ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 
แชร์ประสบการณ์การออมเงิน (ฉบับคนธรรมดา)

หลายๆคน คงจะเคยคิดว่าเราจะต้องออมเงินให้ได้เท่านั้น เท่านี้ แต่ทำไมนะ พอเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้ตามที่เราตั้งไว้
การออมเงิน เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กยันแก่  แต่ต้องอาศัย "วินัย" เป็นอย่างมาก


วันนี้ก็เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การออมเงิน จากสมัยเด็กๆจนถึงปัจจุบัน  โดยส่วนตัวดิฉันเป็นคนชอบออมเงินมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ คุณแม่จะฝึกให้บริหารจัดการเงินเอง โดยสมัยประถม (ป.1-ป.2) จะให้เงินไปโรงเรียนวันละ 5-10 บาท แต่ห่ออาหารกลางวันไปทานที่โรงเรียน  (ป.3-ป.6) คุณแม่จะให้เงินไปโรงเรียนเป็นสัปดาห์ สัปดาห์ละ 100 บาท (จ-ศ 5 วัน  วันละ 20 บาท) คุณแม่จะแลกแบงค์20ใหม่จากธนาคารที่มีเลขบนธนบัตรเรียงต่อกันไว้จำนวนหนึ่ง สิ่งที่จูงใจในการเก็บเงินตอนนั้นคือ อยากเก็บแบงค์ใหม่ไว้เอง ไม่อยากให้ใคร ตอนนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการออม



สมัยนั้นข้าวที่โรงเรียน จานละ 5 บาท พิเศษ 7 บาท น้ำหวานแก้วละ 1 บาท (น้ำเปล่าฟรี) ผลไม้ ขนมอื่นๆก็ 1-5 บาท 
ด้วยความที่หวงแบงค์ใหม่ เราจึงกินเฉพาะข้าวจานละ 5 กับน้ำเปล่า (ฟรี) แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เสียเงินมันไม่ใช่ตอนนี้ แต่มันคือตอนหลังเลิกเรียน ที่จะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า เอาอาหาร ขนม นม เนย มาขายบริเวณหน้าโรงเรียน เดินผ่านทีไรก็เป็นอันต้องเสียเงินทุกที จะปีนกำแพงออกทางอื่นก็ไม่ได้เพราะขาสั้น ตัวเตี้ย ไม่มีทักษะในการปีนอีก และด้วยความเป็นเด็กเห็นอะไรมันก็หักห้ามใจยาก เลยเสียเงินไปกับขนมตอนเย็น 5-10 บาท เกือบทุกวัน  สรุปแล้วช่วงนั้นก็เก็บเงินได้วันละนิดวันละหน่อย เหลือแบงค์ 20 ใหม่ สัปดาห์ละ 1-3 แบงค์ พอถึงวันศุกร์กลับมาบ้านมานั่งชื่นชมแบงค์ใหม่ ดีใจเหมือนกับมีเงินล้าน


ชีวิตช่วงประถม วนเวียนอยู่กับเหรียญและแบงค์ พอสะสมได้เยอะๆก็จะให้พ่อพาไป ธ.สีชมพู เพื่อนำเงินไปฝาก แต่ตอนเด็กๆจะชื่นชมกับเงินที่จับต้องได้ มากกว่าตัวเลขในสมุดบัญชี ก็เลยไม่ค่อยเอาไปฝากสักเท่าไหร่ และมีครั้งหนึ่งเคยถามคุณแม่ว่า
เรา : แม่คะ ธนาคารนี่ต้องมีตู้เก็บเงินแยกๆเป็นล็อกๆกี่อันคะ คนเค้าฝากตั้งเยอะตั้งแยะ เค้าเอาเก็บแยกกันหมดรึเปล่า  
แม่  : เปล่าจ่ะ เค้าไม่ได้แยกกัน เงินที่เอาไปฝากไว้ที่ธนาคาร เค้าจะเอารวมกันจ้า
เรา  : แล้วเวลาที่เราไปเอาเงินออกมา เราจะได้เงินแบงค์ใหม่ที่เราเอาไปฝากไว้ไหมคะ
แม่  : ไม่ได้จ่ะ เพราะเงินเรา เค้าจะหมุนเวียนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่เค้าจะเอาเงินที่มีอยู่มาให้เราเวลาที่เราไปถอนเงินออกมา

