bloggang.com mainmenu search
เรียบเรียงโดย Insignia Museum





คุณสมาน บุราวาศ เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2461 ณ บ้านพักในวังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เทเวศร์ กทม. เป็นบุตร อำมาตย์โทพระยากสิการบัญชา (เล็ก บุราวาศ) และคุณหญิงเจริญ กสิการบัญชาเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน

การศึกษา

พฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2467 ร.ร. สตรีโชติเวช

สิงหาคม 2467 - สิงหาคม 2471 ร.ร. เซ็นต์คาเบรียล ลาออกเมื่อกำลังเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1

พ.ศ. 2471-2474 ร.ร. ประจำมณฑลนครสวรรค์ สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 6

พ.ศ. 2475 ร.ร. มัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 7

พ.ศ. 2476-2477 ร.ร. อำนวยศิลป์ สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 8 แผนกวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2478-2479 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบได้วิทยาศาสตร์ ปีที่ 1 กำลังเรียนชั้นปีที่ 2

พ.ศ. 2479 (6 ส.ค. 2479) สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ที่ 1 ฝ่ายวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2479-2483 Royal School of Mines, Imperial College of Science and Technology, London University
ได้รับปริญญา B.Sc.(Hons), A.R.S.M. in Mining Geology

พ.ศ. 2505-2505 เป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4 ได้รับปริญญา วปอ.

13 กรกฎาคม 2515 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรับราชการ

27 สิงหาคม 2483 นายช่างผู่ช่วยโท แผนกธรณีวิทยา กองโลหกิจ กรมที่ดินและโลหกิจ กระทรวงเกษตราธิการ

1 มกราคม 2485 ข้าราชการพลเรือนวิสามัญชั่วคราว ตำแหน่งหัวหน้าแผนกเคมีและฟิสิกส์ กองธรณีวิทยา กรมโลกกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม

20 มิถุนายน 2485 รั้งตำแหน่งหัวหน้าแผนกเคมีและฟิสิกส์ กองธรณีวิทยา

20 กันยายน 2485 หัวหน้าแผนกหัวหน้าแผนกเคมีและฟิสิกส์ กองธรณีวิทยา

1 กันยายน 2487 หัวหน้าแผนกสำรวจธรณีวิทยา กองธรณีวิทยา

1 พฤศจิกายน 2492 นายช่างเอกประจำกองธรณีวิทยา กองธรณีวิทยา

20 พฤษภาคม 2495 นายช่างเอก กองธรณีวิทยา

21 กรกฎาคม 2498 หัวหน้ากองธรณีวิทยา

3 มกราคม 2504 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งรองอธิบดีกรมโลหกิจอีกตำแหน่งหนึ่ง

16 มีนาคม 2504 รองอธิบดีกรมโลหกิจ

1 ตุลาคม 2506 รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (กรมโลหกิจเปลี่ยนเป็นกรมทรัพยากรธรณี สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ)

11 เมษายน 2509 รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมทรัพยากรธรณี

1 ตุลาคม 2514 อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติถูกยุบ จึงกลับมาสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2515)

1 เมษายน 2519 ลาออกจากราชการ



คณะสำรวจทางธรณีวิทยาเมื่อปี พ.ศ. 2492



ผลงานและเกียรติที่ได้รับด้านธรณีวิทยา

1. เอกสารการสำรวจธรณีวิทยาและแหล่งแร่ กว่า 40 ฉบับ

2. จัดทำแผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทยฉบับสมบูรณ์ เป็นฉบับแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2494

3. ร่วมเขียนรายงานลงตีพิมพ์ต่างประเทศ คือ “Geologic Reconnaissance of the Mineral Deposits of Thailand”, Geological Survey Bulletin 984, 1951

4. แปลและตรวจคำแปลรายงานข้างต้น พิมพ์ในประเทศไทย เป็นเอกสารธรณีวิทยา เล่มที่ 1 ชื่อ “ธรณีวิทยาแหล่งแร่ประเทศไทย พ.ศ. 2496"

5. สำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาลำน้ำปิง จาก จ.เชียงใหม่ ถึงจุดที่จะตั้งเขื่อนภูมิพล จ.ตาก

