ⓘสนใจงานฝีมือหลากหลาย เปิดหาข้อมูลได้ที่นี่ ≈ ทำงานหนังสือมาหลายปี จึงมีข้อมูลมาแบ่งปัน۞
เมื่อเราป่วยด้วยลมพิษเรื้อรัง ตอนที่ 3....ประเภทของโรคลมพิษ


วันนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก #‎RamaChannel‬
เป็นการจำแนกประเภทของโรคลมพิษ


การจำแนกประเภทของโรคลมพิษ
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

ประเภทแรก “ลมพิษเฉียบพลัน”
ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ หมายถึงมีการสัมผัส
หรือได้รับสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการตอบสนองแบบภูมิแพ้จากอาหาร
เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว แป้งสาลี และ อาหารทะเล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้จากยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน
การถูกผึ้ง ต่อ แตน หรือมดกัดต่อย หรืออาจเกิดจากการสวมถุงมือยาง
ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกเฉพาะในผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมเสี่ยง
โดยเฉพาะบิดามารดาหรือญาติในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้
และเกิดในผู้ที่มีปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคภูมิแพ้เท่านั้น
ไม่ใช่เกิดกับทุกคนที่สัมผัสสารเหล่านี้ และอาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
หลังสัมผัสสารที่แพ้ เช่น ภายในไม่กี่วินาที หรือ เป็นนาทีหลังฉีดยาปฏิชีวนะ
หรือถูกผึ้ง ต่อ แตน มดกัด จนถึง 1-2 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป

ในบางกรณีผู้ป่วยโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือหอบหืดจากภูมิแพ้
ที่เกิดจากการแพ้ไรฝุ่น ขนสัตว์ (โดยเฉพาะขนแมว) หรือเกสรดอกไม้ และหญ้า
หากได้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ในปริมาณมาก
อาจพบผื่นลมพิษเฉพาะที่บริเวณเยื่อเมือกที่ตา หรือใบหน้าได้
มีเพียงน้อยรายที่จะเกิดเป็นลมพิษทั่วตัว อย่างไรก็ตามอีกประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย
ที่มีอาการลมพิษเฉียบพลัน จะหาสาเหตุไม่พบ
เช่น อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจในเด็ก

การรักษาผื่นลมพิษประเภทเฉียบพลันนี้ไม่ยาก หากรู้สาเหตุที่ไปกระตุ้นผื่น
โดยมักยืนยันได้จากประวัติการเกิดอาการผื่นลมพิษอย่างรวดเร็ว
หลังจากสัมผัสสารที่แพ้ เมื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ แล้วอาการหายไป
และเมื่อได้รับสารนั้น ๆ ซ้ำ ๆ กัน ก็เกิดอาการอีก โดยอาจตรวจยืนยันได้
โดยการทดสอบทางผิวหนัง หรือโดยการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันแบบแอนติบอดี
ชนิดอี ที่จำเพาะต่อสารภูมิแพ้นั้นๆ
การรักษาโดยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ก็จะสามารถควบคุมลมพิษได้

ส่วนผื่นลมพิษเฉียบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ
เช่น การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เมื่อเกิดผื่นลมพิษ
ก็มักจะหายได้เองหลังจากการติดเชื้อนั้นหายดีแล้ว
จึงมักไม่มีปัญหาเรื่องการรักษา ให้การรักษาตามอาการก็เพียงพอ

ส่วนประเภทที่สองจะค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากเป็น
“ผื่นลมพิษประเภทเป็นๆ หายๆ” มาๆ ไปๆ เป็นช่วงๆ
บางช่วงผื่นมาติดต่อกันทุกวันจนรำคาญ บางครั้งหายก็จะหายสนิทหลายสัปดาห์
หลายเดือน แล้วก็กลับมาเป็นใหม่ ผื่นลมพิษเรื้อรังแบบนี้
ไม่ต้องเสียเวลาตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ให้เหนื่อย เพราะสาเหตุการเกิด
เกิดจากความผิดปกติของมาสต์เซลล์ของคนนั้นเอง
โดยมาสต์เซลล์มีความบอบบาง ไวกว่าคนปกติเล็กน้อย
จากปัจจัยทางกายภาพ เช่น การสัมผัสความร้อน-ความเย็น
มีรอยกดทับนานๆ โดยเฉพาะขอบกางเกง หรือขอบชุดชั้นใน
หรืออุณหภูมิในร่างกายที่เพิ่มขึ้นจากการออกกำลังกาย ก็เกิดผื่นลมพิษได้แล้ว

