It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
16 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
●● อังกฤษอเมริกัน ๒.๐๒๐๑ ●●

ควรเติม for หรือเปล่า **

อีกคำที่ชาวอินเดียมักใช้ผิดเพี้ยนจากภาษาอังกฤษมาตรฐานคือกริยา order ที่แปลว่า สั่ง

Order คล้ายกับ request ที่เราเพิ่งได้ดูไปตรงที่ถ้าใช้เป็นกริยาต้องไม่ตามด้วย for เช่น Let’s order some starters. = เราสั่งอาหารจานเริ่มแรกกันเถอะ (starter ในที่นี้หมายถึงอาหารซึ่งเสิร์ฟก่อน entre (ออนเทร โดยควบกล้ำเสียง ทร) = จานหลัก)

แต่ถ้าเป็นนามที่มีกรรมรับต้องมี for ตามหลัง เช่น I placed an order for cold antipasto. = ฉันสั่ง antipasto แบบเย็นไป (antipasto (แอนทีพาสโต่ว) มีความหมายเหมือนกับ starter แต่ใช้กับอาหารอิตาเลียนโดยเฉพาะ)

ไหนๆ เราก็คุยกันเรื่องนี้แล้ว ก็แถมอีกนิดนะครับว่าอาหารที่สั่งมาเรียกน้ำย่อยนี้ บางทีเรียกว่า hors d’oeuvre (ซึ่งคนไทยนิยมเรียกว่า ออเดิ๊บ และมีวิธีออกเสียงถูกต้องซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดด้วยอักษรไทยได้) ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสแปลตรงตัวว่า นอกเหนือจากผลงานชิ้นหลัก หรือจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า appetizer (แอ๊พผะถ่ายเส่อร์) ก็ได้

มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านก็คงจะพอมองออกว่าในภาษาอังกฤษมีหลายคำที่พอเติมบุพบทเข้าไปตรงท้ายไม่เพียงแต่บ่งถึงหน้าที่ของคำที่เปลี่ยนไป แต่ทำให้ความหมายของคำนั้นเปลี่ยนไปเลย

เช่น answer (แอ๊นเส่อร์ หรือ อ๊านเส่อร์ แล้วแต่คุณจะเอาแบบอเมริกันหรืออังกฤษ) คำง่าย ๆ ซึ่งเราท่านรู้จักกันดีในความหมายว่า ตอบ เช่น answer a question = ตอบคำถาม answer the phone = รับโทรศัพท์ answer the door = ไปดูว่ามีใครกดกระดิ่งประตู

เมื่อเติม for เป็น answer for ก็จะกลายเป็นสำนวน มีความหมายว่า ต้องรับผิดชอบ ต้องอธิบายให้ได้ โดยสิ่งที่ต้องรับผิดชอบหรืออธิบายมักจะเป็นสิ่งไม่ดี เช่นความผิดหรือบาป

เช่น The guilty will have to answer for their crimes. = ผู้มีความผิดจะต้องรับผิดชอบสำหรับการก่อกรรมทำเข็ญ (หรือจะแปลว่า ความผิดอันอุกอาจ หรือ อาชญากรรม ก็ได้) ของตน You have a lot to answer for. = คุณมีความผิดมากมายที่จะต้องรับผิดชอบ

แล้วเมื่อเป็น answer to ความหมายก็จะเปลี่ยนไปอีก เป็น รับผิดชอบต่อ เช่น A politician has to answer to the people. = นักการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

หรือจะใช้ to be answerable to ก็ได้ครับ ความหมายเดียวกัน แต่ใช้วิเศษณ์ answerable (แอ๊นสหระบึ่ล) = พึงรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคุณสมบัติโดยตำแหน่งหน้าที่.

***
Account ที่ไม่ใช้บัญชี **

คราวที่แล้วเราดูคำว่า answerable ในความหมาย พึงรับผิดชอบ ก็เลยทำให้ผมนึกถึงอีกคำซึ่งฮิตในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน นั่นคือ accountable (อัคเค้านถะบึ่ล) ซึ่งมักจะแปลกันว่า สามารถตรวจสอบได้

ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงได้แปลอย่างนั้น เพราะจริงๆ แล้ว accountable ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบได้

หรืออาจเป็นเพราะว่า account (อัคเค่านท) = บัญชี จึงทำให้คนไทยนึกถึงการตรวจสอบ พอท้ายคำเป็น –able ก็เลยแปลมันซะเลยว่า ตรวจสอบได้

จริง ๆ แล้ว accountable มีความหมายใกล้เคียงกับ responsible (เหร็สป๊อนสะบึ่ล) = รับผิดชอบ แต่ accountability (ซึ่งเป็นนาม ออกเสียงว่า อัคเคานถะบิ๊ลหละถี่ หรือถ้าแบบอเมริกันก็ อัคเคานาบิ๊ลหละดี่) ไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบธรรมดา แต่เป็นความรับผิดชอบที่สามารถอธิบายให้เป็นที่ยอมรับได้ว่าที่ทำอย่างโน้นอย่างนี้เพราะอะไร และถ้าตัดสินใจผิดพลาดก็ยอมที่จะถูกลงโทษ

ถ้าเราต้องการให้มีใครรับผิดชอบสำหรับอะไรบางอย่าง เราก็อาจใช้สำนวน to hold (someone) accountable หรือถ้าเป็น passive voice ก็ to be held accountable

เช่น No one was ever held accountable for squandering public money on bogus bomb detectors. = ไม่เคยมีใครถูกนำมารับผิดชอบสำหรับการผลาญเงินหลวงซื้อเครื่องตรวจระเบิดเก๊ (bogus ออกเสียงว่า โบ๊กึส แปลว่า เก๊ ครับ)

โปรดสังเกตนะครับว่า account แปลว่า เรื่องเล่า ได้ด้วย เช่น The five witnesses gave different accounts of the accident. = พยานทั้งห้าต่างเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่แตกต่างกัน (คือแต่ละคนมองไม่เหมือนกันว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างไร)

ถ้าเป็นกริยา account for (something) ก็แปลว่า อธิบายเหตุผล (อะไรบางอย่าง) หรือ ยืนยันรับรอง เช่น How do you account for your sudden wealth? = คุณอธิบายความร่ำรวยอย่างกะทันหันของคุณว่าอย่างไร Can you account for your whereabouts on the night of the murder? = คุณยืนยันได้ไหมว่าคุณอยู่ที่ไหนในคืนที่เกิดฆาตกรรม.

