bloggang.com mainmenu search

จับตาหมู่เกาะสแปรตลี

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

บทความนี้สงวนลิขสิทธิ์ อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาและค้นคว้าเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผลิตซ้ำในทางพาณิชย์ 



หมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของทะเลจีนใต้ ล้อมรอบไปด้วยประเทศต่างๆ ประกอบด้วย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐประชาชนจีน (ด้านเกาะไหหลำของมณฑลไห่หนาน), สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, เนการาบรูไนดารุสซาลาม หรือ "บรูไน”, สหพันธรัฐมาเลเซีย (บริเวณรัฐซาราวักและซาบาห์) และสาธารณรัฐจีน หรือ "ไต้หวัน" 

บริเวณหมู่เกาะดังกล่าว มีพื้นที่ทางทะเลกว้างใหญ่มากกว่า 425,000 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณร้อยละ 38 ของพื้นที่ทะเลจีนใต้ทั้งหมด สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะเล็ก เกาะน้อย โขดหิน หินโสโครกและแนวหินปะการัง มากกว่า 750 แห่ง บางโขดหินเล็กมากจนสามารถยืนอยู่ได้เพียงสองคน บางโขดหินจะจมน้ำหายไปเมื่อน้ำขึ้นและโผล่ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อน้ำลง มีจำนวนเกาะขนานใหญ่ที่โผล่พ้นน้ำถาวรและสามารถตั้งถิ่นฐานได้ประมาณ 33 เกาะเท่านั้น เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะสแปรตลี ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหมู่เกาะ ปัจจุบันเกาะนี้อยู่ในความครอบครองของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

สาเหตุที่หมู่เกาะสแปรตลีมีความสำคัญและกลายเป็นที่จับตามองของประชาคมโลก ก็เพราะผลการสำรวจทางธรณีวิทยาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการคาดการณ์ว่าพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบรูณ์ไปด้วยก๊าซธรรมชาติ ที่มีจำนวนถึง 25 ล้านคิวบิค และน้ำมันดิบอีกกว่า 105 ล้านบาเรล นับเป็นแหล่งพลังงานจำนวนมหาศาลที่ผู้ครอบครองจะสามารถนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่นำ้มันดิบและก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมดสิ้นไปโลกนี้

ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้มีประเทศต่างๆ อ้างสิทธิการครอบครองเหนือหมู่เกาะสแปรตลีถึง 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐจีน หรือ "ไต้หวัน" และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่อ้างกรรมสิทธิเหนือพื้นที่หมู่เกาะแห่งนี้ทั้งหมด ส่วนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เนการาบรูไนดารุสซาลาม และสหพันธรัฐมาเลเซียนั้น อ้างกรรมสิทธิบางส่วนของพื้นที่เท่านั้น

ในส่วนของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า "จีนนั้น ดูจะมีความเคลื่อนไหวมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภายหลังจากประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้ประกาศนโยบาย "ความฝันของชาวจีน" (Chinese Dream) ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ "ความมั่งคั่ง" (Wealth) และ "ความแข็งแกร่ง" (Strength) ด้วยการสร้างเศรษฐกิจและกองทัพให้เข้มแข็ง พลังงานได้กลายเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้จีนบริโภคพลังงานรูปแบบต่างๆ จำนวนมากมายมหาศาลจากทั่วโลก ทั้งจากรัสเซีย แอฟริกาและเอเซีย 

ดังนั้นเมื่อพลังงานน้ำมันกำลังจะหมดสิ้นไปจากโลก และกลายเป็นสิ่งที่นับวันจะหาได้ยากมากขึ้น จีนจึงจำเป็นต้องมองหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป หมู่เกาะสแปรตลีจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของจีนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

การเข้าครอบครองหมู่เกาะสแปรตลี หรือที่จีนเรียกว่า "นานชา" (Nan Cha) จีนได้อ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ "ฮั่นหรือเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว จนกระทั่งในปี พ..1835 (เป็นเวลา ปี ภายหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชของอาณาจักรสุโขทัย ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นจีนได้อ้างแผนที่โบราณเป็นหลักฐานว่า เรือสินค้าของจีนได้แล่นผ่านหมู่เกาะแห่งนี้ และต่อมาอีก 133 ปี คือในปี พ..1968 (ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ หรือเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยาก็มีหลักฐานปรากฏอยู่บนแผนที่เดินเรือของจีน โดยนักเดินเรือชาวจีน ชื่อ “เชง โฮ” (Cheng Ho) ได้กำหนดหมู่เกาะสแปรตลีไว้ในแผนที่ดังกล่าว ซึ่งจีนอ้างว่าอีก ปีต่อมา คือ พ..1973 หมู่เกาะสแปรตลีก็ตกอยู่ในภายใต้การปกครองของจีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันจีนได้เข้าครอบครองและสร้างสิ่งปลูกสร้างบนโขดหินอย่างน้อย แห่ง คือโขดหินกางเขนแห่งไฟ (FieryCross Reef) และโขดหินแห่งความเลวร้าย (Mischief Reef) 

