bloggang.com mainmenu search
โดย เกิดศิริ กัณหะวัฒนะ

เมื่อไม่นานมานี้ ชื่อของ อ้วน อารีวรรณ จตุทอง ถูกกล่าวถึงอีกครั้ง เมื่ออดีตสามีซาดิสม์ เจ้าของฉายา “เอ็ม แรมบ้า” ก่อคดีลวงข่มขืนถ่ายคลิปสาวปริญญาโท กระทั่ง 3 ส.ส.หญิงเหล็ก ต้องออกโรงวอนสื่อยุติพาดพิงถึงชื่ออดีตภรรยา ดีกรีรองนางสาวไทยปี 2537 คนนี้ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และเรื่องราวคดีอื้อฉาวซึ่งเธอถูกอดีตสามีทารุณกรรมนั้น ล่วงเลยมานาน 10 กว่าปีแล้ว

ตลอดเวลา 13 ปีที่ผ่านมา นอกจากช่วยคุณแม่ดูแลกิจการอพาร์ตเมนต์ เธอก็ใช้ชีวิตมุ่งมั่นกับการร่ำเรียนกฎหมาย ตั้งแต่ปริญญาตรี แถมควบบทบาทนักข่าวนักเขียนให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

เธอมักปรากฏตัวตามงานสัมมนาวิชาการต่างๆ ในแวดวงกฎหมาย โดยเฉพาะว่าด้วยเรื่องสิทธิสตรี กระทั่งต่อระดับปริญญาโท สำเร็จเป็นนิติศาสตร์มหาบัณฑิต

“มาตรการทางกฎหมาย ในการส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมทางการเมือง”

นั่นคือ ชื่อวิทยานิพนธ์ชิ้นเอก ซึ่งนำทางให้เราไปพบปะพูดคุยกับเธอ แล้วคุณจะเห็นว่าผู้หญิงคนนี้ช่างคิดด้วยมุมมองเชิงวิเคราะห์ พร้อมทัศนคติทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม ไม่เหมือนภาพนางงามโชคร้ายที่เคยขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์มาก่อน




* ย้อนไป ทำไมตัดสินใจเรียนกฎหมาย

คนเช่าอพาร์ตเมนต์ที่เรียนธุรกิจบัณฑิตมาเล่าให้ฟังว่า มีทุนศิลปินนักแสดงสื่อมวลชน ก็ไปลองสมัครดู ตอนนั้นปี 2540 ยังคารังคาซังปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ ซึ่งอ้วนก็อึดอัด ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล ต้องฟ้องคดี อ้วนไม่รู้ อ้วนไม่เข้าใจ อ้วนเกิดในโลกของสังคมพยาบาล เป็นผู้หญิงที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้แง่มุมการฟ้องหย่า ประมวลกฎหมายอะไรเลย

พูดตรงๆ เมื่อก่อนเห็นสามีภรรยาตีกันเป็นเรื่องธรรมดา และการที่สามีทำร้ายเรา ก็คิดว่าทำได้มั้ง ไม่รู้เลยว่านี่เป็นมูลเหตุของการฟ้องหย่าได้แล้วนะ นั่นเพราะเราไม่รู้กฎหมาย เป็นประเด็นที่คิดว่าคนอีกหลายคนในสังคมก็ไม่รู้

มีกลุ่มผู้นำชุมชนทางภาคเหนือเล่าให้ฟังว่า ในหมู่บ้านหนึ่งมีเคสเมียน้อย คือ ผู้ชายมีภรรยาแล้ว และมาหลอกผู้หญิงคนนี้ให้เป็นเมียอีกคน พอผู้หญิงรู้ก็อยากเลิก กลับโดนผู้ชายทำร้าย ผู้หญิงคนนี้ไปหาตำรวจ แต่ตำรวจก็ปล่อยผู้ชายคนนี้กลับมา เค้าต้องหนี หนี หนี โดยไม่รู้ว่าจะหนีจากปัญหาแท้จริงได้ยังไง เป็นประเด็นเลยว่าผู้หญิงที่ไม่รู้กฎหมายจะไม่รู้เรื่องสิทธิของตัวเอง