ตั้งแต่วันนั้นก็เลยไม่เอาแบงค์ใหม่ไปฝากธนาคารเลย เอาแต่เหรียญไปฝาก แบบว่ายกกระปุกออมสินลูกหมูไปนับฝากที่ธนาคารเลย



เวลาล่วงเลยไปกว่า 6 ปี ที่เรียนชั้นประถม เราก็มานั่งนับเงิน อู๊ฮู้ว!!! เงินเยอะจัง มีตั้งหลายพันแหนะ นึกถึงแบงค์20ใหม่ๆที่เรียงกันเป็นบึกๆ เห็นแล้วมันชื่นใจจริงๆ เงินตั้งหลายพันเนี้ย ไม่ได้มาจากเงินที่คุณแม่ให้ไปโรงเรียนอย่างเดียวนะคะ เวลาไปเที่ยวคุณแม่ก็จะให้เงินติดตัวไว้เท่ากันกับพี่สาว ใครใช้หมดก็จะไม่ให้เพิ่ม ใครใช้เหลือก็ไม่เอาคืน สรุปว่าถ้าเหลือก็เก็บค่ะ ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาแห่งการเก็บเงิน อยากได้อะไรก็จะอดไว้ก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อ คิดอย่างเดียวคือ เสียดายเงิน!!!  






พอขึ้นชั้นมัธยม เข้าโรงเรียนประจำจังหวัดต้องเดินทางไป-กลับทุกวัน วันละ 40 กิโล และต้องนั่งรถโดยสารไป คุณแม่จึงให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 60 บาท ค่าใช้จ่ายช่วงมัธยมจะเยอะกว่าประถมมาก ไหนจะค่าเดินทาง ค่าอาหารที่แพงขึ้น(และกินเยอะขึ้น)  ค่าทำรายงาน  ค่าจัดบอร์ด ค่าฉลองวันเกิดเพื่อน+ของขวัญ และอื่นๆอีกมากมาย



จำได้ว่า ม.1 ค่ารถโดยสาร (ธรรมดา) 5 บาท , รถแอร์ 10 บาท (ราคานักเรียนนะคะ)และต้องต่อรถเมย์เข้าไปที่โรงเรียนอีก 5 บาท ซึ่งแต่ละวันตอนเช้าเราจะเลือกรถไม่ได้ เพราะมันเป็นทางผ่านของรถสายยาว คันไหนมาเราก็ต้องขึ้นคันนั้นเลย ถ้าหวังจะไปคันต่อไป แล้วรถมาไม่ทันเวลาก็คงต้องเข้าโรงเรียนสายและโดนทำโทษ โดยการวิ่งรอบสนามฟุตบอล 
ค่าอาหารกลางวัน ข้าวจานละ 12-20 บาท น้ำ 3-10 บาท 



พออยู่ ม.6 ค่าน้ำมันปรับขึ้นสูงมาก ทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รถธรรมดา (พัดลม) 10-15 บาท รถแอร์ 15-20 บาท (อันนี้ราคานักเรียน ถ้าใส่ชุดอื่นนอกจากชุดนักเรียนราคาก็จะสูงขึ้นอีก) คุณแม่ก็เลยต้องขึ้นเบี้ยเลี้ยงให้เป็นวันละ 100 บาท