****

ไม่ต้องรับผิดชอบ ***

ความแตกต่างระหว่าง accountable กับ responsible จะเห็นชัดที่สุดก็ในรูปปฏิเสธของทั้งสองคำ นั่นคือ unaccountable (อันหนัคเค้านถะบึ่ล หรือถ้าเป็นแบบอเมริกันก็ อันหนัคเค้าหนะบึ่ล) และ irresponsible (เอียหริสป๊อนสะบึ่ล) ตามลำดับ

ทั้งสองคำหลังแปลว่า ไม่รับผิดชอบ เหมือนกันครับ แต่มีนัยต่างกัน ตรงที่ unaccountable หมายถึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร จะทำผิดอย่างไรก็ไม่มีใครทำอะไรได้ ในขณะที่ irresponsible หมายถึงไม่รับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือสิ่งที่ควรทำ

เช่น It was irresponsible of you to knock her up and abandon her like that. = คุณช่างไม่รับผิดชอบเลยที่ทำให้เธอท้องแล้วทิ้งเธออย่างนั้น ในกรณีอย่างนี้ ความไม่รับผิดชอบทำให้เกิดความเสียหายซึ่งไม่มีใครแก้ไข แต่ไม่ถือว่าเป็น unaccountable เพราะสังคมยังประณามได้อยู่ว่าไม่ทำในสิ่งที่ควรทำและอาจจะลงโทษทางสังคมได้

ถ้าเป็น unaccountable หมายความว่าผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง สังคมอาจจะรู้ว่าใครเป็นคนทำ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีกลไกอะไรที่จะบังคับให้เขาต้องรับผิดชอบ

ดังนั้นคำที่มักจะควบคู่หรือแอบแฝงไปกับ unaccountability (อันหนะเคานถะบิ้ลหละถี่ หรือถ้าเป็นแบบอเมริกันก็ อันหนะเคานาบิ๊ลหละดี่) คือ impunity

ถ้าดูดี ๆ ก็จะเห็นว่า impunity มีพยางค์ –pun- คล้ายกับคำว่า punish (พั้นหนิช) = ลงโทษ ดังนั้นสามารถเดาได้ว่าเกี่ยวกับการลงโทษ

และเมื่อสังเกตว่ามี im- เป็นพยางค์แรก ก็อาจเดาต่อได้ว่าเกี่ยวกับการไม่ลงโทษ เพราะ im- มักจะเป็นพยางค์แรกของคำที่แปลว่า ไม่ (อะไรบางอย่าง) เช่น impolite = ไม่สุภาพ impossible = เป็นไปไม่ได้ immature = วุฒิภาวะยังไม่ถึง แต่ impunity ต่างจากคำพวกนี้ตรงที่ภาษาอังกฤษไม่มีคำว่า punity

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจเราควรเปิดดิกดู และถ้าดิกของคุณเชื่อถือได้ ก็จะพบว่า impunity แปลว่า ความสามารถที่จะลอยนวล ความที่ไม่มีใครลงโทษ

เช่น He was so powerful that he could kill anyone with impunity. = เขามีอำนาจมากจนสามารถสังหารใครก็ได้โดยไม่กลัวถูกลงโทษ

ในสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายจะไม่มี impunity เพราะผู้กระทำผิดจะต้องรับผิด แต่ถ้าเป็นสังคมที่ปกครองด้วยอำนาจตามอำเภอใจเราก็จะเห็นทั้ง unaccountability และ impunity ควบคู่กันไปครับ

****

พิการ (1)****

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตัวแทนคนพิการจากทั่วโลกหลายร้อยคนพากันไปรวมตัวที่อาคารสหประชาชาติที่นิวยอร์กเพื่อร่วมการประชุมรัฐภา คีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนที่มีความพิการ

โปรดสังเกตนะครับว่าเขาเรียกว่า persons with disabilities = บุคคลที่มีความพิการ ไม่ใช่ disabled persons = บุคคลพิการ

เพราะ disabled ส่อนัยว่าพิการจนไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่มีความพิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะพิการทางแขนขา ประสาทต่างๆ หรือแม้แต่สมอง ก็ยังสามารถทำอะไรได้มากมาย ถ้าสังคมให้สิทธิและโอกาสเขา

ในภาษาอังกฤษมีหลายคำที่ใช้เรียกความพิการและคนที่มีความพิการ ในอดีตคำที่ใช้มักจะกลายเป็นคำดูถูก เช่น dumb (ดัม) = เป็นใบ้ กลายเป็นคำที่มีอีกความหมายหนึ่งว่า โง่ เช่นในหนัง Dumb and Dumber = โง่และโง่กว่า

แล้วก็ยังมีคำที่มีรากเดียวกันอย่าง dummy = ไอ้โง่ หรือ หุ่นที่เป็นรูปร่างคน (เช่น crash test dummy = หุ่นที่ใช้ในการทดลองรถชน ventriloquist’s dummy = หุ่นกระบอกที่ใช้ในการแสดงการ “โยนเสียง” เช่นของ Terry Fator ซึ่งหาดูใน You Tube ได้) หรือ สิ่งที่ไม่ใช่ของจริงแต่ใช้แก้ขัดไปก่อน (เช่น dummy lyrics = เนื้อเพลงที่ใส่ลงไปก่อนระหว่างที่ยังไม่ได้เนื้อเพลงของจริง อย่าง The Beatles ใช้ dummy lyrics ว่า Scrambled Eggs ก่อนที่จะเจอเนื้อเพลงจริงที่ “ใช่” นั่นคือ Yesterday)

คำว่า dumb จึงเป็นอันว่าเลิกใช้กันในความหมาย “ใบ้” มีการหาคำอื่นมาใช้แทน นั่นคือคำว่า mute (มียูท ออกเสียงเร็วตามปกติก็จะฟังเป็น มิ่วท) ซึ่งเป็นได้ทั้งวิเศษณ์และนามใช้เรียกคนใบ้

คนใบ้ที่มีความหูหนวกควบคู่ไปด้วยก็เรียกว่า deaf-mute (เด็ฟ มิ่วท) แต่โปรดสังเกตนะครับว่า deaf ใช้เป็นนามเรียกคนหูหนวกไม่ได้

เปล่าครับ ไม่ได้เป็นเพราะว่าเรียกไปเขาก็ไม่ได้ยิน แต่เป็นเพราะ deaf ทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์ได้อย่างเดียว ถ้าจะเรียกคนหูหนวกก็ต้องเรียกเขาว่าเป็น deaf person

ถ้าคุณเป็นคนที่มีโสตประสาทปกติ แต่ชอบฟังดนตรีร็อกเสียงดัง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ชอบเร่งความดังของ iPod ให้ดังเข้าไว้ พออายุมากขึ้นหน่อยหูก็จะหนวกขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนั้นเรียกว่า to go deaf = กลายเป็นคนหูหนวก

แต่ถ้าคุณแค่หูตึงก็เรียกว่าคุณเข้าข่าย hard of hearing (ฮาร์ดัฟเฮี้ยหริ่ง) ครับ.

