พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 
3 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
คุยเกร็ดพระนคร จากจุดชมวิว180องศา (ฐิติ มีแต้ม)

คุยเกร็ดพระนคร จากจุดชมวิว180องศา

ฐิติ มีแต้ม



เดินชิลชิลอยู่ในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ เขตพระนครมาหลายปี อาจไม่รู้ประวัติศาสตร์ เหตุสร้างบ้านแปงเมือง ถนนหนทางและ คูคลองก่อนจะกลายสภาพและมาเผยโฉมเช่นในปัจจุบัน ครั้งก่อนเคยมีหน้าตาเช่นไร



นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ร่วมกับ M Young โดยสำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนาชวนชม "ราชดำเนิน เมืองใหม่สมัยรัชกาลที่ 5" เอาใจครอบครัวที่มีลูกหลานสนใจประวัติ ศาสตร์ ให้เพลิดเพลินกับเรื่องเล่าครั้งเก่าก่อน ณ จุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนิน คือ ห้องสกายวิว อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ชมวิวได้ 180 องศา บรรยากาศโปร่งโล่งตา



วงเสวนารับเชิญจากสองกูรูต่างวัยที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยทั้งคู่ มานั่งแลกเปลี่ยนความรู้สลับกันเป็นช่วงๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ให้ความสนใจร่วมรับฟังกว่า 50 คน



คนแรกคือ ปรามินทร์ เครือทอง นักค้นคว้าอิสระด้านประวัติศาสตร์ ที่ผันตัวมาจากอาชีพเขียนบทภาพยนตร์ งานค้นคว้าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เคยทำแค่เพียงอดิเรก ก็กลายมาเป็นงานประจำในที่สุด



อีกคนคือ ศิวพร วงศ์เกียรติอรุณ หรือ อุ๋ย บัณฑิตสาวจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เกาะรัตนโกสินทร์



ปรามินทร์เริ่มย้อนไปครั้งปฏิวัติกรุงธนบุรี ปี 2325 พระยามหากษัตริย์ศึก กลับมาจากสงครามที่กัมพูชา และได้ยึดอำนาจพระเจ้าตาก จนสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ในหลวงรัชกาลที่ 1 เริ่มต้นยุคสมัยของราชวงศ์จักรี



เหตุปัจจัยในการย้ายพระนครข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาสร้างใหม่ที่ฝั่งตรงข้ามคือ เกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ในขณะที่ฝั่นธนบุรีมีวัดมาก การจะขยายเมืองเป็นไปด้วยความลำบาก และตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 1 อ้างว่าพระเจ้าตากไม่ได้วางผังเมืองเผื่อการขยายตัวของเมืองในอนาคต ประกอบกับสัญลักษณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เสมือนสมมติเทพของชาวบ้านในเวลานั้นไม่มี จึงเป็นเหตุให้ต้องย้ายข้ามมาสร้างพระนครใหม่



สิ่งแรกที่พระองค์ทำคือ นำพระแก้วมรกตที่เคยประดิษฐานที่วัดอรุณราชวรา ราม ราชวรมหา วิหาร มาไว้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเริ่มขุดลอกคลองเพื่อการสัญจร



ขณะที่ศิวพรกล่าวว่า ตนเองเป็นคนฝั่งธนบุรี แต่ความที่ชอบเรื่องเล่าในอดีตและชอบเดินเล่นในเขตพระนคร ทำให้หลงใหลเกาะรัตนโกสินทร์ไปโดยปริยาย จากนั้นก็เล่าเรื่องเชื่อมโยงต่อว่า พอมีการขุดขยายคลองจนกรุงรัตนโกสินทร์กลายเป็นเกาะ รัชกาลที่ 1 จึงสถาปนาเมืองและเรียกว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์



ขณะวงเสวนากำลังเพลิดเพลิน มีผู้เข้าร่วมฟังรายหนึ่งยกมือถามวิทยากรด้วยความสงสัยว่า "จะรู้ได้อย่างไรตรงไหนเป็นแนวเขตพระนคร"



สาวแฟนพันธุ์แท้อธิบายว่า ปัจจุบันดูได้จากแนวกำแพงป้อมมหากาฬ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแนวกำแพงป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ ใกล้กับสวนสันติชัยปราการ



