์ มโนทัศน์ และบุกลิกภาพของผู้แต่งได้เป็นอย่างดี ผมจึงสามารถเข้าใจถึงวิธีการเชื่อมร้อยสองสิ่งเข้าด้วยกัน เพลงจึงเปรียบเสมือนสารที่ผู้ส่งพยายามจะสื่อให้ผู้รับเข้าใจอัตมโนทัศน์ที่อยู่ห้วงจังหวะลึกๆภายในใจให้ผู้รับสารได้ยินอย่างที่มิวได้แสดงให้โต้งเห็นในวันงานเลี้ยงที่บ้านโต้งและงานที่สยามสแควร์ อย่างที่ใครๆชอบเรียกว่าเพลงคือภาษาของหัวใจ นั่นเองครับ

แนวคิดเรื่องครอบครัวที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดหักเหเรื่องนี้คือ ความอบอุ่นและความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญ ในมุมมองทางมานุษยวิทยาแล้วหากเราไม่เข้าใจถึงความเป็นคนในและตัวตน( Emic view)แล้ว เราจะมีอคติจนทำให้เกิดความหลงผิดในปัญหานั้นๆได้ จนนำมาสู่ปัญหาครอบครัวและการล่มสลายของหน่วยสถาบันปฐมภูมิแห่งนี้ ปัญหาที่แม่เองไม่สามารถเข้าใจโต้งได้ โดยคิดในมุมมองแบบ ผู้ใหญ่มอง ตัดสินปัญหาแบบ จัดการเบ็ดเสร็จ จนลืมมองไปว่าครอบครัวต้องการอะไร ลูกต้องการอะไร หรือลูกรู้สึกอย่างไร ดังนั้นในท้ายเรื่องที่ผู้สร้างพยายามคลายปมปัญหาโดยการให้แม่พิจารณาอดีตที่ผิดพลาดของตน และผ่อนคลายโดยเข้าใจโต้งมากขึ้นปํญหาทุกอย่างก็จะสามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีได้ แต่ผมเข้าใจครับว่าสังคมไทยผู้ใหญ่แบบจารีตประเพณีนิยม อาจจะทำใจลำบากซักนิดนึง หัวอกคนเป็นแม่คงจะทุกข์ยิ่งกว่าลูก เพราะตัวละครแม่นี้เป็นผู้รับความทุกข์ของทุกคนในบ้าน นี่แหละครับปรัชญาทางมานุษยวิทยาในหนังเรื่องนี้ ต้องเข้าใจในบทบาทในบริบทที่ถูกประกอบสร้างตัวละครให้มีการดำเนินเรื่องมาจนมีบุกลิกภาพและพฤติกรรมแบบนี้ หากเรารู้จักที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็จะสามารถลดอคติและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้โดยลุล่วงด้วยดี

วาทกรรมและวิวาทะว่าด้วย “ความรัก”ในนิยามแห่ง ปริมณฑล “สยาม”

