>>>        ชาวพุทธแท้ หรือชาวพุทธในทะเบียนบ้านต่างกันอย่างไร ?       อลัชชีคืออะไร ?        เงินกับพระอย่างไรเหมาะควร ??        กรรมของชาวไทย ปัจจุบันและวิธีแก้ไข            หนทางสู่การปฏิบัติ            อานาปานสติอย่างที่ท่านเข้าใจจริงหรือ ?และFAQ อานาปานสติ
บทที่ 7 วินัยของพระภิกษุสงฆ์ ที่ประชาชนควรทราบ


รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระเทพวิสุทธิญาณ

(อุบล นนฺทโก ป.ธ. ๙)

วัดบวรนิเวศวิหาร

พิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทาน



คำนำ


             หนังสือเรื่อง “วินัยของพระภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนควรทราบ” นี้ ผู้จัดพิมพ์ได้เคยติดต่อพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิญาณ ขออนุญาตจัดพิมพ์ขึ้น เพื่อเผยแผ่เป็นธรรมทานมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งก็ได้รับอนุญาตจัดพิมพ์ได้ตามความประสงค์

บัดนี้ ผู้จัดพิมพ์ระลึกถึงคุณของท่านอยู่ จึงกราบเรียนพระเถรวัดบวรนิเวศวิหาร ขออนุญาตจัดพิมพ์อีกครั้ง เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ และรักษาเจตนารมณ์เดิมของท่านที่จะเผยแผ่ธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

บุญกุศลใดๆ ที่เกิดจากการจัดพิมพ์เผยแผ่และเกิดขึ้นโดยมีหนังสือเล่มนี้เป็นมูลเหตุ ขอจงสำเร็จแด่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณมหารัชมงคลดิลก และท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิญาณ ทุกประการ

คณะผู้จัดพิมพ์



พุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ควร รู้จักพระวินัยบางข้อ ของพระภิกษุสงฆ์ไว้ด้วย เพราะว่าพระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่อันสำคัญที่สุด คือรักษาตัวอย่าให้มีโทษทางพระวินัย จึงจะสมเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบรมศาสดา และจะได้สมเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นนาบุญของชาวโลก ไม่บริโภคจตุปัจจัยของเขาให้เปลืองเปล่า เปรียบเหมือนอย่างพื้นนาอันปราศจากวัชพืช คือหญ้าที่เป็นโทษ ย่อมจะอำนวยให้ข้าวที่ชาวนาหว่านลงเจริญงอกงามมีผลเต็มเมล็ดเต็มรวง แต่หากว่านารกไปด้วยวัชพืช ข้าวที่หว่านลงก็มีผลไม่เต็มที่ ข้อนี้ฉันใด พระภิกษุหรือสามเณร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าศีลไม่ขาด ไม่มีโทษทางพระวินัย ก็เท่ากับนาที่ไม่รก พืชบุญที่หว่านลงก็ย่อมมีผลมาก มีกำไรมาก แต่ถ้าศีลขาดมากมีโทษทางพระวินัยมาก ก็เท่ากับที่นารก พืชบุญที่ชาวโลกหว่านลงก็มีผลน้อยมีกำไรน้อย ด้วยเหตุนี้ หระภิกษุสามเณรผู้ตระหนักในหน้าที่ของตนจึงพยายามรักษาตัวมิให้เป็นนาที่รกด้วยวัชพืช

ก็ในการรักษาตัวนั้น พระภิกษุสามเณรบางรูปบางครั้งบางคราว ไม่สามารถจะให้บริสุทธิ์เท่าที่ควรได้ เพราะคฤหัสถ์หรือ บุรุษ สตรีหรือทายกทายิกา ผู้ไม่รู้วินัยของพระ และมีธุระเกี่ยวข้องกับพระในวาระต่างๆ เช่นในคราวทำบุญ แต่ทำไม่ถูกต้องพระวินัย ภิกษุเกรงใจคฤหัสถ์บางทีคฤหัสถ์เกรงใจภิกษุ จึงทำให้พระต้องอาบัติ คือต้องโทษทางพระวินัย อย่างนี้คฤหัสถ์ได้ บุญก็จริง แต่ได้น้อยเพราะขณะเดียวกันนั้นพระได้บาปต้องโทษไม่บริสุทธิ์ เหมือนนาที่รกเสียแล้ว อนึ่ง บางทีบางรูปไม่รู้วินัยของตนเองดีพอ หรือบางรูปรู้วินัยดีแล้ว แต่ไม่เอื้อเฟื้อในวินัยก็ย่อมเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ในทางที่ผิดๆ และคฤหัสถ์ก็ไม่รู้วินัยของพระจึงพากันปฏิบัติผิดร่วมกันอย่างนี้ จึงรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะกับพุทธศาสนิกชนเลย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะให้คฤหัสถ์ บุรุษ-สตรีทั้งหลายช่วยกันรักษาภิกษุสงฆ์ให้บริสุทธิ์เป็นนาบุญอย่างดี จะได้เพิ่มปริมาณผลแห่งพืชบุญที่บริจาคหว่านลงไปให้มากยิ่งๆขึ้น จึงได้รวบรวมพระวินัยบางข้อที่คฤหัสถ์ทั้งบุรุษและสตรีควรทราบนำมาเรียบเรียงเป็นข้อๆ พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ ดังต่อไปนี้

๑. สุภาพสตรี อย่าถูกต้องภิกษุสามเณร (สังฆาทิเสส ข้อ ๒)

๒. สุภาพบุรุษ หรือสุภาพสตรี ไม่ควรวานให้พระชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามีภรรยากัน แม้ชั่วครั้งชั่วคราว (สังฆาทิเสส ข้อ ๕)

