ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนค้าเงิน”(2/2)

เมื่อขึ้น พ.ศ.ใหม่ 2539 คุณเจริญ และคุณหญิง วรรณา สิริวัฒนภักดี ใจดีกรุณาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงสังสรรค์ต้อนรับปีใหม่ให้ คณะผู้บริหาร บงล.มหาธนกิจ จก. ที่โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์

เมื่องานตกแต่งสำนักงานแห่งใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ย้ายที่ทำการจากที่เก่า(สวนมะลิ)ไปที่ใหม่ อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ ถนนสีลม การย้ายเกือบจะไม่ต้องขนเอาอะไรไปเลย นอกจากเอกสารสำคัญ เพราะสำนักงานใหม่มีทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว

จำนวนพนักงานจากที่เก่าประมาณไม่เกินร้อยคน(รวมทั้งผู้บริหาร) เมื่อมาอยู่ที่ใหม่ งานเพิ่มมากขึ้น จำนวนพนักงานก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2539 จำนวนพนักงานมีถึง 300 กว่าคน

โดยเฉพาะผู้บริหารทุกระดับทุกฝ่ายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตุว่า การที่พนักงานใหม่เพิ่มขึ้นมามากมายนั้น มิใช่เป็นการรับสมัครทั่วไป แต่เป็นการ(นำพา)เข้ามาโดยผู้บริหารชักชวนกันเข้ามา เช่น นาย ก.เคยทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อมาทำงานอยู่ที่นี่ก็ชักชวนลูกน้องเก่าที่เดิมเข้ามาด้วย อาจจะจำนวน 3-4 คนหรือมากกว่านี้ ในฐานะที่ผมดูแลด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ เคยเรียนเสนอแนะคุณเทพ CEO ว่า อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในโอกาสหน้า เพราะต่างฝ่ายต่างก็พากันคิดว่า ตนเป็นคนของนายคนนี้ ไม่ใช่คนของนายคนโน้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมในการทำงานก็เริ่มมีความแตกต่างกัน ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเงินเดือนที่แตกต่างกันด้วย เพราะแต่ละคนก็อ้างว่าอยู่ที่เดิมเคยได้รับเงินเดือนเท่านี้ นี่คือปัญหาใหญ่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ทางออกที่คิดว่าน่าจะดีที่สุดในขณะนั้นคือ การจัดสัมมนาร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน

ปัญหลายอย่างๆเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆแต่ว่าน่ากลัวมาก ผมเคยปรึกษาคุณเทพ แต่ท่านบอกว่าไม่มีปัญหาผมคิดมากไป ดังนั้นผมจึงต้องทำใจให้สงบคิดว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ขนาดนายใหญ่(CEO)ยังมองไม่เห็นปัญหาแล้วเราจะไปทำอะไรได้

ไม่แต่เฉพาะปัญหาภายในบริษัท ภายนอกบริษัทก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศกำลังก่อตัวขึ้นเช่นกัน บริษัทเงินทุนจำนวนหลายสิบบริษัทเริ่มให้สินเชื่อแก่ลูกค้า โดยขาดหลักเกณฑ์ที่ดี ลูกค้าประเภทโครงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มบูมสุดขีด หลายบริษัทลงทุนกันอย่างเมามัน ในที่สุดก็เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างร้ายแรง ทั้งบริษัทเงินทุนผู้ให้กู้เงินและบริษัทลูกค้าผู้กู้เงิน

นั่นคือที่มาของวิกฤติการเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อ พ.ศ. 2540-2541

รัฐบาลชวน หลีกภัย โดย มรว.กระทรวงการคลัง (ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์)ก็จัดทำรายชื่อบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ ที่คาดว่าอยู่ในข่ายอันตรายจำนวน 60 บริษัท และถูกดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะยกเลิกหรือปิดบริษัทฯเหล่านี้ ในที่สุดก็มีประกาศของกระทรวงการคลังสั่งปิดบริษัทฯจำนวย 58 บริษัท (บริษัทเงินทุนธีรชัยทรัสต์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มหาธนกิจ ก็โดนด้วย) โดยเฉพาะ บงล.มหาธนกิจ กล่าวกันว่าเหตุที่ถูกสั่งปิดเพราะเหตุผลทางการเมือง เพราะบริษัทฯนี้ไม่มีทางที่จะขาดสภาพคล่องทางการเงินแน่นอน เพราะเป็นบริษัทในเครือของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้มีธุรกิจหลากหลาย

จาก //www.1938centuryboy.wordpress.com