พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
22 ธันวาคม 2556
 
All Blogs
 
เล่าเรื่อง ซามูไร

เล่าเรื่อง ซามูไร

ฉากหนึ่งจากภาพยนต์ 47 Ronin มหาศึกซามูไร

เมื่อเร็วๆ นี้ผมอ่านเจอเรื่องเกี่ยวกับราคาของดาบซามูไร หรือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่าคาตานะ (刀 ในตัวคันจิและภาษาจีน) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 มีการซื้อขายดาบคาตานะของเก่าเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นของสะสมของ ดร.วอลเธอร์ คอมพ์ตัน ผู้หลงใหลในความงามและประวัติความเป็นมาของดาบประเภทนี้ ดร.คอมพ์ตันขายดาบเล่มหนึ่งที่ตีขึ้นในสมัยคามาคูระ สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 ออกไปในราคาสูงถึง 418,000 ดอลลาร์ ซึ่งผู้ซื้อมาจากยุโรปและไม่เปิดเผยตัว นับเป็นดาบคาตานะที่มีราคาซื้อขายสูงที่สุดในช่วงหลายทศวรรษมานี้ ก่อนหน้านั้นเคยมีการประมูลขายดาบคาตานะจำนวน 1,100 เล่ม  ออกไปในวันเดียว ด้วยมูลค่าสูงถึง 8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากมาคำนวณตามมูลค่าในปัจจุบันก็คงจะสูงกว่านั้นมาก ส่วนดาบที่มีประวัติ อีกหลายๆ เล่มนั้นประเมินมูลค่าไม่ได้ และแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ งานสะสมของ ดร.คอมพ์ตันนั้นมีมากจนสามารถพิมพ์เป็นหนังสือออกมาพิมพ์จำหน่ายได้หลายเล่ม จัดเป็นหนังสือรวบรวมดาบคาตานะที่สมบูรณ์มากที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นเองยังต้องยอมรับว่าสมบูรณ์มาก

ดาบคาตานะเป็นทั้งศาสตร์และงานศิลปะ ละเอียดอ่อนจนน่าประหลาดใจ

ดาบคาตานะเป็นทั้งศาสตร์และงานศิลปะ ละเอียดอ่อนจนน่าประหลาดใจ


ดาบคาตานะนั้นมีประวัติความเป็นมาคู่กับชนชาติแดนอาทิตย์อุทัยย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยนาระ (ราว พ.ศ.1193-1336) เดิมชาวญี่ปุ่นใช้ดาบที่ผลิตขึ้นมาแบบดาบของจีนและเกาหลี แต่พบว่าเวลาใช้ต่อสู้กันมักจะหักเป็นสองท่อน เวลานั้นมีช่างตีดาบคนหนึ่งชื่อ อามากุนิ ที่สามารถพัฒนาส่วนผสมของเหล็กที่นำมาตีเป็นดาบได้ เทคนิคของเขาคือ การควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณของคาร์บอนที่จะผสมลงไปในเนื้อเหล็ก และการเอาสิ่งเจือปนอื่นๆออก ด้วยปริมาณคาร์บอนที่พอดีทำให้เหล็กไม่เปราะจนหักขณะเดียวกันก็มีความแข็งมากด้วย ในการทำดาบขึ้นมาเล่มหนึ่ง เริ่มต้นด้วยการนำเหล็กที่หักแบ่งเป็นชิ้นเล็กวางซ้อนกันก่อนเข้าเตาหลอม แล้วจึงนำไปตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นจึงพับเหล็กเป็นสองชั้นขณะยังร้อนๆ แล้วตีซ้ำอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เหล็กจะซ้อนกันเป็นชั้นๆ ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คาร์บอนกระจายไปจนทั่วเนื้อเหล็ก แล้วท้ายสุดจึงนำไปตีแผ่ออกให้เป็นใบดาบ จะได้ใบดาบที่ดีเนื้อเหล็กแกร่งและคมไม่หักอีกต่อไป

การตีดาบนั้นอยู่ในวิถีชีวิตของชายชาวญี่ปุ่นสมัยก่อน

การตีดาบนั้นอยู่ในวิถีชีวิตของชายชาวญี่ปุ่นสมัยก่อน


ต่อมาในยุคคามากุระ (พ.ศ.1735-1879) การตีดาบพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการผสมเหล็กสองชนิดเข้าด้วยกันสองชนิดที่ว่าคือ ในดาบหนึ่งเล่มจะประกอบด้วยไส้ในที่ทำจากเหล็กคาร์บอนต่ำมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนภายนอกเป็นเหล็กที่มีคาร์บอนสูงกว่า เพื่อให้แข็งและทนทาน ในการทำช่างตีดาบจะพับเหล็กแข็งให้เป็นรูปตัว U ก่อนที่จะนำเหล็กอ่อนมาวางไว้ตรงกลางเพื่อเป็นไส้ใน นำไปหลอมและตีรวมกันให้แผ่ออกเป็นใบดาบ จากนั้นนำไปหลอมอีกครั้งที่อุณหภูมิมากกว่า 700 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำมาแช่น้ำเย็น ขั้นตอนนี้สำคัญมาก หากแช่ไม่ดีดาบจะโค้งเสียรูป เหล็กที่มีความแข็งต่างกันเมื่อทำให้เย็นทันทีจะหดตัวต่างกัน ถือเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ใบดาบโค้งได้รูปตามธรรมชาติ