****

พิการ (2)

ความพิการทางประสาทต่าง ๆ ไม่ว่าจะ blindness (บล๊ายนหนึส) = ความตาบอด deafness (เด๊ฟหนึส) = ความหูหนวก หรือ muteness (มิ้วทหนึส) = ความใบ้ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับสังคมทั่วไป แต่ไม่ได้ลดความสามารถของคนที่มีความพิการเหล่านี้ที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม

คนตาบอดก็มีอักษร Braille (เบรล) ซึ่งเป็นจุดนูน ๆ อ่านโดยใช้ปลายนิ้วมือสัมผัส (แต่ถ้าคุณทั้งตาบอดและนิ้วด้วนด้วยก็อาจต้องหาวิธีอื่นนะครับ) และ audio books (อ๊อดิโหย่ บุคส) = หนังสือที่อัดเสียงคนอ่าน

นอกจากนั้น เวลาเดินไปไหนก็มี white cane (ไวท เค่น) = ไม้เท้าสีขาว หรือ guide dog (ก๊ายด ดอก) = สุนัขนำทาง หรือที่มักจะเรียกว่า Seeing Eye dog (ซี้ยิงหง่ายดอก) = สุนัขที่ทำหน้าที่เป็นตาให้ (เรียกตาม The Seeing Eye โรงเรียนฝึกสุนัขที่เก่าแก่ที่สุดสำหรับช่วยคนตาบอด)

คนหูหนวกและ/หรือใบ้ก็มี sign language (ซ้ายน แหล่งเกว็จ) = ภาษาใบ้ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์แล้วยังช่วยให้มนุษย์สามารถสื่อสารกับวานรเช่นกอริลล่าได้ด้วย

แล้วถ้าคุณมีความพิการทางประสาทครบถ้วน ทั้งหูหนวก เป็นใบ้ และตาบอด จะทำอย่างไร

ถ้าเป็นในละครเพลง (ซึ่งสร้างเป็นหนังภายหลัง) เรื่อง Tommy คุณก็อาจเป็น that deaf, dumb and blind kid = ไอ้เด็กหูหนวก เป็นใบ้ และตาบอด ที่ Elton John ร้องถึงในเพลง Pinball Wizard = พ่อมดเกมพินบอล (เพลงนี้มาจากสมัยที่คำว่า dumb ยังสามารถใช้ในความหมาย “ใบ้” ได้อยู่โดยไม่มีใครว่าอะไร)

แต่ในชีวิตจริงก็มีคนที่พิการทั้งสามอย่างกลายจากเด็กหูหนวกตาบอดเป็นใบ้ที่อารมณ์ร้ายมาเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ได้ นั่นคือ Helen Keller เธอเขียนหนังสือ เป็นนักบรรยาย และรณรงค์เรียกร้องสิทธิสตรีและผู้ใช้แรงงาน จนได้รับรางวัล Presidential Medal of Freedom อันเป็นรางวัลสูงสุดที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะพึงมอบให้กับพลเรือน เรื่องราวชีวิตของเธอได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายครั้ง รวมทั้งภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลตุ๊กตาทองเมื่อปี ค.ศ. 1962 เรื่อง The Miracle Worker = ผู้ทำให้เกิดปาฏิหาริย์

ถ้าสนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่ผมเขียนถึงในคอลัมน์ก็ติดตามผมได้ทาง Twitter ที่ @boonhod นะครับ.

*****

พิการ (3 )

นอกจากความพิการที่เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ได้แก่ใบ้ บอด หนวก ก็ยังมีความพิการอื่น ๆ ที่จำกัดความสามารถในการใช้ชีวิตปกติเช่นคนทั่วไป เช่นความทุพพลภาพ

สมัยโบราณภาษาอังกฤษเรียกคนทุพพลภาพว่า cripple (คริพผึ่ล) แต่ปัจจุบันคำนี้ถือว่าไม่สุภาพ ไม่ให้เกียรติคนทุพพลภาพ

คำอื่น ๆ ที่ถือว่าไม่สุภาพและห้ามใช้เรียกคนทุพพลภาพก็มีเช่น crip (ย่อจาก cripple) หรือ gimp (กิ้มพ)

ถ้าคุณต้องการจะพูดถึงคนที่เดินกะเผลก ก็อาจใช้คำว่า limp (ลิ่มพ) แทน เช่น He walks with a limp. = เขาเดินด้วยอาการกะเผลก หรือจะสั้นๆ เป็น He limps. ก็ได้ สามารถใช้กับอาการกะเผลกชั่วคราวก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะที่เกิดจากการทุพพลภาพ

ทีนี้ถ้าคุณเจอประโยคว่า He’s dragging his feet. ล่ะ จะสันนิษฐานได้ไหมว่าเขาเดินกะเผลกถึงต้องเดินลากเท้า

ไม่ได้ครับ เพราะสำนวนนี้ใช้ว่า to drag (one’s) feet คือลากเท้าทั้งสองข้าง ไม่ใช่ to drag (one’s) foot ซึ่งลากข้างเดียวโดยอีกข้างยังใช้ได้ตามปกติ

การลากเท้าทั้งสองข้างก็หมายความว่า เตะถ่วง คือ ทำอะไรช้า ๆ โดยจงใจ เช่นสมมุติว่าคุณเป็นผู้เสียหายในคดีซึ่งไม่ไปไหนสักที คุณก็อาจกล่าวว่า The investigators are dragging their feet on the case because the truth would implicate some powerful people. = พนักงานสอบสวนกำลังเตะถ่วงในคดีเพราะว่าความจริงย่อมจะโยงใยถึงผู้มีอิทธิพลบางคน (โปรดสังเกตนะครับว่า would เป็น conditional โดยมี condition = เงื่อนไข ซึ่งไม่ระบุชัดแจ้งว่าหากความจริงถูกเปิดเผยก็ย่อมจะโยงใย ฯลฯ)

และถ้าคุณเจอประโยคว่า He doesn’t have a foot to stand on. ก็อย่าเพิ่งสันนิษฐานว่าผู้ที่ถูกกล่าวถึงนั้นขาหรือเท้าด้วนไป
ข้างหนึ่งนะครับ

เพราะการไม่มี a foot หรือ a leg to stand on เป็นสำนวน หมายความว่า ไม่มีเหตุผลดีที่จะอ้างได้ในการโต้เถียง.

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ. สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com


credit  : //www.dailynews.co.th/
● อังกฤษอินเดีย (1 - 2 )


credit : //www.dailynews.co.th/

Background :
ยายกุ๊กไ่ก่00


Create Date : 16 กันยายน 2554
Last Update : 6 ตุลาคม 2554 1:41:08 น. 2 comments
Counter : 5945 Pageviews.

