bloggang.com mainmenu search
ข้าคือ ... ตาลีบัน

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนมิถุนายน 2553

(สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)







ในขณะที่โอซามา บิน ลาเดนและกลุ่ม “อัล กออิดะฮ์” ของเขาใช้เวลาเพียงแค่ชั่วข้ามคืนในการประกาศศักดาให้โลกได้รู้จัก จากการลงมือปฏิบัติการเขย่าโลกในเหตุการณ์ 9/11 ที่ทำให้อาคารเวิร์ดเทรด เซนเตอร์ กลางมหานครนิวยอร์คกลายเป็นอดีตไปในชั่วพริบตา พร้อมๆ กับชื่อของ “ตาลีบัน” (Taliban) (บางทีออกเสียงว่า “ทาลีบัน” หรือ “ตอลีบัน”) ก็ได้กลายเป็นชื่อที่อยู่เคียงข้างกับชื่อของ อัล กออิดะฮ์ แทบทุกครั้ง ราวกับเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ แล้ว “ตาลีบัน” มีรูปแบบ ระบบ และองค์กรที่แยกออกจากอัล กออิดะฮ์อย่างสิ้นเชิง

ตาลีบันไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายเหมือนอัล กออิดะฮ์ ซึ่งหากจะเปรียบเทียบการก่อกำเนิดของตาลีบันให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงต้องเทียบเคียงกับการก่อกำเนิดของพรรคนาซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ อดอล์ฟ ฮิตเอลร์ (Adolf Hitler) ก่อตั้งพรรคนาซีขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยในขณะนั้นเยอรมันเต็มไปด้วยปัญหาการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายซ้ายนิยมคอมมิวนิสต์และฝ่ายขวาจัดอย่างเช่นพรรคนาซี การต่อสู้ทำให้เยอรมันอ่อนแอลงอย่างมาก ก่อนที่ผลของความขัดแย้งจะยุติลงด้วยการเข้าครอบครองอำนาจในการบริหารประเทศของพรรคนาซี จนทำให้เยอรมันเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นภัยคุกคามที่น่าหวั่นเกรงของโลกตะวันตกเป็นอย่างมาก แม้ว่าในท้ายที่สุดฮิตเลอร์และพรรคนาซีของเขาจะต้องถึงคราวล่มสลายลงไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองก็ตาม

ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ก็ได้บันทึกถึงการก่อกำเนิดของตาลีบันเอาไว้ว่า ตาลีบันถือกำเนิดขึ้นในแนวทางคล้ายๆ กับนาซีเยอรมันคือเมื่อ “มุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด โอมาร์” (Mullah Mohammed Omar) ได้ก่อตั้งกลุ่มตาลีบันขึ้นภายหลังจากสหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.1989 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เกิดสูญญากาศทางการเมืองและการปกครองในประเทศอัฟกานิสถาน รัฐบาลหุ่นเชิดของประธานาธิบดีโมฮัมหมัด นาจิบบุลเลาะห์ (Mohammad Najibullah) ที่ถูกตั้งขึ้นโดยสหภาพโซเวียตอ่อนแอเกินไปที่จะปกป้องตนเองจากกลุ่มติดอาวุธของชนเผ่าต่างๆ เช่น ปัชตุนส์ (Pashtuns) ทาจิกส์ (Tajiks) และอุสเบกส์ (Uzbeks) เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ.1994 ชื่อของตาลีบันและชื่อของมุลลาห์ โมฮัมเหม็ด โอมาร์ ได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในระบบข่าวกรองของโลกตะวันตกว่า เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์จากการปล้น ฆ่าของกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในเขตเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ยึดหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น ต่อต้านการฉ้อโกงและความโหดเหี้ยมในทุกรูปแบบ พวกตาลีบันกลายเป็นขวัญใจของชาวบ้านที่คอยทำลายล้างกลุ่มโจรที่กระจัดกระจายอยู่ตามหุบเขาต่างๆ








“ตาลีบัน” เป็นภาษาปัชตุนส์แปลว่า “นักเรียน” อันหมายถึงนักเรียนที่เรียนรู้หลักการทางศาสนาอย่างจริงจังและเคร่งครัด ตาลีบันเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักมูจาฮิดีน (คำว่า “มูจาฮิดีน” (Mujahideen) หมายถึงนักรบเพื่ออิสรภาพ หรือ Freedom fighter ซึ่งมักถูกเชื่อมโยงเข้ากับหลักศาสนา จนมีความหมายว่า “นักรบแห่งสงครามศักดิ์สิทธิ์” หรือ “นักรบจิฮาด” ในที่สุด) โดยนักรบมูจาฮิดีนของตาลีบันส่วนใหญ่เป็นชาวปัชตุนส์ นิกายสุหนี่ เป็นกลุ่มเคร่งศาสนาแบบ “สุดโต่ง” หรือที่เรียกว่าหัวรุนแรง

