Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2557
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 พฤษภาคม 2557
 
All Blogs
 
สัมมนาเชิงปฏิบัติการงานเขียน โดย อาจารย์ประภัสสร เสวิกุล

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25พฤษภาคม 2557) ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานเขียน ซึ่งเป็นกิจกรรมวรรณศิลป์ที่จัดขึ้นในงาน “อลังการผสานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ” จัดโดยห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ร่วมกับหออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้น ซึ่งในงานสัมมนาวันนั้นมีท่านอาจารย์ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติมาบรรยายวิชาการที่เป็นความรู้สำหรับผู้ที่สนใจในการเขียน ดังนั้นผู้ที่อยากจะเป็นนักเขียนอย่างผมจึงไม่พลาดที่จะเข้าร่วมฟังสัมมนาในครั้งนี้ด้วย

ผมจึงขออนุญาตนำความรู้ที่ผมได้รับจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานเขียนในครั้งนี้มาบันทึกเพื่อถ่ายทอดต่อให้แก่บุคคลที่สนใจ โดยรายละเอียดทั้งหมดเป็นการจดจากคำบรรยาย(จดเลคเชอร์)ที่ผมฟังเข้าใจ ซึ่งข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วนทั้งหมดแต่ก็น่าจะพอเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากจะเป็นนักเขียนอยู่บ้าง ลองอ่านกันดูนะครับ

(ถ้ามีข้อมูลในส่วนใดผิดพลาดไปบ้างผมก็กราบของอภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ)




อาจารย์ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติผู้บรรยายให้ความรู้


บรรยากาศในงานสัมมนา










@การเขียนก็คือการเล่าเรื่อง นักเขียนที่เก่งก็คือนักเล่าเรื่องที่ดี สำหรับคนที่มีพื้นฐานการเล่าเรื่องที่ดีก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นนักเขียนได้

@เรื่องที่เขียนแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.เรื่องที่แต่งขึ้น เช่น เรื่องสั้น นิยาย บทกวี ฯลฯ
2.เรื่องที่ไม่ได้แต่งขึ้น เช่น สารคดี

@เรื่องที่แต่งขึ้นมีหลายรูปแบบ เช่น
-บทกวีเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยมีการกำหนดโครงสร้างทางฉันทลักษณ์
-เรื่องสั้นเป็นเรื่องที่มีความยาวจำกัด มีประเด็นของเรื่องเพียงประเด็นเดียว ตัวละครน้อย
-นวนิยายหรือนิยาย เป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องสลับซับซ้อนมากกว่าเรื่องสั้น มีหลายประเด็น มีตัวละครมากกว่า

@โครงสร้างของนิยาย
1.ต้องมีโครงเรื่องหรือพล็อตเรื่องก่อน ซึ่งโครงเรื่องก็เปรียบเสมือนโครงกระดูกของร่างกาย ถ้ามีโครงเรื่องที่ดีแข็งแกร่งเรื่องก็จะออกมาดี
2.เนื้อเรื่อง เปรียบเสมือนเนื้อหนังห่อหุ้มร่างกายหรือหุ้มกระดูกเอาไว้ การเขียนเนื้อเรื่องเป็นการใส่รายละเอียดปลีกย่อยให้แก่เรื่อง
3.แก่นของเรื่อง คือสิ่งที่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอะไร? เราต้องการสื่ออะไรให้ผู้อ่าน ซึ่งก็คือหัวใจของเรื่องนั้นเอง
4.การดำเนินเรื่อง ซึ่งก็เปรียบเสมือนการเดินหรือการวิ่ง ซึ่งเป็นการทำให้เรื่องที่เราเขียนขึ้นนั้นสามารถเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องได้
5.ชื่อเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าเรื่องที่เราเขียนนั้นสื่อถึงอะไร

@หลาย ๆ ครั้งมักจะมีคนถามว่าเราควรจะเขียนเรื่องอะไรดี? ซึ่งวิธีการเขียนที่ดีที่สุดก็คือเขียนเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด หรือเขียนเรื่องที่เรารู้จักดีที่สุด หรือเขียนเรื่องที่เรารู้จริงที่สุด หรือเขียนเรื่องที่เรารู้แจ้งที่สุด หรือเขียนเรื่องที่เรารู้จบที่สุด

