bloggang.com mainmenu search


“ชนันภรณ์ รสจันทน์” สาวมากความสามารถผู้ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศไทยด้วยตำแหน่งมิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์ส 2548 พร้อมความมุ่งมั่นสานฝันการเป็นนักบินของเธอ แต่กว่าจะได้เป็นนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง แล้วนักบินหญิงจะเท่เก๋ไก๋ขนาดไหน เธอจะพิสูจน์ให้คุณรู้...




สาวติดดินอยากโบยบิน


สาวผู้รักท้องฟ้าอย่าง “น้อด” เล่าว่าเธอเป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไป เป็นคนสบายๆ ไม่เรื่องมาก อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ กินของท้องถิ่นได้ ไม่เคยมีปัญหากับอาหาร กินได้หมด ค่อนข้างง่าย ทำตามกฎเกณฑ์ได้ค่อนข้างดี ส่วนยามว่างก็จะอ่านหนังสือ เล่นเปียโน หรือถ้าว่างจัดๆ บวกกับอารมณ์ติสต์ๆ ก็จะนั่งวาดรูป แต่ด้วยอาชีพนักบินทำให้หันมาชื่นชอบการถ่ายภาพมากขึ้น

“ตั้งแต่มาเป็นนักบินจะได้เห็นวิวสวยๆ เยอะมาก คิดว่าใครมาเป็นทุกคนจะต้องซื้อกล้อง ใช้ Nikon D200 แล้วพอมีกล้องก็จะเริ่มบ้า Accessory เดี๋ยวแฟลช เดี๋ยวเลนส์ก็แพงเหมือนกัน คือถ่ายรูปทั้งในที่พักวิวสวยๆ วันไหนไม่มีเที่ยวบินก็ไปเดินถ่ายรูปในเมือง แต่ที่ถ่ายบ่อยๆ ก็คือบนเครื่อง คิดว่ามันเป็นอะไรที่เท่อะ ถ่ายท้องฟ้า ภูเขาไฟ แบบถ่ายเล่นๆ เพราะชื่นชอบ แต่ยังไม่เก่งถึงขั้นโปรหรอก”

ผู้ช่วยนักบินมาดนิ่งบอกต่อว่า จริงๆ แล้วเป็นนักบินก่อนไปประกวดนางงามที่เธอคว้าตำแหน่งมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สมาครอง

อยากทำมาตั้งแต่เด็กไม่เคยมองอาชีพอื่นเลยด้วยความคุ้นเคย นอกจากจะขึ้นเครื่องบินครั้งแรกตอนอายุ 11 เดือนแล้ว คุณแม่ยังเป็นพนักงานบริการของการบินไทย ซึ่งเมื่อก่อนหากกัปตันอนุญาตก็สามารถเข้าไปในห้องนักบินได้ คุณแม่ชวนไปดูห้องนักบินครั้งแรกจำแล้วว่าเข้าได้ก็เข้าตลอด การเดินซนรอบห้องผู้โดยสารจึงน้อยลงเพราะเข้าไปอยู่ในห้องนักบินแทน

“เห็นห้องนักบินครั้งแรกประทับใจมาก เพราะเมื่อก่อนปุ่มเยอะนี่คะ รอบตัวมีปุ่มหมด แต่เดี๋ยวนี้พัฒนาระบบ ย่อขนาดลงเป็นระบบรวม แล้วเดี๋ยวนี้ใช้นักบินน้อยลงกว่าเมื่อก่อน ก็รู้สึกว่าตื่นตาตื่นใจ ทำไมคนพวกนี้เก่งจังเลย เท่มาก เป็นงานที่ซับซ้อนยุ่งยาก จึงอยากเป็นเอามากๆ ส่วนคุณแม่ไม่อยากให้เป็นแอร์โฮสเตส เพราะเป็นงานที่ลำบาก ต้องมีจิตใจรักในงานบริการสูงมาก”

เธอได้ฝึกงานที่การบินไทย แต่การฝึกงานด้านการบินนั้น ดูได้แต่ตามืออย่าต้องของจะเสีย เพราะทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับการบินจะต้องได้รับใบอนุญาต เป็นกฎหมายที่มีองค์กรควบคุมอย่างเข้มงวด และต้องทำตามอย่างเคร่งครัด



สนามสอบสุดโหด


กว่าจะมาเป็นนักบินได้ต้องผ่านการสอบของสายการบินหลายขั้นตอน ด่านแรกคือ สอบวิชาความรู้ทั่วไป มีคนมาสมัครนับพัน ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เน้นวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ ความรู้ด้านการบิน ความรู้ทั่วไป และอีกครึ่งหนึ่งคือข้อสอบภาษาอังกฤษ

