bloggang.com mainmenu search
ปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของคนไทย จากที่ก่อนหน้านี้อาจจะอยู่ในแวดวงแคบๆ ของรถนำเข้า หรือกลุ่มรถหรูบางยี่ห้อเท่านั้น แต่หลังจากยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ได้มีการรุกตลาดอย่างจริงจัง และฮอนด้าส่ง “แจ๊ซ ไฮบริด” ออกมา บวกกับการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ปีงูเล็ก 2556 นี้ มีรถรุ่นหลักๆ ในตลาดเปิดตัวเวอร์ชั่นไฮบริดออกมาชนกันดุเดือด แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักระบบไฮบริดในรถยนต์กันก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าชื่นชอบแบบไหน? ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อ…

       ในประเทศไทยตอนนี้รถไฮบริดที่คุ้นเคยกันดี คงจะเป็นรุ่นคัมรีและพริอุสของค่ายโตโยต้า โดยเฉพาะรุ่นหลังนี่ถือเป็นรถไฮบริดในเชิงพาณิชย์คันแรกของโลก(ปลายปี 1997) แต่หากจะว่าไปฮอนด้าเป็นรายแรกที่เปิดตลาดรถไฮบริดในประเทศไทย ประเดิมกับ ฮอนด้า อินไซต์ (Insight) 2 ประตู และฮอนด้า ซีวิค ไฮบริด (Dimension) แต่ยุคนั้นราคาน้ำมันยังไม่สูงเท่าทุกวันนี้ และรถไฮบริดยังใหม่อย่างมากในตลาด จึงไม่ประสบความสำเร็จและหายไปจากตลาด ต่อมาเมื่อโตโยต้าได้ทยอยเปิดตัวรถสองรุ่นที่กล่าวมา พร้อมกับขึ้นไลน์ประกอบในไทย ราคาจึงไม่สูงมากนัก และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โตโยต้าสามารถปักฐานให้กับรถไฮบริด จนได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน (บทความนี้จะเน้นกล่าวถึงโมเดลหลักในตลาด ไม่พูดถึงรถไฮบริดนำเข้าที่เป็นรถเฉพาะกลุ่ม)
       อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีรถไฮบริดออกมาหลายรุ่น โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ แต่การทำงานของระบบไฮบริดมีความแตกต่างกัน ตามเทคโนโลยีของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบรถไฮบริดคร่าวๆ กันก่อน โดยง่ายๆ ตรงตัวตามรากศัพท์ของคำว่า “Hybrid” หมายถึง “การผสมผสาน” หรือ “พันธุ์ผสม” นั่นเอง

       ดังนั้นรถไฮบริดจึงเป็นรถที่มีกำลังงานจากสอง(หรือมากกว่า) แหล่งในคันเดียวกัน ซึ่งที่รับรู้กันทั่วไปในปัจจุบัน คือรถที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน(เบนซิน หรือดีเซล) ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า (มีแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน) สำหรับการขับเคลื่อนรถนั่นเอง หรือบางจังหวะอาจจะทำงานเดี่ยวๆ ขึ้นอยู่กับระบบหรือเทคโนโลยีไฮบริดของรถนั้นๆ (ปัจจุบันเริ่มมีรถไฮบริดแบบปลั๊ก-อิน หรือใช้ไฟฟ้าบ้านร่วมด้วย และจะเป็นเทรนด์ต่อไปในอนาคตเร็วๆ นี้)
แน่นอนการที่ต้องมีแหล่งกำลังอื่นมาช่วยขับเคลื่อน จุดประสงค์สำคัญเพื่อการลดใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงนั่นเอง!!
       โดยหลักการทำงานคร่าวๆ ของรถไฮบริด คือขณะออกตัวรถต้องใช้กำลัง จะใช้เครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า(ขึ้นกับระบบไฮบริด) ในการขับเคลื่อนหลัก เมื่อต้องเร่งแซง หรือใช้ความเร็วสูง และขึ้นทางลาดชัน เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานผสานกัน เพื่อให้ได้กำลังเพียงพอต่อการใช้งาน แต่เมื่อเบรกหรือลงเขาเครื่องยนต์ไม่ต้องการกำลัง จึงเปลี่ยนกำลังที่ได้จากแรงเฉื่อย กลับไปในรูปไฟสำรองเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อนำกลับมาใช้งานต่อไป และเมื่อรถจอดเครื่องยนต์จะดับช่วยประหยัดพลังงาน

