Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
2 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 
เทคนิคการเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก โดย รศ.เกริก ยุ้นพันธ์

พอดีว่าตัวผมได้มีโอกาสไปอบรมการเขียนในหัวข้อ “เขียนอย่างมืออาชีพ ปี58” ที่ทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยการอบรมในครั้งนี้สำหรับผู้ที่เตรียมตัวส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการประกวดวรรณกรรมแว่นแก้ว ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558

เมื่อผมได้รับการอบรมความรู้ที่เป็นประโยชน์ก็อยากจะบันทึกเนื้อหาความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ไว้สำหรับตัวของผมเองและผู้สนใจ โดยเนื้อหาในบล็อกนี้ผมเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่จากการที่ผมได้จดบันทึก (เลคเชอร์) ตามความเข้าใจของผม ดังนั้นอาจจะไม่ครบถ้วนหรือถูกต้องทั้งหมดจากที่ท่านวิทยากรก็เป็นได้

รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชาวรรณกรรมสำหรับเยาวชน มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒประสานมิตร และท่านเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น ที่จังหวัดอยุธยา โดยอาจารย์เกริกบอกว่า











@การอ่านหนังสือหลากหลายไม่เฉพาะแค่นวนิยายจะเป็นการทำให้โลกนี้กว้างใหญ่สำหรับเราเสมอ ดังนั้นถ้าเราอยากเป็นนักเขียนที่เก่งเราต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง อ่านหนังสือโดยตลอดและอ่านหนังสือทุกรูปแบบ เรื่องของการอ่านต้องไม่แยกแยะและแบ่งค่าย

@ในประเทศไทยของเรายังมีของดีอีกเยอะ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นยังถูกซ่อนอยู่ เราต้องค้นหาให้พบและนำมันออกมาสู่สังคมให้ได้ ในประเด็นนี้อาจารย์พูดถึงการที่นักเขียนไทยเรามีผลงานที่ดีสู้กับต่างประเทศได้ แต่ผลงานนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดย อ.เกริก ยกตัวอย่างถึงผลงานวรรณกรรมเยาวชนของคุณอรุณ วัชรสวัสดิ์ และคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ (ลูกเสือหาเหยื่อให้แม่)

@วิธีการเปิดโลกความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองก็คือ
1.อ่านหนังสือ
2.กินอาหารอร่อย
3.เดินทางท่องเที่ยว
4.ฟังดนตรี
5.ไปพิพิธภัณฑ์

@อ.เกริก เชื่อว่าหนังสือเด็กยังทำเงินได้เยอะ โดยอ.เกริก ยกย่องทางนานมีบุ๊คส์ว่าได้เปิดโลกการอ่านให้แก่เยาวชนไทยด้วยการจัดพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนระดับโลกในชุดแฮรี่พ็อตเตอร์ นอกจากจะทำให้เด็กได้อ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นแล้วยังสร้างจำนวนเงินจำนวนมหาศาลที่เป็นรายได้จากการขายหนังสือเล่มนี้

@การอ่านจะทำให้ค้นพบโลกกว้างที่อยู่ในหนังสือ การอ่านทำให้เราเกิดความคิดที่เชื่อมโยงระหว่างความคิดกับการรับรู้ต่าง ๆ เช่น การอ่านหนังสือประโลมโลก เรามักคิดว่าตัวเอกก็คือตัวเราเอง ฯลฯ

@อ.เกริก บอกว่า การที่ทุกคนมาเรียนในวันนี้เป็นการ “นวดให้มีความกระหายที่จะเป็นนักเขียน” ดังนั้นควรเริ่มต้นเขียนหนังสือเด็กตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ต้องเขียนทุกวันเพื่อให้มีไฟสะสมอยู่ในตัวตลอดเวลา และควรจะอ่านหนังสือเด็กให้เกิน 200 เล่ม เพื่อที่จะเขียนหนังสือเด็กได้ดี (อ.เกริก แนะนำให้ไปอ่านในห้องสมุดเด็ก)

@วรรณกรรมเยาวชนมีการเรียนการสอนกันเยอะในต่างประเทศ เช่นที่ อังกฤษ , เดนมาร์ก , ออสเตรเลีย ฯลฯ ส่วนของไทยมีมานานแล้ว เช่นหนังสือนิทานหรือหนังสือแบบเรียนที่มีคำท่องคล้องจองกันเช่น “หนูมากับหนูมี”

