bloggang.com mainmenu search


รางวัล ชุดประจำชาติ บนเวทีนางงามจักรวาล 2005 ก่อให้เกิดเสียงแสดงความยินดีปนเสียงคัดค้าน หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน เมื่อพูดถึงเครื่องแต่งกายบนเวทีนางสาวไทยจนถึงมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส รวมถึงชุดราตรีสั้น-ยาวและชุดประจำชาติที่นางงามสวมขึ้นประชันบนเวทีนางงาม จักรวาลในต่างแดน ชื่อ ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์ เจ้าของและ ผอ.โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจมาโดยตลอด กระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาชื่อของลำยงค์ และ ระพี ได้ห่างหายไปจากเวทีประกวดนางงาม

"สุขภาพไม่ค่อยดี อายุมากขึ้นจึงลดบทบาทลง อีกอย่างคนที่เคยร่วมงานกันมาก็ไม่มีติดต่อให้เข้าร่วมสนับสนุนในเรื่อง เสื้อผ้าเหมือนเคย" ลำยงค์ หรือที่ใครๆเรียกกันว่า ป้ายงค์ ในวัย 77 ปี ที่ต้องอาศัยไม้เท้าช่วยในการเดินบ้าง บอกว่ามีปัญหาเรื่องเข่าและปวดหลัง นั่งเขียนแบบยังไม่ทันเสร็จก็ลงไปนอน สักพักจึงลุกขึ้นมาเขียนใหม่ ลูกๆบอกให้หยุดทำงาน แต่ยังไม่อยากหยุด เพราะเป็นสิ่งที่รักและเคยทำ ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์ ย้อนอดีตว่า ทำงานสนับสนุนเสื้อผ้าในการประกวดนางสาวไทยและมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส กับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มาเป็นเวลา 14 ปี ตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งนอกจากดูแลเรื่องชุดแล้วยังเป็นคณะกรรมการตัดสินนางสาวไทยอีกด้วย เมื่อผู้ได้รับตำแหน่งในปีนั้นคือ ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ต้องเดินทางไปประกวดนางงามจักรวาลที่ประเทศไต้หวัน ระพีเตรียมออกแบบอีกหลายชุดเพื่อใช้ในการประกวดทั้งชุดราตรีสั้น ราตรียาว และชุดประจำชาติจนได้รับรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมรวมถึงปุ๋ยก็ได้ รับมงกุฎนางงามจักรวาลเช่นกัน ป้ายงค์กล่าวว่าที่เลือกชุดไทยจักรีประยุกต์ เพราะได้รับความคิดมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นำมาประยุกต์ เพราะให้เหมือนทีเดียวก็คงไ่ม่เหมาะ ประกอบกับชุดไทยจักรีใช้เวลาในการแต่งตัวไม่ยากนัก หากเป็นชุดไทยจักรพรรดิ อาจจะยุ่งยากเพราะต้องแต่งคนเดียว การออกแบบและการเลือกชุดจึงต้องคำนึงถึงความสะดวกสบาย ว่องไว กระฉับกระเฉง และสื่อถึงศิลปวัฒนธรรมไทย



กว่า จะออกมาเป็นชุดประจำชาติที่ได้รับรางวัลระดับโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ป้ายงค์เผยว่า ปัญหาอยู่ที่ผ้าเนื่องจากปุ๋ยสูงมาก ผ้าไทยที่ทอออกมาไม่พอ ผ้าไทยขนาดปกติเมื่อนำมาตัดเย็บจะสั้นเกินไป จึงแก้ปัญหาโดยประยุกต์นำท่อนเสื้อลงมาทบผ้านุ่ง ขณะนั้นมีเวลาในการทำชุดประมาณ 10-12 วันเท่านั้น ถือว่าเวลาน้อยมาก ลงมือออกแบบและเขียนแพทเทิร์นเอง ให้ช่างฝีมือผู้ชำนาญการตัดเย็บช่วยกันประมาณ 10 คน ทั้งวันทั้งคืน แต่ละคนเหนื่อยกันมาก ไม่ได้หลับได้นอน ทีมนี้พัก อีกทีมก็มาทำต่อเพื่อให้ชุดเสร็จทันก่อนเดินทาง



