bloggang.com mainmenu search

คราวนี้หายไปนาน......นานมากร่วมๆจะ 1 ปี ...ไม่ได้เข้ามาอัพเดทบล๊อกเลย

ก่อนอื่นต้องขออภัยเพื่อนๆที่เข้ามาสอบถามข้อมูลต่างๆมากมายๆ (มีข้อความหลังไมค์ ถามข้อมูลมาเยอะมากๆครับ พยายามตามไล่ตอบอยู่นะครับ สำหรับบางท่านที่ผมไม่ได้ตอบอย่าน้อยใจ หรือโกรธกันเลยนะครับ เพราะผมคิดว่า ท่านคงผ่านพ้นจุดนั้นมาแล้วแน่ๆ ด้วย ระยะเวลาที่ตั้งคำถามมาก็นาน...)

....คิดถึงพี่ๆเพื่อนๆทุกคนเหมือนกัน..... ที่ทำงานที่ใหม่ ท่านดัน block ip ของ bloggang.com ซะนี่…เลยสร้างความลำบากในการเข้ามาอัพเดทความเป็นไป (เค้ารู้กันหมดว่าเอาเวลางานมาเล่น blog 555+)...จะมาอัพช่วงวันหยุดก็ไม่เคยได้ว่างเว้นหมดวันก็หมดแรง (แถมเอาเวลาไปปั่น จกย. เลยใช้เวลาไปหมดติ่ง)...และอีกอย่างก็คงตามปกติของการเพิ่งจะมาเข้าอยู่บ้านหลังใหม่ซึ่งยังต้องตกแต่งนู่นนี่นั่นอีกหลายอย่าง..ก็ยังไม่ลงตัวดีนักครับ...

ที่ว่า...บ่อเลี้ยงปลาหน้าบ้านผม ตอนนี้สร้างปัญหากวนใจอันเนื่องมาจากตอนเริ่มสร้างบ้านไม่ได้คำนวณระบบเอาไว้ให้ดีๆคราวนี้เลยงานเข้า..จากระบบกรองที่ไม่เหมาะสมกับขนาดบ่อนั่นแหล่ะครับ...จะโทษใครเค้าก็ไม่ได้ความผิดเราเองที่ดันอยากจะทำบ่อตรงนี้ด้วยแต่ไม่ได้ออกแบบไว้ก่อนล่วงหน้า ...สุดท้ายก็ต้องมาแก้ไขปัญหา ก็เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจังก็คราวนี้


ลองมาทุกอย่างยังใส่ EM ก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ก็แค่ยืดอายุการเปลี่ยนถ่ายน้ำออกไปอีกหน่อย(ประมาณ1 อาทิตย์ก็กลับมาแย่)...ซึ่งในความคิดผมว่าอยากเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างน้อยก็ 3 เดือนที (หรือมากกว่านั้นก็ยิ่งดี 555)...ก็ต้องหันกลับมาพึ่งการคำนวณและศึกษาเอาจากข้อมูลในเวบบ้างก็ว่า...น้ำเขียวก็ให้ใช้ หลอดยูวี เลยงัย เอาอยู่แน่ๆ (เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเลย....ซึ่งผมเองก็ไม่ขอมักง่ายเลือกใช้วิธีนี้ครับเพราะไหนจะเปลืองไฟ และระบบก็ไม่สมดุล เพราะทั้งจุลินทรีย์ดีๆก็ต้องโดนทำลายไปด้วย)....ดังนั้นขอตั้งโจทย์สำหรับการปรับปรุงบ่อดังต่อไปนี้

1. ต้องแก้ไขน้ำเขียวปั๊ดให้ได้

2. ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น(คิดรวมทั้งปั้มน้ำระบบกรอง ปั๊มลมต่างๆ