@รู้แจ้ง คือรู้อย่างดี เช่นเรารู้จักหมาที่เราเลี้ยง แล้วเราก็รู้จักหมาตัวอื่น ๆ (พันธุ์อื่น ๆ ) ด้วย

@รู้จัก คือการเรียนรู้ซ้ำ ๆ ในเรื่องเดียวดัน

@รู้จบ คือรอบรู้ในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี

@สิ่งหนึ่งที่นักเขียนต้องมีก็คือ “แรงบันดาลใจ” โดยแรงบันดาลใจนั้นมีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา เป็นสิ่งที่เราอยากเอามาเล่าให้คนอื่นได้ฟัง ซึ่งแรงบันดาลใจที่ดีนั้นจะสร้างความน่าสนใจให้แก่ผู้เขียนและผู้อ่าน

@สาเหตุที่นักเขียนส่วนใหญ่เขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่จบนั้น เพราะ
1.เรื่องที่เขียนนั้นยังไม่น่าสนใจพอ
2.มีข้อมูลสำหรับนำไปเขียนไม่เพียงพอ
3.ผู้เขียนขาดความอดทน เช่น เบื่อ , เหนื่อย , ขี้เกียจ ฯลฯ
4.ขาดวินัยในการเขียน

@วินัยในการเขียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้นักเขียนประสบความสำเร็จในการเขียน ดังนั้นผู้ที่เป็นนักเขียนควรสร้างวินัยในการเขียนให้แก่ตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เราควรตั้งวินัยในการเขียนของตัวเองไว้ว่า ในวันหนึ่ง ๆ เราจะเขียนให้ได้เป็นเวลากี่นาที หรือกี่ชั่วโมง แล้วต้องพยายามทำตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้ ถ้าตั้งใจว่าจะเขียนวันละ 30 นาทีในเวลา 2 ทุ่มก่อนนอนก็ควรทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ต้องทำให้เป็นนิสัยแล้วจะเกิดวินัยขึ้นมาได้

@นักเขียนที่ดีต้องพยายามคิดอยู่เสมอว่า การเขียนก็คือการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา


@หลักในการเขียนประกอบไปด้วย
1.จินตนาการ โดยเฉพาะเรื่องแต่งเช่น เรื่องสั้น นิยาย บทกวี ฯลฯ ผู้เขียนต้องใส่จินตนาการลงไปในงานเขียนด้วยทุกครั้ง
2.วิชาการ ความรู้และข้อมูลความเป็นจริงในเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะงานเขียนที่ไม่แต่งขั้น เช่นสารคดี

@จินตนาการทำให้เรื่องที่เราเขียนนั้นน่าอ่าน แต่ถ้ามีจินตนาการเพียงอย่างเดียวเรื่องที่เราเขียนนั้นก็จะเกินจริงไป ดังนั้นจึงควรทำให้เรื่องที่เราเขียนมีความสมจริงด้วย

3.มีศิลปะการประพันธ์
4.ประสบการณ์ของผู้เขียน







อาจารย์ประภัสสร เสวิกุลให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ลองเขียนและให้คำแนะนำ








อาจารย์ชุติมา เสวิกุล ช่วยบรรยายเสริมให้ความรู้ในช่วงท้าย







หลักในการเลือกเรื่องที่จะเขียน
1.จงเขียนเรื่องที่ยังไม่มีใครเขียนมาก่อน
2.ถ้าเรื่องนั้นมีคนเคยเขียนไว้แล้ว เราต้องเขียนให้ดีกว่า

@หลักของวรรณศิลป์ (ที่ต้องนำมาใช้ในงานเขียน)
1.อารมณ์สะเทือนใจ คือหัวใจของการเขียนเรื่องแต่ง อารมณ์สะเทือนใจนั้นมีทั้งดีและไม่ดี เช่นอารมณ์สะเทือนใจแบบเศร้าสุด ๆ หรืออารมณ์สะเทือนใจแบบดีใจสุด ๆ (นักเขียนควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)

@อีโมชั่น (อารมณ์สะเทือนใจ)สำคัญสำหรับเรื่องแต่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงต้องมีอินฟอร์เมชั่น(ข้อมูล)

2.ความคิด+จินตนาการ เรื่องที่เขียนเราควรจะคิดพร้อมทั้งจินตนาการไปด้วย
3.การสื่อสารกับผู้อ่าน ผู้เขียนต้องสื่อสารให้ผู้อ่านรู้เรื่องราวที่เราเขียนให้ได้ , เรื่องที่เขียนต้องสื่อให้ตรงกับใจของผู้อ่าน