นอกจากนี้จีนยังได้ประกาศว่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของบริษัทไชน่าโมบาย (China Mobile) ได้ส่งสัญญานครอบคลุมถึงหมู่เกาะสแปรตลีแล้ว ตั้งแต่ปี พ..2554 รวมทั้งมีการตั้งชื่อเกาะและโขดหินจำนวน 200 กว่าแห่งเป็นภาษาจีนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอีกด้วย

การเข้าครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีของจีน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ ที่อ้างสิทธิการครอบครองเช่นกัน เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หรือที่ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า "เวียดนาม" ซึ่งมีปัญหากับจีน ทั้งหมู่เกาะสแปรตลีและหมู่เกาะพาราเซล ที่เพิ่งเกิดความขัดแย้งกรณีที่จีนนำแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในพื้นที่พิพาท จนเกิดการประท้วงทั่วประเทศเมื่อต้นปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา

ในส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีนั้น เวียดนามอ้างหลักฐานด้านประวัติศาสตร์เช่นกัน โดยเรียกหมู่เกาะนี้ว่า "ควานเด๋า เตรือง ซา" (Quan Dao Troung Sa) หรือ "เตรือง ซา" สำหรับเอกสารที่เวียดนามนำมาใช้อ้างอิงคือ เอกสารของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเมื่อ ปี พ.ศ.2476 ที่ระบุย้อนหลังไปว่าหมู่เกาะสแปรตลี เป็นของเวียดนามมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2430 (ก่อนเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างฝรั่งเศสและประเทศสยามบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลา 6 ปี)

ปัจจุบันเวียดนามอ้างว่า ตนครอบครองเกาะหรือโขดหินในหมู่เกาะสแปรตลีมากที่สุด คือจำนวน 24 เกาะ

บางเกาะหรือโขดหิน มีการครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2266 และในปี พ.ศ.2516 ก่อนสงครามเวียดนามจะยุติลง 2 ปี จีนได้ส่งกำลังเข้ายึดครองเกาะต่างๆ จำนวน 4 เกาะจากรัฐบาลเวียดนามใต้ ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันเรื่อยมา

จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 เรือลาดตระเวนของจีนได้โจมตีเรือสำรวจน้ำมัน 2 ลำของเวียดนามบริเวณพื้นที่พิพาท และเรือรบของจีนหมายเลข 27, 28 และ 989 ได้เปิดฉากระดมยิงเรือประมงของเวียดนาม จำนวน 4 ลำได้รับความเสียหาย ทำให้ชาวเวียดนามไม่พอใจ พร้อมกับรวมตัวกันประท้วงที่หน้าสถานฑูตจีนในกรุงฮานอยและเมืองโฮจิมินห์

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 สภาแห่งชาติเวียดนามก็ตอบโต้ด้วยการประกาศกฏหมายปักปันเขตแดนพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศ โดยได้ประกาศรวมพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีเข้าเป็นดินแดนของเวียดนาม ภายหลังจากที่เคยประกาศว่าหมู่เกาะสแปรตลีอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520

ความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้เวียดนามพยายามทุกวิถีทางที่จะถ่วงดุลย์อำนาจกับจีน ทั้งด้านการทหารและการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านการทหารนั้น เวียดนามมีการเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างขนานใหญ่ เช่น การสั่งซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซลชั้น "กิโล"(Kilo) ซึ่งนับเป็นเรือดำน้ำที่ทันสมัยที่สุดชนิดหนึ่งของรัสเซีย เนื่องจากมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย จำนวน 6 ลำ มูลค่ากว่า 1,800ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเรือดำน้ำลำแรก คือ เอชคิว-182 ฮานอย (HQ-182Hanoi) มีการส่งมอบให้กับกองทัพเรือเวียดนามเมื่อปลายปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมาและจะส่งมอบต่อไปปีละ 1 ลำจนถึงปี พ.ศ.2561

สำหรับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ หรือที่ต่อไปจะเรียกว่า "ฟิลิปปินส์" นั้น มีการกล่างอ้างกรรมสิทธิเพียงบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีที่อยู่ในเขตเมือง "กาลายาอัน" (Kalayaan) ของจังหวัด "ปาลาวัน" (Palawan) โดยเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่าหมู่เกาะ "กาปูลูอัน งัง กาลายาอัน" (Kapuluan Ng Kalayaan) สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาตึงเครียดบ่อยที่สุดคือ เกาะที่ฟิลิปปินส์ เรียกว่า "ปานาตัค" (Panatag) ส่วนจีนเรียกว่า "ฮวงหยาน" (Huangyan) ในช่วงปี พ.ศ.2555 เป็นต้นมา เรือรบเรือสำรวจสมุทรศาสตร์ตลอดจนเรือประมงของฟิลิปปินส์และจีนมีการกระทบกระทั่งกันในพื้นที่พิพาทนี้เป็นจำนวนหลายครั้ง

