bloggang.com mainmenu search

วัดอมรคีรี ทำบุญ 50 วัน บรรจุอัฐิที่วัดภูผาภิมุข


จขบ.(เจ้าของบล็อก) มีโอกาสไปงานทำบุญ พี่ประจวบ สืบสิงห์ ครอบครัวเรารู้จักและสนิทสนมกันหลายสิบปี ลูกๆก็เป็นเพื่อนๆกันตอนเล็กๆจนโต
ขอมอบบล็อกนี้เป็นที่ระลึกและความทรงจำแด่ครอบครัวค่ะ










วันนี้มีญาติและเพื่อนๆมากันมากมาย พระคุณเจ้าอาวาสวัดอมรคีรี เป็นประธานงาน เพื่อเป็นเกียรติแด่ครอบครัว คุณประจวบ สืบสิงห์ (บรรยายด้วยภาพนะคะ)

ทางวัดจัดงานครบถ้วนรวมทั้งมีอาหารสำหรับแขกที่มาในงานด้วย (ผูัใดประสงค์จะมาทำบุญที่วัด ในโอกาสต่างๆ งานมงคล แต่งงาน งานศพ ) ไม่สะดวกจัดการเอง ทางวัดมีบริการจัดการให้ทุกอย่างค่ะ
ติดต่อที่วัดได้นะคะ


































ท่านเจ้าอาวาสวัดอมรคีรี เป็นประธานงานทำบุญ 50 วันคุณประจวบ สืบสิงห์
ก่อนเริ่มพิธี ท่านกรุณาเล่าถึงประวัติวัดอมรคีรี และบอกบุญสำหรับท่านผู้มีจิตศรัทธา
ขณะนี้ทางวัดกำลังซ่อมแซมโบสถ์ และที่วัดอมรคีรี เป็นสถาบันสอนการศีกษาพระสงฆ์และเณรมากมายด้วยค่ะ




























































รับน้ำมนต์ เสร็จแล้วเชิญรับประทานอาหารกันค่ะ




































วันที่ 15 เมษายน 2558 ทำบุญบรรจุอัฐิที่วัดภูผาภิมุข





























































































ระลึกถึงความตายสบายนัก
การเจริญมรณสติในชีวิตประจำวัน

โดย พระไพศาล วิสาโล
จัดพิมพ์โดย ชมรมกัลยาณธรรม
พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ไม่ว่าจะหลีกหนีให้ไกลเพียงใด
เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น
ในเมื่อจะต้องเจอกับความตายอย่างแน่นอน
แทนที่จะวิ่งหนีความตายอย่างไร้ผล
จะไม่ดีกว่าหรือหากเราหันมาเตรียมใจรับมือกับความตาย

ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่ ระลึกถึงความตายสบายนัก.word ระลึกถึงความตายสบายนัก.pdf

ระลึกถึงความตายสบายนัก
มันหักรักหักหลงในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์อันธการ
ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ
พระศาสนโสภณ (จตตสลลเถร)

สำหรับคนทั่วไปไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความตาย เพราะความตายไม่เพียงพรากเราไปจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารักและหวงแหนเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวดก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายจะหมดไป ความตายที่ไม่เจ็บปวดจึงเป็นยอดปรารถนาของทุกคนรองลงมาจากความปรารถนาที่จะเป็นอมตะ แต่ความจริงที่เที่ยงแท้แน่นอนก็คือเราทุกคนต้องตาย

ความตายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็จริง แต่ใครบ้างที่ยอมรับความจริงข้อนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้คนเป็นอันมากจึงพยายามหนีห่างความตายให้ไกลที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามไม่นึกถึงมัน โดยทำตัวให้วุ่น หาไม่ก็ปล่อยใจเพลิดเพลินไปกับความสุขและการเสพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีชีวิตราวกับลืมตาย ดังนั้นจึงไม่พอใจหากมีใครพูดถึงความตายให้ได้ยิน ถือว่าเป็นอัปมงคล คำว่า “ความตาย”กลายเป็นคำอุจาดที่แสลงหู ต้องเปลี่ยนไปใช้คำอื่นที่ฟังดูนุ่มนวล เช่น “จากไป” หรือ “สิ้นลม”

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะต้องตายไม่ช้าก็เร็ว แต่แทนที่จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้า คนส่วนใหญ่เลือกที่จะ “ไปตายเอาดาบหน้า” คือ ความตายมาถึงเมื่อไร ค่อยว่ากันอีกที แต่วันนี้ขอสนุกหรือขอหาเงินก่อน ผลก็คือเมื่อความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า จึงตื่นตระหนก ร่ำร้อง ทุรนทุราย ต่อรอง ผัดผ่อน ปฏิเสธผลักไส ไขว่คว้าขอความช่วยเหลือ แต่ถึงตอนนั้นก็ยากที่จะมีใครช่วยเหลือได้ เตรียมตัวเตรียมใจเพียงใด ก็ได้รับผลเพียงนั้น ถ้าเตรียมมามากก็ผ่านความตายได้อย่างสงบราบรื่น ถ้าเตรียมมาน้อย ก็ทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าจะหมดลม หากความตายเปรียบเสมือนการสอบ ก็เป็นการสอบที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง

จะว่าไปชีวิตนี้ทั้งชีวิตก็คือโอกาสสำหรับการเตรียมตัวสอบครั้งสำคัญนี้ สิ่งที่เราทำมาตลอดชีวิตล้วนมีผลต่อการสอบดังกล่าว ไม่ว่าการคิด พูด หรือทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม การกระทำแม้เพียงเล็กน้อยไม่เคยสูญเปล่าหรือเป็นโมฆะ ที่สำคัญก็คือการสอบดังกล่าวมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีการแก้ตัวหรือสอบซ่อม หากสอบพลาดก็มีความทุกข์ทรมานเป็นผลพวงจนสิ้นลม

ความตายเป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับผู้ใช้ชีวิตอย่างลืมตายหรือคิดแต่จะไปตายเอาดาบหน้า แต่จะไม่น่ากลัวเลยสำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมมาอย่างดี อันที่จริงถ้ารู้จักความตายอยู่บ้าง ก็จะรู้ว่าความตายนั้นมิใช่เป็นแค่ “วิกฤต” เท่านั้น แต่ยังเป็น “โอกาส”อีกด้วย กล่าวคือเป็นวิกฤตในทางกาย แต่เป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณ ในขณะที่ร่างกายกำลังแตกดับ ดิน น้ำ ลม ไฟ กำลังเสื่อมสลาย หากวางใจได้อย่างถูกต้อง ก็สามารถพบกับความสงบ ทุกขเวทนาทางกายมิอาจบีบคั้นบั่นทอนจิตใจได้ มีผู้คนเป็นจำนวนมากได้สัมผัสกับความสุขและรู้สึกโปร่งเบาอย่างยิ่งเมื่อป่วยหนักในระยะสุดท้าย เพราะความตายมาเตือนให้เขาปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ที่เคยแบกยึดเอาไว้ หลายคนหันเข้าหาธรรมะจนค้นพบความหมายของชีวิตและความสุขที่แท้ ขณะที่อีกหลายคนเมื่อรู้ว่าเวลาเหลือน้อยแล้วก็หันมาคืนดีกับคนรักจนไม่เหลือสิ่งค้างคาใจใด ๆ และเมื่อความตายมาถึง มีคนจำนวนไม่น้อยที่จากไปอย่างสงบ โดยมีสติรู้ตัวกระทั่งนาทีสุดท้าย ยิ่งไปกว่านั้นมีบางท่านที่เห็นแจ้งในสัจธรรมจากทุกขเวทนาอันแรงกล้าที่ปรากฏเฉพาะหน้า จนเกิดปัญญาสว่างไสว และปล่อยวางจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งปวง บรรลุธรรมขั้นสูงได้ในขณะที่หมดลมนั้นเอง

สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ความตายจึงมิใช่ศัตรู หากคือครูที่เคี่ยวเข็ญให้เราดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง คอยกระตุ้นเตือนให้เราอยู่อย่างไม่ประมาท และไม่หลงเพลิดเพลินกับสิ่งที่มิใช่สาระของชีวิต ขณะเดียวกันก็สอนแล้วสอนเล่าให้เราเห็นแจ้งในสัจธรรมของชีวิต ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ไม่มีอะไรน่ายึดถือ และไม่มีอะไรที่ยึดถือเป็นของเราได้เลยแม้แต่อย่างเดียว ยิ่งใกล้ความตายมากเท่าไร คำสอนของครูก็ยิ่งแจ่มชัดและเข้มข้นมากเท่านั้น หากเราสลัดความดื้อดึงได้ทันท่วงที นาทีสุดท้ายของเราจะเป็นนาทีที่ล้ำค่าอย่างยิ่ง เพราะสามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกนาทีนั้นว่า “นาทีทอง”


ทำไมถึงกลัวตาย

ความตายไม่ว่าจะน่ากลัวอย่างไรในสายตาของคนทั่วไป ก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย ความตายหากวัดที่การหมดลมหรือหัวใจหยุดเต้น ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ความกลัวตายนั้นสามารถหลอกหลอนคุกคามผู้คนนานนับปีหรือยิ่งกว่านั้น ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น จึงมีภาษิตว่า “คนกล้าตายครั้งเดียว แต่คนขลาดตายหลายครั้ง” ความกลัวตายยังน่ากลัวตรงที่เป็นแรงผลักดันให้เราพยายามผลักไสความตายออกไปให้ไกลที่สุด จนแม้แต่จะคิดถึง เรียนรู้ หรือทำความรู้จักกับมัน ก็ยังไม่กล้าทำ เพราะเห็นความทุกข์เป็นศัตรู ยิ่งเมื่อความตายมาอยู่ต่อหน้า แทนที่จะยอมรับ กลับปฏิเสธผลักไสสุดแรง แต่เมื่อไม่สมหวังก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งผลักไส ยิ่งผลักไสก็ยิ่งผิดหวัง ผลคือความทุกข์เพิ่มพูนเป็นทวีตรีคูณ หารู้ไม่ว่าหากยอมรับความตาย ความทุกข์ก็จะน้อยลงไปมาก บางคนที่รู้ว่าเครื่องบินกำลังตก รถกำลังพุ่งชนคันหน้า ในชั่วไม่กี่วินาทีที่เหลืออยู่ ทำใจพร้อมรับความตายโดยดุษณี ไม่คิดต่อสู้ขัดขืน ปล่อยวางทุกอย่าง กลับพบว่าจิตใจนิ่งสงบอย่างยิ่ง

คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ กล่าวคือ ความตายนอกจากจะมาพร้อมกับความเจ็บปวด และทำให้เราพลัดพรากไปตลอดกาลจากบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รักแล้ว ความตายยังหมายถึงการสิ้นสุดโอกาสที่จะได้เสพสุข ในยุคบริโภคนิยมซึ่งถือว่าการเสพสุขเป็นสุดยอดปรารถนาของชีวิต อย่าว่าแต่การหมดโอกาสที่จะได้ทำเช่นนั้นเลย แม้เพียงการไม่สามารถที่จะเสพสุขอย่างเต็มที่ จะเป็นเพราะความชรา ความเจ็บป่วย ความพิการ หรือความผันแปรของร่างกาย (เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) ก็ตาม ถือว่าเป็นทุกข์มหันต์อันยากจะทำใจได้

