Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2557
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
3 กรกฏาคม 2557
 
All Blogs
 
“การอนุรักษ์อย่างมีศิลปะ” โดยอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ






อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ กล่าวว่า การอนุรักษ์ก็คือการรักษาให้คงเดิม รักษาในสิ่งที่เรารักหรือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่า ส่วนสาเหตุที่เราควรรักษาสิ่งนั้นไว้ก็เพราะ 1.สิ่งนั้นมีความงาม 2.สิ่งนั้นมีเรื่องราว ทำให้เราเกิดอารมณ์รักในสิ่งนั้นขึ้นมา ดังนั้นการที่เราอนุรักษ์ป่าไว้ก็เพื่อรักษาความงดงามของป่าเอาไว้นั้นเอง

อาจารย์ศศิน ได้ใช้ศิลปะเข้ามาเป็นตัวช่วยในงานด้านการอนุรักษ์ โดยใช้วิธีการสร้างแรงสะเทือนใจและสร้างอารมณ์รักผ่านออกมาเป็นงานศิลปะเพื่อสื่อให้บุคคลอื่นได้เข้าใจในสิ่งที่ต้องการอนุรักษ์ เรื่องของงานวิชาการนั้นให้ทั้งความรู้และข้อเท็จจริง แต่งานศิลปะนั้นสามารถสื่อถึงอารมณ์ให้คนอื่นรับทราบได้

ศิลปะคือความลงตัว ศิลปะเป็นสิ่งที่คนเราดูแล้วมีความสุข ความงามของศิลปะสามารถหล่อเลี้ยงจิตใจของคนได้ อาจารย์ศศิน บอกว่า การให้เพียงแต่ข้อมูลอย่างเดียวคนที่รับสารก็คงเบื่อ แต่เมื่อมีการใช้ศิลปะสร้างแรงสะเทือนใจเข้ามาประกอบด้วย จะสามารถดึงคนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นพวกของเราได้

สำหรับการเดินรณรงค์เพื่อขัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อปี 2556 นั้น อาจารย์ศศินใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องเป็นสื่อหลักสำหรับการติดต่อและชักจูงให้คนอื่นมาเข้ามีส่วนร่วมด้วย โดยใช้วิธีการโพสเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางเฟสบุ๊คส์ ซึ่งอาจารย์ศศินเล่าให้ฟังว่า เป็นเรื่องบังเอิญโชคดีที่ทำการเดินรณรงค์ในปี 2556 เพราะว่าเป็นปีที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสื่อสารแล้ว ถ้าทำการเดินก่อหน้านั้นก็อาจจะสื่อสารให้เข้าถึงคนอื่นได้ไม่ดีเท่าปีนี้ ในปี 2556 ที่ผ่านมาโทรศัพท์สมาร์โฟนได้เข้ามาแผ่หลายอย่างมากแล้ว มีคนจำนวนมากใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งระบบการสื่อสาร 3 จี ก็ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ที่เราทำการรณรงค์ จึงทำให้เราสามารถเดินไปด้วยและโพสเฟสบุ๊คส์ไปพร้อม ๆ กันได้ ดังนั้นผู้ที่ติดตามเราทางเฟสบุ๊คส์จึงมีความรู้สึกเหมือนมีส่วนร่วมไปกับการเดินรณรงค์ของเราด้วย

“ในเฟสบุ๊คส์จะมีการโพสภาพรองเท้าที่ขาดหรือภาพถ่ายเท้าที่เดินจนเจ็บ สลับกับภาพถ่ายความงามของธรรมชาติสองข้างทางหรือภาพของคนที่ซื้อข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงเรา เป็นการสร้างแรงสะเทือนใจทั้งทางลบและทางบวกควบคู่กันไปตลอด เพื่อที่จะทำให้คนซึ่งติดตามเราทางเฟสบุ๊คส์นั้นมีความรู้สึกเหมือนว่าได้เดินไปด้วยกันกับเรา”