 
โรคไม่ติดต่อ (1) ***

สมัยก่อนเวลาเรานึกถึงโรคภัยไข้เจ็บที่สามารถคร่าชีวิตมนุษย์ได้ทีละเป็นหมื่นเป็นแสนล้วนเป็นโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้หวัดนก

แต่ปัจจุบันโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมากที่สุดคือโรคประเภทที่เรียกว่า non-communicable disease (นอน คัมมยู้วหนิขะบึ่ล ดิซีส) = โรคที่ติดต่อกันไม่ได้ หรือพูดง่าย ๆ คือโรคอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เรียกย่อเพื่อความสะดวกได้ว่า NCDs

ตัวอย่างก็เช่นโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน เส้นเลือดในสมองแตก โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งถ้าเราพิจารณาก็จะเห็นว่าเป็นโรคที่ป้องกันได้ เพราะมีที่มาจากสิ่งแวดล้อมและวิธีการดำรงชีวิต

เช่นถ้าคุณเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ต้องสูดอากาศธรรมชาติของกรุงอันอุดมไปด้วยกำมะถัน คาร์บอน และโลหะหนักต่าง ๆ คุณก็มีสิทธิที่จะเป็นโรคปอดมากกว่าคนที่อยู่บ้านนอกท่ามกลางทุ่งนาป่าเขา เว้นแต่ว่าคนที่อยู่ท่ามกลางทุ่งนาป่าเขาดันสูบบุหรี่จัด

วิธีง่าย ๆ ที่จะป้องกันโรคปอดก็คือเอาตัวเองออกมาจากสภาพอากาศที่เป็นพิษ เช่นย้ายออกจากเมืองใหญ่ ใส่หน้ากากกรองมลพิษ หรือรณรงค์ให้มีการออกและบังคับกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศที่เข้มงวดแบบที่ประเทศเจริญแล้วทำกัน

ในภาษาอังกฤษมีสำนวนอุปมาอุปมัยว่า like a breath of fresh air (ไลขะ เบร็ธ อัฟ เฟรชแชร์) แปลตรงตัวว่า เหมือนการสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดหนึ่งเฮือก

สำนวนนี้ใช้ได้ในโอกาสที่เราได้เจออะไรบางอย่างที่โดดเด่นออกมา ท่ามกลางความซ้ำซากจำเจ

เช่นสมมุติว่าคุณอยู่ในสังคมที่บังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด ถ้าคุณไปเจอคนที่กล้าคิดต่าง คุณก็อาจกล่าวว่า His willingness to speak frankly on the record about sensitive issues was like a breath of fresh air. = การที่เขาพร้อมที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเป็นทางการเหมือนกับเป็นอากาศบริสุทธิ์หนึ่งลมหายใจ

โปรดสังเกตนะครับว่า breath = ลมหายใจ ออกเสียงว่า เบร็ธ (เสียง th แข็ง) แต่ breathe = หายใจ อ่านว่า บรี้ธ (เสียง th อ่อน)

On the record (ออน เดอะ เร็คเขิร์ด) เป็นสำนวนนะครับ หมายความว่า อย่างเป็นทางการ คือโดยมีการบันทึกไว้ ถ้า off the record ก็หมายความว่า อย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ หรือถ้ามี เจ้าตัวก็อาจปฏิเสธว่าไม่ได้พูดอย่างนั้น.
===========
โรคไม่ติดต่อ (2) ●●
โรคไม่ติดต่อ (ที่เรียกว่า non-communicable diseases หรือ NCDs) ที่สหประชาชาติกำลังเป็นห่วงเป็นใยในขณะนี้ เจาะจงเฉพาะโรคที่นำไปสู่ความตายได้ เพราะมีสถิติว่าโรคประเภทนี้เป็น “ตัวฆ่า” ประชากรมากมายในแต่ละปี

ไม่รวมถึงโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ดังนั้นถ้าคุณเป็นโรคที่ไม่ถึงตาย อย่าง halitosis (แฮลลีโท้สิส) หรือที่เรียกทั่วไปว่า bad breath (แบด เบร็ธ) = โรคปากเหม็น ก็ไม่ต้องไปหวังนะครับว่าสหประชาชาติจะให้ความเห็นใจ ดีไม่ดีอาจจะเห็นใจคนที่อยู่ในรัศมีของปากคุณมากกว่า

โดยที่ NCDs จำนวนมากเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรืออุปนิสัยของคนไข้เอง การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นิสัยอะไรที่นำไปสู่โรคนั้นก็ให้เลิกเสีย

แต่นั่นเป็นเรื่องที่ easier said than done (อีซีเยอร์ เซ็ด แธน ดัน โดย ธ.ธง ในที่นี้ใช้แทนเสียง th อ่อน) = พูดได้ง่ายกว่าทำ เพราะ NCDs หลายอย่างเกิดจาก addiction (อัดดิ๊คฉึ่น) = การเสพติด

เวลาเราพูดถึงเรื่องเสพติดเรามักจะนึกถึงยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในกรณีของ NCDs สารเสพติดไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะยาเสพติดร้ายแรง แต่รวมถึงสารที่ถูกกฎหมาย และคนจำนวนมากไม่คิดว่าเป็นสารเสพติด เช่นบุหรี่ เหล้า และแม้แต่น้ำตาล

เราคุ้นกับการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่อยู่แล้ว เพราะบนซองบุหรี่มีภาพสยอง เช่นเหงือกที่ฟันหลุดเนื่องจาก tar = ยางในยาสูบ หรือรูที่เจาะตรงคอเพื่อช่วยหายใจ แต่ยังดีที่ทางร้านช่วยปิดการรับรู้ของเราโดยใช้กระดาษสีน้ำตาลปิดทับภาพสยองเหล่านั้น ไม่งั้นเราคงอยากจะ quit cold turkey (ควิท โคลด์ เท้อร์ขี่) = เลิกเสพทันทีทันใด ตรงนั้น

ในขณะที่บุหรี่ฆ่าผู้เสพอย่างช้า ๆ เหล้า ซึ่งไม่ถูกสังคมต่อต้านเท่ากับบุหรี่ กลับสามารถทำหน้าที่ลดประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า เพราะคนเมาสามารถฆ่าทั้งตัวเองและผู้คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ได้ถ้าเมาแล้วขับยานพาหนะ

หลายประเทศมีการรณรงค์ต่อต้าน drunk driving = การขับรถขณะเมา และในสหรัฐเคยถึงกับออกกฎหมายทำให้เหล้าผิดกฎหมาย แต่กลับไม่ได้ช่วยให้คนเลิกลดละ

มิหนำซ้ำยังทำให้เหล้าเถื่อนเฟื่องฟูระบาดภายใต้การควบคุมของแก๊งอาชญากรรมที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดอีก.