ต่อมาคือขั้นตอนการตรวจร่างกายว่าสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดีไหม ตรวจสายตา การฟัง และวัดสัดส่วนร่างกาย ซึ่งจะตัวยาวขาสั้นไม่ได้ สูงอย่างเดียวไม่ได้ สัดส่วนแขนขาต้องดีต่อร่างกาย ส่วนหนึ่งคือต้องนั่งขับเป็นเวลานาน รวมทั้งความเหมาะสมในการนั่งบังคับควบคุมแผงเครื่องมือต่างๆ ของเครื่องบิน และมีการตรวจร่างกายปกติทุกปี จะเข้มข้นมากในครั้งแรกเท่านั้น

หลังจากนี้คือการสัมภาษณ์ทั้งจากแผนกบุคคล ฝ่ายบริหาร กัปตันหลายท่าน ถามตอบเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วไปในชีวิตเรา มีประสบการณ์อะไรบ้าง รู้จักบริษัทและเครื่องบินดีแค่ไหน ซึ่งเธอสามารถนำประสบการณ์การฝึกงานที่การบินไทยมาตอบได้อย่างดี เมื่อพูดคุยเรื่องทั่วไปแล้วจะเข้าสู่ภาวะการกดดัน

รวมไปถึงการทดสอบความถนัดในสายอาชีพนี้ สอบเป็นกลุ่ม ทดสอบไอคิว และสัมภาษณ์นักจิตวิทยาการบินแบบตัวต่อตัวด้วย ซึ่งบริษัทจะคัดผู้สอบจากหลักพันให้เหลือเพียง 40 คนเท่านั้น แม้จะไม่รู้ว่าเธอได้อันดับที่เท่าไรแต่สิ่งหนึ่งที่ภาคภูมิใจคือคะแนนภาษาอังกฤษอันดับ 1 ของเธอ



เป็นผู้หญิงแล้วไง?



คุณน้อดบอกว่านักบินหญิงในประเทศไทยยังน้อยอยู่มาก โดยมีประมาณ 20 กว่าคนเท่านั้นที่เป็นนักบินพาณิชย์ แบ่งเป็นแอร์เอเชีย 8 คน บางกอกแอร์เวย์ส, นกแอร์, เอส.จี.เอ. ในขณะที่ผู้ชายมีมากกว่า 2,000 คน

ส่วนอุปสรรคและความแตกต่างในการเป็นนักบินหญิงและชายคือ ความแข็งแรงของร่างกายที่เพศหญิงย่อมไม่แข็งแรงเท่าผู้ชายอยู่แล้ว ผู้หญิงที่แข็งแรงที่สุดจะไม่แข็งแรงเท่าผู้ชายที่แข็งแรงที่สุด เรียกได้ว่าเป็นสัจธรรมที่ต้องยอมรับ แต่ดีที่ว่าอาชีพนี้ไม่ได้ใช้กำลังเพียงอย่างเดียว

ทุกคนฝึกฝนมาเหมือนกันทุกขั้นตอน จึงมีพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน แต่ในเรื่องของอัตราส่วนนักบินชายและหญิงนั้น เหมือนกับเป็นโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วน ซึ่งการจะเข้าไปปะปนในสังคมของเพศตรงข้ามที่ไม่มีความคุ้นเคยกันย่อมเป็นเรื่องยาก



“ตรงนี้น้อดก็เข้าใจว่าพี่ๆ ที่ทำงานในบริษัทหรือสายงานนี้มาก่อนไม่คุ้นเคยกับการทำงานกับผู้หญิง เพราะฉะนั้นจึงต้องหาจุดร่วมที่มีอะไรที่เข้ากันได้ ทำให้เป็นผลดีขึ้นมา ปรับตัวเข้าหากัน แต่ตอนนี้พี่ๆ เขาก็ค่อนข้างชินแล้ว กัปตันหลายคนที่อาวุโสแล้วก็จะเอ็นดูเราเหมือนลูก ซึ่งนักบินมีการเกษียณตามกฎหมายใหม่ที่อายุ 65 ปี แต่หลังจาก 60 ปี คือบินแต่ในประเทศเท่านั้นและต้องบินกับนักบินที่อายุน้อยกว่าเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าอีกคนหนึ่งสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์เผื่ออีกคนเป็นอะไรไป”

เมื่อถามว่าอาชีพนักบินเหมาะกับผู้หญิงไหม เธอมองว่าเหมาะกับคนที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งลักษณะต้องห้าม 5 อย่างที่นักบินไม่ควรมีคือ เห็นอุปสรรคแล้วยอมแพ้ ปฏิบัติรวดเร็วเกินไปไม่คิดให้รอบคอบ มองโลกในแง่ร้าย มั่นใจในตัวเองมากเกินไป และคนที่ไม่เชื่อฟังกฎเกณฑ์ ผู้บังคับบัญชาพูดแล้วไม่ฟังไม่ทำตาม