อาจารย์ศศิน อธิบายให้ฟังต่ออีกว่า การเดินไปด้วยและโพสเฟลบุ๊คส์ไปด้วยนั้น เป็นการทำงานแบบนักวิชาการในคราบของนักเคลื่อนไหว โดยแต่ละวันจะมีวางแผนการเดินและวางแผนในการที่จะปล่อยเรื่องราวต่าง ๆ ออกไปด้วยภาพถ่ายและการโพสข้อความต่าง ๆ โดยในการเดินหนึ่งวันนั้นจะมีการโพสเฟสบุ๊คส์ประมาณ 40 สเตตั๊ด ซึ่งมีทั้งข้อความสั้น ๆ และข้อความที่ยาว สำหรับข้อความที่ยาวอาจารย์ศศิน จะทำการโพสในช่วงเช้าก่อนที่จะออกเดิน ซึ่งจะเป็นการสรุปเรื่องราวและบอกให้คนอื่นได้รับรู้ว่า เมื่อวันที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไปบ้างและในวันนี้เราจะทำอะไรต่อไปบ้าง ผู้ที่เฝ้าติดตามเราผ่านทางเฟสบุ๊คส์จึงได้มีความรู้สึกที่มีส่วนร่วมกับเราไปโดยตลอด

อาจารย์ศศิน ลองยกตัวอย่างข้อความบางประโยคที่เป็นคำคมซึ่งได้โพสลงไปในเฟสบุ๊คส์

“เดินผ่านความไกล เดินผ่านความกลัว เราจะเดินไปด้วยหัวใจที่ใกล้ ๆ กัน”

“อุปสรรคและปัญหาไม่ได้ทำให้ขนาดของหัวใจเราลดลง”

สำหรับการโพสเรื่องราวต่าง ๆ ลงไปในเฟสบุ๊คส์นี้ อาจารย์ศศิน บอกว่าไม่ได้เป็นการหลอกลวงให้คนติดตาม แต่เป็นการทำงานรณรงค์โดยใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องราวเพื่อสื่อให้คนอื่นได้ทราบ ซึ่งผลตอบรับก็คือมีคนติดตามเรามากขึ้น จนกระทั่งเมื่อเราเดินถึงที่หมายแล้วมีคนที่ติดตามเราผ่านทางเฟสบุ๊คส์มากกว่าหนึ่งแสนคน สำหรับอาจารย์ศศิน แล้วถือว่าการเดินรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ในครั้งนี้เป็นการสร้างผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งเลย










สำหรับในประเด็นเรื่องการอนุรักษ์เสือนั้น มักมีคนถามอาจารย์ศศิน อยู่เสมอว่า “ทำไมต้องอนุรักษ์เสือ?” ซึ่งอาจารย์ศศินได้อธิบายให้ความเข้าใจในส่วนนี้ว่า

“ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเสือมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์อย่างไร”

เพราะว่าข้อมูลทางวิชาการนั้นคนทั่วไปสามารถรับรู้ได้อยู่แล้ว แต่สาเหตุของการที่อาจารย์ต้องการอนุรักษ์เสือนั้น ท่านอาจารย์ศศินได้ยกเอานิทานเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ฟัง ซึ่งนิทานเรื่องนี้มีชื่อเรื่องว่า “เสือกินวัว” โดยเรื่องราวของนิทานมีอยู่ว่า

