bloggang.com mainmenu search
ผู้ที่ติดตามข่าวคราวแวดวงสาวงาม มักได้ยินข่าวกระเส็นกระสายออกมาเสมอ ถึงความขัดแย้งในส่วนแบ่งระหว่างนางงามกับผู้ส่งสาวงามเข้าประกวด บางรายอาจแค่เป็นข่าวลอยลม บางรายออกมาแฉกันตามสื่อต่าง ๆ หนักหน่อยอย่าง นางณัฐฐาวดี วินสิริ ผู้ส่ง ลดา เองชวเดชาศิลป์ เข้าประกวดจนคว้ามงกุฎมิสไทยแลนด์เวิลด์ และรางวัลก้อนใหญ่มาได้ ถึงกับเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า "ลดา" ไม่ทำตามสัญญาแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการประกวด

ผู้ส่งนางงามเข้าประกวด มีความสำคัญอย่างไร ลงทุนไปมากแค่ไหน ดูแล้วก็ไม่เห็นจะยากเย็น แค่ไปเล็งผู้หญิงรูปร่างหน้าตาดี ทาบทามเข้าประกวด ช่วยดูแลเรื่องความงาม เพียงเท่านี้หรือจึงมาขอส่วนแบ่งก้อนโตจากนางงาม ที่ดูเหนื่อยยากแทบตาย ต้องอดอาหาร ต้องตรากตรำเก็บตัว ทำกิจกรรม อดทนสารพัดสารพัน กว่าจะได้มงกุฎมาสวมศีรษะ !!

นางณัฐฐาวดี วินสิริ พี่เลี้ยงนางงามผู้มีส่วนช่วยนางงามคว้ามงกุฎมาหลายคนเล่าว่า 10 กว่าปีแล้วที่ส่งสาวงามเข้าประกวดนางงามในเวทีระดับชาติ การทำงานจะเริ่มตั้งแต่การดูรูปร่างหน้าตา การศึกษาของเด็ก จากนั้นติดต่อและนำมาอยู่ที่บ้านด้วยเพื่อฝึกเรื่องการเดิน การตอบคำถาม ดูจุดบกพร่องพาไปทำศัลยกรรมตั้งแต่หัวจรดเท้า ผิวพรรณหยาบกร้านต้องพาไปขัดสีฉวีวรรณ กรีดตาสองชั้น เสริมจมูกให้โด่ง แม้กระทั่งหน้าอก ก็ต้องพาไปเสริมให้เต่งตึง รูปทรงใหญ่กว่าที่ธรรมชาติให้มา เคยมีนางงามที่ยังโด่งดังอยู่ทุกวันนี้ มีหน้าอกข้างเดียวก็ต้องพาไปเสริมอีกข้างให้สมดุลกัน อีกคนต้องถอนฟันหน้าถึง 4 ซี่ ใส่ฟันปลอมแทน เพราะฟันเดิมเหลืองจากยาสเตียรอยด์ เรียกว่าทั้งเนื้อทั้งตัวพี่เลี้ยงต้องควักกระเป๋าจ่ายไปก่อน สูงสุดก็ปาเข้าไปเหยียบแสนกว่าบาท ไม่รวมกับค่ากินอยู่พาหนะที่คอยรับส่งเวลาไปไหนมาไหน


ลดา เองชวเดชาศิลป์


คุณแอ๊ะเผยว่า ยิ่งไม่ได้ผู้สนับสนุนพี่เลี้ยงก็ต้องจ่ายเอง เมื่อใดที่เด็กเข้าประกวดแล้วไปไม่ถึงรอบ 10 คนสุดท้าย พี่เลี้ยงไม่ได้อะไรเลยเท่ากับเสียเงินค่าศัลยกรรมให้สาวงามคนนั้นไปฟรี ๆ แต่ถ้าได้เข้าชิงมงกุฎ มีตำแหน่งมาครองพร้อมรางวัลในเงื่อนไขที่เป็นกติกาตกลงกับเด็ก คือเด็กได้ 60 เปอร์เซ็นต์ พี่เลี้ยงได้ 40 เปอร์เซ็นต์

"เมื่อก่อนเงินรางวัลไม่ได้มากมายขนาดนี้ ก็จะมีเกณฑ์แบ่งคือ เงินรางวัลพี่เลี้ยงได้ 40 เปอร์เซ็นต์ รถหมายถึงการตีเป็นราคารถยนต์พี่เลี้ยงได้ 30 เด็กได้ 70 แต่ในยุคหลังเงินรางวัลเพิ่มขึ้น พี่เลยตั้งกติกาตกลงกับเด็กว่าถ้าได้รางวัลที่ 1, 2, 3 แบ่ง 50-50 แต่พี่คิดเฉพาะส่วนแบ่งที่เป็นเงินรางวัล แต่พวกของรางวัลรถยนต์ยกให้เด็ก"

