bloggang.com mainmenu search


น้ำท่วม ใช่ว่าคนเท่านั้นที่ต้องหาพื้นแห้งๆ อยู่เพื่อความปลอดภัย สัตว์มีพิษอย่าง 'ตะขาบ' ก็เช่นกัน แม้ในยามปกติมันจะซ่อนตัวอยู่ใต้ก้อนหิน บริเวณที่มีสภาพเย็นชื้น แล้วออกหาแมลงกินในตอนกลางคืน แต่เมื่อน้ำเอ่อท่วม ตะขาบก็ต้องหนีน้ำขึ้นมาเป็นธรรมดา หลายๆ คน จึงมักได้เห็นตะขาบกันได้บ่อยในช่วงนี้

ทว่าบังเอิญถูกตะขาบกัดเข้าก็ต้องปฐมพยาบาล เนื่องจากพิษของตะขาบจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดนั้นบวมแดง รู้สึกปวด และอาจชา บางคนหากแพ้พิษมากยังจะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และซึมลง แต่พิษของตะขาบในบ้านเรามักไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้โดยตรง

วิธีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น หากถูกกัดบริเวณแขนและขา พยายามห้อยส่วนดังกล่าวให้อยู่ต่ำ กรณีโดนกัดที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า แนะนำให้หาเชือกหรือผ้ามารัดที่ข้อนิ้วเอาไว้ เป็นการป้องกันพิษกระจายตัว

จากนั้นให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยน้ำด่างทับทิมช่วยฆ่าเชื้อโรค ตามด้วยการประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัดเพื่อลดปวดบวม และกินยาแก้ปวด

ขณะที่การปฐมพยาบาลแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการแนะนำให้แช่แผลที่ถูกกัดลงในน้ำส้มสายชู หรือใช้ยางมะละกอดิบป้ายแผลจะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้

อย่างไรก็ตาม หลังดูแลแผลเพื่อลดความเจ็บปวดแล้ว ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาทันที บางรายที่ปล่อยไว้ อาจเสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อ ปวดบวมมีหนอง เนื้อตายจนต้องตัดเฉือนทิ้ง.


ทีมเดลินิวส์ออนไลน์


Create Date :10 พฤศจิกายน 2554 Last Update :10 พฤศจิกายน 2554 7:49:51 น. Counter : Pageviews. Comments :1