@ผู้เขียนคือผู้ส่งสาสน์ งานเขียน(หนังสือ)คือสาสน์ ผู้อ่านคือผู้รับสาสน์

4.อัตลักษณ์ของผู้เขียน งานเขียนเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของผู้เขียน ผู้เขียนควรมีสำนวนการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องไปลอกเลียนแบบใคร งานเขียนนั้นสามารถบ่งบอกตัวตนและจิตใจของผู้เขียนได้ด้วย
5.กลวิธีในการดำเนินเรื่อง (เทคนิคการนำเสนอเรื่อง) การที่จะทำให้ผู้เขียนมีเทคนิคที่ดีก็คือต้องอ่านให้เยอะ ดังนั้นการที่จะเป็นนักเขียนที่ดีจะต้องเป็นนักอ่านด้วย
6.การวางองค์ประกอบเรื่อง , ทิศทางของเรื่อง รวมทั้งสำนวนภาษาที่ใช้ ควรจะวางโครงสร้างทั้งหมดเอาไว้ก่อนแล้วหารายละเอียดใส่ลงไปในเรื่องนั้น

@อ.ประภัสสรเล่าให้ฟังถึงสาเหตุของการเขียนเรื่อง “ชี๊ค” เพราะว่าในตอนนั้นสหรัฐอเมริกาส่งกองเรือไปปิดล้อมประเทศลิเบียเอาไว้ อ.ประภัสสรจึงไปหาข้อมูลศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประเทศลิเบียและประเทศในแถบอาหรับเพิ่มเติม อ.ประภัสสรจึงสนใจอยากจะเรื่องนี้ขึ้นมา โดยถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่อง “ชี๊ค” อ.ประภัสสรเล่าให้ฟังว่า ศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยใช้เวลาอยู่ 1 ปีครึ่ง ก่อนที่จะลงมือเขียนเรื่องนี้

@ส่วนเวลาที่เขียนก็ต้องสร้างบรรยากาศในการเขียน โดยเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเรื่องที่จะเขียนให้ได้ เช่นจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับทะเลทรายก็เอาภาพทะเลทรายมาติดผนังไว้ เปิดเพลงประกอบที่เป็นเพลงที่เกี่ยวข้อง(เพื่อสร้างอารมณ์+จินตนาการ) บุคลิกของตัวละครก็ต้องไปหาภาพของคนในประเทศตะวันออกกลางมาดู หรือหาภาพมาติดเอาไว้ เวลาบรรยายลักษณะตัวละครจะได้บรรยายได้ถูก

@การเขียนคือการทำให้คนอื่นคล้อยตามเรา ดังนั้นเราควรจะเชื่อในเรื่องที่เราจะเขียนก่อน เช่นจะเขียนเรื่องผี เราก็ควรจะกลัวผีก่อน ผู้อ่านจึงจะกลัวตามและเชื่อในเรื่องที่เราเขียน

@นักเขียนควรเตรียมร่างกาย,จิตใจและสมองให้พร้อมก่อนที่จะลงมือเขียน เพราะว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งไม่พร้อมก็จะเขียนออกมาได้ไม่ดี ดังนั้นนักเขียนควรเตรียมทั้งร่างกาย,จิตใจและสมองในพร้อมก่อนที่จะเขียน อย่าฝืนตัวเอง

@เรื่องที่แต่งต้องเขียนออกมาให้เหมือนจริง ส่วนเรื่องจริงจะเขียนเหมือนเรื่องแต่งไม่ได้

@ตัวสะกดในงานเขียนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ควรเขียนตัวสะกดให้ถูกต้อง

@อย่าหลงลืมตัวละคร อย่าทิ้งตัวละคร วิธีที่ดีที่สุดคือควรทำแผนผังตัวละคร ว่าตัวละครไหนอยู่ผ่ายไหน ฝ่ายดีหรือว่าฝ่ายร้าย ฝ่ายพระเอกหรือว่านางเอก จะทำให้ไม่หลงลืมตัวละคร

