Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2558
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 พฤษภาคม 2558
 
All Blogs
 
แม่เบี้ย

8 พฤษภาคม 2558










หนังสือเล่มที่ผมอ่านในวันนี้หลาย ๆ ท่านคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดีแน่ แต่ผมเชื่อว่าน้อยคนที่จะได้อ่านฉบับวรรณกรรมเล่มนี้ เพราะว่านวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” ที่แต่งโดยวาณิช จรุงกิจอนันต์ เล่มนี้พิมพ์น้อยครั้งมาก ตัวหนังสือก็เชื่อว่ามีออกวางจำหน่ายไม่มากนัก ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกลงนิตยสารลลนาในปี 2530 จนมาถึงวันนี้นับเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วแต่นวนิยายเล่มนี้พิมพ์ไปแล้วแค่ 4 ครั้งเอง ส่วนสาเหตุที่ผมบอกว่าหลาย ๆ ท่านคงรู้จักดีก็เป็นเพราะว่านวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” นี้ได้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดได้สร้างความฮือฮามากในฉากที่นางเอกของเรื่องนั่งไพล่ขาบนกระต่ายขูดมะพร้าว ที่ถือว่าเป็นภาพหนึ่งที่ติดตาผู้ชมทั่วไปเป็นอย่างมาก

จริง ๆ แล้วผมเพิ่งเคยได้อ่านเรื่อง “แม่เบี้ย” นี้เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว สาเหตุมาจากการที่ผมได้ไปเรียนการเขียนนวนิยายที่สำนักพิมพ์อรุณ คุณครูกีรติ ชนา ผู้สอนได้บอกว่านวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” นี้ถือว่าเป็นนวนิยายที่ดีที่สุดของเมืองไทย จึงทำให้ผมต้องลองหามาอ่านดูสักครั้ง ส่วนสาเหตุที่ผมกลับมาอ่านใหม่ในครั้งนี้ก็เพราะผมเห็นข่าวว่า หม่อมน้อย (ม.ล. พันธ์เทวนพ เทวกุล)กำลังจะสร้างภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีภาพโปรโมทออกมาว่ามี ชาคริต แย้มนามเล่นเป็นพระเอก จึงเป็นกระแสกระตุ้นให้ผมต้องรีบกลับมาอ่าน “แม่เบี้ย” ฉบับวรรณกรรมนี้อีกครั้ง เพราะผมไม่อยากให้เรื่องราวในภาพยนตร์มากลบภาพความทรงจำในฉบับวรรณกรรมทิ้งไปจนหมด เนื่องจากในฉบับวรรณกรรมนั้นเป็นต้นฉบับที่แท้จริง แต่ภาพลักษณ์จากการสร้างเป็นภาพยนตร์ในครั้งที่แล้วทำให้สื่อมวลชนและคนทั่วไปเข้าใจว่า “แม่เบี้ย” เป็นนวนิยายอีโรติค แต่ถ้าท่านได้มาอ่านฉบับวรรณกรรมแล้วท่านจะรู้ได้เลยว่าน่าจะเป็นแนวโกธิคมากกว่า โดยมีอีโรติคปนด้วยบ้างเท่านั้น อีกทั้งประเด็นหลักของเรื่องที่ผู้เขียนตั้งใจจะสื่อก็คืองูที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องมากกว่า





 

ภาพชาคริตที่จะเล่นเป็นชนะชล







ในนวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” นี้ คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ เขียนคำโปรยไว้ใต้ชื่อเรื่อว่า “สายน้ำ ความหลัง ชายหนุ่ม หญิงสาว และงู” ทั้ง 5 สิ่งนี้ได้ปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้ โดยสายน้ำดูเหมือนจะทำให้เรื่องราวดำเนินไปคล้ายกับสายน้ำที่ไหลริน โดยมีข้อเท็จจริงในอดีตเป็นความหลังที่พระเอกของเรื่องพยายามตามหา พระเอกในเรื่องชื่อชนะชล ผู้ที่มีชื่อว่าชนะต่อสายน้ำแต่ในความเป็นจริงแล้วสายน้ำได้เป็นตัวกำหนดชีวิตของเขาทั้งเกิดและดับ หญิงสาวในเรื่องคือนางเอกของเรื่องที่มีชื่อว่าเมขลา ชื่อเดียวกับนางในวรรณคดีตำนานที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี หญิงสาวสมัยใหม่ที่มองโลกต่างไปจากเดิมเธอมองว่าความรักเป็นเพียงแค่ของเล่นแก้เหงา ส่วนสิ่งสุดท้ายในเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะเป็นประเด็นความลี้ลับที่ทำให้เรื่องราวดูลึกลับและเข้มข้นขึ้นซึ่งก็คืองูนั่นเอง งูเห่าที่ในเรื่องถือว่าเป็นตัวแทนแห่งบาปของการปล่อยใจไปตามอารมณ์ตัณหาที่ซ่อนอยู่ลึกในใจมนุษย์

นวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” นี้ เคยมีนักวิจารณ์ระบุไว้ว่าเป็นเรื่องในแนวโกธิค แบบไทย ๆ โดยเรื่องในแนวโกธิคก็คือเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปราสาทลึกลับ ซึ่งในเรื่องนี้มีเรือนไทยโบราณเป็นฉากหลัก โดยมีภาพบรรยากาศใต้แสงตะเกียงวับ ๆ แวม ๆ บรรยากาศท่าน้ำริมคลอง และมีงูลึกลับที่ถือว่าเป็นงูเจ้าที่อาศัยอยู่ในบ้านไทยโบราณหลังนี้ด้วย สำหรับเรื่องย่อของนวนิยายเรื่องนี้ผมคาดว่าหลายท่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะว่าพล็อตของเรื่องนั้นก็ถือว่าเป็นแนวน้ำเน่าเรื่องหนึ่งเหมือนกัน คือตัวชนะชล (พระเอก) ที่แต่งงานมีลูกแล้วได้มายุ่งกับเมขลา (นางเอก) ที่เป็นสาวเจ้าเสน่ห์ ทั้งคู่ต่างก็รู้ดีว่าความสัมพันธ์ในครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามนักก็ตาม แต่ทั้งสองก็ยังปล่อยให้ความสัมพันธ์ดำเนินต่อไปตามความต้องการของกามอารมณ์ ดังนั้นจึงต้องมีงูเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ทำลายความสัมพันธ์ความรักในครั้งนี้ อ่านแล้วก็น่าคิดตามเหมือนกันว่า ถ้าตัวคุณ (ผู้อ่าน) ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับพระเอก (หรือนางเอก) ในเรื่องนี้แล้วตัวคุณจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปมปัญหาอันผิดศีลธรรมนี้

ผมคิดว่าสาเหตุที่ทำให้นวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” เป็นผลงานวรรณกรรมที่แตกต่างจากนวนิยายน้ำเน่าหรือนิยายพาฝันทั่วไปก็คือ สำนวนการเขียนและการเล่าเรื่อง การเลือกใช้คำและวิธีการดำเนินเรื่องนั้นดูเหมือนว่าจะมีการซ่อนความหมายที่แท้จริงอยู่ระหว่างบรรทัดโดยตลอด ถือว่ามีการใช้วรรณศิลป์ที่งดงามในการเขียน บางส่วนในนวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” นี้ถือว่าออกแนวอีโรติค (Erotic หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า วิจิตรกามา) แต่ว่าผู้เขียนเลือกใช้คำและเลือกที่จะเล่าเรื่องราวเฉพาะส่วน ทำให้อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความงดงามของภาษาที่ผู้เขียนเลือกใช้ ผมขอยกตัวอย่างเช่น

 



“ดูเหมือนเรื่องของงูเห่าใหญ่จะเลือนหายไปจากจิตใจของทั้งเขาและเธอในทันที เมขลาแนบแก้มลงนิ่งกับอกเปล่าเปลือยหนั่นแน่นของเขา มือของเธอกอดไหล่ใหญ่กว้างนั้นไว้แล้วก็ลูบไล้เล่นไปเหมือนเผลอตัว ชนะชลโอบเหนี่ยวเอวคอดให้ร่างเธอแนบเข้ามา เขาลูบเล่นเส้นผมที่สยายดำแผ่เต็มแผ่นหลัง พลางซุกไซ้ดมกลิ่นหอมของเส้นผมที่ละเอียดนุ่มราวกับเส้นไหมสีดำสนิทนั้น

