พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
4 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
วัยเด็กที่หายไป เด็กชาย"วันเฉลิม"

วัยเด็กที่หายไป เด็กชาย"วันเฉลิม"




ความรุนแรงในครอบครัวหรือสังคม คนเรามักเข้าใจผิดว่าคนที่ก่อเรื่องเป็น ตัวปัญหา

แต่จริงๆ แล้วปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการกันจนไม่สามารถจัดการปัญหาระหว่างคน 2 ฝ่ายได้



ในละครสะท้อนสังคมเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" เมื่อพระนางเรื่องนี้เริ่มเห็นว่าตนเองมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ถ้าทางพระคงต้องบอกว่า "ศีลไม่เสมอกัน" ทำให้แต่ละฝ่ายต่างอยากเปลี่ยนอีกฝ่ายให้เป็นไปอย่างใจหวัง จนทำให้เกิดอารมณ์โกรธ ผิดหวัง กล่าวโทษกันและกัน จนความหวานชื่นในชีวิตค่อยๆ หมดไป เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดแตกหัก



พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและ วัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณ สุข ให้ความเห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดผลกระทบต่อเด็กมากมาย หากใครเคยอ่านเรื่องนี้จนจบจะเห็นสิ่งที่เกิดกับลูกๆ ทุกคน โดยเฉพาะ "วันเฉลิม" ที่เป็นลูกคนโต เขามองเห็นภาพพ่อแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ แม่ก็มักจะละเลยเขา ใช้งานเขาเกินตัว จนทำให้กลายเป็นเด็กเงียบ แยกตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่นๆ



ที่เห็นได้ชัดเจนคือ วันเฉลิมแทบไม่ได้ใช้ชีวิตปกติสุขอย่างเด็กทั่วไป เนื่องจากต้องทำหน้าที่ดูแลบ้าน ดูแลน้องๆ และดูแลแม่ที่มีปัญหาทางอารมณ์ ทำตัวเหมือนคนที่เป็นหลักให้แม่ยึดในยามที่แม่ไม่มีใครอยู่เคียงข้างจนกลายเป็นเด็กที่ความคิดโตเกินวัย



นอกจากนี้ยังกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของแม่ เกิดความผูกพันทางอารมณ์กับแม่ที่เหนียวแน่นผิดปกติเนื่องจากความกลัวของตนเองและความรู้สึกผิดหากทิ้งแม่และน้องไป จนทำให้วันเฉลิม ไม่สามารถพัฒนาตามวัยได้ และต้องทิ้งโอกาสดีๆ หลายอย่างของตนเองไป



พญ.ปราณีกล่าวต่อว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นของพ่อแม่ทำให้เด็กไม่มีตัวอย่างดีๆ ในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น หากวันเฉลิมไม่มีหลวงตาคอยสอน ไม่มีปู่ย่าหรือพ่อที่ดี ไม่มีแม่เลี้ยงพี่เลี้ยงหรือคุณยายข้างบ้านที่มีจิตเมตตาอาจทำให้เข้ากับผู้อื่นไม่ได้หรือกลายเป็นคนที่เคร่งเครียด ซึมเศร้า หรืออาจมีพฤติกรรมเกเร ทำสิ่งผิดกฎหมายเหมือนน้าชาย



เมื่อมองย้อนกลับไป หากพ่อของวันเฉลิมเข้มแข็งมากกว่านี้ ปกป้องสิทธิของลูกที่ควรได้รับการดูแลปกป้องคุ้มครอง ให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเขาตั้งแต่ยังเล็ก พยายามเรียกร้องทางกฎหมายเพื่อให้ได้สิทธิในการดูแลลูก ไม่ปล่อยให้ลูกไปอยู่กับแม่ที่มีความรุนแรงกับลูกและไม่ใส่ใจลูก แม่ที่ไม่สามารถดูแลหรือจัดการชีวิตตนเองได้ จะทำให้ด.ช.วันเฉลิมแยกจากแม่ได้อย่างเหมาะสม และสามารถพัฒนาตนเองต่อได้โดยไม่รู้สึกผิด



จิตแพทย์ให้ข้อคิดว่าเด็กหลายคนอาจไม่โชคดีเหมือนวันเฉลิมตอนจบ ครอบครัวจึงควรสร้าง "บ้านปลอดความรุนแรง" โดยเริ่มจากการสื่อสาร ที่ดี สร้างความไว้วางใจกันและกัน ฝึกจัดการข้อขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง



นอกจากนี้ ควรฝึกทักษะการฟังที่ดี ไม่ตัดสินถูกผิด เนื่องจากการฟังที่ดีจะทำให้ผู้เล่ารู้สึกไว้วางใจและยอมเปิดเผยความรู้สึกต่อสิ่งที่เขากำลังเผชิญ