ความรักในภาพยนตร์ดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องในมิติที่ต่างกันไป ตอนแรกผมคิดว่าคงเป็นหนังรักๆใคร่ทั่วไปของหนุ่มสาวทั่วๆไป แต่ที่ไหนได้ครับ หนังเรื่องนี้ชี้ให้ผมเห็นว่าความรักประกอบสร้างในลักษณะหลายหลายรูปแบบและวิธีการ วาทกรรมความรักในเรื่อง รักแห่งสยาม จึงมิได้จำแนกว่าจะต้องหญิงรักชาย แต่มันหมายถึงความรักที่ครอบครัวมีให้กัน ความรักระหว่างเพื่อนที่พยายามสร้างความเข้าใจต่อกัน ความรู้สึกห่วงหาอาทร ความปรารถนาดี และที่สำคัญหนังเรื่องนี้กล้าที่จะนำเสนอความรักแบบ นอกกระแสหลัก อย่างชายรักชาย? โดยนำเสนอในทิศทางที่มิใช่ทางเสน่ห์หา(Erotic)หรือความใคร่แต่ยังใด ดังนั้งจึงสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความรักกับความใคร่มันคนละเรื่อง ซึ่งอาจจะแตกต่างกับภาพยนร์เรื่องอื่นที่พยายามนำเสนอให้เป็นคนละเรื่องเดียวกัน และการประกอบสร้างความรักแบบ ชายรักชาย อาจถูกเบียดขับให้เป็นความรักแบบชายขอบ เพราะโต้งและมิวยังรู้สึกสับสนกับความรักของตนเอง ในขณะที่แม่และเพื่อนๆของโต้งมิวมองความรักแบบน้ว่าเป็นเรื่องที่ประหลาด ไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสังคมมีอำนาจที่จะควบคุมความรู้สึกของทั้งมิวและโต้งให้เป็นไปตามกระแส สังคม เกย์ จึงเป็นวาทกรรมที่ทั้งคู่รู้สึกหวาดกลัวและหลีกหนีออกจากมันเพราะมันการการตรีตราให้ปัจเจกถูกจำแนกไปในทิศทางที่ผิดแผกไปจากสังคม[8] ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะยังไม่แน่ใจว่าความรู้สึกที่มีให้กันนั้นเท่ากับเพื่อนหรือมากกว่านั้นก็ตาม เนื้อหาในภาพยนตร์จึงสะท้อนถึงพื้นที่เกย์ กับการยอมรับในสังคมไทยว่ายังมีขอบเขตที่จำกัดอยู่ดี เพราะตอนท้ายโต้งเองก็บอกกับมิวว่า”เราเป็นแฟนกันไม่ได้ แต่เราก็ยังรักกัน” การแสดงความรักระหว่างชายรักชาย ในปริมณฑลสาธารณะจึงมีพื้นที่แบบ ลึกลับ ปกปิด ซ่อนเร้น ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในสังคม[9]ซึ่งแตกต่างกับ หญิงรักหญิงในสังคมไทย ยังคงเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า นี่คือข้อสังเกตที่น่าสนใจหนึ่งที่ผมได้ตั้งไว้จากหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้ การให้ การเสียสละและศรัทธายังถูกเชื่อมร้อยให้เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงในหนังเรื่องนี้อีกด้วย ความรักที่จูนมีให้กับครอบครัวของโต้งทำให้จูนเองรู้สึกผูกพันธ์แม้ว่าจะมิได้เป็นสมาชิกในครอบครัวจริงๆ หรือความรักที่หญิงมีให้กับมิว แม้ว่าหญิงเองจะผิดหวังที่มิวมิอาจให้ความรักอย่างที่หญิงปรารถนาได้ แต่หญิงก็ได้แสดงให้เห็นว่า ยังคงมีความปรารถนาดีและให้สิ่งที่ดีที่สุด พยายามช่วยเหลือให้กำลังใจและอยากให้มิวสมหวังแม้ว่าตนเองจะเจ็บปวดและยังทำใจมิได้ ก็ตามแต่ก็พร้อมและเต็มใจที่จะทำ แม้จะรู้ว่าเป็นได้แค่เพื่อนก็ตาม ด้วยความเชื่อหรือที่เรียกว่า พลังแห่งรัก นั่นเอง การประกอบสร้างเนื้อหาแบบนี้จึงถุกเรียกได้ว่า รักโดยปราศจากเงื่อนไข ก้าวพ้นพื้นที่รักแบบแสดงความเป็นเจ้าของและครอบครองไปโดยปริยาย ผมคิดว่าหากใครยังตกอยู่ในวังวนแห่งมายาคติเรื่องความรักที่เต็มไปด้วยความใคร่ และความเป็นเจ้าของแบบยึดติดในรูปแบบเดิม ต้องดูหนังเรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดแง่มุมและมีทัศนคติใหม่ ผมจึงรู้สึกได้ว่าหนังเรื่องนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยรักแบบสร้างสรรค์มากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมได้สัมผัสและประจักษ์ด้วยตา ปรัชญาความรักจึงสอดคล้องกับแนวคิดแบบพุทธที่มิควรยึดติดตามหลักไตรลักษณ์และควรเดินทางสายกลางอย่างที่จูนได้ให้ข้อคิดกับแม่โต้ง หากรักมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี ต้องรู้จักผ่อนและมีจังหวะให้เป็นไปอย่างสมดุลย์จึงจะประครองรักและมีความสุข แม่จึงเข้าใจที่จะวางท่าทีต่อครอบครัวและลูกใหม่ ลดความตึงเครียดในอดีตลงจนทำให้ครอบครัวกลับมามีความสุขอีกครั้งแม้จะรู้ว่าไม่จะมีแตงในครอบครัวอีกแล้ว