ร่างแข็งแรงของเขาพาหญิงสาวลงนั่งที่ขอบเตียงนอนอันมีผ้าขาวขึง เมขลายังคงซุกหน้าอยู่กับอกของเขา ขณะที่เธอเหนี่ยวชายมุ้งลง ชนะชลเอนกายลงรั้งให้เธอนอนตาม เขาพลิกตัวขึ้นแนบหน้าสัมผัสเนื้อนิ่มในใต้เสื้อคอกระเช้าสีขาว เลยเลื่อนขึ้นถึงซอกคอเนินแก้ม แล้วกดริมฝีปากลงกับปากนุ่มของเธอที่เผยอรอ สะโพกโค้งกลมกลึงใต้ผ้าซิ่นยกดอกลายของหญิงสาวละมุนมือ เอวเล็กเว้าคอด แผ่นหลังของเธอเรียบเนียน”
(หน้า 196)



ผมอ่านแล้วสามารถจินตนาการภาพตามไปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้นักเขียนบรรยายภาพที่วาบหวิวนั้นต่อเลย ผมอ่านแล้วเห็นภาพในมุ้งล่วงหน้าเลยเถิดไปจากที่เขียนไว้เยอะ ในส่วนที่เป็นอีโรติดนี้ถ้าเขียนไม่ดีก็จะออกแนวลามกอนาจารก็เป็นได้ อาทิเช่น ฉากที่ฮือฮาในภาพยนตร์ที่เมขลา (นางเอก) นั่งขูดมะพร้าวนั้น ผมอ่านแล้วไม่มีฉากใดที่นางเอกไปนั่งขูดมะพร้าวยั่วยวนเหมือนที่เห็นในภาพยนตร์เลย ผมคิดว่าเมขลาในเรื่องคงไม่คิดที่จะยั่วยวนชนะชลด้วยวิธีที่ทำให้ตัวเธอเองดูต่ำแบบนี้เลย แต่ในเรื่องเมขลามีวิธีมัดใจพระเอกได้ด้วยความรู้สึกที่พระเอกรับรู้และไม่สามารถปฏิเสธได้มากกว่า ซึ่งในฉบับวรรณกรรมนั้นมีความลุ่มลึกมากกว่าเยอะ (คงจะเหมือนกับเรื่อง แผลเก่า ที่ในภาพยนตร์มีฉากไอ้ขวัญ (พระเอก) นั่งเป่าขลุ่ยอยู่ข้างกองฟาง เพื่อให้เห็นภาพว่าไอ้ขวัญเป็นพระเอกแบบลูกทุ่ง แต่จริง ๆ แล้วในฉบับวรรณกรรมไม่ได้พูดถึงเรื่องเป่าขลุ่ยเลยสักนิด คงเป็นการตีความเพื่อสร้างภาพของผู้สร้างภาพยนตร์มากกว่า)

ในเรื่อง “แม่เบี้ย” นี้ ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าภาษาสวยงามมากกว่าที่จะเน้นถึงเรื่องกามารมณ์เพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานเขียนชั้นครูที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นเรื่องราวยังซับซ้อนมากขึ้นไปอีกเมื่อมีงูเข้ามาเกี่ยวข้อง งูเห่าใหญ่ที่ดูเหมือนจะรู้ภาษาคน งูที่ชูคอแผ่แม่เบี้ยขู่คน งูซึ่งกลายเป็นฆาตกรฆ่าคนบาป ต้องถือว่างูเป็นประเด็นความลี้ลับที่สร้างให้เรื่องราวสนุกและน่าติดตามมากขึ้นด้วย

ผมอ่านนวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ ที่มีความหนา 458 หน้าจบลงรวดเดียวด้วยเวลา 7 ชั่วโมงกว่า (มีพักครึ่งไปกินข้าวด้วยนะ) ถือว่าเป็นนวนิยายที่มีภาษางดงามและเรื่องราวสนุกน่าสนใจเป็นอย่างมาก หนังสือเล่มที่อยู่ในมือผมนี้ผมยืมมาจากห้องสมุด TKpark เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พฤษภาคม 2551 โดยแพรวสำนักพิมพ์ ราคาปก 275 บาท (หนังสือในโครงการ รักวรรณกรรมไทย) นวนิยาย “แม่เบี้ย” เล่มนี้อาจจะขาดตลาดเนื่องจากทางแพรวสำนักพิมพ์ยังไม่ได้พิมพ์ใหม่ ดังนั้นอาจจะหายากตามร้านหนังสือทั่วไป (แต่ผมเห็นในงานหนังสือมีขายเยอะเลย) ดังนั้นถ้าท่านเจอ “แม่เบี้ย” ฉบับวรรณกรรมเล่มนี้เมื่อไหร่ ขอให้ท่านรีบหยิบมาอ่านโดยทันที ผมเชื่อว่าท่านคงจะไม่ผิดหวังกับเรื่องราวความรักที่มีงูเข้ามาเกี่ยวข้องนี้แน่ ๆ ครับ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านหนังสือนะครับ ขอให้ท่านอ่านงานวรรณกรรมกันเยอะ ๆ เพื่อให้หนังสือวรรณกรรมยังคงอยู่รอดในสังคมไทยครับ








 



@@@@@@@@@@

คำชี้แจงท้ายเรื่อง ...