ช่วงมัธยมเงินออมก็จะมาจากเงินเบี้ยเลี้ยงที่คุณแม่ให้ไปโรงเรียนในแต่ละวัน แต่ตอนนี้เริ่มไม่ได้แบงค์ใหม่แล้วนะคะ เริ่มจะสนใจการฝากเงินในธนาคาร เพราะได้ดอกเบี้ย (ถึงแม้มันจะน้อยนิดก็ตาม) เริ่มชื่นชมกับจำนวนเงินที่มากขึ้นๆๆทุกวัน จะเน้นการฝากกับธนาคารโรงเรียน พอเห็นจำนวนเงินแบบมีเศษ เช่น 1,291 บาท เราก็อดไม่ได้ที่จะเอาเงินไปฝากให้มันไม่มีเศษ ก็ต้องไปฝากอีก 9 บาท เป็น 1,300 บาท รู้สึกดีตั้งแต่เลขหลักร้อยเริ่มเพิ่มขึ้น และจะขยันไปฝากมากขึ้น เมื่อตัวเลขหลักพันจะเพิ่มขึ้น เช่น 1,980 บาท ถึงแม้ทั้งเนื้อทั้งตัว (หักค่ารถกลับบ้านออก) จะเหลือแค่ 20 บาท ก็จะเอาไปฝาก เพื่อให้เป็น 2,000  บาท ตัวเลขก็ขยับขึ้นๆๆ  เรื่อยๆ จบชั้นมัธยม มีเงินออมราวๆ 2-3 หมื่นบาท และมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งคือ การแข่งขัน ประกวดวิชาการต่างๆ เพราะการแข่งขันในระดับมัธยม มักจะมีเกียรติบัตร และเงินรางวัล ดิฉันก็เข้าร่วมทุกครั้งที่มีโอกาส ได้เงินมาไม่ต้องถามค่ะว่าเอาไปไหน  คำตอบเดียวคือ ธนาคารโรงเรียนค่ะ 



ถึงช่วงนี้เงินออมขยับจากหลักสิบ  เป็นหลักร้อย  หลักพัน  จนมาเป็นหลักหมื่นแล้วค่ะ ความคิดตอนนั้นคือ ห๊าาาาา!! ฉันจะเป็นเศรษฐีนีในอนาคต 
(มโนว่ายืนอยู่แล้วโยนเงินให้ลอยขึ้นไปในอากาศ เสมือนในหนังสมัยก่อนที่เศรษฐีเขาทำกัน)

เงินเหรียญดิฉันก็เก็บนะคะ สมัยประถมก็จะเก็บโดยหยอดกระปุก ถ้ากระปุกเริ่มหนักก็แสดงว่าเงินเยอะขึ้น แต่ไม่เห็นว่าเงินในกระปุกมีเยอะแค่ไหน อีกอย่างแกะออกมานับยากมาก ต่อมาเลยเปลี่ยนวิธี โดยการออมใส่คอนโดเหรียญ (ลิ้นชักเล็ก)


แต่ละชั้นก็จะมีเหรียญแตกต่างกันไป
ชั้นแรก เป็นเหรียญสตางค์ ที่เก็บไว้ชั้นบนสุดเพราะเหรียญมีน้ำหนักเบาและมีจำนวนน้อยที่สุด



ชั้นที่ 2   เป็นเหรียญ 2 บาท 



ชั้นที่ 3 เป็นเหรียญ 1 บาท



และชั้นที่ 4 เป็นเหรียญ 5 กับเหรียญ 10 บาท



ส่วนเหรียญพิเศษอื่นๆ ที่มีลวดลายแปลกตา หาได้ยาก ดิฉันก็จะเก็บใส่กล่องแยกเอาไว้ เพราะถ้าเอาไปปนกับเหรียญอื่นๆเผลอหยิบไปใช้เสียดายแย่เลย


สมัยเรียนมหาวิทยาลัย (ดิฉันเรียนที่มหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดังในภาคใต้  ซึ่งไกลจากบ้านด้วยระยะทางประมาณ 1500 กิโลเมตร) เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องไปเผชิญชะตากรรมในต่างถิ่น  ฟังดูเหมือนน่าสงสาร แต่จริงๆแล้วดิฉันเลือกเองค่ะ สละสิทธิ์มหาวิทยาลัยอื่น เพื่อที่จะได้มาอยู่ที่นี่  ไม่ได้อยากหนีอะไรนะคะ  แต่อยากพิสูจน์ให้ทางบ้านเห็นว่า เราโตแล้ว รับผิดชอบตัวเองได้   อยู่ที่นั่นคุณแม่ส่งเงินให้เป็นรายเดือน ให้บริหารจัดการเองเช่นเคย โดยจะคำนวณจากมื้ออาหาร 3 มื้อ มื้อละ 50 บาท ซึ่งเด็กมหา'ลัย อย่างเรากินอิ่มแบบสบายๆ และให้เผื่อใช้จ่ายอย่างอื่นอีกนิดหน่อย โดยค่าเทอมและค่าหอพัก จะจ่ายรวบยอดทั้งเทอม ส่วนนี้ที่บ้านก็รับผิดชอบให้อีกเช่นเคย  (เรานี่ช่างโชคดีอะไรเช่นนี้) 


