bloggang.com mainmenu search



6 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2547
ภาพยนตร์เรื่องโหมโรงซึ่งได้เค้าโครงและแรงบันดาลใจมาจากประวัติของหลวงประดิษฐไพเราะ
(ศร ศิลปบรรเลง) กำกับโดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ และอำนวยการผลิตโดย นนทรีย์ นิมิบุตร
และ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เข้าฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ 52.72 ล้านบาท
ที่สำคัญได้สร้างกระแสในวงการภาพยนตร์ไทยแห่งความรักในดนตรีไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

5-7 สิงหาคม 2554
จังหวัดสมุทรสงครามได้จัดงาน 130 ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐ์ไพเราะขึ้น
ณ บ้านดนตรี บริเวณวัดภุมรินทร์กุฎีทอง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
และที่อุทยานรัชกาลที่ 2 บ้านอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในงานมีการฉายภาพยนตร์ด้วย

9 มกราคม พ.ศ. 2555
ความยิ่งใหญ่นี้ได้หวนกลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบละครทางช่องช่อง TPBS
เนื้อหานั้นยังคงอิงตามบทภาพยนตร์ เพียงแต่ยืดเนื้อหาให้มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น
และต้องดำเนินเรื่องตามเวลา ไม่สามารถตัดสลับไปมาแบบในภาพยนตร์ได้

เพลงที่นำมาใช้ในภาพยนตร์ถูกเพิ่มเป็น 22 บทเพลงและเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
รวมถึงเพลงที่ถือว่าเป็น signature ของหนังก็คือจีนดอกไม้ ที่ถูกใช้ในตอน
ที่จางวางศรใช้ในการเดี่ยวระนาดกับขุนอินในหนัง แล้วตะกั่วหลุดนั่นเอง

แต่ยังมีสองบทเพลงที่จะถูกใช้ในฉากเดิมเช่นเดียวกันกับในภาพยนตร์
ได้แก่ เพลงแสนคำนึงที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะแต่งขึ้นจากเพลงลาวโบราณ
ที่ถูกใช้ในช่วงที่นายศรสีซออู้ในฉากที่พบแม่โชติครั้งแรก

เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2482 โดยใช้เนื้อเพลงที่มาจาก
เรื่องขุนช้าง ขุนแผน แต่เนื้อเพลงถูกปรับปรุงอีกครั้งใน พ.ศ. 2485
เปลี่ยนเป็นเนื้อเพลงที่รุนแรง แสดงอารมณ์ห่วงใยในดนตรีไทย
ที่กำลังสูญสิ้นไปเพราะทางราชการไม่สนใจเท่าที่ควร

เจ้านายที่เคยอุ้มชูดนตรีไทย ต่างหมดบุญวาสนากระจัดกระจายแยกย้ายกันไป
ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ปลอดภัยที่จะใช้เนื้อร้องในเรื่องราวเช่นนี้ เนื้อเพลงดังกล่าว
จึงได้สูญหายไป เหลือเพียงฉบับปัจจุบันที่เป็นเนื้อเพลงที่ถูกเขียนขึ้นในครั้งแรก

เพลงที่สองคือเพลงที่เรารู้จักกันดี ลาวดำเนินเกวียน ที่ทรงพระนิพนธ์โดย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เพลงนี้ทรงตั้งชื่อว่า
เพลงลาวดำเนินเกวียน เพราะทรงโปรด เพลงลาวดำเนินทราย
ของพระยาประสานดุริยศัพท์ จึงตั้งพระทัยประพันธ์เพลงสำเนียงลาวที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน

เนื้อเพลงเดิมมีทั้งหมด 6 ท่อน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ท่อน
และเนื่องจากเนื้อเพลงนั้นขึ้นต้นว่า โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย
ทำให้คนนิยมเรียกกันว่า ลาวดวงเดือน สืบมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นเพลงไทยที่มีความไพเราะแม้จะเล่นด้วยเครื่องดนตรีฝรั่ง
ถูกใช้ในฉากที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะถูกพันโทวีระบุกเข้าตรวจค้นบ้านพัก



เรื่องเด่นที่ปูมาตั้งแต่ต้นเรื่องก็คือผืนระนาดจำปาที่สืบทอดกันมาในครอบครัว
ในละครสร้างโครงเรื่องว่า ในการประชันกันขุนอินใช้อาคมให้ตะกั่วถ่วงผืนระนาดหลุดไป
นายทิวได้เอาผืนระนาดจำปามาเปลี่ยนให้ ซึ่งหากสังเกตจะพบว่า ผืนระนาดนั้นมีสีอ่อน
และมีลูกระนาดที่กว้างกว่าลูกระนาดปรกติที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง

ผืนระนาดจำปานั้นมีอยู่จริง โดยเป็นหนึ่งในสี่ของผืนระราดที่ประหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
ได้มอบให้เป็นมรดกตกทอดไปยังผู้เป็นบุตรหลานและศิษย์ของท่านสามคนด้วยกัน
ผืนระนาดจำปาเหลาจากไม้ไผ่บงหรือไผ่ตง แต่เดิมมีสีออกไปทางเหลืองเข้ม
คล้ายสีของดอกจำปา จึงมีชื่อเรียกว่าจำปา มีคุณลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ

มีเสียงอ่อนหวานนุ่มนวลไพเราะเป็นพิเศษ จนท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ
ถึงกับสลักข้อความไว้ที่ด้านล่างของลูกระนาดว่า รัก คู่มือ
ผืนระนาดนี้ถูกส่งต่อให้อาจารย์ขวัญชัย ศิลปะบรรเลง ลูกชายคนที่สอง
และก่อนที่อาจารย์ขวัญชัย จะเสียชีวิตได้มอบผืนระนาดเอกจำปานี้ให้แก่
อาจารย์ประสิทธ์ ถาวร ซึ่งได้เก็บรักษาระนาดเอกผืนนี้ไว้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน

หากอ่านเรื่องมาตั้งแต่ต้นจะพบว่า เนื้อหาของเรื่องนั้นสร้างจากชีวิตจริงเป็นส่วนใหญ่
ยกเว้นเรื่องการประชันที่ในความเป็นจริง คนที่ประชันด้วยคือครูแช่ม แห่งวังหลวง
ผมว่าคุณอิทธิ คงคิดว่าหากให้ระนาดวังหลวงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ คงดูไม่งามในความรู้สึก
ก็เลยจำเป็นต้องสร้างตัวละครขึ้นมาสองคน ก็คือขุนอินมาแทนครูแช่ม

และสมเด็จอีกพระองค์ที่เป็นเจ้าของวงที่ขุนอินสังกัด โดยในบทนั้นจะไม่มีการกล่าวถึง
ว่าเป็นเจ้าของวังอะไร แต่ในความคิดผมไม่น่ามีเจ้านายพระองค์ใดจะอาวุโสและมีพระเกียรติยศ
สูงกว่าเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ในช่วงนั้น ด้วยพระองค์เป็นถึงพระเจ้าน้องยาเธอของรัชกาลที่ 5

ขุนอินนั้นตามท้องเรื่องเป็นมือระนาดที่เก่งมาก และต้องอาศัยแววตาในการมองนายศร
ดังนั้นจึงต้องใช้มือระนาดที่แสดงได้จริงๆ ตามบทบาท ในเวอร์ชั่นหนังนำแสดงโดย
คุณณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า บุตรชายของครูสุพจน์ โตสง่า ซึ่งได้รับฉายาว่า ระนาดน้ำค้าง
จากการที่ท่านนิยมฝึกตีระนาดในยามเช้า และเป็นผู้ประพันธ์เพลงหลักในเรื่องคือจีนดอกไม้

คุณณรงค์ฤทธิ์ โตสง่าแสดงดนตรีครั้งแรกอายุเพียง 5 ปี ด้วยการเดี่ยวระนาดเอก
ออกรายการทีวีช่อง 4 ต่อมาได้เป็นนักเรียนทุนของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
จบการศึกษาภาควิชาดุริยางค์ไทย เอกปี่พาทย์ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพ
จากนั้นสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู โรงเรียนวัดห้วยจระเข้วิทยาคม
และเป็นอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน

แม้คุณโอ อนุชิตจะผ่านการฝึกตีระนาดมาก็ตามที แต่เสียงระนาดและภาพโคลสอัพ
ในหนังนั้นใช้แสตนอินมือของอาจารย์ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ดุริยางค์ศิลปิน
สำนักการสังคีต กรมศิลปากรซึ่งต่อมารับบทขุนอินในเวอร์ชั่นละครนั่นเอง
Create Date :14 กุมภาพันธ์ 2555 Last Update :15 กุมภาพันธ์ 2555 9:37:36 น. Counter : Pageviews. Comments :4