แม้จะแบ่งเป็นกฎเกณฑ์การแบ่งรางวัลหลังจากได้ตำแหน่งนางงามออกมาอย่างเป็นสัดส่วน เป็นที่เข้าใจของทั้งสองฝ่าย ก่อนขึ้นเวทีการประกวดก็ตาม แต่เมื่อบังเอิญโชคเกิดเข้าข้างให้สาวงามในค่ายได้สวมมงกุฎ วินาทีหลังจากนั้นคุณแอ๊ะเผย มีหลายคนที่เปลี่ยนความคิดและเล่นแง่ทันที โดยหลังจากได้เงินมาก็บ่ายเบี่ยงไม่ให้บ้าง อ้างสารพัดเหตุผล บางคนพอได้ตำแหน่งมีชื่อเสียงก็เริ่มลบคำว่าพี่เลี้ยงออกไปจากชีวิตเลย ไม่มีแม้กระทั่งคำทักทายที่แสดงถึงความมักคุ้นกันมาแต่อดีต

"เมื่อวันหนึ่งเด็กได้ตำแหน่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม น้อยคนนักที่จะแวะเวียนมาทักทายเราเหมือนเดิม ส่วนมากจะลืมพี่เลี้ยงกันหมดมีทั้งเชิดหน้าใส่ ทำเป็นไม่รู้จัก ทั้งที่ก่อนเข้าวงการพี่เลี้ยงปรือให้ทุกอย่างยังลืมกันได้ ตรงนี้เจ็บปวดมากกว่าการบ่ายเบี่ยงเลี่ยงที่จะแบ่งเงินรางวัลเสียอีก ยิ่งถ้าส่งคนอื่นมาพูดเรื่องส่วนแบ่งแทน พี่ถือว่าไม่ให้เกียรติกัน คนเราศักดิ์ศรีมันมี ไม่อยากให้ใครดูถูกน้ำใจพี่เลี้ยง เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ทุกคน พี่เชื่อว่าเพราะใจรักทั้งนั้น ไม่ใช่ต้องการได้เงินจากนางงาม เพราะใช่ว่าส่งทุกคนแล้วได้ตำแหน่งทุกคน บางปีสาวงามที่ส่งตกรอบทุกคน พี่เลี้ยงไม่ได้อะไรเลยก็มี "คุณแอ๊ะบอกด้วยน้ำเสียงสื่ออารมณ์






คร่ำหวอดในแวดวงนางงามมากว่า 40 ปี นางชุลี ใจยงค์ วัย 72 ปี เปิดเผยถึงหลักปฏิบัติการเป็นพี่เลี้ยงนางงามของตนว่า ต้องพิจารณาทั้งรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณจนพึงพอใจ จากนั้นเริ่มพาเด็กมาฝึกทั้งการเดิน การนั่ง การแต่งหน้าแต่งตัว ระหว่างนั้นจะเริ่มดูจุดบกพร่องแล้วค่อยช่วยกันแก้ไขโดยพาไปทำศัลยกรรมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น บางคนต้องพาไปเสริมดั้งให้โด่ง ทำหน้าอก กรีดตาสองชั้น ฉีดคาง เอาไฝ ฝ้า กระออก และต้องพาไปอาบน้ำแร่แช่น้ำนมอยู่นานเพื่อให้ผิวพรรณขาวเนียน

การทำศัลยกรรมกับสาวงามจะขึ้นประกวดเวทีขาอ่อนแต่ละครั้ง ป้าชุลีแจงว่า บางคนต้องลงทุนเป็นแสนบาท เฉพาะศัลยกรรมไม่รวมค่าเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ถ้าครั้งไหนเด็กมาขอเบิกล่วงหน้าเป็นค่ารถ ค่าเทอม หรือส่งให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดก่อนพี่เลี้ยงต้องจ่าย และต้องดูแลกันอย่างนี้ไปจนถึงวันประกวดในรอบสุดท้าย ยิ่งพี่เลี้ยงหาผู้สนับสนุน ที่มาประดับชื่อบนสายสะพายไม่ได้ งานนั้นมีแต่ควักเนื้อ



ป้าชุลี ใจยงค์


ถ้าสาวงามคนไหนได้เข้ารอบสิบคนสุดท้ายและมีลุ้นตำแหน่ง ป้าชุลีบอกว่า "ป้าส่งเด็กมาเยอะ เสียค่าใช้จ่ายไปก็แยะ ถ้าเด็กได้ตำแหน่งมีเกณฑ์แบ่งรางวัลให้ 40 เปอร์เซ็นต์ เด็กเอาไป 60 ที่ผ่านมาเด็กที่ป้าส่งเข้าประกวดมีได้ตำแหน่งหลายคน มีคนพูดว่า ป้าชุลีรวยเละแล้ว จริง ๆ ป้าไม่รวยเลย เพราะบางคนก็ให้ป้าบ้าง ไม่ให้บ้าง แต่ป้าไม่อยากมีปัญหา ฟ้องร้องกันถึงโรงถึงศาล อีกอย่างป้าคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นความสุข เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร เพราะตัวเรามีความภูมิใจในอาชีพนี้ คนอื่นจะดูถูกว่าหากินกับเด็กก็แล้วแต่เขา แต่เราคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นกุศลคือ เปลี่ยนชีวิตเด็กสาวจากที่มีสภาพชีวิตที่ไม่ค่อยสุขสบาย มาสุขสบายมีชื่อเสียง เขาจะลืมเราก็ไม่เป็นไร เรารู้ว่ามีส่วนให้ชีวิตพบความสุขก็พอ"