“ในครั้งหนึ่งมีเสือตัวหนึ่งเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าเสือซึ่งเป็นสัตว์นักล่าที่เก่งกาจเมื่อมาเจอกับวัวธรรมดาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้จึงสามารถฆ่าวัวเพื่อนำไปกินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย เรื่องนี้จึงเดือดร้อนมาถึงผู้นำของหมู่บ้านที่จะต้องปกป้องคุ้มครองลูกบ้าน ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นผู้นำหมู่บ้านเขาจึงต้องออกตามล่าเสือตัวนั้น ด้วยการถือปืนเดินตามแกะรอยเสือเข้าไปในป่าลึก จนกระทั่งตามไปพบเสือตัวนั้นที่กำลังนั่งอย่างงามสง่าอยู่บนยอดโขดหินของหน้าผาในเชิงป่า ผู้นำหมู่บ้านจึงยกปืนขึ้นเพื่อประทับเล็งไปที่เสือตัวนั้น แล้วเขาก็คิดขึ้นในใจว่า เสือเป็นสัตว์นักล่าที่มีศักดิ์ศรี ถือว่าเป็นสัตว์เจ้าป่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกคัดสรรขึ้นมาให้อยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหาร แล้วทำไมเขาต้องฆ่าเสือเพียงแค่เพราะว่าเสือตัวนั้นมากินวัวธรรมดาตัวหนึ่งเท่านั้น ถ้าเขาเลือกที่จะยิงเพื่อฆ่าเสือตัวนั้นก็เท่ากับว่าเขาเลือกที่จะฆ่าจิตวิญญาณที่อยู่ในศักดิ์ศรีของตัวเขาไปพร้อมกันด้วย”

นิทานที่นำมาเล่านี้อาจจะไม่ได้กล่าวถึงบทสรุปในตอนท้ายของเรื่องที่สอนให้รู้ว่าอย่างไร? เพียงแต่อาจารย์ศศิน ได้ทิ้งประเด็นคำถามคาใจที่ว่า “ทำไมต้องฆ่าเสือด้วยสาเหตุที่เสือมากินวัวเท่านั้น?” เอาไว้ให้ผู้ฟังได้ลองคิดตามต่อแทน ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการตอบคำถามอย่างมีศิลปะของชายนักอนุรักษ์คนหนึ่งแล้ว

นอกจากนั้นอาจารย์ศศิน ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“การฟื้นฟูยากกว่าการรักษาไว้ อะไรที่ยังดีอยู่ก็ควรเก็บเอาไว้ การเก็บรักษาเอาไว้ง่ายกว่าการฟื้นฟูเมื่อมันเสียไปแล้ว ป่าและแม่น้ำที่ยังคงดีอยู่ก็ควรอนุรักษ์เอาไว้ การปลูกป่าขึ้นมาใหม่ไม่อาจจะทดแทนป่าเดิมได้ 100% ดังนั้นเราควรจะใช้ศิลปะในการทำให้คนเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องการอนุรักษ์เอาไว้”


ในปัจจุบันอาจารย์ศศิน ยังคงทำงานอนุรักษ์ผ่านศิลปะการเขียน ผ่านงานวรรณกรรมต่าง ๆ (เช่นคอลัมน์ “จากป่าสู่เมือง” ในนิตยสารสารคดี) รวมทั้งการโพสเรื่องราวของการอนุรักษ์ต่าง ๆ ลงในเฟสบุ๊คส์ เพื่อเป็นการส่งข้อมูลหรือสื่อเรื่องราวให้คนในสังคมได้รับทราบ ถือว่าเป็นการใช้ศิลปะการเขียนเพื่อสร้างแรงสะเทือนใจให้แก่คนอื่นได้รับรู้ อีกทั้งเพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ศิลปะในการอนุรักษ์นั้น ท่านอาจารย์ศศิน กำลังดำเนินการรวบรวมข้อเขียนที่เป็นทั้งเรื่องราวและคำคมต่าง ๆ รวมทั้งภาพถ่ายต่าง ๆ ในระหว่างการเดินรณรงค์ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ (เดิน 13 วันเพื่อการต่อต้าน) เพื่อนำมาจัดเพื่อเป็นหนังสือซึ่งจะออกมาวางจำหน่ายประมาณในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ปี 2557 นี้ ท่านใดที่เป็นแฟนคลับของอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ก็เตรียมเก็บเงินคอยหาซื้อหนังสือเล่นนี้ได้เลยครับ














 

