bloggang.com mainmenu search
อัฟกานิสถานบนเส้นทางที่มืดมน

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร TOPGUN ฉบับเดือนเมษายน 2554

(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์เนื่องจากกำลังจัดพิมพ์รวมเล่ม อนุญาตให้ใช้เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น)









ในที่สุดเส้นตายที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศไว้ว่า จะเริ่มมีการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานก็ได้มาถึง ตามที่เขาเคยประกาศก่อนการส่งทหารอเมริกันจำนวนกว่าสามหมื่นนายเข้าไปเพิ่มในดินแดนแห่งนี้ว่า ภายในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2011 ทหารสหรัฐฯ จะเริ่มเดินทางกลับประเทศ พร้อมๆ กับการถ่ายโอนอำนาจการปกครองประเทศและอำนาจในการควบคุมพื้นที่ต่างๆ ให้กับกองทัพอัฟกานิสถาน

แต่จากความเป็นจริงนั้น เส้นตายในปี ค.ศ. 2011 ที่นักวิเคราะห์ตะวันตกจำนวนมากมองว่า เป็นเพียงเรื่องทางการเมืองที่ต้องการสร้างฐานคะแนนเสียงมากกว่าสิ่งที่จะเป็นความจริงได้ ก็ได้รับการประกาศอย่างชัดเจนออกมาจากนายโรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ และนาย กุยโด เวสเตอร์เวลล์ (Guido Westerwelle) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมันในฐานะผู้แทนขององค์กรนาโต้ หรือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือ (NATO – North Atlantic Treaty Organization) ว่าจะมีการเลื่อนออกไปจนถึงปี ค.ศ. 2014 ทั้งนี้เนื่องจากอัฟกานิสถานยังไม่มีความพร้อมและความเข้มแข็งเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับกลุ่มตาลีบัน

นายฮาร์มิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานที่สหรัฐฯ และกลุ่มนาโต้เป็นผู้หนุนหลังได้ออกมายืนยันว่า อัฟกานิสถานยังต้องการการสนับสนุนจากนานาชาติอยู่ อย่างน้อยก็ถึงปี ค.ศ. 2014

ในขณะที่โลกตะวันตกมองว่า อัฟกานิสถานภายใต้การบริหารการปกครองของนายฮาร์มิด คาร์ไซ เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น การฉ้อโกง โดยเฉพาะการยักยอกเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่สหรัฐฯ ทุ่มเทลงไปในอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยจัดชุดก่อสร้างประจำจังหวัด (PRT - Provincial Construction Team) จากนานาชาติจำนวนมาก รวมไปถึงงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับทหารและตำรวจอัฟกัน ตลอดจนเงินที่ใช้จ่ายในงานด้านการข่าวลับและเงินที่ใช้เป็นค่าทดแทนหรือรางวัลให้กับสมาชิกกลุ่มตาลีบัน ที่ยอมแปรพักตร์ออกมามอบตัวและสร้างชีวิตใหม่ในสังคมเมือง

จำนวนเงินเหล่านี้ถูกยักยอกโดยผู้บริหารในแทบทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสูงไปจนถึงระดับล่าง ส่งผลให้โครงการต่างๆ มากมายประสบความล้มเหลว จนกระทั่งมีเสียงค่อนขอดว่า รัฐบาลของนายคาร์ไซนั้นต้องการการสนับสนุนจากโลกตะวันตกไม่เพียงแค่ปี ค.ศ. 2014 เท่านั้น หากแต่ยังคงต้องการการสนับสนุนต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเงินสนับสนุนต่างๆ สูญเสียไประหว่างทางและตกอยู่กับผู้คนในรัฐบาลเพียงไม่กี่คน

