ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 
กรุงเทพฯเมื่อวันวาน.... (ภาพเก่าและย่านเก่าของเมืองบางกอก)

สี่แยกราชประสงค์ ตึกหัวมุมสองชั้นปัจจุบันเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ เดิมพื้นที่ตรงนี้คือที่ตั้งของวังเพชรบูรณ์เก่า ตึกสูงนั้นเป็นที่ทำการสายการบินBOAC(Brith airway) รถเมล์เหลืองคือสาย13 วิ่งระหว่าง ห้วยขวาง-คลองเตย ส่วนทางฝั่งซ้ายน่าจะเป็นเมล์ขาวนายเลิศ ไม่แน่ใจว่าใช้สาย 48 หรือป่าว

รร.สยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่ตอนนี้กลายเป็น สยามพารากอนไปแล้วค่ะ ยุคนั้น ไดฮัทสุ มิตเจ๊ท ยังเป็นตุ๊กๆ อยู่เลย กับโตโยต้า โคโรน่า RT40 แท็กซี่

สมัยก่อนถนนพญาไทจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาราชเทวี สองข้างทางจะเป็นต้นจามจุรี ที่ชาวบ้านเรียกต้นก้ามปู ตลอดสองข้างทาง พอขยายถนนก็ตัดทิ้งไปทั้งหมดค่ะ ปล.การสร้างเสมืองแบบคนไทย คือ ทำตามใจตัวเองมากกว่าหลักสากล

ฝรั่งเขาถ่ายไว้เมื่อปี 1948 หน้าโรงแรมรัตน์โกสินทร์

รถแท็กซี่ ดัทสันบลูเบิร์ด กับตำรวจจราจรสมัยนั้นที่ ย่านบางลำภู

วิถีชีวิตไทยแบบเก่าๆ...เมื่อแม่ค้าหาบขนมผ่านมาหน้าบ้าน.. เด็กๆจะดีใจมากพากันกรูมาล้อมหาบขนม

ถนนบ้านหม้อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2406 ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมเป็นส่วนหนึ่งของถนนตะนาวสร้างบนที่ดินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดฯ ให้พระราชทานให้กับชาวญวนที่อพยพหนีภัยสงครามตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เพื่อตั้งเป็นชุมชน ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชุมชนในแถบนี้มีการสร้างอาชีพเฉพาะประจำชุมชน คือเป็นหมู่บ้านทำหม้อและอุปกรณ์ปรุงอาหาร จนกลายเป็นชุมชนที่เรียกติดปากว่า "บ้านหม้อ" นั้นเองค่ะ

แถวย่านตลาดบางรัก

***มุมกล้อง น่าจะเป็นมุมจาก ธนาคารกรุงเทพ ฯ สาขาผ่านฟ้า

ยุคที่ศาลาเฉลิมไทยยังรุ่งเรือง คนสมัยคงคุ้นกับการทาน ขนมเวเฟอร์ที่มีไส้ฮอทดอกอยู่ข้างใน และยังเป็นโรงหนังที่แอร์เย็นที่สุดในประเทศไทยในยุคนั้นอีกด้วยค่ะ  ศาลาเฉลิมไทย  เคยได้รับเสร็จครบทุกพระองค์ รอบปฐมทัศน์ฉายเรื่อง แผ่นดินของเรา  จำไม่ได้ว่าปีไหน เด็กในยุคนั้นจะดูหนังโรงหนังเฉลิมไทย เฉลิมเขตต์ พาราไดซ์ โคลี่เซี่ยม กันนะค่ะ ราคาตั๋วดูตั้งแต่ 15 .- จนถึง 45.- ปล.เรื่องแผ่นดินของเรา ป้าจิ๊ก เนาวรัตน์ แสดง ประมาณปลายปี 2517  

ปล.ร้านไอศครีม ป๊อป ตราเป็ด ใต้โรงหนังเฉลิมไทย  ตอนเด็กๆเราชอบมากค่ะ 

ยุคที่เยาวราชยังมีโรงงิ้วให้ดู

เยาวราชสมัยที่ยังมีสามล้อถีบและรถรางบริการ

เจริญกรุง...สมัยยังมี สามล้อถีบ บริการ

ภัตตาคารกินรีนาวาอยู่กลางสระน้ำภายในสวนลุมฯ

ก่อนเป็นแยกราชเทวี จะเป็นวงเวียนราชเทวี (ในอดีตเกือบทุกแยกจะเป็นวงเวียนและส่วนใหญ่จะมีน้ำพุต่อมาการจราจรหนาแน่น ขึ้นจึงรื้อวงเวียนออก)

