ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี 2559



ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


ยื่นภาษี 2559 อย่างไร พร้อมวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่หลายคนมีคำถาม

ทุก ๆ ปี คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดจะต้องยื่นแสดงรายได้และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากร โดยในปีภาษี 2559 (ที่จะยื่นแบบในช่วงต้นปี 2560) ยังคงใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิมอยู่ คือเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ส่วนที่เกินมานั้นให้คิดตามขั้นบันได สูงสุด 35% วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมาแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษี ลองไปอ่านกันเลย

ใครมีหน้าที่ยื่น

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ถ้ามีเงินได้มากกว่าเดือนละ 20,000 บาท หรือมีเงินได้ต่อปีสูงกว่า 240,000 บาท จึงจะมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องค่ะ เพราะกรมสรรพากรได้กำหนดให้คนที่มีเงินได้แม้มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ ในกรณีต่อไปนี้

- คนโสด มีเงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 30,000 บาทต่อปี หรือมีเฉพาะเงินเดือนตั้งแต่ 4,167 บาทขึ้นไป หรือตั้งแต่ 50,000 บาทต่อปี ในปีภาษีนั้น

- คนมีคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีเงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันเกิน 60,000 บาท หรือมีเฉพาะเงินเดือนเกิน 100,000 บาทในปีภาษีนั้น

ยื่นภาษี 2558 พร้อมวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


ยื่นแบบไหน

          แบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ดูง่าย ๆ ว่าใครจะยื่นแบบไหน คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพก็ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90


ยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต

          สำหรับคนที่ต้องการยื่นภาษี สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เลย >> ยื่นภาษีผ่านเน็ต

ตรวจสอบค่าลดหย่อนภาษี

ก่อนที่จะไปคำนวณภาษีกัน ผู้เสียภาษีควรทราบข้อมูลของค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณภาษีด้วยเหมือนกัน โดยค่าลดหย่อนของผู้มีเงินได้จะสามารถหักอะไรได้บ้างลองมาดูกันเลยค่ะ


* กรณีเป็นผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นเงินได้ จำนวนเงิน 190,000 บาท

* กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี ได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

เช็กลิสต์เอกสารประกอบการยื่น

  ก่อนยื่นภาษี อย่าลืมตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ครบก่อนนะคะ เพราะจะทำให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่สรรพากรต้องการตรวจสอบเอกสาร จะได้จัดส่งได้โดยเร็วค่ะ โดยอาจมีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตามนี้

1. หนังสือรับเงินเดือน (50 ทวิ) ซึ่งได้รับจากนายจ้าง โดยหนังสือรับรองจะระบุผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนเงินได้ทั้งปี (รวมเงินเดือน โบนัสและเงินพิเศษต่าง ๆ) ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงเงินที่จ่ายเข้า กบข./กสจ./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน  กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

2. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี  

3. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดา-มารดาของตัวเองได้คนละ 30,000 บาท รวมทั้งบิดา-มารดาของคู่สมรส อีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีเงินได้เป็นผู้เลี้ยงดูบิดา-มารดา ทั้งนี้บิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

4. เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

5. ทะเบียนสมรส กรณีกรมสรรพากรเรียกตรวจ หากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน

6. เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร กรณีสรรพากรเรียกตรวจ ซึ่งเป็นได้ทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรตามกฎหมาย โดยหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน (มากสุด 45,000 บาท) โดยบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือถ้าเกิน 20 ปี (21-25 ปี) จะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไปเท่านั้น และหากบุตรศึกษาต่อในประเทศ (ตั้งแต่อนุบาล-ปริญญาเอก) ก็จะได้ลดหย่อนเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท

7. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

- คนพิการ จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยคนพิการต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

- คนทุพพลภาพ จะต้องเป็นผู้ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ

ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ


8. เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

9. เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท

10. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

           11. ใบเสร็จรับเงินบริจาค สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ ทั้งนี้ หากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษาสามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค

           12. ใบกำกับภาษีค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวในประเทศ ตลอดปี 2559 รวมทั้งใบกำกับภาษีค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวในประเทศระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2559

           13. ใบกำกับภาษีค่าซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 โดยเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเที่ยว-กิน-นอน สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท >> [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ลดหย่อนภาษี สงกรานต์ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ได้ลดภาษีเท่าไรนะ]

           14. ใบกำกับภาษีซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2559 สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท >> [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม นักช้อปเฮอีก ! รัฐไฟเขียว ซื้อสินค้าโอทอป ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000]

           15. เอกสารการซื้อบ้านหลังแรกที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558–31 ธันวาคม 2559 ประกอบด้วย

- หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (สามารถดูแบบฟอร์มของกรมสรรพากร)
- หนังสือรับรองการซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก (สามารถดูแบบฟอร์มของกรมสรรพากร)
- สำเนาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
- สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน)

           โดยผู้ซื้อบ้านหลังแรกสามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปี โดยบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558–31 ธันวาคม 2558 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2558-2562 ส่วนบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2559-2563 >> [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ซื้อบ้านหลังแรกช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย อ่านเงื่อนไขก่อนเลย]

           16. หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ

17. เอกสารเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น แนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากรโดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก

18. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กองทุนรวมต่าง ๆ กรณีที่เราลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เงินปันผลที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี 10% แต่ผู้ลงทุนก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเลยหรือไม่

          อย่างไรก็ตาม กรณีที่เราเลือกให้เงินปันผลนั้นยังไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เราจะต้องนำเงินปันผลที่ได้มารวมกับเงินได้ประจำปี เพื่อยื่นคำนวณภาษีด้วยค่ะ ดังนั้นต้องเก็บเอกสารจากกองทุนรวมที่จะส่งมาให้ไว้ให้ดี เพื่อยื่นแสดงหลักฐานต่อกรมสรรพากร

19. หนังสือหรือเอกสารรับรองเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน

20. ใบกำกับภาษีการซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559

          ทั้งนี้ หากใครยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี แล้วเคยยื่นเอกสาร อาทิ ทะเบียนสมรส สูติบัตรของบุตร
หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ฯลฯ ไปแล้ว ในปีต่อ ๆ ไป ทางสรรพากรอาจไม่เรียกตรวจเอกสารอีก แต่เตรียมพร้อมไว้ก่อนก็ดีนะคะ จะได้ไม่ล่าช้าหากถูกเรียกตรวจ


ซื้อของลดหย่อนภาษี

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 - ภ.ง.ด.91)

สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า แบบภาษี ภ.ง.ด.90 กับ ภ.ง.ด.91 แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะไปคิดคำนวณภาษีกันลองมาทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กันก่อน เมื่อรูัแล้วก็ลองไปดูวิธีคิดภาษีกันได้เลย

                -  ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ

                -  ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น

เช็กอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2559

          เงินได้ที่ได้รับในปี 2559 ยังคงใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิม คือ เงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ส่วนที่เกินมานั้นให้คิดตามขั้นบันได สูงสุด 35% ดังตารางนี้...

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          จากตารางนี้แสดงว่าหากใครมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 240,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนส่วนตัวรวม 90,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี

          แต่หากใครมีรายได้สุทธิมากกว่า 240,000 บาท แสดงว่าเราต้องยื่นภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ต้องคิดคำนวณจากค่าลดหย่อนด้วย โดยมีวิธีคำนวณภาษีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว

นำรายได้ตลอดทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ

ตัวอย่างที่ 1

หากนาย A มีรายได้ทั้งปี 400,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้

              - หักค่าใช้จ่าย 40% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 60,000 บาท) = 60,000 บาท

จะเหลือรายได้สุทธิ 340,000 บาท


ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน

              จากนั้น ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 340,000 บาท

              เช่น หากปีนี้ นาย A ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร จ่ายประกันสังคมไป 9,000 บาท, มีบิดาอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ต้องเลี้ยงดู 1 ท่าน, ซื้อ LTF ไป 50,000 บาท และยังมีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในประเทศ 10,000 บาท ก็สามารถนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 710,000 บาท ดังนี้

              - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 30,000 บาท
              - หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
              - หักค่าซื้อ LTF ไป 50,000 บาท
              - หักค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว 10,000 บาท

จะเหลือรายได้สุทธิ 181,000 บาท


ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี

          ปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษีในปี 2559 เป็นดังนี้ 

อัตราภาษีแบบขั้นบันได

                -  รายได้ 0-150,000 ยกเว้นอัตราภาษี    

                -  รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%

                -  รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%

                -  รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%

                -  รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%

                -  รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%

                -  รายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท อัตราภาษี 30%

                -  รายได้ 4,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%

          กรณีของนาย A มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 181,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (181,000-150,000) = 31,000 บาท ที่อัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษี 1,550 บาท

ตัวอย่างที่ 2

          นางสาวบี ยังไม่ได้แต่งงาน ทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 600,000 บาท ส่งเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 40,000 บาท ได้ใช้บริการเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ เป็นเงิน 10,000 บาท คำนวณภาษีได้ดังนี้

              - หักค่าใช้จ่าย 40% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 60,000 บาท) = 60,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
              - หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
              - หักค่าซื้อประกันชีวิต 40,000 บาท
              - หักค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ 10,000 บาท

จะเหลือรายได้สุทธิ 451,000 บาท

              มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 451,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 10% เราสามารถคำนวณภาษีแต่ละขั้นได้ดังนี้

              - 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี
                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (451,000-150,000) = 301,000 บาท

              - 150,000 บาทต่อมา เสียภาษี 5% คิดเป็นเงิน 7,500 บาท
                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (301,000-150,000) = 151,000 บาท

              - เงินส่วนที่เหลือ 151,000 บาท นำมาคิดภาษีที่ฐาน 10% จะเท่ากับ 15,100 บาท

นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน (7,500+15,100) เท่ากับนางสาวบีต้องเสียภาษี 22,600 บาท


ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ สำหรับวิธีคำนวณภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี หรือถ้าหากใครไม่อยากเสียเวลากับการนั่งคิดเลขที่ละตัว ก็สามารถใช้ตัวช่วยได้ค่ะ โดยดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่นี่ >>> โปรแกรมคำนวณภาษี

           อ้อ ! สำหรับใครกำลังจะยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตัวเอง เข้าไปดูได้ที่ "12 ขั้นตอนยื่นภาษีด้วยตัวเองทางออนไลน์ มือใหม่ก็ทำได้ ง่ายกว่าที่คิด !"


ตรวจสอบการขอคืนภาษี

หลังจากยื่นเอกสารไปแล้ว 1 วันทำการ สามารถสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร สอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี


ภาษีเงินได้


          หลังจากนั้นอย่าลืมยื่นภาษีให้ทันเวลาด้วยนะคะ โดยสามารถยื่นแบบภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ยิ่งยื่นก่อนก็ยิ่งได้เงินคืนเร็วจ้า


 ***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 16.43 น. วันที่ 26 ธันวาคม 2559

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ที่มา //money.kapook.com/view112464.html




Create Date : 28 ธันวาคม 2559
Last Update : 28 ธันวาคม 2559 11:50:28 น. 0 comments
Counter : 2201 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.