สังคมวิทยาว่าด้วยเรื่องของ “วัยรุ่น” ในแบบฉบับ รักแห่งสยาม

ภาพลักษณ์วัยรุ่นตัวละครในภาพยนตร์สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในแบบชีวิตเด็กเมืองทั่วไป โลกของวัยรุ่นจึงเต็มไปด้วยการต่อรองเชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก ที่แตกต่างกันในอัตมโนทัศน์ ชีวิตตัวละครที่ สยาม จึงเต็มไปด้วยอัตลักษณ์ของวัยรุ่นทั้งในด้านการแต่งกาย พฤติกรรม รูปแบบวิถีชีวิตในอีกโลกหนึ่ง และยังถูกถักทอเชื่อมร้อยด้วยพืนที่แห่งการนิยาม ความรัก “สยาม” ในหนัง จึงหมายถึงพื้นที่ของเด็กชนชั้นกลางใช้เป็นพื้นที่พบปะรวมถึงการแสดงออกทางสังคมกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเที่ยว ตัวละครในเรื่องจึงถุกหยิบยกนำเสนอในภาพลักษณ์ของเด็กชนชั้นกลางในวิถีชีวิตเขตเมือง อยู่ในโรงเรียนชั้นดี มีฐานะและเพื่อนลักษณะและความชอบแบบเดียวกันอาทิ คือ ต้องกินไอครีมกับแฟน ต้องเดินเล่นที่เซ็นเตอร์พอยต์ เที่ยวกินดื่มกับเพื่อนๆในห้อง เล่นดนตรีและเรียนพิเศษ ซึ่งอาจจะต่างกับเด็กต่างจังหวัดที่ผมเคยสัมผัส ในแง่ของกิจกรรมทางสังคม อาทิ เดินเล่นตามทุ่งนา จับแมงดามาทำกับข้าว พาแฟนไปเที่ยวริมบึง ไปนั่งทานส้มตำที่เพิงหลังโรงเรียน ผู้กำกับถ่ายได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต(life style)ในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ผมเองเคยมีโอกาสเข้าไปแนะแนวยังโรงเรียนคริสต์(ชาย) พอมาชมหนังเรื่องนี้ก็รู้สึกว่า การแต่งกาย(เสื้อยาวๆ กางเกงสั้นๆ ฟิตๆตัดผมสั้นๆแนวๆหรือสกินเฮด) วิถีชิวิตแบบ(เดินสยามกับแฟน ไปเล่นดนตรีหรือนัดเดทเพื่อนต่างโรงเรียน)และคำพุดในตัวละครมัน”ใช่เลย” เป็นอย่างที่หนังได้สื่อออกมาบนจอ จนทำให้ผมแอบชมว่าผู้กำกับใส่ใจกับรายละเอียดถ่ายทอดออกมาได้สมบูรณ์มาก เรียกได้ว่าเก็บทุกเม็ด สร้างอรรถรสในการชมและมีอารมร์ร่วม และความรู้สึก เน้นความสมจริงของเนื้อหาได้อย่างดีทีเดียว