3. งบประมาณต้องไม่เกิน 30,000 บาท(หรือน้อยกว่านี้ได้ยิ่งดีมาก ฮ่าๆๆ)เพราะจากการสอบถามจากบรรดาร้านรวงต่างๆที่รับแก้บ่อเลี้ยงปลา เค้ามีพื้นที่ขั้นต่ำในการรับงานซะด้วยไม่งั้นก็ไม่คุ้มค่าแรงเค้า...ถูกสุดๆที่เจอก็ราคา30,000 บาทนี่ล่ะครับ...เฮ้อ

4. ระบบต้องเป็นมิตรกับธรรมชาติ และต้องเน้นไปทางแนวธรรมชาติบำบัดคือ ถ้าเมื่อระบบมันดีอยู่ตัว ทุกอย่างมันจะเกื้อกูลกันเองเพียงแค่เรามาควบคุมปริมาณของเสีย นั่นคือ อาหารปลา นั่นเอง และข้อดีของระบบนี้คือ...***ถึงแม้ระบบกรองจะเดี้ยงไปก็จะไม่กระทบรุนแรงถึงขั้นระบบนิเวศล่มจนทำให้ปลาอยู่กันไม่ได้ เช่นถ้าเกิดกรณีไฟฟ้าดับไปทั้งวัน ปลาก็ไม่ต้องลอยคอกัน หรือ ปั๊มเสียก็แค่หาเวลาไปเดินช้อปมาเปลี่ยนในช่วงเวลา2-3 วันอันใกล้ได้.....พยายามเหมือนการเลี้ยงปลาในบ่อธรรมชาติให้มากที่สุด *** และที่สำคัญ ห้ามใช้วัสดุกรองที่มาจาก ปะการัง โดยเด็ดขาด *** ผิดกฎหมายและทำลายธรรมชาติแต่ก็ยังเห็นมาวางขายกันอยู่ในตลาดจตุจักรอยู่นั่นล่ะ

          เมื่อสรุปความต้องการแล้วก็เริ่มหาแนวทางพอค้นๆไปก็เจอรูปแบบการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติบำบัด นั่นคือใช้จุลินทรีย์เอย + ต้นไม้เอย...โดยการทำแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้หลอดยูวีหรือเครื่องมือช่วยเหลือต่างๆมากมาย

มาเริ่มกันเลย

1. คำนวณปริมาตรบ่อกันก่อนเลย...ผมเอาแค่ประมาณการเพราะรูปทรงมันก็ไม่ใช่เรขาคณิตอะไรมากเลยเหมาเอาว่า เป็นทรง 4 เหลี่ยม ส่วนที่เกินก็ถือซะว่าเป็นเรื่องที่ดี 

     หาก ระบบกรองรองรับพื้นที่ๆใหญ่กว่าของจริงที่เป็นอยู่ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ขนาดบ่อยาว 3.75 เมตร กว้าง 3.5 เมตรลึก(ระดับความสูงของน้ำจริง) 0.6 ก็คำนวณหาปริมาตรโดยกว้างxยาวxลึก ดังนั้นได้ 3.75 x 3.5 x 0.6 = 7.875 ลบ.ม.

 2. เมื่อได้ปริมาตรบ่อเลี้ยงแล้ว นั่นคือ 7.875 ลบ.ม.หรือเรียกตามภาษาคนเลี้ยงปลาว่า ขนาดบ่อ 7.875 ตัน ซึ่งบ่อกรองควรมีขนาด 1 ใน 3 ของบ่อเลี้ยงปลาเลยทีเดียวถึงจะเป็นระบบบำบัดน้ำที่ดี(

จะใหญ่กว่านี้ก็ได้ไม่ว่ากัน เพราะมันก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก...แต่ก็สิ้นเปลืองพื้นที่ไปกับบ่อกรอง...สรุป ท่านเลี้ยงปลาในบ่อกรอง หรือบ่อเลี้ยงกันแน่ครับ...ฮ่าๆๆ งั้นก็ 1 ใน 3 นั่นแหล่ะ..อย่าเรื่องมาก)

