bloggang.com mainmenu search



ต้องยอมรับว่าพวกฝรั่งหรือฮอลลีวู้ดนี่ช่างละเมียดละไมจริง ๆ ทั้งกังฟูแพนด้าภาคแรกและภาคสองทำหนังได้ดีมากทั้งกราฟฟิกและเนื้อหา สนุกตื่นเต้นและตลก และต้องยอมรับว่าทีมงานเขียนบททำการบ้านได้ดีมาก แม้ว่าจะเป็นฝรั่งแต่สามารถนำหลักธรรมะของตะวันออกมาใช้แทรกในเนื้อหาที่เป็นการ์ตูนได้อย่างลงตัวทั้งสองภาค

โลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ

โดยในภาคแรก ผมเห็นหลักธรรมะในตอนที่ปรมาจารย์กำลังคัดเลือกผู้รับสืบทอดวิชากังฟู แพนด้าซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องต้องการเข้ามาดูการประลองแต่เข้าผ่านประตูไม่ได้จึงใช้พลุจุดแล้วบังเอิญตัวพุ่งมาตกที่หน้าปรมาจารย์ ปรมาจารย์จึงเลือกเป็นผู้สืบทอดวิชาสูงสุด และแม้อาจารย์รองจะทักว่าไม่ได้ แต่เป็นเรื่องบังเอิญ ปรมาจารย์ก็ยังยืนยันเลือกแพนด้าเป็นผู้สืบทอดวิชา และย้ำในเวลาต่าง ๆ กันถึง 3 ครั้งว่า ในโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ จนผมเองสะดุดกับประโยคนี้ และค้นพบว่าในช่วงชีวิตช่วงนั้นมีหลายเรื่องที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เช่น บังเอิญได้ไปบวชที่จังหวัดพิจิตรทั้ง ๆ ที่อาศัยอยู่หาดใหญ่ บังเอิญเจอเพื่อนเก่าที่กรุงเทพก่อนไปบวชจึงได้มีโอกาสร่วมบุญกัน บังเอิญนั่งสมาธิจนลมหายใจหาย บังเอิญแชมพูเข้าตาจนต้องนั่งสมาธิตลอดชีวิต และเรื่องบังเอิญอีกหลายเรื่องภายในเวลาแค่ไม่กี่เดือน และที่เรียกว่าบังเอิญสุด ๆ คือหลังจากดูหนังเรื่องกังฟูแพนด้าแล้วและยังติดใจกับคำว่าในโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ ก็บังเอิญไปอ่านหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งชื่อหลงทางบุญและมีหัวข้อบทหนึ่งว่า เรื่องบังเอิญไม่มีจริง” “นายบังเอิญตายไปตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วและขยายความว่าคนส่วนใหญ่ใช้คำว่าบังเอิญเพราะไม่รู้ที่มาที่ไป เมื่อไม่สามารถตอบได้ว่าสาเหตุใดทำให้เกิดจึงเรียกว่าบังเอิญ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อสิ่งนี้เกิด จึงเกิดอีกสิ่ง เรียกว่าต้องมีที่มาที่ไป ผมจึงกลับมาย้อนคิดและเชื่อว่าไม่มีเรื่องบังเอิญ ทุกสิ่งล้วนมีที่มาซึ่งถ้าเป็นทางที่ดีเราอาจเรียกว่าเป็น ธรรมะจัดสรร

จิตปล่อยวาง

พอมาภาคสอง ผมก็ได้ข้อคิดธรรมะอีก นั่นคือปรมาจารย์จะย้ำอยู่สามครั้งว่า จิตปล่อยวาง โดยแสดงให้แพนด้าเห็นความมหัศจรรย์ของจิตปล่อยวางโดยเมื่อมีหยดน้ำหยดลงใกล้ตัว ปรมาจารย์สามารถใช้มือรองและส่งต่อหยดน้ำระหว่างมือซ้ายและขวาสลับกันโดยสภาพหยดน้ำและปล่อยลงใบบอนก็ยังมีสภาพเป็นหยดน้ำ

ผมก็ลุ้นต่อไปว่าจะใช้เรื่องอะไรเป็นจิตปล่อยวางก็ปรากฏว่า ช่วงสำคัญซึ่งเป็นจุดไคลแมกซ์ของหนังคือเหล่าตัวร้ายระดมยิงปืนใหญ่เข้าหาแพนด้าซึ่งแพนด้าไม่มีอาวุธใดจะสู้เลยแต่มีสตินึกถึงคำสอนเรื่องจิตปล่อยวางจึงใช้วิชากังฟูผสมกับจิตตั้งมั่น ทันใดนั่นเอง ลูกปืนใหญ่ที่พุ่งมาอย่างรวดเร็วกลับเหมือนกับจะช้าลงจนเห็นได้ชัด แพนด้าจึงใช้มือรับลูกปืนใหญ่อย่างละมุนละม่อมและผลักกลับไปหาตัวร้ายจนชนะในที่สุด