@หนังสือหรือนิทานที่มีคำคล้องจองกันนี้อ่านแล้วทำให้เกิดอิมเพรสชั่น (การแสดงผล,การเข้าถึง) และทำให้อายุยืนยาว

@นักเขียนควรหมั่นสวดมนต์เสมอ การสวดมนต์ทำให้เกิดสมาธิและจิตสงบ ควรจะทำให้เป็นวัตรปฏิบัติ

@หนังสือเด็กแบ่งเป็น หนังสือเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 0-6 ขวบ , หนังสือเด็กโตตั้งแต่อายุ 7-11 ขวบ ซึ่งเป็นการแบ่งตามประถมต้นและประถมปลาย สำหรับเด็กเล็กเป็นนิทานภาพ (ตัวอย่างเรื่อง “กระต่ายน้อยหนีแม่”) ส่วนเด็กโตหนังสืออาจมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีจินตนาการที่มากขึ้น

@หนังสือเด็กเป็นได้ทั้งบันเทิงคดีและสารคดี โดยเป็น สารคดี+บันเทิง = สาระบันเทิง

@หนังสือเด็กที่ทำให้เด็กสนใจมากที่สุดก็คือ หนังสือที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ป๊อบอัพบุ๊คส์ (Pop Up Book = หนังสือภาพที่เปิดขึ้นมาแล้วกลายเป็นรูปสามมิติ) , หนังสือที่มีกลิ่นหอม , หนังสือที่มีรูปร่างผิดแปลกจากหนังสือทั่วไป เช่นมีรูปร่างเป็นผีเสื้อ , รูปร่างกลม , หนังสือที่เปิดออกมาแล้วมีเสียงดนตรี ฯลฯ

@หนังสือเด็กเล็กที่เป็นหนังสือภาพ (พิกเจอร์บุ๊คส์ Picture Book) ควรจะมีภาพประกอบที่สีสันสดใสมาก ๆ สีสดใสประมาณเป็นแม่สีเลย หรือมีสีแจ๊ด ๆ สีจัด ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจเด็ก (แต่ไม่ควรใช้สีเงินแวววาวเพราะจะทำให้สะท้อนเข้าสู่สายตาเด็กได้)

@สีในหนังสือเด็กนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องด้วย เช่น เขียนเรื่องธรรมชาติ,เขียนเรื่องต้นไม้ ควรใช้สีเขียว เขียนเรื่องความรักควรใช้สีชมพู เขียนเรื่องปลา,เรื่องทะเลควรใช้สีฟ้า ฯลฯ

@หนังสือเด็กมักใช้ตัวอักษร ม.ม้า หรือตัว M เพื่อใช้เป็นชื่อเรื่องหรือชื่อตัวละคร เพราะตัว ม.ม้า เป็นเสียงที่เด็กมักจะออกเสียงได้ก่อน เช่นแม่ , ม่าม้า ฯลฯ โดยการตั้งชื่อเรื่องหรือตั้งชื่อตัวละครควรจะเป็นชื่อที่เด็กรู้จักและสนใจ

@อ.เกริก เคยทำหนังสือเด็ก ที่เป็นหนังสือภาพ + การ์ตูน โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “มาร์สแมนกับยายเช้า”

@ในโลกของเด็กทุกอย่างเป็นไปได้หมด อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องจินตนาการของเด็ก มนุษย์กับธรรมชาติสามารถชดเชยกันได้เสมอ เช่นตัวละครอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคนเสมอไป อาจใช้ตัวละครเป็นสัตว์ก็ได้

@การเขียนหนังสือเด็กก็เช่นด้วยกับการแต่งหนังสือทั่ว ๆ ไป ต้องมีตรีมของเรื่อง (Theme) ไปสู่ > พล็อตเรื่อง ที่นำไปสู่ > โครงเรื่อง ซึ่งการทำหนังสือเด็กควรจำไว้เสมอว่าหน้าซ้ายมือเป็นหน้าเลขคู่ ส่วนหน้าขวามือเป็นหน้าเลขคี่

@ตัวละครในหนังสือเด็กจำเป็นต้องมีคาแรคเตอร์หรือลักษณะเฉพาะของตัวเอง เช่นเป็น อีโร่ , เป็นพระเอก ,เป็นผู้ร้าย รวมทั้งตัวประกอบด้วย ในหนังสือเด็กก็จำเป็นต้องมีตัวประกอบที่มีคาแรคเตอร์เหมือนกัน