ช่วงปี 1 เป็นช่วงที่ไม่ค่อยได้ใช้เงิน  เพราะเวลาส่วนใหญ่ก็เรียน และทำกิจกรรม ไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวอะไรมาก อาหารในมหาวิทยาลัยก็มีให้เลือกหลากหลาย  ราคาก็ถู๊ก ถูก  (ข้าวราดแกง 1 อย่าง 12 บาท  2 อย่าง 15 บาท 3 อย่าง 17 บาท, ก๋วยเตี๋ยว 15 บาท ,น้ำหวานแก้วละ 3-7 บาท ) ที่ไปบ่อยๆก็เห็นจะเป็นห้างสรรพสินค้าหน้ามหาวิทยาลัย ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้  ซึ่งแต่ละครั้งที่ไปดิฉันก็จะจดรายการสิ่งของที่ต้องซื้อ เพราะจะได้ไม่ตกหล่น  ไม่ซื้อของเกินความจำเป็น  และที่สำคัญไปเดินตากแอร์ (ก็ขึ้นชื่อว่าภาคใต้ มันก็มีแค่ 2 ฤดู คือร้อน กับร้อนมาก เราก็เลยต้องมีที่คลายร้อนเป็นธรรมดา)  


พอมาปี 1 เทอม 2 ดิฉันย้ายออกไปพักที่หอนอกมหาวิทยาลัย เนื่องจากดิฉันสร้างรกราก และสะสมสิ่งของต่างๆมากมาย จนพื้นที่ในห้องแทบจะไม่มีที่เดิน เมื่อรวมของรูมเมทอีก 2 คน ยิ่งทำให้ห้องแคบไปถนัดตา  ดิฉันได้ย้ายไปพักที่หอพักข้างมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถไป-มาได้อย่างสะดวก (ใช้รถจักรยานยนต์) ช่วงนั้นได้รถมาใหม่ๆ เริ่มมีการออกไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ รู้ที่กิน  ที่เที่ยว  ที่ช็อป  มากมาย ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น แต่คุณแม่ก็ใจดี ให้เบี้ยเลี้ยงเพิ่ม เป็นเดือนละ 9 พัน (ค่าห้อง รวม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต 3500 บาท ค่ากินค่าอยู่ 4500 บาท (เฉลี่ยวันละ 150 บาท) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 1000 บาท ช่วงนี้ดิฉันออมเงินจากการประหยัดค่าอาหาร โดยกินข้าว 2 มื้อ จากมหาวิทยาลัย มื้อเย็นซื้อน้ำเต้าหู้ หรือนม เป็นการลดน้ำหนักไปในตัว  ก็เหลือเก็บวันละหลายสิบบาท  เดือนนึงก็เหลือเก็บประมาณ 1000-2500 บาท

ทั้งรับจ้างพิมพ์งาน  สอนพิเศษ  หรือให้ไปเป็นสตาร์ฟ กิจกรรมต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น รวมไปถึงการที่เอกชนเข้ามาติดต่อ ขอแรงให้นักศึกษาไปช่วยงาน ซึ่งคิดค่าแรงเป็นงานๆไป อย่างรับจ้างพิมพ์งาน ถ้าเป็นการกรอกข้อมูล ก็จะคิดแผ่นละ 2 บาท หรือแล้วแต่ความยากของงาน 

เป็นสตาร์ฟตามซุ้มงาน ไปคุมซุ้มเกมต่างๆ แนะนำวิธีเล่นเกมให้แก่ผู้เข้าชม  ตั้งแต่เวลา บ่าย - เที่ยงคืน  ได้ค่าจ้าง 900 บาท 

รับจ้างสอนพิเศษ ลูกอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้เดือนละ 3000-5000 บาท  