ทีนี้ ก็มาว่ากันเรื่องความเร็วในการกรองของเสียออกจากบ่อเลี้ยง จากที่ถามผู้รู้ ท่านว่าน้ำทั้งหมดที่มีในบ่อควรมีการหมุนเวียนผ่านบ่อกรองอย่างน้อย 15 รอบภายใน 1 วันขึ้นไป หรือยิ่งมากรอบก็ยิ่งดี...สิ่งที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำก็คือ..ปั๊มน้ำนั่นเอง...การส่งน้ำเข้าระบบกรองมีอยู่2 แบบ คือ...จะใช้ปั๊มน้ำดูดจากบ่อ เพื่อเอาไปลงบ่อกรอง และปล่อยน้ำออกจากกรองออกไป หรือจะเป็นแบบรูปข้างล่าง ที่ผมคิดจะทำ


ระบบนี้ใช้แค่ปั้มน้ำเพียงตัวเดียวที่บ่อกรองสุดท้ายข้อดีเลยคือ แรงดันดันที่ออกมาจะแรงและสามารถสร้างกระแสน้ำวนภายในบ่อได้เพื่อไล่พวกขี้ปลาและตะกอนต่างๆให้ไปเข้าที่กรองแรกได้และอีกอย่างนึงคือปกติน้ำจะถูกกรองมาถึงที่บ่อกรองสุดท้ายนั้น ต้องสะอาดใสไม่มีเศษไม้ใบหญ้าต่างๆ...จึงทำให้ยืดอายุของปั๊มน้ำไปได้อีกไกลๆเนื่องจากไม่ต้องมาอุดตันจากพวกขี้ปลาหรือเศษใบไม้ต่างๆ....ทำให้ไม่ต้องคอยบำรุงรักษาบ่อยๆ....และแถมด้วยที่ว่าน้ำที่พ่นออกมาจะมีความแรงจนเป็นกระแสน้ำซึ่งพวกบรรดาปลาคาร์พชอบกันน้ำมันไม่นิ่งดี ว่ายโต้คลื่นกันหนุกหนานครื้นเครง...

พอได้รูปแบบบ่อกรองแล้ว..คราวนี้ ได้เวลาลงมือเอาแบบที่ร่างไว้มาลงพื้นที่จริง.....ซึ่งพื้นที่รอบๆบ่อนั้นผมไม่เหลือแล้วคร้าบบบ!!!ติดรั้วติดประตู ติดระเบียงหมด....เอ้า แล้วทำงัยล่ะทีนี้......เฮ้อ...สุดท้ายก็ตัดใจ คือต้องหั่นพื้นที่บ่อเลี้ยงปลาเดิมไปกั้นเพื่อทำบ่อกรอง คราวนี้ก็ต้องคำนวณขนาดบ่อใหม่ และต้องให้ได้บ่อกรองที่มีขนาด 1 ใน 3 อีกด้วย...

ตุบตับๆๆ ไปมา ก็ได้ออกมาตามนี้ เพื่อความสวยงามผมจะกั้นบ่อกรองกว้างขนาด 0.6 เมตรตามแนวยาวของบ่อ จะได้ขนาดบ่อใหม่ 3.75x(3.5-0.6)x0.6 = 6.525 ตัน (ลบ.ม.)

แล้วหารด้วย 3 = 2.175 ตันนี่คือขนาดปริมาตรความจุบ่อกรองที่ต้องใช้จริง.......

