bloggang.com mainmenu search


เมื่อเปิดกระเป๋า สตางค์เพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการ พบเห็นธนบัตรสองใบ ใบหนึ่งใหม่เอี่ยม ใบหนึ่งเก่า คุณหยิบใบใหม่หรือใบเก่าออกมาจ่าย?

ทุกคนที่ผมถามตอบเหมือนกันว่า "ใบเก่าน่ะซี" (ไม่น่าถาม)

ทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน ธนาคารทุกแห่งเตรียมสำรองธนบัตรใหม่เอี่ยมสำหรับให้ลูกค้าแลก เพื่อแจกอั่งเปาแก่คนที่รัก

ทำไม? ใช่ไหมว่านี่เป็นสัญชาตญาณเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง? ของไม่ดีเพื่อคนอื่น ของดีเพื่อคนที่รัก?

บางทีมันบอกว่า โดยส่วนลึกเราทุกคนเป็นคนเห็นแก่ตัว

จริงหรือ? แล้วเราจะอธิบายการที่คนทำอาหารอย่างดีที่สุดไปทำบุญอย่างไร? หรือว่าการทำบุญก็เพื่อตัวเองนั่นเอง?

พ่อแม่หลายคนบอกว่า "ฉันรักลูกของฉันมาก ถึงขนาดยอมตายแทนลูกได้" ผมเชื่อว่าพวกเขาพูดจริงและทำจริง

แต่ ในสถานการณ์คับขันที่อาจเกิดอันตรายกับตัวเอง ปฏิกิริยากับความเชื่ออาจสวนทางกับสัญชาตญาณเอาตัวรอด ยกตัวอย่างเช่น หากมีงูสองตัวตกลงมาบนตัวคุณกับลูกพร้อมๆ กัน คุณจะปัดงูตัวไหนออกก่อน?

ความ เห็นแก่ตัวในระดับสัญชาตญาณไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นการเอาชีวิตรอดตามกฎธรรมชาติ โปรแกรมนี้ฝังในตัวเราแต่แรกปฏิสนธิ แม้การพัฒนาของสิ่งที่เรียกว่าความรัก ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน อาจช่วยขัดเกลาสัญชาตญาณดิบออกไปได้บ้าง แต่ความเห็นแก่ตัวยังคงอยู่ บางครั้งซ่อนอยู่ในเปลือกของความรัก!

พ่อแม่จำนวนมากอยากให้ลูกของ ตนเรียนวิชาที่ตนเองต้องการ โดยไม่สนใจว่าลูก(ที่ตนรัก) คิดอย่างไร เหตุผลคลาสสิกที่บอกลูกคือ "เพราะพ่อแม่รักลูกมาก อยากให้ลูกได้ดิบได้ดี" แต่บางทีอาจแฝงความเห็นแก่ตัวของตนอยู่ลึกๆ

ชีวิตในโลกปัจจุบัน เอื้อให้มนุษย์เราเห็นแก่ตัวได้ง่ายขึ้นทุกที และเป็นความเห็นแก่ตัวที่ดูน่าเกลียดน้อยลง ข้ออ้างคือความเร่งรีบของชีวิต ความมั่นคงของชีวิต ฯลฯ

นักการตลาดเข้าใจเรื่องนี้ดี และนิยมใช้คำกระตุ้นเชิงจิตวิทยาย้อนศรว่า "จำกัดให้ซื้อเพียงคนละสองชิ้น"

ชาว พุทธใช้การกำจัดความเห็นแก่ตัวเป็นหนทางไปสู่การลดทุกข์ เครื่องมือลดละความเห็นแก่ตัวก็คือการทำทานทั้งกายทั้งใจ สะท้อนในวิถีชีวิตของคนไทยโบราณ ตั้งแต่การทำบุญ การวางภาชนะใส่น้ำหน้าบ้านสำหรับผู้ผ่านทางที่กระหาย การแบ่งปันอาหารแก่เพื่อนบ้าน

ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งละ เลิก ปล่อยวางเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุข

....................................

เมื่อหย่อนเหรียญในขันของขอทานริมทาง คุณถือโอกาสกำจัดเหรียญสลึงที่รกกระเป๋าไปด้วยหรือไม่?


ขอบคุณที่มา :: บทความโดย วินทร์ เลียววาริณ
Create Date :01 พฤษภาคม 2554 Last Update :1 พฤษภาคม 2554 19:40:34 น. Counter : Pageviews. Comments :1