bloggang.com mainmenu search
โสภณ พรโชคชัย
ดร.โสภณ พรโชคชัย

แฟลตดินแดง
แฟลตดินแดง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก โสภณ พรโชคชัย, ไทยพีบีเอส

ดร.โสภณ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแฟลตดินแดง 4 ข้อ แก่รัฐบาล เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับให้มีการทุบแฟลตดินแดง และให้มีการก่อสร้างใหม่ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

          เมื่อวานนี้ (10 มิถุนายน) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AREA (มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย) นำเสนอบทความเรื่อง "แนวทางแก้ไขปัญหาแฟลตดินแดง" โดยมีรายละเอียดว่า มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาปัญหาแฟลตดินแดง และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล หน่วยราชการและภาคประชาชนเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ นั่นคือ

1. เมื่อวิเคราะห์จากตัวเลข พบว่า ที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติขาดทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเก็บค่าเช่าถูกกว่าค่าดูแล ในขณะที่ผู้ปล่อยเช่าต่อกลับได้กำไร ดังนั้น ครัวเรือนแฟลตดินแดงควรแสดงความขอบคุณการเคหะแห่งชาติโดยให้ความร่วมมือให้นำที่ดินนี้ไปพัฒนาเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งการให้ทางราชการแบกรับภาระดูแลเฉพาะกลุ่มผู้เช่าแฟลตกลุ่มนี้ตลอดไป ย่อมเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำต่อประชาชนในภาคส่วนอื่น

2. การพัฒนาที่ดินทางเลือก โดยจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บริเวณอาคารแฟลต 16-20 มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ และมีห้องเช่าอยู่ 280 ห้อง อาจสร้างเป็นตึกสูง 20-30 ชั้น เพิ่มจำนวนห้องได้ถึง 1,680 ห้อง (7 ไร่ หรือ 11,200 ตารางเมตร สร้าง 6 เท่าของที่ดิน ให้ 70% เป็นพื้นที่ขาย และแต่ละห้องมีขนาด 28 ตารางเมตร เช่นห้องชุดราคาประหยัดทั่วไป)

3. แนวทางการเจรจากับผู้เช่าแฟลต การเคหะแห่งชาติควรทำความเข้าใจด้วยการจัดประชุมกับผู้เช่าแฟลต ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นเป็นระยะ ๆ โดยให้ผู้นำชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยควรอธิบายให้ผู้เช่าแฟลตได้เข้าใจถึง

3.1 อันตรายจากการอยู่อาศัยในแฟลตที่หมดอายุขัย ซึ่งผู้เช่าพึงทำประกันชีวิตเอง การเคหะแห่งชาติไม่อาจรับผิดชอบชีวิต และทรัพย์สินหากพังทลายอย่างฉับพลัน ยกเว้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

3.2 ส่วนกลุ่มผู้เช่าแฟลตที่สามารถที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ การเคหะแห่งชาติควรจ่ายค่าชดเชย และค่าขนย้ายส่วนหนึ่ง เช่น ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น

3.3 สำหรับผู้เช่าที่เป็นพลเมืองอาวุโส ยากจนและขาดคนดูแล ควรได้รับการบริบาลในสถานดูแลผู้สูงอายุ แทนที่จะอยู่อาศัยในแฟลตที่ตนเองไม่สามารถที่จะอยู่อาศัยได้

4. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับผู้อยู่อาศัย โดยหลังจากเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในแฟลตดินแดงแห่งนี้ไม่ใช่คนจนที่แท้จริง เพราะพบว่า 52% ของครัวเรือนมีเครื่องปรับอากาศ  75% ชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 41% มีรถ 31% มีที่อยู่อาศัยอยู่ที่อื่น และที่ผ่านมาแม้จะมีการเวนคืนเจดีย์ ที่อยู่อาศัย วัดวาอารามในหลายพื้นที่ ก็ไม่เคยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ดังที่ชุมชนอ้าง

โดยสรุปแล้ว รัฐบาลควรเข้มแข็งในการจัดการพัฒนาพื้นที่แฟลตดินแดงขึ้นใหม่ให้เป็นตัวอย่าง หากปล่อยให้อาคารถล่มลงจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ก็จะเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของชาติ  การแก้ไขปัญหาแฟลตดินแดงอาจไม่เป็นที่พอใจของผู้เช่าบางส่วน แต่เชื่อว่าผู้เช่าส่วนใหญ่จะเข้าใจตามข้อมูลข้างต้น  และที่สำคัญประชาชนทั้งประเทศจะสรรเสริญถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
Create Date :11 มิถุนายน 2555 Last Update :11 มิถุนายน 2555 21:26:46 น. Counter : 3033 Pageviews. Comments :0