สำหรับชัยชนะครั้งแรกในอัฟกานิสถานของพวกเขาเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1994 เมื่อพวกตาลีบันเคลื่อนพลจากทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานเข้ายึดเมืองกันดาฮาร์จากฝ่ายรัฐบาลได้ โดยสูญเสียกำลังพลไปเพียงไม่กี่สิบคน หลังจากนั้นตาลีบันก็ได้รับการสนับสนุนจากชาวปัชตุนส์ทั่วทั้งอัฟกานิสถาน ที่ต่างมุ่งหวังจะยุติสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อยาวนานลง แม้กลุ่มปัชตุนส์ที่สนับสนุนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักวิชาการจะมีแนวคิดที่แตกต่างจากพวกตาลีบันก็ตาม ทำให้ตาลีบันสามารถรุกเข้ายึดเมืองใหญ่ต่างๆ ได้ถึง 12 เมืองในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

และในเดือนกันยายน ค.ศ.1996 พวกเขาก็ยึดกรุงคาบูล (Kabul) เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้สำเร็จพร้อมๆ กับการสังหารประธานาธิบดีหุ่นเชิดของสหภาพโซเวียต ด้วยการแขวนคอกลางท้องถนนในกรุงคาบูลอย่างเหี้ยมโหด การจัดตั้งรัฐบาลของตาลีบันได้รับการรับรองจากนานาชาติทั่วโลกเพียงสามประเทศเท่านั้น คือ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และปากีสถาน มิตรประเทศใกล้ชิดผู้ซึ่งให้การสนับสนุนตาลีบันในทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการตั้งแต่อาหารไปจนถึงอาวุธสงคราม โดยจัดส่งผ่านทางองค์การ ไอ เอส ไอ (ISI – Inter Services Intelligence) ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองของประเทศปากีสถาน

ห้วงเวลาการก้าวเข้าสู่อำนาจของตาลีบันไม่ต่างจากการก้าวเข้าสู่อำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ของพรรคนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองมากนัก มีการกวาดล้างกลุ่มต่อต้าน ตลอดจนมีการปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมอย่างขนานใหญ่ ในขณะที่ฮิตเลอร์ใช้หลักการแบ่งแยกเชื้อชาติ (racism) เป็นกลไกในการจัดการปรับโครงสร้างทางสังคม






นักรบตาลีบันในรัฐวาซิริสถานของประเทศปากีสถาน




พวกตาลีบันได้ใช้หลักศาสนาที่เคร่งครัดเข้ามาเป็นกลไกและเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ กิจกรรมต่างๆ ถูกประกาศห้ามอย่างเด็ดขาด เช่น การชมภาพยนตร์ การแข่งขันกีฬา กิจกรรมนันทนาการ รวมถึงการจำกัดสิทธิสตรีในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนตีกลางที่ชุมชน หรือการลงโทษแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เช่น ตัดมือ จนถึงการประหารชีวิตโดยปราศจากการไต่สวนตามหลักยุติธรรมสากล เป็นต้น แม้จะมีเสียงคัดค้านจากบรรดาผู้นำศาสนาภายนอกประเทศว่า กฎระเบียบบางอย่างที่ตาลีบันนำมาใช้ขัดต่อหลักคำสอนทางศาสนาอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีเสียงคัดค้านจากบรรดาผู้นำศาสนาภายนอกประเทศว่า กฏระเบียบบางอย่างที่ตาลีบันนำมาใช้ขัดต่อหลักศาสนาอย่างสิ้นเชิง

สองปีภายหลังจากที่กลุ่มตาลีบันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศ ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถาน เมื่อกองกำลังฝ่ายรัฐบาลตาลีบันเข้ากวาดล้างฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาในพื้นที่เมือง มาซา อิ ชารีฟ (Mazar I sharif) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือของประเทศในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1998

