bloggang.com mainmenu search

นโยบาย "ฟูโกกุ เคียวเฮ" กับการแสนยานุภาพของญี่ปุ่น ตอนที่ 2

โดย

พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

สงวนลิขสิทธิ์ในการการผลิตซ้ำเพื่อการค้า อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น





ญี่ปุ่นยังมีระบบต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีป "บีเอ็มดี" (BMD : Ballistic Missile Defence) อันทรงอานุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขีปนาวุธนำวิถีด้วยความร้อนแบบสแตนดาร์ด เอสเอ็ม-3 (Standard SM-3) ที่เป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีปและต่อต้านอากาศยานระดับกลาง 

ขีปนาวุธรุ่นนี้ ติดตั้งบนเรือรบต่างๆ ของกองทัพเรือ เช่น เรือรบ "คอนโกะ" (Congo) และเรือรบ "เมียวโกะ" (Myoko) เป็นต้น ขีปนาวุธเหล่านี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถปกป้องน่านฟ้าของตนเอง จากการรุกรานของศัตรู ทั้งเครื่องบินรบ และขีปนาวุธนำวิถีติดหัวรบนิวเคลียร์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนักวิเคราะห์ตะวันตกเชื่อกันว่า แสนยานุภาพดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้จีนต้องยับยั้งชั่งใจ หรือ "คิดเป็นครั้งที่สอง" (On Second Thought) หากต้องการจะขยายความขัดแย้งไปสู่การเผชิญหน้าในระดับ "สงคราม" กับญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเตรียมการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 ลำ คือ เรือบรรทุกเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ ชั้น "ฮิวกะ" (Hyuga) ประกอบด้วยเรือ "ฮิวกะ" และเรือ "อิเซะ" (Ise) ซึ่งเข้าประจำการเมื่อ ปี พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2554 ตามลำดับ

เรือทั้งสองลำนี้ไม่สามารถใช้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขับไล่แบบปกติได้ เนื่องจากไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ในการดีดเครื่องบินขึ้นจากดาดฟ้า สาเหตุที่ญี่ปุ่นสามารถครอบครองได้แต่เพียงเรือบรรทุกเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์นั้น เนื่องจากถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ ที่ไม่อนุญาตให้มีการครอบครองเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการรบเชิงรุกได้ ภายหลังจากที่เคยใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นปัจจัยหลัก ในการโจมตีสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรแปซิฟิคมาแล้ว ในสงครามโลกครั้งที่สอง

สิ่งที่น่าจับตามอง คือเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้นำเรือบรรทุกเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Carrier) ชื่อ "อิซูโมะ" (Izumo) เข้าประจำการอีกหนึ่งลำ แม้โลกตะวันตกจะถือว่า เรือลำนี้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ แต่ตามหลักการจัดของกองทัพเรือญี่ปุ่นแล้ว ถือว่าเป็นเรือพิฆาตพร้อมเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Destroyer) สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้ 14 ลำ มีระวางขับน้ำถึง 19,800 ตัน ทำให้เรือ "อิซูโมะ" กลายเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ทางทหารของจีนมองว่า เรือบรรทุกเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ทุกลำของญี่ปุ่น สามารถใช้สำหรับบรรทุกเครื่องบินขับไล่ ขึ้นลงทางดิ่ง (STOVL: Standard Take-Off and Vertical Landing) แบบ เอฟ-35 ได้ และเป็นภัยคุกคามในการแผ่ขยายแสนยานุภาพของกองทัพเรือจีนในมหาสมุทรแปซิฟิคอย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ว่าการประกาศหวนคืนสู่ความแข็งแกร่งทางด้านการทหารของญี่ปุ่น ตามนโยบาย "ฟูโกกุ เคียวเฮ" จะถูกท้วงติงจากเกาหลีใต้และจีน ตลอดจนประชาชนบางส่วนของญี่ปุ่น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จีนได้กลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลี (Spartly Islands) ในทะเลจีนใต้ ที่จีนกลายเป็นคู่กรณีกับประเทศในอาเซียนถึง 4 ประเทศ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน รวมทั้งประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีก 1 ประเทศ คือ ไต้หวัน ก็ได้ทำให้เสียงท้วงติงเหล่านั้น ขาดน้ำหนักและแผ่วเบาลงอย่างมาก ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลให้เกิดกระแสตอบรับ ในทางบวก จากประเทศคู่ขัดแย้งกับจีนอีกด้วย เพราะต่างมองว่าญี่ปุ่นกำลังจะเข้ามาเพื่อสนับสนุนสหรัฐอเมริกา ในการถ่วงดุลย์อำนาจกับจีนนั่นเอง