เป็นสตาร์ฟในงานรับปริญญา ช่วยจัดแถวพี่ๆบัณฑิต ได้วันละ 300 บาท 

ถ้าว่างจากการเรียนดิฉันก็มักจะทำงานเหล่านี้เสมอ  เพราะได้ทั้งเงิน และได้ทั้งเพื่อน ได้รู้จักเพื่อนๆจากคณะอื่นๆ ตอนนั้นเรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็รู้จักเค้าไปหมด เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากๆ หาเงินได้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก 

จำได้ว่าครั้งแรกรับจ้างพิมพ์งาน  เค้าให้ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ดิฉันทำ 2 วันแล้วเอางานไปส่งให้กับอาจารย์  อาจารย์ก็เอ่ยปากชมว่าทำงานเร็ว และพิมพ์ไม่ผิดเลย  ตอนนั้นได้ค่าจ้าง 300 บาท นั่งมองเงินแล้วน้ำตาไหล พูดกับตัวเองว่า เย้ๆๆๆๆๆ เราหาเงินเองได้แล้ว เงินนั้นดิฉันเก็บใส่ซองไว้ไม่ใช้เลยค่ะ  เสมือนว่าเงินก้อนแรกที่หามาเอง มันช่างน่าภูมิใจจนไม่รู้จะบรรยายยังไง

ทุกๆวันดิฉันก็จะเข้าไปเว็บไซต์หางานกับทางมหาวิทยาลัย เมื่อตรงกับช่วงที่ดิฉันว่าง หรือช่วงเสาร์-อาทิตย์ ก็จะลงทำงานนั้นเกือบทุกงาน 
แต่บางทีก็คิดนะคะเพื่อนๆเค้าไปเที่ยว สนุกสนานกัน แต่เรามาทำงาน  ไม่ได้ไปเที่ยว  ก็มีช่วงนึง ที่ไปเที่ยวบ้าง แต่ดิฉันพบว่า การไปเที่ยวนั้น ถ้าไม่รวมว่าได้พักผ่อนหย่อยใจ สังสรรค์กับเพื่อน ก็มีแต่การใช้เงิน แล้วเงินที่เราใช้ก็เป็นเงินที่เราอุตส่าห์ทำงานแลกมา 

หลังจากนั้น ไม่ค่อยออกไปไหนค่ะ ทำงาน และเรียนอย่างเดียว จนมีเงินเก็บครึ่งแสน ตอนนั้นนั่งดูเงินในบัญชี น้ำตาจะไหล  เราเกือบจะทำสำเร็จแล้ว  อีกครึ่งนึงเท่านั้น

บางคนสงสัยว่าเอ๊ะ!!  ดิฉันไม่ซื้อรองเท้า หรือเสื้อผ้า เหมือนๆที่นักศึกษาคนอื่นๆทั่วๆไปเขาทำหรอ ตอบเลยค่ะว่าซื้อ  ซื้อเยอะด้วย จำได้ว่าจบปี 4 มีรองเท้าเกือบๆ 40 คู่ เสื้อผ้าขนกลับบ้านสัก 2 กระสอบใหญ่ แต่เงินที่จะซื้อของพวกนี้ได้ ไม่ใช่เงินเก็บธรรมดาๆนะคะ  จะต้องมีกฏเกณฑ์  ดิฉันบอกกับตัวเองว่า ถ้าเก็บเงินได้ครบทุกๆ  5000 บาท จะซื้อของขวัญให้กำลังใจตัวเอง ซึ่งดิฉันชอบใส่ส้นสูง ชอบแต่งตัว ก็เลยมีรองเท้าและเสื้อผ้าเยอะเลย 


(นี่เป็นส่วนหนึ่งของรองเท้าสมัยเรียนค่ะ)

