bloggang.com mainmenu search


ร้ายวันละนิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แนะ 5 พฤติกรรมแย่แต่ดีต่อสุขภาพ

บางทีการทำตัวเป็นคนดีก็ไม่ได้ดีเสมอไป ฉันใดฉันนั้น การทำตามใจตัวเองบ้างที่อาจไม่ถูกต้องนักตามบรรทัดฐานทั่วไป อาจดีต่อสุขภาพ และต่อไปนี้คือ พฤติกรรมแย่ๆ ที่ว่า
1. สบถ

บางทีเวลาเดินสะดุด เราอาจพ่นคำที่ไม่รื่นหูนักออกมา นั่นเป็นเพระว่าการทำแบบนั้นทำให้รู้สึกดีขึ้น

งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยคีลของอังกฤษยืนยันเรื่องนี้ โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับอนุญาตให้สบถสามารถทนความเจ็บปวดได้นานขึ้น
ดร.ทิโมธี เจย์ ศาสตราจารย์จิตวิทยาจากแมสซาชูเสตส์ คอลเลจ ออฟ อาร์ตส์ ขานรับว่าการสบถเท่ากับเป็นการระบายความรู้สึกในใจออกมา
2. เคี้ยวหมากฝรั่ง

ตอนเด็กๆ หลายคนคงเคยถูกครูสั่งให้คายหมากฝรั่งทิ้ง วันนี้ เราอยากบอกครูเหล่านั้นจริงๆ ว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งโดยเฉพาะแบบไม่มีน้ำตาล ช่วยผ่อนคลาย ยับยั้งความเครียด และดีต่อสุขภาพฟัน
เดบรา เกรย์ คิง ทันตแพทย์จากแอตแลนตา อธิบายว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลายที่มีสารต่อต้านแบคทีเรียมาต่อสู้กับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุ
การที่มีแบคทีเรียน้อยลงยังส่งผลให้ลมหายใจสะอาดสดชื่น ฟันขาวขึ้นเพราะหมากฝรั่งช่วยขจัดคราบที่ติดอยู่
ผลทางอ้อมยังรวมถึงการที่หมากฝรั่งทำให้ปากไม่ว่างไปขบเคี้ยวขนมหวานหรือทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งทำให้คนที่พยายามลดน้ำหนักมีความหิวน้อยลง มิหนำซ้ำการเคี้ยวหมากฝรั่งยังเผาผลาญพลังงานได้ 11 แคลอรี่ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ นักวิจัยยังเชื่อว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งช่วยให้ตื่นตัวและมีสมาธิดีขึ้น
เช่นเดียวกับทุกอย่าง หากมากไปก็ไม่ดี การเคี้ยวหมากฝรั่งทำให้ร่างกายสูดอากาศเข้ามากขึ้น และผลคือแก๊สในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ หากเคี้ยวนานๆ ยังทำให้ปวดเมื่อยขากรรไกร และหมากฝรั่งที่มีน้ำตาลทำให้ฟันผุ
3. การระบาย

การเก็บกดความโกรธไว้ในอกอาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงและโรคร้ายอื่นๆ
บาร์บารา ไนท์ลิช นักบำบัดจิตจากเบฟเวอรีฮิลล์ ชี้ว่าการแสดงความรู้สึกช่วยลดความกังวลและความเครียด จิตใจผ่อนคลาย ระบบภูมิคุ้มกันจึงทำงานได้ดีขึ้น แต่การคิดว่าเมื่อได้ระบายออก ความโกรธจะหายไปนั้นเป็นความคิดผิดถนัด
ทางออกคือการควบคุมความคิดในวิธีที่สงบและชัดเจนเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง เป้าหมายคือก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่จมอยู่กับความคับแค้นและความโกรธ วิธีระบายที่ดีมีอาทิ การกรี๊ด (ในพื้นที่ส่วนตัวหรือในที่ที่มีเสียงดังกว่ากลบ เช่น เวลาเครื่องบินออก) ทุบหมอน หายใจเข้า-ออกลึกๆ
การออกกำลังกายช่วยระบายความโกรธได้เช่นเดียวกัน ที่แนะนำเป็นพิเศษคือการชกมวย
4. ดื่ม (แต่พองาม)

แม้ยังเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุดว่าจริงๆ แล้วการดื่มดีหรือไม่ดี แต่นักวิจัยจากสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา บอกว่าการดื่มแอลกอฮอล์เล็กๆ น้อยๆ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ อาการหัวใจวาย รวมถึงโรคเบาหวานประเภท 2 มะเร็งทั้งหลายทั้งปวง และโรคอัลไซเมอร์
ประเด็นสำคัญที่ควรท่องขึ้นใจคือ ดื่มวันละนิดจิตสดใส มาตรฐานที่ยอมรับทั่วไปคือ 1 แก้วสำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย (1 แก้วเท่ากับเบียร์ 12 ออนซ์, ไวน์ 5 ออนซ์ และเหล้ากลั่น 1.5 ออนซ์)
ดร.จอห์น เอ็ม เคนเนดี้ ผู้ร่วมแต่ง ‘เดอะ 15 มินิต ฮาร์ต เคียว: เดอะ เนเชอรัล เวย์ ทู รีลีส สเตรสส์ แอนด์ ฮีล ยัวร์ ฮาร์ต อิน จัสต์ มินิตส์ อะ เดย์’ ชี้ว่าเอธานอลในแอลกอฮอล์ช่วยเพิ่มเอชดีแอล หรือคลอเรสเตอรอลชนิดดี และปกป้องการก่อตัวของหินปูน ขณะที่ไวน์แดงมีสารประกอบธรรมชาติที่ปกป้องหลอดเลือดอุดตัน
แต่สำหรับคนที่ไม่ดื่ม ไม่จำเป็นต้องพยายาม เพราะสามารถรับสารอนุมูลอิสระคล้ายกันเหล่านี้ได้ในองุ่น ช็อกโกแลต และกาแฟ
5. อยู่ไม่สุข-หลุกหลิก

อาการนี้ดีต่อคุณเช่นกันเพราะช่วยเผาผลาญไขมัน ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ปวดหลังและข้อน้อยลง
ซาราห์ ไรต์ ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญโรคสมาธิสั้น ระบุว่าการอยู่ไม่นิ่งทำให้ความจำดีขึ้น
อาการอยู่ไม่สุขประกอบด้วยการทำกิจกรรมที่ไร้เหตุผล เช่น หากกำลังเขียนหนังสือ อาการอยู่ไม่สุขอาจเป็นการเคี้ยวหมากฝรั่งหรือหมุนปากกา หากกำลังฟัง อาจหมายถึงการถักนิตติ้ง แกว่งเท้า เป็นต้น


FW

Create Date :23 สิงหาคม 2554 Last Update :23 สิงหาคม 2554 7:31:05 น. Counter : Pageviews. Comments :0