รายละเอียดและเนื้อหาในบล็อกนี้ไม่ใช่บทวิจารณ์วรรณกรรม เนื่องจากข้าพเจ้าไม่มีคุณวุฒิเพียงพอที่จะทำการวิจารณ์งานวรรณกรรมใดได้ เนื้อหาในบล็อกนี้จึงถือว่าเป็นการรีวิวแนะนำหนังสือเล่มที่ได้อ่าน โดยเป็นการเขียนถึงหนังสือเล่มนั้น ๆ ด้วยความรู้สึกหลังจากได้อ่านจบลงแล้ว ดังนั้นข้อความทั้งหมดในบล็อกนี้จึงเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าเท่านั้น





Create Date : 08 พฤษภาคม 2558
Last Update : 8 พฤษภาคม 2558 0:12:42 น. 15 comments
Counter : 56431 Pageviews.

 
เห็นด้วยที่ว่าภาษาในวรรณกรรมสามารถดึงจินตนาการได้ลึกกว่าภาพยนต์
ค่ะ


โดย: ชลบุรีมามี่คลับ วันที่: 8 พฤษภาคม 2558 เวลา:22:10:31 น.  

 
สวัสดีค่า คุณกล่อง ^^

แม่เบี้ยไม่เคยอ่านจริงๆค่ะ เคยแต่ดูเวอร์มะหมี่ (รึเปล่า) ขูดมะพร้าวนั่นแหละ
คิดว่าเป็นเรื่องที่หมิ่มเหม่ศีลธรรมในสมัยนั้นเลยนะคะ ถ้าเป็นในปัจจุบันกับนักเขียนใหม่ๆ ยากจะผ่านเป็นเล่มได้ ยกเว้นนักเขียนดังๆ

เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องขนาดนี้ อยากอ่านมากค่ะ เอาไว้จะหามาอ่านบ้าง

คุณกล่องเข้าอบรมรอบสองรึเปล่าคะ เห็นว่ามีเปิดใช่มั๊ย ได้ความรู้เอามาปรับงานเขียน ดีมากๆเลยนะคะ อยู่ใกล้ก็อยากจะลองส่งบ้างเผื่อจะมีโอกาสไปอบรมกับเค้า TT


มาช้าหน่อยค่ะ เกือบมาอ่านไม่ทันซะแล้ว
ขอบคุณสำหรับรีวิวค่า



โดย: lovereason วันที่: 9 พฤษภาคม 2558 เวลา:0:33:35 น.  

 
เรื่องนี้เราชอบการบรรยายสภาพแวดล้อมและสำนวนที่สละสรวยค่ะ ส่วนฉากอิโรติกในเล่มเราว่านิยายไทย+18ในปัจจุบันยังโจ่งครึ้มยิ่งกว่าเรื่องนี้มากมายนัก ใครที่ชอบอ่านสำนวนงดงามลองหาอ่านดูค่ะ มายกมืออีกคนว่าเรื่องนี้น่าอ่านเหมือนได้เสพงานศิลปะที่ถ่ายทอดออกมาทางตัวอักษรแทนที่จะเป็นภาพวาด


โดย: กรุงอินทร์ IP: 27.55.203.210 วันที่: 9 พฤษภาคม 2558 เวลา:11:23:25 น.  

 
เห็นแล้วอยากอ่าน เพิ่งทราบว่าจะนำมาสร้างใหม่ ใครหนอจะเป็นนางเอก ภาพกระต่ายขูดมะพร้าวลอยมาก่อนเลย ว่าแต่ใช่เรือนี้ไหม


โดย: sawkitty วันที่: 9 พฤษภาคม 2558 เวลา:16:59:11 น.  

 
เห็นเค้าว่ากันว่านิยายเล่มนี้ภาษาสวยมากๆ
ว่าแล้วต้องลองหามาอ่านดู


โดย: PZOBRIAN วันที่: 10 พฤษภาคม 2558 เวลา:14:29:43 น.  