๓. สุภาพสตรีไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาไปด้วยไม่ควรเข้าไปหาพระในที่ลับตาหรือลับหูเพราะอาจจะทำให้พระถูกโจทก์ด้วยอาบัติต่างๆ หรือเป็นทางให้เกิดความเสียหายมาก (อนิยต ข้อ ๑-๒)

๔. สุภาพบุรุษหรือสตรี เมื่อศรัทธาจะถวายเงินทองแก่พระภิกษุหรือสามเณรต้องมอบให้แก่ไวยาจักร (ผู้ที่รับทำกิจของท่าน) และแจ้งให้ท่านทราบ อย่ามอบให้ในมือหรือในย่าม หรือในบาตรของท่าน เป็นต้น (จีรวรรค ข้อ ๑๐-โกสิยวรรค ข้อ ๘)

๕. บุรุษผู้เป็นไวยาจักร เมื่อรับเงินทองของพระรูปใดไว้เท่าไร ต้องจัดสิ่งของที่พระต้องการถวายพระรูปนั้น ในราคาเท่าเงินทองที่ตนรับไว้นั้น ในเวลาที่ท่านขอ ถ้าเงินทองมากพระขอของน้อย ก็จ่ายเท่าที่ท่านต้องการ เก็บส่วนที่เหลือไว้จ่ายคราวต่อไป (จีรวรรค ข้อ ๑๐)

๖. บุรุษ-สตรี ผู้เป็นพ่อค้า-แม่ค้า ไม่ควรขายของแก่พระภิกษุ หรือสามเณรผู้ที่จับต้องเงิน (ธนบัตร-เหรียญบาทเป็นต้น) มาซื้อด้วยตนเอง (โกสิยวรรค ข้อ ๙)

๗. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาสิ่งของของตนแลกกับสิ่งของของพระ-ของสามเณร (โกสิยวรรค ข้อ ๑๐)

๘. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาผ้าอาบน้ำฝนถวายพระก่อนเข้าพรรษามากกว่า ๑ เดือน แม้พระขอก้ไม่ต้องถวาย เว้นไว้แต่พระที่เป็นญาติ และพระที่ตนปวารณาไว้ (ปัตตวรรค ข้อ ๔)

๙. บุรุษ-สตรี เมื่อเตรียมสิ่งของจะถวายแก่สงฆ์ (ไม่เฉพาะบุคคล) ถ้าพระแนะนำให้ถวายเฉพาะตัวท่านเอง หรือให้ถวายเฉพาะพระรูปใดๆก็ตาม ไม่ต้องถวายตามคำแนะนำนั้น (ปัตตวรรค ข้อ ๑๐-สหธรรมิกวรรค ข้อ ๑๒)

๑๐. บุรุษ-สตรี เมื่อเรียนธรรมกับพระ อย่าออกเสียงบทพระธรรมพร้อมกับพระ (มุสาวาทวรรค ข้อ ๔)

๑๑. บุรุษ เมื่อนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระครบ ๓ คืนแล้ว ต้องเว้นเสีย ๑ คืน ต่อไปจึงนอนได้อีก (มุสาวาทวรรค ข้อ ๕)

๑๒. สตรี ห้ามนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระแม้ในคืนแรก (มุสาวาทวรรค ข้อ ๖)

๑๓. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ขุดดินเหนียวล้วนหรือดินร่วนล้วน ไม่ควรขุด แต่ถ้าพระแสดงความประสงค์ว่าต้องการหลุมหรือคูเป็นต้น หรือว่าต้องการขุดดินให้สุงเท่านั้นเท่านี้เป็นต้น ก็ควรจัดการให้ตามประสงค์ (มุสาวาทวรรค ข้อ ๑๐)

๑๔. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ตัดต้นไม้ หรือดายหญ้าที่เกิดอยู่กับดิน หรือให้รื้อถอนผักหญ้าต่างๆที่เกิดอยู่ในน้ำ ไม่ควร ตัด-ดาย-รื้อถอน แต่ถ้าพระบอกว่า เราต้องการไม้-หญ้า-ผัก หรือว่าเราต้องการทำความสะอาดในที่ซึ่งเกะกะรุงรัง ด้วยต้นไม้หรือผักหญ้าดังนี้เป็นต้น จึงทำให้ (ภูตคามวรรค ข้อ ๑)

๑๕. บุรุษ-สตรี นิมนต์พระให้ฉันอาหารอย่าออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ควรใช้กัปปิยโวหารหรือคำพูดที่สมควร เช่น พูดว่า “ขอนิมนต์ฉันเช้า” หรือว่า “ขอนิมนต์ฉันเพล” และต้องบอกวัน เวลาสถานที่ให้ชัดเจน ทั้งบอกให้พระทราบด้วยว่าให้ไปกันเอง หรือจะมารับ อนึ่งการที่นิมนต์พระให้ฉันนั้นปรารภเรื่องอะไรก็ควรบอกให้ทราบด้วย (โภชนวรรค ข้อ ๒)

๑๖. บุรุษ-สตรี เมื่อเลยเวลาเพลแล้ว คือตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงวันใหม่ อย่านำอาหารไปประเคนพระ หากเป็นของที่เก็บค้างคืนได้ ไม่บูด ไม่เสีย เช่น ข้าวสาร ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง เป็นต้น ก็มอบไว้แก่ไวยาจักรของท่านได้ (โภชนวรรค ข้อ ๗)