นอกจากปัญหาด้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอัฟกานิสถานแล้ว ปัญหาความล่าช้าในการจัดตั้งกองกำลังอัฟกานิสถาน ทั้งในส่วนของทหารและตำรวจก็ต้องประสบกับปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถิติล่าสุดพบว่ามีการลาออกหรือการหนีทหารของเหล่าทหารใหม่ที่ถูกฝึกโดยนายทหารผู้ฝึกสอนจากสหรัฐฯ และกลุ่มนาโต้เป็นจำนวนสูงถึง 1ใน 3 ซึ่งต้องถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นทหารหนีทัพเหล่านี้บางส่วนได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากค่ายฝึก หันกลับไปร่วมมือกับกลุ่มตาลีบัน เพื่อหวนกลับมาต่อสู้กับกองทัพเดิมของพวกตนเสียอีก






ปัญหาทหารหนีทัพในอัฟกานิสถานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหากจำนวนทหารหนีทัพมีจำนวนสูงถึง 100,000 คน จากจำนวนทั้งหมด 305,000 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ย่อมส่งผลกระทบถึงยอดกำลังพลอัฟกานิสถานที่สหรัฐฯ และชาตินาโต้ตั้งเป้ากำหนดไว้ในการถอนทหารในปี ค.ศ. 2014 อีกด้วย

ยอดการสูญเสียนี้ทำให้สหรัฐฯ ต้องรับสมัครทหารและตำรวจเพิ่มขึ้นเพื่อเข้ามาทดแทนจำนวนที่ลาออกไป โดยในปี ค.ศ. 2011 นี้ตั้งเป้าหมายในการรับสมัครทหารจำนวน35,000 คนและตำรวจอีกจำนวน 86,000 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 121,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าจะมีผู้หนีทัพอีกประมาณ 40,000 คน

แม้ว่าพลโทวิลเลียม คาลด์เวล (William Caldwell) นายทหารระดับสูงของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานจะมองว่าการหนีทหารหรือการลาออกกลางคันของทหารและตำรวจอัฟกันเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งยังโยนความผิดไปที่ผู้นำของกองทัพอัฟกานิสถานในทุกระดับว่า “... ขาดความเป็นผู้นำที่ดีที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างกับผู้ใต้บังคับบัญชาของพวกเขา ...” ส่งผลให้กำลังพลขาดขวัญและกำลังใจในการสู้รบ
อย่างไรก็ตามการหนีทัพไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ทหารผู้ฝึกสอนจากกลุ่มนาโต้จะต้องเผชิญ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ทหารผู้ฝึกสอนจากยุโรปจำนวนมากกำลังรู้สึกว่า พวกเขาไม่สามารถหันหลังให้กับทหารใหม่ชาวอัฟกันเหล่านี้ได้เลย

ดังเช่นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา ทหารเยอรมันสามนายได้ถูกทหารใหม่อัฟกันวัย 26 ปี กราดยิงด้วยอาวุธปืนประจำกายจนเสียชีวิตคาสนามฝึก ก่อนที่ตนเองจะเสียชีวิตท่ามกลางห่ากระสุนที่ถูกระดมยิงสวนกลับจากทหารเยอรมันที่เหลือ

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ทหารชาวอัฟกานิสถานนายนั้นเป็นพวกตาลีบัน หรือเป็นผู้ฝักใฝ่ในกลุ่มตาลีบันหรือไม่ หรือเป็นเพียงเพราะพวกเขารู้สึกถูกกดขี่ ข่มเหงจากทหารต่างชาติที่ชาวอัฟกันมองว่า "เป็นพวกนอกศาสนา" จึงได้บันดาลโทสะใช้อาวุธก่อเหตุอันน่่าสลดใจขึ้น เพราะในปัจจุบันมีการมองว่าทหารของนาโต้ที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ เป็นพวกชาติตะวันตกนอกศาสนาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังเงินค่าตอบแทนพิเศษจำนวน 65 เหรียญยูโรต่อวัน (ประมาณ 3,740 บาทต่อวัน) เท่านั้น

ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ทำให้การยอมรับชาวตะวันตกในอัฟกานิสถานลดลงอย่างน่าใจหาย