@@@@@@@@@@@@@@@

คำชี้แจงท้ายเรื่อง

บทความนี้ผมเขียนขึ้นจากการที่ผมได้เข้าร่วมฟังงานเสวนาในหัวข้อ “การอนุรักษ์อย่างมีศิลปะ” ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน “มหกรรม บางหลวง Fete เปิดหมวกโลกศิลปะ” ที่ห้างสรรพสินค้าริเวอร์ ซิตี้ (River City) เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา โดยผมตัดเอาเฉพาะส่วนที่อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ได้พูดในงานเสวนาเพื่อนำเอามาเรียบเรียงเขียนขึ้นเป็นบทความนี้ ด้วยสาเหตุที่เรื่องราวของอาจารย์ศศิน ได้นำเสนอนั้นเป็นเรื่องราวที่คนทั่วไปอาจจะได้รับทราบมาบ้างแล้ว ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับบุคคลที่สนใจในประเด็นดังกล่าวนี้ โดยทั้งหมดในบทความนี้ผมเขียนจากการที่ผมได้ฟังและจดจำตามความเข้าใจของผม ก่อนที่ผมจะนำมาขัดเกลาขึ้นใหม่ในภาษาเขียนของผม ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามคำที่อาจารย์ศศิน พูดทุกคำหรือทุกประเด็น แต่ผมพยายามเขียนขึ้นให้ตรงตามประเด็นที่อาจารย์ศศิน ต้องการจะสื่อให้ทราบมากที่สุด ดังนั้นถ้ามีข้อความในส่วนใดส่วนหนึ่งผิดพลาดหรือตกหล่นในประเด็นต่าง ๆ ไปบ้าง ผมต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย







Create Date : 03 กรกฎาคม 2557
Last Update : 3 กรกฎาคม 2557 16:00:10 น. 6 comments
Counter : 1937 Pageviews.

 
การฟื้นฟู ยากกว่าการรักษา
งั้นเราก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่เรื่อยไปนะคะ

อิอิ





โดย: Rinsa Yoyolive วันที่: 3 กรกฎาคม 2557 เวลา:23:08:21 น.  

 
เป็นเรื่องที่ดีที่ควรอนุรักษ์ค่ะ
ป่า ต้นน้ำ สัตว์ป่า
แต่ว่ายากจัง ขนาด อ.เดินรณรงค์ตั้งหลายวัน
มีทั้งคนรู้และไม่รู้
ส่วนมากน่าจะไม่รู้รึเปล่าเพราะเรื่องดีๆบางทีก็คนก็แชร์น้อย
หรือถ้าไม่ได้ประโยชน์อะไรก็ไม่ปากต่อปากอีก

ทำเป็นหนังสือก็ดีค่ะ ควรค่ากับการเก็บมากมาย

ขอบคุณคุณกล่องมากๆค่า




โดย: lovereason วันที่: 4 กรกฎาคม 2557 เวลา:1:08:20 น.  

 
รู้จัก อ.ศศิน ตอนน้ำท่วม ปี 54 ค่ะ หลังจากนั้นก็ตาม fb ของอาจารย์มาตลอด

----

ภาพจิตรกรรมตามวัด ส่วนมากมีอยู่ไม่กี่เรื่องค่ะ ทศชาติชาดก พุทธประวัติ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 6 กรกฎาคม 2557 เวลา:16:19:35 น.  

 
เรื่องการคัดค้าน สร้างเขื่อน ตอนนั้นผมก็ติดตาม

ขนาดเข้าดูแผนที่ดาวเทียม ซึ่งเป็นภาพเก่า
เปรียบเทียบ แนวที่จะสร้างเขื่อน

เสพข้อมูลต่าง ๆ แล้วมันขัดกัน ไม่แน่ใจว่าอัน
ไหนถูกหรือ ไม่ตรง...