แต่การเผชิญหน้าที่เกือบจะขยายตัวเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างทั้งสองประเทศ เกิดขึ้นเมื่อบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของจีน คือบริษัท China National Offshore Oil  Corporation : CNOOC (บริษัทเดียวกับที่นำแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปติดตั้งในพื้นที่พิพาทหมู่เกาะพาราเซลจนเกิดปัญหากับเวียดนาม เมื่อกลางปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา) ได้จัดการฝึกซ้อมทางทะเลใน ปี พ.ศ.2555 เพื่อทำการค้นหาน้ำมันใกล้กับบริเวณพื้นที่พิพาท เป็นเวลานานถึง 56 วัน ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์ออกมาประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรงทั่วประเทศ 

จีนจึงตอบโต้ด้วยการสั่งกักกล้วยหอมที่นำเข้าจากฟิลิิปปินส์ จำนวน 1,200 ตู้คอนเทนเนอร์ ตามเมืองท่าต่างๆ ของจีน โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยจากสารพิษตกค้างในกล้วยหอมเหล่านั้น นอกจากนี้บริษัทท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน ก็ประกาศยกเลิกการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ทั้งหมด ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

แม้ว่าการสร้างดุลย์อำนาจทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์และจีนนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะความอ่อนแอด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้กองทัพฟิลิปปินส์อยู่ในสภาวะที่ขาดแคลนอย่างมาก แต่ฟิลิปปินส์ก็พยายามเดินหมากด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกันมาตั้งแต่อดีต และมีวัตถุประสงค์เดียวกันในการสกัดกั้นจีนตามนโยบาย "การปรับสมดุลย์" (Rebalancing) ของประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ภายหลังจากที่สหรัฐฯมัวแต่ทุ่มเทความสนใจไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางมาเป็นเวลานานนับทศวรรษ

ภาพที่ชัดเจนที่สุดในการหวนกลับมาสู่ฟิลิปปินส์ของสหรัฐฯ คือกรณีพายุไต้ฝุ่น "ไห่เยียน" เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2556 นั้น สหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน "ยูเอสเอส จอร์ช  วอชิงตัน" (USS George Washington) เดินทางนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พร้อมกำลังพลหน่วยนาวิกโยธินอีกกว่า 5,000 นายและยุทโธปกรณ์ชนิดต่างๆ เดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกือบจะในทันที อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี

การพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านการทหารระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ นับเป็นวิธีการหนึ่งในการ "ซื้อเวลา" เพื่อให้กองทัพฟิลิปปินส์สามารถพัฒนาแสนยานุภาพให้มีความเข้มแข็งขึ้นตามกฏหมายสาธารณรัฐ ฉบับที่ 10349 (Republic Act No.10349) ที่ประธานาธิบดีเบนิกโน อาคิโน่ ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2555 แม้นักวิเคราะห์ต่างมองว่าการพัฒนากำลังรบของกองทัพฟิลิปปินส์นั้น จะไม่สามารถทัดเทียมกับศักยภาพอันแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ของกองทัพจีนได้เลย แต่อย่างน้อยการพัฒนาดังกล่าวก็จะส่งผลให้จีนต้อง "ลังเลใจ" หรือ "คิดทบทวนอีกครั้ง" (second thought) ก่อนที่จะตัดสินใจใช้มาตรการทางการทหารกับฟิลิปปินส์ หากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ขยายตัวลุกลามออกไป

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างความขัดแย้งบางส่วนระหว่างจีน เวียดนามและฟิลิปปินส์ในพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลี ที่นับวันจะทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะลุกลามกลายเป็นข้อพิพาทที่รุนแรงในอนาคตได้ ดังนั้นประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องจับตามองปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางลดการเผชิญหน้าของคู่กรณีลง รวมทั้งต้องร่วมมือกันประสานความขัดแย้งและแก้ไขปัญหาอย่างสันติบนแนวทางของการแสวงประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศคู่ขัดแย้งทั้งหมด เพื่อนำพาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคแห่งนี้มุ่งไปสู่ความสงบและสันติอย่างถาวรนั่นเอง




 

Create Date :21 มิถุนายน 2557 Last Update :21 มิถุนายน 2557 9:08:43 น. Counter : 4603 Pageviews. Comments :0