bloggang.com mainmenu search

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม




 

 

 

 

 

 

 

 

.............................................................................................

 

ต้นเดือนมีนาคม 2558 ที่ใกล้เข้ามา มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่อยากเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เข้าวัดฟังธรรม คือ "วันมาฆบูชา"

วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศความรักอันบริสุทธิ์ต่อสัตว์โลกทั้งปวง ในโอวาทปาติโมกข์ที่ทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นเครื่องชี้นำชีวิตสัตว์โลกให้สวัสดีมีสุข ตั้งแต่ความสุขที่เล็กน้อยจนถึงความสุขที่ยิ่งใหญ่

ซึ่งสอนให้ทุกคนตั้งมั่นในการทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือสอนให้ทุกคนมีความรักที่บริสุทธิ์ ไม่เห็นแก่ตัว มีเมตตาและเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์

วันมาฆบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 3 หรือประมาณราวเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือน 8 สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 4 ประมาณช่วงเดือนมีนาคม

หรือเรียกว่าวัน "มาฆปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 และยังมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีที่มาบรรจบกัน 4 ประการ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า "จาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นประดุจการปฐมนิเทศในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการนั่นเอง

ถือว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์เพราะเป็นการประชุมของเหล่าสาวก และเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมเพื่อรับฟังทิศทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ ได้แก่ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ และเป็นวันที่มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

รวมไปถึงเป็นวันที่พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 ตลอดจนพระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือเรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

ในวันมาฆบูชา พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม "โอวาทปาฏิโมกข์" คือ การละเว้นความชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสเพื่อให้เกิดความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ประกอบไปด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ถือเป็นหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในการใช้ชีวิตนั่นคือการไม่ทำบาปทั้งปวง

 อาทิ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ หรือแม้แต่การอาฆาตพยาบาทให้ร้ายผู้อื่น หมั่นทำบุญทำกุศล การให้ทานมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และทำจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากนิวรณ์หรือกิเลสที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัยในเรื่องที่ทำให้จิตใจสงบ

 






 

 

 

 

 

 

 

............................................................................................

 

หลักการที่ได้กล่าวมาข้างต้นจึงสรุปได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตนั่นเอง

หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่พึงปฏิบัติตนในวันมาฆบูชาควรไปทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา

เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ โดยจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ และรักษาศีล

สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ดังนั้น วันมาฆบูชาจึงถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งที่ชาวพุทธควรมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของหลักธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นการทำหน้าที่ในฐานะชาวพุทธให้สมบูรณ์

เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชาที่จะมาถึงในวันที่ 4 มี.ค.2558 นี้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนไทยร่วมใจทำความดี เจริญสมาธิ ปฏิบัติธรรมเพื่อใช้เวลาวันหยุดให้เกิดผลบุญกุศลช่วยชำระจิตให้ใสสะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมอง อีกทั้งยังถวายเป็นพระพุทธบูชารำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า

สร้างกุศลเพื่อนำพาชีวิตสู่ความเจริญพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวงร่วมกัน

หน้า 28


ขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ   

Create Date :03 มีนาคม 2558 Last Update :5 เมษายน 2558 20:32:43 น. Counter : 9976 Pageviews. Comments :0