ถนนเจริญกรุงบริเวณหัวถนนสุรวงศ์ ตึกเก่าซ้ายมือบนถนนเจริญกรุง(ที่มีหน้ามุข) ในอดีตเคยเป็นโรงแรมชื่อโฮเต็ลยุโรป ห่างไปอีกจะเป็นสถานทูตอังกฤษซึ่งต่อมาเป็นไปรษณีย์กลาง  ตึกสูงที่่เห็นปลายสุดคือตึกนายเลิศที่สี่พระยาใกล้สะพานพิทยเสถียร(สะพานเหล็กล่าง) ปัจจุบันทั้งตึกนายเลิศและสะพานพิทยเสถียรยังคงสภาพอยู่ค่ะ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย...สมัยที่ยังมีเบนซ์หางปลาวิ่งกันเกลื่อนถนน

ปั๊มคาร์ลเท็กซ์ แถวถนนสุรวงศ์ (เคี่ยนหงวนมอเตอร์)

ถนนเจริญกรุง ตัดถนนสีลมที่แยกบางรัก เห็นเสาไฟรถรางสายบางคอแหลมด้วย - มีโฆษณา มิโด้, ยางดัลล็อป ปากกาไพล็อต ฟิล์มโกดัก ปากกาเชฟเฟอร์ 

วงเวียนโอเดี้ยน ตึกทางขวาตอนนี้คือบริษัทแว่นทองค่ะ 

ถนนเสือป่า

ราชดำเนิน ยุค 1940

แถวสะพานควายในอดีต จากรูปเป็นแถวหน้าโรงหนังเฉลิมสิน ปี2511 ในปัจจุบัน โรงหนังเฉลิมสินได้เลิกกินการไปแล้วค่ะ และตรงหน้าโรงฯเป็นสะพานลอยคนข้ามถนน ปล.หลังๆเปลี่ยนจากโรงหนังเป็นห้างฟู้ดไลอ้อน ซึ่งในปัจจุบันข้างหน้าเป็นร้านเช่าขายของ ข้างในเป็นสนามตีแบด

ถ.สุทธิสารวินิจฉัย ในอดีต

แยกสะพานควาย...ในอดีต โดดเด่นที่ห้างทองทองใบ ใครเคยอยู่แถวนั้นคงจะคุ้นต

บรรยากาศ...ล้อบบี้ที่พักผู้โดยสาร ..สนามบินดอนเมืองสมัยก่อน

ประตูน้ำช่วง 2523-2525 - รถติดน่าดูเลยค่ะ (จาก Moderator Wiz)

ภาพแรกเริ่มการก่อสร้างทางด่วนคร่อมสะพานข้ามแยกลาดพร้าว...

ภาพการทำงานของตำรวจจราจร...ในอดีต ที่ถนนเจริญกรุง บริเวณหัวถนนสุรวงศ์

รถสามล้อที่เคยมีวิ่งมากมายใน กทม. นะคะ ในภาพเป็นภาพถนนเจริญกรุง ตรงแยกแปลงนาม ถ่ายไปทางสามแยกภาพนี้ถ่ายในปี 1950 หรือ พ.ศ. 2493 ถ่ายโดยนาย Dmitri Kessel จะเห็นร้านทอง "เซ่งเซียงหลี" ริมภาพขวามือเหตุที่คนเยอะเพราะเป็นงานเทกระจาดของศาลเจ้าจีนกวางตุ้งที่อยู่ถัดไปด้านบนของภาพ

ภาพมุมมองบนท้องถนนในยุคนั้นที่ถ่ายจากในรถ

ถนนราชดำเนิน โล่งและสะอาดมากๆเลยค่ะ ภาพนี้ช่างภาพนิตยสาร Life ถ่ายราวๆ ปี 1950 ค่ะ ... ภาพออกมาสวยขนาดนี้เพราะใช้ฟิล์มสีราคาแพงลิบลิ่วนะถึงได้ภาพสวยแบบนี้มา

ถนนราชดำเนินในอดีต ถ่ายแถวสะพานผ่านฟ้า หน้่าตึก ไทยนิยมพานิชย์ (TNP) ที่สายการบิน BOAC (ตอนนี่้คือ British Airways) ตอนนี้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของเทเวศน์ประกันภัยแล้ว - ในยุคสามล้อยังมีวิ่ง (ราวๆ 2493 - 2502)