หนังเรื่องนี้ได้พยายามนำเสนอคือ ความเป็นวิถีชีวิตวัยรุ่น ซึ่งถูกจัดวางอัตลักษณ์ของตนเองให้อยู่ในโลกจิตนาการโดยปราศจากกฏเหล็กที่ผู้ใหญ่ตั้งไว้ หรือกรอบบรรทัดฐานอันตึงเครียดในสังคม จากการที่ผมมีโอกาสเข้าไปศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่น(กลุ่มเด็กมัธยม)ทำให้ผมชื่นชอบและขอชมว่าเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่แสดงวิถีชิวิตเด็กมัธยม(sub culture)กับความเป็นจริงในสังคม ภาพสะท้อนในหนังจึงใกล้เคียงกับสนามวิจัยที่ผมได้ทำการศึกษา แม้ว่าอาจจะต่างกันในบางเรื่องแต่ก็คล้ายกันในบางจุดอาทิ ภาพที่เด็กสูบบุหรี่กินเหล้าในหนังนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการระบายออกจากสภาวะที่สังคมกดดันและ ความตึงเครียดในชีวิตรอบวัน เด็กบางกลุ่มจึงพยายามที่จะมานั่งระบายเรื่องราว โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์สูกันฟัง ในทางมานุษยวิทยาเรียกว่า การก่อกบฎทางสังคม[10] สิ่งเหล่านี้ผมก็พบเห็นบ่อยครั้งจนชินตา แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่าสิ่งที่ทำเหล่านั้นไม่ดี แต่มันก็เป็นวิถีทางชั่วคราวที่ลดภาระอันหนักอึ้งจากความคาดหวังให้พวกเขาเดินอย่างมีระเบียบและเป็นเส้นตรง เด้กๆมักอยากจะทำในสิ่งที่กลุ่มยอมรับ ทำแล้วมีอิสระ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอำนาจเชิงต่อรองทางอุดมการณ์ความคิดที่หักล้างกับผู้ใหญ่ ดังนั้นในสายตาผู้ใหญ่ที่อาจจะมองว่าเขาเหลวแหลกนั้นเป็นการมองเชิงเดี่ยวที่ตีตราว่าเด็กกลุ่มนี้ทำตัวไม่ดี หากยังมิได้มองถึงมโนทัศน์ส่วนลึกและความเข้าใจในมุมของเด็กนั่นเอง

แนวคิดเรื่องgender(เพศวิถี)ผ่านเนื้อหาตัวละครบนจอเงิน

ประเด็นสำคัญที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่สามารถตีโจทย์เพศวิถีหรือที่รู้จักกันในแนวคิดเรื่องGender ผ่านตัวละครในเนื้อเรื่องชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างค่านิยมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่เรื่องรักแห่งสยาม และ เพื่อนกูรักมึว่ะ มีความคล้ายคลึงกันนั่นก็คือพยายามเสนอเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกัน(ชายรักชาย)ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ปมปัญหาตัวละครคือความรู้สึกผิดที่นเองกำลังสับสนในความรัก โต้งรู้สึกแปรปวนเมื่อถูกทักว่าเป็นเกย์ ส่วนมิวเองรู้สึกว่า ชายรักชายเป็นเรื่องที่อมรับได้ยาก สังคมยังไม่เข้าใจ การดำเนินเรื่องของตัวละครจึงเป็นไปในทางลักษณะปกปิด ความรู้สึกและแอบซ่อนความคิดส่วนลึกไว้ในใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกดีกับหนังเรื่องนี้คือ การชี้ให้เห็นถึงบริบทแวดล้อมที่ดำเนินเรื่องให้ตัวละครเป็นไปในทิศทางแบบนี้ มีจุดเริ่ม จุดเปลี่ยน และจุดยืน บริบททางสังคมจึงเป็นตัวกำหนดปัจเจกให้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง หนังเรื่องนี้จึงมีจุดเด่นระหว่างวิวาทะเรื่อง รัก่ร่วมเพศผิดไหม?ในสังคมไทย กับ พื้นที่ทางสังคมยอมรับไหม?ในสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับงานเขียนของนักวิชาการหลายคนที่ให้ความคิดเห็นว่าสังคมเกย์ยังมีลักษณะแอบซ่อน ปิดบังมิสามารถเปิดเผยได้ อันมีนัยยะถึงพื้นที่ เกย์ ในปริมณฑล ประเทศไทย ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ผมเลยตั้งคำถามปลายเปิดว่า หากมีผู้ชายคู่หนึ่งคบกันเป็นแฟนแล้วไปเดินเซ็นเตอร์พอยท์ คนที่เดินผ่านไปผ่านมาจะคิดอย่างไร? การจัดวางให้ตัวละครอย่างมิวกับโต้งถูกมองเป็นสิ่งผิดปรกติหรือความประหลาดจึงมีลักษณะกรณีนี้ตามศัพท์ทางสังคมวิทยาว่าDeviant Behavior(พฤติกรรมเบี่ยงเบนบรรทัดฐานทางสังคม) กรณีดังกล่าวจะทำให้ปัจเจกรู้สึกกดดันจากความคาดหวังและตกอยู่ในสภาวะความตึงเครียดที่ต้องธำรงอัตลักษณ์และมีพฤติการณ์ให้เป็นไปอย่างที่สังคมต้องการ ซึ่งหมายถึง ความเป็นชายต้องรักหญิง ชายรักชายเป้นสิ่งที่ผิดปรกติและไม่อาจยอมรับได้ อันที่จริงเพศสภาวะ คือการเลือกที่จะธำรงบทบาททางเพศตามหัวใจมากกว่าที่จะเป็นอย่างสังคมคาดหวัง เรียกง่ายๆคือเลือกที่จะเป็น เช่นร่างเป็นชายอาจชอบผู้ชายก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นตุ๊ดหรือกระเทยแต่อย่างใด หรือชายแต่ใจอยากเป็นหญิง รสนิยมทางเพศในแนวคิดเสรีแบบสตรีนิยมคือธรรมชาติไม่ได้ป็นตัวกำหนด แต่บุกลิกภาพและการเลือกธำรงพฤติกรรมหรือความชอบทางเพศเป็นไปตามความพึงพอใจและสามารถกำหนดขึ้นมาได้เอง

