bloggang.com mainmenu search



6 สิงหาคม พ.ศ. 2424

เด็กชายศรเกิดที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงครามเป็นบุตรคนสุดท้องของนายสิน
และนางยิ้ม ศิลปบรรเลง ท่านเป็นผู้มีความสามารถและรักทางดนตรีมาตั้งแต่อายุยังน้อย
โดยสามารถตีฆ้องวงได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจดนตรีอย่างจริงจัง
จนกระทั่งอายุ 11 ปี บิดาได้นำวงดนตรีต่างๆ มาประชันในงานวันโกนจุกของท่าน

พ.ศ. 2441

จากวันนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ได้เริ่มหัดเรียนดนตรีจากบิดาในวิชาปี่พาทย์อย่างจริงจัง
ท่านได้ออกงานใหญ่ครั้งแรกในงานโกนจุกธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีซึ่งมีบุตรสาวถวายตัวในรัชกาลที่ 5 ถึง 5 คน
คือ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอียม เจ้าจอมเอ็ย เจ้าจอมเอี่ยม และเจ้าจอมเอื้อน

ในงานนั้นมีปี่พาทย์ 3 วง ประการแสดงโขนตอนสุครีพหักฉัตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิดต่อตัวกัน
นายศรขณะนั้นอายุได้ 17 ปีเป็นคนตีฆ้องวงเล็ก คนระนาดเอกวงครูสินต่อวงอื่นไม่ทัน
ครูสินจึงเรียกนายศรไปตีระนาดเอกแทน วงไหนส่งมานายศรก็รับส่งได้ไม่บกพร่อง
พอถึงรอบสองตีไหวมากจนวงอื่นรับไม่ทัน นายศรต้องบรรเลงเพลงต่อไปเองจนจบ

เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ ถึงกับตบมือตะโกน ร้องว่า นี่ผู้ใหญ่แพ้เด็ก
ตั้งแต่นั้นมาชื่อนายศร ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม
ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ มีงานเปิดตลาดบ้านหม้อ มีปี่พาทย์ประชัน 3 วง
คือ วงมหาดเล็กหลวง วงพระนายไวย และวงเจ้าพระยาเทเวศรฯ

นายศรได้เข้ามาดูงานนี้ด้วยบังเอิญพระนายไวยซึ่งน่าจะรู้จักนายศรเหลือบมาเห็นเข้า
รู้ว่าเป็นระนาดบ้านนอกฝีมือดี ก็เลยเรียกให้เข้าไปตีระนาดในวงของท่าน
นายศรได้ตีระนาดหลายเพลงจนถึงเพลงเดี่ยวกราวในทำให้เจ้านาย
และผู้อยู่ในงานนั้นตะลึงในฝีมือได้รับรางวัลถึง 32 บาทซึ่งนับว่ามาก

ในงานคล้ายวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาสำลีชนนีของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี
พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 นายศรได้มีโอกาสมาร่วมบรรเลงปี่พาทย์ด้วย
โดยได้เดี่ยวระนาดเอกเพลงกราวในเถาด้วยชั้นเชิงและฝีมืออันยอดเยี่ยม
ในเถาเพลงนี้เป็นเพลงที่ต้องใช้วิธีการบรรเลง ยากมากกินเวลาถึง 1 ชั่วโมง
จนได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
และเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์



พ.ศ. 2442

พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงภานุพันธุวงศ์วรเดชทรงโปรดวงปี่พาทย์ยิ่งนัก
และไม่ยอมแพ้ใครในเรื่องนี้ ทรงมีวงปี่พาทย์ประจำวังของพระองค์เอง
แต่คนระนาดของพระองค์คนแล้วคนเล่า ก็ไม่มีใครสู้พระยาเสนาะดุริยางค์(แช่ม)
ระนาดของกรมพิณพาทย์หลวงได้ จึงทรงเสาะหาคนระนาดที่จะมาปราบ

เมื่อเสด็จออกไปบัญชาการสร้างพลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่จังหวัดราชบุรี ทรงทราบว่านายศรบุตรครูสินตีระนาดดี จึงให้เจ้าเมืองสมุทรสงคราม
สั่งให้นายอำเภอคือ ขุนราชปุการเชย หาตัวมาตีถวาย พอตีถึงเดี่ยวกราวในยังไม่ทันจบเพลง
ก็ถอดพระธำรงประทานและขอตัวให้ตามเสด็จเข้าวังทันที แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่ต้องกลับไปเอา

ทรงแต่งตั้งให้ ปีเป็นจางวางมหาดเล็ก เล่นระนาดเอกแทน ครูเพชร จรรย์นาฏ
ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นคนฆ้องใหญ่ทรงหาครูมาฝึกสอนจางวางศรอยู่นาน
ในที่สุดก็ได้พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก) มาเป็นครู

พ.ศ. 2443

ทรงจัดให้จางวางศรนายศรซึ่งขณะนั้นอายุได้ 19 ปี ประชันกับพระยาเสนาะดุริยางค์
ซึ่งเป็นขณะนั้นอายุ 34 ปี เป็นการประชันอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ที่สุด
เมื่อจางวางศรรู้ว่าสมเด็จวังบูรพาจะให้ตีประชันกับนายแช่มก็ตกใจมาก
เพราะในขณะนั้นนายแช่มกำลังโด่งดังไม่มีใครกล้าสู้

อีกทั้งเป็นลูกครูช้อยครูของครูแปลกและครูเพชรด้วย จางวางศรจึงยำเกรงในฝีมือ
เกิดความกังวลจนไม่เป็นอันกินอันนอน ถึงกับทำให้หยุดซ้อมระนาดไปเลย

จางวางศรจึงไปกราบขอร้องให้ครูผู้ใหญ่ท่านหนึ่งไปช่วยกราบขออภัยต่อนายแช่มว่า
ที่จริงท่านไม่เคยคิดหาญจะประชันด้วย แต่ไม่อาจขัดรับสั่งสมเด็จวังบูรพาฯได้
โปรดออมมือให้ท่านบ้าง แต่นายแช่มเป็นคนของวังหลวงย่อมรักเกียรติรักศักดิ์ศรี
จึงไม่ยอมรับคำขอร้อง โดยบอกว่าต่างฝ่ายต่างต้องเล่นเต็มฝีมือ

จางวางศรยิ่งวิตกกังวลถึงกับหนีไปอยู่กับพวกปี่พาทย์ที่คุ้นเคยกันตามต่างจังหวัด
สมเด็จวังบูรพาฯทรงกริ้วมากสั่งให้เอาตัวนางโชติภรรยาจางวางศรมากักกันไว้
จนจางวางศรต้องกลับมา มุมานะฝึกซ้อม และคิดค้นหาวิธีตีที่จะทำให้ไม่แพ้คู่ต่อสู้
ท่านได้คิดวิธีจับไม้ระนาดให้ตีไหวรัวได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเทคนิคต่างๆอีกมากมาย
เช่นสะบัดเสียง ให้ไหวร่อน ผ่อนแรง สะบัด ขยี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางดนตรี
Create Date :08 กุมภาพันธ์ 2555 Last Update :8 กุมภาพันธ์ 2555 16:56:55 น. Counter : Pageviews. Comments :6