ถนนสีลมในอดีต สังเกตุจากป้ายโฆษณาชาร์ปและอาคารสีบุญเรือง หอจดหมายเหตุ่แห่งชาติ - ระบุว่าถ่ายหลังปี 2503 เพราะ ถมคลองสีลมได้เลิกรถรางสายสีลมไปแล้วค่ะ 

สถานีรถไฟกรุงเทพที่หัวลำโพง  น่าจะช่วง ก่อนปี 2500 เล็กน้อยนะค่ะ เพราะดูจาก สามล้อถีบ มันต้องไม่เก่ากว่า 2476 และรถเมล์สีเบ็นซ์ แบบนี้ เราว่า เขาแปลงสีภาพเดิมมาผิดแน่ๆ เพราะไม่มีสีส้มเพราะรถเมล์น่าจะสีขาวนะ รถเมล์นายเลิศ หัวเหลี่ยม (เป็นรุ่นไม่เก่ามากรุ่นก่อนหน้าหัวรถจะเหมือนรถเก๋งคันข้างหน้าเลย)

สนามบินดอนเมือง  **บันไดเทียบเครื่องบินอันขวา มีเขียน BOAC ด้วย (British Overseas Airways Corporation)

เวิ้งนครเกษมในอดีต

เยาวราชในอดีต

เยาวราชในอดีตภาพ2 เพื่อนๆจะเห็นป้ายห้างทองตั้งโต๊ะกัง

หลุมหลบภัยหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ลักษณะแตกต่างจากที่อื่นๆที่สร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ในปัจจุบันกลายเป็นน้ำพุไปแล้วค่ะ  ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2487 กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับการทิ้งระเบิดของข้าศึก สถานที่จุดยุทธศาสตร์ถูกทิ้งระเบิด เช่น สะพานพระราม 6 หัวลำโพง เขตถนนสี่พระยา สุริวงค์ และสีลม โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน ถูกระเบิดเสียหายมากจนใช้การไม่ได้ รถราง ไฟฟ้า และน้ำประปาหยุดหมด ประชาชน ประสบความทุกข์ยากเพราะการอพยพหนีภัยสงครามและต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เครื่องอุปโภค บริโภค ตลอดจนยารักษาโรคราคาแพงมาก

ภาพนี้น่าจะเป็นถนนพระราม1 ตัดกับถนนอังรีดูนังต์(แยกเฉลิมเผ่า)
ยังไม่มีสยามพารากอนและสถานีรถไฟฟ้า bts และรถวิ่งเลี้ยวขวาย้อนขึ้นไปแยกราชประสงค์ได้ด้วย ปล.รถในรูปเท่าที่จำได้ มี toyota corona แป๊ะยิ้ม ออกขายปี 1988-1992  ซึ่งก็มี accord ตาเพชร ออกขายในช่วงปีเดียวกันเช่นกัน ให้เดารูปน่าจะปีประมาณรถทั้ง 2 รุ่นนั่นแหล่ะ

ห้างเมืองทอง เยาวราช ข้างเทียนกัวเทียน ภาพจากนักข่าวต่างประเทศ. จากยุค 50's ปล.บริษัท เมืองทอง ของเถ้าแก่ ดิลก มหาดำรงค์กุล ที่ตอนแรกเป็นเอเยนต์นาฬิการมิโด้ ยูนิเวอร์แซล และ Revue ต่อมาได้นำเข้านาฬิกาไซโก้ มาทำตลาดเมืองไทย

ห้างเมืองทอง เยาวราช ข้างเทียนกัวเทียน สมัยนั้นจะใช้แขกยามเฝ้าประตูค่ะ (แขกจริงๆนะพร้อมชุดและสายสะพายเต็มยศ)

โลลิต้า แหล่งบันเทิง ชื่อดัง บนถนนราชดำเนิน ภาพนี้เป็นภาพหน้าปกแผ่นเสียง ถ่ายจากหน้า โลลิต้า ไนท์คลับ ไนท์คลับดังที่อยู่คู่ กทม. โลลิต้า ถนนราชดำเนิน ชื่อเอามาจากหนังดังของ Stanley Kubrick ที่ออกฉายในปี 2505 เรื่อง Lolita ที่มี James Mason แสดงเป็นอาจาร์ยชรา ที่ไปหลงรักเด็กสาว Lolita ที่แสดงโดย Sue Lyon ในสมัยนั้นสังคมจะต้อต้านและประนามการกระทำ โคแก่กินหญ้าอ่อน