ดาบซามูไรนั้นมีความสั้นยาวหลายขนาด ตั้งแต่ประมาณ 30 ซม. จนถึง 70 ซม. แต่ละชนิดก็มีชื่อเรียกต่างกันไป

เมื่อพูดถึงดาบซามูไรแล้วไม่พูดถึงผู้ใช้ก็คงดูกระไรอยู่ คนไทยเรานั้นรู้จักกับนักรบซามูไรมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ท่านผู้นั้นคือ ยามาดะ นางามาซะ หรือออกญาเสนาภิมุข (山田長政 Yamada Nagamasa พ.ศ.2113-2173) เป็นซามูไรชาวญี่ปุ่น ที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม และเข้ารับราชการโดยเริ่มต้นที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยในกรมอาสาญี่ปุ่น ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นชื่อออกญาเสนาภิมุข ภายหลังเป็นถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและเสียชีวิตจากการปราบกบฏที่ปัตตานี (ตามข้อมูลของสถาบันอยุธยา
ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา กล่าวถึงนางามาซะว่า คงเป็นซามูไรที่หลบหนีออกมาจากญี่ปุ่น เนื่องจากฝ่ายของตนพ่ายแพ้การสู้รบและสูญเสียผู้นำไป)

นางาโนริ นายเหนือหัวของ 47โรนิน ผู้ถูกบังคับให้ทำฮาราคีรี

นางาโนริ นายเหนือหัวของ 47โรนิน ผู้ถูกบังคับให้ทำฮาราคีรี


ซามูไร (侍 ในภาษาญี่ปุ่น) บางครั้งก็เรียกว่า บูชิ (武士) คือนักรบของญี่ปุ่นในยุคก่อนที่จะเข้าสู่การปกครองสมัยใหม่ นักรบพวกนี้มีความสามารถในการใช้อาวุธหลากชนิด อาทิ ธนู หอก แต่อาวุธที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวคือดาบซามูไร ซึ่งหากไปหาดูภาพจะพบว่า พวกซามูไรนั้นจะมีดาบติดตัวสองอันเสมอ อันหนึ่งคือ คาตานะ และอีกอันจะสั้นกว่าเล็กน้อย ซามูไรนั้นมีแนวทางการดำเนินชีวิตแบบ บูชิโด (武士道) ซึ่งเน้นความจงรักภักดีต่อนายเดียว มีวินัยและมีจริยธรรมสูง เพราะเชื่อในหลักคำสอนของขงจื๊อและศาสนาพุทธแบบเซน

ภาพสะท้อนให้เห็นว่า ยุคหนึ่งซามูไรมีอำนาจเพียงใด

ภาพสะท้อนให้เห็นว่า ยุคหนึ่งซามูไรมีอำนาจเพียงใด


กำเนิดของซามูไรนั้นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเฮอัง (Heian) ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีการระดมนักรบ ผู้มีฝีมือจำนวนมากเพื่อปราบกบฏ ในลักษณะของนักรบรับจ้าง แต่ต่อมาเมื่อกบฏถูกปราบจนราบคาบแล้ว นักรบเหล่านี้ก็ถูกจ้างโดยตระกูลที่มีอำนาจทางการเมือง เพื่อให้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเก็บภาษีจากประชาชนและฝึกกองกำลังนักรบขึ้นมา ยุคนั้นตระกูลใหญ่สองตระกูลที่แย่งชิงอำนาจการปกครองบ้านเมืองกัน คือ ตระกูลมินาโมโตะ และตระกูลไทร่า ซามูไรมีความสำคัญมากในช่วงนั้น เพราะเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน จากนักรบโนเนมก็กลายเป็นคนมีศักดิ์ศรีมีวรรณะสูงขึ้นมาเหนือประชาชนคนธรรมดา การต่อสู้ครั้งนั้นกินเวลาถึง 5 ปี เรียกว่าสงครามเก็มเป ซึ่งในที่สุดตระกูลมินาโมโตะก็เป็นฝ่ายมีชัยในปี พ.ศ.1735 และมิโนโมโตะ โน โยริโตโมะ (Minamoto no Yoritomo หรือ 源頼朝) ได้ตั้งตนเป็นโชกุน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมกองทัพสูงสุด และนักรบซามูไรทั้งหลายก็มีฐานันดรสูงเป็นชนชั้นพิเศษขึ้นมาด้วย นับจากยุคนั้นไปอีกร่วม 700 ปี ที่ซามูไรมีบทบาทสำคัญในประเทศญี่ปุ่น ในสมัยเอโดะ (พ.ศ.2146-2410) ซามูไรมีฐานันดรสูงสุด รองลงไปคือเกษตรกร ศิลปินและพ่อค้า ที่น่าสนใจคือ มีชาวตะวันตกไปใช้ชีวิตเป็นซามูไรและประสบความสำเร็จด้วยหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นที่โลกรู้จักมากที่สุดคือ นักเดินเรือชาวอังกฤษชื่อ วิลเลียม อดัมส์ (พ.ศ.2107-2163) ทำงานให้กับโชกุนโทกุงาวะ อิเอะยาซุ