คราวนี้ลองคำนวณฝั่งบ่อกรองที่กั้นขึ้นมาซิว่าได้ถึง 2.175 ตันไหม

3.75x0.6x0.6= 1.35 ตัน.........ง่าได้เท่านี้เอง สรุป ยังขาดอีก 0.825 ตัน......ทำงัยดีอ่ะจะให้เพิ่มขนาดบ่อกรองให้กว้างออกมาอีก ก็...โอ้ยไม่เอาๆ ..มันจะไม่สวยแล้วอย่างงั้น เพราะทำให้บ่อปลาเล็กกระจิ๊ดไปเลย.......งั้นเอางี้....ถ้าในเมื่อบ่อกรองมีปริมาตรไม่ถึง1 ใน 3 ของบ่อ...งั้นผมไปเลือกที่จะไปเล่นที่อัตราการเปลี่ยนถ่ายน้ำซะเลยจากที่คิดๆไว้ว่าใน 1 วันต้องให้ได้ 15 รอบ …และแน่นอนอะไรที่มันจะทำให้เกิดระบบหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายน้ำในปริมาณขนาดนี้......พระเอกคือปั๊มน้ำนั่นเอง......ต้องหาที่มีอัตรา flow rate เยอะๆ.....อ่าแล้วงี้จะประหยัดไฟได้เหรอเนี่ย....

อย่าเพิ่งท้อๆ....5555 สมัยนี้เค้ามีอุปกรณ์อะไรเด็ดๆออกมาให้เลือกใช้กันเยอะ.....ซึ่งตัวช่วยงานนี้ผมคือต้องหาปั๊มน้ำแรงๆโดยที่กินไฟน้อยที่สุด.....ในตลาดเลี้ยงปลาตอนนี้มีทำมาอยู่ไม่กี่ตัว....ในที่นี้ผมเลือก AtMan รุ่น HA-20 ละกัน...เพราะตามสเปคมันบอกไว้ว่าอัตราการส่งน้ำที่ 20ลบ.ม. / ชม. (ปกติปั๊มน้ำตัวใหญ่ๆ จะมีหน่วยเป็น ลบ.ม. / ชม. ส่วนพวกน้ำน้ำตัวเล็กๆ จะใช้หน่วย ลิตร/ชม.)ซึ่งถ้าคำนวณดูนั่นคือ 20,000 ลิตร/ชม... โอ้วแรงเหลือหลาย..แล้วการกินไฟล่ะ ...เพราะขนาด ปั๊มไดโว่ที่แรงๆ 4000 ลิตร/ชม ยังซดกันเป็น 200วัตต์..........แต่!!!!! เจ้า HA-20 นี้จ่ายน้ำแรงขนาดนี้ แต่กินไฟแค่ 50 วัตต์เท่านั้นเองคร้าบบบ!!!……..อย่างงี้ให้ผ่านได้เลยแรงเกินตัวจริงๆ

เอาล่ะเล็งปั๊มที่จะมาใช้งานได้แล้ว....คราวนี้ก็ คำนวณ (อีกละ) เพื่อหาว่าถ้าใช้ปั๊มที่มีอัตราการไหลเท่านี้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนน้ำในระบบคิดเป็นกี่รอบใน 1 วัน

**** กำหนดให้ อัตราการไหลของน้ำที่ได้จากปั๊ม = A (หน่วยคือ ลิตร/ชม), ปริมาตรบ่อน้ำหลังจากกั้นกรองใหม่แล้ว = B(หน่วยคือตัน) แล้วนำมาเข้า สมการนี้เลยครับ

จำนวนรอบของการกรองน้ำ (รอบ/วัน) = (A x 24) / (B x 1000)

= (20,000 x 24) / (6.525 x 1000)

= 73.5632 (รอบ/วัน)

โอ้โห.......สรุป...ผมจะได้ 73 รอบครึ่ง ใน 1 วัน.....สุดๆ ไปเลย .....ฮ่าๆๆ แค่ 15 รอบใน1 วันเนี่ยก็ สบายแล้วนะ... น้องปลา..แฮปปี้แน่ๆ...แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ทำให้สามารถปรับลดรอบการทำงานให้น้อยลง โดยไม่เป็นการอั้นน้ำของปั้มน้ำ ***โดยการทำระบบบายพาสน้ำบางส่วนให้วนกลับลงบ่อกรองสุดท้ายด้วย โดยใช้วาล์วน้ำมาใช้ปรับช่วย ***