       โดยต้นแบบระบบไฮบริดประกอบด้วย 2 แบบหลักๆ คือแบบอนุกรม หรือซีรีส์ (Series Hybrid ) ที่อาศัยระบบใดระบบหนึ่งในการขับเคลื่อน ซึ่งหน้าที่หลักเครื่องยนต์จะไปหมุนเจนเนอเรเตอร์ปั่นไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ เพื่อจ่ายให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถเป็นสำคัญ
       จุดเด่นของระบบนี้อยู่ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถเป็นหลัก เครื่องยนต์เป็นตัวปั่นพลังงานให้ แต่ด้วยต้นทุนที่สูงโดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ต้องเก็บไฟไว้ให้ได้เยอะ ถ้าน้อยก็พึ่งเครื่องยนต์ช่วยตลอด ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงมากอยู่ดี ระบบไฮบริดแบบนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก
       ปัจจุบันที่มีในตลาดเห็นจะเป็น “เชฟโรเลต โวลต์” (Volt) แม้จีเอ็มจะไม่ยอมรับว่าเป็นรถไฮบริด เพราะได้มีการพัฒนาอีกขั้นให้สามารถชาร์จไฟฟ้าตามบ้านมาช่วยด้วย จึงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นรถไฟฟ้า หรือไฮบริด แต่ถ้าว่ากันตามนิยามตราบใดรถที่ยังใช้เครื่องยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล(น้ำมัน) ร่วมอยู่ จึงขอรวบไปอยู่ในกลุ่มรถไฮบริดไว้ก่อน
       ส่วนอีกแบบเป็นระบบคู่ขนาน หรือพาราลเลล(Parallel Hybrid) เป็นการทำงานของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานคู่กัน หรือเป็นการทำงานเสริมกันนั่นเอง โดยที่กำลังขับเคลื่อนหลักจะเลือกอะไร อยู่ที่สถานการณ์ต่างๆ ตามที่ต้องการรถในเวลานั้น แต่ระบบนี้มอเตอร์ไฟฟ้าจะไม่สามารถขับเคลื่อนรถเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเครื่องยนต์จึงยังต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ทำให้ยังมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ แม้จะมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยให้ประหยัดลงก็ตาม
“ฮอนด้า แจ๊ซ ไฮบริด” เป็นรถยนต์ที่ใช้ระบบพาราลเลล ซึ่งตามภาษาของฮอนด้าเรียกเทคโนโลยีไฮบริดของตนเองว่า IMA (Integrated Motor Assist) โดยใช้กำลังเครื่องยนต์เป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะมาเสริมในช่วงต้องการกำลังสูง เมื่อมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเครื่องยนต์จึงไม่ทำงานหนัก ทำให้ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ขณะที่การทำงานอื่นๆ เป็นไปตามหลักการของระบบไฮบริด