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้คนที่ไร้ญาติขาดมิตร ยากจนแสนเข็ญ และกำลังประสบทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าเพราะป่วยหนักในระยะสุดท้าย จำนวนมากก็ยังกลัวตาย ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นโอกาสเสพสุขแทบจะไม่มีเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังมีความหวังว่าจะหายป่วยและกลับไปเสพสุขใหม่ แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะยังมีความหวงแหนในชีวิต แม้สิ้นไร้ไม้ตอกเพียงใดก็ยังมีชีวิตเป็นสมบัติสุดท้ายที่อยากยึดเอาไว้อยู่

มองให้ลึกกว่านั้นก็คือเขายังมีความยึดติดในตัวตน แม้ไม่มีอะไรหลงเหลือในชีวิต แต่ก็ยังมีตัวตนให้ยึดถือ หากตัวตนดับสูญเสียแล้ว จะมีอะไรทุกข์ไปกว่านี้ ในอดีตอิทธิพลทางศาสนาทำให้ผู้คนเชื่อว่าแม้หมดลมแล้ว ตัวตนก็ยังไม่ดับสูญ หากยังสืบต่อในโลกหน้า หรือมีสวรรค์เป็นที่รองรับ จึงไม่หวาดกลัวความตายมากนัก ตรงข้ามกับคนสมัยนี้ ซึ่งไม่ค่อยเชื่อในโลกหน้าหรือชีวิตหน้าแล้ว ความตายจึงหมายถึงการดับสูญของตัวตนอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง แต่สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีอะไรอยู่หลังความตาย ความตายก็ยังน่ากลัวอยู่นั่นเอง เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน อะไรที่เราไม่รู้ ดำมืด ย่อมเป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่เสมอ

ความไม่คุ้นชินเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้คนกลัวความตายกันมาก ในปัจจุบันความตายถูกแยกออกไปจากชีวิตประจำวันจนแทบจะกลายเป็นสิ่งลี้ลับไป ยามเจ็บป่วยก็เข้าโรงพยาบาล และเมื่อป่วยหนักใกล้ตายก็ถูกพาเข้าห้องไอซียู ผู้คนนับวันจะตายในที่มิดชิดโดยมีคนรับรู้เพียงไม่กี่คน เมื่อตายแล้วก็ตั้งศพและทำพิธีกันในวัด ซึ่งไกลหูไกลตาของผู้คนโดยเฉพาะในเมือง ผิดกับในอดีตผู้คนเมื่อเจ็บป่วยก็รักษาพยาบาลกันที่บ้าน เมื่อใกล้ตายก็มีเพื่อนบ้านมาดูใจกัน ความตายเป็นเหตุการณ์สาธารณะที่คนทั้งชุมชนรับรู้ร่วมกัน ครั้นตายแล้วก็ตั้งศพที่บ้าน คนทั้งชุมชนมาช่วยงานกันขวักไขว่ ต่อเมื่อจะปลงศพ จึงหามไปเผาในวัดหรือป่าช้า มีคนทั้งชุมชนมาร่วมงานโดยพร้อมเพรียง ก่อนเผายังมักมีการเปิดฝาโลงให้ผู้คนได้ดูและล้างหน้าศพเป็นครั้งสุดท้าย สำหรับผู้คนที่เติบโตมาในวัฒนธรรมดังกล่าว ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่รับรู้รับเห็นเป็นอาจิณตั้งแต่เกิดจนโต จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัวมากนัก ตรงข้ามกับวัฒนธรรมปัจจุบันซึ่งเห็นความตายเป็นปฏิปักษ์กับชีวิต จึงพยายามปกปิดไม่ให้ผู้คนรู้เห็นมากนัก ยกเว้นความตายของคนที่ไกลตัวมาก ๆ หากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ก็อาจถูกแปรสภาพเป็น “สินค้า” เพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน ดังที่มักปรากฏตามสื่อต่าง ๆ แต่สิ่งที่เห็นก็ยังเป็นแค่ภาพมากกว่าที่จะเป็นเหตุการณ์ที่ตนได้ร่วมรับรู้รับเห็นจริง ๆ


ทำใจให้คุ้นชินกับความตาย

ไม่ว่าจะหลีกหนีให้ไกลเพียงใด เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น ในเมื่อจะต้องเจอกับความตายอย่างแน่นอน แทนที่จะวิ่งหนีความตายอย่างไร้ผล จะไม่ดีกว่าหรือหากเราหันมาเตรียมใจรับมือกับความตาย ในเรื่องนี้ มองแตญ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวแนะนำว่า “เราไม่รู้ว่าความตายคอยเราอยู่ ณ ที่ใด ดังนั้นขอให้เราคอยความตายทุกหนแห่ง”

สิ่งลี้ลับแปลกหน้านั้นย่อมน่ากลัวสำหรับเราเสมอ แต่เมื่อใดที่เราคุ้นชินกับมัน มันก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ความตายก็เช่นกัน การเตรียมใจรับมือกับความตายที่ดีที่สุดคือ การทำใจให้คุ้นชินกับมันเป็นเบื้องแรก เพื่อมิให้มันเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเราอีกต่อไป เราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ด้วยการระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอ นั่นคือเจริญ “มรณสติ” อยู่เป็นประจำ

การเจริญมรณสติคือการระลึกหรือเตือนตนว่า ๑) เราต้องตายอย่างแน่นอน ๒) ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ อาจเป็นปีหน้า เดือนหน้า พรุ่งนี้ คืนนี้ หรืออีกไม่กี่นาทีข้างหน้าก็ได้ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า ๓) เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง ๔)หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้

ข้อ ๑) และ ๒) คือความจริงหรือเป็นกฎธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธหรือขัดขืนต้านทานได้ ส่วนข้อ ๓) และ ๔) คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการได้ เป็นการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราโดยตรง

การระลึกหรือเตือนใจเพียง ๒ ข้อแรกว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน และจะตายเมื่อไรก็ได้ หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราตื่นตระหนกน้อยลงเมื่อความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า เพราะเตรียมใจไว้แล้ว แต่ทันทีที่เราตระหนักว่าความตายจะทำให้เราพลัดพรากจากทุกสิ่งที่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง ในชั่วขณะนั้นเองหากเราระลึกขึ้นมาได้ว่ามีบางสิ่งบางคนที่เรายังห่วงอยู่ มีงานบางอย่างที่เรายังทำไม่แล้วเสร็จ หรือมีเรื่องค้างคาใจที่ยังไม่ได้สะสาง ย่อมเป็นการยากที่เราจะก้าวเข้าหาความตายได้โดยไม่สะทกสะท้าน ยิ่งความตายมาพร้อมกับทุกขเวทนาอันแรงกล้า หากไม่ได้ฝึกใจไว้เลยในเรื่องนี้ ก็จะทุรนทุรายกระสับกระส่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไหนจะถูกทุกขเวทนาทางกายรุมเร้า ไหนจะห่วงหาอาลัยหรือคับข้องใจสุดประมาณ ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องทุกข์ทรมานอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ลำพังการระลึกถึงความตายว่าจะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว จึงยังไม่เพียงพอ ควรที่เราจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า เราพร้อมจะตายมากน้อยแค่ไหน และควรจะทำอย่างไรกับเวลาและชีวิตที่ยังเหลืออยู่ การพิจารณา ๒ ประเด็นหลังนี้จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต เร่งทำสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่ผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็เห็นความสำคัญของการฝึกใจให้ปล่อยวางบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่ยังยึดติดอยู่ กล่าวโดยสรุปคือ ควรพิจารณาทั้ง ๔ ข้อไปพร้อมกัน

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้ตรัสแนะนำให้ภิกษุเจริญมรณสติเป็นประจำ อาทิ ให้ระลึกเสมอว่า เหตุแห่งความตายนั้นมีมากมาย เช่น งูกัด แมลงป่องต่อย ตะขาบกัด หาไม่ก็อาจพลาดพลั้งหกล้ม อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เสมหะกำเริบ ลมเป็นพิษ ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์ทำร้าย จึงสามารถตายได้ทุกเวลา ไม่กลางวันก็กลางคืน ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่า บาปหรืออกุศลธรรมที่ตนยังละไม่ได้ ยังมีอยู่หรือไม่ หากยังมีอยู่ ควรพากเพียร ไม่ท้อถอย เพื่อละบาปและอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย หากละได้แล้ว ก็ควรมีปีติปราโมทย์ พร้อมกับหมั่นเจริญกุศลธรรมทั้งหลายให้เพิ่มพูนมากขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน

แม้กระทั่งเมื่อพระองค์ใกล้จะปรินิพพาน โอวาทครั้งสุดท้ายของพระองค์ก็ยังเน้นย้ำถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ดังตรัสว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

ความไม่ประมาท ขวนขวายพากเพียร ไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงเน้นมากเมื่อมีการเจริญมรณสติหรือเมื่อตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต อย่างไรก็ตามเมื่อความตายมาประชิดตัว พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ดังทรงแนะนำอุบาสกที่จะช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย ว่าพึงน้อมใจเขาให้ละความหวงใยในมารดาและบิดา ในบุตรและภรรยา(สามี) จากนั้นให้ละความห่วงใยในกามคุณ ๕ (หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินทางกาย) ละความห่วงใยแม้กระทั่งสวรรค์ทั้งปวง ตลอดจนพรหมโลก น้อมใจสู่ความดับซึ่งความยึดติดทั้งปวง เพื่อบรรลุถึงความวิมุติหลุดพ้นในที่สุด

มรณสติแบบต่าง ๆ

การเจริญมรณสติทำได้หลายวิธี เพียงแค่นึกถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ว่าเราจะต้องตายไม่ช้าก็เร็ว จึงควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เท่านี้ก็ถือว่าเป็นมรณสติอย่างหนึ่ง แต่สำหรับคนทั่วไป การระลึกเพียงเท่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวได้ไม่มากพอ เพราะเป็นเพียงแค่การคิดอย่างย่นย่อ อีกทั้งเป็นการรับรู้ในระดับสมอง แต่ยังไม่ได้ส่งผลไปถึงอารมณ์ความรู้สึกมากนัก อาจทำให้เกิดความตื่นตัวอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่นานก็เลือนหายไป ผลก็คือชีวิตหวนกลับไปสู่แบบแผนเดิม ๆ หลงวนอยู่กับงานเฉพาะหน้าหรือเพลินกับความสนุกสนาน จนลืมทำสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตไปเสีย

อันที่จริงในชีวิตประจำวันเรามักจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับความตายของใครต่อใครอยู่เสมอ เพียงแค่ได้ยินข่าวนั้นแล้วโยงมาถึงตัวเองว่า ไม่นานเราก็จะต้องตายเช่นเดียวกับเขา เท่านี้ก็สามารถกระตุ้นเตือนให้เกิดความไม่ประมาทในชีวิต และผลักดันให้ขวนขวายเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อรับมือกับความตายในวันข้างหน้า แต่คนที่จะตื่นตัวเพราะได้ยินข่าวเพียงเท่านี้ นับว่ามีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วมักรอให้ความตายเข้ามาใกล้ตัวก่อนจึงจะตื่นตัว เช่น เห็นคนตายต่อหน้าต่อตา หรือรอให้ญาติหรือคนใกล้ชิดตายเสียก่อนถึงตื่นตัว หนักกว่านั้นคือตนเองต้องป่วยหนักหรือใกล้ตายเสียก่อนจึงค่อยตื่นตัว พระพุทธเจ้าจึงเปรียบคน ๔ กลุ่มข้างต้นดังม้า ๔ ประเภท ประเภทแรกเพียงแค่เห็นเงาปฏัก ก็รู้ว่าสารถีต้องการให้ทำอะไร ประเภทที่ ๒ ต้องถูกปฏักแทงที่ขุมขนก่อนถึงรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ประเภทที่ ๓ จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถูกปฏักแทงที่ผิวหนัง ประเภทสุดท้ายต้องถูกปฏักแทงถึงกระดูกจึงค่อยรู้ตัวว่าจะต้องทำอะไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนส่วนใหญ่นั้น แค่รู้หรือเห็นความจริงยังไม่พียงพอ ต้องรู้สึกเจ็บปวดเสียก่อนจึงจะกระตือรือร้นเตรียมรับมือกับความตาย