๑๗. บุรุษ-สตรี ถ้าพระที่มิใช่ญาติและตนไม่ได้ปวารณาไว้ ไม่เป็นไข้ ขอโภชนะอันประณีต คือข้าวสุกที่ระคนด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม แม้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ควรถวาย แต่ถ้าขอเพื่อผู้เป็นไข้ควรถวายโดยแท้ (โภชนวรรค ข้อ ๙)

๑๘.บุรุษ-สตรี เมื่อประเคนอาหารหรือยาเป็นต้น ทุกอย่างที่พระจะต้องกลืนกิน (ฉัน) ต้องประเคนให้ถูกวิธี ดังนี้
ก.ภาชนะหรือห่อของนั้น ไม่ใหญ่หรือหนักจนเกินไป ยกคนเดียวหด้อย่างพอดี
ข.เข้าอยู่ในหัตถบาสของพระ ห่างจากพระประมาณ ๑ ศอก เป็นส่วนสุดของสิ่งของหรือของบุคคลผู้ประเคน
ค. น้อมกายถวายด้วยความเคารพ
ง. กิริยาที่ถวายนั้น ถวายด้วยมือหรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่นช้อย-ภาชนะก้ได้
จ. พระรับด้วยมือ หรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่น บาตร-ผ้าก็ได้
(โภชนวรรค ข้อ ๑๐)

๑๙. สตรีไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ต้องไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดิน ในห้องกับพระ แม้จะมีสตรีหลายคนก็ไม่ได้ (อเจลกวรรค ข้อ ๔)

๒๐. สตรีต้องไม่นั่ง ไม่นอนในที่แจ้งกับพระ หนึ่งต่อหนึ่ง ถ้าสตรีหลายคนนั่งได้ แต่การนอนนั่นไม่ควร แม้การยืน การเดินกับพระหนึ่งต่อหนึ่งด้วยอาการซ่อนเร้นก็ไม่ควร (อเจลกวรรค ข้อ ๕)

๒๑. บุรุษ-สตรี ที่ไม่ใช่ญาติของพระ แม้จะเป็นเขย สะใภ้ หรือภรรยาเก่าของพระ (ปุราณทุติยิกา) หากมิได้เกี่ยวข้องทางสายโลหิต ก้ชื่อว่ามิใช่ญาติ ถ้ามีศรัทธาจะให้พระขอปัจจัย ๔ หรือสิ่งของต่างๆจากตนได้ ก็ต้องปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระขอได้โดยลักษณะ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
ก.กำหนดปัจจัยหรือสิ่งของ เช่น จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง ยา หนังสือ สมุด ปากกา ฯลฯ
ข.กำหนดเวลา คือให้ขอได้ตลอดเท่านั้นวัน เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี ตั้งแต่วันที่เท่าไรถึงเท่าไร
ค.กำหนดทั้งปัจจัย-สิ่งของ และเวลา
ง.ไม่กำหนดทั้งปัจจัย สิ่งของและเวลา ถ้าจะให้ขอได้เป็นนิตย์ ต้องบอกว่า นิมนต์ขอได้ตลอดกาลเป็นนิตย์

เมื่อ ปวารณาแล้ว ถ้าพระขอเกินกำหนดหรือเกิน ๔ เดือน ไม่ควรถวาย เว้นไว้แต่ตนปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์ (อเจลกวรรค ข้อ ๗)

หมายเหตุ :- คำว่า ญาติ ได้แก่คนที่เกี่ยวเนื่องกัน ๗ ชั้น คือ ๑. ทวด ๒. ปู่ย่าตายาย ๓. พ่อแม่ ๔. พี่น้อง ๕. ลูก ๖. หลาน ๗. เหลน

๒๒.บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเสพติดให้โทษ เช่น สุราเมรัย ฝิ่น เฮโรอีน กัญชาถวายพระ (สุราปานวรรค ข้อ ๑)

๒๓.บุรุษ-สตรี อย่าเอาน้ำที่มีตัวสัตว์ไปตั้งไว้ให้พระบริโภค คือ ดื่ม อาบ ล้างเท้า ใช้สอย (สัปปาณวรรค ข้อ ๒)

๒๔.บุรุษ-สตรี ผู้นำสินค้าหนีภาษี (ผู้ทำผิดกฎหมาย) ไม่ควรเดินทางร่วมกับพระ หรือไม่ควรให้เกี่ยวข้องกับพระ (สัปปาณวรรค ข้อ ๖)

๒๕. สตรี ไม่ควรชวนพระเดินทางไกล แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง แม้นั่งรถ นั่งเรือ ไปเพียงหนึ่งต่อหนึ่งก็ไม่ควร แม้สตรีหลายคน แต่ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสานั่งไปด้วย ก็ไม่ควร แม้บุรุษไปด้วยหากสตรีขับรถเรือเอง ก็ไม่ควร เว้นไว้แต่เรือข้ามฟาก (สัปปาณวรรค ข้อ ๗)

๒๖.บุรุษ-สตรี จะถวายอาหารแก่พระผู้อยู่ในป่าอันเป็นที่เปลี่ยว ต้องแจ้งข่าวล่วงหน้าก่อน (ปาฏิเทสนียะ ข้อ ๔)

๒๗.บุรุษ-สตรี เมื่อพระรับบิณฑบาตเต็มบาตรแล้ว อย่าเอาอาหารวางบนฝาบาตร หรืออย่าใส่ถุงให้พระหิ้ว (โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๔)

๒๘. บุรุษ-สตรี เมื่อนิมนต์พระมาฉันในบ้านต้องจัดที่ฉันให้พร้อม เช่นน้ำล้างเท้า ผ้าเช็ดเท้า น้ำฉัน น้ำใช้ กระโถน ผ้า-กระดาษเช็ดมือ เช็ดปาก ช้อมส้อมและช้อนกลาง อย่าให้บกพร่อง (โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๓๐)

