bloggang.com mainmenu search

การเสริมสร้างแสนยานุภาพของอาเซียน.. 

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในนิตยสารเส้นทางนักขาย ฉบับเดือนมิถุนายน 2556




ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากองทัพสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนของเรามีการสั่งซื้ออาวุธกันอย่างขนานใหญ่  จนสถาบันศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (IISS: International Institute of Stratagic Studies) ระบุว่าชาติเอเชียมีการใช้จ่ายด้านการทหารแซงหน้าชาติยุโรปหรือกลุ่มประเทศสมาชิกนาโต้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 – 2555 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลกันว่าการสะสมอาวุธอาวุธครั้งมโหฬารนี้จะทำให้เกิดความตึงเครียดและนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอันอาจส่งผลกระทบต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 หรือไม่

อินโดนีเซียนับเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการสะสมอาวุธในกลุ่มประเทศอาเซียน  นิตยสารอาเซียน ดีเฟนซ์ฟอรั่ม (ASEANDefense Forum) รายงานว่ากองทัพอินโดนีเซียหรือที่เรียกกันว่า  ทีเอ็นไอ (TNI: Tentara National Indonesia) ได้รับงบประมาณจำนวนมหาศาลเป็นจำนวนถึง 16,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศถึง 30%  เลยทีเดียว  ภายหลังจากที่กองทัพอินโดนีเซียถูกตัดงบประมาณมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา  เพื่อนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  โดยในปี ค.ศ.2006  กองทัพอินโดนีเซียได้รับงบประมาณเพียง  2,000  ล้านเหรียญสหรัฐฯ  แต่ในปัจจุบันกองทัพอินโดนีเซียได้รับงบประมาณสูงถึง  8,000  พันล้านเหรียญ  การเพิ่มงบประมาณในครั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวสู่ความเป็นกองทัพสมัยใหม่ตามแผนพัฒนากองทัพในระยะเวลาสามปี  การเพิ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนากองทัพ  โดยเฉพาะกองทัพอากาศและกองทัพเรือในครั้งนี้  จะส่งผลให้กองทัพอินโดนีเซียกลายเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของกลุ่มอาเซียน

สำหรับแผนการพัฒนากองทัพครั้งใหญ่ของอินโดนีเซียนี้  ประกอบไปด้วยการจัดซื้อรถถัง เรือฟริเกต  เรือคอร์เวต เรือเร็วโจมตีติดอาวุธจรวดนำวิถี  เรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบซุคคอย และ เอฟ 16  โดยกองทัพอากาศอินโดนีเซียจะเพิ่มฝูงบินขึ้นอีกถึง  17ฝูงบิน  จากแต่เดิมที่มีอยู่  18 ฝูงบิน  ประกอบด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่แบบซุคคอยจากรัสเซียเป็นจำนวนถึง  64  ลำ  เครื่องแบบขับไล่แบบเอฟ 16  จากสหรัฐฯ  จำนวน  32  ลำ  ซึ่งในจำนวน  24ลำ  จากทั้งหมด  32  ลำได้รับการเสนอจากสหรัฐฯ  เมื่อครั้งประธานาธิบดีบารัก โอบาม่าเดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย  เมื่อปี  ค.ศ.2010  ว่าจะมอบเครื่องบินรุ่นนี้ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ  ใช้แล้วให้โดยไม่คิดมูลค่า  แต่อินโดนีเซียต้องจ่ายยกระดับสมรรถนะของเครื่องเหล่านี้จำนวน  750 ล้านเหรียญ

เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการขยายกำลังรบอย่างน่าเกรงขาม  โดยเวียดนามซื้อเรือดำน้ำชั้นกิโล 2 ลำเรือฟริเกตชั้น เกพาร์ด จำนวน 2 ลำพร้อมระบบจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ เคเฮช-35 อี จำนวน 31 ลูกและเครื่องบินขับไล่แบบซู 30 เคเอ็นจำนวน 18 ลำจากรัสเซียซึ่งจะทำให้เวียดนามมีฝูงบินซู 30 ถึง 3 ฝูงด้วยกันเลยทีเดียว รวมถึงสั่งซื้อขีปนาวุธอีกจำนวนหนึ่งจากอิสราเอล แต่ที่สำคัญคือเวียดนามกำลังสนใจที่จะสั่งซื้อเครื่องบินปราบเรือดำน้ำแบบพี 3โอไรออนจำนวน 6 ลำจากสหรัฐฯ ซึ่งหากเวียดนามประสบความสำเร็จในการสั่งซื้อเครื่องบินปราบเรือดำน้ำรุ่นนี้ ก็จะทำให้เป็นประเทศที่สองของอาเซียน ต่อมาจากกองทัพไทยที่มีเครื่องบินรุ่นนี้เข้าประจำการ นอกจากนี้เวียดนามกำลังร่วมมือกับรัสเซียในการก่อสร้างโรงงานผลิตจรวดร่อนและพัฒนาฐานทัพเรือที่อ่าวคัมรานห์ขึ้นอีกด้วย