ตัวอย่างการยอมรับการสร้างแสนยานุภาพของญี่ปุ่น ที่เห็นได้ชัด คือ ฟิลิปปินส์ โดยเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นเดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา

เขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเกินความคาดหมาย ทั้งที่ในสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่สองที่ผ่านมา กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างความทรงจำอันเจ็บปวดขึ้น ในจิตใจของชาวฟิลิปปินส์ เมื่อทหารญี่ปุ่นได้สังหารประชาชนฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภายหลังความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิ "บาตาน" หรือ "บาตาอัน" (Bataan) ที่ทหารของกองทัพแห่งลูกพระอาทิตย์ บังคับเชลยศึกสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์จำนวนนับหมื่นนาย เดินเท้าเป็นเวลาหลายวัน ตลอดการเดินทางนี้ มีการปฏิบัติกับเชลยศึกเหล่านั้นอย่างโหดเหี้ยม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีการขนานนามการเดินทางครั้งนี้ว่า "การเดินแห่งความตาย" (Death march)

แต่การเดินทางมาเยือนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้ ประวัติศาสตร์และความทรงจำอันขมขื่นของฟิลิปปินส์ ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก นิตยสาร "ไทม์" (Time) ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2556 ระบุว่า นับตั้งแต่จีนก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจและแสดงบทบาทเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อฟิลิปปินส์ ทำให้ชาวฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 80 หันกลับมามองญี่ปุ่นในแง่บวก เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่พร้อมที่จะต้อนรับการหวนกลับมาของญี่ปุ่น นอกจากนี้นายชินโซ อาเบะ ยังได้ให้คำสัญญาว่า จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาหน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้อยู่ในสภาพต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน โดยมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจำนวน 10 ลำ แต่ละลำมีความยาวประมาณ 40 เมตร มูลค่าลำละกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับฟิลิปปินส์อีกด้วย

คลาริต้า คาร์ลอส (Clarita Carlos) อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันประเทศของฟิลิปปินส์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า "..ญี่ปุ่นมีสิทธิในทุกๆ ด้านที่จะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการทหาร อันเป็นผลเนื่องมาจากการยั่วยุ (provocation) ของจีน .. จีนมักจะแสดงบทบาทว่า พวกเราเคยถูกรุกรานกดขี่ และปกครองโดยญี่ปุ่น ถึงแม้ทุกคนยังจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี แต่พวกเราก็เรียนรู้วิธีที่จะยกโทษ( forgive) ให้กับญี่ปุ่น ..” 

คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงมุมมองของชาวฟิลิปปินส์ ที่แสดงออกมาว่า พวกเขาพร้อมที่จะเคียงข้างกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ในการรับมือการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน แม้จะมีอดีตที่ขมขื่นเพียงใดก็ตาม

ปัจจุบันนโยบาย "ฟูโกกุ เคียวเฮ" ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กำลังผลิดอกออกผลอย่างเห็นได้ชัด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลายเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม ในขณะเดียวกันการสร้างแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหม่ ก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ที่หวั่นเกรงการขยายอิทธิพลของจีน

สิ่งที่โลกต้องจับตามองต่อไปก็คือ การฟื้นตัวของกองทัพลูกพระอาทิตย์ในครั้งนี้ จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค เช่นเดียวกับจีนหรือไม่ เพราะญี่ปุ่นก็ประกาศยืนยันอย่างชัดเจนว่า การคืนชีพในครั้งนี้ ก็เพียงเพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคเท่านั้น ดังคำกล่าวของนายอิตซูโนริ โอโนเดระ (Itsunori Onodera) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นที่กล่าวว่า ".. จุดมุ่งหมายของญี่ปุ่นในครั้งนี้คือ การมีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์ในการนำภูมิภาคแห่งนี้ไปสู่ความสงบ .." นั่นเอง



Create Date :01 กันยายน 2557 Last Update :1 กันยายน 2557 9:28:49 น. Counter : 1886 Pageviews. Comments :0