๒๙. บุรุษ-สตรี เมื่อจัดที่ให้พระสวดหรือแสดงพระธรรมเทศนา หรือปาฐกถาธรรม ต้องจัดที่ให้พระนั่ง อย่าให้ยืน และต้องไม่ต่ำกว่าที่ของผู้นั่งฟัง (ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ข้อ ๑๓, ๑๔)

๓๐.บุรุษ-สตรี เมื่อฟังธรรมเทศนาหรือฟังปาฐกถาธรรม ต้องฟังด้วยกิริยาอาการเคารพ แม้ฟังพระสวดในงานมงคลหรืองานศพเป็นต้น ก็ต้องเคารพเช่นเดียวกัน ไม่ควรนั่งคุยกันเลย จะคุยในเวลาพระหยุดสวดได้ (ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ทุกข้อ)

๓๑. บุรุษ-สตรี จะถวายร่มแก่พระต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่สลับสี เช่นร่มผ้าดำล้วน ร่มกระดาษ ร่มพลาสติก สีน้ำตาล สีดำ สีเหลืองล้วน (วิ. ๒/๓๕)

๓๒. บุรุษ-สตรี จะถวายรองเท้าแก่พระต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่มีส้นสูง ไม่มีปกส้น ไม่มีปกหลังเท้า มีแต่สายรัดหลังเท้ากับสายที่คีบด้วยนิ้ว และมีสีหม่นหมอง เช่น สีน้ำตาลแก่ (วิ. ๒/๓๖)

๓๓.บุรุษ-สตรี เมื่อจะถวายเตียงตั่งแก่พระต้องเลือกเอาแต่ที่มีเท้าสูงไม่เกิน ๘ นิ้วพระสุคต หรือ ๙ นิ้วฟุต เว้นไว้แต่แม่แคร่ และไม่มีรูปสัตว์ร้ายที่เท้า เช่น เตียงจมูกสิงห์ หรือบัลลังก์ และเตียงนั้นต้องไม่ใหญ่ถึงนอนได้ ๒ คน ที่นอนก็ไม่ใหญ่อย่างเตียง ฟูกเตียง ฟูกตั่ง และที่นั่งที่นอนไม่ยัดนุ่นหรือสำลี (รตนวรรค ข้อ ๕ และ วิ. ๒/๓๙)

๓๔.บุรุษ-สตรี เมื่อจะถวายหมอนหนุนศีรษะแก่พระ ต้องให้มีขนาดหนุนได้ศีรษะเดียวไม่ถึง ๒ ศีรษะ หมอนข้างไม่ควรถวาย (วิ. ๒/๔๐)

๓๕. สตรี ต้องไม่นั่ง บนอาสนะผืนเดียวกัน บนเตียงม้านั่งเดียวกันกับพระ แม้บนพื้นที่ไม่มีอะไรปูลาดเลย ก็ไม่ควรนั่งเสมอกับพระหรือสูงกว่าพระ ไปในรถ-เรือมีที่จำกัด จะต้องนั่งที่ม้านั่งเดียวกันกับพระต้องให้มีบุรุษนั่งคั่นไว้เสียก่อน (วิ. ๒/๗๐)

๓๖.บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาวัตถุอนามาสประเคนพระ วัตถุอนามาส คือสิ่งที่พระไม่ควรแตะต้อง มี ๖ ประเภท ดังนี้ :-
ก.คนหญิง คนกระเทย เครื่องแต่งกายของคนเหล่านั้น แต่ที่เขาสละแล้วไม่นับ ตุ๊กตาหญิง สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
ข.ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์ที่ขัดแล้ว ศิลาชนิดดี เช่น หยก โมรา
ค.ศัสตราวุธต่างชนิด ที่ใช้ทำร้ายชีวิตร่างกาย
ง.เครื่องดักสัตว์บก-น้ำ
จ.เครื่องประโคม
ฉ.ข้างเปลือกและผลไม้อันเกิดอยู่ในที่ (วิ. ๒/๗๓)

๓๗.สตรี ไม่ควรเกลี้ยกล่อม ยั่วเย้าพระด้วยการพูดประเล้าประโลม หรือด้วยการแต่งตัวชะเวิกชะวาก หรือล่อด้วยทรัพย์ (วิ. ๒/๙๑)

๓๘.บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเด็กเล่น เช่นเรือน้อยๆ รถน้อยๆ ถวายพระ (วิ. ๒/๑๑๘)

๓๙.บุรุษ-สตรี ไม่ควรชักชวนพระเล่นการพนัน มีแพ้ มีชนะ เช่นหมากรุก หมากแยก ฯลฯ (วิ. ๒/๑๑๘)

๔๐. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเรียนดิรัจฉานวิชาจากพระและไม่ควรบอกดิรัจฉานวิชาแก่พระ ดิรัจฉานวิชาคือความรู้ในการทำเสน่ห์ ในการใช้ภูตผีปีศาจทำผู้อื่นให้ถึงความวิบัติในทางอวดฤทธิ์เดชต่างๆ ในทางทำนายทายทักบอกหวยบอกเบอร์ ในทางที่นำให้หลงงมงาย เช่นหุงเงิน หรือทองแดงให้เป็นทอง (วิ. ๒/๑๒๐)

๔๑.บุรุษ-สตรี ไม่ควรใช้พระในกิจนอกพระพุทธศาสนา แต่จะขอให้ช่วยกิจพระพุทธศาสนา เช่นให้ช่วยนิมนต์พระไปในการบำเพ็ญบุญอยู่ได้ (วิ. ๒/๑๒๐)

