bloggang.com mainmenu search


ในยุคเราต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคต้องใส่ใจกับฉลากโภชนาการที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งการอ่านฉลากก่อนซื้อก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราได้รับสารอาหารตรงตามความต้องการ เนื่องจากฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่จะบอกว่าอาหารนั้นผลิตที่ใด รวมถึงส่วนประกอบ การปรุง การเก็บรักษา วันผลิตและ/หรือหมดอายุ การใช้สารหรือวัตถุเจือปน ตลอดจนคำเตือน และการได้รับอนุญาตหรือผ่านการตรวจสอบจาก อย.หรือไม่

นอกจากนี้ ฉลากโภชนาการ ก็จำเป็นต้องอ่าน เนื่องจากเป็นส่วนที่แสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารนั้นอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Nutrition Information” ที่ระบุรายละเอียดของชนิดและปริมาณสารอาหารที่มีในอาหารนั้นไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รักและใส่ใจสุขภาพ หรือผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นต้น เพราะจะช่วยให้ทราบถึงชนิดและปริมาณสารอาหารที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารนั้น ๆ ทำให้เลือกบริโภคอาหารได้ตรงตามภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล และสามารถนำมาเปรียบเทียบ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อที่ให้ประโยชน์มากที่สุด

การแสดงฉลากโภชนาการ มี 2 รูปแบบ คือ 

1.ฉลากโภชนาการแบบเต็ม เป็นฉลากที่แสดงชนิดและปริมาณสารอาหารที่สำคัญที่ควรทราบ 15 รายการ (ดังภาพตัวอย่าง) สำหรับฉลากที่มีความสูงจำกัด สามารถแสดงฉลากโภชนาการเต็มรูปในลักษณะแบบแนวนอนหรือแบบขวางตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ได้

2.ฉลากโภชนาการแบบย่อ ใช้ในกรณีที่สารอาหารตั้งแต่ 8 รายการ จากจำนวนที่กำหนดไว้ 15 รายการนั้นมีปริมาณน้อยมากจนถือว่าเป็นศูนย์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแสดงให้เต็มรูปแบบฉลากโภชนาการ

สำหรับวิธีอ่านฉลากโภชนาการนั้น ขอแนะหลักง่ายๆ ดังนี้...ดู "หนึ่งหน่วยบริโภค" คือ ปริมาณการกินต่อครั้งที่ผู้ผลิต แนะนำให้ผู้บริโภคกิน ซึ่งได้มาจากค่าเฉลี่ยการกินของคนไทย หนึ่งหน่วยบริโภคจะแสดงให้เห็นทั้งปริมาณที่เป็นหน่วยครัวเรือน เช่นกระป๋อง ชิ้น ถ้วย แก้ว เป็นต้น ตามด้วยน้ำหนัก …กรัมหรือ ปริมาตร…มิลลิลิตร ในระบบเมตริก ตัวอย่างเช่น ลิ้นจี่ในน้ำเชื่อมเข้มข้น บรรจุกระป๋อง จะต้องระบุปริมาณ ที่เห็นง่าย และน้ำหนัก หรือปริมาตร ดังนี้ “หนึ่งหน่วยบริโภค : 4 ลูก (140 กรัม รวมน้ำเชื่อม)”

ดู "จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ" หมายถึง อาหารในบรรจุภัณฑ์นั้น กินได้กี่ครั้ง เช่น นมพร้อมดื่ม หากหนึ่งหน่วยบริโภคคือ 1 กล่อง หรือ 250 มิลลิลิตร จำนวนครั้งที่กินได้ก็คือ 1 แต่หากเป็นขวดลิตร ควรแบ่งกิน (ตามหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง) ครั้งละ 200 มิลลิลิตรซึ่งจะกินได้ถึง 5 ครั้ง

ดู "คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค" เป็นการอธิบายว่า เมื่อกินตามปริมาณที่ระบุในหนึ่งหน่วยบริโภคแล้ว จะได้พลังงานเท่าใด สารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าใดและปริมาณนี้ คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณที่เราควรได้รับต่อวัน

และดู "ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน" คือ ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายถึง ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่มีในหนึ่งหน่วยบริโภค เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน เช่น ถ้าอาหารนี้ให้คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 8 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายความว่าเรากินอาหารนี้ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคเราจะได้รับคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 8 และเราต้องกินอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตจากอาหารอื่นอีก ร้อยละ 92

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการดูร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันนั้น ยังต้องเข้าใจด้วยว่า โปรตีน น้ำตาล วิตามินและเกลือแร่ จะแสดงเป็นร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันเท่านั้น เพราะโปรตีนมีหลากหลายชนิดและ คุณภาพแตกต่างกัน การระบุเป็นร้อยละจะทำให้เข้าใจผิดได้ ส่วนน้ำตาลนั้นปริมาณร้อยละเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดอยู่แล้ว ขณะที่วิตามินและเกลือแร่ ปริมาณความต้องการของร่างกายมีค่าน้อยมาก การแสดงปริมาณของวิตามินและเกลือแร่ที่มีอยู่จริงอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้

อีกหลักเช็คฉลากโภชนาการ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ แนะเช็ค 4 อย่าง เช็คที่ 1 เช็คว่าปริมาณพลังงานต่อ 1 หน่วยบริโภคเท่าไหร่ เช็คที่ 2 เช็คปริมาณไขมันและไขมันอิ่มตัวมีเท่าไหร่ ในหนึ่งวันเราควรได้รับไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 20 กรัมต่อวัน เพราะไขมันอิ่มตัวเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คอเรสตอรอลในร่างกายสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ

เช็คที่ 3 เช็คว่ามีปริมาณน้ำตาลเท่าไหร่ แต่ละวันเราควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชา น้ำตาลที่ได้รับเกินกว่าที่ต้องการ จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมทำให้เป็นโรคอ้วน และส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา  และเช็คที่ 4เช็คปริมาณเกลือ(โซเดียม)เท่าไหร่ ในหนึ่งวัน เราควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม การได้เกินจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง

ครั้งต่อไป อย่าลืมสละเวลาอ่านฉลากโภชนาการกันสักหน่อยนะคะ เราจะได้กินให้เหมาะสม พอดี และมีสุขภาพดีกันค่ะ.



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Create Date :02 มิถุนายน 2556 Last Update :2 มิถุนายน 2556 10:50:28 น. Counter : 1643 Pageviews. Comments :0