ช่วงปี 4 เป็นช่วงที่ต้องทำวิจัยและออกฝึกงานต่างจังหวัด ดิฉันจึงไม่ได้ทำงานเสริม  แต่ช่วงที่ฝึกงาน เราทำงานสายสุขภาพ เวลาเราไปดูเคส 
แวะไปพูดคุย ดูแล  รักษาเค้า เค้าก็จะให้สินน้ำใจเล็กๆน้อยๆ เป็นของขวัญบ้าง เงินเล็กๆน้อยๆบ้าง   ด้วยความที่เราคุยเก่ง คนไข้ก็จะชอบและมีกำลังใจทุกครั้งที่ได้คุยกัน พอถึงวันที่เค้าจะได้กลับบ้าน ก็จะบอกให้ลูกๆหลานๆเอาของมาฝากเต็มไปหมด  บางคนเอาเงินใส่ซองมีตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน  เราบอกไม่เป็นไรค่ะ ทำด้วยความเต็มใจ แค่หายดี กลับบ้านได้ หนูก็ดีใจแล้ว  เค้าก็บอกว่าไม่ได้ ไม่งั้นเค้าจะถือว่ารังเกียจเค้า
เราก็ต้องรับไว้  แต่ของขวัญและสินน้ำใจต่างๆ ดิฉันไม่เอาไปใช้แม้แต่บาทเดียว เก็บไว้มายังไงก็อยู่อย่างงั้น เอาไว้เป็นกำลังใจให้ตัวเอง ว่านี่แหละ คือผลตอบแทนของการทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด  




จนกระทั่ง การเรียนระดับมหาวิทยาลัยจบลง วันนั้นดิฉันมานั่งดูเงินในบัญชี  โอ้!!! พระเจ้า ฉันเก็บเงินได้เป็นแสนจริงๆด้วย 
ดีใจ กระโดดโลดเต้นอยู่คนเดียว  น้ำตาไหล เป็นความดีใจที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งเรียนจบได้ใบปริญญามาฝากคุณพ่อคุณแม่ ทำตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้  


ตอนแรกกะว่าจะเอาเงินไปดาวน์รถ แต่ไปๆมาๆ ไม่เอาดีกว่า เสียดาย อุตส่าห์เก็บมาตั้งนาน แค่รถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ก็พาเราไปไหนมาไหนได้ตั้งเยอะ ที่บ้านก็มีรถยนต์อยู่แล้ว มี2คัน แต่คุณพ่อขับเป็นแค่คนเดียว เดี๋ยวเราเอาคันเก่ามาขับก็ได้ ถ้าไปต่างจังหวัดก็นั่งรถโดยสารไป ก็ถึงเหมือนกัน แล้วเดี๋ยวนี้การคมนาคมขนส่งก็มีให้เลือกตั้งเยอะแยะ ปัจจุบันก็เลยล้มเลิกการซื้อรถไป

ทำงานเดือนแรก

พอจบมาดิฉันก็ทำงานที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในภาคอิสาน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง เงินเดือนรวมๆแล้วประมาณ 1x,xxx บาท  ที่โรงพยาบาลมีบ้านพักให้ (ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลย) งานที่นั่นค่อยข้างหนัก เพราะจำนวนประชากรในอำเภอค่อยข้างเยอะ ประมาณ 9 หมื่นกว่าคน เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเป็น 2 เท่าเลยค่ะ เพราะบุคลากรก็ไม่เพียงพอ แต่คนไข้น่ารักมากค่ะ พอมีผลไม้อะไรออกก็จะหิ้วมาฝากเสมอ ซื้อขนม ทำกับข้าวมาให้บ่อยมาก ยิ่งรู้ว่าเราเป็นคนต่างพื้นที่ ยิ่งเอาใจเราใหญ่เลย อยากให้เราอยู่ที่นี่นานๆ  

บางคนคิดว่าเราท้อง บอกว่าท้องอ่อนๆต้องบำรุงเยอะๆ หาข้าวหาน้ำมาขุนกันใหญ่  (คืออยากจะบอกว่าที่บ้านไม่ได้เรียกว่าท้องค่ะ ที่มีอยู่เค้าเรียกว่า "พุง") แทนที่จะดีใจที่เค้าเอามาฝาก บอกได้คำเดียวว่า โกรธค่ะ (แต่ไม่แสดงออก) แหมแฟนก็ยังไม่มี มาหาว่าเราท้องซะงั้น นอกจากจะไม่ช่วยหาแล้ว ยังมาสะกัดดาวรุ่งอีก 


