ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 
รีวิว Windows 10 Mobile - อนาคตที่ยังมาไม่ถึงของไมโครซอฟท์

ไมโครซอฟท์ ส่ง Lumia 950XL มือถือเรือธงของระบบปฏิบัติการ Windows 10 Mobile มาให้ Blognone รีวิว แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของตัวโทรศัพท์ ผมคิดว่าตัวระบบปฏิบัติการ Windows 10 Mobile ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย จึงแยกเป็นรีวิวเฉพาะตัวระบบปฏิบัติการมาเป็นอีกตอน

มาถึงวันนี้ เราต้องยอมรับกันว่าไมโครซอฟท์เพลี่ยงพล้ำกับสงครามสมาร์ทโฟนไปเรียบร้อยแล้ว ฝั่งของไมโครซอฟท์เองก็รับทราบเรื่องนี้ และปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ หันมาโฟกัสแค่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ในระยะยาวแล้ว ยังไม่ยอมถอยในตลาดสมาร์ทโฟนแน่นอน

Windows 10 Mobile ในปี 2016 จึงเป็นระบบปฏิบัติการที่ช่วย "ประคอง" ให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนของไมโครซอฟท์ยังอยู่รอดต่อไปได้ เพื่อหวังว่าจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

Windows 10 Mobile

Rewrite Every-year

ถ้าสโลแกนของ Java คือ Write Once, Run Anywhere

สโลแกนของ Windows Mobile/Phone คงหนีไม่พ้น "Rewrite Every-year" เพราะเขียนระบบปฏิบัติการใหม่กันแทบทุกปี

ลองย้อนไปดูประวัติของระบบปฏิบัติการ Windows Phone ของไมโครซอฟท์ นับตั้งแต่การกดปุ่มรีเซ็ตครั้งใหญ่ ยกเลิก Windows Mobile 6.x แล้วเปลี่ยนเป็น Windows Phone 7 แทน รอบการออกรุ่นเป็นดังนี้

  • 2010 - Windows Phone 7
  • 2011 - Windows Phone 7.5
  • 2012 - Windows Phone 8
  • 2014 - Windows Phone 8.1
  • 2015 - Windows 10 Mobile (announced)

ถึงแม้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวจะหน้าตาคล้ายๆ กัน แต่สถาปัตยกรรมข้างใต้ของมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ Windows Phone 7 ที่ใช้แกน Windows CE + เขียนแอพด้วย Silverlight ตามมาด้วย Windows Phone 8 ที่ใช้แกน Windows NT แต่ยังใช้เฟรมเวิร์คการสร้างแอพแบบเดิม

พอมาถึง Windows Phone 8.1 เปลี่ยนเฟรมเวิร์คมาเป็น Windows Runtime แบบเดียวกับ Windows 8.1 บนเดสก์ท็อป และพอมาถึง Windows 10 Mobile ถึงแม้แนวทางจะคงเดิม แต่ในรายละเอียดก็เปลี่ยนแปลงอีกรอบ ตัวแกนเปลี่ยนมาใช้ Windows OneCore และเฟรมเวิร์คใช้ Universal Windows Platform

เราจะเห็นว่าไมโครซอฟท์เสียเวลาเปล่าไปหลายปี กับการเขียนระบบปฏิบัติการมือถือขึ้นมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก (ในขณะที่คู่แข่งทั้ง iOS และ Android ไม่ต้องเสียเวลาแบบนี้ เดินหน้าได้เต็มที่กว่ากันมาก) มาถึงปี 2015 ความฝันของไมโครซอฟท์ก็เริ่มเป็นจริง เมื่อ Windows 10 Mobile สามารถตอบโจทย์เรื่องการใช้แกนของระบบปฏิบัติการ และแพลตฟอร์มแอพชุดเดียวกับ Windows 10 บนเดสก์ท็อปได้สำเร็จ

เราก็ขอฝากไปถึงไมโครซอฟท์ว่า มาถึงจุดนี้แล้วก็ไม่ควรจะเหลียวหลังอีก การเขียนระบบปฏิบัติการใหม่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว และได้เวลามุ่งไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวสักที

ระบบปฏิบัติการรุ่นที่รีวิวคือ Windows 10 Mobile เวอร์ชัน 1511 Build 10.0.10586.164 ที่เพิ่งออกเมื่อไม่กี่วันก่อน นับถึงวันนี้ Windows 10 Mobile ยังไม่ออกตัวจริง (general availability) แต่ตอนนี้ไมโครซอฟท์เปิดสายการพัฒนาใหม่ Redstone (Build 14xxx) เรียบร้อยแล้ว ฟีเจอร์ใหม่คงย้ายไปอยู่ใน Redstone ทั้งหมด ส่วนสาย 1511 หรือโค้ดเนม Threshold คงเหลือแค่การแก้บั๊กให้สมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น

Windows 10 Mobile

Windows 10 Mobile

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ Windows 10 Mobile เป็นอย่างที่เขียนถึงไปแล้ว นั่นคือเปลี่ยนแกนของระบบปฏิบัติการ และเปลี่ยนเฟรมเวิร์คของแอพมาเป็นชุดเดียวกับ Windows 10 บนเดสก์ท็อป

ในแง่ส่วนติดต่อผู้ใช้และการใช้งาน Windows 10 Mobile ถือว่าไม่มีอะไรแตกต่างไปจาก Windows Phone 8.1 มากนัก ภาพรวมยังเหมือนเดิมทุกประการ ตัว UI หลักของระบบมีเพียงแค่ 2 หน้าจอคือ Live Tiles และหน้ารายการแอพทั้งหมด All Apps

Windows 10 Mobile

แต่ในรายละเอียดย่อยๆ ก็มีหลายประเด็นที่ Windows 10 Mobile พัฒนาให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น จากภาพข้างต้น แอพที่เพิ่งติดตั้งใหม่จะแสดงในรายการ Recently Added ด้านบนของรายการแอพทั้งหมด ต่างไปจากของเดิมที่แสดงตามตัวอักษร และขึ้นข้อความ "New" ต่อท้ายชื่อแอพเท่านั้น (ระหว่างที่ผมลองใช้ Windows 10 Mobile ก็พบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อยู่พอสมควร)

หน้า Live Tiles ก็สามารถรวมกลุ่มโฟลเดอร์ได้แล้ว, รองรับการใส่ภาพพื้นหลังเข้ามาแบบเต็มๆ (เวอร์ชันก่อนใส่ได้แค่พื้นหลังของ Tiles) และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นคำว่า All apps โผล่มาด้านใต้สุดของหน้า Live Tiles ด้วย ช่วยแก้ปัญหาผู้ใช้หน้าใหม่หารายการแอพไม่เจอ

Windows 10 Mobile

หลังจากพัฒนากันมาหลายรุ่น UI ของ Windows 10 Mobile ถือว่าลงตัวแล้วในระดับหนึ่ง มีฟีเจอร์เท่าที่ระบบปฏิบัติการพกพาสมัยใหม่ควรมี เช่น แถบแจ้งเตือน พร้อม Quick Settings (ที่สุดท้ายแล้ว Android, iOS, Windows มีหน้าตาคล้ายๆ กันหมด) ส่วนจุดอ่อนสำคัญของ Windows ที่หน้า Settings ใช้งานยากมาก ก็ถูกจัดหมวดหมู่ใหม่ มีไอคอนประกอบให้เด่นชัดขึ้น และสอดคล้องกับทิศทางของ Windows 10 บนเดสก์ท็อปด้วย

Windows 10 Mobile

การกดปุ่ม Back ค้างไว้จะแสดงหน้ารายการแอพทั้งหมด ส่วนการกดปุ่ม Start ค้าง จะเป็นโหมด one-handed ดันหน้าจอด้านบนลงมาให้กดง่ายๆ (เพราะหน้าจอของ Lumia 950 XL มีขนาดใหญ่มาก)

Windows 10 Mobile

ภาพรวมเรื่อง UI ของ Windows 10 Mobile ถือว่าลงตัว สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิมมาก ข้อติหรือจุดอ่อนในอดีตอย่างการไม่มีถาดข้อความแจ้งเตือน หรือหน้าจอ Settings ใช้งานยาก ถูกลบออกไปหมดแล้ว