ป้า ยงค์ยังเปิดใจอีกว่า "รู้สึกภูมิใจมากที่ชุดได้รับรางวัล เพราะเป็นปีแรกที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องเสื้อผ้าและตั้งใจทำให้ไปอวดคนทั่ว โลกโดยเฉพาะ ยังไม่เคยตัดให้ใครมาก่อนและตัดเพียงชุดเดียว นอกจากนั้นในปีเดียวกันยังออกแบบชุดไทยจักรีให้รองนางสาวไทยอันดับ 1 คือ ปรียานุช ปานประดับ เข้าประกวดมิสเอเชียแปซิฟิกที่ฮ่องกง และได้รับรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมอีกด้วย และในปีต่อๆมาก็ยังออกแบบให้นางสาวไทยหลายคน อย่างเช่นชุดไืทยบรมพิมานประยุกต์ให้ยลดา รองหานาม ใส่ประกวดนางงามจักรวาลที่ลาสเวกัส จนได้รางวัลรองอันดับหนึ่งชุดแต่งกายประจำชาิติ" จากประสบการณ์คร่ำหวอดในการออกแบบชุดประจำชาติเพื่อเข้าประกวดต้องอาศัย ปัจจัยหลายอย่าง เพราะผู้หญิงมีจุดบกพร่องในตัวเอง นอกจากคำนึงว่าชุดนี้เคยทำไปแล้วหรือยัง ต้องดูในเรื่องของเวลาอีกด้วย หากเวลาน้อยไปชุดอาจไม่สวยสมบูรณ์ตามต้องการ ที่สำคัญคือความงาม ความเหมาะสมของผู้สวมใส่ รูปร่าง หน้าตา สีผิว บางคนอาจมีแผลที่หัวไหล่ แขน ขา ก็ต้องเลี่ยง และออกแบบชุดเพื่อให้เขาสวยที่สุด



ป้ายงค์ยังคงแสดงฝีมืออยู่เรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2546 ไม่มีชื่อลำยงค์และระพีบนเวทีการประกวดอีก เนื่องจากไม่ได้รับการติดต่อจากกองประกวด ซึ่งจุดนี้เจ้าตัวขอพูดในส่วนที่เข้าใจเองว่า ปีนั้นสุขภาพไม่ดี เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง กองประกวดยังส่งสาวงามไปเยี่ยม คงเห็นว่าสุขภาพไม่ดี ประกอบกับคงเบื่อแบบเพราะแต่ละชุดป้ายงค์มีจุดยืนที่ว่า ทำชุดให้สวย โก้หรู เรียบสง่างาม ไม่หวือหวา นอกจากนั้นป้ายงค์ยังเสริมอีกว่า "กองประกวดคงชอบแบบหวือหวา โป๊นิดๆ เพราะในระยะหลังๆแนะให้เราออกแบบจากผ้าเนื้อบาง ซึ่งเมื่อต้องการเราก็สามารถทำให้ได้ แต่ปีนั้นทางกองประกวดไม่ได้มีการส่งหนังสือเชิญแต่อย่างใด ตลอดจนไม่ได้มีการพูดคุยกัน จึงเป็นอันว่าไม่ได้ทำงานมาจนถึงปัจจุบันนี้ คิดว่าคงเป็นเรื่องของสุขภาพของเราด้วย จึงต้องวางมือจากวงการนางงาม แต่ถ้าให้ทำเราก็สามารถทำให้ได้ เพราะเรามีทรัพย์สินและบุคลากรที่มีความสามารถ หลังจากไม่ได้ทำงานให้กับกองประกวดนางสาวไทยและมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สแล้ว ก็กลับมาทำงานที่เคยทำอยู่ก่อนนั่นก็คือรับตัดชุดแต่งงาน ชุดเจ้าสาว ชุดสุภาพสตรีสำหรับใส่ในวันเข้ารับการแต่งตั้งเป็นคุณหญิงต่างๆ"



14 ปีเต็มที่รังสรรค์ชุดสวยให้นางงามสวมใส่เข้าประกวด จนถึงวันนี้มีชุดเก็บไว้มากมาย ป้ายงค์จึงนำเสื้อผ้าทั้งชุดไทยในแบบต่างๆ ชุดราตรีสั้น ราตรียาว ชุดผ้าไหม หลายแบบหลากสี หลายขนาดออกมาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าทุน บางชุดออกแบบมาให้ผู้เข้าประกวดใส่เพียงครั้งเดียว หรือบางชุดยังไม่เคยใส่เลยก็มี ราคามีตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป โดยเปิดจำหน่ายที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีมาระยะหนึ่งแล้วและจะเปิดต่อไป เรื่อยๆ ผู้ที่สนใจสามารถไปชมและเลือกซื้อได้ทุกวัน หรือสอบถามได้ที่หมายเลข 02-253 4466 ทั้งที่ใจจริงป้ายงค์อยากเก็บไว้ทั้งหมดแต่จำกัดในเรื่องของเนื้อที่ที่ใช้ เก็บ แต่มีบางชุดที่รักและหวงแหนอย่างชุดไทยจักรีประยุกต์ที่ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ใส่ประกวดนางงามจักรวาลจนได้รับรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมคงไม่ได้ นำออกมาจำหน่าย อยากเก็บไว้เป็นที่ระลึกมากกว่า แม้ว่าในวันนี้ป้าลำยงค์แห่งโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีได้จากพวกเราไปแล้ว แต่พวกเราก็ยังเคารพและยังรำลึกถึงผู้ที่มีบทบาทกับวงการเสื้อผ้าและชุดแต่งกายประจำชาติไทยที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย รักและเคารพป้ายงค์เสมอครับ

ที่มา
คุณ Dolce_Romanzo จาก t-pageant.com
Create Date :19 เมษายน 2554 Last Update :19 เมษายน 2554 19:29:23 น. Counter : Pageviews. Comments :0