ด้วยเหตุนี้ สำหรับคนทั่วไปการเจริญมรณสติที่จะช่วยให้เกิดความไม่ประมาทได้เป็นอย่างดีก็คือ การพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากความตายเกิดขึ้น โดยมองให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าจะต้องสูญเสียอะไรและพลัดพรากจากใครบ้าง ผู้ที่ไม่พร้อมย่อมรู้สึกเจ็บปวดกับความสูญเสียพลัดพรากดังกล่าว แม้จะเป็นความทุกข์แต่ก็ช่วยให้เฉลียวใจได้คิดว่าในขณะที่ยังมีเวลาเหลืออยู่เราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อป้องกันมิให้ความทุกข์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อถึงวันที่จะต้องพลัดพรากจริง ๆ

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการเจริญมรณสติ

๑.ฝึกตายหรือเจริญมรณสติก่อนนอน

ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเจริญสติสำหรับคนทั่วไป เนื่องจากได้ทำภารกิจประจำวันเสร็จสิ้น บรรยากาศรอบตัวมีความสงบมากขึ้น ร่างกายและจิตใจเข้าสู่ช่วงแห่งการพักผ่อน เป็นโอกาสดีสำหรับการน้อมจิตพิจารณาถึงความเป็นไปของชีวิตซึ่งมีความตายเป็นเบื้องหน้า วิธีที่ดีที่สุดคือการน้อมจิตอย่างจริงจังประหนึ่งว่าความตายกำลังเกิดขึ้นกับเรา นั่นคือ “ฝึกตาย”

ท่าที่เหมาะแก่การเจริญมรณสติคือนอนราบกับพื้น แขนแนบกับลำตัว ผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ไม่มีอาการหน้านิ่วคิ้วขมวด ทิ้งน้ำหนักทั้งตัวลงไปกับพื้น ไม่มีส่วนใดที่เกร็งหรือเหนี่ยวรั้งไว้ หายใจอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมกับน้อมใจมาไว้ที่ปลายจมูก รู้ถึงสัมผัสบางเบาของลมหายใจทั้งเข้าและออก ปล่อยวางความนึกคิดต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่องราวในอดีตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เมื่อจิตใจเริ่มสงบลงแล้ว ให้พิจารณาว่าเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ความตาย ความตายจะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน ไม่มีวันที่เราจะรู้ล่วงหน้าได้ อาจเป็นหลายปีข้างหน้า หรือเป็นปีหน้า เดือนหน้า หรือแม้แต่อาทิตย์หน้า จากนั้นให้พิจารณาต่อไปว่าความตายอาจเกิดขึ้นกับเราในคืนนี้ก็ได้ คืนนี้คือคืนสุดท้ายของเรา จะไม่มีพรุ่งนี้สำหรับเราอีกต่อไป นี้คือการนอนครั้งสุดท้ายของเรา

พิจารณาต่อไปว่าเมื่อความตายมาถึง ลมหายใจก็จะสิ้นสุด ไม่มีทั้งลมหายใจเข้าและออก หัวใจจะหยุดเต้น ท้องที่พองยุบจะแน่นิ่ง ร่างกายที่เคยเคลื่อนไหวจะขยับเขยื้อนไม่ได้อีกต่อไป ที่เคยอุ่นก็จะเริ่มเย็น ที่เคยยืดหยุ่นก็จะแข็งตึง ไม่ต่างจากท่อนไม้ ไร้ประโยชน์

จากนั้นพิจารณาต่อไปว่าเมื่อความตายมาถึง ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่เราเฝ้าหาและถนอมรักษา จะมิใช่ของเราอีกต่อไป กลายเป็นของคนอื่นจนหมดสิ้น ไม่สามารถอุทธรณ์คัดค้าน และ ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้อีกต่อไป แม้แต่ของรักของหวงก็อาจถูกปล่อยปละไร้คนดูแล

ยิ่งไปกว่านั้น เราจะไม่มีโอกาสพบปะพูดคุยกับลูกหลานหรือคนรักอีกต่อไป กิจวัตรประจำวันที่เคยทำร่วมกับเขาจะกลายเป็นอดีต ต่อไปนี้จะไม่สามารถเยี่ยมเยือนพ่อแม่หรือตอบแทนบุญคุณท่านได้อีกแล้ว แม้แต่จะสั่งเสียหรือล่ำลาก็มิอาจทำได้เลย หากผิดใจกับใคร ก็ไม่สามารถคืนดีกับเขาได้ ขุ่นข้องหมองใจใคร ก็ไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้อีกแล้ว

งานการก็เช่นกัน เราต้องทิ้งทุกอย่าง หากยังไม่เสร็จสิ้นก็ต้องทิ้งไว้แค่นั้น ไม่สามารถสะสางหรือแก้ไขได้อีกต่อไป ถึงแม้จะสำคัญเพียงใดก็ตาม ก็อาจถูกปล่อยทิ้งไร้คนสนใจไยดี เช่นเดียวกับความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่สั่งสมมา จะเลือนหายไปพร้อมกับเรา

ชื่อเสียงเกียรติยศ อำนาจ และบริษัทบริวารทั้งหลาย จะหลุดจากมือเราไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะมากมายยิ่งใหญ่เพียงใดก็เอาไปไม่ได้ ที่สำคัญก็คือ อย่าหวังว่าผู้คนจะยังแซ่ซร้องสรรเสริญเราหลังจากสิ้นลม เพราะแม้แต่ชื่อของเราสักวันหนึ่งก็ต้องถูกลืม ไร้คนจดจำ

ระหว่างที่พิจารณาไปทีละขั้น ๆ ให้สังเกตความรู้สึกของเราว่าเป็นอย่างไร มีความตระหนก เศร้าโศกเสียใจ ห่วงหาอาลัยหรือไม่ เราพร้อมทำใจกับการพลัดพรากสูญเสียสิ่งเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด ถ้าหากยังไม่พร้อม อะไรทำให้เราไม่พร้อม และทำอย่างไรเราจึงจะพร้อม

การพิจารณาดังกล่าวจะช่วยให้เราตระหนักว่า ยังมีบางสิ่งหรือหลายสิ่งที่เราสมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำหรือทำไม่มากพอ ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกมากมายหลายอย่างที่เรายังตัดใจไม่ได้ ความตระหนักดังกล่าวจะช่วยให้เราเกิดความขวนขวายที่จะทำสิ่งสำคัญที่ละเลยไป พร้อมกับเรียนรู้ที่จะฝึกใจปล่อยวางด้วย

ที่กล่าวมาเป็นการฝึกตายอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็สามารถยักเยื้องไปได้อีกหลายรูปแบบ เช่น


ก.ทบทวนความดีที่ได้ทำ

เมื่อน้อมใจจินตนาการว่าคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของเรา ขณะที่ร่างกายกำลังจะหมดลม หัวใจกำลังจะหยุดเต้น ร่างกายกำลังจะเย็นแข็งและแน่นิ่งดังท่อนไม้ ให้พิจารณาว่าเราได้ทำความดีหรือดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าสมกับที่เกิดมาแล้วหรือยัง มีความรู้สึกเสียใจกับชีวิตที่ผ่านมาหรือไม่ อะไรบ้างที่เรารู้สึกว่ายังทำได้ไม่มากพอ และอะไรบ้างที่เราอยากปรับปรุงแก้ไขหากยังมีเวลาเหลืออยู่

การพิจารณาในแง่นี้แม้ดูจะเป็นนามธรรมอยู่บ้าง แต่หากเราหันมาดูความรู้สึกของตนเองขณะที่คิดว่ากำลังจะตายไปจริง ๆ ก็จะรู้ว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์หรือยัง หรือมีสิ่งใดที่ยังค้างคาใจที่ทำให้เราไม่พร้อมจะจากโลกนี้ไปในคืนนี้ การระลึกได้เช่นนี้จะทำให้เราตระหนักว่ามีอะไรบ้างที่เราจะต้องลงมือทำเสียที หรือต้องทำให้มากกว่าเดิม


ข. นึกถึงงานศพของตัวเอง

จินตนาการว่าคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของเรา จากนั้นให้นึกต่อไปว่าเมื่อหมดลม ร่างกายของเราถูกนำไปดำเนินการตามประเพณี บัดนี้ร่างของเราถูกบรรจุอยู่ในหีบตั้งโดดเด่น ผู้คนมากหน้าหลายตาเดินทางมาร่วมพิธีศพเพื่ออำลาเราเป็นครั้งสุดท้าย มีทั้งลูกหลาน ญาติมิตร เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมรุ่น คนเหล่านี้ต่างพูดถึงเราในวงสนทนาบ้าง พูดต่อหน้าผู้คนที่มาร่วมพิธีศพบ้าง ทีนี้ให้ถามตัวเองว่า อยากให้ผู้คนเหล่านี้พูดหรือเขียนถึงเราว่าอย่างไร อยากให้เขาจดจำเราในลักษณะใด อยากให้เขาประทับใจในเรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวกับตัวเรา จากนั้นให้ถามต่อไปว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่เราได้ทำอะไรบ้างที่ชวนให้เขารำลึกถึงเราในแง่นั้น มีความดีอะไรบ้างที่เราได้ทำอันควรแก่การชื่นชมสรรเสริญ

การพิจารณาในแง่นี้จะช่วยเตือนใจให้ใคร่ครวญว่า ที่ผ่านมาเราได้ทำความดีมากน้อยเพียงใด มีความดีอะไรบ้างที่เรายังทำไม่มากพอ และควรทำให้มากกว่านั้น มีหลายครั้งที่เราปล่อยชีวิตไปตามความพึงพอใจส่วนตัว โดยไม่สนใจผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น เราอยากได้ชื่อว่าเป็นคนเสียสละ เอื้อเฟื้อ มีเมตตา เป็นพ่อหรือแม่ที่ดี แต่เรากลับดำเนินชีวิตไปทางตรงกันข้าม เพราะมัวแต่แสวงหาเงินทองและชื่อเสียง มรณสติในลักษณะดังกล่าวจะช่วยเตือนสติเราให้หันกลับมาดำเนินชีวิตในทิศทางที่พึงปรารถนา