แต่ในฐานะคนทำสวน รู้ว่าการสร้างเขื่อนช่วยกัก
เก็บน้ำ มิให้ไหลหายไปเร็วเกินไป คือช่วยชลอน้ำ
ไว้ใช้ น้ำที่กักเก็บไว้จะซึมอยู่ในดิน ลึกลงไป
แผ่สร้าน ไปไกลกว่าที่คนจะคิด หลายสิบ กม.

ต้นไม้เขียวเป็นวงกว้างมากมาย ยังประโยชน์ให้
คนมากจริง ๆ

ในสวนที่จันทบุรี แห้งแล้งอยากให้เขาสร้างเขื่อน
กักเก็บน้ำ แต่ก็มีคนค้าน...เราชาวสวนเลยต้องช่วย
ตัวเอง ขุดบ่อใหญ่ สร้างฝายชะลอน้ำในสวนไว้

ผู้คัดค้าน บางคนค้านว่า น้ำที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำระเหย
เมื่อถูกแสงแดด ไว แต่ไม่เคยมีใครจะคิดว่า น้ำได้
ซึมสู่ข้างล่างมากมาย

แต่ก็เชื่อว่า การสร้างเขื่อนในที่เป็นป่าสมบูรณ์ไม้ต้น
ใหญ่เยอะ ไม่เหมาะ....

ถ้าเราสามารถดูแผนที่ดาวเทียม ในเวลาปัจจุบันคง
จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่าย.. รู้ว่า ใครพูดเท็จ พูดจริง
ประเมินผลที่ถูกต้อง รวมทั้งกา..เครื่องหมายด้วย
ระบบดาวเทียม ว่าแต่ละฝ่ายเสนอนั้น ถูกต้องครับ
คุณกล่อง

แต่ก็ขอบคุณที่เสนอให้ รู้แนวคิดของนักต่อสู้
ผมก็เลย มีความเห็นเชิงต่อสู้ เพื่อความชุ่มชืนเช่น
กัน

ระยะหลังนี้ ข่าวเงียบไปอีกแล้ว

วันก่อนผมไป หาดแม่รำพึง นักวิชาการตักคราบ
น้ำมัน ลงข่าวใหญ่โต จนคนที่จองห้องพักยกเลิก
การจอง คนหายไปจากการเที่ยว

ผมบังเอิญไปดูสถานที่นั่นห่างแค่ 1 วัน ไม่มีคราบ
น้ำมันให้เห็น ถ่ายภาพลงบล๊อกไว้ด้วย แต่ที่ หาย
ไปด้วย คือ "คน" หายไปจากหาดทรายครับ

ข่าวนั้นทำความเสียหายแก่ประชาชนมากมาย แต่
ถ้านักวิชาการ ติดตามต่อ แล้วเผยแพร่ความจริง
ว่า ข่าวนั้นเป็นจริง แต่กลับคืนสภาพปกติแล้ว

ชาวบ้านจะขอบคุณมากมาย...

ผมคอยติดตามข่าว เมื่อวานกับวันนี้ เห็นมิ๊เก๋
แม่น้องซีทะเล ไปเที่ยวที่นั่นตามปกติ บอกว่าไม่
มีคราบน้ำมัน มีแต่ลมแรงมากครับ

วันนี้เม้นท์ยาวหน่อยนะครับคุณกล่อง


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 6 กรกฎาคม 2557 เวลา:22:08:43 น.  

 
บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
หอมกร Movie Blog ดู Blog
อาคุงกล่อง Diarist ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น
หายไปนาน.. งานยุ่งแน่ๆเลย


โดย: Opey วันที่: 7 กรกฎาคม 2557 เวลา:0:31:11 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ค่ะคุณกล่อง ขอบคุณที่ไปเที่ยวชมที่บล็อกค่ะ ตามมาแตเช้าเลยค่ะ มาทักทายก่อนนะคะเพราะเดี๋ยวต้องรีบไปแล้วค่ะไว้มาอีกทีนะคะ

มีความสุขวันจันทร์ค่ะ



โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 7 กรกฎาคม 2557 เวลา:5:57:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.