@เป็นนักเขียนต้องมีความละเอียด , ต้องรู้จริงทั้งหมด ห้ามละเลยในรายละเอียดเด็ดขาด เช่น วาดภาพคนก็ต้องให้มีครบทั้ง 5 นิ้ว , วาดภาพนกต้องมีปีก , วาดภาพจิ้งจกก็ต้องมีหาง ฯลฯ

@หนังสือเด็กต้องมีเรื่องราวที่ชัดเจน ตัวละครต้องชัดเจน เนื้อเรื่องต้องชัดเจน (ไม่ต้องซ่อนเร้นลึกลับแบบหนังสือนวนิยาย) ในเรื่องต้องมีฉากและเวลาด้วย ( Setting = Time + space )

@การทำหนังสือเด็กต้องทำด้วยใจ ทำโดยการเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน แล้วต่อไปก็ทำให้สังคมและทำเพื่อประเทศชาติ

@วิชั่น (แนวคิด) ของคนเขียนและบรรณาธิการจะต้องตรงกัน ควรจะต้องนั่งปรึกษาร่วมกันก่อนว่าทิศทางของหนังสือจะเป็นไปในทางใด เพราะว่าหนังสือเด็กควรจะมีสไตล์ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวด้วย

@ผู้เขียนหนังสือเด็กควรจะหาหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาพัฒนาการเด็กมาอ่านด้วย เช่น หาเรื่องการพัฒนาจักษุ(ตา)ของเด็กว่า เด็กมองเห็นมากน้อยขนาดไหน? หรือเด็กรับรู้ได้มากน้อยขนาดไหน? ในส่วนของหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กนี้ อ.เกริก แนะนำให้ไปหาหนังสือของมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาอ่าน เป็นหนังสือแนวจิตวิทยาเด็กที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายได้ด้วยตัวเอง

@ถ้าจะเขียนหนังสือเด็ก นักเขียนควรหัดท่องอาขยานด้วย









@อ.เกริก บอกว่า หนังสือเด็กที่มีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมดแบ่งออกเป็นเรื่องราวหลัก ๆ ได้ 3 ประเภท
1.เรื่องความดี ( ประมาณ 55%)
2.เรื่องความงาม ( ประมาณ 36% )
3.เรื่องความรัก ( ประมาณ 10% )

@จุดอ่อนของคนไทยคือ คนไทยไม่ค่อยจะสอนเรื่องฮาวทู ( How to ) ให้แก่เด็กเลย และไม่ค่อยจะให้วิชั่น (แนวคิด) แก่เด็กด้วย

@อยากจะเป็นนักเขียนหนังสือเด็กต้องมีการวางแผน เช่น ภายใน 1 ปีจะต้องมีหนังสือเด็กตีพิมพ์ออกมา 1 เล่ม , ภายในปีที่ 2 จะต้องเขียนหนังสือเด็กให้ได้รางวัล , ในปีที่ 3 ต้องต้องมีผลงานตีพิมพ์ออกมาอีก 3 เล่ม ฯลฯ

@การเขียนหนังสือเด็กควรหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ (อิเพรสชั่นนิสต์) และควรรู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย

@นักเขียนที่ดีต้องคิดอยู่เสมอว่า “คนสร้างสรรค์มีแต่คนชื่นชอบ”

@การจะเป็นนักเขียนที่ดีนั้นเราควรจะหาแม่แบบที่เป็นไอดอลของตัวเราเอง ชอบงานเขียนของใครก็ให้อ่านงานของเขาและลองเขียนตามแบบเขา ฝึกเขียนบ่อย ๆ จนเกิดเป็นสไตล์เฉพาะของตัวเอง

@การจะเป็นนักเขียนที่ดีนั้นต้องทำใจให้รู้สึกเสมอว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องยาก เพียงขอให้รักในการเขียนมาก ๆ “เขียนวันนี้อย่ารอ จะได้เขียนไปเรื่อย ๆ”

@เวลาเขียนให้นำเรื่องใกล้ตัวมาเขียน เช่นตัวเรามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

@เพื่อจุดประกายในการเขียน ควรคิดเสมอว่า “โลกนี้ยังมีที่ว่างอีกมากมายให้เรายืนเสมอ”