ค.พิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกาย

เมื่อน้อมใจจินตนาการว่าคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของเรา ให้พิจารณาว่าเมื่อความตายมาถึงแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเรา เห็นภาพร่างกายของเราที่แปรเปลี่ยนไปหลังจากหมดลมแล้ว ที่เคยอ่อนอุ่นก็กลับแข็งเย็น ที่เคยเดินเหินเคลื่อนขยับได้ ก็กลับแน่นิ่ง ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องรอให้คนอื่นมายกย้ายสถานเดียว แม้เปรอะเปื้อนเพียงใดก็ทำอะไรกับตัวเองไม่ได้ ต้องรอให้คนอื่นมาทำความสะอาดให้ แต่ถึงจะทำให้เพียงใด ไม่ช้าไม่นานก็เริ่มสกปรกเพราะน้ำเหลืองน้ำหนองที่ไหลออกมาตามตัว ร่างกายที่เคยสวยงามก็เริ่มขึ้นอืด ผิวพรรณที่เคยขาวนวลก็กลายเป็นเขียวช้ำ ที่เคยประทินด้วยกลิ่นหอมก็กลับเน่าเหม็น ทุกอย่างแปรผันจนแม้แต่ตัวเองก็จำไม่ได้ คนที่เคยรักและชื่นชมเรา บัดนี้กลับรังเกียจและกลัวร่างกายของเรา แต่จะว่าเขาไม่ได้เลย เพราะแม้แต่เราเองหากมาเห็นก็ยังขยะแขยงร่างกายของตัวเองด้วยซ้ำ

การพิจารณาความตายด้วยวิธีนี้ มุ่งหมายให้เราคลายความยึดติดในร่างกาย มิใช่เพราะมีความน่าเกลียดแฝงอยู่ภายใต้ความสวยงามเท่านั้น หากยังเป็นเพราะร่างกายหาใช่ของเราไม่ ไม่ว่าเราจะพยายามควบคุมปรุงแต่งอย่างไร มันก็ไม่อาจเป็นไปดังใจได้ ในที่สุดก็จะแสดงความจริงที่ไม่น่ายินดีออกมา

การตระหนักถึงความจริงข้อนี้ นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์เมื่อร่างกายเกิดผันแปร เช่น เจ็บป่วย แก่ชรา พิการ หรืออัมพฤกษ์แล้ว ยังช่วยเตือนใจไม่ให้เราหมกมุ่นลุ่มหลงกับร่างกายมากเกินไป จนลืมที่จะทำสิ่งที่มีความสำคัญกว่า โดยเฉพาะสิ่งที่ก่อให้ความเจริญงอกงามแก่จิตใจ ในยุคที่ผู้คนกำลังหมกมุ่นกับการปรุงแต่งร่างกาย เพลิดเพลินหลงใหลไปกับความงามชั่วครู่ชั่วยามของร่างกาย จนไม่สนใจสาระของชีวิต จำเป็นที่จะต้องตระหนักว่าร่างกายนี้ในที่สุดก็ต้องเป็นซากศพที่ไร้ประโยชน์


ง. ฝึกปล่อยวางยามใกล้ตาย

การพิจารณาถึงความสูญเสียพลัดพรากนานาประการที่จะเกิดขึ้นหลังความตาย ไม่ว่า ทรัพย์สิน บุคคล งานการ ชื่อเสียงเกียรติยศ ตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจนำมาใช้เพื่อฝึกการปล่อยวางโดยเฉพาะ กล่าวคือพิจารณาว่าหากจะต้องตายจริง ๆ ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ไม่มีเวลาเหลือพอที่จะทำอะไรกับสิ่งเหล่านั้น นอกจากทำใจปล่อยวางอย่างเดียว เราสามารถจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ บางคนอาจพบว่าตนสามารถปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ได้หมด แต่ยังอาลัยลูกหลาน หรือเป็นห่วงพ่อแม่ ส่วนบางคนเป็นห่วงก็แต่งานการเท่านั้น อย่างไรก็ตามการฝึกเช่นนี้บ่อย ๆ จะช่วยให้ตัดใจได้เร็วขึ้น เพราะตระหนักว่าหากความตายมาประชิดตัวจริง ๆ ไม่ว่าจะอาลัยใคร หรือห่วงใยอะไรก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่จะเป็นโทษ คือทำให้เป็นทุกข์สถานเดียว ในภาวะเช่นนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือปล่อยวางอย่างสิ้นเชิง วิธีนี้จะเป็นประโยชน์มากในกรณีที่เกิดเหตุปัจจุบันทันด่วนซึ่งบั่นรอนชีวิตอย่างกะทันหัน การฝึกวิธีนี้อยู่เสมอจะช่วยให้สามารถปล่อยวางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญมาก ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า


วิธีการทั้ง ๔ ประการข้างต้น พึงสังเกตว่ามีจุดเน้นหนักต่างกัน กล่าวคือ ๒ วิธีการแรก (ก.และ ข.) เน้นการเตือนใจให้ขวนขวายทำความดี เร่งทำหน้าที่และความรับผิดชอบ ไม่ผัดผ่อนปล่อยให้คั่งค้าง หรือปล่อยให้เวลาสูญเปล่าโดยเปล่าประโยชน์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเตือนใจไม่ให้ประมาท ส่วน ๒ วิธีหลัง ( ค.และง.) เน้นการปล่อยวาง ไม่ยึดติดให้เป็นภาระแก่จิตใจ หรือเหนี่ยวรั้งขัดขวางการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หากต้องการให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๒ ส่วน คือเตือนใจไม่ให้ประมาท และฝึกการปล่อยวาง ควรใช้วิธีฝึกตายเต็มรูปแบบดังได้ยกตัวอย่างข้างต้น


๒ เจริญมรณสติในโอกาสต่าง ๆ

การเจริญมรณสติสามารถทำได้ในหลายโอกาส ไม่จำกัดเฉพาะเวลาก่อนนอน อาจจะทำหลังจากตื่นนอนแล้วก็ได้ โดยพิจารณาว่าวันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายของเรา เราพร้อมที่จะไปแล้วหรือยัง นอกจากนั้นอาจใช้โอกาสต่าง ๆ เป็นเครื่องเตือนใจถึงความตายว่าพร้อมจะเกิดกับเราได้ทุกเวลา จึงควรที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ข้างล่างเป็นตัวอย่างการเจริญมรณสติในช่วงเวลาต่าง ๆ


ก.ก่อนเดินทาง

ก่อนเดินทางไม่ว่า ขึ้นรถ ลงเรือ นั่งเครื่องบิน พึงระลึกอยู่เสมอว่าความตายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงควรเตรียมใจไว้เสมอ ลองนึกว่าหากเหตุร้ายกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า เราจะทำใจอย่างไร นึกถึงอะไรก่อน และพร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่งที่เคยผูกพันหรือไม่ จะน้อมระลึกถึงอะไรเพื่อทำใจให้สงบและพร้อมรับกับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ตื่นตระหนก

เมื่อจะเดินทางออกจากบ้าน ก็ควรระลึกถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ลองสมมติว่าหากนี่เป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา เมื่อออกไปแล้วจะไม่มีวันได้กลับมาพบหน้าพ่อแม่ คนรักหรือลูกหลานอีก เราพร้อมหรือไม่ มีเรื่องค้างคาบ้างไหมที่จะทำให้เรานึกเสียใจที่ไม่ได้สะสางให้เสร็จก่อนออกเดินทาง มีความขัดแย้งใด ๆ บ้างไหมที่จะทำให้เราเสียใจที่ไม่ได้คืนดีกันก่อน การระลึกเช่นนี้จะช่วยให้เราหันมาปฏิบัติกับผู้คนในครอบครัวด้วยความใส่ใจก่อนที่จะออกเดินทาง ไม่ปล่อยให้มีเรื่องคาใจกันด้วยหวังว่าจะมีโอกาสปรับความเข้าใจในวันข้างหน้า เพราะวันนั้นอาจมาไม่ถึงก็ได้ ในทำนองเดียวกันก่อนจะเดินทางออกจากที่ทำงาน ก็ควรเจริญมรณสติ เพื่อเตือนใจว่าเราอาจไม่มีโอกาสได้พบหน้ามิตรสหายอีก จึงควรปฏิบัติต่อเขาอย่างดีที่สุดก่อนที่จะลาจากกัน


ข.เมื่อรับรู้ข่าวสาร

ช่วงเวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าว เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เหมาะแก่การเจริญมรณสติ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวอุบัติเหตุหรือวินาศภัย แทนที่จะรับรู้แบบผ่าน ๆ หรือเห็นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ควรใช้ข่าวดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจตนเองว่า ชีวิตนี้ไม่เที่ยงอย่างยิ่ง จู่ ๆ ก็มาตายไปอย่างกะทันหัน ไม่มีสัญญาณล่วงหน้าเลย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เวลาใดก็ตายได้ทั้งนั้น จะให้ดีกว่านั้นลองโยงเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ามาหาตัวเอง โดยน้อมนึกไปกว่าสักวันหนึ่งเราก็อาจต้องประสบกับเหตุการณ์อย่างนั้นเช่นกัน คำถามก็คือเมื่อถึงตอนนั้น เราจะทำใจอย่างไร พร้อมจะตายหรือไม่ ทุกวันนี้เราได้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ หากไม่ได้ทำ จากนี้ไปเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยไม่ตื่นตระหนกหรือทุรนทุราย

ช่วงที่ใจสงบ ลองสมมติว่าเราได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้น นึกให้เห็นเป็นภาพอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเรา นึกถึงสถานการณ์ที่คับขันไร้ทางออก ราวกับว่าอันตรายกำลังเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ จากนั้นให้มาสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ว่าเกิดความตื่นกลัว อึดอัด หวาดผวา ทุรนทุราย มากน้อยเพียงใด หากอารมณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างท่วมท้น ก็ให้พิจารณาว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว ถามตัวเองว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อน้อมใจให้สงบ อะไรจะช่วยให้เราปล่อยวางหรือรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุด นี้เป็นอีกวิธีหนึ่งในการฝึกตายในสถานการณ์ที่คับขัน การทำเช่นนี้บ่อย ๆ จะช่วยให้เรามีสติรู้ตัวไวขึ้น และรับมือกับอารมณ์ของตัวได้ดีขึ้น การจินตนาการถึงตัวเองในเหตุการณ์ดังกล่าว ยังช่วยให้เรารู้ว่าควรทำและไม่ควรทำอะไรเพื่อประคองตนให้ผ่านพ้นเหตุการณ์คับขันไปได้หากเกิดขึ้นจริง ๆ กับเรา


ค.เมื่อไปงานศพ

งานศพไม่ควรเป็นแค่งานสังคมเท่านั้น แต่ควรเป็นงานบุญในทุกความหมาย กล่าวคือนอกจากทำบุญอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และให้กำลังใจแก่ครอบครัวของผู้วายชนม์แล้ว ยังควรเป็นโอกาสให้เรามาเตือนสติตนเองเพื่อระลึกถึงสัจธรรมอันเที่ยงแท้แน่นอนว่าความตายคือปลายทางของทุกคน ครั้งหนึ่งผู้ตายก็เคยมีชีวิตเดินเหินเคลื่อนไหวได้เหมือนอย่างเรา แต่ต่อไปเราก็จะต้องทอดร่างแน่นิ่งเช่นเดียวกับเขา ไม่มีอะไรที่จะเอาไปได้สักอย่างเดียว มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่จะติดตัวไปยังปรโลก

ศพที่อยู่เบื้องหน้าเราคือครูสอนธรรมที่ดีที่สุด สามารถปลุกให้เราตื่นจากความหลงและความประมาทในชีวิต ใครที่ยังมัวเมาในความสนุกหรือหมกมุ่นกับการทำมาหากิน ก็อาจได้คิดว่าตนกำลังมีชีวิตอยู่อย่างลืมตาย ใครที่คิดว่าตนเองยังมีเวลาอยู่ในโลกอีกหลายสิบปี อาจต้องทบทวนความคิดเสียใหม่เมื่อมางานศพของเด็กหรือวัยรุ่น ใครที่หลงในอำนาจ ก็อาจได้คิดว่าไม่ว่าใหญ่โตแค่ไหนสุดท้ายก็ยังเล็กกว่าโลง