๔๒. บุรุษ-สตรี ไม่ควรนำสิ่งของอันมีค่าฝากไว้กับพระ เพราะอาจเกิดอันตรายแก่พระได้ เช่นอันตรายในการเจริญสมณธรรม ถูกปล้น ถูกเป็นผู้สำนองในเมื่อของนั้นหาย [เพิ่มเติมเองนะคะ: สำนอง = รับผิดชอบ, ต้องรับใช้, ตอบแทน] (วิ. ๒/๑๒๒)

๔๓.บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อสัตว์ที่ไม่นิยมเป็นอาหารถวายพระ เนื้อที่ไม่นิยมเป็นอาหาร คือ เนื้อมนุษย์ ช้าง-ม้า-สุนัข-งู-สีห์-เสือโคร่ง-เสือเหลือง-หมี-เสือดาว (วิ. ๒/๑๓๓)

๔๔.บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นอาหารแต่ยังดิบ ไม่สุกด้วยไฟ เช่น ปูเค็ม กุ้งส้ม หอยเค็ม ปลาเค็ม แหนม กะปิ ลาบเนื้อดิบ ไข่ลวกไม่สุก ประเคนพระ ควรมอบไว้แก่กัปปิยการก คือผู้มีหน้าที่ทำให้เป็นของควรแก่พระ (วิ. ๒/๑๓๓)

๔๕.บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาอุทิศมังสะถวายพระ อุทิศมังสะ คือเนื้อหรือไข่สัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงภิกษุสามเณร (วิ. ๒/๑๓๓)

๔๖. บุรุษ-สตรี อย่าเอาพีชคาม คือผลไม้มีเมล็ดสุกบางอย่าง เช่นพริกสุก มะเขือสุก อ้อยที่ยังไม่ได้ปอก ผักบุ้ง ขมิ้น กระชาย กระเทียม หอม โหระพา กะเพรา ฯลฯ ที่พ้นจากที่เกิดที่อยู่แล้ว แต่ยังปลูกให้งอกได้อีกถวายพระ ควรทำให้เป็นของที่ไม่อาจปลูกให้งอกได้แล้ว จึงถวายพระ (วิ. ๒/๑๓๕)

๔๗. บุรุษ-สตรี จะทำน้ำปานะถวายพระ ควรเลือกเอาผลไม้สุกที่นิยมเป็นอาหารชนิดที่ไม่โตกว่าผลมะตูมหรือผลกระเบา ขนาดเล็ก ไม่จำกัด เอามาทำความสะอาด คั้นแล้วกรองให้หมดกาก เจือน้ำจืดที่สะอาดบ้างก็ได้ แต่อย่าใช้น้ำร้อน และอย่าต้มน้ำปานะด้วยไฟ จะเจือน้ำตาลเกลือบ้างก็ได้ ทำแล้วต้องถวาย ให้พระฉันในวันนั้น อย่าปล่อยให้ข้ามราตรี (วิ. ๒/๑๓๙)

๔๘.บุรุษ-สตรี ไม่ควรถือเอามรดกของพระผู้มรณภาพไปแล้ว ไม่ว่าพระรูปนั้นจะเป็นพ่อ ลูก ญาติ มิตร หรือเกี่ยวข้องกันโดยสถานะไรๆก็ตาม แม้พระได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ ก็ถือเอาไม่ได้ เพราะทางวินัยของสงฆ์มีอยู่ว่า มรดกของพระผู้มรณะตกเป็นของสงฆ์ทั้งหมด แม้พระได้พูดหว้ด้วยคำอันเป็นอนาคตว่า “ถ้าฉันตายแล้ว เธอจงเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป” ดังนี้ ก็ถือเอาไม่ได้ แต่สิ่งที่พระมอบให้ด้วยคำเป็นปัจจุบันว่า “ฉันให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่เธอ” ก็ถือเอาได้เฉพาะสิ่งที่ระบุถึง หากระบุทั้งหมดก็ถือเอาได้ทั้งหมด (วิ. ๒/๑๕๔/๑๕๕)

๔๙.บุรุษ-สตรี เมื่อจะถือเอาสิ่งของของพระด้วยวิสาสะ ต้องให้ครบองค์ ๓ คือ
ก.เคยเห็นกัน เคยคบกัน เคยพูดกันไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ข.รู้ว่าถือเอาแล้ว เจ้าของจักพอใจ
ค.เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ (วิ. ๒/๑๕๗)

๕๐. บุรุษ-สตรี เมื่อพยาบาลพระผู้เจ็บหนัก ฉันอาหารไม่ได้ ครั้นถึงเวลาวิกาลหิวจัด หากมิได้อาหารอาจเป็นอันตราย จะต้มข้าวหรือเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นอาหาร (เว้นอุทิศมังสะ) ให้เหลวกรองให้หมดกาก เอาแต่น้ำข้าว น้ำเนื้อที่ใสถวายให้พระดื่มในเวลาวิกาลได้
การที่จะอ้างว่า แพทย์สั่งให้พระป่วยฉันอาหารในวิกาลได้ แล้วนำอาหารชนิดต่างๆไปถวายในวิกาลนั้น ไม่ควรเลย หากพระอยากฉันอาหารในวิกาลโดยไม่เอื้อเฟื้อต่อวินัยแล้ว ควรให้สึกเสียก่อน จึงจัดถวายให้รับประทาน (วิ. ๒/๑๗๕)

๕๑.สตรีที่เป็นโสเภณี เป็นหม้าย เป็นสาวเทื้อ เป็นชี และกะเทย ไม่ควรไปมาหาสู่กับพระ โดยไม่เป็นกิจจลักษณะหรือผิดเวลา (วิ. ๒/๑๘๑)

