Group Blog
 
All Blogs
 
ช้างทรงของพระราชา กับ ภิกษุในธรรมวินัย



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการเป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างทรง ถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะองค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรูป ๑ อดทนต่อเสียง ๑ อดทนต่อกลิ่น ๑ อดทนต่อรส ๑ อดทนต่อโผฏฐัพพะ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรูปอย่างไร คือช้างของพระราชาเข้าสู่สงครามแล้ว เห็นกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ หรือกองพลเดินเท้า ย่อมไม่หยุดนิ่ง ไม่สะทกสะท้าน สามารถเข้าสนามรบได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรูปอย่างนี้แล ก็ช้างของพระราชา

เป็นสัตว์อดทนต่อเสียงอย่างไร คือ ช้างของพระราชาเข้าสู่สงครามแล้ว ได้ยินเสียงกองพลช้าง เสียงกองพลม้า เสียงกองพลรถ เสียงกองพลเดินเท้า หรือเสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ มโหระทึกที่กระหึ่ม ย่อมไม่หยุดนิ่ง ไม่สะทกสะท้าน สามารถเข้าสนามรบได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาอดทนต่อเสียงอย่างนี้แล

ก็ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาเข้าสงครามแล้ว ได้กลิ่นมูตรและคูถแห่งช้างของพระราชา (ฝ่ายข้าศึก)ที่ใหญ่กว่า ซึ่งเข้าสนามรบทั้งหลาย ย่อมไม่หยุดนิ่ง ไม่สะทกสะท้าน สามารถเข้าสนามรบได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่นอย่างนี้แลก็ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรสอย่างไร คือ ช้างของพระราชาเข้าสู่สงครามแล้ว ไม่ได้กินอาหารแม้เพียงคืนหนึ่ง ๒ คืน ๓ คืน ๔ คืน หรือ ๕ คืนย่อมไม่หยุดนิ่ง ไม่สะทกสะท้าน สามารถเข้าสนามรบได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ช้างของพระราชาอดทนต่อรสอย่างนี้แล

ก็ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะอย่างไร คือ ช้างของพระราชาเข้าสงครามแล้ว ถูกเขายิงด้วยลูกศรครั้งหนึ่ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หรือ ๕ ครั้ง ย่อมไม่หยุดนิ่ง ไม่สะทกสะท้าน สามารถเข้าสนามรบได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างทรง ถึงการนับว่าเป็นพระราชพาหนะ ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อดทนต่อรูป ๑ อดทนต่อเสียง ๑ อดทนต่อกลิ่น ๑ อดทนต่อรส ๑ อดทนต่อโผฏฐัพพะ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูปอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรูปที่ชวนให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูปอย่างนี้แล

ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อเสียงอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในเสียงที่ชวนให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเป็นผู้อดทนต่อเสียงอย่างนี้แล

ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อกลิ่นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในกลิ่นที่ชวนให้กำหนัดสามารถตั้งจิตไว้โดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อกลิ่นอย่างนี้แลภิกษุย่อมเป็นผู้อดทนต่อรสอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้วย่อมไม่กำหนัดในรสที่ชวนให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรสอย่างนี้แล

ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในโผฏฐัพพะที่ชวนให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับควรแก่ของทำบุญ ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ



เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๓๖๘๐ - ๓๗๗๗. หน้าที่ ๑๖๐ - ๑๖๔.
ขอบพระคุณภาพจาก Internet




Create Date : 23 ธันวาคม 2557
Last Update : 23 ธันวาคม 2557 16:47:12 น. 0 comments
Counter : 3640 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.