เป็นสี่แยกที่ถนนวรจักรตัดกับถนนเจริญกรุง ชื่อสี่แยกนี้มาจากชื่อ บริษัท S.A.B ซึ่งมีอาคารที่ทำการบริษัทตั้งอยู่บนถนนวรจักร บริษัท S.A.B เป็นคำย่อของ โซ เซ เอ เต อานอนนิม เบลซ์ (Societe Anon yme Belge) เป็นบริษัทของชาวเบลเยียม ตั้งขึ้นเมื่อราวพ.ศ.๒๔๕๕ เมื่อแรกตั้งบริษัท S.A.B เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ เครื่องอะไหล่รถยนต์ และอู่ซ่อมรถ ต่อมาขยายกิจการ เปิดจำหน่ายสินค้าที่สั่งมาจากต่างประเทศ เช่น นาฬิกาย...

โรงแรม เอเซีย ปี70 และ รถราที่คลาสสิคมากๆ บนถนนพญาไท

เซนทรัล สีลม ไม่ทราบปี และคำว่า ลดราคาอย่างห้าวหาญ mighty sale คงอยู่คูกันมากับเซนทรัลนานมากๆ ปล.ถ้าไม่นับ ห้างไดมารู central สีลมจะเป็น department storeจริงแห่งแรก เพราะจากปากตรอกโรงภาษี หลังวัง จนถึงราชดำริห์ สินค้าCentralยังคงรวมกันวางขายอยู่ใน counterกระจกต้องมีพนักงานคอยหยิบให้

ย่านพัฒน์พงศ์ในอดีต ในภาพ Marcopolo ไนท์คลับดังของยุคสงครามเวียตนาม เป็นคลับที่มีดนตรีสตริงคอมโบ้แสดงสดและมีฟลอร์เต้นรำ ดิ้นกันมันส์มาก เป็นขวัญใจของเด็กมีกะตังค์ เพราะค่อนข้างจะแพงกว่าที่อื่น ในภาพเป็นงาน santana บ่ายวันอาทิตย์ ที่เราเรียกว่า Tea Dance ที่นี่แน่นมาก
น่าจะอยู่ในปี 1970 เพราะเป็นปีที่ santana ดังมากในบ้านเรา โดยมีเพลง black magic woman
oye comova นำร่อง พอประกวดสตริงคอมโบ้ครั้งที

ย่านพัฒน์พงศ์...ในอดีต....เห็นท้ายรถฟอร์ด Ford Escort รถยอดนิยมในยุคนั้น ปล.รถยนต์ในรูปน่าจะเป็น Ford Escor นะ เพราะถ้าเป็น Ford Capri จะเป็นรถสองประตู คันจะใหญ่กว่านี้ เพราะเป็นรถสปอร์ตค่ะ แล้วในยุค 60's จะมีงาน madigras ปิดถนนไปถึง มณเพียร ทุกร้านจะออกร้านกันบนถนน ไปกันได้ทั้งครอบครัวสนุกกันได้ทั้งวัน bar a-go-go ยังไม่เกิด

พระพรหม โรงแรมเอราวัณ ปี70

"ตลาดบำเพ็ญบุญ" พื้นที่แห่งนี้เก่าแก่ย้อนกลับไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ เลยครับ เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯให้ซื้อที่ดินริมคลองถ่านสร้างวังพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณฯ แต่ยังไม่ทันจะสร้างวังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ฯพระองค์เจ้าอุณากรรณฯ จึงเพิ่งได้เสด็จ ‘ออกวัง’ ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อแรกพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  โปรดฯให้ประทับที่วังเก่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูบดีราชหฤทัย (พระองค์เจ้าอมฤตย์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓) ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำใกล้ๆ กับป้อมมหาฤกษ์ บริเวณโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งพระชันษาอ่อนกว่าพระเชษฐา ๒ พรรษาก็เสด็จมาประทับด้วย ต่อมา ฯพระองค์เจ้าอุณากรรณฯ จึงทรงสร้างวังในที่ดินที่พระบรมราชชนก พระราชทานไว้ เสด็จอยู่ไม่เท่าไรก็สิ้นพระชนม์ โดยยังไม่มีพระทายาท พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานต่อให้แก่สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ในเวลาต่อมา
วังที่ก่อสร้างนี้เรียกกันตามพื้นที่ตั้งของคลองและสะพานที่ตั้งอยู่คือ "วังสะพานถ่าน" ภายหลังกลายเป็น "ตลาดบำเพ็ญบุญ" และกลายเป็น "แฟลตบำเพ็ญบุญ" ในเวลาต่อมา