3. เอาล่ะ เมื่อ หา ขนาดของบ่อกรองได้แล้วและคำนวณหาขนาดของปั๊มน้ำ ก็ได้แล้ว....เริ่มดำเนินการกันเลย จะไปหาช่างปูนจากไหนล่ะงานนี้มาทำกั้นกรอง....พอไปสอบถามราคา...โอ้ว....พวกมีแต่ราคาเหมาบอกจะทำนู่นนี่นั่นให้..ไม่เอาละครับ....งานนี้ผมจะลงมือจัดการเองละเพราะราคาที่ท่านบอกมา ซัดไปซะหลายหมื่นบาท.....ทำเอาถอยกลับมาตั้งหลักใหม่...ว่าทำไมต้องจ่ายเยอะขนาดนั้นแค่จะทำกั้นกรองบ่อปลาแค่นี้.....

มาดูการดัดแปลงกันเลยใช้ผมจะใช้กระถางปูนเปลือย มาอุดรู แล้วหย่อนลงบ่อไปเลย แล้วเจาะรูน้ำเข้า...ใช้ทำเป็นบ่อกรองได้ง่ายดายเลย....เอ้องี้เข้าท่า...แต่ราคาล่ะ...ใบๆนึงราคาก็ไม่ใช่น้อยๆเลยนะหลายร้อยอยู่....แต่ถามว่าคุ้มกว่าหลักหลายหมื่นไหม....แน่นอนครับคุ้มกว่าก็หลายเท่าเอาเงินส่วนต่างนั้นไปเลือกใช้วัสดุกรองดีๆมาลงจะดีกว่า เหอๆๆ ...แต่ปัญหาก็คือจะไปหาขนาดกระถางที่มันพอดีที่จะเอามาลงบ่อเราได้ยังงัย.....

งานนี้คงต้องลุยอีกแล้ว.....

ปริมาตรบ่อกรองทั้งหมด ผมลงไปวัดพื้นที่หน้างานจริงแล้วดูตามความเหมาะสมเอาว่จะกั้นแนวไหนขนาดเท่าไหร่ดี เอาที่มันสวยงามไม่ใหญ่เกินไป...และก็ได้ที่ ขนาด (xx) 3.75x 0.6 x 0.6 ซึ่งต้องมาแบ่งซอยย่อยเป็นห้องๆเพื่อจะทำกรองทั้งหมด 5 ชั้นหรือแบ่งเป็น5 ห้อง ก็จะได้เป็นว่า 0.75 x 0.6 x 0.6 แต่กระถางปูนเปลือยมันไม่ได้เป๊ะๆ ตามที่คำนวณเอาไว้งี้นะต้องมีระยะเผื่อการบิดการโค้งของขอบกระถางเอาไว้ด้วย...ฉะนั้นจึงทำการร่นด้านยาวเข้าไปด้านละ0.5 cm

อ๊ะๆๆแต่ความสูงของกระถางล่ะ เกือบลืมไปๆ...นั่นมันความสูงของระดับน้ำในบ่อเลยนะบ่อกรองควรต้องมีขอบสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดของบ่อด้วย...ดังนั้นจึงปรับความสูงของขอบบ่อกรองขึ้นมาเป็น 70 cm. ก็จะได้ขนาดใหม่คือ