ไม่เพียงแต่ทหารเยอรมันเท่านั้นที่มีความเคลือบแคลงในตัวทหารใหม่อัฟกันเท่านั้น ทหารแคนาดาก็เช่นเดียวกันที่มีความรู้สึกว่า พวกเขาไม่สามารถไว้ใจทหารใหม่เหล่านี้ได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีนโยบายจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองกำลังนานาชาติในอัฟกานิสถานหรือ ไอซาฟ (ISAF – International Security Assistance Forces) ให้พวกเขาร่วมปฏิบัติการทางทหาร ร่วมลาดตระเวณ พักแรม และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทหารอัฟกันในการเข้าสู่สนามรบตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นไป ก็ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกหวาดหวั่นเป็นอย่างมากว่า สักวันหนึ่งระหว่างการปะทะกับพวกตาลีบัน ทหารอัฟกันเหล่านี้จะหันอาวุธประจำกายมาที่พวกเขามากกว่าที่จะหันเข้าหากลุ่มตาลีบัน

ยิ่งความหวาดระแวงระหว่างทหารนานาชาติเกิดขึ้นมากเท่าใด นั่นก็หมายความว่า ขีดความสามารถในการฝึกฝนทหารใหม่อัฟกันก็จะลดลงมากขึ้นเท่านั้น ทหารชาตินาโต้จะปฏิบัติภารกิจชนิดที่เรียกว่า "... ให้ผ่านพ้นไปวันๆ เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ ..."

อีกทั้งทุกคนต่างระมัดระวังตนเองราวกับมีเพื่อนร่วมงานต่างชาติคือ ศัตรู ที่พร้อมจะปลิดชีวิตของตนลงได้ทุกเวลา รวมทั้งเมื่อเกิดการปะทะในสมรภูมิ ความเชื่อมั่นที่จะฝากชีวิตไว้ให้กันก็แทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของทหารอัฟกันในอนาคตนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดหวังได้อีกต่อไป







โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ และชาตินาโต้ส่งมอบพื้นที่ต่างๆ ให้กับกองทัพอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กลุ่มตาลีบันคาดการณ์เอาไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแผนการรุกครั้งใหญ่ของพวกตาลีวันจึงถูกกำหนดไว้ในใจของพวกเขาแล้วว่า มันจะถูกเปิดฉากขึ้นอย่างรุนแรงภายหลังการถอนทหารของชาติตะวันตกออกไป

นอกจากความน่าห่วงใยเกี่ยวกับขีดความสามารถของกองทัพอัฟกานิสถานในอนาคตแล้ว สิ่งที่น่าห่วงใยอีกประการหนึ่งก็คือ โครงการด้านกิจการพลเรือน หรือที่เรียกว่า โครงการสร้างความอยู่ดีกินดีขึ้นในชุมชนต่างๆ ในอัฟกานิสถาน ที่กำลังกลายเป็นขนมเค้กชิ้นใหญ่ที่ทุกฝ่ายในรัฐบาลอัฟกานิสถานกำลังจับจ้องด้วยความกระหายเป็นอย่างมาก

ตัวเลขสถิติที่กองกำลังไอซาฟใช้เป็นฐานข้อมูลในการศึกษาความเป็นไปของอัฟกานิสถาน ได้แสดงให้เห็นว่า จำนวนโครงการช่วยเหลือซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการเอาชนะทางความคิดและเอาชนะจิตใจชาวอัฟกานิสถาน กำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลสหรัฐฯ และชาตินาโต้หวังเป็นอย่างมากว่าโครงการเหล่านี้จะนำพาพวกตาลีบันให้หันกลับมาร่วมกับรัฐบาลของนายฮาร์มิด คาร์ไซ บนพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีที่รัฐบาลจัดสรรให้จนเกิดเป็นโครงการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