========
โรคไม่ติดต่อ (3) ※※

นอกจากบุหรี่และเหล้าแล้ว ต้นตอของ NCDs อีกอย่างคืออาหาร

ครับ อาหารที่เรากินเข้าไปนี่แหละมีสิทธิทำให้เราไม่สบายและถึงตายได้

ภาษาอังกฤษมีคำกล่าวว่า You are what you eat. = คุณเป็นสิ่งที่คุณกิน ถ้าคุณกินแต่อาหารดี ๆ คุณก็จะมีสุขภาพดี แต่ถ้าคุณกินอาหารแย่ ๆ สุขภาพคุณก็จะแย่ตามไปด้วย

คำถามคือว่าอะไรเป็นอาหารดี อะไรเป็นอาหารเลว ดูเหมือนเป็นคำถามง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วไม่ง่ายเลย ดังเห็นได้จาก diets (ระบบการกินซึ่งเน้นกินอาหารบางชนิดและหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด) ต่าง ๆ ที่ฝรั่งเห่อกันเป็นพัก ๆ

แต่การแพทย์สมัยใหม่ทำให้เราทราบคร่าว ๆ ว่า “ตัวร้าย” ในอาหารมีอะไรบ้างที่ทำให้คนเป็นโรคเช่น diabetes (ดายหยะบี๊ถิส) = โรคเบาหวาน obesity (โอบี๊สสิถี่) = โรคอ้วน และ heart disease (ฮ้าร์ท ดิสีส) = โรคหัวใจ กันมากขึ้น

ที่อันตรายเป็นพิเศษก็คือไขมัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า trans fat) และน้ำตาล

ปกติไขมัน หรือแม้แต่ cholesterol (คัลเล็สตะหร่อล) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ถึงแม้จะอันตรายบ้างแต่ก็ไม่เป็นไรหากไม่บริโภคเกินประมาณ

แต่ trans fat นี่สิครับ เป็นไขมันที่เลวบริสุทธิ์ ไม่มีคุณงามความดีชดเชยแม้แต่น้อย เพราะทำให้ระดับ HDL ในเลือดลดลง และ LDL เพิ่มขึ้น ทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น (ยังดีที่ไม่มีมือ ไม่งั้นมันคงยื่นขอยืมตังค์คุณอีกต่างหาก) ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง พวกของทอด คุกกี้ และขนมที่ผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรม (ครับ ของอร่อยมักจะไม่ดีต่อสุขภาพ)

แต่ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสำนวนที่ใช้คำว่า fat นะครับ เพราะคุณอาจจะสนุกกับการ chew the fat = คุยฟุ้ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพื่อนฝูง) หรือชอบ live off the fat of the land = ใช้ชีวิตที่มีแต่สิ่งที่ดีที่สุด หรือใช้ชีวิตโดยอาศัยสิ่งดี ๆ จากผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์

อีกอย่างที่ควรหลีกเลี่ยงคือ sugar (ชุกเก่อร) = น้ำตาล ไม่ว่าจะในรูปแบบน้ำตาลหรือแป้ง

แต่ถ้าแฟนของคุณบอกว่า Give me some sugar. ก็ต้องดูว่าเธอ (หรือเขา) ตั้งใจใช้บริบทไหน เพราะถ้าเธอ (หรือเขา) ทำท่าปากยื่น ๆ มาทางคุณก็อาจแปลได้ว่า มามะ มาจุ๊บฉันที (ด้วยสมมุติฐานว่าการจูบเป็นสิ่งที่หวาน).

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ. สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com


c r e d i t ; //www.dailynews.co.th/


โดย: -แม่มดน้อยจอมยุ่งโดเรมี- (เตยจ๋า ) วันที่: 23 กันยายน 2554 เวลา:0:27:33 น.  

 
● พร้อมกิน

“เป็นอย่างไรบ้างเธอ ไปเที่ยวนิวยอร์กมา สนุกไหม”

“โอ๊ย จะบ้าตาย รถติดเป็นบ้าเป็นหลัง ร้อนก็ร้อน แถมยังฝนตกอีก”

“ก็เธอเลือกไปช่วงที่ผู้นำประเทศทั่วโลกพากันยกโขยงไปประชุมที่สหประชาชาตินี่ รถก็ติดสิ”

“อ๋อ มิน่า แต่อย่างน้อยฉันก็ได้คำถามใหม่ ๆ เรื่องภาษามาถามเธอ อย่างใกล้ ๆ โรงแรมที่พักฉันเจอร้านแปลกอยู่เจ้านึง ชื่อร้านเปรต เธอรู้จักรึเปล่า”

“ร้านเปรตเหรอ เอ่อ ไม่รู้จักหรอก”

“มีชื่อเต็มว่า เปรต เอ แมงเก้อร์ สงสัยเป็นชื่อเจ้าของร้าน แต่ทำไมชื่อแปลกยังงั้นก็ไม่รู้ หรือว่าแผลงจากชื่อปีเตอร์”

“ก็เป็นข้อสันนิษฐานที่ฟังมีเหตุผลดี เพราะชื่อ Peter ก็มีชื่อในภาษาอื่น ๆ ที่มีความหมายเดียวกัน เช่น Pedro ในภาษาสเปน หรือ Pierre ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแปลว่า หิน แต่ในกรณีของเปรตนี่ฉันนึกไม่ออกจริง ๆ เขาสะกดอย่างไรเธอจำได้ไหม”

“ได้สิ นี่ไง ฉันถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกด้วย กลัวเพื่อนจะไม่เชื่อว่ามีร้านชื่อนี้”

“เหรอ ดูซิ... ปัดโธ่เอ๊ย นั่นมัน Pret A Manger (เปร๊ตาม็องเจ) เป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่เปรตอสุรกายอะไรสักหน่อย ไม่ใช่ชื่อคนด้วย แต่แปลว่า Ready to Eat = พร้อมที่จะกิน ตรงตัวตามนั้นเลย”

“อ้าว แล้วไหงเขาถึงไม่ตั้งชื่อว่า Ready to Eat ให้รู้แล้วรู้รอดสิ้นเรื่องสิ้นราว ทำไมต้องตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสให้ยุ่งยากเปล่า ๆ”