(xx) 0.74 เมตร x 0.6 เมตร x0.7 เมตร

เมื่อได้ขนาดของบ่อกรองดังนี้ก็วิ่งหาร้านที่เค้ารับทำกระถางปูนเปลือย กันเลย ซึ่งผมไปได้ร้าน แถวๆประตูกรุงเทพ (ใกล้ๆ รพ.ภูมิพล) แถบย่านสะพานใหม่ ครับใกล้บ้านดีด้วย......เค้าคิดค่าทำแบบ 1,200 บาท ส่วนค่าทำกระถางใบละ 1,300 บาท... แต่พอคุยกันไปๆมา พี่เค้าก็ใจดีลดค่าทำแบบ ผมให้เหลือ 500 บาท…..สรุป งานนี้ ผมได้บ่อกรองที่ราคา 7000บาทครับ......ฮ่าๆๆๆ....(นี่ยังไม่รวมค่าแรง ให้พี่วินมอเตอร์ไซค์ที่ผม ขอแรงเกณฑ์ไปให้ช่วยกันยกกระถางปูนอันแสนจะหนักอึ้งมาลงบ่ออีก 1,000 นึง......งั้นศิริรวม ราคา ก็ที่ 8000 บาท)รอร้านทำกระถางให้อยู่ 1อาทิตย์จึงแล้วเสร็จ...เอามาหย่อนลงบ่อหน้าบ้านเป็นอันเรียบร้อย....ส่วนน้องๆปลาทั้งหลายก็ย้ายไปอยู่บ่อน้ำตกข้างบ้าน ก่อนหน้านั้นแล้ว....บ่อข้างบ้านคงอึดอัดกันหน่อยเพราะมีเพื่อนมาขออยู่กันเยอะเลยงานนี้เหอๆๆ




เป็นยังงัยครับ...นี่ล่ะครับ สภาพน้ำสีเขียว.......เขียวมากกกกกกก.......จนเอามือจุ่มลงไปเนี่ยไม่เห็นมือตัวเอง 555+


4. คราวนี้ก็มาคำนวณกันต่ออีกแล้วครับ 555 โอ้ย....อะไรๆก็คำนวณหมดเลย......ก็มันช่วยไม่ได้เพราะดันเล่นปั๊มน้ำที่มีพละกำลังมหาศาลซะขนาดนั้น.......จึงต้องมีการคำนวณอัตราการไหลเข้าและ อัตราการไหลออกของน้ำในบ่อกรองให้ดีๆด้วยนะครับ...ไม่งั้นปั๊มน้ำได้ไหม้กันแน่ๆ...คือน้ำในบ่อกรองสุดท้ายแห้งหมดซะก่อนที่น้ำจะบ่อกรองหน้าๆจะล้นเข้ามาเติมได้ทัน......งานนี้ยากสุดเพราะไม่ได้เรียนมาทางด้าน ชลศาตร์ เลย....เห็นเค้ามีสูตรการคำนวณระบบ ท่อส่งน้ำทั้งแบบ HAZEN - WILLAMS FORMULA ใช้ในกรณีน้ำเต็มท่อ และ MANNINGFORMULA สำหรับกรณีน้ำไม่เต็มท่อ...แล้วไหนจะค่าfactor ต่างๆ โดยดูจากความลาดเอียงเอย...วัสดุที่ใช้ทำท่อส่งเอย....เฮ้ย!!!........นี่มันไม่ใช่บ้านๆแล้วนะ.....ไม่ต้องเอาถึงขนาดน้านนนนครับ ...ลวกเพี้ย...

งั้นเอาล่ะ...... มาดูกรรมวิธีคำนวณแบบ บ้านๆ ละกันครับว่าจะทำยังงัยเพื่อแก้ปัญหาพวกนี้ดีโดยลดการคำนวณอันยุ่งยากมาเป็นแบบเข้าใจได้ง่ายๆ

เริ่มจาก

- สูบน้ำออกจากบ่อให้หมดก่อนเลยจะได้ทำงานสะดวกๆ

- เลือกขนาดท่อส่งน้ำ...โดย ผมดูง่ายๆ จาก ปลายท่อส่งน้ำออก ของปั๊มน้ำ...ซึ่งเจ้า HA-20 มันใช้ท่อขนาด 2 1/2” ส่งน้ำออกจากตัวมันไป.....ถ้างั้นผมก็เริ่มที่ใช้ท่อ 2” เลย....เพราะผมมีดอกเจาะผนังของช่างแอร์ ขนาด อยู่น่ะครับ ฮ่าๆๆ จะได้เจาะกระถางปูนได้เร็วดี และสวย .....เล่นง่ายๆงี้เลยฮ่าๆๆ......ก็เจาะๆ แล้วก็ใส่ท่อลงไปดังรูป ตรงรูสวมท่อผมก็ใช้ปูนปลั๊กที่ไว้ใช้สำหรับงานอุดรอยรั่วกันน้ำซึมนั่นล่ะครับ แพงหน่อยแต่ปึ้กมาก......ผมทำอย่างงี้ไป2 รู เพื่อเดินแค่ 2 ท่อก่อน....