๕๒.บุรุษ-สตรี ไม่ควรนิมนต์พระเข้านั่งในร้านสุรา จะเป็นที่ขาย หรือที่กลั่นสุราหรือที่ดองเมรัยก็ตาม (วิ. ๒/๑๘๑)


บุรุษ หรือสตรีก็ตาม เมื่อหวังความเจริญแก่ตนแก่วงศ์สกุลของตน และแก่พุทธศาสนา ควรศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับวินัยของภิกษุสงฆ์บางข้อ ตามที่รวบรวมไว้นี้ และปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ย่อมจะเหมาะสมแก่ความเป็นพุทธศาสนิกชน และย่อมช่วยประดับพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองแล


















ภาคผนวก


ภาคผนวก 1:
สิกขาบทข้อนี้เข้าใจคลาดเคลื่อนกันมากตรงที่ว่าคิดว่าการกระทำในศาสนาเป็นเจตนาเป็นสำคัญ สิกขาบทเหล่านี้แม้ไม่มีเจตนาก็ผิดฉะนั้นในที่นี่จึงขอยกเอาอธิบายจากหนังสือบุพพสิกขาวรรณาอันเป็นหนังสือซึ่งพรรณาไว้ได้ใกล้เคียงกับภาษาในปัจจุบันมากสุด โดยพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด) เป็นผู้รจนาขึ้น ท้ายหนังสือบอกไว้ว่า เสร็จทั้งหมดในปีวอกพุทธศักราช ๒๔๐๓ นับเป็นปีรัชกาลที่ ๑๐ ในรัชกาลที่ ๔
อธิบายพระวินัยที่เกี่ยวข้องเรื่องเงิน รูปิยะสิกขาบทที่ ๘-๑๐ บุพสิกขาวรรณา หน้า ๑๖๕-๑๗๐
ในรูปิยะสิกขาบทที่ ๘ ความว่า ภิกษุใดรับเอง หรือให้เขารับ ซึ่งรูปิยะคือเงินและทองที่เขาให้ หรือตกอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่มี เจ้าของหวงก็ดีถือเอาเพื่อประโยชน์ตนเอง หรือยินดีรูปิยะที่ เขาเก็บไว้ให้ก็ดีรูปิยะนั้น เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ ทองรูป พรรณก็ดี ทองแท่งก็ดีเงินก้อนก็ดี เงินรูปพรรณก็ดี กหาปณะก็ดี มาสกทองแดง มาสทองเหลืองมาสกทำด้วยไม้ มาสกทำด้วยครั่ง ก็ดี และวัตถุอันใด ใช้ซื้อหา แลกเปลี่ยนได้แทนเงิน ในประเทศใด ในกาลใด ดังเหรียญทองแดง ใช้แทนเงินในสยามประเทศนี้ก็ชื่อว่า เงินในประเทศนั้น ในกาลนั้น ทองและเงินเหล่านี้เรียกว่ารูปิยะเป็น นิสสัคคิยวัตถุ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ที่เขาขัดแล้วศิลาที่เป็นเครื่องประดับ แก้วประพาฬ แก้วทับทิม โมรา ข้าวเปลือก ๗ ประการทาสชาย ทาสหญิง ไร่นา ที่ดิน สวนดอกไม้ ผลไม้เป็นต้นเหล่านี้เป็นทุกกฏวัตถุ ภิกษุถือเอาเพื่อตนเป็นทุกกฏ ด้าย ป่าน ผ้า ฝ้ายอปรัณณชาติ คือถั่วงาต่าง ๆ เภสัช มีเนยใส เนยก้อน เป็นต้น เหล่านี้เป็นกัปปิยวัตถุ ภิกษุถือเอาไม่เป็นอาบัติ ในนิสสัคคิยวัตถุ ภิกษุรับเองหรือให้ผู้อื่นรับเพื่อตน หรือเขาเก็บไว้ให้ต่อหน้าว่า ของนี้เป็นของผู้เป็นเจ้า หรือของนั้นอยู่ที่ลับหลัง เป็นแต่เจ้าของสละให้ด้วยกายและวาจา หรือด้วยกายวิการให้รู้ว่า เงินทองของข้าพเจ้ามีอยู่ ณที่โน้น เงินทองนี้ จงเป็นของท่านเถิด ดังนี้ ภิกษุไม่ห้ามเสียด้วย