ปัจจุบันสาวน้อดยังอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยนักบิน โดยจะสามารถเลื่อนขั้นไปเป็นนักบินได้นั้นจะต้องผ่านการสอบเสียก่อน ซึ่งต้องมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกให้ได้รับพิจารณาในการเลื่อนขั้น ต้องมีชั่วโมงบินแล้วประมาณ 3,000 ชั่วโมง รวมถึงความต้องการกัปตันของบริษัทด้วย หากกัปตันเพียงพอกับจำนวนเครื่องแล้วก็ต้องเป็นผู้ช่วยนักบินต่อไป



ไฟลต์นี้ต้องจดจำ


ประสบการณ์ที่ประทับใจตั้งแต่เป็นนักบินมา หนึ่งสิ่งที่ประทับใจและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน คงหนีไม่พ้นการขึ้นบินครั้งแรก ซึ่งโดยทั่วไปมักเคยชินกับการโดยสารเครื่องบินลำใหญ่ แต่การฝึกบินครั้งแรกใช้เครื่องบินเล็ก ไม่ใช่เครื่องบินบรรทุกผู้โดยสารทั่วไป จึงไม่รู้ว่าเครื่องจะมีอาการต่อกระแสลมแปรปรวนอย่างไร

“ขึ้นไปครั้งแรกคือแบบปังๆๆ คือลมพัดแล้วเครื่องบินก็เซไปเซมาตลอดเวลา บินครั้งแรกก็เกร็งอยู่แล้ว ต้องฝ่าฟันลม เป็นความรู้สึกแบบกล้าๆ กลัวๆ แต่ยังไงก็ต้องกล้าไม่ยอมตาย ต้องไปให้รอด แต่ก็ยังกลัวๆ เพราะเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยชิน เป็นอาณาเขตที่เราไม่เคยล่วงล้ำเข้าไป”

ส่วนไฟลต์ที่ประทับใจสุดๆ คือไฟลต์ที่บินไปกับบัดดี้เรียนการบิน ซึ่งสนิทกันมาก เป็นไฟลต์บินด้วยเครื่องบินเล็กซึ่งใช้กฎ Visual flight rules : VFRที่ต้องขึ้นบินในช่วงสภาพอากาศดีเท่านั้น ขาไปอากาศดี แต่ขากลับต้องมาเจอกับเรื่องสุดระทึก



“ตอนนั้นคือต้องบินจากอุบลราชธานีไปขอนแก่น ก็น่าจะใช้เวลาชั่วโมงหนึ่งสำหรับเครื่องบินเล็ก แล้วพอใกล้จะถึงก็เกิดกระแสลมแรง เมฆฝนเต็มไปหมด วอล์ไปถามเพื่อนก็บอกให้ไปต่อเพราะยังเห็นพื้นดิน สักพักฝนซ่าลงมาเลย แล้วเครื่องบินเล็กมันเหมือนปั่นจักรยานไม่ใช่เครื่องใหญ่ คันบังคับไม่มีไฮดรอลิกช่วย แล้วบัดดี้คนนี้ก็ขอนอนอยู่ด้านหลังนักบิน เพราะเขาขับขามาแล้วขอพักหน่อย ทริปนั้นคือต้องเจอกับอากาศแปรปรวนมาก เพื่อนเขานอนไม่ติดเลยได้ชื่อทริปนี้ว่า ทริปหมอนลอย (หัวเราะ)”

ผู้โดยสารแต่ละเที่ยวบินของนักบินหญิงคนนี้ก็สร้างความประทับใจไม่น้อย หลายคนจะยังไม่ลงจากเครื่องทันทีแต่รอให้นักบินออกมาเพื่อถ่ายรูป ให้ของขวัญ และกำลังใจมากเป็นพิเศษ

สุดท้ายสาวหน้าหวานผู้คลั่งไคล้เครื่องบินขอเผยสเปกหนุ่มว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินเหมือนกัน แม้การทำอาชีพเดียวกันจะมีความเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งหากเธอมีครอบครัวคงจะไม่ทำงานแต่อยู่กับลูกที่บ้านดีกว่าและขอให้ว่าที่คุณพ่อนั้นเป็นคนดีก็พอแล้ว

รายงานโดย ทีมข่าว M-Lite/ASTVสุดสัปดาห์
ภาพโดย ศิวกร เสนสอน

ประวัติ
ชื่อ-สกุล : ชนันภรณ์ รสจันทน์ (น็อต)
วันเกิด : 8 มีนาคม 2525
การศึกษา : มัธยมต้น ร.ร.ร่วมฤดีวิเทศศึกษา
มัธยมปลาย Francis Lewis High School จากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ศึกษาภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงาน : ตำแหน่งมิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์สปี 2548
รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในเวทีการประกวดนางงามจักรวาล 2548
ตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟ ในรายการจูเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ที่ซานดิเอโก ปี 2534 – 2538
ปัจจุบันทำงานเป็นผู้ช่วยนักบิน สายการบินแอร์เอเชีย
Create Date :03 กรกฎาคม 2553 Last Update :3 กรกฎาคม 2553 11:39:02 น. Counter : Pageviews. Comments :0