ปัจฉิมกถา

หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมเคยดูมา ทั้งเรื่องการใส่symbolic ของหนังน่าสนใจคือมีการแสดงความหมายแฝงที่ออกมาผ่านการดำเนินเรื่องอาทิ เรื่องผึ้งพยายามรักษาชีวิตโดยพยายามใต่ออกจากแก้วน้ำหวาน ซึ่งนัยยะแฝงให้ตัวละครผู้เป็นพ่อได้คิด และทบทวนบทบาทของตนเอง หรือฉากที่แม่แต่งต้นคริสมาสต์โดยที่โต้งก็มาช่วยนำตุ๊กตามาประดับ และถามแม่ว่าจะติดตรงไหนดี แม่เลยตอบว่าลูกก็เลือกเอาละกันว่าอันไหนดีที่สุด โต้งเลยเลือกตุ๊กตาผู้ชายแทนการเลือกตุ๊กตาผู้หญิง นอกจากนั้นหนังเรื่องนี้มีความชัดเจนในเรื่องของการประกอบสร้างตัวละคร ปริบทสังคมแวดล้อม ใช้ตรรกะรองรับในลักษณะที่สมเหตุสมผล มีปรัชญาทิ้งไว้เป็นคำถามปลายเปิดให้คิด วัยรุ่นและครอบครัวไม่ควรพลาดหากได้ไปดูพร้อมหน้าผมคิดว่าจะทำให้เข้าใจตัวตนของวัยรุ่นได้อย่างถ่องแท้ เพราะแก่นหนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงสัมพันธภาพของความรักในครอบครัว ความเข้าใจในตัวลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ผมคิดว่า รักแห่งสยามคือของขวัญที่น่าประทับใจที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับคอหนังไทย ในแง่เนื้อหาสาระและวิธีคิดดีดี ผมเชื่อว่าผู้สร้างทำการบ้านมาดี และตั้งใจทำงานเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้นิยาม”รักแห่งสยาม”สมบูรณ์ในตัวของมันสร้างความอิ่มเอมใจให้กับทุกคน

ปล.

ผมได้เขียนบทความนี้จากความรู้สึกที่มีต่อหนังในแนวคิดทางมานุษยวิทยา ขออย่าได้ถือสาหาความ เพราะอาจมีผู้อื่นคิดต่างกับผมและอาจไม่เห็นด้วยในสิ่งที่นำเสนอ จึงขอน้อมรับความผิดพลาดทุกประการ

ผู้เขียนมีเวลาน้อยสำหรับงานชิ้นนี้จึงไม่สามารถตรวจทานได้อย่างถี่ถ้วนจึงพบข้อผิดพลาดมากมาย ขออภัยมา ณ ที่นี้

ผมเชื่อว่าหากใครได้ไปดูจะพบว่าหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยเนื้อหาที่อิ่มเอมใจตอบรับกับช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างแน่นอน