.. สิ่งที่ชาติตะวันตกวาดความหวังเอาไว้ยิ่งกว่าโครงการก่อสร้างทางด้านกิจการพลเรือนก็คือ การลงทุนจากนานาชาติในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะการลงทุนในการทำเหมืองแร่ที่ดินแดนแห่งนี้มีอยู่อย่างมากมายทั่วทุกสารทิศ ทั้งนี้เพื่อผลักดันประเทศให้เป็นสวรรค์ของนักลงทุน และมุ่งหวังที่จะใช้กลไกทางด้านการตลาดของระบอบทุนนิยมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มตาลีบัน

ดังที่ผู้นำระดับสูงของนาโต้คนหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่ต้องกระทำในอัฟกานิสถานขณะนี้ก็คือการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งความมั่นคงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงทุนจากนานาชาติ เมื่อเศรษฐกิจมีความมั่นคง อัฟกานิสถานก็จะมีความมั่นคงทางการเมืองและการทหารตามไปด้วย

แม้ประธานาธิบดีฮาร์มิด คาร์ไซเองก็เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว จนถึงกับออกปากร้องขอให้ชาติตะวันตกดำเนินการปฏิรูประบบราชการของประเทศที่เต็มไปด้วยการทุจริตและการรับสินบน เพื่อหวังที่จะสร้างระบบราชการที่เข้มแข็ง สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากโลกภายนอกได้ รวมถึงได้ประกาศนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองกับกลุ่มตาลีบันสายกลางให้เร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ อีกทั้งจะเชิญชวนพวกตาลีบันแปรพักตร์เหล่านี้เข้าร่วมบริหารประเทศและผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้เป็นความจริงขึ้นมาให้ได้

แม้กลุ่มตาลีบันหัวรุนแรงจะประกาศอย่างชัดเจนแล้วก็ตามว่า "... ชาวอัฟกันจะไม่อดทนต่อการปรากฎอยู่ของกองกำลังต่างชาติในดินแดนอัฟกานิสถาน ...” กล่าวง่ายๆ ก็คือ พวกตาลีบันไม่ยอมเจรจาด้วยนั่นเอง

ยุทธศาสตร์ทุนนิยมดังกล่าวซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สามข้อของสหรัฐฯ ในการเอาชนะกลุ่มตาลีบันอันประกอบด้วย ประการแรกคือการประกอบกำลังจากชาติตะวันตกร่วมกับกำลังของอัฟกานิสถานเป็นกำลังรบหลักเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับทหารและตำรวจอัฟกานิสถาน ประการที่สองคือการใช้ศักยภาพทางทหารร่วมกับศักยภาพทางเศรษฐกิจในการกำหนดขอบเขตทางเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) ของอัฟกานิสถานขึ้น และประการที่สามคือการใช้หนทางทางการฑูตยุติข้อขัดแย้งภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์การใช้ทุนนิยมนั้นจัดอยู่ในยุทธศาสตร์ข้อที่สองซึ่งได้รับการวิเคราะห์ว่า แนวทางในการใช้ระบอบทุนนิยมตะวันตกเข้าครอบครองดินแดนอัฟกานิสถานที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินแดนที่ห่างไกล ทุรกันดาร และมีธรรมชาติของผู้คนที่มีพื้นฐานของความสันโดษ ดำรงวิถีชีวิตของชุมชนแบบ "ชนเผ่าเร่ร่อน" แยกตัวออกจากสังคมเมืองอย่างสิ้นเชิง ดูจะเป็นที่สิ่งที่ท้าทายแนวความคิดของสหรัฐฯ และชาตินาโต้ อีกทั้งดูจะมีความเป็นไปได้ยากยิ่ง

เพราะแม้แต่ชาติตะวันตกผู้คิดค้นแผนการณ์นี้ขึ้นมา ก็ยังไม่มั่นใจกับความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น จนถึงกับเอ่ยปากว่า "... สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องง่ายในอัฟกานิสถาน แต่เราก็ต้องพยายาม ..."