ตอนเค้าไปโรงพัก ตำรวจแค่ลงบันทึกประจำวัน ซึ่งหมายความว่า คุณไม่ได้ต้องการเรียกร้องเอาผิด มันเป็นการลงบันทึกประจำวันว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเท่านั้น เปลี่ยนคำพูดแค่นั้นเอง คนไม่เข้าใจ บอกไปโรงพักแล้ว ไปบอกตำรวจแล้วว่าผู้ชายคนนี้ทำร้าย การลงบันทึกประจำวันเท่ากับช่วยผู้ชาย

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นแจ้งความดำเนินคดีปุ๊บ ตำรวจต้องพิสูจน์ ดำเนินคดีให้คุณ ผู้ชายคนนี้เป็นจำเลย ต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ถ้าคุณไม่รู้กฎหมายเลย คุณจะกลายเป็นคนที่ด้อยโอกาสทางความคิดปัญญาไปเลย

* เรียนปริญญาตรีไม่พอ ต้องรู้ลึกถึงระดับปริญญาโทเลยเหรอคะ

ปริญญาตรีนิติศาสตร์ เรียนกฎหมายทั่วๆไป แต่ปริญญาโทมีกฎหมายมหาชนให้เลือก อ้วนสนใจเรื่องโครงสร้างของสังคมว่าทำไมออกกฎหมายมาแบบนี้ อยากรู้ที่มาของกฎหมาย และบ่อเกิดตรงนี้ว่ามันส่งผลยังไงบ้าง และเราจะมีวิธีการในการออกกฎหมายยังไง จะเข้าไปแก้ไขเรื่องการออกกฎหมายได้ยังไง

* อะไรเป็นแรงดลใจให้ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อนี้

เป็นคนสนใจเรื่องผู้หญิงอยู่แล้ว ตั้งใจเลยว่าจะทำเกี่ยวกับเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม เพราะเจอปัญหาตรงนี้ค่อนข้างเยอะ ทั้งในแง่มุมประสบการณ์ส่วนตัว และที่เข้ามาคลุกคลีเรียนกฎหมาย

กฎหมายมหาชนทำให้เกิดความคิดว่า จริงๆแล้ว โครงสร้างกฎหมายเหมือนกับโครงสร้างสังคม พูดถึงความเท่าเทียมกัน แต่พูดเอาไว้ลอยๆ นึกออกมั้ยคะ เหมือนลอยอยู่ในอากาศ คุณไม่ได้ลงรากลึกลงไปในกฎหมายที่ต้องนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆของคนเรา คุณเขียนไว้สวยหรู เหมือนสร้างบ้านดูจากภายนอกสวยมากเลย หลังคา จั่ว ดูดีมากเลย แต่เข้าไปอยู่ในบ้านแล้ว คุณไม่ได้ใช้งาน คุณไม่สามารถนำโครงสร้างตรงนี้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์กับคนที่อาศัยในบ้านได้ ก็เลยรู้สึกว่ามีมุมมองอะไรขึ้นมา

ประกอบกับอ้วนไม่เข้าใจว่าทำไมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องเหตุหย่ายังไม่ได้รับการแก้ไขสักที ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องความเสมอภาคแล้ว และอ้วนเข้าไปศึกษาในกลุ่มของผู้หญิงเอง มีกลุ่มผู้หญิงหลายๆกลุ่มที่ท่านเป็นนักกฎหมายหญิงรุ่นใหญ่แล้ว อยู่ในสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี หรือในกลุ่มบัณฑิตสตรี สำนักกฎหมาย เป็นผู้หญิงหัวทันสมัยที่เริ่มเรียนกฎหมายในยุคแรกๆของธรรมศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเรียนกฎหมาย ก็เอ๊ะ ! ผู้หญิงกลุ่มนี้เคลื่อนไหวผลักดันแก้กฎหมายมาตลอด แต่ทำไมประมวลกฎหมายนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขสักทีล่ะ มานั่งคิด คิดไปคิดมา มามองในแง่มุมการออกกฎหมาย

กฎหมายออกมาได้ต้องผ่านรัฐสภา และเมื่อเรากลับไปดูรัฐสภา ทำไมรัฐสภาถึงไม่แก้ไขกฎหมายพวกนี้ พออ้วนเข้าไปห้องสมุดรัฐสภาหาข้อมูล ปรากฏว่าจริงๆแล้ว ในการประชุมของคณะกรรมการในการแก้ไขกฎหมายไม่สนใจในประเด็นของผู้หญิง ก็เกิดความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาอีกว่าทำไมเค้าไม่สนใจในประเด็นของผู้หญิง



