bloggang.com mainmenu search


คิซึเนะอุด้ง @ Wakayama Marina city

อุด้งเป็นหนึ่งในสามราชาแห่งอาหารเส้นของประเทศญี่ปุ่น
วิธีทำนั้นแสนง่าย เพียงนำแป้งสาลีผสมกับน้ำเปล่าแล้วนวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน
จากนั้นก็รีดให้เป็นแผ่นแล้วตัดให้เป็นเส้นขนาดใหญ่
ชื่อนั้นแปรไปตามเครื่องปรุง เช่น เมื่อวางเต้าหู้ลงไปก็เรียกว่า คิสึเนะอุด้ง

แต่มีอุด้งเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อมาจากเมืองอันเป็นต้นกำเนิด

เมืองเล็กๆ ชื่อซานุกิบนเกาะชิโกกุนั้นเต็มไปด้วยท้องทุ่งสาลี
จึงได้กลายเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการนำมาทำเป็นเส้นอุด้ง
ซานุกิอุด้งโดดเด่นด้วยวิธีการนวดที่นำก้อนแป้งใส่ถุงแล้วย่ำลงไปด้วยเท้าเปล่า
ก่อให้เกิดความเหนียวหนึบและความอร่อย ที่กินได้ทันทีแม้จะแค่เติมโชยุลงไป

ทั้งเมืองมีประชากรราว 1 ล้านคน แต่มีร้านอุด้งอยู่มากกว่า 900 ร้าน
ทำให้เมืองนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากอุด้ง อุด้ง และก็อุด้ง
โคสุเกะลูกชายเจ้าของร้านอุด้งไม่อยากที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ในเมืองนี้
เค้ามีความฝันที่อยากเป็นนักแสดงตลกที่มีความสามารถในระดับโลก

โคสุเกะจึงบินไปนิวยอร์กเพื่อตามหาฝัน แต่เพียงไม่นานเค้าก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นจึงต้องซมซานกลับมายังบ้านเกิด และสมัครป็นเซลล์ขายนิตยสารท้องถิ่น
โดยไม่รู้ว่าค่าคอมมิสชั่นที่จะได้รับนั้นน้อยนิดมาก เพราะมันแทบจะไม่มีคนอ่าน
โคสุเกะจึงมีความคิดว่า อยากจะทำคอลัมน์แนะนำร้านอุด้งแบบที่ไม่เหมือนใคร



คาเกะอุด้ง @ มารุกาเมะเซเมง

โดยแทนที่จะเขียนบรรยายแบบตรงไปตรงมา เค้าจะถ่ายแค่รูปชามอุด้ง
และบรรยายถึงรสชาติของมันแทน ส่วนที่ตั้งของร้านนั้นจะไม่มีรายละเอียดใดๆ
คนอ่านจะต้องใช้จินตนาการและออกตามหาร้านอุด้งที่เขียนนั้นด้วยตัวเอง
มันได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และแพร่สะพัดไปทั่วประเทศ

คนญี่ปุ่นจำนวนมากเดินทางมาที่เมืองซานุกิเพื่อตามหาร้านอุด้งในหนังสือ
เมืองที่ร้านอุด้งอยู่ทุกหนแห่งได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงชั่วพริบตา
มันก็ทำให้หลายๆ อย่างในเมืองนี้ได้เปลี่ยนไป และเปลี่ยนความคิดของโคสุเกะไปด้วยเช่นกัน

หนังญี่ปุ่นนั้นไม่สนุกหรอก ถ้าจะดูแบบหาสาระคงมิได้แต่สำหรับคนที่รักในประเทศญี่ปุ่นแล้ว
การได้เห็นภูมิประเทศและบรรยากาศในภาพยนตร์ก็เปรียบเหมือนการท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่ง
และนั่นก็ทำให้เรามีความสุขมากพอที่จะดูจนจบเรื่องได้

เส้นอุดงมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่น 2 ท่าน
โดยพระ Kukai เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนา ยังประเทศจีนในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 9
กล่าวกันว่าเมืองซานุกิแห่งเกาะชิโกกุได้สืบทอดวิธีการทำมาจากท่านคุไค
ส่วนพระ Enni พระนิกายเซน สำนักรินไซได้เดินทางไปประเทศจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13
โดยมีเมืองฮากาตะแห่งเกาะคิวชูประกาศว่าเป็นผู้สืบทอดสูตรการทำของพระเอ็นนิ

โชคดีที่ตอนนี้เราไม่ต้องเดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่นก็สามารถหาซานุกิอุด้งทานได้แล้ว
โดยร้านมารุกาเมะเซเมงได้มาเปิดให้บริการตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง
อร่อยไม่อร่อยนั้นพูดยาก เพราะเส้นอุด้งนั้นมีรสชาติจืดธรรมดา

คนไทยที่กินรสจัดคงยากที่จะแยกความแตกต่างได้
Create Date :07 มีนาคม 2556 Last Update :7 มีนาคม 2556 20:34:29 น. Counter : 1505 Pageviews. Comments :1