มกราคม 2551

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์


เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (The most illustrious order of the royel house of chakri) มีอักษรย่อว่า ม.จ.ก. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีซึ่งพระมหากษัตริย์จะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรส นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศด้วย

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงสุด ก่อนที่จะมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ ปัจจุบัน มหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่สอง รองจากราชมิตราภรณ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแด่ประมุขของต่างประเทศเท่านั้น

ประวัติ
เมื่อปี พ.ศ. 2425 ในโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีมาเป็นเวลาครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างเครื่องราชอิสริยยาภรณ์เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระราชทานนามเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ว่า "เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์" หรือเรียกอย่างย่อว่า "ตรามหาจักรีบรมราชวงศ์" สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ตรามหาจักรีบรมราชวงศ์นี้ มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสิ้น 71 สำรับ โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
1. ฝ่ายหน้า ผู้เป็นใหญ่แห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า เรียกว่า มหาสวามิศราธิบดี (พระมหากษัตริย์ หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง) คณะผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า เรียกว่า คณาภยันดร และผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเฉพาะพระองค์ เรียกว่า ภราดร เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า รวมทั้งสิ้น 42 สำรับ
2. ฝ่ายใน ซึ่งผู้เป็นใหญ่แห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เรียกว่า มหาสวามินี (สมเด็จพระบรมราชเทวี) คณะผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เรียกว่า คณาภยันดรี และผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเฉพาะพระองค์ เรียกว่า ภคินี เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน รวมทั้งสิ้น 29 สำรับ

นอกจากนี้ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ยังสามารถพระราชทานแก่พระประมุขของต่างประเทศ เรียกว่า กิตติมศักดิ์คณาภยันดร โดยนับแยกจำนวนจากสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์

หลังจากนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการตราพระราชบัญญัติของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ขึ้นใหม่ โดยลดจำนวนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์เหลือ 25 สำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สมเด็จพระบรมราชินี 1 และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ 23 สำรับ รวมทั้ง ยกเลิกตำแหน่งต่าง ๆ เช่น มหาสวามิศราธิบดี มหาสวามินี ซึ่งพระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พ.ศ. 2484 นี้ เป็นพระราชบัญญัติของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน

องค์ประกอบของ ม.จ.ก.

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีชั้นเดียว แบ่งออกเป็นฝ่ายหน้า (บุรุษ) และ ฝ่ายใน (สตรี) สำหรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีนั้น จะประดับเพชรทั้งหมด ม.จ.ก. 1 สำรับ ประกอบด้วย

ฝ่ายหน้า

1. ตรามหาจักรี ด้านหน้าเป็นรูปจักร 8 กลีบ ลงยาสีขาว มีรูปตรีศูลเงิน ระหว่างกลีบจักรกลางวงจักรเป็นรูปปทุมอุณาโลมประดับเพชร พื้นลงยาสีฟ้า ขอบลงยาสีแดง มีอักษรทองเป็นคาถาภาษิตว่า "ติรตเนสกรัฏ์เฐจ สัมพํเสจมมายนํ สกราโชชุจิต์ตัญ์จ สกรัฏ์ฐภิวัฑํฒนํ" รอบขอบเป็นมาลัยชัยพฤกษ์ ใบลงยาสีเขียว ดอกลงยาสีชมพูใต้พวงมาลัยเป็นแพรแถมลงยาสีชมพู มีอักษรย่อเป็นภาษิตของเครื่องขัตตินราชอิสริยาภรณ์นี้ ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. เบื้องบนมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ป.ร.ร. 4 ไขว้ และมีพระมหามงกุฎทองรัศมีเงิน ด้านหลังเป็นรูปครุฑปราสาท มหามงกุฏ และจุลมงกุฏทำด้วยทอง พื้นลงยาสีเขียว ขอบรอบลงยาสีแดง และมีอักษรทองว่า "ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช 1244" ห้อยกับสายสร้อยเป็นรูปอุณาโลมลงยา กลางอุณาโลมประดับเพชร สลับกันไปกับจักรีแฝดลงยา มีสร้อยทองยึดตลอด ยาว 55 เซนติเมตร ใช้สำหรับสวมคอ
2. ตราจุลจักรี เป็นรูปจักรและตรีศูลขัดกัน เบื้องบนเป็นเครื่องอัษฎางวุธและเครื่องพิชัยสงครามไขว้กัน ทำด้วยทองและมีคาถาภาษิตในวงจักรอย่างเดียวกับตรามหาจักรี ใช้ห้อยกับแพรแถบสีเหลืองกว้าง 10 เซนติเมตร สะพายบ่าซ้าย เฉียงลงทางขวา
3. ดาราจักรี เป็นรูปจักร 10 กลีบ ลงยาสีขาว มีรูปตรีศูลเงินและรัศมีเปลวสีเงินสลับกันไปรอบกลีบจักร กลางดาราเป็นรูปปทุมอุณาโลมประดับเพชรขอบลงยา และมีคาถาภาษิตเช่นเดียวกับตรามหาจักรีเว้นแต่ไม่มีพวงมาลัย ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

ฝ่ายใน

1. ตรามหาจักรี มีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า แต่ขนาดเล็กกว่า ประดับเพชรทั้งดวง ใช้ห้อยสายสร้อยลงยาประดับเพชรสำหรับสวมคอ หรือใช้ห้อยกับแพรแถบสีเหลืองกว้าง 3 เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
2. ตราจุลจักรี มีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า แต่ขนาดเล็กกว่า ใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 7.5 เซนติเมตร สะพายบ่าซ้าย เฉียงลงทางขวา
3. ดาราจักรี มีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า แต่ขนาดเล็กกว่า ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีลักษณะเป็นรูปปทุมอุณาโลมเพชรสร่งเงิน และเครื่องหมายที่ใช้เป็นดุมเสื้อเป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากระเป๋าเสื้อ ส่วนสตรีนั้น มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

ผู้ได้รับพระราชทาน ม.จ.ก.
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะทรงพระราชทานและเรียกคืนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ ปัจจุบัน เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มีจำนวน 25 สำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สำรับ สมเด็จพระบรมราชินี 1 สำรับ และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรสด้วยอีก 23 สำหรับ นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศซึ่งไม่นับรวมใน 25 สำรับอีกด้วย

ผู้ได้รับพระราชทาน ม.จ.ก. จะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับ ม.จ.ก. สิ้นพระชนม์ ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องขัตติยราชอิรสริยาภรณ์คืนภายใน 30 วัน ถ้าส่งคืนไม่ได้กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ หรือในกรณีที่ทรงเรียก ม.จ.ก. คืนจากผู้ได้รับพระราชทานนั้น ถ้าผู้รับพระราชทานไม่สามารถส่งคืนได้ ต้องใช้ราคาเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นั้น



Create Date : 19 มกราคม 2551
Last Update : 19 มกราคม 2551 15:07:42 น.
Counter : 1513 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อยากขอบใจสักครั้งหนึ่ง
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]