       สำหรับ “ฮอนด้า ซีวิค ไฮบริด” ที่กำหนดจะเปิดตัวในไทย วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ น่าจะเป็นสเปกเดียวกับในต่างประเทศ กับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร(รุ่นเดิม 1.3 ลิตร) ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถให้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า ส่งกำลังด้วยระบบขับเคลื่อนเกียร์ CVT มีอัตราสิ้นเปลืองประมาณ 18.5 กม./ลิตร โดยระบบไฮบริดเป็นแบบ IMA แต่พัฒนาให้ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันจากรุ่นเดิม
       นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการพัฒนาระบบไฮบริด ด้วยการรวมเอาข้อดีของทั้งสองแบบมาไว้ด้วยกัน จึงเรียกแบบอนุกรม/คู่ขนาน (Series/Parallel) หลักการทำงานจึงขึ้นอยู่กับสภาวะการขับขี่ ขณะนั้นต้องการกำลังมากหรือน้อยแค่ไหน หากมากจะผสานช่วยกัน ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า หรือหากไม่ต้องการมากจะใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์นั่นๆ จุดเด่นระบบไฮบริดแบบนี้อยู่ที่การใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาขับเคลื่อนเดี่ยวๆ ได้ ทำให้ประหยัดน้ำเชื้อเพลิงมากขึ้น
       รถที่ใช้รูปแบบนี้จะเป็น “โตโยต้า พริอุส-คัมรี” ที่ทำตลาดในไทยปัจจุบัน ซึ่งระบบไฮบริดแบบนี้บ้างก็เรียกว่า Power Split Type โดยโตโยต้าถือเป็นผู้นำระบบนี้อยู่ ยิ่งรุ่นพริอุสนับว่าเป็นผู้นำเลยทีเดียว ในฐานะที่เกิดมาเพื่อเป็นรถไฮบริด เพราะได้มีการพัฒนามาโดยตรง ก่อนจะนำระบบไฮบริดดังกล่าว หรือที่โตโยต้าเรียกว่า THS (ปัจจุบันเป็นเจนเนอเรชั่น 2- THS II) มาใส่ในรุ่นทั่วไปอย่าง โตโยต้า คัมรี และรุ่นอื่นๆ รวมถึงแบรนด์เลกซัสในเครือ
       หลักการทำงานของรถไฮบริดโตโยต้า (รวมถึงแบรนด์เลกซัสในเครือ) ในช่วงจังหวะออกตัวจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการทำงาน และเมื่อขณะเร่งแซง หรือขึ้นทางชัน เครื่องยนต์จะทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยระบบไฮบริดของโตโยต้าจะมีมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แยกกันทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน และทำตัวเป็นเจนเนอเรเตอร์ปั่นไฟไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ จึงทำให้สามารถแสดงประสิทธิภาพการทำงานได้ดี เมื่อบวกกับระบบไฮบริดทั้งหมด จะเห็นว่าในโตโยต้า พริอุส เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์ E-CVT โดยมีอัตราสิ้นเปลืองเคลมไว้ที่ 25 กม./ลิตร และที่สำคัญสามารถวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียวได้ แม้ความเร็วกับระยะทางจะไม่มากนักก็ตาม



       สำหรับรถไฮบริดอื่นๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทย ระบบไฮบริดคล้ายหรือเป็นเช่นเดียวกับโตโยต้า อย่างรถหรู “บีเอ็มดับเบิลยู แอคทีฟ ไฮบริด5” (BMW Active Hybrid 5- ซีรี่ส์ 5 ไฮบริด) ที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยแล้ว แต่ยังจะไม่รุกมากนัก คาดว่าจะโหมเต็มที่เมื่อ “แอคทีฟ ไฮบริด 3” หรือซีรี่ส์ 3 ไฮบริด เข้ามาทำตลาดในอีกไม่นานนี้ ซึ่งรถรุ่นนี้มากับเครื่องยนต์เบนซิน 3.0 ลิตรเทอร์โบคู่ ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 350 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลือง 5.9 ลิตร/ 100 กม. หรือประมาณ 17 กม./ลิตร
       ขณะที่คู่แข่งสำคัญ “เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-300 บลูเทค ไฮบริด”(E300 BlueTEC Hybrid) คู่แข่งของบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 5ไฮบริด ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะนำเข้ามาทำตลาดแน่นอนในปีนี้ และเตรียมจะขึ้นไลน์ประกอบในไทยด้วย โดยจุดเด่นของรถรุ่นนี้อยู่ที่เครื่องยนต์ดีเซล 2,143 ซีซี 204 แรงม้า(105 กิโลวัตต์) ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า 20 กิโลวัตต์ ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 4.2-4.3 ลิตร/ 100 กม. หรือประมาณ 23 กม./ลิตร
นี่เป็นเรื่องราวของระบบไฮบริดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบหลัก ๆ ที่ค่ายรถนำมาใช้ในรถไฮบริดของตัวเอง และหลายรุ่นเตรียมตบเท้าของมาทำตลาดในไทย ทำให้ตลาดปีงูเล็ก 2556 นี้ แข่งขันกันดุเดือดแน่อน!!

//manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9560000019007
Create Date :16 กุมภาพันธ์ 2556 Last Update :16 กุมภาพันธ์ 2556 21:42:38 น. Counter : 1558 Pageviews. Comments :0