@การจะเป็นนักเขียนที่ดีนั้นควรจำไว้เสมอว่า “ไม่มีทางเก่งพรุ่งนี้ได้” ดังนั้นทางลัดของการเป็นนักเขียนคือต้องอ่านหนังสือให้เยอะ ๆ อ่านให้ได้ 200 เล่มก่อน เพราะว่า “การอ่านหนังสือคือการประดับประดาตัวเอง”

@นักเขียนควรประดับประดาตัวเองหลาย ๆ ด้าน ควรอ่านหนังสือให้หลากหลาย ละครน้ำเน่าก็ต้องดู

@ถ้าวันใดตื่นขึ้นมากลางดึก ให้รีบบอกตัวเองว่าอยากจะเป็นอะไรแล้วจะได้เป็นตามนั้น

@ค่านิยมของคนไทยยังมีความเชื่ออยู่ว่า ทุกคนควรจะรู้ให้ได้ 2 ภาษา (ภาษาไทย+ภาษาต่างประเทศ) ดั้งนั้นถ้ามีโอกาสเรียนภาษาที่ 2 ก็ควรจะเรียนให้ได้ภาษาที่แข็งแรง

@การจะเป็นนักเขียนนั้นควรเชื่อว่า “มีพลังบางอย่างที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เป็น”

@นักเขียนหนังสือเด็กควรจะหาหนังสือที่ได้รับการยกย่องหรือได้รางวัลมาอ่านก่อน และนักเขียนหนังสือเด็กควรทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่าหายไป อย่าผลุบ ๆ โผล่ ๆ ควรจะเขียนให้มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ

@หนังสือเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้คำยาก เพราะจะทำให้เด็กที่อ่านเข้าใจยาก เช่น จะเขียนถึงภูเขาก็บอกว่าภูเขาไม่ต้องใช้คำว่าภูผา นอกจากนั้นภาษาของเด็กควรจะง่าย , ชัดเจนและเห็นภาพโดยไม่ต้องมีคำอธิบายเพิ่ม

@หนังสือเด็กที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้ ( 6 ส. )
1.สรุป (มีข้อสรุปให้แก่เด็กที่อ่าน)
2.สวย (เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก)
3.สะอาด (เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เด็ก)
4.สนุก (เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด)
5.ส่งเสริม (ทำให้เด็กโตไปเป็นคนดี)
6.สร้างสรรค์ (เพื่อเปิดโลกกว้างให้แก่เด็ก)

@หนังสือเด็กไม่ต้องใช้หลายคอนเซ็บป์ (ไม่ต้องหลายพล็อต) ควรจะมีประเด็นเดียวเพื่อให้เด็กเข้าใจได้ โดย อ.เกริก ยกตัวอย่างหนังสือเด็กเรื่อง “กระต่ายน้อยหนีแม่” เป็นหนังสือเด็กที่มีทั้งภาพและคำคล้องจอง ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักของแม่ ไม่ว่าลูกน้อยจะหนีไปไหนแม่ก็จะตามไปรักลูกเสมอ (เล่มนี้ควรหามาอ่านให้ได้)

@สัญลักษณ์ของเราที่เราแฝงไว้ในเรื่อง อย่าได้หวังว่าเด็กจะตีความ แต่ในบางครั้งเราใส่ลงไปเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของตัวเราเอง โดยยกตัวอย่างเช่นเวลาที่ อ.เกริก วาดรูปภาพประกอบสำหรับหนังสือเด็กที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก อ.เกริก มักจะวาดรูปหัวใจใส่ไว้ในทุกภาพด้วย เช่น วาดต้นไม้ก็มีรูปหัวใจแฝงอยู่ในต้นไม้ , วาดภาพตัวละครโดยใส่เสื้อเป็นลายรูปหัวใจ ฯลฯ

@หนังสือเด็กต้องใสสะอาดและบริสุทธิ์ ใสสะอาดในเรื่องราวที่จะนำเสนอแก่เด็ก และบริสุทธิ์เหมาะสมตามวัยของเด็ก

@การวาดรูปนั้นเกิดจากทักษะซึ่งก็คือการฝึกฝน ในกรณีที่เราวาดรูปไม่ได้เราอาจจะภาพเขียนเรื่องโดยให้อีกคนวาดภาพประกอบให้ก็ได้

@การจะเป็นนักเขียนที่ดีนั้นควรจำไว้เสมอว่า “การเริ่มต้นเป็นการยาก แต่ควรเริ่มต้นเดี๋ยวนี้”