เมื่อเปิดใจรับรู้สัจธรรมที่ประกาศอยู่เบื้องหน้า เราก็จะพบคำตอบเองว่าพร้อมจะไปหรือยัง และควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร


ง.เมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่กำลังล้มหมอนนอนเสื่อ ครั้งหนึ่งก็เคยมีสุขภาพดีเช่นเดียวกับเรา เมื่อไปเยี่ยมเขา จึงควรระลึกว่าสักวันหนึ่งร่างกายของเราก็ต้องเสื่อมทรุดไม่ต่างจากเขา แม้จะมีโอกาสรักษาหาย แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะความเจ็บป่วยจะมาเป็นระลอก ๆ และมีแต่จะรุนแรงขึ้น สุดท้ายก็ตามมาด้วยความตาย ดังนั้นเมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยจึงควรถือเป็นโอกาสเตือนใจตนเองด้วยว่า สังขารนั้นไม่เที่ยง และที่สุดของความไม่เที่ยงก็คือความตายนั่นเอง

พึงถือว่าผู้ป่วยเป็นครูสอนธรรมแก่เรา โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ว่าเขาจะมีปฏิกิริยาต่อความเจ็บป่วยอย่างไร ก็เป็นประโยชน์แก่เราทั้งสิ้น หากเขาทุรนทุราย กระสับกระส่าย เขาก็กำลังสอนเราว่าควรเตรียมตัวอย่างไรจึงจะไม่ทุกข์ทรมานเหมือนเขา หากเขาสงบและมีสติรู้ตัวแม้ทุกขเวทนาจะแรงกล้า เขาก็กำลังเป็นแบบอย่างให้แก่เราว่าควรวางใจอย่างไร และอาจบอกเราต่อไปด้วยว่าควรเตรียมตัวอย่างไรในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่

การรักษาใจให้สงบในยามเจ็บป่วย เป็นเรื่องเดียวกับการรักษาใจให้สงบเมื่อเผชิญกับความตาย ดังนั้นเมื่อเราล้มป่วย แทนที่จะมัวทุกข์ใจ ควรถือว่าความเจ็บป่วยเป็นแบบฝึกหัดอย่างดีสำหรับการฝึกใจรับมือกับความตาย อย่างน้อยก็ควรมองว่าความเจ็บป่วยเป็นบททดสอบขั้นแรก ๆ ก่อนที่จะต้องเจอกับบทสุดท้ายที่ยากที่สุดคือความตาย หากเรายังทำใจรับมือกับความเจ็บป่วยไม่ได้แล้วจะไปรับมือกับความตายได้อย่างไร


จ. เมื่อสูญเสียทรัพย์

เมื่อเงินหาย ทรัพย์สินถูกขโมย เราย่อมเป็นทุกข์ แต่มองในอีกแง่มุมหนึ่ง นี่คือแบบฝึกหัดที่ช่วยให้เรารู้จักปล่อยวางเพื่อรับมือกับความตาย ใช่หรือไม่ว่าความตายคือสุดยอดแห่งความพลัดพรากสูญเสีย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีหรือเป็นไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรมจะสูญสิ้นไปหมดเมื่อสิ้นลม แต่เราจะเผชิญความตายอย่างสงบได้อย่างไรในเมื่อแม้แต่เงินพันเงินหมื่นหายไปเรายังทำใจไม่ได้ แม้วันนี้จะสูญไปเป็นล้าน แต่เมื่อความตายมาถึงเราจะสูญยิ่งกว่านั้นหลายร้อยเท่า

เมื่อใดก็ตามที่ทรัพย์สมบัติสูญหายไป พึงระลึกว่าความพลัดพรากสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดา ที่สำคัญก็คือเราจะไม่สูญเสียเพียงเท่านี้ แต่จะสูญเสียยิ่งกว่านี้ และในที่สุดก็จะสูญเสียจนหมดสิ้น กระทั่งชีวิตก็ยังรักษาไว้ไม่ได้ เมื่อระลึกเช่นนี้แล้ว แทนที่จะยังหวงแหนติดยึดมัน เราควรตัดใจปล่อยวาง เพราะหากวันนี้ยังทุกข์กับมัน วันหน้าจะทุกข์ยิ่งกว่านี้มากมายหลายเท่า


๓.มีอุบายเตือนใจถึงความตาย

มรณสติสามารถเกิดขึ้นได้โดยอาศัยสิ่งเตือนใจที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน นอกจากโอกาสหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประสบแก่ตัวเองดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังสามารถหาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นเครื่องเตือนใจตนเองเป็นอาจิณ สุดแท้แต่เงื่อนไขหรือมุมมองของแต่ละคน เป็น “กุศโลบาย” ที่เหมาะเฉพาะตัว

อาจารย์กรรมฐานชาวธิเบตบางท่าน เมื่อจะเข้านอน ท่านจะเทน้ำออกจากแก้วจนหมดแล้วคว่ำแก้วไว้ข้างเตียง ทั้งนี้เพราะท่านไม่แน่ใจว่าจะตื่นขึ้นแล้วได้ใช้มันในวันรุ่งขึ้นหรือไม่ กิจวัตรดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจท่านว่าความตายจะมาถึงท่านเมื่อไรก็ได้

นักเขียนไทยผู้หนึ่งอ่านพบเรื่องดังกล่าว จึงนำมาประยุกต์ใช้กับตนเอง ทุกคืนก่อนนอนเธอจะต้องล้างจานชามให้เสร็จหมด เพื่อให้แน่ใจว่าหากหลับไม่ตื่น จะไม่มีจานชามสกปรกตกเป็นภาระให้ผู้อื่นต้องสะสาง จานชามที่ยังไม่ได้ล้างจึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจว่าคืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายของเธอ

บางคนเตือนใจตนเองโดยใช้ลูกหิน ลูกหินแต่ละลูกหมายถึงเวลา ๑ สัปดาห์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาคาดการณ์ว่าน่าจะมีชีวิตอยู่อีกได้นานเท่าไร โดยคำนวณจากอายุคาดเฉลี่ย (๗๕ ปี) จากนั้นก็แตกออกมาเป็นสัปดาห์ เขาอายุได้ ๕๕ ปีแล้ว จึงคาดว่าน่ามีชีวิตเหลืออยู่อีก ๑,๐๐๐ สัปดาห์ จึงซื้อลูกหินมา ๑,๐๐๐ ลูก ใส่ไว้ในถังพลาสติกใส ทุกสัปดาห์เขาจะเก็บลูกหินออกมา ๑ ลูกแล้วทิ้งไป เวลาผ่านไปจำนวนลูกหินก็ลดลง ทำให้เขาเห็นชัดว่าเวลาของเขาเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ วิธีนี้เตือนใจให้เขาระลึกถึงความตายว่ากำลังใกล้เข้ามา และทำให้เขาเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเป็นอันดับแรก ไม่หลงเพลินกับสิ่งที่ไร้สาระ

แต่ละคนมีวิธีการเตือนใจตนเองไม่เหมือนกัน อันที่จริงรอบตัวเรามีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่สามารถเป็นอุปกรณ์ในทางมรณสติ อาทิ อาทิตย์ขึ้นและอาทิตย์ตก ดอกไม้ที่เต่งตูม เบ่งบาน และร่วงโรย ใบไม้ที่ผลิบานแล้วร่วงหล่น ในธรรมชาติเต็มไปด้วยสิ่งเตือนใจถึงความไม่จิรังของชีวิต พระพุทธองค์ทรงแนะให้เราพิจารณาชีวิตของเราว่าไม่ต่างจากฟองคลื่น หยาดน้ำค้าง ประกายสายฟ้า คือเป็นของชั่วครู่ชั่วยาม เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้ควรน้อมมาเปรียบกับตัวเองอยู่เสมอ


๔. ทำกิจกรรมฝึกใจรับความตาย

นอกจากการฝึกตายและการถือเอาเหตุการณ์ที่ไม่สมหวังมาเป็นแบบทดสอบเพื่อฝึกจิตใจของตนเองแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากที่ช่วยให้เราสำรวจตรวจสอบความพร้อมของตน ขณะเดียวกันก็เตรียมตัวเตรียมใจไปด้วย

ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การฝึกปล่อยวางคนรักของหวง โดยเลือกบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของที่เราคิดว่ามีความสำคัญที่สุดสำหรับเรามา ๗ อย่าง จากนั้นให้ถามตนเองว่าในบรรดา ๗ อย่างนั้น หากมีสิ่งหนึ่งที่เราต้องสูญเสียไป อะไรที่เราตัดใจได้ง่ายที่สุด หลังจากนั้นให้ถามต่อไปเป็นลำดับว่า

หากต้องสูญเสีย ๑ ใน ๖ อย่างนั้นไป อะไรที่เราตัดใจได้ง่ายที่สุด
หากต้องสูญเสีย ๑ ใน ๕ อย่างนั้นไป อะไรที่เราตัดใจได้ง่ายที่สุด
หากต้องสูญเสีย ๑ ใน ๔ อย่างนั้นไป อะไรที่เราตัดใจได้ง่ายที่สุด
หากต้องสูญเสีย ๑ ใน ๓ อย่างนั้นไป อะไรที่เราตัดใจได้ง่ายที่สุด
หากต้องสูญเสีย ๑ ใน ๒ อย่างนั้นไป อะไรที่เราตัดใจได้ง่ายที่สุด


กิจกรรมนี้อาจทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นโดยใช้การสมมติถึงสถานการณ์ที่ร้ายแรงอันนำไปสู่การสูญเสียอย่างฉับพลัน เช่น

สมมติว่าเกิดไฟไหม้บ้าน ทำให้เราต้องสูญเสีย ๑ ใน ๗ อย่างนั้นไป เราจะเลือกตัดอะไรออกไป

ต่อมาเกิดแผ่นดินไหว ๑ ใน ๖ อย่างนั้นเกิดมีอันเป็นไป ถูกทำลายสูญหายไป เราจะเลือกตัดสิ่งใดออกไป

ต่อมาเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ เรารอดชีวิตมาได้ แต่ต้องสูญเสีย ๑ ใน ๕ อย่างนั้นไป เราจะยอมเสียอะไรไป

ต่อมาเกิดสึนามิ ทำให้เราต้องสูญเสีย ๑ ใน ๔ อย่างนั้นไป เราจะตัดสิ่งใดออกไป

ต่อมาเรือโดยสารเกิดพลิกคว่ำกลางทะเล แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่เราต้องสูญเสีย ๑ ใน ๓ อย่างนั้นไป เราจะยอมเสียอะไรไป

หลังจากนั้นไม่นานเราประสบอุทกภัย ต้องสูญเสีย ๑ ใน ๒ อย่างนั้นไป เราจะยอมเลือกเก็บอะไรไว้ และตัดใจทิ้งอะไรไป