ค่าใช้จ่ายแทบจะไม่มีเลยค่ะ มีแค่ค่าอาหารบางมื้อเท่านั้น  ห้างสรรพสินค้าไม่ต้องพูดถึงค่ะ มีเซเว่นก็หรูแล้ว 2 ทุ่มปิดไฟนอน ออกไปข้างนอกก็เหมือนเข้าป่าค่ะ มืดมากๆ  วงจรชีวิตก็ตื่น -ไปทำงาน -กลับห้อง-  นอน  เป็นแบบนี้ทุกวัน 

เมื่อเงินเดือนเดือนแรกออก เราตัดสินใจ เอาเงินทั้งหมดแบ่งให้พ่อกับแม่คนละครึ่ง แล้วเราก็ใช้เงินออมที่เก็บมาเอา  เพราะเชื่อว่าเงินเดือน เดือนแรก ถ้าให้พ่อกับแม่เราจะมีความเจริญรุ่งเรือง  (เราอยากรุ่งเรืองมาก ก็เลยให้หมดเลยค่ะ) 
พ่อกับแม่ก็ปลื้มใจเป็นอย่างมาก พอผ่านไปได้ 3 วัน แม่บอกว่า แม่เก็บไว้แล้ว 3 วัน แม่ให้ลูกคืน เอาไว้ใช้ แต่พ่อเงียบไปเลยค่ะ ประมาณว่าไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น  

เนื่องจากที่ทำงานห่างจากบ้านประมาณ  300 กิโลเมตร ถ้าจะกลับบ้านก็ต้องให้พ่อมารับ พ่อให้โควต้าเดือนละครั้ง เราก็กลับเกือบทุกเดือนเลยค่ะ แต่หลังๆมาสงสารพ่อ เพราะต้องไป-กลับ 600 กิโลเมตร หลังจากทำงานเหนื่อยๆก็ต้องขับรถมารับเรากลับบ้านอีก  ก็เลยหาทางกลับบ้านเอง โดยนั่งรถโดยสาร 3 ต่อ เคยบอกคุณพ่อว่า เดือนนี้ไม่ต้องมารับนะคะ เดี๋ยวจะกลับเอง ปรากฏว่า ออกจากที่ทำงาน 7 โมงเช้า ถึงบ้าน เกือบๆ 6 โมงเย็น คือว่ารถจอดบ่อยมากค่ะ ซื้อพวงมาลัย  ซื้อขนมครก จอดเข้าห้องน้ำ เติมน้ำมัน  หลังจากนั้นมาคุณพ่อกับคุณแม่ก็ไม่ให้กลับบ้านเองอีกเลย คุณพ่อมารับค่าน้ำมันก็ไม่ต้องจ่ายเอง (ดีจัง)  หลังจากเดือนแรกมาไม่ได้ให้เป็นเงินแล้วค่ะ เพราะท่านมีรายได้ประจำอยู่แล้ว   ก็กลับไปเลี้ยงข้าวซื้อข้าวของเครื่องใช้เข้าบ้านให้แทน

ทำงานที่โรงพยาบาลได้เกือบๆ ปี เราก็เปลี่ยนงานค่ะ มาทำเอกชนแทน 
ลักษณะงานก็เปลี่ยนไป ต้องปรับตัวนิดหน่อย  ค่าตอบแทนสูงกว่ารัฐ ประมาณ 3 เท่า งานไม่ค่อยหนักเท่าไหร่ แต่เน้นการบริการมากกว่า  การแบ่งหน้าที่ การจัดการดีกว่าที่เดิมค่ะ 

ช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนงาน เราต้องวางแผนการจัดงานเงินใหม่ เพราะรายได้เพิ่มขึ้น เราก็ต้องเก็บมากขึ้น ตอนที่ทำงานอยู่โรงพยาบาล เก็บเดือนละ 5000-7000 บาท (จากรายได้ หมื่นกว่าบาท) ตอนนี้รายรับประมาณ 4x,xxx บาท  เราเก็บโหดมากค่ะ หักไว้ 3หมื่นบาท/เดือน ไว้เป็นเงินเก็บ ที่เหลือก็ใช้จ่าย เป็นค่าอาหาร ค่าห้องพัก ค่าน้ำมัน รวมๆแล้วก็ใช้ประมาณ หมื่นกว่าบาท