โดยทหารตาลีบันจำนวนมากบุกเข้าไปเมืองแล้วลงมือกราดยิงทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในร้านขายของ เด็กและผู้หญิงที่หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้าน การกวาดล้างดำเนินไปอย่างน่าสพรึงกลัวเป็นเวลาถึงสองวัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 8,000 คน ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มตาลีบันยังห้ามมิให้มีการฝังศพผู้เสียชีวิตเหล่านั้นเป็นเวลาถึงหนึ่งสัปดาห์ ด้วยความมุ่งหมายที่ต้องการให้ซากศพถูกความร้อนจากแสงแดดแผดเผาจนเน่าเปื่อยและกลายเป็นอาหารของสุนัขและฝูงสัตว์ต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มผู้นำศาสนามาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ชื่อของ “ตาลีบัน” ยังกลายเป็นที่รู้จักของสังคมโลกและพุทธศาสนิกชนทั่วไปในปี ค.ศ.2001 เมื่อตาลีบันมีคำส่งให้ทำลายพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เมืองบามิยาน (Bamiyan) ซึ่งมีอายุนับพันปี ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากนานาชาติ แม้ มุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด โอมาร์ ผู้นำตาลีบันจะให้คำมั่นสัญญาตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ว่าจะมีการอนุรักษ์มรดกล้ำค่าต่างๆ ของโลกในดินแดนอัฟกานิสถาน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยอมรับว่าการทำลายองค์พระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประมาณค่ามิได้นั้น เป็นกระทำตามหลักศาสนาในการทำลายรูปเคารพต่างๆ ที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด





การยิงทำลายพระพุทธรูปที่เมืองบามิยาน



อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งคือ แม้ตาลีบันจะเคร่งครัดในหลักศาสนาเพียงใดก็ตาม แต่พวกตาลีบันก็ไม่มีแนวคิดในการเผยแพร่หลักความเชื่อทางศาสนาแบบ “สุดโต่ง” ของตนออกสู่โลกภายนอกเลย อีกทั้งไม่มีแนวคิดในการส่งออกการก่อการร้ายที่มีความรุนแรงออกนอกเขตพื้นที่ปกครองของตนทั้งในอัฟกานิสถานและพื้นที่ทางตอนเหนือของปากีสถานแต่อย่างใด แตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น เจไอ หรือเจะห์มา อิสลามิยาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มเฮซบุลเลาะห์ในปาเลสไตน์ และกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ที่มักนิยมการส่งออกแนวคิดทางศาสนา ความเชื่อ และการกระทำต่างๆ ออกสู่สังคมโลก ด้วยเหตุนี้เองที่แนวคิดและชื่อเสียงของตาลีบันจึงไม่เป็นที่รู้จักต่อสังคมภายนอกมากนัก

จนกระทั่งในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัล กออิดะฮ์ ได้ถูกโลกตะวันตกกล่าวหาว่าใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานในการโจมตีสหรัฐอเมริกาในเหตุการณ์ 9/11 ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรนาโต้ (NATO – Northern Atlantic Treaty Organization) ส่งกำลังทหารเข้าไปโค่นล้มรัฐบาลตาลีบันและจัดตั้งกองกำลัง ไอซาฟ (ISAF – International Security Assistance Forces) ขึ้น โดยความร่วมมือของกลุ่มนอร์ทเทิร์น อัลลายแอนซ์ (Northern Alliance) ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตาลีบันมาตลอด

ภายหลังที่สหรัฐอเมริกาสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้ สมาชิกตาลีบันก็แตกกระสานซ่านเซ็นกลายเป็นกองโจร ทำการสู้รบกระจัดกระจายไปทั่วภูมิภาคทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในปี ค.ศ.2008 แล้วเริ่มทำการตอบโต้อย่างได้ผล จนประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าของสหรัฐอเมริกาต้องตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มอีกกว่า 30,000 นายตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.2010 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงทุกทีในสมรภูมิอัฟกานิสถาน

ยุทธศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกามุ่งเอาชนะตาลีบันในขณะนี้ นอกจากการทุ่มเทกำลังเข้ากวาดล้างที่มั่นของตาลีบันในพื้นที่ห่างไกลแล้ว สหรัฐอเมริกาก็กำลังมุ่งใช้งานด้านกิจการพลเรือนหรือที่เรียกย่อๆ ว่า “ซิล-มิล” (Cil-Mil หมายถึง Civil – Military) เพื่อหวังเอาชนะใจของพวกตาลีบันและชาวอัฟกัน ขณะเดียวกันก็ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลให้กับพวกตาลีบันที่กลับใจออกมามอบตัว จนเรียกได้ว่า พวกตาลีบันที่ออกมามอบตัวต่างพากันร่ำรวยไปตามๆ กัน