บางครั้งเด็กอาจรับบทบาทดูแลรับผิดชอบพ่อแม่ที่มีปัญหาทางอารมณ์แทนที่ตนเองจะเป็นผู้ได้รับการปกป้องโดยพ่อแม่ ทำให้เด็กกลายเป็นโตเกินวัย ต้องรับผิดชอบงานบ้านและดูแลน้องแทนพ่อแม่มากเกินวัยที่ควรได้วิ่งเล่นสนุกสนาน ทำให้เด็กมักแยกตัวจากสังคมหรือเพื่อนวัยเดียวกัน จะกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขและพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กอย่างมากมาย



โดยอาการทางกายมักเป็นผลต่อเนื่องจากความรู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้า จนทำให้เด็กมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง การทำงานของระบบทางเดินอาหารปั่นป่วน หงุดหงิดง่าย สมาธิไม่ดี เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง อาจหลับในห้องเรียนเพราะอดนอนที่บ้าน สุขอนามัยเด็กกลุ่มนี้มักไม่ดี



เด็กหลายคนมักโดนลูกหลงจากการที่พ่อแม่ ทะเลาะหรือทำร้ายกัน วัยทารกมักเลี้ยงยาก ร้องไห้งอแง ปลอบยาก เนื่องจากขาดความผูกพันทางอารมณ์หรือทางกายต่อผู้เลี้ยงดู ทำให้พัฒนาการล่าช้า



เด็กโตมักแยกตัว เงียบ หรืออาจมีพฤติกรรมถดถอย อ้อนหรืออาละวาด ก้าวร้าว อาจมีความวิตกกังวล กลัวถูกทิ้ง ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกผิด โทษตัวเองเรื่อยๆ หรือหวาดผวาง่าย ตกใจกลัวเสียงเล็กๆ น้อยๆ ฝันร้าย นอนไม่หลับ



เด็กหลายรายอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งสุขนิสัยการกิน การนอนหรือการขับถ่าย ฝันร้าย ปัสสาวะรดที่นอน ไม่ไว้วางใจผู้ใหญ่หรือ คนอื่นๆ ทำให้สร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ยาก



วัยรุ่นอาจมีปัญหาการเรียนไม่ดีหรือติดสารเสพติด มักแก้ปัญหาโดยความก้าวร้าว โทษคนอื่นและอาจหนีออกจากบ้าน เด็กมักรู้สึกว่าตนเองหมดหนทาง ไม่มีพลังอำนาจ ในเด็กหญิง มักเก็บกดและซึมเศร้า แต่เด็กชายมักแสดงความก้าวร้าว การสัมผัสความรุนแรง ในบ้านทำให้เด็กรับรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีความปลอดภัยและตัวเขาเองไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการปกป้องให้ปลอดภัย นำไปสู่อารมณ์โกรธหรือซึมเศร้า



พญ.ปราณีกล่าวด้วยว่า เด็กที่ตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรงจะรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยและไม่มั่นคงในชีวิตตนเอง นอก จากนี้ เด็กมักชาชินกับความรุนแรง ทำให้เลียนแบบความก้าวร้าว คุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ไม่ไว้วางใจผู้อื่น บางคนอาจเข้าร่วมกลุ่มที่ก้าวร้าวเกเร เด็กเล็กที่เผชิญกับความก้าวร้าวมักไม่สามารถสร้างความรักความผูกพันกับผู้ดูแลได้ ตื่นเต้นตกใจง่ายและมักเก็บตัว ไม่ค่อยอยากรู้อยากเห็น ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อม



"ผลกระทบระยะยาวอาจทำให้เด็กเรียนไม่จบ ท้องตั้งแต่วัยรุ่น ติดสารเสพติด ก่อปัญหาสังคมหรืออาจถึงขั้นซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เด็กแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ ความคิด ความรู้สึก ความรุนแรงของเหตุการณ์ ความใกล้ชิด หรือความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ระยะเวลาที่เผชิญกับความรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้กระทำหรือผู้ที่ถูกกระทำ



ควรเปิดโอกาสให้เด็กบอกเล่าถึงความกลัว ความรู้สึก โดยไม่ตัดสินเขา บอกให้เขาทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา พยายาม ให้เขามีโอกาสทำกิจกรรมตามวัย สอนให้เด็กหามุมปลอดภัยหรือ มุมสงบสำหรับผ่อนคลายเมื่อเขาเกิดความรู้สึกท่วมท้นจากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น มุมหนังสือสบายๆ มุมเงียบๆ สำหรับฟังเพลง" พญ.ปราณี เมืองน้อย กล่าวทิ้งท้าย



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2556 11:08:31 น. 0 comments
Counter : 945 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.