ภาพบ่อกรองบ่อแรก





ภาพบ่อกรองบ่อสุดท้าย ปั้มน้ำจะอยู่ที่บ่อกรองนี้







การจัดเรียงบ่อกรอง เมื่อทำการเจาะรูน้ำล้นเข้าหากันทั้ง 5 บ่อกรอง.....






ทำการเดินท่อโดยใส่ข้องอ 90 ที่ทางเข้าของแต่ละบ่อกรองให้ลงไปเกือบถึงพื้นบ่อ (ให้สูงจากพื้นบ่อประมาณ 10 cm.)...... ในภาพนี้มีการตัดท่อ 2" มาวางขวางเอาไว้เพื่อรอเอา แพมาวางทับอีกที เอาไว้ใช้วางหนุนวัสดุกรอง


- หลังจากรอให้ปูนแห้งดี (แค่ไม่ถึง ชม.เพราะมันแข็งตัวเร็วมากๆ แค่ 2 นาทีก็จับตัวเป็นก้อนแล้วผสมเสร็จต้องรีบเอามาอุดรูทันที...ข้อดีคือมันแข็งได้ถึงแม้จะเปียกหรืออยู่ใต้น้ำครับ)....แล้วหาอะไรมาอุดปากท่อน้ำล้นที่เข้าไปถังกรองสุดท้ายที่ เจ้าปั๊มน้ำ มันสถิตอยู่ แล้วก็เติมน้ำลงไปเลยครับที่บ่อกรองแรกๆเพื่อให้น้ำมาอั้นรอล้นมาเข้าบ่อกรองสุดท้าย......แล้วก็มาดูที่บ่อกรองสุดท้าย ...เปิดเจ้า HA-20 เพื่อสูบน้ำที่หลือค้างออกจากบ่อให้หมดแล้วก็ปิดมันซะ.....เอาล่ะ คราวนี้ เริ่มล่ะนะครับ.....

ทำการจับเวลา (หน่วยเป็นวินาที) นั่นคือปล่อยน้ำจากบ่อกรองด้านหน้าเข้ามาเติมในบ่อกรองสุดท้ายที่ปั๊มมันอยู่...ดูจนน้ำเข้ามาเติมจนเต็มระดับน้ำมันนิ่ง ก็หยุดจับเวลา..... ซึ่งคร่าวๆที่วัดได้ประมาณ 62 วินาทีพอดี

- คำนวณปริมาตรของบ่อกรองย่อยถังนี้ (หักความหนาของขอบบ่อไปแล้วนะครับ) นั่นคือ 0.69x0.55x0.6 = 0.227ลบ.ม.ดังนั้นเอาค่าปริมาตรนี่มาคำนวณหาต่อว่า ใน 1 วินาทีจะมีน้ำอยู่ในถังกรองนี้กี่ลบ.ม. โดยจะได้ 0.227 / 62 =0.00367ลบ.ม. / วินาที

นั่นคือ ใน 1 วินาทีจะมีปริมาณน้ำที่ไหลลงมาที่บ่อกรองที่ 0.0035ลบ.ม./ วินาที.....ซึ่งนี่ก็คืออัตราการไหลของน้ำขาเข้าบ่อกรองแล้วถ้ากลับไปมองทางฝั่งน้ำขาออกล่ะครับ ที่ปั๊มน้ำมันดูดออกไป มีความเร็วเท่าไหร่ในช่วงเวลา 1 วินาที มันสัมพันธ์กันไหม?...