“แหม มันก็ต่างกันนะเธอ มันไม่ใช่แค่เรื่องของภาษา แต่เป็นเรื่องของมโนภาพแตกต่างกันที่เกิดขึ้นเมื่อเราใช้ภาษาต่างกัน ถ้าตั้งชื่อร้านอาหารว่า Ready to Eat คนอเมริกันก็คงจะนึกถึงอาหารกระป๋องหรือถุงที่แจกทหารที่เรียกว่า MRE หรือเรียกเต็มว่า Meals Ready to Eat ซึ่งคงไม่น่าพิศวาสเท่าไหร่สำหรับผู้บริโภคพลเรือน”

“แสดงว่า MRE ไม่อร่อยเหรอ”

“ฉันไม่รู้ แต่ประเด็นของฉันก็คือเมื่อใช้ภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายเดียวกันตั้งเป็นชื่อร้าน คนอเมริกันก็จะนึกภาพถึง croissants (ครัวซอง) หอมกรุ่น pate de foie gras (ปาเต เดอ ฟวา กรา) = ตับห่านบด โดยมีหอเอฟเฟลอยู่เบื้องหลัง เพลง La Vie en Rose ลอยมาจากหีบเพลงที่หัวมุมถนน โรแมนติกกว่ากันเยอะ เธอว่าไหม”.

**

●●งานถนน

“แล้วเจออะไรอีกบ้างที่นิวยอร์ก”

“เจอ street fair สิ มารศรี วันเสาร์อาทิตย์นึกว่าสหประชาชาติจะหยุด กะจะนั่งรถชมเมืองซะหน่อย ที่ไหนได้รถติดแหง็กเหมือนเดิม แต่พบว่าเป็นเพราะมี street fair ปิดถนนช่วงยาวเลย ตอนแรกฉันก็ไม่รู้หรอกนะ นึกว่าหมายถึง ความยุติธรรมข้างถนน เพราะ street แปลว่า ถนน และ fair แปลว่า ยุติธรรม จำได้ว่าเธอเคยบอกว่า street slang หมายถึงสแลงข้างถนน ฉันก็เลยเดาเอา แต่ปรากฏว่าเดาผิด ที่แท้มันก็คืออีงานวัดเราดีๆ นี่เอง ต่างกันตรงที่ไม่มีวัดและสะอาดเรียบร้อยกว่า”

“งานวัดก็คือ temple fair เพราะจัดในวัด ส่วน street fair
(สตรี๊ท แฝ่ร์) เป็นงานที่จัดในถนน มีการออกร้าน มีการแสดง แต่ที่นิวยอร์กเธองานแบบนี้เรียกว่า street fair ก็จริง แต่จัดบน avenue (แอ๊ฟหนิ่ว หรือถ้าอ่านช้า ๆ ก็เป็น แอ๊ฟฝั่นหยู่) ซึ่งเป็นถนนวิ่งตามแนวยาวเกาะแมนแฮตตัน ไม่ได้จัดบน street ที่เป็นถนนวิ่งตามแนวขวางของเกาะ”

“แล้วทำไมถึงเรียกว่า fair ล่ะ มันเกี่ยวกับความยุติธรรมหรือเปล่า เช่นของที่ขายในงานแบบนี้ราคายุติธรรมหรือเปล่า”

“ไม่เกี่ยวอะไรกับความยุติธรรมหรอก แค่เป็นอีกความหมายหนึ่งของคำว่า fair ถ้าเธออยากจะพูดว่าความยุติธรรมข้างถนน ต้องเรียกว่า street justice (สตรี๊ท จัสติส) คือไม่มีการเรียกตำรวจให้จับไปขึ้นโรงขึ้นศาล แต่สำเร็จโทษกันด้วยตัวเองชนิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย ว่าแต่ว่าเธอสังเกตข้อแตกต่างอะไรอีกบ้างหรือเปล่าระหว่างการออกร้านของฝรั่งกับของไทย”

“อืมม์ ความจริงมันก็คล้าย ๆ งานกาชาด แต่ระดับเล็กกว่า ใช่หรือเปล่า”

“ก็โอเค แต่เธอสังเกตหรือเปล่าว่างานออกร้านของฝรั่งจะไม่มีการแข่งความดังกัน ไม่มีใครตะโกนเชียร์แขกผ่านไมโครโฟน ไม่มีใครเล่นดนตรีเสียงดังกระหึ่มเพื่อกลบเสียงร้านข้างเคียงที่เล่นดนตรีเหมือนกัน หรือเวลาเธอไปเดินห้างก็เหมือนกัน ไม่มีใครโฆษณาสินค้าผ่านระบบขยายเสียง”

“เออจริงของเธอ มิน่า ฉันรู้สึกว่ามันขาดอะไรไปสักอย่าง ไม่มีชีวิตชีวาเหมือนที่เมืองไทย”

“ชีวิตชีวาที่มาจากระบบขยายเสียงเปิดแข่งกันฝรั่งเขาถือว่าเป็น noise pollution (น้อยส ผะหลู่ฉึ่น) = มลภาวะทางเสียง จ้ะ ถึงจะไม่ใช่เสียงรถหรือเครื่องจักร แต่เสียงคนพูดหรือดนตรีที่ผ่านลำโพงในที่สาธารณะก็ถือว่าเป็นการทำลายความสงบเหมือนกัน”.

▼▲ เรื่องขี้หมา

“มารศรี”

“จะพูดอะไรก็พูดมาเลย เวลา BB คุยกับฉันก็เหมือนกัน ไม่ต้องเรียกชื่อฉันให้เสียเวลา เพราะถ้า BB ฉันเสียงตื๊ดฉันก็อยากรู้ว่ามีใครเขียนมาว่าอะไร ไม่อยากเห็นใครพิมพ์มาแค่ “มารศรี” แล้วเงียบรอให้ฉันขาน ถ้าอยากให้ฉันขานก็โทรฯมาคุยสิ สิ้นเรื่องสิ้นราว”

“โอเค ๆ ๆ ใจร้อนจริงวุ้ย ฉันแค่อยากบอกว่าหลังจากที่ฉันไปเที่ยวนิวยอร์กมาคราวนี้ฉันคงจะเลิกด่าใครว่าไอ้ชาติหมาแล้วล่ะ”

“นี่มันคอลัมน์ครอบครัวนะเธอ ห้ามใช้คำหยาบ ห้ามผรุสวาท”

ก็ฉันเปล่านี่ ฉันแค่อยากบอกว่าฉันซึ้งแล้วว่าการเกิดเป็นหมาไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดเป็นหมาในนิวยอร์ก”

“ก็จริงของเธอ สำนวน It’s a dog’s life. หมายความว่า เป็นชีวิตที่แสนลำบาก แต่เป็นสำนวนที่ตกค้างมาจากสมัยที่หมาฝรั่งยังไม่สุขสบายเหมือนทุกวันนี้ แต่ฉันคิดว่ายังใช้ได้อยู่ถ้าเราดูสภาพความเป็นอยู่ของหมาในเมืองไทย หรือสำนวน sick as a dog = ป่วยยังกับหมา ก็เหมือนกัน เห็นหมาขี้เรื้อนที่นอนร่อแร่ข้างถนนแล้วก็อดนึกถึงสำนวนนี้ไม่ได้”