@การสร้างตัวละคร ต้องสร้างตัวละครออกมาให้มีความเหมือนจริงมากที่สุด ต้องให้ข้อมูลของตัวละครอย่างเพียงพอ มีภูมิหลังของตัวละครตัวนั้น ๆ ด้วย เช่นควรสร้างตัวละครให้มีพื้นฐานทางสังคมด้วย เรียนจบอะไรมา , ทำอาชีพอะไร , ฐานะครอบครัวเป็นอย่างไร , สนใจเรื่องอะไร , มีความสามารถพิเศษเรื่องใด ฯลฯ

@ต้องระวังอย่าให้ตัวละครดื้อ เพราะว่าตัวละครต้องมีชิวิตเป็นของเขาเอง ต้องไม่เขียนให้ตัวละครฝืนกับความเป็นจริง เช่น ตัวละครเป็นครูคณิตศาสตร์แต่เขียนให้บวกเลขผิด หรือทอนเงินผิด มันจะขัดกับความเป็นจริง

โครงสร้างของนิยาย
1.การเริ่มเรื่อง
2.ความขัดแย้ง หรือปมปัญหาต่าง ๆ
3.จุดสูงสุดของความขัดแย้ง
4.การคลีคลายความขัดแย้งนั้น ๆ
5.บทสรุปของเรื่อง

@การเริ่มเรื่อง สามารถทำได้ทั้ง (1)เรียงความลำดับเวลา (เรียงตามเหตุการณ์) หรือ (2)เอาตอนจบของเรื่องมาเริ่มก่อน หรือ (3)เอาตอนที่เด่นที่สุดหรือสำคัญที่สุดมาเป็นตอนเริ่มเรื่อง เพื่อดึงดูดและล่อใจผู้อ่านให้อยากอ่านเรื่องของเรา

@การจบเรื่องคือ (1)การสิ้นสุดของปัญหาหรือปมขัดแย้งต่าง ๆ หรือ (2)จบแบบทิ้งปมหรือประเด็นเอาไว้ให้ผู้อ่านคิด หรือ (3)จบแบบยังไม่จบ คือผู้อ่านต้องไปคิดปัญหาต่อเอาเอง

@จบแบบทิ้งปมหรือประเด็นเอาไว้ คือผู้เขียนรู้อยู่แล้วว่าคำตอบคืออะไร แต่ต้องการให้ผู้อ่านไปคิดต่อเอาเอง
+อ.ประภัสสรบอกว่า สาเหตุที่ทำให้มาเป็นนักเขียนก็มาจากการที่ อ.ชอบดูภาพยนตร์และชอบอ่านวรรณคดี ดังนั้นสไตล์การเขียนจึงมีวิธีการตัดฉากเยอะ รวมทั้งให้ตัวละครพูดสั้น ๆ แต่ได้ใจความ

@ในการเขียนนิยาย ทุกคำพูดของตัวละครจะต้องมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง

@นิยายเดินเรื่องด้วย (1)คำบรรยาย + (2)คำพูดของตัวละคร หรือบทสนทนาของตัวละคร

@บทสนทนาของตัวละครจึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องด้วย

@ตัวละครพูดคุยกันสามารถเขียนให้สื่อได้หลายอย่าง เช่น พูดถึงฐานะของตัวละคร , บอกอารมณ์ของตัวละครในขณะนั้น , บอกเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว , บอกถึงเรื่องราวที่ผู้อ่านยังไม่รู้ , บอกข้อมูลสำคัญในเนื้อเรื่อง ฯลฯ

@ในการเขียนควรนำสำนวนโวหารมาใช้ด้วย เช่นอุปมาโวหารที่ใช้เปรียบเทียบ ซึ่งการใช้สำนวนโวหารนั้นจะช่วยร่นเวลาการเขียนลงได้มาก เช่นบอกว่า “ช้างทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด” ผู้อ่านอ่านแล้วจะเข้าใจในเรื่องราวได้โดยที่ผู้เขียนไม่ต้องเขียนบรรยายมากนัก

@การตั้งชื่อเรื่องเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะว่าชื่อเรื่องเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านจะเห็น การตั้งชื่อเรื่องที่ดีสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ ชื่อเรื่องที่ดีคือชื่อที่บอกนัยของเรื่องได้ แต่ไม่เปิดเผยทั้งหมดของเรื่อง