กิจกรรมดังกล่าวนอกจากฝึกให้เราหัดปล่อยวางเป็นลำดับแล้ว ยังช่วยให้เราตรวจสอบตัวเองด้วยว่ายังติดยึดอะไรบ้าง และอะไรที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเรา บางคนพบว่าตนเองรักหรือห่วงหมายิ่งกว่าพี่น้อง บางคนยอมสูญเสียทุกอย่างแต่ไม่พร้อมจะสละตุ๊กตาคู่ชีวิต บางคนเลือกที่จะสละเครื่องคอมพิวเตอร์คู่ชีพเป็นอันดับสุดท้าย การรู้จักตัวเองในแง่นี้จะช่วยให้เราปรับจิตวางใจกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นตัวเองในด้านที่ไม่เคยนึกมาก่อน ทั้งหมดนี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการเตรียมใจเผชิญความตายทั้งสิ้น เพราะในที่สุดแล้วเราต้องสูญเสียทุกอย่างไปจนหมดสิ้น และแม้จะยังไม่ตาย ก็ยังต้องพบกับความสูญเสียอยู่นั่นเอง โดยที่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถเลือกได้ด้วยซ้ำว่าจะยอมสูญเสียอะไรหรือรักษาอะไรไว้


ตายเป็นก็อยู่เป็น

มรณสติเป็นสิ่งที่พึงบำเพ็ญเป็นนิจ บ่อยเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น คราวหนึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสถามภิกษุกลุ่มหนึ่งว่าเจริญมรณสติอย่างไร

รูปแรกกล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงหนึ่งคืนกับหนึ่งวันก็จะตาย

รูปที่สองกล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงหนึ่งวันก็จะตาย

รูปที่สามกล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงครึ่งวันก็จะตาย

รูปที่สี่กล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงฉันอาหารได้มื้อหนึ่งก็จะตาย

รูปที่ห้ากล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงฉันอาหารได้ครึ่งหนึ่งก็จะตาย

รูปที่หกกล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วเวลาเคี้ยวอาหารได้ ๔-๕ คำก็จะตาย

รูปที่เจ็ดกล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วเวลาเคี้ยวอาหารได้คำหนึ่งก็จะตาย

รูปสุดท้ายกล่าวว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะหายใจเข้าหายใจออก หรือหายใจออกหายใจเข้าก็จะตาย

ทั้งนี้ทุกรูปพูดสรุปท้ายว่า เมื่อระลึกถึงความตายของตนแล้ว ก็จะระลึกและพยายามปฏิบัติ ตามคำสอนของพระองค์ให้มาก

พระพุทธองค์ได้ฟังแล้วตรัสว่า ภิกษุรูปที่ ๑-๖ ยังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ ส่วนภิกษุรูปที่๗ และ ๘ ซึ่งเจริญมรณสติทุกคำข้าว หรือทุกลมหายใจ จัดว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

ควรกล่าวในที่นี้ว่าการเจริญมรณสตินั้นมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต ทำให้รู้สึกสลดหดหู่ เห็นชีวิตไร้คุณค่า หรือหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิต ในทางตรงกันข้ามมรณสตินั้นหากพิจารณาอย่างถูกวิธี ย่อมทำให้ตระหนักว่าชีวิตและเวลาแต่ละนาทีที่ยังเหลืออยู่นั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างไร้ค่า หรือปล่อยเวลาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ คนเรานั้นหากไม่ตระหนักว่าชีวิตและเวลาที่อยู่ในโลกนี้มีจำกัด ก็จะใช้ไปอย่างไม่เห็นคุณค่าเลย บางครั้งกลับทำสิ่งซึ่งบั่นทอนหรือตัดรอนชีวิตตัวเองด้วยซ้ำ กว่าจะตระหนักว่าชีวิตและเวลามีคุณค่า ความตายก็มาประชิดตัวแล้ว ถึงตอนนั้นก็อาจทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว



ประโยชน์ของการเจริญมรณสติ กล่าวโดยสรุป มี ๓ ประการคือ

๑.ทำให้ขวนขวายใส่ใจในสิ่งที่ชอบผัดผ่อน

ดังได้กล่าวแล้วว่ามรณสติทำให้เราตระหนักว่าเรามีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด และจะตายไปเมื่อใดก็มิอาจรู้ได้ (“ชาติหน้าหรือวันพรุ่งนี้ อะไรจะมาก่อน ไม่มีใครเลยที่รู้ได้”เป็นภาษิตธิเบตที่ย้ำเตือนความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี) ดังนั้นจึงกระตุ้นให้เราต้องเร่งรีบทำสิ่งสำคัญก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำ โดยทั่วไปสิ่งสำคัญเหล่านี้เรามักชอบผัดผ่อน เนื่องจากเห็นว่าจะทำเมื่อไรก็ได้ ไม่มี “เส้นตาย” เช่น การปฏิบัติธรรม การสร้างสมบุญกุศล การให้เวลากับครอบครัวหรือพ่อแม่ ในขณะที่กิจวัตรประจำวันของเรานั้นมีเรื่องอื่น ๆ มากมายที่ดูเหมือนเร่งด่วนกว่า เพราะมีเส้นตายชัดเจน จึงบังคับอยู่ในทีให้ต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว เช่น ส่งลูกไปโรงเรียน หาลูกค้าให้ถึงเป้า ส่งงานตามกำหนด ผ่อนรถ ไปงานศพ ฯลฯ บางอย่างแม้ไม่สำคัญเลย แต่ดึงดูดใจมากกว่า และมีกำหนดเวลาชัดเจน เช่น ไปเที่ยวห้างที่กำลังจัดเทศกาลลดราคา ชมภาพยนตร์ซึ่งใกล้จะออกจากโรง หรือดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก กิจกรรมเหล่านี้มักแย่งเวลาไปจากเราจนไม่มีเวลาเหลือสำหรับสิ่งสำคัญที่ไม่เร่งด่วน ผลก็คือต้องเลื่อนการเข้าอบรมปฏิบัติธรรมไปเรื่อย ๆ หรือไม่มีเวลาให้กับครอบครัวเสียที ส่วนการไปเยี่ยมพ่อแม่หรือบวชให้ท่านก็ต้องผัดแล้วผัดอีก มีหลายคนที่ต่อเมื่อป่วยหนักกะทันหันจึงค่อยรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ในขณะที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ บางคนมาได้คิดเมื่อใกล้จะตายแต่ถึงตอนนั้นก็สายเสียแล้วที่จะทำอะไรได้

การระลึกถึงความตายอย่างจริงจังจะกระตุ้นให้เราจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตใหม่หมด จากเดิมที่เอาเรื่องสำคัญแต่ไม่เร่งด่วนไปไว้ในลำดับท้าย ๆ คือทำทีหลังสุดเมื่อทำอย่างอื่นเสร็จแล้ว (ซึ่งมักจะไม่เสร็จเสียทีเพราะมีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ) ก็จะเลื่อนขึ้นมาทำเป็นอันดับแรก ๆ หรือทำเป็นกิจวัตร ส่วนเรื่องที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน ตลอดจนเรื่องที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนแต่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินใจ ก็จะถูกจัดไว้ในลำดับท้าย ๆ คือทำหลังจากที่สิ่งสำคัญได้ทำเสร็จแล้ว

ผู้ที่เจริญมรณสติอย่างถูกวิธี ไม่เพียงเตือนตนว่าต้องตายไม่ช้าก็เร็ว หากยังถามตนเองอยู่เสมอว่าพร้อมจะตายหรือยังหากหมดลมวันนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อม คำถามนี้จะกระตุ้นให้ใส่ใจขวนขวายทำ ๒ ประการต่อไปนี้


ก.การทำงานภายใน

การทำงานภายในหมายถึงการเตรียมใจให้พร้อมเมื่อความตายมาถึงไม่ว่าเมื่อไรหรือในลักษณะใด เช่น ฝึกสติเพื่อรักษาใจให้ปกติไม่ตื่นตระหนกตกใจเมื่อวาระสุดท้ายใกล้จะมาถึง หรือเมื่อเกิดเหตุร้ายกะทันหัน รวมทั้งเตรียมใจรับมือกับทุกขเวทนาอันแรงกล้าที่มักจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นลม สามารถประคองใจให้เป็นกุศล ไม่ถูกรบกวนด้วยความอาลัยอาวรณ์หรือความโศกเศร้าเมื่อจะต้องพลัดพรากจากบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รักอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็ไม่มีสิ่งค้างคาใจใด ๆ ให้ต้องนึกเสียใจหรือขุ่นเคืองใจ ประการหลังนี้อาจได้แก่ความรู้สึกผิดที่เคยทำสิ่งไม่ถูกต้องหรือความโกรธแค้นใครบางคนที่ทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้ตนเอง จะปลดเปลื้องความรู้สึกดังกล่าวออกไปได้ การเตรียมใจอย่างเดียวอาจไม่พอ หากต้องทำมากกว่านั้น เช่น การไปขอขมาหรือขออโหสิจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การทำงานภายนอกให้แล้วเสร็จดังจะกล่าวต่อไปก็จะช่วยให้ทำใจรับมือกับความตายได้ดีขึ้นด้วย


ข.การทำงานภายนอก

การทำงานภายนอกหมายถึงการจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น หรือต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้อื่น รวมถึงการจัดการสิ่งนอกตัว เช่น ทรัพย์สมบัติ และการงานที่รับผิดชอบ อาทิ การทำหน้าที่ต่อลูกหลานหรือพ่อแม่ให้ครบถ้วน ได้แก่ การเลี้ยงดู ให้การศึกษา ดูแลพยาบาล ขณะเดียวกันก็เตรียมทุกสิ่งให้พร้อมหากเราต้องจากโลกนี้ไป กล่าวคือนอกจากการจัดทำพินัยกรรม หรือจัดสรรมรดกให้เรียบร้อยแล้ว ยังควรเตรียมผู้คนที่เกี่ยวข้องให้พร้อมเผชิญกับการจากไปของเราด้วย เช่น เตรียมลูกให้เข้าใจถึงเรื่องความตาย ตระหนักว่าชีวิตนั้นเป็นสิ่งไม่เที่ยง ความตายเป็นเรื่องธรรมดา สั่งเสียล่วงหน้าหรือแนะนำว่าเขาควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรหากเราไม่ได้อยู่กับเขาแล้ว รวมทั้งฝากฝังพ่อแม่ให้แก่พี่น้องหรือมิตรสหายช่วยดูแล เป็นต้น

ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนร้อยละ ๙๐ ตายในลักษณะที่เป็นไปอย่างช้า ๆ มิใช่ตายอย่างกะทันหัน และส่วนใหญ่ตายในโรงพยาบาล ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือการรักษาพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่หมดหวังจะรักษาให้หายได้ ด้วยข้อจำกัดทางการแพทย์ ผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากมักถูกยืดชีวิตให้ยืนยาวออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีโอกาสจะหาย ขณะเดียวกันก็ประสบกับความทุกข์ทรมานมากจากกระบวนการรักษา จึงมีคำถามว่าควรจะให้การรักษาหรือแทรกแซงทางการแพทย์มากน้อยเพียงใด คำถามนี้อาจตอบได้ไม่ยากหากผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมตัดสินได้ด้วยตนเอง แต่กลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อผู้ป่วยไร้สติสัมปชัญญะ อยู่ในภาวะโคม่า หรือไม่สามารถสื่อสารความคิดความเห็นของตนได้ (ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันมากขึ้นว่าแม้อยู่ในภาวะโคม่าแต่ก็รับรู้ทุกอย่างไม่ต่างจากคนปกติ รวมทั้งรับรู้ความเจ็บปวดจากการรักษาด้วย) กรณีดังกล่าวสร้างความลำบากใจให้แก่ญาติผู้ป่วย ซึ่งมักจะมีความเห็นแตกต่างกันไป ทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ ยังไม่นับถึงผลด้านอื่น ๆ ที่เกิดจากการรักษา เช่น ค่าใช้จ่าย และการกระทำต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยซึ่งอยู่ในภาวะที่ไม่อาจปฏิเสธได้

