bloggang.com mainmenu search
กองทัพกับการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ตอนที่ ๓

โดย ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร TOPGUN ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ ให้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาเท่านั้น






ภัยความมั่นคงอีกรูปแบบหนึ่งของประชาคมอาเซียนที่  รศ.ดร.สุเนตรกล่าวถึงคือ  การขยายอำนาจของประเทศมหาอำนาจต่างๆเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 

เนื่องจากอาเซียนในปัจจุบันเกิดช่องว่างทางอำนาจขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   โดยสังเกตุได้จากการที่ไม่มีประเทศมหาอำนาจใดสามารถสั่งการอาเซียนได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา  ทำให้มหาอำนาจพยายามใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ 

เช่น  ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเทคโนโลยี  ความรู้ซึ่งถือเป็นอำนาจเชิงอ่อนโยน  (Soft  Power)   หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างไม่ขาดสาย  ทั้งจาก  จีน  สหรัฐฯ  รัสเซีย  อินเดียและสหภาพยุโรป  

รวมถึงการขยายตัวคืบคลานเข้ามาทางด้านการทหารในรูปของการฝึกร่วม  การค้าอาวุธ   การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ต่างๆ  ทั้งในรูปแบบการให้เปล่า  และรูปแบบเงินกู้ระยะยาว  จนทำให้เกิดการถ่วงดุลย์ทางอำนาจของมหาอำนาจในอาเซียนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในพม่า  เมื่อนางฮิลลารี่คลินตัน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ  เดินทางไปเยือนพม่าเมื่อปี  พ..2554   ที่ผ่านมา

ตามด้วยผู้นำระดับสูงของอังกฤษและเกาหลีใต้   เป็นการแสดงให้เห็นว่า  ความขัดแย้งกรณีสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่าจะไม่เป็นอุปสรรคด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกต่อไป  อีกทั้งพม่าจะไม่ถูกผลักให้ออกจากสังคมโลก  แต่จะค่อยๆถูกดึงกลับเข้ามาอย่างช้าๆ  บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ในขณะเดียวกัน  จีนก็กำลังขยายวงอำนาจเข้าสู่ประเทศพม่าและเวียดนาม  ซึ่งเคยเป็นคู่สงครามและความขัดแย้งในอดีต  เพื่อหาทางถ่วงดุลย์อำนาจกับชาติตะวันตก  ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่ามหาอำนาจจะเข้ามาอย่างไร  

แต่อยู่ที่ว่าประชาคมอาเซียนจะวางตัวอย่างไร  ในเมื่อปัจจุบันอาเซียนเองก็ยังมีปัญหากับมหาอำนาจดังกล่าวอยู่ไม่น้อย  เช่น  ปัญหาข้อพิพาทในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน  ที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน  หรือปัญหาการเดินเรือในลำน้ำโขงเป็นต้น

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น  เป็นสิ่งที่กองทัพกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน  จะต้องเตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะหากใช้รูปแบบของกองทัพ  "อียู"  ในสหภาพยุโรปเป็นแบบแผนแล้ว 

จะเห็นได้ว่าเมื่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น  กองทัพจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว  ความขัดแย้งทางทหารบริเวณแนวชายแดนจะลดลง  หรือหากจะเกิดขึ้นก็จะถูกจำกัดขอบเขตให้เป็นความขัดแย้งในระดับพื้นที่ 

กำลังทหารของอาเซียนจะถูกนำมาใช้เสมือนกองกำลังเฉพาะกิจในการจัดการปัญหาภายในอาเซียนเอง   ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนของประเทศสมาชิก   ปัญหาโจรสลัดในช่องแคบมะละกา    ปัญหาการก่อการร้าย   หรือปัญหาด้านสาธารณภัย   ทั้งภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์   และภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ   ตลอดจนภารกิจทางทหารอื่นๆ   ที่นอกเหนือจากการสงครามหรือ    MOOTW    (Military  Operations  Other  Than  War)

นอกจากนี้   กำลังทหารของอาเซียนจะถูกนำไปใช้ในการจัดการด้านความมั่นคงนอกภูมิภาค   ที่มีผลประโยชน์ของอาเซียนทับซ้อนอยู่เช่น   ภารกิจการรักษาสันติภาพภายใต้กรอบของสหประชาชาติ  หรืออาจเป็นกรอบของอาเซียนเองในอนาคต   รวมไปถึงภารกิจการปราบปรามโจรสลัดในโซมาเลีย   เป็นต้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น   จะเห็นได้ว่าบทบาทกองทัพของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน   จะถูกทำให้เปลี่ยนไปไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม   กองทัพจะถูกทำให้มีความเป็น   "สากล"  หรือที่รศ.ดร.สุรชาติบำรุงสุข   ให้คำจำกัดความว่า 

"..  ต่อไปกองทัพจะต้อง  Go  Inter  .." 

นายทหารทั้งระดับสัญญาบัตรและประทวน   จะต้องมีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับทหารชาติอาเซียนอื่นๆได้   

นายทหารฝ่ายเสนาธิการจะต้องเรียนรู้แนวคิดและหลักนิยมของกองทัพอาเซียนเป็นหลัก   มากกว่าแนวคิดและหลักนิยมของกองทัพประเทศตนเพียงกองทัพเดียว   ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของอาเซียนจะถูกหลอมรวมให้เป็นระบบที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันและสามารถทดแทนกันได้เมื่อจำเป็น

ในขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพประเทศสมาชิกอาเซียนต้องปรับตัว  และเรียนรู้ที่จะเป็นผู้สั่งการและบังคับบัญชาหน่วยต่างๆ  ที่มาจากประเทศสมาชิก  

เหมือนเมื่อครั้งที่พลเอกทรงกิตติ    จักกาบาตร์    พลเอกบุญสร้าง   เนียมประดิษฐ์   อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด   และพลเอกวินัย   ภัททิยกุล   อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม   เคยกระทำมาแล้วในภารกิจรองผู้บัญชาการกองกำลังนานาชาติ   และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ    ในติมอร์ตะวันออก  

รวมทั้ง   พลเรือตรีธานินทร์   ลิขิตวงศ์   ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองกำลังทางเรือของ   "กองเรือเฉพาะกิจผสม151”   (CTF  151)    ในภารกิจปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน    น่านน้ำโซมาเลีย

สิ่งต่างๆ   เหล่านี้นับเป็นความท้าทาย   ที่กองทัพกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน   จะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้   โดยเฉพาะเมื่อเงื่อนเวลาของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน   และเงื่อนเวลาของภัยคุกคามรูปแบบใหม่   ถูกนำมาผูกยึดติดกัน   

กองทัพยิ่งต้องเร่งระดมสรรพกำลังและเตรียมกำลังพลให้พร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น    เพื่อเป็นกองทัพอาเซียนอันทรงประสิทธิภาพและมีศักยภาพ   ในการร่วมกันพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก   และพร้อมที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน   ในการเผชิญหน้าท้าทายกับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ   ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ   ในอนาคต   ดังคำขวัญของอาเซียนที่ว่า   "หนึ่งวิสัยทัศน์   หนึ่งเอกลักษณ์   หนึ่งประชาคม"  (One Vision,  One Identity,  One Community)

Create Date :16 กรกฎาคม 2555 Last Update :16 กรกฎาคม 2555 19:10:14 น. Counter : 2342 Pageviews. Comments :1