@ยกตัวอย่างชื่อเรื่อง “ลอดลายมังกร” อ.ประภัสสรคิดอยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวคนจีน ดังนั้นจึงต้องการคำที่สื่อความหมายที่เป็นจีน ซึ่งก็คือคำว่าหงส์หรือคำว่ามังกร แต่ตัวละครเอกในเรื่องเป็นผู้ชายจึงเลือกใช้คำว่ามังกร นอกจากนั้นการดำเนินเรื่องเป็นการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่เป็นหลาน เลยใช้คำที่มีความหมายในเชิงบุคคลที่สามเล่าถึงตัวละครเอก ซึ่งเป็นการมองผ่านเพื่อส่งต่อเรื่องราวมาให้ผู้อื่นได้ทราบ จนสุดท้ายจึงได้ชื่อว่า “ลอดลายมังกร”

@การตั้งชื่อเรื่องคือการย่อโลกทั้งใบให้เหลือเม็ดถั่วเขียว

หลักในการหาแรงบันดาลใจ
1.หาแนวเขียนที่ตัวเองชอบมากที่สุด
2.พยายามมองหาข้อดีและข้อด้อยในงานเขียนของตัวเอง
3.ทดสอบการเขียนในแนวที่ชื่นชอบกับแนวเขียนอื่นที่ยังไม่เคยเขียน
4.ศึกษาแนวเขียนที่เราชื่นชอบจากนักเขียนคนอื่น
5.ทักษะเกิดจากการเรียนรู้และการฝึกฝน ดังนั้นควรฝึกเขียนไปเรื่อย ๆ
6.ไม่มีใครรู้จักตัวเอราได้ดีเท่าตัวเราเอง เราควรรู้ว่าเราเขียนได้หรือไม่ได้
7.ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ถ้าดูถูกความสามารถของตัวเอง
+
@ท้ายสุด อ.ประภัสสร บอกผู้ที่อยากเป็นนักเขียนว่า ...

“หมั่นเขียนและฝึกฝนหาแนวทางของตนเองจนกระทั่งค้นพบตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ไม่จำเป็นต้องตามใคร จงเป็นตัวของตัวเองแล้วท่านก็จะเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ”





ผู้เข้าร่วมสัมมนาถ่ายภาพร่วมกัน


หลังจบสัมมาผู้เข้าสัมมนาได้ขอลายเซ็นอาจารย์ประภัสสร เสวิกุล


ผมก็ไม่พลาดที่จะขอลายเซ็นอาจารย์ประภัสสร เสวิกุลด้วย


คำอวยพรและลายเซ็นที่อาจารย์ประภัสสร เสวิกุล เซ็นมอบให้ผม






ผมขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ประภัสสร เสวิกุลและท่านอาจารย์ชุติมา เสวิกุล ผู้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความความรู้เกี่ยวกับงานเขียนให้แก่ตัวผมในครั้งนี้ รวมทั้งขอขอบคุณห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ที่ได้จัดให้มีงานกิจกรรมสัมมนาดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา

และขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านและเยี่ยมชมบล็อกนี้ด้วย หวังว่าเรื่องราวที่ผมนำเสนอในวันนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านได้บ้างครับ

อิอิ




Create Date : 26 พฤษภาคม 2557
Last Update : 26 พฤษภาคม 2557 16:33:22 น. 15 comments
Counter : 3658 Pageviews.

 
สุดยอดเลยค่ะคุณกล่อง อยากไปบ้าง


โดย: sawkitty วันที่: 26 พฤษภาคม 2557 เวลา:17:04:30 น.  

 
สวัสดีค่ะอาคุงกล่อง..

ดีจัง..มีนักเขียนใหญ่มาปูทางให้..

ต่อไปอาคุงกล่อง จะเขียนงานอย่างฉลุยเลยล่ะซิ

จะรออ่านอยู่นะค่ะ



โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) วันที่: 26 พฤษภาคม 2557 เวลา:18:09:00 น.  

 
แวะมาเก็บความรู้พกใส่กระเป๋า
..ขอบคุณค่ะคุณกล่อง




โดย: แอมอร IP: 101.108.162.42 วันที่: 26 พฤษภาคม 2557 เวลา:18:38:34 น.  

 
คุณกล่องโชคดดีมาก ที่ได้รับคำแนะนำจาก
นักเขียนใหญ่

คุณกล่องได้นำมาเขียนไว้ ผมคงต้องขออนุญาต
ก๊อบไว้ใช้บ้างครับ เป็นความรู้มาก ๆ เลยครับ


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 26 พฤษภาคม 2557 เวลา:19:14:46 น.  