@จำนวนคำในหนังสือเด็กนั้น ถ้าเป็นหนังสือเด็กเล็กก็จะมีจำนวนคำน้อยมีภาพประกอบเยอะ แต่ถ้าเป็นหนังสือเด็กโตจำนวนคำก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ

@หนังสือที่มีแต่ภาพ โดยไม่มีคำอธิบายนั้นทำได้ยากมาก

@การเป็นนักเขียนที่ดีต้องอย่าขโมยความคิดของคนอื่นเด็ดขาด จำไว้เสมอว่า “อย่าทำ”

@ความแตกต่างระหว่างหนังสือภาพ (พิกเจอร์บุ๊คส์) กับหนังสือการ์ตูนคือ หนังสือภาพนั้นจะมีภาพประกอบเพื่อนำไปสู่เนื้อเรื่องได้ ส่วนหนังสือการ์ตูนนั้นเป็นคอมมิค มีลักษณะเป็นช่อง ๆ มีทั้งภาพและคำอธิบาย โดยส่วนใหญ่อ่านเพื่อความบันเทิงหรือประโลมโลกเท่านั้น หนังสือการ์ตูนเหมาะสำหรับเด็กโตที่อ่านหนังสืออกแล้ว (ป.5 – ป.6 ขึ้นไป)

@การทำหนังสือเด็กต้องใช้ตัวอักษรที่เป็นทางการ คือใช้ฟอนซ์ตัวอักษรที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนตัวอักษรที่ถูกต้องด้วย

@นักเขียนที่ดีต้องไม่ทำงานตลาดมากเกินไป ในกรณีนี้ “งานตลาด” หมายถึงงานที่ทำเพื่อขายอย่างเดียว นักเขียนควรจะทำงานที่สร้างสรรค์ให้มากกว่างานตลาดโดยไม่ต้องไปตกใจกับคำว่า “กระแส” มากจนเกินไป

@นักเขียนที่ดีควรจะมีแนวการเขียนของตัวเอง “เดินตามครรลองของชีวิตแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เราเป็นแบบเรา ไม่ต้องเป็นแบบเขา”

@อ.เกริก เชื่อว่า “แม้ว่าโลกจะมีวิวัฒนาการที่เลิศล้ำไปขนาดไหน แต่สักวันโลกจะต้องโหยหากลับมาอ่านหนังสืออีกครั้ง”

@อ.เกริก ทิ้งคำคมไว้ให้ในตอนท้ายสุดว่า “ไม่มีอะไรที่มหัศจรรย์จากการเสพมากเท่าการอ่านหนังสือ ดูรูปหรือดูภาพยังไม่เท่า”








ท้ายสุดนี้ผมต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผม และผมต้องขอขอบคุณทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ด้วย ที่ให้โอกาสผมได้เข้าไปเรียนรู้วิชาการด้านการเขียนในครั้งนี้

ขอบคุณครับ









Create Date : 02 ตุลาคม 2558
Last Update : 2 ตุลาคม 2558 18:45:15 น. 13 comments
Counter : 4387 Pageviews.

 
อ่านเพลิน และได้ความรู้เกี่ยวกับหนังสือเด็กอย่างมากมายเลยนะครับพี่อาคุง

ผมชอบอ่านหนังสือเด็ก
และซื้อหนังสือเด็กเยอะมาก

ปัจจุบันหนังสือเด็กทำได้น่าอ่านมากๆครับ
เสียก็แต่บางเล่มราคาแพงมาก

การเข้าถึงความรู้ของเด็กไทย
จึงเหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด

ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะจัดการระบบหนังสือสาธารณะให้ดีกว่านี้
ลดภาษีสำหรับผู้หลิตหนังสือ
หนังสือจะได้มีราคาถูกลงครับพี่

และคนที่อยู่ในส่วนของการเขียนและการผลิต
จะได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานที่ดีต่อไป




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 2 ตุลาคม 2558 เวลา:22:11:08 น.  

 
โหวต education blog ให้นะครับพี่



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 3 ตุลาคม 2558 เวลา:6:59:40 น.  

 
ชอบจัง คำว่า การเริ่มต้นเป็นการ ยาก....