“ช่างต่างจากหมานิวยอร์กจริง ๆ ที่ฉันทึ่งที่สุดก็คือต้องมีคนจูงไปเดิน พอมันทำธุระตามถนนหนทางเสร็จ คนจูงก็จะต้องบรรจงหยิบ เอ่อ ขี้หมา มาใส่ถุงพลาสติกเพื่อเอาไปทิ้งถังขยะ”

“ใช่ นั่นเขาเรียกว่า doggie doo (ด๊อกกีดู่) หรือ dog poop (ด๊อกผูพ) เป็นสิ่งที่เจ้าของหมาต้องรับผิดชอบ ถ้าไม่ pick up after your own dog = เก็บของหมาตัวเอง ก็มีสิทธิโดนปรับได้ แต่ถ้าเธอออกเดินตอนเช้าก็จะเห็นร่องรอยของหมาที่เจ้าของพาไปเดินตอนเช้ามืด ก่อนที่จะมีใครตื่นมาเห็น”

“แต่ที่น่าสงสารที่สุดที่ฉันเห็นคือคุณลุงคนนึง บังเอิญว่าหมาแกท้องเสีย จะหยิบก็เละเกินกว่าที่จะหยิบได้ง่าย ๆ จะไม่หยิบก็ไม่ได้ เพราะมีคนเดินผ่านไปผ่านมา เห็นหน้าแกตอนพยายามเก็บ dog poop นั้นแล้วก็สงสารจับใจ”

“ขืนไม่หยิบสิ มีสิทธิโดนฟ้องเทศบาลหรืออย่างน้อยก็โดนสังคมประณาม ก็เป็นวิธีพิสูจน์ความรักแบบหนึ่ง ยังดีนะที่รักแฟนไม่ต้องพิสูจน์กันถึงขนาดนี้”.

▼▲ นาซี (1)

“นี่ มารศรี เธอเห็นข่าวหรือเปล่าว่าโรงเรียนที่ฉันเคยเรียนสมัยเด็ก ๆ ดังไปทั่วโลกแล้ว”

“ดีจัง นักเรียนจากโรงเรียนเธอชนะเหรียญทองโอลิมปิกคณิตศาสตร์หรือ หรือว่าไปแข่ง spelling bee (สเป๊ลลิง บี่) ชนะเด็กอเมริกัน”

“อะไรนะ ผึ้งสะกดเหรอ”

“ไม่ใช่ spelling bee หมายถึงการแข่งขันสะกดศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นกีฬาที่นิยมกันมากในหมู่โรงเรียนอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่ไม่ถนัดด้านกีฬา”

“อ๋อ เปล่าหรอก โรงเรียนฉันไม่ได้ดังแบบนั้นหรอก แต่เป็นข่าวพาดหัวในต่างประเทศเพราะมีรูปเด็กนักเรียนพากันแต่งตัวเป็นนาซีในงานของโรงเรียน”

“อ้าว เธอเป็นศิษย์เก่าที่นั่นหรือ ฉันเห็นแล้ว เด็กบางคนก็แต่งเป็นฮิตเลอร์บ้างแต่งเป็นนายทหาร SS (Schutzstaffel = กองกำลังปกป้องดินแดนในภาษาเยอรมัน) ทำท่าวันทยหัตถ์ด้วยท่าเหยียดแขนตรงคว่ำฝ่ามือแบบนาซี ขืนถ้าจัดแบบนี้ในประเทศตะวันตกมีสิทธิโดนตำรวจจับ หรืออย่างน้อยก็โดนด่า แต่โรงเรียนเธอก็โดนไปแล้วนี่นะ”

“เออ ที่ฉันไม่เข้าใจคือทำไมต้องมาด่าว่ากันด้วย อีแค่เด็กนักเรียนแต่งตัวแฟนซีนิดเดียว”

“เธอคิดว่ามันเป็นการ make a mountain out of a molehill (เมคขะ เม้านทอึ่น เอาดัฟฝะ โม้ลหิ่ล) หรือเป็น tempest in a teacup (เท้มผัสตินหนะที้ขัพ) ใช่ไหมล่ะ อย่างแรกนั่นแปลว่า ทำภูเขาให้เกิดขึ้นจากเนินตัวตุ่น อย่างหลังแปลว่า พายุในถ้วยน้ำชา แต่ทั้งสองสำนวนนี้ก็มีความหมายคล้ายกัน คือ ทำเรื่องไม่เป็นเรื่องให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต”

“ใช่ ฉันไม่เข้าใจ เรื่องแค่นี้ทำยังกะโลกจะแตก”

“เธออาจจะคิดว่า It’s no biggie. (อิทส โน บิ๊กกี่) = มันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่เธอต้องอย่าลืมว่าพวกนาซีก่อกรรมทำเข็ญอะไรไว้บ้างในสงครามโลกครั้งที่สอง มันก็เลยกลายเป็นแผลคาใจโลกตะวันตกมาจนถึงทุกวันนี้”

“มารศรี เธอหวังจะให้ฉันรู้ได้ยังไงว่านาซีก่อกรรมทำเข็ญอะไรไว้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ในเมื่อฉันยังไม่รู้เลยว่าคนไทยด้วยกันก่อกรรมทำเข็ญอะไรบ้างในวันที่ 6 ตุลาเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ก่อนฉันเกิดไม่กี่ปีเอง”

“สรุปว่าเธอไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ว่าของไทยหรือของโลกใช่หรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นฉันจะเล่าให้ฟังว่าทำไมฝรั่งถึงรับไม่ได้ที่นักเรียนเอาชุดนาซีมาแต่ง”.

