bloggang.com mainmenu search


มีคำกล่าวว่า สมัยนี้ ถ้าอยากสวยให้ไปเกาหลี เพราะอุตสาหกรรมการผ่าตัดศัลยกรรมของชาวเกาหลีใต้ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง และคนดังหลายต่อหลายคนทั้งที่เกาหลีและบ้านเราต่างก็แห่ไปทำไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเพียงกรีดตาสองชั้น เสริมดั้งจมูก ไปจนถึงการ “ผ่าตัดใหญ่” ทั้งใบหน้า ที่อาจทำให้คนไข้ต้องพักฟื้นนานหลายเดือน กว่าจะมีโอกาสออกไปแสดง “ใบหน้าใหม่” ต่อสาธารณะได้ แต่คงไม่มีการผ่าตัดใดที่ถือเป็นการศัลยกรรมที่ “คงทน” เท่ากับการผ่าตัดขากรรไกร


ทันตแพทย์ชเว จิน-ยอง จากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กล่าวว่า ค่านิยมความงามของผู้หญิงเอเชียตะวันออก คือการต้องมีตา 2 ชั้น สันจมูกโด่ง และรูปหน้าเรียวแบบตัวอักษร “วี” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องอาศัยการผ่าตัดขากรรไกร ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมเกาหลี เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใบหน้าที่จะคงอยู่กับเราไปทั้งชีวิต คงทนกว่าการฉีดโบท็อกซ์ กรีดตาสองชั้น หรือเสริมดั้งจมูก


อย่างไรก็ตาม ทพ.ชเวเตือนว่า การผ่าตัดศัลยกรรมขากรรไกรมีความอันตรายอย่างมาก เนื่องจากหากแพทย์ที่ผ่าตัดให้ไม่มีความชำนาญพอ อาจเกิดความผิดพลาดทำให้เส้นประสาทใบหน้าถูกกดทับ จนทำให้ใบหน้าชาหรือถึงขั้นพิการได้ ส่วนตัวแล้วเขาจึงไม่เห็นด้วยที่วัยรุ่นทั้งชายและหญิงจำนวนมาก พากันมาผ่าตัดขากรรไกรให้เล็กหรือเรียวขึ้น ทั้งที่แต่ละคนไม่ได้มีปัญหาด้านทันตกรรมเลย




แม้จะยังไม่มีรายงานใดระบุจำนวนผู้เข้ารับการผ่าตัดขากรรไกรในเกาหลีใต้ได้อย่างแน่ชัด แต่ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของวารสารเพื่อผู้บริโภคทางการแพทย์ ระบุว่า อยู่ที่ปีละ 5,000 คนโดยเฉลี่ย แต่ไม่ได้จำแนกว่า แบ่งเป็นการผ่าตัดศัลยกรรม และการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคปริทันต์เท่าใด อย่างไรก็ตาม 52% ของผู้ที่ผ่านการผ่าตัดขากรรไกรมักมีอาการชาตามใบหน้า ปวดช่องปาก หรือเคี้ยวอาหารไม่ได้ ฯลฯ รายงานของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเกาหลีใต้เผย ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการผ่าตัดขากรรไกรมากถึง 89 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อนถึง 32%


ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่พลเมืองผ่านการผ่าตัดศัลยกรรมอวัยวะบนใบหน้าอย่างน้อย 1 ส่วนมากที่สุดในโลก สืบเนื่องจากราคาค่าบริการที่เริ่มถูกลง เพื่อดึงดูดให้ผู้มีรายได้น้อยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้จึงอยู่ระหว่างหารือกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรม โดยเฉพาะการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับการ “เปลี่ยนแปลง” โครงสร้างกระดูก ดังเช่นการผ่าตัดขากรรไกร



ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Create Date :27 พฤษภาคม 2556 Last Update :27 พฤษภาคม 2556 22:35:13 น. Counter : 1962 Pageviews. Comments :0