6. ใช้เครื่องวัดความไหวสะเทือนของโลก ในการหาโครงสร้างชั้นน้ำมันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

7. สำรวจแหล่งลิกไนท์ จ.กระบี่ และ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดอุตสาหกรรมไฟฟ้าลิกไนท์

8. เป็นหัวหน้านักธรรีวิทยาฝ่ายไทยร่วมกับมาเลเซีย ในการสำรวจธรณีวิทยาชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งสองฟากแหลม

9. สำรวจพบซากดึกดำบรรพ์เป็นจำนวนมากในหลายยุคของธรณีกาล ที่สำคัญที่สุด คือ “Eosaukia buravasi” ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ ในชั้นหินยุคเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย

ชีวิตและการงาน

เมื่อเป็นเด็ก คุณสมาน บุราวาศ นับว่าเป็นเด็กเรียนดีมาตั้งแต่เล็กๆ ตอนเรียนชั้นมัธยม เขาสามารถสอบข้ามชั้นได้ถึง 2 ครั้ง จึงสอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่ออายุเพียง 13 ปีเศษ

ในปี พ.ศ. 2478 ขณะที่เรียนในคณะวิทยาศาสตร์ ปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาสอบชินทุนเล่าเรียนหลวงได้ที่ 1 ฝ่ายวิทยาศาสตร์ จึงได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ในสาขาธรณีวิทยาเหมืองแร่ ที่โรงเรียนแร่หลวง (Royal School of Mines) มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นเวลา 4 ปี สำเร็จได้ปริญญาตรีเกียรตินิยม

เมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2483 เริ่มเข้ารับราชการในกรมที่ดินและโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) ในตำแหน่งนายช่างโท รับราชการที่กรมนี้ตลอดเวลา 36 ปี ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ จนได้ดำรงตำแหน่งอธิปดีกรมทรัพยากรธรณี ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2514 และอยู่ในตำแหน่งนี้จนลาออกจากราชการ เมื่อ 1 เมษายน 2519

คุณสมาน มีความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างสูง นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงไม่มีพันธสัญญากับรัฐบาลว่า เรียนสำเร็จแล้วจะต้องกลับมารับราชการ จะเลือกทำงานที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็ย่อมทำได้ แต่คุณสมาน มีความสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ตนเองเป็นหนี้ต่อพระเจ้าแผ่นดินที่ได้พระราชทานทุนเล่าเรียน จึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะรับราชการ และจะทำให้ดีที่สุด

ท่านเคยสอนนักธรณีวิทยารุ่นหลังผู้หนึ่งว่า “หลวงให้ทุนเล่าเรียนแก่เรา เราจึงอยากทำงานให้แก่หลวง ไม่อยากไปทำงานที่อื่น แม้ว่าจะให้เงินเดือนสูงกว่า เราเป็นคนมักน้อย กินก๋วยเตี๋ยวชามเดียวก็อิ่ม ไม่จำเป็นต้องกินอยู่หรูหราเกินไป”



ระยะเวลา 36 ปีที่รับราชการ คุณสมานได้อุทิศกาย กำลังใจ สติปัญญา วิชาความรู้ ให้แก่ราชการ โดยยึดประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าคุณสมาน เป็นข้าราชการที่มีประวัติการทำงานดีเด่น ช่วงที่เป็นนักสำรวจทางธรณีวิทยา ท่านได้ฝากผลงานไว้กับทางราชการจำนวนมาก

คุณสมาน บุราวาศ เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีใจมั่นคง และเกลียดการฉ้อราษฎร์-บังหลวงเป็นที่สุด ท่านได้ต่อสู่กับเรื่องนี้มาตลอดอายุการทำงานราชการ แม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่น ตัวอย่างหินแร่ เปลือกหอยที่ได้จากการสำรวจ หรือเอกสารหนังสือ ที่ได้จากการไปประชุมดูงาน ท่านก็ถือว่า สิ่งของเหล่านี้ควรเป็นสมบัติของทางราชการ จะเอาไปเป็นของส่วนตัวไม่ได้