ทั้งสองกูรูสลับกันเล่าเรื่องต่อ โดยมีเยาวชน 7-8 คนขยับเข้ามาเพื่อตั้งใจฟัง



ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุคต้นรัตนโกสินทร์ ปรามินทร์กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ตามปากคลองกันมาก เนื่องจากเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่ขนใส่เรือมาจากฝั่งธนบุรี ผู้ชายที่มีเชื้อสายญวนและแขก ส่วนใหญ่มักถูกเกณฑ์มาขุดคลอง ทำให้รอบๆ กำแพงพระนครเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา เห็นได้ในปัจจุบัน เช่น ชาวชุมนุมบ้านครัว มีเชื้อสายแขกจาม มาจากเขมร นับถือศาสนาอิสลาม ชาวชุมชนท่าเตียน ที่มีเชื้อสายญวน และชุมชนสำเพ็งที่มีคนเชื้อสายอินเดียอยู่จำนวนมาก



จุดเปลี่ยนจุดแรกของกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มตอนมีสนธิสัญญา บาวริ่ง ปี 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4 วิธีคิดทุนนิยมเริ่มมีอิทธิพล ภาพที่เปลี่ยนไป คือ เรือสำเภาถูกแทนที่ด้วยเรือกลไฟ และการใช้สะเหรี่ยงแทนที่ด้วยรถม้า



ไอเดียการสร้างถนนหนทางเกิดจากฝรั่งต้องการสัญจรเพื่อตากอากาศ เพราะอากาศเมืองไทย เวลาอยู่ในบ้านมักอบอ้าว รัชกาลที่ 4 จึงมีดำริให้สร้างถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรก ต่อมาสร้างถนนบำรุงเมือง และตามด้วยถนนเฟื่องนคร กลายเป็นคำคล้องจองที่พระราชทานให้เพื่อความเจริญแก่บ้านเมือง



ส่วนศิวพรกล่าวเสริมต่อว่า การขยายถนนทำให้ลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามามากขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อรัชกาลที่ 5 ทำให้พระองค์ต้องเสด็จประพาสยุโรป เพื่อไปดูความศิวิไลซ์ของประเทศตะวันตก เมื่อท่านกลับมา ก็เอาแรงบันดาลใจจากถนนชองเซลิเซ่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และถนนควีนส์ วอล์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษกลับมาด้วย ถนนราชดำเนินจึงสร้างขึ้นในตอนนั้น เพื่อเชื่อมทางระหว่างพระบรมมหาราชวังถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นการสถาปนาอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่



เข้าสู่ช่วงท้ายของการเสวนา มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมฟังทายว่า ต้นไม้อะไรที่ปลูกเป็นชนิดแรกริมถนนราชดำเนิน โดยผู้ที่ตอบถูกจะได้รับกิฟต์เซ็ตหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนติดมือกลับบ้าน ทำให้มี ผู้ยกมือแย่งกันตอบกันเกรียวกราว แต่ไม่มีผู้เดาถูก แล้วสาวแฟนพันธุ์แท้จึงเฉลยว่า คือ ต้นมะฮอกกานี แต่ปลูกได้ไม่นานก็ต้องโค่นทิ้งเพราะไม่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย



โดยผู้ลงมือสั่งโค่นคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และสั่งให้ปลูกต้นมะขามแทน มีการมองว่า การตัดต้นมะฮอกกานีคือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนสัญลักษณ์จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475



แฟนพันธุ์แท้เกาะรัตนโกสินทร์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาออกไปเดินหาของอร่อยๆ กิน ซึ่งภายในเขตพระนครมีร้านขึ้นชื่อจำนวนมาก แต่เธอขอแนะนำร้านผัดไทย ย่านประตูผี ซึ่งเปิดมานานกว่า 50 ปี โดยชื่อประตูผีก่อนหน้านี้มีที่มาจากสมัยรัชกาลที่ 2 อหิวาตกโรคระบาดหนัก ทางพระราชวังไม่อนุญาตให้มีการเผาศพในเขตพระราชฐาน จึงจำสร้างประตูเพื่อลำเลียงศพไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสระเกศ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าประตูผี ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นย่านสำราญราษฎร์ ให้ฟังดูเป็นสิริมงคล



เกร็ดประวัติศาสตร์ ทั้งชุมชนและถนนในกรุงรัตนโกสินทร์ยังมีอีกมากมาย ผู้สนใจหยิบหนังสือกรุงเทพฯ น่ารู้ ตอน ถนนประวัติ ศาสตร์ ของ M Young โดยสำนักพิมพ์มติชนมาอ่านเพิ่มเติมได้ เนื้อหาเหมาะกับทุกวัย สนใจติดต่อสำนักพิมพ์มติชนที่โทร. 0-2580-0021 ต่อ 1235



Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2556 2:26:19 น. 0 comments
Counter : 1282 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.