มีความอยากมาหลายปีแล้ว ที่อยากจะเขียนแล้ว
มีคนอ่านครับคุณกล่อง 555

ไม่จำต้องพิมพ์เป็นเล่ม เพราะรู้ว่า ยากยิ่งสิ่งใด
มีแต่คนอ่านทางเน็ต ก็พอ


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 3 ตุลาคม 2558 เวลา:11:40:10 น.  

 
อันนี้เป็นมุมมองคนที่จะเขียน แต่ในมุมมองของผู้บริโภคต้องบอกเลยว่าหนังสือเด็กราคาไม่สูงครับ ก็พอจะเข้าใจในเรื่องของต้นทุนและวัตถุดิบที่ใช้ กระดาษอาร์ตอย่างดี ปกแข็ง 4สีทั้งเล่ม ขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกว่าราคาสูงอยู่

คนไทยไม่ค่อยสอนให้เด็กคิด ดังจะเห็นได้จากคำถามที่เป็นปลายเปิด แต่บังคับให้ตอบปลายปิด


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 3 ตุลาคม 2558 เวลา:13:42:31 น.  

 
มีคุณค่ามากๆครับ
ได้เห็นมุมมองของนักเขียนหนังสือเด็ก ที่เอาประสบการณ์อันยาวนานหลายปีมาย่อให้เข้าใจง่ายๆ เพียงแค่ใช้เวลาอ่านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เข้าใจว่าคุณกล่องสรุปมาได้ครบถ้วยครับ
โหวต education ครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 3 ตุลาคม 2558 เวลา:14:02:57 น.  

 
สวัสดีค่า คุณกล่อง ^^
ได้ความรู้ใหม่อีกแล้วค่ะ เรื่องหนังสือเด็ก
คุณกล่องไปอบรมบ่อยมากๆเลยนะคะ
ต้องมีคลังข้อมูลเยอะมากแน่ๆ

เสียดายไม่ตามอ่านการบ้านที่คลาสครูเหน่งเลยเหรอ
บทที่ 8 แล้วค่า
ไม่ได้ส่งการบ้านก็อ่านบทเรียนไปก็ได้น๊า ^^



โดย: lovereason วันที่: 4 ตุลาคม 2558 เวลา:23:49:01 น.  

 
แวะส่งกำลังใจะค่ะ
โหวดสาขา education ค่ะ


โดย: newyorknurse วันที่: 5 ตุลาคม 2558 เวลา:5:30:24 น.  

 
ขอบคุณนะครับ อ่านเพลินดี



โดย: หางเต่า วันที่: 6 ตุลาคม 2558 เวลา:23:38:34 น.  

 
สวัสดีค่า คุณกล่อง ^^
ก่อนไปอ่านอีกเรื่องที่เพิ่งอัพ
มาอ่านเรื่องหนังสือเด็กก่อน
ได้ข้อคิดดีๆ เยอะเลยค่ะ
คุณกล่องดีอะ อยู่ กทม ได้ไปอบรมบ่อยๆ
นุ่นมาเห็นเมล์อบรมก็ผ่านไปเป็นอาทิตย์แล้วแต่ถึงรู้ก่อนก็คงไม่ได้ไปอยู่ดีค่ะ แหะๆ

เคยมีความคิดจะส่งประกวดวรรณกรรมแว่นแก้วเหมือนกัน
แต่ไม่ถนัดแนวเด็ก แนวนิยายก็ไม่เก่งพอ
คงต้องเรียนให้พอมีพื้นฐานบ้างค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ
พรุ่งนี้ค่อยไปตามอ่านอีกบล็อคนึงค่า



โดย: lovereason วันที่: 8 ตุลาคม 2558 เวลา:0:29:56 น.  

 
แวะมาเป็นกำลังใจนักเขียนใหม่ค่ะ เขียนวันนี้ ดีวันหน้า


โดย: Mintra-april วันที่: 9 ตุลาคม 2558 เวลา:16:04:17 น.  

 
เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากๆ เลยค่ะคุณกล่อง ชอบงานแบบนี้


โดย: sawkitty วันที่: 9 ตุลาคม 2558 เวลา:19:54:54 น.  

 
ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้มากๆ


โดย: ส้มจัง IP: 1.47.73.33 วันที่: 20 ตุลาคม 2558 เวลา:12:26:35 น.  

 
ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะ อ่านแล้วเข้าใจง่ายเพราะถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์จริงของอาจารย์


โดย: racha IP: 171.97.120.244 วันที่: 3 พฤษภาคม 2559 เวลา:14:41:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.