ทางด้านสิงคโปร์นั้น สถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพนานาชาติแห่งกรุงสต็อกโฮล์ม ได้เปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายทางทหารของสิงคโปร์ว่ามีประมาณ 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นประเทศที่ใช้จ่ายในการซื้ออาวุธสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน  โดยมีการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ 15 เอสจี พร้อมทั้งกำลังพัฒนาเครื่องบินรบอเนกประสงค์แบบ เอฟ 35 ซึ่งถือเป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 อันใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังซื้อเรือดำน้ำจากสวีเดนเพิ่มอีก 2 ลำ รวมเป็นทั้งสิ้น 4 ลำเพื่อใช้ในฝูงเรือดำน้ำ “ชาลเลนเจอร์”  ที่ตั้งขึ้นทำให้กองทัพอากาศและกองทัพเรือของสิงคโปร์ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและมีแสนยานุภาพที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนในทันที

ทางด้านกองทัพฟิลิปปินส์ก็ต้องการเพิ่มงบประมาณทางทหารเป็นจำนวน 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนากองทัพเช่นกัน แม้ว่าจะต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนก็ตาม ทั้งนี้เพราะต้องการถ่วงดุลย์อำนาจในความขัดแย้งกับจีนเกี่ยวกับปัญหาหมู่เกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ โดยได้ตัดสินใจซื้อเครื่องบินขับไล่แบบเอฟเอ 50 จำนวน 12 ลำจากเกาหลีใต้ เฮลิคอปเตอร์ตรวจทางทะเล 3 ลำจากอิตาลี และเรือตรวจชายฝั่งจากญี่ปุ่น 10 ลำนอกจากนั้นฟิลิปปินส์อาจกำลังหมายตาซื้ออาวุธจากโปแลนด์  สเปน แคนาดา ฝรั่งเศสหรือแม้แต่รัสเซียเพิ่มด้วย

ส่วนมาเลเซียซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางทหารเป็นอันดับสี่ของอาเซียนคืออยู่ที่ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็กำลังเสริมสร้างศักยภาพทางทหารอย่างมากมาย เนื่องจากประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก  โดยมาเลเซียกำลังจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ 18 หรือแบบ ซู 30 เพิ่มเติม  รวมทั้งได้จัดซื้อรถถังจำนวน 48 คันจากโปแลนด์ เรือดำน้ำ Scorpene จำนวน 2 ลำ จากการร่วมผลิตของฝรั่งเศสกับสเปน  

นอกจากนี้มาเลเซียกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของตัวเองอย่างน้อยให้ถึงขั้นผลิตอุปกรณ์กระสุนหรืออาวุธเบาได้ และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่อินเดียและจีนประสบความสำเร็จมาแล้วด้วย 

ส่วนกัมพูชาก็มีการจัดซื้อรถถังจากยุโรปตะวันออกจำนวน 94 คัน  ในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนในการส่งมอบรถบรรทุกเพื่อใช้ในกองทัพอีก 257 คันพร้อมทั้งยังสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวเพื่อจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตจากจีนอีกจำนวน 12 ลำ

การเสริมสร้างกำลังทางทหารของกลุ่มประเทศอาเซียนจึงกลายเป็นที่จับตาของประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอีกไม่นานประเทศเหล่านี้ก็จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน การสะสมอาวุธจะส่งผลกระทบต่อการรวมตัวดังกล่าวหรือไม่คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป






Create Date :10 สิงหาคม 2556 Last Update :10 สิงหาคม 2556 12:40:57 น. Counter : 4450 Pageviews. Comments :0