จากจุดของภาพถ่ายนี้ เดินไปทางขวามือ จะมีตลาดแฟชั่น ที่ทันสมัยที่สุด สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะสงบลง เรียกว่า ตลาดมิ่งเมือง เป็นตึกสไตล์ยุโรป ที่มีลานกว้างอยู่ในตึก แบ่งเป็นห้องๆ ทุกห้องจะเป็นร้านตัดเสื้อสตรี สุภาพสตรีสมัยนั้น ซื้อผ้า พาหุรัด มาตัดมิ่งเมือง ก่อนจะมาดูหนังเฉลิมกรุง 

ห้างใหญ่ของตลาดมิ่งเมือง บริษัท รัตนมาลา จำกัด จำหน่าย พวกของนำเข้าจากต่างประเทส อยู่ตรงหัวมุมของตลาด...ร้านรัตนมาลา ปัจุจุบันเป็นดิโอลด์สยาม เสียดายไม่อยากให้รื้อไปเลย เป็นห้องแถวที่มีความยาวถึง 20 กว่าห้องเห็นจะได้ ผู้ก่อตั้งคือ นายชัย หรือเดิมชื่อ ซุ่นใช้่ บำรุงตระกูล

ตำรวจรำจราจร...ที่สี่แยกหน้าร้านทอง เซ่งเชียงหลี ถนนเจริญกรุง ...ในราวๆ ปี1950

ภาพนี้ถ่ายที่หน้าอินทรา สังเกตุให้ดี ฟุตบาทใหญ่กว่าถนน ตอนนั้นเดินสบายมากค่ะ ฝั่งตรงข้ามมีร้าน ทับทิมกรอบอินทราที่จุดประกายให้ทับทิมกรอบระบาดไปทั่วอีกอย่างดูภาพจะเห็นรถสองแถวใหญ่ เมื่อก่อนวิ่งอยู่ตามชานเมือง และในซอยใหญ่ๆ แต่เกิดเหตุการณ์รถเมล์ ขสมก. ประท้วงหยุดวิ่ง ทำให้คน กทม.เดือดร้อน แล้วรถสองแถวก็เป็นพระเอกออกมาช่วยชาว กทม. หลังรถเมล์ออกมาวิ่ง พวกสองแถวก็ไม่กลับเข้าซอย ยังคงวิ่งต่อไป จนเป็นปัญหาอยู่หลายปี จนในที่สุดสรุปให้เข้า เป็นรถร่วมบริการ โดยเอารถสองแถวไปดัดแปลงเป็นรถเมล์เล็กสีเขียวในเวลาต่อมานั้นเองค่ะ

สังเกตุสุดถนนยังมีน้ำพุ ราชเทวีอยู่ ถ่ายจากหน้าพันทิพย์ แถวๆ นั้น ก่อนปี 2510
เพราะโรงแรม First ยังไม่ได้สร้าง สังเกตุให้ดี บนถนนเราจะเห็นรถจีพ วิลลี วิ่งกันอยู่ทั่วไป เป็นรถทหารอเมริกันที่หลงเหลือจากสงครามโลกครั้งที่ 2  เจ้ารถนี้ละที่อเมริกันสร้างเพื่อใช้ในสงครามโลก รบกันไม่กี่ปี แต่สร้างเจ้า วิลลี่ ออกไปประจำการยังฐานทัพต่างๆ ประมาณหกแสนคันค่ะ

ตรงป้ายรถเมล์ก่อนถึงอินทรา เมื่อก่อนป้ายรถเมล์อยู่หน้าร้านนี้ ร้านลาบประตูน้ำ หรือ ลาบนายอั้ง เจ้าดัง แห่งประตูน้ำ กินลาบฝีมืออีสานมานาน ต้องลองกินลาบฝีมือคนจีนค่ะ ตอนนั้นนายอั้งลาบประตูน้ำดังมาก อีกอย่างต้อง บอกไว้ก่อน ขนมจีน น้ำยา ลูกชิ้นปลา เริ่มจากตรงหน้าร้านนี้ก่อนระบาดไปทั่ว จนต้องใส่ร้ายว่า น้ำยากระดาษทิชชู เลยขาย ไม่ดี งานกร่อย เล่นแรงมาก 