ตอนนี้เข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ (ในภาคอิสาน) สิ่งยั่วยุ มันก็เยอะ ออกจากห้องเป็นต้องเสียเงิน 
เราก็เลยจัดการการใช้เงินโดยถอนแค่เดือนละ 1 ครั้ง (เท่าที่จะใช้) 


ต้องบอกก่อนว่าเราทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้รู้ว่าเราใช้อะไรไปบ้าง เกินความจำเปนรึเปล่า  แต่ตอนนี้มันอยู่ตัวแล้ว เราไม่ได้ทำบัญชีแล้วค่ะ เพราะคุมเงินอยู่แล้ว

เงินที่ถอนมาเราเน้นแบงค์ 100 กับ แบงค์ 20 ค่ะ


เนื่องจากเราต้องใช้เงินที่มีอยู่ในจำนวนที่จำกัด จึงต้องคุมเข้มหน่อย อยากสบายในอนาคตก็ต้องอดทน 



นี่คือปฏิทินเงิน ค่ะ วิธีใช้ง่ายมากค่ะ  ถ้าวันนี้วันที่ 1 ก็หยิบซองเลข 1 ไปใช้ ใช้ตามวันเลยค่ะ
วันละ 120 บาทที่คำนวณไว้ ใช้กินได้อิ่มหนำสำราญค่ะ ข้าวพิเศษ 3 มื้อยังได้เลย วันนึงก็ใช้ประมาณ 120 บาท  แต่เรา ซื้อข้าวถุงละ 8 บาท กับข้าว 25 บาท (ได้เยอะมาก) เราก็แบ่งทาน 2 มื้อ ประมาณ 10โมงเช้า กับ บ่าย 3 มื้อเย็นกินนมบ้าง ไม่กินบ้าง  ลดหุ่นไปในตัว  เราจะได้สวยและรวยมาก  พอกลับห้องก็เอาเงินที่เหลือเก็บแยกไว้ 


นี่คือกล่องเก็บแบงค์ 20 


และนี่กล่องเก็บแบงค์ 100 ค่ะ 

เหรียญก็ใส่คอนโดเหรียญอีกเช่นเคย 


ไม่น่าเชื่อว่าเราเหลือเงินกลับห้องทุกวันค่ะ บางวันใช้แค่ 30 บาทเองนะ

บางคนก็คงคิดว่า เอาออกไปแค่วันละ 120 บาท ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน รถยางแตก หรือมีคนมาขายบ้านหลังละร้อย จะทำไงไม่เสียดายแย่หรอ  ดิฉันพกกระเป๋าสตางค์กับบัตรATM ไว้ตลอดค่ะ เพียงแต่มันเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้เท่านั้นเอง ถ้าไม่มีเหตุจำเป็น ก็ลืมไปซะว่ามีอยู่บนโลกนี้ ฮ่าๆๆๆ



เงินติดกระเป๋าเล็กๆน้อยๆ ไว้ใช้ยามฉุกเฉินค่ะ 

ประหยัดอย่างเดียวไม่พอนะคะ ต้องรอบคอบด้วย 


ตอนนี้วิถีชีวิตก็เป็นแบบเดิมค่ะ ช่วงนี้กำลังจะหารายได้เสริม 
เราเคยศึกษาการเล่นหุ้น และการลงทุนอื่นๆ มาตั้งแต่สมัยมัธยม ตอนนี้เพิ่งจะเริ่มลงมือ แบบค่อยเป็นค่อยไป ยังไงเดี๋ยวค่อยมาเล่าสู่กันฟังนะคะ  ถ้าใครมีวิธีเด็ดๆ ก็อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ 


แล้วเราจะรวยไปด้วยกัน   เย่ๆๆๆๆ

สมาชิกหมายเลข 1454716



Create Date : 11 มิถุนายน 2557
Last Update : 11 มิถุนายน 2557 23:12:34 น. 0 comments
Counter : 2108 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.