ปลายศตวรรษที่ 8 ญี่ปุ่นอันวุ่นวาย และบ้านเมืองมีแต่นักรบ

ปลายศตวรรษที่ 8 ญี่ปุ่นอันวุ่นวาย และบ้านเมืองมีแต่นักรบ


ความหมายหนึ่งของซามูไร คือ คนรับใช้ ซึ่งบ่งบอกถึงการมีนายเหนือหัว หรือไดเมียว นั่นเอง ซามูไรที่ไม่มีนายเรียกว่า โรนิน (浪人 ซึ่งตามศัพท์แล้วแปลว่า คนที่ไม่มีหลักแหล่งเป็นที่เป็นทาง) ซึ่งการไร้เจ้านายนั้นเป็นสภาพที่ไร้ศักดิ์ศรียิ่งนักสำหรับพวกเขา ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับซามูไรเมื่อปี พ.ศ.2244 สมัยเอโดะ มีเรื่องราวของโรนิน 47 คน หรือมักจะเรียกสั้นๆว่า 47 โรนิน ผู้จงรักภักดีต่อไดเมียวอาซาโนะ นางาโนริ ไดเมียวผู้นี้ถูกบังคับให้ทำฮาราคีรี (เรียกอีกอย่างว่า เซปปุกกุ 腹切) เนื่องจากใช้ดาบทำร้ายข้าหลวงชื่อ คิระ โยชินากะ ผู้ทรงอิทธิพลในปราสาทของโชกุน ไม่เพียงเท่านั้น ตามกฎใครก็ตามที่ชักอาวุธในปราสาทโชกุนต้องถูกประหารชีวิตรวมทั้งคนในครอบครัวและถูกยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดด้วย เมื่อสูญเสียเจ้านายไป ซามูไรจำนวนมากจึงกลายเป็นโรนินผู้ไร้ที่พำนักอาศัย จากทั้งหมดนั้นมีโรนินจำนวน 47 คนที่ต้องการแก้แค้น โดยตั้งใจว่าจะต้องเอาหัวของคิระ โยชินากะ ไปเซ่นไหว้หลุมศพของเจ้านายพวกตนให้ได้ จึงร่วมกันวางแผนล้างแค้น แต่การลงมือนั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะคิระเองไม่ใช่คนธรรมดาที่ใครอยากฆ่าก็ไปฆ่าได้ การวางแผนเพื่อเตรียมการนั้นใช้เวลานานกว่า 2 ปี ก่อนที่ทั้งหมดจะลงมือ
เรื่องราวของ 47 โรนิน นิยมนำไปเล่นเป็นละครคาบูกิในญี่ปุ่นรวมทั้งภาพยนตร์หลายครั้ง ล่าสุด ทางฮอลลีวูดได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในชื่อว่า 47 โรนิน มหาศึกซามูไร ที่ได้ดาราอย่าง คีอานู รีฟส์ มาแสดงนำ ใช้เทคโนโลยีศตวรรษที่ 21 ถ่ายทอดเรื่องราวของซามูไรในยุคเอโดะออกมาได้อย่างสนุกสนานตื่นเต้น นอกจากนี้ยังได้สร้างสัตว์ในจินตนาการ แม่มดที่มีเสน่ห์เย้ายวน และชุมชนลับของสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ เป็นการผสานประวัติศาสตร์ในโลกโบราณกาลให้เข้ากับจินตนาการใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว

เรื่องราวของเหล่าซามูไรนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ในแง่ของความซื่อสัตย์ภักดี ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในชีวิตที่มนุษย์เราควรจะมี.


โดย : ลุงดำ
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน




Create Date : 22 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 ธันวาคม 2556 10:04:49 น. 0 comments
Counter : 1193 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.