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ.สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com

▼▲ นาซี (2)

“ความจริงก็มีหลายเหตุผลที่ทำให้ฝรั่งไม่สบายใจที่เห็นเด็กไทยแต่งตัวเป็นนาซี แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือสิ่งที่นาซีทำกับยิวและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่นยิปซี คนพิการ คนที่ชอบเพศเดียวกัน”

“เอ่อ มารศรี ภาษาไทยเขาเรียกว่า คนรักร่วมเพศ นะ ถ้าเธอหมายถึง พวกเกย์หรือเลสเบี้ยน อะไรทำนองนั้น”

“โอเค ก็นั่นแหละ ประเทศเยอรมนีภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์และพรรคนาซีกวาดต้อนรวบรวมชาวยิว ใครก็ตามที่มีเชื้อสายยิวแม้แต่นิด รวมทั้งคนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่เขาถือว่ามีสายเลือดไม่บริสุทธิ์ ไม่ใช่เชื้อชาติอารยัน ไป concentration camps”

“อะไรคือ concentration camps ฉันรู้ว่า concentration แปลว่า เพ่งความคิด หรือว่าหมายถึง ค่ายฝึกสมาธิ”

“concentration (คอนเซ็นเทร้ฉึ่น) ยังแปลว่า การรวบรวมให้หนาแน่นหรือเข้มข้น ก็ได้ ในกรณีนี้ concentration camps หมายถึง ค่ายกักกันคนที่เป็นเชื้อชาติแปลกแยกไปรวบรวมอยู่ในที่เดียวกัน”

“แต่ฉันเคยได้ยินว่าพวกยิวนี่ร้าย ฮิตเลอร์ก็เลยต้องการกวาดล้างให้สิ้นซากเพื่อที่เยอรมันจะได้มีแต่ชาวเยอรมันที่สายเลือดบริสุทธิ์”

“นั่นคือสิ่งที่ฮิตเลอร์ต้องการ แต่ก่อนอื่นเขาต้องโน้มน้าวประชาชนชาวเยอรมันให้หลงเชื่อคล้อยตามว่ายิวนั้นร้ายกาจ เป็นเหลือบสังคม กินบนเรือนแต่เข้าห้องน้ำบนดาดฟ้า อะไรทำนองนั้น พูดง่าย ๆ ก็คือปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังชาวยิว และไม่ใช่ยิวที่เป็นต่างชาตินะ แต่คนเยอรมันด้วยกันนี่แหละที่มีเชื้อสายยิว ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศมากี่ชั่วคนแล้วก็ตาม”

“แป๊บนึงนะ ฉันกำลังนึกตาม ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองไทย ก็คล้ายกับว่ากวาดต้อนคนไทยที่มีเชื้อจีนและเชื้อชาติอื่น ๆ ทั้งหมดไปเข้าค่าย ยังงั้นใช่รึเปล่า”

“นั่นแหละ และในกรณีของเยอรมนีนั่นก็นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า the Holocaust (เดอะ โฮ้หละขอสท) ซึ่งจัดเป็น genocide (เจ๊นหนะส่ายด)= การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่า ethnic cleansing (เอ๊ธหนิค เขล่นสิ่ง) แต่เยอรมันมีประสิทธิภาพสูงสุด มีการคำนวณอย่างละเอียดว่าการฆ่ายิวทำอย่างไรจึงจะฆ่าได้มากที่สุด เร็วที่สุด ประหยัดที่สุด”.

▼▲ นาซี (3)

“ฟังดูไม่น่าเชื่อเลย มารศรี ชาวเยอรมันเป็นคนมีการศึกษา ทำไมถึงปล่อยให้เกิดขึ้นได้”

“มองย้อนหลังไปก็ไม่น่าเชื่อนะ ชาวยิวถูกรัฐกวาดต้อนไปฆ่า 6 ล้านคน บวกชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกเป็น 11 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงพลังของ demagoguery (เด็มหมะก๊อกกะหรี่) = การพูดปลุกระดมมวลชน เพราะหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเยอรมันรู้สึกอับอายไร้ศักดิ์ศรี แต่ฮิตเลอร์จับจุดถูก ปลุกความชาตินิยมขึ้นมา โยนความผิดทุกอย่างให้ชาวยิว เพราะชาวยิวเป็นเชื้อชาติที่ชาวยุโรปรังเกียจและหวาดระแวงมานานแล้ว พอฮิตเลอร์วาดภาพชาวยิวราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ก็เลยเป็นเรื่องไม่ยากที่ชาวเยอรมันทั่วไปจะยอมรับได้กับการก่อกรรมทำเข็ญชาวยิว และอีกอย่างคือใครขวางหรือค้านก็พลอยโดนไปด้วย”

“ตกลงนั่นคือเหตุผลที่ฝรั่งโวยที่นักเรียนไทยแต่งชุดนาซีเหรอ”

“การสังหารคน 6 ล้านคนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะ นาซีเป็นพวกที่มีระเบียบและระบบมาก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวก็ทำอย่างเป็นระบบ ในระยะแรก ๆ กวาดต้อนไป concentration camps รวมกับนักโทษการเมืองและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แต่ภายหลังจับส่งไป extermination camps (เอ็กสเตอร์มันเน้ฉึ่น แข่มพส) อย่างเดียวเลย เธอรู้จักคำว่า exterminate (เอ็กสเต๊อร์หมะเหนท) ใช่ไหม ที่แปลว่า กำจัด น่ะ เป็นคำที่ใช้กับพวกแมลงหรือสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ นาซีมองชาวยิวเป็นแบบนั้น พอลงจากรถไฟก็ยังไม่ต้องไปทำงาน ทหารบอกให้ถอดเสื้อผ้าไปเข้าห้องอาบน้ำหมู่ก่อน แต่พอเข้าไปกว่าจะสังเกตว่าห้องอาบน้ำไม่มีท่อระบายน้ำ แก๊สพิษ Zyklon B ก็ถูกปล่อยเข้าไปในห้อง ศพถูกขนออกไปเทลงหลุมหมู่ ทิ้งไว้แต่เพียงรอยเล็บตะกุยตามขอบประตู เป็นการฆ่าหมู่แบบประสิทธิภาพสูง”

“เอ่อ ตกลงนั่นคือเหตุผลที่ฝรั่งโวยที่นักเรียนไทยแต่งชุดนาซีใช่ไหม”

“หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงและความจริงเกี่ยวกับค่ายกำจัดมนุษย์ปรากฏต่อสาธารณะ ทั้งจากภาพและข่าว และการนำตัวนาซีขึ้นศาล ชาวยิวที่รอดชีวิตก็ตั้งปณิธานว่า Never again. จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนั้นอีกกับชาวยิว นั่นแหละคือเหตุผลที่ฝรั่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยิวรับไม่ได้กับการยกย่องเชิดชูลัทธินาซี ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน แต่ในสังคมอื่น ๆ พวก demagogues = นักพูดปลุกระดม ก็ยังสามารถปลุกเร้าให้คนมองเพื่อนร่วมชาติเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ พร้อมที่จะฆ่ากันได้อยู่ เราถึงต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ว่ามันจะเจ็บปวดขมขื่นแค่ไหน”.

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ.สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com

c r e d i t ;//www.dailynews.co.th


โดย: -แม่มดน้อยจอมยุ่งโดเรมี- (เตยจ๋า ) วันที่: 6 ตุลาคม 2554 เวลา:1:31:08 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.