bloggang.com mainmenu search


การเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละครั้งถึงจะเป็นการท่องเที่ยวสถานที่เดิมๆที่เคยสัมผัสมาแล้ว แต่ถ้าเราเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวให้ใหม่ขึ้นก็จะได้อีกหนึ่งมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม อย่างการมาเยือนอุบลราชธานีครั้งนี้ผมได้เลือกการ นั่งรถสามล้อชมเมือง มาเติมสีสันให้การท่องเที่ยวมีเสน่ห์มากขึ้น

ถ้าพูดถึงจังหวัดอุบลราชธานีหลายคนคงคิดถึงแต่สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างสามพันโบก แต่วันนี้ผมจะพาไปลัดเลาะรอบเมืองโดยนั่งสามล้อปั่นสุดคลาสสิกโดยจุดมุ่งหมายแรกคือ วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี วัดนี้มีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง คือ พระแก้วบุษราคัม ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวอุบลราชธานีมายาวนาน

หลังจากเสร็จจากการกราบไหว้พระแก้วบุษราคัม เพื่อเป็นการเสริมศิริมงคลในการมาเยือนอุบลราชธานีครั้งนี้แล้ว ขบวนรถสามล้อปั่นเคลื่อนตัวไปต่อยังสถานที่ถัดไป ซึ่งตลอดเส้นทางที่รถสามล้อปั่นผ่านจะเห็นได้ถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนเมืองนี้ ถึงจะเริ่มมีความเจริญเข้ามาจนเกือบจะเหมือนกรุงเทพฯแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่ทิ้งมนต์เสน่ห์ดั้งเดิมไป นั่งใจลอยชมความงามได้สักพักรถก็มาจอดที่จุดหมายที่สอง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร นับเป็นวัดแสนเงียบสงบที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ โดดเด่นด้วยตัวพระอุโบสถสีขาวสะอาดตา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งไหลผ่านทางทิศใต้ของตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นได้ทั้งจุดพักผ่อนหย่อนใจเพื่อชมความงามของธรรมชาติ และพักจิตใจให้สงบเพื่อสักการบูชาสิ่งศักสิทธิ์พร้อมตั้งสมาธิได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการมาเยือนในครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าหลายครอบครัวทั้งนักท่องเที่ยว และคนพื้นถิ่นเลือกที่จะเดินทางมาที่นี่เพื่อพักผ่อนในวันหยุด

โดยมัคคุเมเทศก์ท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่าจุดประสงค์แรกที่มีการสร้างพระอุโบสถขนาดใหญ่ของวัดนี้คือ ต้องการให้เป็นที่ประดิษฐานของพระสัพพัญญูเจ้า ซึ่งเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม และใช้ประโยชน์ในการประกอบพุทธศาสนพิธี ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมของสงฆ์โดยตรง หรือพิธีกรรมที่มีพุทธศาสนิกชนร่วมด้วยก็ตาม ซึ่งในวันสำคัญทางศาสนาที่นี่จะเต็มไปด้วยผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วสารทิศ

รถสามล้อปั่นท้าลมเย็นกันมาต่อที่จุดหมายสุดท้ายของเรา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่ถนนเขื่อนธานีตัดกับถนนอุปราช อ.เมือง เดิมเป็นศาลากลางจังหวัด รูปทรงอาคารโดดเด่นสะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น ตั้งแต่สีอาคารซึ่งเป็นสีเหลืองสดใส ตัวอาคารเป็นตึกชั้นเดียวยกพื้นสูง ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงปั้นหยา แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ ภายในอาคารประกอบด้วยห้องโถงใหญ่อยู่ตรงกลาง มีระเบียงทางเดินและห้องขนาดเล็กอยู่โดยรอบ

แบ่งโซนการจัดแสดงภายในอาคารออกไว้อย่างชัดเจนและเรียบง่ายที่จะเข้าชม อีกทั้งยังมีเข้าหน้าที่คอยดูแลและให้ความรู้ตลอดการเข้าชมไม่ว่าจะมากลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ มีการจัดแสดงทั้งหมด 10 ห้องคือ ห้องจัดแสดงที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี ห้องจัดแสดงที่ 2 ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ห้องจัดแสดงที่ 3 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ห้องจัดแสดงที่ 4 สมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเจนละ (ขอมหรือเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร) ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 15

เพียงแค่ 4 ห้องในโซนแรกผู้ร่วมเดินทางทุกคนต่างตื่นตาตื่นใจกับความรู้ใหม่ที่ได้รับจากสถานที่แห่งนี้ ถึงจะดูเป็นพิพิธภัณฑ์รูปแบบเดิมๆไม่ต่างจากที่อื่นมากนัก แต่เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นอยู่ในทุกจุดเป็นความรู้ที่ไม่สามารถหาได้จากในตำราแน่นอน ยิ่งเข้ามาลึกในอีก 6 ห้องที่เหลือความรู้ด้านประวัติศาสตร์ก็จะถูกนำเสนอผ่านรูปแบบต่างๆเพิ่มความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มจาก ห้องจัดแสดงที่ 5 วัฒนธรรมขอมหรือเขมรสมัยเมืองพระนคร ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 ที่นำโบราณวัตถุต่างๆมาเป็นตัวนำเสนอ และมาต่อกันที่ ห้องจัดแสดงที่ 6 วัฒนธรรมไทย-ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 – 25 ซึ่งอยู่ติดกับ ห้องจัดแสดงที่ 7 ผ้าโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี โดย 2 ห้องนี้จะทำให้ทุกคนได้เห็นถึงวัฒนธรรมของไทยและลาวที่มีทั้งจุดเหมือนและต่างที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เดินชมเรื่องราวต่างๆมาเรื่อยจนถึงโซนสุดท้ายที่เน้นเรื่องราวพื้นบ้านในยุคที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นทั้ง ห้องจัดแสดงที่ 8 ดนตรีพื้นเมือง ห้องจัดแสดงที่ 9 ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรือน และ ห้องจัดแสดงที่ 10การปกครอง และงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา ซึ่งถึงจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะชมและฟังบรรยายจนครบทุกห้องจัดแสดง แต่ผู้ร่วมเดินทางทุกคนกับไม่มีทีท่าของความเบื่อหน่าย กลับกลายเป็นสีหน้าเปื้อนรอยยิ้มและความสนุกสนานมากกว่า

การเดินทางท่องเที่ยวทุกครั้งจะมีความประทับใจแตกต่างกันไป ถึงแม้จะเป็นสถานที่ที่เคยไปบ่อยครั้ง แต่ถ้ารู้จักเปิดมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวทุกครั้ง เราก็จะสามารถเที่ยวทีไหนก็ได้โดยไม่น่าเบื่อและรู้สึกดีตลอดเวลา

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Create Date :02 กรกฎาคม 2554 Last Update :2 กรกฎาคม 2554 8:46:36 น. Counter : Pageviews. Comments :2