 
อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog
อ่านแล้วก็งงๆกับคำศัพท์สองตัวคือ โกธิค กะ อีโรติค
ต้องกลับไปหาความหมายว่ามันคืออะไร กินได้หรือเปล่าฮ่าๆล้อเล่นค่าาาา


โดย: Opey วันที่: 11 พฤษภาคม 2558 เวลา:1:16:08 น.  

 




ตาม มาอ่านหนังสือ ด้วยคนค่ะ ..










โดย: foreverlovemom วันที่: 12 พฤษภาคม 2558 เวลา:12:47:06 น.  

 
สวัสดีครับแวะมาเยี่ยมมาเยียนครับ


โดย: บูรพากรณ์ วันที่: 12 พฤษภาคม 2558 เวลา:17:35:47 น.  

 
โหวตให้นะคะ

เป็นนิยายเรื่องหนึ่งที่เราชอบ

แต่แหม..บอกว่าเป็นนิยายไทยที่ดีที่สุดเลยเหรอคะ? ครูผู้สอนท่านนั้น...นิยายไทยดีๆ ก็มีอีกหลายเล่มน่อ

ภาษาคุณวาณิชถือว่าเลิศอยู่แล้วค่ะ ท่านเป็นนายของภาษา ยอมรับนับถือเลยจริงๆ


ทำไมถึงจะไม่ได้ดูหละคะ ละครดีมากเลยนะคะ เราเชียร์หละ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 13 พฤษภาคม 2558 เวลา:10:25:22 น.  

 
มีหนังสือของคุณ กีรติ ชนา

แม่เบี้ย ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ไม่ได้อ่านค่ะ ทำไมนึกไปถึงฉากที่เค้านำเสนอตลอดๆ ก็ไม่รู้ ก็ไม่เคยดูหนังนะคะ เลยพาลไม่ได้อ่านฉบับวรรณกรรมไปด้วย

----

ทำใจ กับราคาอาหารประมาณนี้ได้ค่ะ พอรับได้ ปริมาณน้อยไปหน่อย แต่อร่อยดี

บางร้าน คนแน่นมาก รอคิวกันยาว พอได้กิน รสชาติก็ไม่ได้ถูกปากถูกใจนัก แถมแพงอีก แต่หลายคนเค้าก็อร่อยกันนะคะ ถ้าแบบนี้ เสียดายหนักเลยค่ะ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 13 พฤษภาคม 2558 เวลา:14:58:31 น.  

 




ขอบคุณ อาคุงกล่อง ค่ะ ที่ไปเยี่ยมเยียน เมื่อวานนี้ ..




~






โดย: foreverlovemom วันที่: 14 พฤษภาคม 2558 เวลา:9:54:36 น.  

 
แวะมาทักทายค่า เปิดมาเจอซิกแพคชาคริต ตกกะใจเลย อิอิ


โดย: BosSaGirl วันที่: 15 พฤษภาคม 2558 เวลา:0:53:49 น.  

 
อ่านแม่เบี้ยตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสา...
เคยมีจุดไม่เข้าใจหลายจุดมาก
จนได้มาดูหนัง กลับไปอ่านอีกรอบ ตอนนี้ละชอบเลยทีเดียวเชียว

แต่งานที่ชอบที่สุดของคุณวาณิชคือเคหาสน์ดาวค่ะ...อ่านแล้วรู้สึกเรียลดี ไม่ต้องจินตนาการหรือแปลความใด ๆ เลย

โหวตให้นะคะ

ป.ล. เจ้าจันท์ผมหอมมีพิมพ์มากกว่า 20 ครั้งแล้วค่ะ ดูเหมือนว่าจะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กมหา'ลัยด้วย คาดว่าคงหาอ่านไม่ยาก


โดย: แม่ไก่ วันที่: 15 พฤษภาคม 2558 เวลา:12:22:12 น.  

 
เป็นบทวิจารณ์ที่ตรงใจเลยค่ะ

สงสัยเกี่ยวกับตัวละครไหมแก้วนิดนึงค่ะ

ในนวนิยายเรื่อง "แม่เบี้ย" ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ผู้เขียนบรรยายว่า ไหมแก้ว ภรรยาของชนะชลจบจากคณะที่ "ผลิตบัณฑิตเพื่ออกไปเป็นเมียน้อย" (มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2543, หน้า 233) ซ้ำยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศ

คณะนั้นคือคณะอะไรคะ


โดย: ลูกodd วันที่: 26 กันยายน 2558 เวลา:11:32:43 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำตอบที่บล็อกนะคะ


โดย: ลูกodd วันที่: 29 พฤศจิกายน 2558 เวลา:23:05:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.