ท่านรักการอ่านมาก ชอบอ่านหนังสือทุกประเภท หนังสือที่ท่านสนใจมักเป็นภาษาอังกฤษ นับตั้งแต่ตำรา วารสารต่างๆ สารคดี นิยาย... ท่านได้อาศัยการอ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเครียดเมื่อกลับจากที่ทำงานทุกวัน



ความพิเศษของท่านอีกอย่างหนึ่งที่หาใครเสมอเหมือนได้ยาก นั่นคือ ท่านเป็นนักจดบันทึกที่มีความละเอียดเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2483 ในการออกสำรวจทุกครั้ง จะจดบันทึกประจำวันในสมุดโน้ตธรณีวิทยา ทุกวันและทุกครั้ง เรียงลำดับตาม พ.ศ. ทุกปี ตั้งแต่เริ่มออกเดินทางไม่ว่าจะอยู่บนรถไฟ รถยนต์ เรือ หรือเดินเท้า ตลอดทาง พร้อมทั้งวันเวลา รายละเอียดของหิน สภาพภูมิศาสตร์ ทำบัญชีรายการตัวอย่างหิน แร่ และฟอสซิล พร้อมทั้งรายละเอียดที่เก็บมา ฟิล์มรูปถ่าย หรือภาพวาดต้นไม้แปลกๆที่ระบายสีเรียบร้อย



ท่านเป็นผู้มีความประหยัดมัธยัสถ์ ทั้งในราชการและส่วนตัว ท่านควบคุมงบประมาณของแผ่นดินให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง หรืออย่างประหยัดแต่ให้เกิดผลมากที่สุด ท่านชอบชีวิตเรียบง่าย แต่ไม่ใช่คนตระหนี่ถี่เหนียว ใจแคบหรือชอบเอาเปรียบ แต่เป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ร่วมสร้างวัดวาอารามอยู่เสมอ หรือบริจาคเงินให้กับสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ

ความสามารถทางการประพันธ์ ท่านเขียนได้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ระหว่างเรียนอยู่ที่อังกฤษ ท่านได้เขียนบทความส่งมาเมืองไทย ลงในวารสารของโรงเรียนอำนวยศิลป์และหนังสืออื่นๆอีกหลายเรื่อง ใน ปี พ.ศ. 2485 แต่งคำฉันท์เรื่อง โลหวตาร แสดงทางวิทยุกระจายเสียง และได้เขียนบทความทางวิชาการ บทความสารคดี บทร้อยกรองและอื่นๆ ลงในเอกสาร วารสารต่างๆ ของกรมธรณีวิทยา โดยใช้ภาษา และถ้อยคำที่ไม่ซับซ้อน คนทั่วไปก็สามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย

ท่านได้เป็นกรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ณ ราชบัณฑิตยสถาน กรรมการชุดนี้ มีหน้าที่บัญญัติศัพท์และเขียนคำอธิบายศัพท์ จากศัพท์ภูมิศาสตร์ภาษาต่างประเทศตามลำดับอักษร A-Z คุณสมานได้รับมอบเฉพาะทรัพย์ที่มีความหมายทางด้านธรณีวิทยามาเขียนคำอธิบายและบัญญัติศัพท์ตั้งแต่อักษร A-Z รวมทั้งสิ้น 454 คำ ประชุมพิจารณาตั้งแต่พ.ศ. 2508-2513 ระหว่างที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์นั้น ท่านได้เสนอให้จัดพิมพ์พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ที่เสร็จแล้วออกมาก่อน ทางกรรมการเห็นชอบด้วย จึงได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2516



ในทางธรณีวิทยาแล้ว คุณสมาน เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนบุกเบิกและผลักดันให้เกิดการสำรวจปิโตรเลียมอย่างจริงจังขึ้นในประเทศไทย จนทราบว่ามีปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในบางส่วนของอ่าวไทย ท่านเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาผลประโยชน์มหาศาลของชาติในปิโตเลียมที่ค้นพบ โดยได้ร่วมในการร่างหลักเกณฑ์การอนุญาตสำรวจและหรือผลิตปิโตเลียม





