พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
20 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
14ตุลาในงานหนังสือ มุมมองของ"เด็กรุ่นใหม่" (ปัณณพร นิลเขียว)

14ตุลาในงานหนังสือ มุมมองของ"เด็กรุ่นใหม่"

ปัณณพร นิลเขียว



งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 18 จัดอยู่ขณะนี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ ด้วยแนวคิด "หนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก" เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. และจะปิดฉากในวันอาทิตย์หน้า วันที่ 27 ต.ค.



จึงมีอีกหนึ่งสัปดาห์เต็มให้เหล่าผู้รักการอ่านไปเยี่ยมชมซื้อหาหนังสือเล่มโปรด



หากไปถึงที่งานแล้ว แนะนำให้ไปชมนิทรรศการที่เชื่อมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตเพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันเรียนรู้ ในชื่อ 40 ปี 14 ตุลาฯ "ความใฝ่ฝันอันแสนงาม" ที่ห้องบอลรูม ฮอลล์เอ



ภายในนิทรรศการ ผู้เข้าชมจะได้พบ กับตัวอย่างหนังสือหลายเล่มซึ่งตีพิมพ์ใน ยุค 14 ตุลาฯ รวมถึงบล็อกเล็กๆ หลายสิบบล็อก ที่มีผ้าขาวผืนบางกั้น



ในแต่ละบล็อกคือ "ถ้อยความ" หรือ "คำพูด" ของนักคิด นักเขียน ปัญญาชน หรือบุคคลสำคัญทั้งไทยและเทศ จากทั้งในยุค 14 ตุลาฯ และยุคก่อนหน้าที่หยิบยกมาอ้างอิงเพื่อบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของผู้คน พร้อมไปกับตอกย้ำถึงอิทธิพลของถ้อยคำหรือ ตัวหนังสือที่มีผลต่อผู้คนในยุคนั้น



โดยมีบทเพลงที่เปี่ยมด้วยพลังและ จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย "เพื่อมวลชน" "แสงดาวแห่งศรัทธา" และ "นกสีเหลือง" เปิดคลอผสานเป็นส่วนหนึ่งในงาน



ปราบดา หยุ่น ในฐานะอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า เนื้อหาที่เลือกมาจัดแสดงเป็นสิ่งที่เลือกผ่านมุมมองหรือจินตนาการคนรุ่นเราว่าแรงบันดาลใจของนักศึกษาในยุคนั้นมาจากหนังสือเล่มไหนหรือข้อความใด เพราะทีม ผู้จัดก็เป็นคนรุ่นหลัง ไม่ทันเหตุการณ์ แต่ศึกษาเรื่องราวในยุคนั้นผ่านหนังสือวรรณ กรรม หรือข้อเขียนประวัติศาสตร์



ภายในนิทรรศการมีนักอ่านหลากวัยเข้า เยี่ยมชม รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมให้มุมมองและการรับรู้ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ



นวัต พงษ์ภา สุระ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่าเคยเรียนเรื่องเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 มาบ้าง เมื่อครั้งศึกษาอยู่ชั้นมัธยมต้น คิดว่าเป็นช่วงที่นักศึกษาออกมาเรียกร้องอะไรสักอย่างเกี่ยวกับคนชื่อถนอม กิตติขจร ส่วนเพลงที่เปิดคลออยู่ในงานแม้ไม่คุ้นหู แต่คาดเดาว่าคงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นในยุคนั้น



ขณะที่ นิว ทัศน์ลักษณ์ ยิ้มพวง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัยปทุมธานี เล่าว่าครูเคยเปิดคลิปเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ให้ดูในชั้นเรียน ตอนม.3 ครั้งนั้นเข้าใจว่ากลุ่มนักศึกษาประท้วงอะไรสักอย่างกับรัฐบาล แต่ที่จำได้ดีคือภาพที่มีการยิงใส่นักศึกษาลงมาจากฟ้า ซึ่งเป็นวิธีการรุนแรงเกินไป





เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างหนุ่มสาวในยุคนี้กับยุค 14 ตุลาฯ นิวมองว่าหนุ่มสาวในยุค 14 ตุลาฯ จะดูภาพรวมกว้างๆ ว่าตัวเองไปได้แล้ว คนรอบข้างไปได้หรือไม่ ดูไปถึงประเทศชาติว่าเป็นอย่างไร พยายามช่วยกัน ขณะที่คนในยุคนี้มักสนใจเรื่องที่จะพาตัวเองไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต ได้รับการศึกษาหรือได้ทำงานที่ดี ตัวใครตัวมัน สนใจตัวเองไว้ก่อน ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง



ด้าน โรส อริสรา รื่นฤทัย นักศึกษาปวช.ปี 3 วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ ที่มาด้วยกันกับนิวกล่าวว่า ความทรงจำที่มีกับเหตุการณ์นี้คือเรื่องของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลในขณะนั้นเอาประโยชน์ให้ตัวเอง



เมื่อถามว่าเห็นอะไรในตัวนักศึกษายุคนั้นจากนิทรรศการบ้าง ได้คำตอบจากโรสว่า "วัยรุ่นสมัยก่อนเข้าใจรัฐบาล เข้าใจเหตุการณ์ แต่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้ หนูว่าเขาคงติดอินเตอร์เน็ตมากเกินไป เพราะเดี๋ยวนี้มีแฟชั่นเกาหลี เข้ามาเต็มไปหมดเลย"



มาที่สองเพื่อนซี้ต่างสถาบัน ฟลุค พงศภัค อรรคฮาต นักศึกษาปี 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ติว รวิพล ลี้มิ่งสวัสดิ์ นักศึกษาปี 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าว่ารู้จักเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มาบ้างในวิชาสังคมศึกษา ตอนมัธยม แต่ไม่ได้สนใจมากนัก จำได้แค่ว่ามีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อได้มาชมนิทรรศการจึงรู้ว่านักศึกษาในยุคนั้นลุกฮือขึ้นเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ



ฟลุคกล่าวว่า จากการเดินอ่านถ้อยคำที่หยิบยกมาอ้างอิงในนิทรรศการ ได้เห็นว่าคนในยุคนั้นคิดอะไร ซึ่งบทกวีที่เขาประทับใจ ได้แก่ "บันทึกลับกระบือหนุ่ม" ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่เปรียบเทียบเสียดสี ด่าตัวเอง และคนที่ไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิ หรือหากออกมาต่อสู้ ก็คงไม่สามารถสู้กับพวกทหาร ซึ่งจิระนันท์ใช้คำว่า "ดาบปลายปืน" เพื่อสื่อแทนได้



ด้านติวมองว่า วัยรุ่นในอดีตตื่นตัวเรื่องการเมืองและสิทธิที่ตัวเองควรได้รับ และสิ่งที่ตัวเองโดนละเมิดมากกว่าคนในปัจจุบันที่ไม่มีความกล้าหาญหรือสนใจหลงเหลืออยู่ ติวเคยทดลองโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าเป็นวันตายของสตีฟ จ็อบส์ ทุกคนก็รู้แค่นั้น ไม่มีใครรู้ว่า 6 ต.ค.เคยเกิดอะไร ขึ้นบ้าง



"สำหรับผม การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะตั้งแต่เกิดก็เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว เกิดมาต้องแจ้งเกิด จริงอยู่มันเป็นระบบราชการ แต่ระบบราชการก็ถูกครอบจากระบบการเมืองอีกที จะบอกว่าการเมืองมันน่ากลัว มันดูไม่ดี ไม่ใช่ ผมว่าการเมืองเป็น กระจกสะท้อนความเป็นจริงได้ดีเกินไป ถ้าเรากลัวมัน ก็เหมือนเรากลัวความเป็นจริง" ติวกล่าว



Create Date : 20 ตุลาคม 2556
Last Update : 20 ตุลาคม 2556 0:59:50 น. 0 comments
Counter : 949 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.