วิธีทดสอบตนเองว่ามีภาวนี้แบบนี้หรือไม่ ทำได้ง่ายโดยการออกแรงขูดผิวหนัง
โดยใช้ปากกา หรือของปลายทู่ รอประมาณ 3-5 นาทีก็จะปรากฏผื่นลมพิษ
ตามแนวขูดนั้น และจางหายไปเองภายในครึ่งชั่วโมง

แต่นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ปัจจัยอื่นๆ เช่น
ความเครียด ฮอร์โมนเพศหญิง ภาวะติดเชื้อทั่วไป ยาบางชนิด
เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวด
ยาลดการอักเสบที่ใช้รักษาอาการปวดข้อ-ปวดกล้ามเนื้อ
ยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน
จนถึงการรับประทานอาหารบางประเภทในปริมาณมาก
เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหมักดอง ช็อกโกแลต เนยแข็ง
ผัก ผลไม้บางประเภท เช่น สตรอเบอรี่ มะเขือเทศ
หรืออาหารทะเลจำพวกกุ้งหอย ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นลมพิษเรื้อรังได้

ลมพิษเรื้อรังนี้ ทำให้เกิดความรำคาญและรบกวนชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
และทำให้มักต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางหลายๆ โรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุ
แต่ส่วนมากเมื่อตรวจอย่างละเอียดแล้ว ก็มักไม่พบสาเหตุ
เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว คือภาวะนี้เกิดจากความไวของมาสต์เซลล์ของคนนั้นต่อสิ่งรอบตัว
ดังนั้น วิธีการรักษาที่สำคัญ คงไม่ใช่การทำให้หายขาด
แต่เป็นการทำความเข้าใจการดำเนินไปของโรคพิษกำเริบดังที่กล่าวมาข้างต้น
และหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น ร่วมกับการรับประทานยาต้านฮีสตามีน
อย่างสม่ำเสมอจนเมื่อผื่นสงบ จึงค่อยๆ ลดยาลง
แต่ก็คงต้องทำใจว่าหากมีปัจจัยดังกล่าวมากระตุ้นอีก
ผื่นลมพิษเหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน

หลายคนสงสัยว่าเมื่อเป็นลมพิษแล้วจะต้องพบแพทย์เมื่อไหร่ รักษาเองได้ไหม
คำถามนี้ตอบยาก เพราะก่อนอื่นต้องแยกแยะลมพิษที่เกิดจากภูมิแพ้
ออกจากลมพิษเรื้อรังเสียก่อน เนื่องจากลมพิษเฉียบพลันที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้นั้น
มักเกิดจากแอนติบอดีชนิดอีที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ดังที่กล่าวไปแล้ว
มีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง
หมายถึงการมีผื่นลมพิษ หรือเยื่อเมือกบวม ร่วมกับกล่องเสียงบวม หอบ
ท้องเสีย อาเจียน หรือความดันโลหิตต่ำ ไปจนถึงช็อกได้ ดังนั้น
ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันโดยแพทย์ว่าแพ้สารนั้นจริง
เพื่อจะได้รับคำแนะนำในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อย่างครอบคลุม
จนถึงให้พกพาปากกาฉีดยาอะดรีนาลีนหรือเตรียมใส่เข็มขนาดเล็กให้ผู้ป่วยพกพา
เนื่องจากการฉีดยาอะดรีนาลินนี้สามารถหยุดยั้ง
และป้องกันการแพ้เฉียบพลันแบบรุนแรงได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการลมพิษแบบเรื้อรัง
ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้แบบรุนแรง มีแต่เพียงอาการแสดงทางผิวหนัง
อาจพบแพทย์ในกรณีที่พยายามใช้ยาต้านฮีสตามีน
ร่วมกับหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
หรือกรณีที่มีอาการผิดปกติของระบบอื่นๆ เช่น ไข้ ปวดข้อ ผมร่วง ซีด บวม เป็นต้น
ก็ต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค และให้การรักษาที่เหมาะสม

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว โรคลมพิษ โดยเฉพาะผื่นลมพิษเรื้อรัง
ก็อาจจะยังคงสร้างความรำคาญ
แต่คงไม่สร้างความกังวลแก่ท่านมากนักอีกต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
พญ.ทิชา ลิ้มสุวรรณ
หน่วยภูมิแพ้ อิมมูโนวิทยา และโรคข้อ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล







Create Date : 22 พฤษภาคม 2557
Last Update : 22 พฤษภาคม 2557 12:39:15 น. 0 comments
Counter : 3392 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

puifaikpp
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 123 คน [?]




เช็คข้อความหลังไมค์

108idea รางวัลรองอันดับ 2 สาขา Home&Decor Thailand Blog Award 2010

New Comments
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2557
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 พฤษภาคม 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add puifaikpp's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.