มหัศจรรย์เคยเกิดมาแล้ว

จากภาพยนตร์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์เป็นไปไม่ได้ แต่ในชีวิตจริงจะเห็นได้ว่ามีเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดจากจิตมากมายที่เป็นที่ยอมรับ เช่น การที่พระวัดเส้าหลินสามารถใช้ลำคอโน้มแท่งเหล็กให้งอได้อย่างเหลือเชื่อ การสะกดจิตให้ใช้แผ่นกระดาษตัดดินสอ การใช้มือฟันแท่งอิฐให้ขาดได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งการใช้สมาธิและสติอย่างสูงทำให้เกิดปัญญาแก้ปัญหาต่าง ๆ ของนักวิทยาศาสตร์ได้ เช่น ปัญหาการจอดของยานอพอลโลบนดาวอังคารที่ฝรั่งและดร.อาจอง ใช้เวลาเป็นปี ๆ คิดหาทางออกไม่ได้ แต่หลังจากดร.อาจอง นั่งสมาธิบนเขา 5 วันกลับพบวิธีจอดยานอพอลโลบนดาวอังคารได้ ส่วนผมเองก็มีเรื่องมหัศจรรย์เล็ก ๆ คือสมัยก่อนเมื่อนั่งสมาธิถึงประมาณ 40 นาทีก็จะรู้สึกเกิดเหน็บชาและทรมานจนทนไม่ไหว แต่หลังจากจิตตั้งมั่นและสู้ตายครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากนั้น จิตรู้สึกปล่อยวางและทนต่ออาการเหน็บชาได้อย่างมหัศจรรย์เหมือนกายส่วนกาย จิตส่วนจิต

ปล่อยวางไม่ใช่วางเฉย

อย่างไรก็ตาม การใช้คำพูดต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ตีความได้ต่าง ๆ นานา หากศึกษาไม่ละเอียดแค่เพียงฟังไม่กี่คำแล้วนำไปใช้อาจจะผิดพลาดได้ เช่น การปล่อยวางนั้นบางคนคิดว่าเป็นการวางเฉย การวางเฉยหมายถึงยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่การปล่อยวางหมายถึงการเน้นที่การปฏิบัติแต่ไม่ได้หวังผล ถ้ายกตัวอย่างให้ง่ายคือการเมตตา ที่เป็นหนึ่งในพรหมวิหาร 4 ที่หากเราคิดเมตตากับใครก็ตาม แล้วได้พยายามแล้วแต่กลับช่วยไม่ได้ ก็ต้องยึดหลักอุเบกขา หรือปล่อยวางและคิดว่าเป็นกรรมของคน ๆ นั้น แต่กลับกัน หากเรายึดติดว่าเค้าไม่ยอมให้เราช่วยหรือเราไม่สามารถช่วยได้ นั่นจะทำให้เรายิ่งมีความทุกข์ ดังนั้นสรุปคือต้องรู้จักปล่อยวางให้เป็น แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าเองเคยไปขวางทัพมาโจมตีเมืองของญาติพระพุทธเจ้าถึง 2 ครั้ง แต่เมื่อครั้งที่สามก็ไม่ได้ไปขวาง เมื่อพระอานนท์ถามว่าทำไม พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าถึงเวลาที่เค้าจะชดใช้กรรมของเค้าแล้ว

ปล่อยวางจากกิเลส

นอกจากนี้ คำว่าจิตปล่อยวาง ผมมองว่าเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนาทีเดียว เพราะเป้าหมายของเจ้าชายสิทธัตถะคือหาหนทางดับทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดของมนุษย์ที่จะทำได้ แต่สำหรับเราชาวพุทธ นับว่าเป็นโอกาสดีมหาศาลที่เรามีพระพุทธเจ้าทรงชี้นำทาง โดยผมขอสรุปง่าย ๆ ว่าการดับทุกข์ของพระพุทธองค์ทำได้โดยการตั้งมั่นเป็นสมาธิอย่างแรงกล้า เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง จิตจะสอนจิตให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนถึงกฏไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ทุกสิ่งไม่เที่ยง) ทุกขัง (ทุกสิ่งไม่สามารถทนสภาพเดิมได้) และอนัตตา (ทุกสิ่งไม่มีตัวตน เราไปกำหนดให้มีเอง) เมื่อนั้นจิตจะปล่อยวางจากกิเลสมูล (สิ่งที่ทำให้เกิดกิเลส) คือ โลภ โกรธ หลง เพราะไม่แปลกเมื่อเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง เราก็จะไม่หลงกับสิ่งยั่วยุต่าง ๆ เมื่อเราเข้าใจว่าทุกสิ่งไม่มีตัวตน เราสมมติไปทั้งนั้น เราก็จะไม่โกรธเพื่อนมนุษย์ และไม่โลภอยากได้ของมาปรนเปรอตัวเราที่ไม่ใช่ตัวเรา

เมื่อคิดได้เช่นนี้ กิเลสที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดการเกิดในชาติต่อไปก็จะไม่มี คน ๆ นั้นก็จะไม่เกิดในชาติต่อไปแล้ว แต่จะไปสู่แดนนิพพาน ที่ ๆ จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไปซึ่งเป็นเป้าหมายของชาวพุทธทุกคน

CityVariety

Create Date :29 มิถุนายน 2554 Last Update :29 มิถุนายน 2554 8:00:55 น. Counter : Pageviews. Comments :1