วาจาก็ชื่อว่ายินดีรูปิยะที่เขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ นับตามวัตถุนั้น รูปิยะเป็นนิสสัคคีย์เช่นนี้แล้ว พึงเสียสละในท่ามกลางสงฆ์อย่างเดียว ด้วยคำว่า "อหํ ภนฺเต รูปิยํ ปฏิคฺคเหสึ ; อิทํ เม ภนฺเตนิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ สงฺฆสฺส นิสฺสชฺชามิ" ดังนี้ ถ้ามีคฤหัสถ์ผู้หนึ่งมาในที่เสียสละนั้น ให้สงฆ์พึงว่ากะเขาว่า ท่านจงรู้ของนี้ ถ้าเขา ถามว่าด้วยของนี้จะให้เอาอะไรมา ภิกษุอย่าพึงบังคับว่า ให้เอาสิ่งนี้ ๆ มาพึงบอกแต่ของที่ควรว่า เนยใสน้ำมันเป็นต้น เป็นของควรแก่ภิกษุถ้าหากว่าคฤหัสถ์นั้น เขาหาของที่ควรมาด้วยรูปิยะนั้น ภิกษุทั้งปวงพึงแจกกันบริโภค เว้นแต่ภิกษุผู้รับรูปิยะผู้เดียว ไม่ควรบริโภควัตถุสิ่งใดที่เกิดแต่รูปิยะนั้น แม้ผู้อื่นได้มาถวายก็ดี โดยที่สุดแม้แต่เงาต้นไม้ที่บังเกิดแต่รูปิยะนั้นก็ดี ภิกษุผู้รับรูปิยะนั้น ไม่ควรบริโภคเลย ก็ถ้าคฤหัสถ์ผู้นั้น เขาไม่อยากจะเอารูปิยะไปซื้อสิ่งของมาเล่า ไซร้ให้สงฆ์พึงวานเขาว่า ท่านจงทิ้งของสิ่งนี้เสีย ถ้าเขาทิ้งเสีย ณ ที่ใดที่หนึ่ง หรือเขาถือเอาไปเสียก็ดี อย่าพึงห้ามเขาเลย ถ้าคฤหัสถ์นั้นเขาไม่ทิ้งไซร้ สงฆ์พึงสมมติภิกษุที่พร้อมด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ภิกษุผู้ได้สมมตินั้น อย่าทำนิมิตหมายที่ตก พึงเกลียดดั่งคูถแล้วขว้างรูปิยะนั้นไป ถ้าเธอนั้นทำนิมิตหมายที่ตกไซร้ ต้องทุกกฏ ใน รูปิยะเป็นติกกปาจิตตีย์ ใช่รูปิยะสำคัญว่ารูปิยะ หรือสงสัยและรับหรือรับนิสสัคคิยวัตถุ เพื่อผู้อื่น มีสงฆ์แบะเจดีย์เป็นต้น หรือรับทุกกฏวัตถุ เพื่อตนและเพื่อคนอื่นก็ดี เหล่านี้เป็นทุกกฏ เขาถวายรูปิยะ หรือเขาเก็บไว้ให้ในที่ต่อหน้า หรือลับหลังว่า ของนี้จงเป็นของ ๆ ท่านถ้าภิกษุยินดีด้วยจิตอยากจะถือเอาอยู่ และห้ามเสียด้วยกาย หรือวาจาว่าของนี้ไม่ควร หรือไม่ห้ามด้วยกายวาจา มีจิตอันบริสุทธิ์อยู่ ไม่ยินดีด้วยคิดว่าของนี้ไม่ควรแก่เตาก็ดี อย่างนี้ ก็ควร ไม่มีโทษ ภิกษุถือเองหรือให้เขาถือเอาซึ่งรูปิยะ ที่ตกอยู่ในภายในอาราม หรือภายในที่อยู่แห่งตน ด้วยคิดว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจักมาเอาไป ดังนี้ โดยนัยในรตนสิกขาบทก็ดี ภิกษุบ้าเป็นต้นก็ดี เหล่านี้ ไม่เป็นอาบัติ เป็นสาณัตติกะมีองค์ ๓ ของนั้นเป็นทองและเงินที่เป็นนิสสัคคิยวัตถุ ๑ เฉพาะเป็น ของตัว๑ รับเองหรือให้เขารับ หรือเขาเก็บไว้ให้ยินดีเอา อย่างใด อย่างหนึ่ง เป็น๑ พร้อมด้วยองค์ ๓ นี้ จึ่งเป็นนิสสัคคีย์ สมฏฐาน วิธีเป็นต้นเหมืนอด้วยสัญจริตตสิกขาบท แปลกแต่สิกขาบทนี้เป็น สิยากิริยาเพราะต้องด้วยการรับ และเป็นสิยาอกิริยา เพราะต้องด้วยไม่ทำซึ่งการห้ามซึ่งรูปิยะที่เขาเก็บไว้ให้.