ตีนสะพานลอยประตูน้ำ เมื่อก่อนวุ่นวายมาก มาจากสี่แยกเลี้ยวขวา กลับรถได้ด้วย มาจากราชเทวี เลี้ยวขวาเข้าซอย สนุกมาก  สังเกตุป้อมจราจรสูงๆ ตรงกลางสะพานด้านซ้ายนับว่าแปลกตามากในยุคนั้น

ประตูน้ำหลังปี 2514 ในยุคที่รถวิ่งสวนกันอยู่ สภาพสี่สิบปีก่อน ประตูน้ำไม่เคยเปลี่ยน วุ่นวายแบบเดิมๆแต่มีเสน่ห์

ถ่ายจากบนสะพานลอย สมัยที่ ร้านทองและบาจา ตรงสี่แยกยังไม่ถูกรื้อไป  ปล.ตอนนี้กลายเป็นห้างพาลาเดี้ยมไปแล้วและตอนนี้อีกฝั่งก็จะกลายเป็นห้างหรือไม่ก็โรงแรมแล้ว  ส่วนตรงห้างอินทราทั้ง 2 ฝั่งกำลังจะกลายเป็นสถาณีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไล่จากป้ายบาจามาจนถึงเพชรบุ รี31 ก็ถูกไล่ที่หมด 
แยกประตูน้ำ ภาพเก่ามากเพราะสะพานข้ามแยกยังสร้างไม่เสร็จเลย ภาพประมาณปี2508 สะพานลอยนี้เปิดใช้งาน ต้นปี 2509
ประตูน้ำในอดีต สังเกตุเห็นมีโรงแรมอินทราแล้ว และรถเมล์สาย 17 ยังเป็นน่าจะบริษัท ศิริมิตร วิ่งตามหลังมาเป็นรถเมล์ขาว ที่เห็นถัดไปน่าจะสาย 14 รถเมล์ยังไม่ได้รวมเป็น ขสมก. ภาพนี้น่าจะถ่ายในปี 2516-2517 สภาพทั่วไปจะไม่แตกต่างจากปัจจุบันคือภาพความวุ่นวายและรถติด
ภาพโรงแรมเอราวัณตอนปี 2500 นิดๆ ฝรั่งถ่ายไว้ สังเกตุให้ดีๆ พระพรหมยังไม่ได้สร้างเลยค่ะ
สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก พระที่นั่งอนันตสมาคม  ภาพนี้ ถ่าย เมื่อ ปี 2458 - 2459 และ ภาพนี้ มีลงในหนังสือที่ระลึกรถไฟสายใต้จาก บางกอกน้อยไปอู่ตะเภา (3 กิโลเมตร ก่อนถึงหาดใหญ่) พิมพ์เมื่อ มกราคม 2459 (1917) โดย Moderator Wiz
ปี 1940 ย่านการค้าแถบสำเพ็งแล เห็นวัดปทุมคงคา ด้านขวามือ
ภูเขาทองในอดีตกับวิถีชีวิตผู้คนริมคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) ปี 1908
พระบรมมหาราชวัง ในยุคที่ยังมีรถลาก(รถเจ็ก) ไม่ระบุปีที่ถ่าย
ถนน เจริญกรุง วัดปทุมคงคา ปี 1930
สะพานพุทธยอดฟ้าฯ พ.ศ. 2507

ภาพวันลอยกระทงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระราชวังบางปะอิน
ภูเขาทองในอดีตกับวิถีชีวิตผู้คนริมคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง)ปี 1908   เหตุที่ได้ชื่อ คลองโอ่ง อ่างเนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าในยุคนั้น จะนำโอ่งและอ่างดินเผาบรรทุกเรือแล้วล่องมาตามคลองนี้เพื่อทำการค้าขายกัน
ภาพถ่ายทางอากาศ คลองผดุงกรุงเกษม สะพานมัฆวานรังสรรค์ ปี1951 สังเกตุตรงเชิงสะพานฝั่งซ้ายมือ ที่เป็นต้นไม้ ปัจจุบันกลายเป็นน้ำพุไปแล้ว

ในอดีตคลองคูเมืองเดิมเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเข้ามาในเมืองที่สำคัญเส้นหนึ่งและและบริเวณโดยรอบ
ในภาพเป็นภาพคลองคูเมืองเดิมในสมัยที่ยังมีการขาย ผลไม้และต้นไม้ริมคลอง แต่ก็เลิกไปพร้อมกับการย้ายตลาดนัดสนามหลวง พ.ศ.2521 
ส่วนคลองหลอดที่แท้จริงนั้นเป็นคลองที่ตัดออกจากคลองคูเมืองเดิม มีอยู่ 2 คลองด้วยกันคือ 1.ข้างวัดบุรณศิริมาตยาราม 2.ข้างวัดราชบพิธ

รัชกาลที่6 เสด็จพระราชดำเนินมาตรวจพลสวนสนามด้วยรถม้าพระที่นั่งเข้าสู่สนามหลวง ช่่องว่างระหว่างต้นมะขามยังไม่มีถนนทางเดินเช่นทุกวันนี้
  ร้านกรุงเทพบรรณาคาร...ร้านขายหนังสือรุ่นเก่
ร้านนี้ ชื่อร้าน ย.ร.อันเดร เป็นของชาวเยอรมัน จำหน่ายทองรูปพรรณ ไปจนถึง รถยนต์ ยางรถยนต์ เปิดทำการที่สี่กั๊กพระยาศรี
ย่านเก่าสามยอดในอดีต...มองเห็นประตูสามยอดอยู่ตรงสุดปลายถนน..ถนนสร้างมาสวยงามมาก เป็นระเบียบ ...ย่านสามยอดมีภาพรถรางสายบางคอแหลมกำลังเลี้ยวขวา ไปเฟื่องนครเพื่อไปหมดระยะที่หลักเมือง หรือ ไม่ก็เข้าถนนเจริญกรุงไปหมดระยะบางคอแหลม -ชื่อ สามยอด มาจากชื่อประตูเมืองชั้นนอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อยู่บริเวณปลายถนนเจริญกรุง มีลักษณะพิเศษคือ เป็นประตูที่มีทางเข้าออก 3 ช่อง แต่ละช่องของประตูทำเป็นยอดแหลมขึ้นไปช่องละยอด ประชาชนจึงเรียกชื่อประตูตามลักษณะพิเศษนั้นว่า "ประตูสามยอด" ต่อมาจึงเหลือสั้นๆ เพียงคำว่า "สามยอด" 
ประตูสามยอดสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนประตูพฤฒิมาศ ซึ่งเป็นประตูเมืองเดิมที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประตูนี้เคยได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดให้เปลี่ยนจากประตูไม้เป็นประตูก่ออิฐถือปูน บนหลังประตูสร้างเป็นหอรบมุงกระเบื้องมีจั่วหน้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตัดถนนเจริญกรุงผ่านประตูนี้ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจราจรที่ผ่านประตูนี้เริ่มติดขัดเพราะประตูคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์เป็นแม่กองเปลี่ยนแปลงประตูจากช่องเดียวเป็นประตู 3 ช่อง ติดต่อกัน บนประตูแต่ละช่องมียอดแหลม ด้วยลักษณะที่แปลกกว่าประตูอื่นๆ ประชาชนจึงเรียกประตูนี้เป็นสามัญว่า "ประตูสามยอด" และเรียกบริเวณนี้ว่า "ตำบลสามยอด" ย่านตำบลสามยอดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นย่านที่มีประชาชนคึกคักมากย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะเป็นที่ตั้งโรงหวย กข.ของขุนบานเบิกบุรีรัตน์ หรือ ยีกอฮง (ต้นตระกูลเตชะวณิชย์) ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจราจรบนถนนเจริญกรุงเริ่มคับคั่งและติดขัด จึงโปรดให้ขยายถนน ประตูสามยอดซึ่งสร้างคร่อมอยู่บนถนนเจริญกรุงเป็นที่กีดขวางการดำเนินการก็ได้ถูกรื้อถอนลงในครั้งนั้น
ในปัจจุบันแม้จะไม่มีประตูสามยอดให้เห็นเป็นประจักษ์พยานแล้วก็ตาม แต่ลักษณะพิเศษของประตูก็ยังคงเป็นที่จดจำของประชาชนทั่วไปมิรู้ลืม ชื่อประตูสามยอดหรือสามยอดจึงได้ใช้เรียกขานสถานที่สำคัญที่อยู่ในบริเวณนั้น อันได้แก่ อำเภอสามยอด กองปราบปรามสามยอด สถานีวิทยุเสียงสามยอด เป็นต้น... ข้อมูลจาก"ชื่อบ้าน นามเมือง" โดย คุณ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
สี่กั๊กพระยาศรี .... ในสมัยอดีต - สี่กั๊กพระยาศรี ภาพนี่ถือว่าคลาสสิกมาก เพราะ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกการเปิดเดินรถไฟสายใต้ บางกอกน้อย - อู่ตะเภา เมื่อ มกราคม 2459 ด้วย - ภาพนี้มีในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแน่ (โดย Moderator Wiz)
อาคารที่ทำการของห้างนายเลิศ เจ้าของรถเมล์ขาวนายเลิศ ที่สะพานเหล็กล่าง ราวๆปี 2470 (Moderator Wiz)
ปั๊มน้ำมัน ตราม้าบิน หน้าวัดพระแก้วถ่ายปี 1950 - ตอนช่วงปี 1946-1957 นั้นสัมพันธมิตรห้ามไทย ขายน้ำมันสามทหารแข่งกะเชลล์และโมบิล/เอสโซ่/คาร์ลเท็กซ์ ทำให้ปั๊ม 3 ทหาร ที่หลักเมืองซึ่งออกแบบ โดยอาจารย์นารท โพธิประสาท (เปิดบริการ 24 มิถุุนายน 2483) ต้องให้โมบิลเช่าค่ะ ตอนหลังปี 1957 สามทหารก็เข้ามารับช่วงอีกครั้งและก็เปลี่ยนแปลงกลายเป็น ปตท.ในช่วงปี 1978-79 ส่วนปั๊มนี้เพิ่งมาทุบทิ้งตอนฉลองกรุง 200 ปีนี้เอง (โดย Moderator Wiz)