 
ชอบอ่ะ เข้ามาอ่านทันที นานแล้วไม่ได้เข้ามาอ่านบล็อกใคร และไม่ได้เขียนบล็อกใหม่ด้วย หลงทาง ทำบล็อกไม่ค่อยเป็นซะแล้ว คิดถึงนะครัช 555


โดย: ปลายแป้นพิมพ์ IP: 171.5.31.253 วันที่: 26 พฤษภาคม 2557 เวลา:21:26:46 น.  

 
สวัสดีค่า คุณกล่อง ^^
ชอบจังค่ะ อ่านทุกตัวอักษรเลย
เป็นแนวทางที่ดีมากๆ
นุ่นอยากไปอบรมแบบนี้บ้างแต่ไกลจังเลย
ดีว่าได้อาศัยอ่านเอาแบบนี้
ก็ยังดีค่ะ

ขอบคุณมากๆนะคะ



โดย: lovereason วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:1:33:33 น.  

 

ได้ความรู้เยอะเลย
ขอบคุณค่ะ

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
**mp5** Dharma Blog ดู Blog
นธีทอง Business Blog ดู Blog
ฟ้าใสวันใหม่ Home & Garden Blog ดู Blog
อาคุงกล่อง Diarist ดู Blog

newyorknurse


โดย: newyorknurse วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:2:29:48 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: นัทธ์ IP: 58.11.182.149 วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:7:07:03 น.  

 

ขอบใจที่นำมาฝากจ๊ะน้องกล่อง
อ่านแล้วได้ความรู้จ๊ะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:8:25:46 น.  

 
ไม่ว่าจะทำงานอะไร คนเราต้องมีกำลังใจ และมีไฟควบคู่กันมาเสมอเนอะคุณกล่อง


โดย: โฮมสเตย์ริมน้ำ วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:10:42:27 น.  

 
โอ้โห แบบนี้ความรู้แน่นปึ๊กคุณกล่อง
อ่านแล้วอึ้งค่ะ ขอเป็นผู้อ่านต่อไป 555

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ดอยสะเก็ด Literature Blog ดู Blog
ป้าคาล่า Pet Blog ดู Blog
ปลาทอง9 Travel Blog ดู Blog
นธีทอง Business Blog ดู Blog
อาคุงกล่อง Diarist ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


โดย: schnuggy วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:13:05:10 น.  

 
ดีจังเลย จะได้เขียนกันเก่งๆ ชอบงานแบบนี้
ขอบคุณที่นำเนื้อหามาแชร์ค่ะ

อยากไปเที่ยวทางรถไฟอีกค่ะ
มดค่ะ


โดย: ่jewelmoda IP: 125.24.107.120 วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:16:11:30 น.  

 
ได้ความรู้เยอะเลยครับ


โดย: เศษเสี้ยว IP: 182.52.48.33 วันที่: 28 พฤษภาคม 2557 เวลา:8:21:25 น.  

 
ปรบมือให้อาคุงกล่อง เห็นความเพียร เห็นคุณกล่องขวนขวายหาความรู้ที่จะเป็นนักเขียนที่ดีมาตลอด ขอชื่นชมนะครับ และยิ่งต้องชื่นชมที่ทุกๆครั้งอาคุงกล่องก็จะนำความรู้ที่ได้รับมามากบ้างน้อยบ้างมาแชร์ มาแบ่งปันอีก นี่สิ บล็อกนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งบล็อกที่มีคุณค่ามีประโยชน์ ใครเข้ามาอ่านก็ได้รับกลับไป ผมเองก็เช่นกันครับ ได้กลับไปหลายข้อคิด แต่ที่แน่ๆข้อหนึ่งคืออ่านแล้วคงเป็นนักเขียนกับเค้าไม่ได้ แบบว่ายากเกินไป อิอิ


โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 28 พฤษภาคม 2557 เวลา:11:15:19 น.  

 
อยากเป็นนักเขียน ก็ต้องหมั่นเขียนล่ะค่ะ

ขอสมัครเป็นนักอ่านอย่างเดียว...ไม่สามารถจริงๆ แค่คิดพล็อตก็ตื้อแล้วค่ะ

ที่บ้านมีหนังสือคุณประภัสสร เสวิกุล หลายเล่มเหมือนกันค่ะ




โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 4 มิถุนายน 2557 เวลา:6:49:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.