Universal Windows Platform

ถัดมาจากระดับของตัวระบบปฏิบัติการหลัก ก็มาดูที่แอพของระบบกันครับ ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์คือสร้างแอพด้วย Universal Windows Platform (UWP) เพื่อประหยัดแรงงานการพัฒนา ไม่ต้องสร้างแอพซ้ำซ้อนบนเดสก์ท็อปและมือถือ (แบบที่พลาดมาแล้วกับ Windows Phone 7-8 ซึ่งแอพเหล่านี้ต้องปาทิ้งไปเกือบหมด)

Windows 10 Mobile จึงมาพร้อมกับแอพชุดเดียวกันกับ Windows 10 บนเดสก์ท็อป ถึงแม้ว่าเวอร์ชันย่อยอาจไม่เหมือนกันซะทีเดียว แต่ความสามารถหลักๆ ทัดเทียมกัน

วิธีการสังเกตง่ายๆ คือแอพที่เป็น Universal ถ้าไม่ใช่แอพพื้นฐานสุดๆ แบบแอพโทรศัพท์หรือเครื่องคิดเลข จะออกแบบ UI โดยใช้ปุ่ม hamburger menu ที่มุมซ้ายบนของหน้าจอ กดแล้วจะเป็นการเปิดเมนูของแอพขึ้นมา ลักษณะเดียวกับ iOS/Android ซึ่งตอบโจทย์ในแง่การออกแบบ UI ให้เหมาะทั้งหน้าจอโทรศัพท์ขนาดเล็ก และหน้าจอเดสก์ท็อปขนาดใหญ่

Windows 10 Mobile

เบราว์เซอร์ของ Windows 10 Mobile เปลี่ยนมาเป็น Edge แทน IE Mobile เรียบร้อยแล้ว ฟีเจอร์ทุกอย่างเทียบเท่ากับเวอร์ชันเดสก์ท็อป ส่วน Cortana ก็หน้าตาเหมือนกับ Windows 10 ทุกประการ

Windows 10 Mobile

แอพกลุ่มคอนเทนต์ที่ต้องอัพเดตเสมอๆ อย่าง News, Sports, Money, Weather ก็อยู่บนแนวคิดเดียวกัน ถ้าใครใช้แอพเหล่านี้บน Windows 10 อยู่แล้วก็สามารถตามมาใช้งานต่อได้ทันที

Windows 10 Mobile

แอพกลุ่มสื่อสาร ก็ทิ้ง Mail และ Calendar ตัวเก่า เปลี่ยนมาเป็น Outlook Mail และ Outlook Calendar แบบเดียวกับ Windows 10 เช่นกัน คนที่ผูกบัญชีกับ Microsoft Account อยู่แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เปิดแอพมาก็ใช้ได้เลย เพราะเราล็อกอินบัญชี Microsoft Account ตั้งแต่ตอนเปิดใช้เครื่องครั้งแรกอยู่แล้ว

Windows 10 Mobile

แอพกลุ่มบันเทิง เปลี่ยนชื่อมาเป็น Groove Music และ Movies & TV แทน ตัว Groove จำไลบรารีเพลงของเราได้หมด และซิงก์รายชื่อเพลงให้ทันที ส่วน Movies & TV เน้นไปที่คอนเทนต์จาก Windows Store เป็นหลัก

ผมลองดาวน์โหลดไฟล์ภาพยนตร์ฟรีจาก Windows Store พบว่าติดปัญหาเครือข่ายพอสมควร (กดเล่น 3-4 ทีกว่าจะมา) ซึ่งปัญหาเดียวกันนี้พบกับการดาวน์โหลดแอพจาก Windows Store รวมถึงการดึงเอกสารจาก OneDrive ด้วย

Windows 10 Mobile

แอพพื้นฐานของ Windows 10 Mobile ที่เขียนด้วย Universal Windows Platform ใช้งานได้ดีพอสมควร ตอบสนองรวดเร็ว ฟีเจอร์ค่อนข้างครบ แต่แอพกลุ่มที่เป็นปัญหามากคือ Office ซึ่งไมโครซอฟท์ให้มา 4 ตัวคือ Word, Excel, PowerPoint, OneNote