เป็นที่คาดการณ์กันได้ว่าการฝังรากระบอบทุนนิยมตะวันตกลงในสังคมอัฟกานิสถานของกลุ่มประเทศนาโต้ เพื่อหวังสร้างสังคมที่มั่งคั่ง โดยใช้ผลประโยชน์ของการค้าเสรีเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนอัฟกันเข้าด้วยกัน ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มตาลีบัน ที่จะเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อนักลงทุนที่ยอมเสี่ยงตายเข้าไปลงทุนในดินแดนที่โลกลืมแห่งนี้แล้ว ยังจะได้รับการต่อต้านจากสังคมอัฟกานิสถานที่มีสภาพเป็นสังคมปิด สันโดษ รักสงบ พึ่งพาตนเอง และเคร่งครัดในหลักศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่ว่าการต่อต้านจะเป็นในรูปแบบของการคัดค้านโดยตรงหรือการต่อต้านทางอ้อมด้วยการไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกลไลของระบอบทุนนิยมตะวันตกก็ตาม โดยเฉพาะจากผู้คนที่อาศัยอยู่ตามขุนเขาที่สลับซับซ้อน ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมและยังคงยึดถือแนวทางการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมเหมือนเช่นบรรพบุรุษเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา







อย่างไรก็ตามความจริงอันน่าสพรึงกลัวที่อัฟกานิสถานกำลังจะเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้ กลับไม่ใช่การรุกกลับครั้งใหญ่ของกลุ่มตาลีบัน ไม่ใช่การคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารของรัฐบาลนายคาร์ไซ หากแต่เป็นภัยแล้งครั้งยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 นี้ที่จะส่งผลให้ประเทศอัฟกานิสถานกว่าสองในสามต้องประสบกับภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในทศวรรษ

พืชผลทางการเกษตรของประชาชนจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามขุนเขาอันสูงชันจะขาดแคลนอาหารและน้ำอุปโภคบริโภคจนต้องอพยพเข้ามายังเมืองใหญ่ๆ เพื่อหาทางเอาชีวิตรอดจากมหันตภัยครั้งใหญ่ การอพยพครั้งใหญ่นี้จะส่งผลให้เกิดเงื่อนไขทางสังคมนานัปการ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นปกครองและประชาชนทั่วไปจะเปิดเผยตัวออกมาอย่างชัดเจน

นอกจากนี้สิ่งที่น่าวิตกก็คือ หากปราศจากการจัดการทางสาธารณสุขที่เหมาะสม กลุ่มคนที่อพยพจากพื้นที่ห่างไกลจะประสบกับการใช้ชีวิตที่แร้นแค้น ขาดสุขอนามัย ทั้งการบริโภคและการขับถ่ายของเสีย จะส่งผลให้เกิดโรคร้ายนานาชนิดในเมืองใหญ่ๆ อันจะเป็นการสุมไฟเงื่อนไขทางสังคมมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกลุ่มตาลีบันก็พร้อมที่จะอาศัยโอกาสจากการอพยพหนีภัยแล้ง แทรกตัวเข้าสู่สังคมเมืองได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่เขตเมืองที่เป็นพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายรัฐบาลไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป

ปัญหาภัยแล้งครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 นี้จะส่งผลให้สหรัฐฯ ชาตินาโต้และรัฐบาลอัฟกานิสถานสูญเสียเวลาในการจัดการกับกลุ่มตาลีบันไป พวกเขาจะต้องหันมาแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงเพื่อรักษาระดับการสนับสนุนจากประชาชนชาวอัฟกันส่วนใหญ่ของประเทศ

ซึ่งจากข้อมูลของสหประชาชาติในปัจจุบันพบว่า ในสถานการณ์ปกติที่ยังไม่มีผลกระทบจากภัยแล้ง ก็ยังมีชาวอัฟกานิสถานจำนวนกว่าเจ็ดล้านสี่แสนคนอาศัยอยู่ในสภาวะที่อดหยากและแร้นแค้น เด็กอัฟกันจำนวน 1 ใน 5 เสียชีวิตจากการขาดสารอาหารก่อนอายุ 5 ขวบ