ท่านได้ร่วมในการร่างกฎหมาย กำหนดพื้นที่ และแบ่งแปลงสำรวจ พิจารณาเลือกเฟ้นบริษัทที่เหมาะสมเป็นผู้รับสัมปทาน พิจารณาดูแลผลประโยชน์ที่รัฐได้รับจาการให้สิทธิสำรวจและสัมปทาน นอกจากนี้ยังเป็นผู้สำคัญในการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทย ในการเจรจาสิทธิและขอบเขตไหล่ทวีปกับประเทศข้างเคียงที่มีไหล่ทวีปติดต่อกับประเทศไทย

ทางการศึกษา ท่านได้ร่วมวางหลักสูตรของแผนกธรรีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแผนกธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเป็นอาจารย์สอนพิเศษแผนกเหมืองแร่ และเป็นผู้บรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆอีกหลายแห่ง

ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ท่านได้ริเริ่ม และผลักดันงานสำคัญ ได้แก่ งานพัฒนาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย งานสำรวจแร่โปแตชเพื่อใช้ทำปุ๋ย งานสำรวจแร่ยูเรเนียม งานสำรวจหินน้ำมัน งานสำรวจทรัพยากรธรณีจากดาวเทียม งานพิพิธภัณฑ์แร่-หิน งานพัฒนาแหล่งสังกะสีที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นต้น

คุณสมานนับเป็นนักธรณีวิทยาคนแรกของประเทศไทย ที่ได้รับเกียรติใช้ชื่อสกุล ตั้งเป็นชื่อของซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุทางธรรีวิทยาเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และชนิดใหม่ที่สุดของโลก ซึ่งท่านเป็นผู้ที่สำรวจพบด้วยตัวเอง ในหินทรายแดง ที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เมื่อต้นปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์เหล่านั้นเป็นหอยพวก Brachiopod และสัตว์อีกจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นต้นตระกูลของแมงดาทะเล ซึ่งสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว คือ Trilobite ซึ่งเพิ่มจะเคยพบเป็นครั้งแรก และเก่าเก่าที่สุดในประเทศไทย มีอายุประมาณ 500 ล้านปี หรือยุค Upper Cambrian นอกจากนั้นยังเป็นชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อนในโลกอีกด้วย

Professor Kobayashi (ผู้เชี่ยวชาญจาก Tokyo University) จึงได้ตั้งชื่อซากดึกดำบรรพ์นี้ให้เป็นเกียรติแก่คุณสมาน บุราวาศ ว่า “Eosaukia” buravasi n. sp. Kobayashi







งานสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่

1. เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณสมานได้เข้าร่วมในคณะผู้เข้าควบคุมและดำเนินการเหมืองทองโต๊โม๊ะ เดิมเป็นสัมปทานของบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส

2. รายงานเกี่ยวกับแร่ดีบุกและฟุลแฟรมของหมู่เหมืองปิล็อก ผาแป และอื่นของอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี กล่าวกันว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่รายงานว่า “แร่ดีบุก-วุลแฟรม ของเหมืองบางเหมืองในบริเวณนี้มีแร่กัมมันตรังสีปะปนอยู่ด้วย”

3. สำรวจแร่เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม จากแหล่งแร่อำเภอสอง จ. แพร่, เขาทับควาย จ. ลพบุรี, เกาะสมุย เป็นต้น

4. ศึกษาการกำเนิดของพลอย โดยศึกษาส่วนประกอบต่างๆของหินบะซอลท์ ที่ให้กำเนิดพลอยเหล่านี้ ซึ่งเป็นแนวทางให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและดำเนินต่อไป

5. สำรวจถ่านหินลิกไนท์ในภาคใต้ และที่แม่เมาะ จ.ลำปาง อีกทั้งเป็นนักธรณีวิทยาคนแรกที่ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงรายงานเกี่ยวกับหินน้ำมันที่แม่สอด

ในปี พ.ศ. 2501 ได้สำรวจแร่กำมันตรังสีทั่วประเทศ รวมทั้งแหล่งแร่ยูเรเนียมที่อำเภอภูเวียง จ.ขอนแกน และสำรวจอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2514 ผลที่ออกมาทำให้เป็นที่สนใจของคนทั้งโลก