แอพกลุ่ม Office ยังมีความสามารถไม่เยอะเท่าไรนัก การเชื่อมต่อกับบัญชียังล้าหลังมาก ต้องมาไล่ล็อกอินบัญชี Microsoft Account ทีละแอพเป็นรายตัว และที่แย่ที่สุดคือการดึงเอกสารจากบัญชี OneDrive ช้ามากถึงมากที่สุด ถึงขนาดบางครั้งโหลดไม่ขึ้นเลย ผมต้องปิดแอพทิ้งเพื่อบังคับให้แอพเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

Windows 10 Mobile

ในภาพรวมเรื่องแอพของระบบ ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์มาถูกทาง การใช้แอพร่วมกันระหว่าง Windows 10 กับ Windows 10 Mobile แก้ปัญหาเรื่องฟีเจอร์ไม่ทัดเทียมได้สำเร็จ (ถ้าใครทันยุค Windows Phone 7-8 จะพบปัญหาแอพชื่อเดียวกันบนสองแพลตฟอร์ม แต่ฟีเจอร์และวิธีการใช้งานไปคนละทาง) รวมถึงต่อยอดไปยังเรื่อง Continuum ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ไมโครซอฟท์ยังพัฒนาแอพตามแนวทาง Universal ได้ไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก โดยเฉพาะกลุ่ม Office อย่างที่กล่าวไปแล้ว (แถมดันชอบเอาไปโฆษณาเป็นจุดขายซะด้วย แต่ดันทำห่วยซะเอง)

มีแล้วทุกอย่าง ยกเว้น...

Windows 10 Mobile มีรากฐานสำคัญพร้อมหมดแล้ว ทั้งตัวแกนของระบบปฏิบัติการ ส่วนติดต่อและฟีเจอร์ของระบบปฏิบัติการ แพลตฟอร์มแอพที่ทันสมัย แอพพื้นฐานที่ดีในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าอะไรที่เคยเป็นจุดอ่อนของตัวระบบ ก็แก้ไขไปเยอะแล้ว ส่วนที่ยังทำไม่เสร็จก็พอเห็นอนาคตเบื้องหน้าว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่ปัจจัยชี้ขาดก็กลับมาที่คำถามเดิมๆ ว่าแอพจากบริษัทอื่นๆ ล่ะเป็นอย่างไร

คำตอบก็ต้องยอมรับกันครับว่า ยังไม่มีเหมือนเดิม ปัญหา app gap ยังคงอยู่

ทุกวันนี้ Windows 10 Mobile มีแอพดังๆ อย่าง Facebook, Twitter, Dropbox, WhatsApp, LINE ให้ใช้งาน แอพหลายตัวเขียนแบบ Universal แล้ว ประสบการณ์การใช้งานก็ถือว่าดีขึ้นมาก แม้ว่าฟีเจอร์จะยังด้อยกว่าแอพเดียวกันบนระบบปฏิบัติการอื่น

แต่ Windows 10 Mobile ก็ยังขาดแอพยอดนิยมอีกมาก ถ้าไม่นับแอพสายกูเกิลทั้งหมดที่ไม่มีให้ใช้งานเลย (ไม่รู้เกลียดกันมาตั้งแต่ชาติปางไหน) ก็ยังขาดแอพอย่าง Instagram (ที่กำลังพอร์ต), Snapchat, Tumblr, Airbnb หรือถ้าเอาบริการในบ้านเราอย่างพวกธนาคาร โอเปอเรเตอร์ หรือแอพเรียกรถอย่าง Grab ก็ไม่ต้องนึกฝัน

ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ไมโครซอฟท์ต้องพยายามแก้ไขต่อไป และน่าจะเป็นโฟกัสของไมโครซอฟท์ในปีนี้ เราก็ได้แต่หวังว่าโครงการช่วยพอร์ตแอพอย่าง Project Islandwood (พอร์ตจากโค้ด iOS) น่าจะช่วยปิดช่องโหว่ตรงนี้ได้บ้าง แม้ว่า Project Astoria ที่เป็นความหวังอีกข้างจะแท้งไปแล้วก็ตาม

   โดยสรุปแล้ว Windows 10 Mobile ถือเป็นความหวังของไมโครซอฟท์ในอนาคต แม้ว่ามันจะเป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ตามที


ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย:




Create Date : 15 มีนาคม 2559
Last Update : 15 มีนาคม 2559 21:31:53 น. 0 comments
Counter : 1214 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.