แม้สหรัฐฯ และกลุ่มนาโต้จะตระหนักดีว่า จากประสบการณ์ในห้วงเวลาที่ผ่านมาของพวกเขาได้แสดงให้เห็นมาตลอดว่า การแก้ไขปัญหาใดๆ ในอัฟกานิสถานจะสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น เมื่อเงื่อนไขทางสังคมอื่นเกิดขึ้นมาซ้ำซ้อน ความพึงพอใจจากความสำเร็จข้างต้นจะจางหายไปในทันที

.... การแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึงจึงเป็นสิ่งที่จะดูดซึมทรัพยากรทางทหารของสหรัฐฯ และโลกตะวันตกอย่างสิ้นเปลือง รวดเร็วและไร้ค่าทางยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิง แต่ก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ และนาโต้ไม่มีหนทางเลือกอื่นใดในปลักตมสงครามแห่งนี้

ความสลับซับซ้อนของปัญหาในอัฟกานิสถานจึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าอนาคตของดินแดนแห่งเทือกเขาฮินดูกูชที่โลกลืมแห่งนี้เป็นอนาคตที่มีแต่ความมืดมน แม้ชาติตะวันตกจะพยายามใช้แสงเทียนนำทางเล่มแล้วเล่มเล่าเข้ามาแก้ไข แต่แสงสว่างเหล่านั้นก็ยังคงไม่สามารถสร้างความสว่างไสวและชัดเจนของอนาคตในดินแดนแห่งนี้ขึ้นมาได้

ในทางตรงกันข้ามแสงเทียนเหล่านี้กลับถูกพัดเป่าด้วยอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็งของกลุ่มตาลีบันที่นับวันจะอาศัยเงื่อนไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเงื่อนไขการรุกรานของชาติตะวันตกเป็นเชื้อเพลิงในการขยายตัว โดยในขณะนี้พวกตาลีบันเพียงแต่รอให้สหรัฐฯ และกลุ่มนาโต้ถอนกำลังทหารออกไปในปี ค.ศ. 2014 เท่านั้น (wait it out) ก่อนที่จะทำการรุกครั้งใหญ่เพื่อยึดครองพื้นที่คืน

นอกจากนี้ยังมีภัยแล้งครั้งยิ่งใหญ่ที่เตรียมสร้างอุบัติภัยครั้งรุนแรงอีกครั้งหนึ่งขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ รวมไปถึงการบริหารประเทศที่คดโกงและฉ้อฉลของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่เป็นเสมือนเชื้อโรคร้ายที่กัดกินประเทศอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัฟกานิสถานจมดิ่งลงสู่ห้วงเหวลึกลงไปอย่างไม่ที่สิ้นสุด

.. และในที่สุดเคราะห์กรรมอันแสนสาหัสก็จะตกอยู่กับประชาชนชาวอัฟกานิสถานที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ หาได้ตกอยู่กับผู้คนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กรุงบรัสเซลล์ หรือแม้แต่ในกรุงคาบูลเลย จนถึงวินาทีนี้ผู้คนจากโลกภายนอกจึงต่างพากันตั้งความหวังว่า ในความมืดมิดแห่งอนาคตของอัฟกานิสถานนั้น คงมีสักวันที่จะมีแสงเทียนอันเจิดจ้า ส่องทางสว่างให้กับดินแดนแห่งนี้ เพื่อเป็นหนทางนำพาอัฟกานิสถานให้ผ่านพ้นจากอนาคตอันมืดมิดให้ได้ในที่สุด



Create Date :15 เมษายน 2554 Last Update :15 เมษายน 2554 6:18:25 น. Counter : Pageviews. Comments :1