แต่อย่างไรก็ตาม เงินก็ไม่สามารถซื้ออะไรได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะจิตใจของนักรบตาลีบันที่ยึดมั่นในหลักความเชื่อและศรัทธาต่อการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ ดังเช่น โมฮัมหมัด ซาลิม อาคุด (Mohammad Salim Akhund) หนึ่งในพวกตาลีบันที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารนิวสวีค (Newsweek) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2010 ว่า

“เงินของสหรัฐอเมริกาไม่มีค่าอะไรสำหรับพวกเรากลุ่มตาลีบัน ผมเสียพี่ชายและเพื่อนสนิทไปในการทำสงครามครั้งนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมจะเป็นเหมือนกับพี่ชายของผม ... นั่นคือการตายอย่างมีเกียรติ”
ซามี ยูซาฟไซ (Sami Yousafzai) ผู้สื่อข่าวนิวสวีคเปิดเผยภายหลังจากที่ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับพวกตาลีบันว่า ดูเหมือนพวกเขาเหล่านั้นแทบไม่สนใจในเงินรางวัลที่สหรัฐอเมริกาตั้งเอาไว้เลย มิหนำซ้ำยังกล่าวอีกว่ากลุ่มที่ออกไปรับเงินและเลิกล้มการต่อสู้ ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่พวกตาลีบันที่แท้จริง ข่าวที่ปรากฏออกมาว่าพวกตาลีบันกว่าร้อยละ 70 ยอมออกมามอบตัวเพื่อรับเงินรางวัลนั้น ยูซาฟไซให้ความเห็นว่า “หากคุณพบพวกที่ออกมารับเงินเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าโชคดีแล้ว”

นิตยสารนิวสวีคยังวิเคราะห์ต่อไปว่า กลุ่มตาลีบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปัชตุนส์ยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ต่อไป ไม่ใช่เพราะว่าต้องการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่เพราะชาวปัชตุนส์มีกฎข้อบังคับดั้งเดิมของชนเผ่าตนที่เรียกว่า “ปัชตุนวาลี” (Pashtunwali) ที่กำหนดให้ใช้วิธีการ “ล้างแค้นแบบตาต่อตา” (eye for an eye revenge) ต่อความสูญเสียญาติพี่น้องจากการสู้รบ ซึ่งกฎข้อบังคับข้อนี้ทำให้พวกตาลีบันยังคงตั้งหน้าตั้งตาแก้แค้นโลกตะวันตกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อไป

ในขณะเดียวกัน อัซซาด ข่าน (Assad Khan) นักรบตาลีบันวัย 33 ปีก็เปิดเผยว่า “ไม่ว่าจะเป็นระเบิด โซ่ตรวนในสถานที่คุมขังที่อ่าวกวนตานาโม หรือแม้แต่อเมริกันดอลล่าร์ ก็ไม่สามารถเอาชนะพวกเราได้” คำตอบของข่านดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่สะท้อนข้ามขอบโลกไปถึงหูของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า แห่งสหรัฐอเมริกาว่า

“.... สงครามของเขาในครั้งนี้ คงไม่ง่ายอย่างที่เขาคาดคิดเอาไว้ ....”

ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ โลกจะได้เห็นยุทธศาสตร์และมาตรการใหม่ๆ ที่สหรัฐอเมริกาจะนำออกมาใช้ในการพิชิตกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อสมรภูมิในอิรักสิ้นสุดลง ถนนทุกสายก็จะมุ่งสู่อัฟกานิสถานเพื่อถอนรากถอนโคนตาลีบันและอัล กออิดะฮ์ให้หมดสิ้นก่อนเส้นตายการถอนทหารสหรัฐอเมริกาออกจากอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.2012 นั่นหมายรวมถึงอาวุธที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีในการทำลายล้างสูงจะถูกนำมาใช้อย่างแน่นอน เพราะสงครามของโอบาม่าในครั้งนี้ เป็นสงครามที่แพ้ไม่ได้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปของประธานาธิบดีโอบาม่าเอง

ท้ายที่สุด เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลาแห่งการพิสูจน์ถึงศักยภาพของกลุ่มตาลีบันนั้นกำลังใกล้ถึงจุดที่สำคัญที่สุดของการตัดสินชัยชนะขั้นเด็ดขาดกำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้านี้ ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าวจะเป็นห้วงเวลาแห่งการชี้เป็นชี้ตายของ “ตาลีบัน” และ “บารัค โอบาม่า” อย่างแท้จริง


Create Date :06 กันยายน 2553 Last Update :3 เมษายน 2556 19:25:49 น. Counter : Pageviews. Comments :3