--------------------------------------------------------------------------------

[1] หาอ่านเพิ่มเติมได้ใน “ประวัติศาสตร์เกย์ในสยามประเทศที่มาของคำเรียกเกย์กระเทยในปริบทสังคมไทย” ทางบทความออนไลน์ในวิชาการดอทคอม ซึ่งได้นำเสนอที่มาและคำนิยามเกย์ในแต่ละประเภท
[2] หาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “เพื่อน กูรักมีงว่ะ”มหากาพย์เกย์รักร่วมเพศ: ถอดรหัสนาฏลักษณืตัวละครในมิติทางสังคมศาสตร์ซึ่งได้เขียนบทวิจารณ์ไว้เช่นเดียวกันในวิชาการดอทคอม
[3] คำบรรยายในรายวิชา Family relationship อาจารย์ปรารถนา จันทรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
[4]เป็นแนวคิดเรื่องจิตวิเคราะห์ที่ศึกษาสัมพันธภาพในครอบครัว
[5] เป็นแนวคิดเรื่องจิตวิเคราะห์กับเรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เน้นย้ำถึงปมต่างๆอันเป็นเงื่อนงำจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
[6] แนวคิดดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของแนนซี่ เชอรโรโดว นักมานุษยวิทยาศึกษาความสัมพันธ์ในครอบครัวกับบทบาททางเพศที่สังคมคาดหวัง โดยอธิบายตามวิถีชิวิตแบบสังคมเมืองที่ได้ทำการศึกษา หาอ่านได้ใน เพศและวัฒนธรรม รศ.ปรานี วงษ์เทศ
[7]เป็นแนวคิดเรื่องจิตวิเคราะห์ กับการเรียนรู้ถึงบทบาทครอบครัวของสมาชิก
[8] คำอธิบายรายวิชาพฤติกรรมเบี่ยงเบนและการควบคุมทางสังคม อาจารย์ปรารถนา จันทรุพันธุ์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
[9] การนำเสนอแนวคิด เกี่ยวกับคำศัพท์เกย์และนัยยะทางสังคมไว้น่าสนใจสามารถหาอ่านได้ในเรื่องนิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าด้วยเรื่องเพศ
[10] กบฏทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ปรับมาจากการทำผิดกฏในสังคมเพื่อผ่อนคลายบรรทัดฐานที่ตึงเครียดและเต็มไปด้วยกฏเหล็กข้อห้ามต่างๆจึงได้กระทำในสิ่งที่ตรงข้าม กับสิ่งที่สังคมคาดหวัง


Create Date : 12 ธันวาคม 2550
Last Update : 17 ธันวาคม 2550 20:05:54 น. 5 comments
Counter : 589 Pageviews.  
 
 
 
 
แวะมาอ่านบทความดีๆเลยคะ

ทำให้นึกสมัยเรียนมหาวิทยาลัยชอบมากๆ
 
 

โดย: StarInDark วันที่: 12 ธันวาคม 2550 เวลา:21:29:39 น.  

 
 
 
จะบอกว่า ชอบเรื่องนี้มากๆค่ะ
 
 

โดย: โลมาน้อยน่ารัก วันที่: 12 ธันวาคม 2550 เวลา:21:45:19 น.  

 
 
 
ที่ตกลงไปในแก้วน้ำ เป็นแมลงวันใช่ปะ..ไม่ใช่มดเนอะ
แต่ยังไง เรื่องนี้ ก็ชอบที่สุดเหมือนกัน
 
 

โดย: a_mulika วันที่: 12 ธันวาคม 2550 เวลา:22:51:52 น.  

 
 
 
ที่ตกไปในแก้วน้ำคือ "ผึ้ง" ไม่ใช่หรือครับ

เห็นด้วยที่ข้อความนี้ยาววว จริงๆ และก็เขียนได้ดีมากจริงๆ
 
 

โดย: laiwen (laiwen ) วันที่: 13 ธันวาคม 2550 เวลา:11:43:19 น.  

 
 
 
ผึ่งครับไม่ช่ายแมลงวัน ชอบจังครับเอาเรื่องสังคมมาเป็นแนวทางดูหนัง อ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลย
 
 

โดย: Onlineza วันที่: 14 ธันวาคม 2550 เวลา:12:17:57 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ส่องสร้างสังคม
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ขอโม้ ขอเม้าท์ ขอฝอย เรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี การเมือง การศึกษา สังคม วัฒนธรรม วิวาทะภาคนโนสาเร่
[Add ส่องสร้างสังคม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com