แถบดอนเมือง ปี 1959 ก็พ.ศ. 2502 เป็นภาพเครื่องบินกำลังจะแลนดิ้งที่ดอนเมือง.ยุคที่ดอนเมืองยังเต็มไปด้วยทุ่งนา...กับชีวิตริมทุ่ง น่าอภิรมย์จริงๆ
ซอยนานาใต้ (สุขุมวิทซอย 4) เห็นป้ายโรงแรมนานาที่หน้าซอย ปี2516 ยุคจีไอครองเมือง (Moderator Wiz)
ภาพปี 1970 เด็กนักเรียนหญิงกำลังข้ามถนนพหลโยธินแถวบริเวณอนุสาวรีย์ชัย ตรงที่เป็นเนินนี้น่าจะเป็นสะพานข้ามคลองเก่า ส่วนรถเมล์สาย29วิ่งระหว่าง หัวลำโพง-รังสิต(เส้นซุปเปอร์ไฮเวย์)หรือวิภาวดีรังสิตในปัจจุบัน ตอนนั้นยังเป็นรถสีส้มเทาสังกัด บ.ข.ส ในภาพขวาสุดตรงแถวหน้ารถที่หลุดๆขอบคือแท่งเสาบอกหลักเขตทางหลวงกิโลเมตรที่ศุนย์(ถ้าจำไม่ผิดแท่งนี้จะเป็นรูปปูนปั้นแบบนูนต่ำแสดงแผนที่ประเทศไทยและเส้นทางหลวงทั้งหมด) ..... ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางด่วนแท่งหลักเขตนี้ได้หายไปไม่ทราบว่าจะเป็นอันเดียวกันกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือไม่...ในภาพแถบท้ายๆตรงหลังคารถมล์ยังแลเห็นเสาส่งของช่อง5สนามเป้าด้วย Photo Series of BKK in 1970 by Khun Mike Schmicker
ภาพปี 1961 แถวตลาดน้อย เห็นตึกนายเลิศเด่นเป็นสง่า(ที่อยู่ไกลลิบๆ ตึกนายเลิศเป็นโรงงานทำน้ำแข็งแห่งแรกของประเทศไทย)


ที่มา: //www.facebook.com/media/set



Create Date : 18 เมษายน 2557
Last Update : 18 เมษายน 2557 7:07:13 น. 0 comments
Counter : 3072 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.