*** ตามสเปคของเจ้า HA-20 บอกว่า 20 ลบ.ม. /ชม.หรือนั่นก็คือ 0.0055 ลบ.ม./วินาที (คำนวณจาก 20/(60x60)) ***

เอ้า น้ำขาออกมัน 0.0055 ลบ.ม./วินาที แต่ ขาเข้ามันแค่ 0.0036 ลบ.ม./วินาที ต่างกันเกือบครึ่ง....แสดงว่า ถ้าเปิดปั้มน้ำ จริงๆ งานนี้ ....ปั๊มได้ไหม้กันแน่ๆเพราะน้ำมันล้นมาเติมในบ่อสุดท้ายไม่ทัน...บ่อกรองสุดท้ายแห้งซะก่อน....

ทางแก้มี 2 ทางคือ

1. คือก็ต้องเพิ่มปริมาณ ท่อ จากเดิม ใน ขนาด 2” จำนวน 2 เส้น...ก็เพิ่มเป็น 4 เส้นไปเลย ซึ่งก็ควรได้เพิ่มมาอีก จนกลายเป็น0.0072ซึ่งก็จะเพียงพอ.....เฮ้อ...งานนี้ก็ต้องเจาะเพิ่ม....เหนื่อยเจงๆก็ตรงนี้ล่ะครับ....เจาะอีกแล้ว.... ข้อดีคือสามารถใช้รอบการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สูงสุดที่ 73.5632 รอบ/วันได้เลย

2. ไม่ต้องเจาะรูเพิ่มท่อ..ก็ยังใช้แค่ 2 รูเหมือนเดิม...แต่ใช้วิธีการทำบายพาสน้ำบางส่วนให้ไหลวนกลับลงมาที่บ่อกรองสุดท้ายเพื่อควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้ลดต่ำจนเกินไปและให้ความแรงของปริมาณสูงสุดเท่าที่จะทำได้.... และลดปลายท่อน้ำที่ออกจากปั๊มน้ำลงเหลือแค่ เท่านั้น ซึ่งถ้าคำนวณย้อนกลับดูว่าแล้วจะเหลือจำนวนรอบการเปลี่ยนถ่ายน้ำเท่าไหร่ ผมเล่นง่ายๆเลยครับ บ้านๆสุดๆ 555 นั่นคือดูจากขนาดท่อออกของปั๊มน้ำ นั่นคือ 2 ½” นิ้ว แล้วผมลดลงมาเหลือ 3/4” เพราะที่ปลายท่อน้ำออกระดับนี้จะไม่ทำให้ระดับน้ำลดลงถึงขั้นบ่อกรองสุดท้ายแห้งผากฉะนั้นจะคิดเป็นกี่%...สรุปนั่นคือ 30% หรือแปลว่าถ้าใช้วิธีนี้ ระบบจะทำงานที่ 30%เท่านั้น...ดังนั้นจากเดิม 73.5632 รอบ/วัน จะเหลือเพียง 22.06896 รอบ/วัน.........

*** อ่าฮ้า...เหลือ 22 รอบ /วัน....ก็ยังเหลือเฟือเลยครับเพราะจากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 15 รอบ/วัน (กูรูหลายท่านว่า ปริมาณขนาดนี้กำลังดีแต่ถ้าดีที่สุดอยู่ที่ 18 รอบ/วัน) ....

*** ข้อดี ความแรงของน้ำที่ออกจากท่อยังแรงและสร้างกระแสน้ำวนได้และไม่แรงจนเกินเหตุ จนปลาเวียนหัว ฮ่าๆๆๆ 


ขอแยกเนื้อหา ขึ้นอีกตอนใหม่นะครับ เพราะ เด๋วนี้ เค้าห้ามใส่เนื้อหา ยาวเกิน....(ว้า.....เขียนไม่มันส์เหมือนเดิมละ 555)
Create Date :09 พฤศจิกายน 2555 Last Update :9 พฤศจิกายน 2555 14:33:45 น. Counter : 27153 Pageviews. Comments :0