เพื่อที่จะลดทอนปัญหาดังกล่าว เราจึงควรเตรียมการในเรื่องนี้แต่เนิ่น ๆ ว่าหากมีเหตุต้องล้มป่วยโดยอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถสื่อสารได้ เราอยากจะให้มีการเยียวยารักษาแค่ไหน หรืออนุญาตให้ทำกับร่างกายของเราได้มากน้อยเพียงใด การเตรียมในเรื่องนี้นอกจากเป็นประโยชน์แก่ตนเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ พยาบาล และญาติมิตรด้วยในการเลือกวิธีการรักษาหรือแทรกแซงทางการแพทย์

มีวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบว่าได้เตรียมงานภายนอกมากน้อยเพียงใด ก็คือการเขียน “พินัยกรรมชีวิต” โดยมีรายละเอียด ๖ ประเด็นคือ

๑)ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ อยากให้จัดการอย่างไรบ้าง
๒)ญาติมิตร ลูกหลาน พ่อแม่ อยากฝากให้ผู้ที่ยังอยู่ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
๓)ร่างกายของเรา อยากให้จัดการต่ออย่างไรบ้าง
๔)การงานหรือธุรกิจที่คั่งค้าง อยากให้จัดการต่ออย่างไรบ้าง
๕)งานศพของเรา อยากให้จัดการอย่างไรบ้าง
๖)หากเราอยู่ในระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารได้ การรักษาแบบใดที่
ไม่ต้องการให้ทำกับเรา และการรักษาดูแลแบบใดที่อยากให้ทำ รวมทั้งอยากพบ
ใคร หรืออยากให้ใครมาดูแลเรา


๒. ทำให้ปล่อยวางสิ่งที่ชอบยึดติด

ความยึดติดคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่พร้อมเผชิญกับความตาย เพราะความตายหมายถึงการพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ คนเรายึดติดหลายอย่างทั้งบุคคลและสิ่งของ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ความห่วงหาอาลัยสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากทุรนทุรายกระสับกระส่ายเมื่อความตายมาถึง ในแง่ของพุทธศาสนา ความยึดติดไม่เพียงทำให้ทุกข์ใจทั้งในยามปกติและในยามไม่ปกติ คือเมื่อแก่ชรา เจ็บป่วย และสิ้นชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเมื่อตายไปแล้วด้วย

การระลึกว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย และอาจตายอย่างไม่สงบหากใจยังยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทำให้เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนการปล่อยวาง การฝึกฝนที่ให้ได้ผลนั้นไม่ควรทำต่อเมื่อรู้ว่าใกล้จะตาย แต่ควรทำเป็นอาจิณในขณะที่ยังมีชีวิตเป็นปกติ การปล่อยวางนั้นไม่ได้หมายถึงการไม่รับผิดชอบ ตรงกันข้ามยิ่งเห็นความสำคัญของการปล่อยวาง ก็ยิ่งเร่งทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้สมบูรณ์ เพราะเมื่อทำเสร็จแล้วย่อมเราย่อมปล่อยวางได้ง่ายขึ้น พ่อแม่ที่เตรียมพร้อมทุกอย่างให้ลูก ทั้งเงินทอง วิชาความรู้ ศีลธรรมจรรยา รวมทั้งความรักความอบอุ่น ย่อมห่วงลูกน้อยกว่าพ่อแม่ที่ยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ หากจะต้องตายก็พร้อมจะตายได้มากกว่า

ผู้ที่เห็นความสำคัญของการปล่อยวาง ย่อมไม่ปล่อยใจให้ทุกข์ไปกับความสูญเสียทรัพย์หรือเหินห่างพลัดพรากจากคนรัก เพราะถือว่าเป็นแบบฝึกหัดให้รู้จักปล่อยวาง เขาจะเตือนตนเสมอว่าหากเพียงเท่านี้ยังปล่อยวางไม่ได้ ในยามที่ต้องสูญเสียมากกว่านี้เพราะความตายมาพรากเอาไป จะไม่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่านี้หรือ ในทำนองเดียวกันเมื่อเจ็บป่วย เราไม่ได้ทุกข์กายเพราะความเจ็บปวดรบกวนเท่านั้น แต่ยังมักทุกข์ใจเพราะยึดติดกับอดีตเมื่อครั้งยังมีสุขภาพดี หรือยึดติดกับความสุขที่เคยมีก่อนป่วย หาไม่ก็ทุกข์ใจเพราะกลัวว่าวันข้างหน้าจะไม่มีความสุขเหมือนก่อน หรือถึงกับสร้างภาพอนาคตไปในทางเลวร้าย แต่ผู้ที่เห็นความสำคัญของการเตรียมใจเผชิญความตาย จะไม่ยอมปล่อยใจไปกับความเจ็บป่วยง่าย ๆ แต่จะใช้โอกาสนี้ฝึกการปล่อยวางความหมกมุ่นทั้งอดีตและอนาคต และใส่ใจกับการอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด การเจริญมรณสติยังช่วยเตือนใจเขาด้วยว่า หากความเจ็บป่วยเพียงเท่านี้ยังทำใจไม่ได้ แล้วจะรับมือกับความตายซึ่งหนักหนาสาหัสกว่านี้ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตามคนเราไม่ได้ติดยึดกับสิ่งที่น่าพึงพอใจอย่างเดียว แต่ยังมักติดยึดกับสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ เช่น ความโกรธแค้น ความเกลียดชัง ความรู้สึกผิด ความล้มเหลวในอดีต ความผิดหวัง ภาพประทับอันเลวร้ายที่เคยพบ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตประจำวันของเรามักประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ดังกล่าวเป็นประจำ ความยึดติดในอารมณ์อกุศลเหล่านี้มักสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้คนอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามเมื่อใดที่เราระลึกถึงความตายว่าจะต้องเกิดขึ้นกับเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง เหตุการณ์หรือเรื่องราวเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเราไปทันที หลายคนที่รู้สึกโกรธแค้นเพราะเพิ่งทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อน มักพบว่าการระลึกถึงความตายของตนช่วยให้ปล่อยวางความโกรธไปได้มาก ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับความตาย หากยังเพราะตระหนักว่าในเมื่อสักวันหนึ่งเรากับเขาจะต้องตายจากกันแล้ว จะเกลียดชังโกรธแค้นกันไปทำไม


๓. ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

คนเรามักไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่กับตัว แต่กลับไปจดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี จึงหาความสุขได้ยาก เพราะจะถูกรบกวนด้วยความอยากได้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ต่อเมื่อสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ไป จึงค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติ คนรัก หรือสุขภาพร่างกาย ใช่หรือไม่ว่าต่อเมื่อเจ็บป่วยเราจึงตระหนักว่าการมีสุขภาพดีนั้นเป็นโชคอันประเสริฐแล้ว ต่อเมื่ออวัยวะบางอย่างสูญเสียหรือพิการไป เราจึงเห็นว่าอวัยวะดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งกว่าเงินทองชื่อเสียงที่เคยอยากได้ ต่อเมื่อคนรักจากไป จึงได้คิดว่าเขามีความหมายกับชีวิตของเราอย่างไร แว่นตา หรือนาฬิกาที่เราไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ต่อเมื่อมันหายไป จึงรู้ว่ามันมีประโยชน์กับเราเพียงใด

มรณสติช่วยเตือนใจให้เราตระหนักว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ขณะนี้ ไม่ช้าก็เร็วย่อมจากเราไป การระลึกว่าสิ่งเหล่านี้อยู่กับเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น จะช่วยให้เราหันมาชื่นชมกับสิ่งนั้นมากขึ้น ไม่มองข้ามหรือปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อเรารู้ว่าในที่สุดเราต้องเจ็บป่วยและแก่ชรา เราจะเห็นคุณค่าของสุขภาพและวัยเยาว์ จะไม่ปล่อยปละละเลยสุขภาพหรือใช้วัยเยาว์ไปในทางที่ไร้สาระ เมื่อเราตระหนักว่าเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด เราจะเห็นคุณค่าของทุกเวลานาทีที่ยังเหลืออยู่ ไม่ปล่อยทิ้งไปอย่างไร้คุณค่า ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาเราจะรู้สึกเป็นสุขที่ยังมีชีวิตอีกหนึ่งวัน แต่ละวันนั้นจะมีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีวันพรุ่งนี้สำหรับเราหรือไม่

ในทำนองเดียวกัน เพียงแค่รู้ว่า พ่อแม่ ลูกหลาน สามีภรรยา ยังอยู่กับเรา เราก็มีความสุขแล้ว เพราะไม่มีหลักประกันเลยว่าเขาจะจากเราไปเมื่อใด แม่บ้านผู้หนึ่งเล่าว่าทุกเย็นเพียงแค่ได้เห็นสามีและลูก ๆ อยู่กันพร้อมหน้าที่บ้าน เธอก็มีความสุขแล้ว เพราะไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะมีโอกาสแบบนี้หรือไม่ มรณสติจึงทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น เพราะตระหนักว่าเรามีสิ่งดี ๆ ที่ทรงคุณค่าอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาความสุขจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ไกลตัวเลย

การระลึกถึงความตายว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน ยังทำให้เราตระหนักว่าคนที่เราพบปะเกี่ยวข้องนั้น อาจจะจากไปเมื่อไรก็ได้ การพบปะกับเขาอาจเป็นการพบปะกันครั้งสุดท้าย เมื่อใดก็ตามที่คิดได้เช่นนี้ เราจะตระหนักว่าเวลาที่อยู่กับเขาขณะนั้นเป็นเวลาที่สำคัญมาก เราจะให้ความสำคัญกับเขามากขึ้น ใส่ใจกับความรู้สึกของเขายิ่งกว่าเดิม แทนที่จะพูดหรือทำกับเขาตามความเคยชิน ก็จะนุ่มนวลหรืออ่อนโยนกับเขามากขึ้น ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเราไม่ค่อยมีเวลาให้แก่กัน ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของกัน เพราะคิดว่าเรามีโอกาสที่จะได้พบกันอีก การคิดว่ายังมีเวลาอยู่ด้วยกันอีกนาน ทำให้เราไม่ใส่ใจความรู้สึกของกันและกันเท่าที่ควร จึงทำให้มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่าย และเมื่อทะเลาะกันแล้ว ก็คิดว่าไม่ต้องรีบปรับความเข้าใจกันก็ได้ เพราะมีเวลาอีกมากที่จะคืนดีกัน การคิดเช่นนี้จัดว่าเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง แต่หากเราตระหนักว่าความตายอาจพรากจากเราไปเมื่อไรก็ได้ เราจะเปลี่ยนท่าที และใส่ใจกันมากขึ้น


ตายก่อนตาย

อานิสงส์ของการเจริญมรณสติ ๓ ประการข้างต้น คือการขวนขวายใส่ใจในสิ่งที่ชอบผัดผ่อน การปล่อยวางสิ่งที่ชอบติดยึด และการเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในด้านหนึ่งช่วยให้เราอยู่อย่างมีความสุขและใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความตายที่จะมาถึง เพราะเมื่อได้ทำสิ่งที่สมควรทำเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีสิ่งคั่งค้างกังวลใจ ไร้ความห่วงหาอาลัย อีกทั้งละเว้นสิ่งที่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจ ก็พร้อมจะจากโลกนี้ไปด้วยใจสงบ การอยู่อย่างมีความสุขและมีคุณค่า กับการเตรียมตัวตายอย่างสงบจึงเป็นเรื่องเดียวกัน หาได้แยกจากกันไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งหากต้องการตายเป็นก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้เป็นด้วย ในข้อนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยกล่าวในรูปปุจฉาวิสัชนาว่า “เตรียมสำหรับตายให้ดีที่สุดอย่างไร? ตอบ: อยู่ให้ดีที่สุด ! เตรียมสำหรับอยู่ให้ดีที่สุดอย่างไร? ตอบ:เตรียมพร้อมสำหรับที่จะตายนะซี่!”