นางศรีเวียง ตันฉาย พี่เลี้ยงนางงามวัย 65 ปี เล่าประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงนาน 30 ปีว่า จะสรรหาเด็กสาวที่มีแววมาฝึกซ้อมความพร้อมด้านต่าง ๆ ทั้งบุคลิกภาพ มารยาทในสังคมโดยนำมารวมตัวกันอยู่ที่บ้านของตนเป็นค่ายฝึกนางงาม จากนั้นเริ่มมองถึงรูปหน้า รูปร่างของแต่ละคนแล้วพาไปแก้ไข ส่วนที่บกพร่องคล้ายกับพี่เลี้ยงนางงามคนอื่น ๆ ที่พา เด็กไปฟอกฟันให้ขาว, ใส่เขี้ยว, เสริมจมูก กรีดตาสองชั้น ทำหน้าอก ฉีดคาง แต่ละคนจะใช้เงินไม่ต่ำกว่าแสนบาทถ้าไม่มีผู้สนับสนุนก็ต้องจ่ายเอง พอเสร็จสิ้นการประกวดค่อยให้เด็กผ่อนจ่ายมาตามกำลัง


เมื่อโชคเข้าข้างสาวงามในสังกัดป้าศรีเวียงเข้าไปครองมงกุฎ จะแบ่งของรางวัลทั้งหมด เมื่อก่อนแบ่งเป็น 60 เปอร์เซ็นต์เป็นของนางงาม 40 เปอร์เซ็นต์เป็นของพี่เลี้ยง เดี๋ยวนี้เงินและของรางวัลมากขึ้น เปลี่ยนเป็น 50-50 เท่ากัน ซึ่งกติกานี้ป้าศรีเวียงคิดว่ายุติธรรมที่สุด

"ของป้าคิดของรางวัลและเงินรางวัลทั้งหมดต้องแบ่งกัน 50-50 ใน กรณีที่นางงามได้ตำแหน่ง ส่วนใครที่ตกรอบ เราพาไปทำศัลยกรรมก็ค่อยนำเงินมาเจียดส่งป้าคืน ไม่ใช่ว่าเราโหด แต่ของที่ทำเป็นของติดตัวเด็กไป ถือว่ายุติธรรมดี ที่ผ่านมาป้าเคยเจอปัญหาเรื่องส่วนแบ่งที่ไม่ลงตัวมาครั้งหนึ่งและเตรียมยื่นเรื่องฟ้องร้องเหมือนกัน แต่ผู้ใหญ่ที่รู้จักเบรกไว้ก่อนกลัวเรื่องจะดัง จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ส่วนแบ่งก็ยกประโยชน์ให้เขาไป ถือว่าทำบุญ"


ป้าศรีเวียง ตันฉาย



ป้าศรีเวียงยืนยันว่ากล้าพูดได้เลยไม่มีสาวงามคนใด ที่เดินเข้ามาประกวดโดยไม่มีพี่เลี้ยง "ทุกคนมีพี่เลี้ยงหมด เพียงแต่เขาไม่บอก เวทีนางงามขาดพี่เลี้ยงไม่ได้หรอกเป็นของคู่กัน ส่วนผลประโยชน์ เป็นเรื่องยุติธรรมใครจะว่า พี่เลี้ยงหากินกับเด็ก ไม่โกรธเขาพูดไม่ผิด เพราะทั้งนางงามและพี่เลี้ยงก็เหมือนทำธุรกิจร่วมกัน ให้นึกตอนที่เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงแล้ว บางคนเชิดใส่ หางตายังไม่แล ลืมไปเลยว่าใครเป็นคนฝึกเขามา เด็กบางคนมีแค่กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ ไม่มีสมบัติติดตัวมาขอให้เราช่วยส่งประกวด พอมีชื่อเสียงก็มาดูถูกพี่เลี้ยงนางงาม ไม่ไยดี แถมยังบอกว่าที่ฉันได้มายืนบนจุดนี้เพราะตัวเอง ไม่ใช่พี่เลี้ยง ป้าว่าคนเราถ้าเป็นนางงามต้องสวยข้างนอกและข้างในจิตใจ อย่าหลอกตัวเอง อย่าดูถูกน้ำใจพี่เลี้ยงนางงาม เพราะเขาก็เป็นคนเหมือนกัน"

เรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใครอยู่แล้ว แม้แต่สายเลือดเดียวกันยังบาดหมางกันได้ นับประสาอะไร ที่พี่เลี้ยงกับนางงามที่มาเจอกันเพราะผลประโยชน์ จะไม่สะบั้นความสัมพันธ์กันง่าย ๆ.

บทความจากนสพ.เดลินิวส์ เมษายน 2547
Create Date :18 สิงหาคม 2551 Last Update :18 สิงหาคม 2551 0:52:09 น. Counter : Pageviews. Comments :3