ข้อแปด จบ

ในรูปิยสัโพยหาระสิกขาบทที่ ๙ ความว่า ภิกษุใด ซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่าง ๆ ของนั้น เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์พระองค์ทรงห้ามการรับนิสสัคคิยวัตถุ และทุกกฏวัตถุ ด้วยสิกขาบท ก่อนพระองค์ทรงห้ามการแลกเปลี่ยนนิสสัคคิยวัตถุซื้อ และทุกกฏวัตถุด้วยสิกขาบทนี้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุเอาทุกกฏวัตถุซื้อ แลกเปลี่ยนทุกกฏวัตถุ และกัปปิยวัตถุก็ดี เอากัปปิยวัตถุแลกเปลี่ยนทุกกฏวัตถุ ก็ดีอย่างนี้เป็นทุกกฏ ก็แลภิกษุเอานิสสัคคิยวัตถุ ซื้อหาแลกเปลี่ยนนิสสัคคิยวัตถุ หรือทุกกฏวัตถุ หรือกัปปิยวัตถุก็ดี หรือเอาทุกกฏวัตถุและกัปปิยวัตถุ แลกเปลียนนิสสัคคิยวัตถุก็ดี เหล่านี้เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ของที่ได้มาเป็นนิสสัคคีย์ พึงเสียสละในท่ามกลางสงฆ์อย่าง เดียวและพึงปฏิบัติในของที่เสียสละแล้ว ดังในสิกขาบทก่อน ภิกษุ บ้าเป็นต้นไม่เป็นอาบัติ เป็นอนาณัตติกะ มีองค์ ๒ ของที่แลกเปลี่ยน มาก็ดีทรัพย์ของตนที่จะเอาไปแลกเปลี่ยนก็ดี ข้างใดข้างหนึ่ง เป็น รูปิยะเป็นนิสสัคคิยวัตถุ ๑ สำเร็จในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ๑ พร้อมด้วยองค์ ๒นี้ จึงเป็นนิสสัคคีย์ สมุฏฐานวิธีเป็นต้น เหมือน ด้วยสิกขาบทก่อนแปลกแต่สิกขาบทนี้เป็นกิริยา เกิดแต่ทำซึ่งการ แลกเปลี่ยน.
ข้อเก้า จบ
ในกยวิกกยะสิกขาบทที่ ๑๐ ความว่า ภิกษุใดซื้อขายแลกเปลี่ยนกัปปิยวัตถุ ด้วยกัปปิยวัตถุ มีประการต่าง ๆ มีจีวรเป็นต้นกับคฤหัสถ์ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ ภิกษุกล่าวกับคฤหัสถ์ว่า ท่านให้ของนี้ด้วยของนี้ก็ดี ท่านเอาของนี้ไปให้ของนี้แก่เรา เอาของนี้แลกกับของนี้ก็ดี เอาของสิ่งนี้ไป จงทำของสิ่งนี้ ให้แก่เราก็ดีดังนี้เป็นต้น ต้องทุกกฏ ถือเอากัปปิยภัณฑ์แห่งผู้อื่นมา ชื่อว่าซื้อให้กัปปิยภัณฑ์ ของตนไป ชื่อว่าขาย เพราะเหตุนั้นภิกษุให้กัปปิยภัณฑ์ของตนไป แล้วถือเอากัปปิยภัณฑ์อันใดของคฤหัสถ์พ้นจากสหธัมมิกทั้ง ๕ แม้เป็นมารดาด้วยวาจา เป็นคำแลกเปลี่ยนกันกัปปิยภัณฑ์นั้นเป็น นิสสัคคีย์ พึงเสียสละวัตถุเป็นนิสสัคคีย์นั้นแก่สงฆ์หรือแก่คณะ หรือแก่บุคคล ภิกษุให้ของกินหรือวัตถุสิ่งไรแก่คฤหัสถ์กล่าวว่า ท่านจงกินสิ่งนี้ หรือถือเอาสิ่งนี้แล้ว เอาของนี้มาให้เราหรือทำสิ่งนี้ ให้เรา แล้วใช้ให้เอาน้ำย้อมเป็นต้นมาก็ดีหรือให้ทำบริขารมีธัมมกรก เป็นต้น และให้ทำนวกรรม มีชำระพื้นดายหญ้าเป็นต้น เช่นนี้ ถ้าของจะพึงเสียสละมี ก็พึงเสียสละก่อน ถ้าของไม่มีก็พึงแสดงอาบัติ ปาจิตตีย์อย่างเดียว ภิกษุถามราคาว่าของนี้ราคาเท่าไรก็ดี ปรารถนา จะถือเอาภัณฑะแต่มือผู้ใดเว้นผู้นั้นเสียให้ผู้อื่นโดยที่สุดแม้เป็นลูก ของเจ้าของภัณฑะนั้นวานให้เป็นกัปปิยการแลกเปลี่ยนแทน ว่า ท่านจงเอาของนี้แลกของนี้มาให้เราดังนี้ก็ดี และกล่าวให้พ้นกยวิก กยะ ดังภิกษุเดินทางไป มีแต่ข้าวสารจะต้องการข้าวสุก ว่ากะเจ้าของ ข้าวสุกว่า ข้าวสารของเรามีอยู่เราหาต้องการไม่ เราต้องการด้วย ข้าวสุก ว่าดังนี้และเจ้าของข้าวสุกเอาข้าวสารไป ให้ข้าวสุกแก่ภิกษุ ก็ดีภิกษุบ้าเป็นต้นก็ดี เหล่านี้ไม่เป็นอาบัติ เป็นอนาณัตติกะ มีองค์ ๓ คือของ ๆ คนที่จะเอาไปแลกก็ดี ของ ๆ ผู้อื่นที่ตนจะแลกมาก็ดี ทั้ง ๒ นี้เป็นกัปปิยภัณฑ์ของควร ๑ เจ้าของภัณฑะนั้น เป็นคฤหัสถ์ ใช่สหธัมมิก ๑แลกเปลี่ยนด้วยอาการดังว่าแล้ว ๑ พร้อมด้วยองค์ ๓ นี้ จึ่งเป็นนิสสัคคีย์วินิจฉัยนอกนั้นมีนัยดังกล่าวแล้วในรูปิยสิกจาบท.
ข้อสิบ จบ

------------------------------------------------จบบริบูรณ์-----------------------------------------------








Create Date : 13 พฤษภาคม 2553
Last Update : 8 ธันวาคม 2553 10:12:10 น. 4 comments
Counter : 4093 Pageviews.

 
ทักทายตอนบ่ายๆ จ้า อิอิ ^__^


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:05:58 น.  

 
สาธุ


โดย: chiwat IP: 58.9.136.214 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2553 เวลา:6:05:30 น.  

 
อนุโมทนาค่ะ...


โดย: เงาของพระจันทร์ (เงาของพระจันทร์ ) วันที่: 22 ธันวาคม 2553 เวลา:12:20:43 น.  

 
กราบอนุโมทนาครับอาจาร์ยมีประโยชน์แก่เพื่อนๆทุกท่านเลยครับผม


โดย: ทิฆัมพร IP: 124.120.3.244 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา:6:52:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

aero.1
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




การศึกษาทางโลก
รบ. ธรรมศาสตร์ 2536(นักศึกษาทุนภูมิพล)

การศึกษาทางธรรม
-สัทธิวิหาริก สมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 พศ 2535
-พระเจ้าหน้าที่เวรดูแลพระอาการ สมเด็จญาณสังวร
-อดีตพระป่า(หนองป่าพง)
-ประธานรุ่นนักศึกษาภาคมหาบัณฑิตมหามกุฏราชวิทยาลัย 2546

.

************************** [Add aero.1's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.