6. สำรวจและค้นหาแร่โปแตซในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำปุ๋ย เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในราคาถูก

7. ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทัพยากรธรณี ท่านได้ส่งเสริมการศึกษาและสำรวจค้นหาทรัพยากรทางทะเล โดยร่วมมือกับสหประชาชาติ และสนับสนุนให้กองต่างๆร่วมมือกับนานาชาติโดยใช้ประโยชน์จากดาวเทียมในการสำรวจทรัพยากรธรณี

8. จัดทำเอกสารทางธรณีวิทยาแหล่งแร่ในประเทศไทยเล่มแรก โดยความร่วมมือกับสหรัฐ ซึ่งท่านต้องเดินทางไปทำงานร่วมกับนักธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา ที่ USGS กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเรียบเรียง ตรวจทานและแก้ไขเอกสารนี้ ในปี พ.ศ. 2493





นิสัยอย่างหนึ่งของท่านคือ ไม่ชอบแสดงตัวว่าเป็นคนใหญ่คนโตมาจากไหน มักแต่งตัวเหมือนชาวบ้าน เวลาออกป่าสำรวจ ชอบใช้ผ้าขาวม้าคาดพุงนุ่งกางเกงขาสั้นใส่เสื้อที่มีกระเป๋ามากๆ ในเรื่องอาหารการกินก็ง่ายๆ มีเพียงข้าวกับซีอิ้วหวาน หรืออาจมีเต้าหู้ยี้ ปลาทูเค็มอีกสักอย่างสองอย่างก็เพียงพอแล้ว

อาชีพการงานของนักธรณีวิทยานั้น ต้องทิ้งบ้าน ลูกเมียไว้ข้างหลัง ออกป่าเป็นเวลาแรมเดือน ใช้ชีวิตในป่าดง ขุนเขา ท้องทะเล กรำแดด กรำฝน ต้องทนต่อความร้อนความหนาว เผชิญก้บความเดียวดาย ความยากลำบาก โรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งสัตว์ร้ายสารพัดชนิด หรือโจรผู้ร้ายอีกเล่า แล้วยังต้องแก้ปัญหาทางการสำรวจไปด้วย ผู้ที่จะทำอาชีพนี้ได้ต้องมีใจรักจริงๆ



การออกสำรวจ ท่านชอบพักตามศาลาวัด เพราะเป็นศูนย์รวมข่าว ข้อมูล ในท้องถิ่นนั้น ท่านมักทราบข่าวการแหล่งฟอสซิลหลายแห่งจากเจ้าอาวาสหรือพระลูกวัด ศาลาวัดจึงเป็นที่นอนของคุณสมานอยู่บ่อยๆ เช้าวันหนึ่งคณะสำรวจของท่านตื่นขึ้น จึงรู้ว่าที่เมื่อคืนบ่นกันว่าได้กลิ่นเหม็นทั้งคืน มารู้คำตอบจากภาพที่เห็นว่า กลิ่นนั้นมาจากโลงศพที่อยู่ปลายเท้าที่พวกเขานอนเรียงกันเป็นแถวนั่นเอง

ชีวิตสมรสและครอบครัว ท่านได้สมรสกับคุณลอองมาศ เสตะสุข เมื่อ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ต่อมา มีบุตรสาว 1 คน

ในวัยหนุ่ม คุณสมานเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นนักกีฬาอยู่หลายประเภท เมื่อรับราชการเป็นนักธรณีวิทยา ได้ออกป่าสำรวจอยู่เป็นประจำ ต้องตรากตรำกับความยากลำบาก ไปในถิ่นทุรกันดาร และผจญกับโรคภัยไข้เจ็บเป็นระยะเวลานาน อันเป็นเหตุให้ร่างกาย ทรุดโทรมลง ท่านได้ถึงแก่กรรม เมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2520 ภายหลังลาออกจากราชการเพียงปีเศษ แม้ท่านจะจากไปนานหลายปีแล้ว แต่คุณงามความดีของท่านจะคงอยู่ตลอดไป
Create Date :25 กุมภาพันธ์ 2555 Last Update :2 มกราคม 2556 22:53:00 น. Counter : Pageviews. Comments :25