การเตรียมตัวตายที่ดีที่สุดคือการอยู่อย่างพร้อมที่จะตายอยู่เสมอ นั่นคือทำความดีทุกขณะที่มีโอกาส และฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง ขณะเดียวกันก็ระลึกถึงความตายอยู่เป็นนิจเพื่อกระตุ้นเตือนให้ทำกิจทั้งสองประการดังกล่าว การเจริญมรณสติยังช่วยให้เราพร้อมเผชิญความตายได้ดีขึ้น ตรงที่เป็นการฝึกใจให้คุ้นกับความตายอยู่เสมอ ดังได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่าความตายไม่น่ากลัวมากเท่ากับความกลัวตาย และสาเหตุที่เรากลัวตายมากก็เพราะไม่คุ้นชินกับความตายโดยเฉพาะความตายของตัวเอง ปัญหานี้จะลดลงไปเมื่อเราเจริญมรณสติอยู่เสมอ เพราะช่วยให้ใจคุ้นชินกับความตายของตัวเอง หากความคุ้นชินนั้นมิได้เกิดในระดับความคิดหรือสมองเท่านั้น แต่ลงไปถึงอารมณ์ความรู้สึกหรือหัวใจ ก็จะทำให้เรายอมรับความตายของตนเองได้ง่ายขึ้น

การฝึกตายอยู่เสมอเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรายอมรับความตายในระดับอารมณ์ความรู้สึกด้วย เพราะการฝึกชนิดนี้ ยิ่งจินตนาการได้ใกล้เคียงความจริงมากเท่าไร ความกลัว ความอึดอัด และความห่วงหาอาลัย จะถูกกระตุ้นขึ้นมามากเท่านั้นโดยเฉพาะในใจของผู้ฝึกใหม่ การตระหนักรู้ในอารมณ์ดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับมันได้ดีขึ้นเมื่อความตายมาใกล้ตัวจริง ๆ ขณะเดียวกันการเผชิญกับสถานการณ์ที่คุกคามชีวิต แม้จะเป็นแค่สมมติหรือจินตนาการ แต่ก็ช่วยให้เรามีความคุ้นกับมันมากขึ้น จึงช่วยลดความตื่นตระหนกว้าวุ่นหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาจริง ๆ

การฝึกตายหากทำอย่างสม่ำเสมอมากเท่าไร ก็มีผลดีต่อจิตใจมากเท่านั้น วิธีที่จะทำให้การฝึกตายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอก็คือการทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอแนะวิธีการการฝึกตายที่กลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิต นั่นคือ “ตายก่อนตาย” หมายถึงฝึกการตายจากกิเลส หรือตายจากการยึดมั่นในตัวตน คือทำให้ตัวตนตายไปก่อนที่จะหมดลม

ตัวตนนั้นมิได้มีอยู่จริง หากเกิดจากการปรุงแต่งของใจ เมื่อเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตนแล้ว ก็จะเกิดการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ตามมาว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ความสำเร็จ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่พึงปรารถนา แม้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ยังอดยึดไม่ได้ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ด้วยเหมือนกัน เช่น ความโกรธ(ของกู) ความเกลียด(ของกู) ศัตรู(ของกู) ความยึดมั่นในตัวกูของกูนี้เองที่ทำให้เรากลัวความตายเป็นอย่างยิ่งเพราะความตายหมายถึงการพลัดพรากสูญเสียไปจากสิ่งทั้งปวง และสิ่งที่เรากลัวที่สุดคือพลัดพรากจากตัวตนหรือการดับสูญของตัวตน

เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้ ความตายก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะจะไม่มีความพลัดพรากสูญเสียใด ๆ เลยในเมื่อไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ที่สำคัญที่สุดคือไม่มี “เรา”ตาย เพราะตัวเราไม่มีตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยเหตุนี้การฝึกใจให้ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนจึงเป็นวิธีเตรียมตัวตายที่ดีที่สุด

ท่านพุทธทาสภิกขุได้แนะนำวิธีปฏิบัติหลายประการเพื่อการละวางตัวตน วิธีหนึ่งก็คือฝึก “ความดับไม่เหลือ” กล่าวคือทุกเช้าหรือก่อนนอนให้สำรวมจิตเป็นสมาธิ แล้วพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราหรือของเราแม้แต่สักอย่างเดียว รวมทั้งพิจารณาว่าการ “เกิด”เป็นอะไรไม่ว่าเป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นคนดี เป็นคนชั่ว เป็นคนสวย เป็นคนขี้เหร่ ก็ล้วนแต่มีทุกข์ทั้งนั้น “เกิด”ในที่นี้ท่านเน้นที่ความสำคัญมั่นหมายหรือติดยึดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เมื่อเห็นแล้วให้ละวางความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิด “ตัวกู”ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (แต่การทำหน้าที่ตามสถานะหรือบทบาทดังกล่าวก็ยังทำต่อไป) เป็นการน้อมจิตสู่ความดับไม่เหลือแห่งตัวตน

เมื่อทำจนคุ้นเคย ก็นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อใดที่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส หรือจิตนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมา ก็ให้มีสติเท่าทันทุกคราวที่ “ตัวกู”เกิดขึ้น นั่นคือเมื่อเห็น ก็สักว่าเห็น ไม่มี “ตัวกู”ผู้เห็น เมื่อโกรธ ก็เห็นความโกรธเกิดขึ้น ไม่มี “ตัวกู”ผู้โกรธ เป็นต้น

การปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อดับ “ตัวกู”ไม่ให้เหลือ ซึ่งก็คือทำให้ตัวกูตายไปก่อนที่ร่างกายจะหมดลม หากทำได้เช่นนั้นความตายก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป หรือกล่าวอย่างถึงที่สุด ความตายก็ไม่มีด้วยซ้ำ เพราะไม่มีผู้ตายตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นวิธีเอาชนะความตายอย่างแท้จริง แต่ถึงแม้ตัวกูจะไม่ตายไปอย่างสิ้นเชิง ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูอยู่ เมื่อจวนเจียนจะตายท่านพุทธทาสภิกขุได้แนะนำให้น้อมจิตสู่ความดับไม่เหลือเช่นเดียวกัน นั่นคือละวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวกูของกู วิธีการนี้ท่านเปรียบเสมือน “ตกกระไดแล้วพลอยกระโจน” กล่าวคือเมื่อร่างกายทนอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว จิตก็ควรกระโจนตามไปด้วยกัน ไม่ห่วงหาอาลัยหรือหวังอะไรอย่างใดอีกต่อไป ไม่คิดจะเกิดที่ไหนหรือกลับมาเกิดใหม่อีกต่อไป นาทีสุดท้ายของชีวิตเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จิตจะปล่อยวางตัวกูเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง จึงนับว่าเป็น “นาทีทอง”อย่างแท้จริง


บทส่งท้าย

พระอาจารย์ลี ธมมธโร เคยกล่าวว่า “คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย” ท่านได้ข้อคิดนี้จากเรื่องเล่าของชายแก่คนหนึ่งซึ่งรอดชีวิตจากกรงเล็บของหมีใหญ่อย่างหวุดหวิด หมีตัวนั้นเข้ามาทำร้ายเขาและภรรยาขณะที่กำลังหาของป่าร ภรรยาหนีขึ้นต้นไม้ทัน ส่วนชายแก่ถูกหมีปราดเข้ามาประชิดตัว พยายามต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้ ภรรยาจึงตะโกนว่า ให้นอนหงายเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกะดิก ชายแก่จึงทำตาม ล้มนอนแผ่ลงกลางพื้นดิน ไม่ไหวติงเหมือนคนตาย หมีเห็นดังนั้นจึงหยุดตะปบ ยืนคร่อมตัวเอาไว้ ดึงขาและหัวชายแก่ แล้วใช้ปากดันตัวอยู่พักหนึ่ง เขาก็ทำตัวอ่อนไปอ่อนมา ขณะเดียวกันก็บริกรรมว่า “พุทโธ”ไปด้วย หมีเห็นชายแก่ไม่กระดุกกระดิก คิดว่าเขาตายแน่แล้วจึงเดินจากไป

ชายแก่รอดตายได้เพราะทำตัวเหมือนคนตาย แต่คำพูดของพระอาจารย์ลีมีความหมายลึกกว่านั้น ในแง่หนึ่งคืออยู่อย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ไร้ความยินดียินร้ายในโลกธรรม ไม่อาลัยในชีวิต ผู้ที่ทำใจได้เช่นนี้แม้เผชิญความตายต่อหน้า ย่อมมีจิตสงบ ความทุกข์ทรมานมิอาจย่ำยีบีฑาได้ เท่ากับว่าอยู่เหนือความตาย ลึกลงไปกว่านั้นก็คือการอยู่อย่างไม่มีตัวกู พร้อมจะตายทุกเมื่อ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงทำอะไรไม่ได้ คือ “พ้นตาย”นั่นเอง

การเจริญมรณสติคือการฝึกใจให้พร้อมตายทุกเมื่อ เป็นวิถีสู่การตายก่อนตายและการพ้นตาย แม้ด้านหนึ่งจะคล้ายกับการทำตนเหมือนคนตาย แต่อีกด้านหนึ่งคือการปลุกใจให้ตื่นจากความประมาท เพื่ออยู่อย่างมีชีวิตชีวา โปร่งโล่ง เบาสบาย เป็นชีวิตที่เปี่ยมด้วยความพากเพียรรับผิดชอบแต่ก็พร้อมปล่อยวางในเวลาเดียวกัน

มรณสติเมื่อบำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอ ย่อมช่วยให้เกิดปัญญาตระหนักรู้ว่าความตายมิได้เป็นปฏิปักษ์กับชีวิต แต่เป็นสิ่งที่สามารถหนุนเสริมและขับเคลื่อนชีวิตให้เป็นไปในทางที่งอกงามได้ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วชีวิตกับความตายนั้นหาได้แยกจากกันไม่ หากดำรงอยู่ควบคู่กับชีวิตตลอดเวลา ดังมีพุทธพจน์ว่า “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต” สำหรับผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมดังกล่าว ความตายจึงไม่ใช่ศัตรู หากเป็นส่วนหนึ่งของธรรมดาที่สบตาได้อย่างสบายใจ



รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล //www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่
//www.Stats.in.th webmaster ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved


ขอขอบคุณข้อมูล และ ยูทูป จากอินเตอร์เนต

Kern - I Love You - Kelvin Kern



Create Date :31 มีนาคม 2558 Last Update :2 เมษายน 2558 15:34:42 น. Counter : 3397 Pageviews. Comments :1