* เพราะสส.สว.ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายรึเปล่า

ใช่ค่ะ นั่นคือคำตอบ มีผู้หญิงเข้าไปในรัฐสภากี่เปอร์เซ็นต์เอง และเสียงผู้หญิงที่เข้าไปน้อยแค่นี้มันจะเกิดการผลักดันอะไรได้ และถ้าเกิดผู้หญิงส่วนน้อยนิดนี้ยังมีแนวความคิดคล้ายผู้ชาย ยังไม่ตื่นตัวเรื่องสิทธิของผู้หญิงเอง มันย่อมทำให้มีโอกาสน้อยมากที่จะผลักดันการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิสตรี

ในเมื่อผู้หญิงในสภามีน้อย ทำยังไงให้ผู้หญิงเข้าไปสู่สภามากขึ้น บังเอิญไปทำแบบสอบถามกับบรรดาสว.เรื่องกฎหมายแรงงาน และได้เจอกับ คุณมาลีรัตน์ แก้วก่า ท่านถามถึงเรื่องวิทยานิพนธ์ด้วย ก็บอกว่าสนใจอยากทำประเด็นของผู้หญิง ท่านก็พูดว่าทำไมไม่ลองทำเรื่องผู้หญิงกับการเข้ามาระบบโควต้า ท่านเคยได้รับเชิญไปประชุมที่ประเทศอินโดนิเซียเรื่องการกำหนดระบบโควต้าในรัฐสภาของเค้า ท่านก็มีข้อมูลให้ว่าประเทศเค้ากำหนดให้มีผู้หญิงในการเมือง 30%

นอกจากท่านให้ไอเดียแล้ว ยังให้ข้อมูลด้วย ต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

แล้วอ้วนไปศึกษาหาข้อมูลต่อ เวลามีใครจัดสัมมนาอะไรที่ไหน ก็จะดูว่างานไหนเกี่ยวข้องเรื่องผู้หญิงกับการเมือง ก็ไปฟัง ไปสัมภาษณ์บุคคลที่ทำงานด้านนี้ อย่างไปสัมภาษณ์ คุณสุพัตรา ผู้จัดการซีดอว์ในประเทศไทยซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของยูเอ็น เหมือนกับดูแลประเทศที่ได้ลงนามในอนุสัญญาซีดอว์ ท่านพูดว่าเวลาเราอ้างหรือพูดถึงแนวความคิดของกฎหมายฉบับไหนก็ตาม เราต้องพูดถึงต้นเค้าของที่มาก่อนว่าแนวความคิดนี้มาจากไหน

เมื่อไปศึกษา ก็พบว่าแนวความคิดนี้มาจากยูเอ็นนะ มันไม่ใช่แค่ว่ามาจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ยูเอ็นเห็นด้วยว่าในประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาเรื่องสิทธิสตรีค่อนข้างเยอะ เพราะอำนาจไปตกอยู่ในมือผู้ชาย ผู้นำล้วนเป็นผู้ชาย ขณะที่โอกาสเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในประเทศที่เจริญแล้วมีมากกว่า ที่ถูกยกตัวอย่างมากที่สุด เห็นจะเป็นกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ถึงแม้เป็นกลุ่มประเทศเล็กๆ แต่กระบวนการเจริญเติบโตทางประชาธิปไตย ในเรื่องสัดส่วนหญิงชายชัดเจนมากกว่า

ยูเอ็นเองก็เห็นด้วยกับแนวความคิดแบบนี้ ถึงได้กำหนดอยู่ในอนุสัญญาซีดอว์เรื่องของผู้หญิงกับการเมือง ผู้หญิงกับอำนาจการตัดสินใจ

นี่เป็นประเด็นนะ ถ้าคุณให้ผู้หญิงมีอำนาจตัดสินใจแค่อยู่ในครอบครัว เอ้า วันนี้ทำกับข้าวอะไรดี กินอะไรอร่อย มันไม่ใช่ไง เรากำลังพูดถึงโครงสร้างในสังคม อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ผู้ออกกฎหมาย ซึ่งก็คือ รัฐสภา



* รัฐธรรมนูญปี 50 เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นไม่ใช่เหรอ

ยังหรอกค่ะ รัฐธรรมนูญปี 50 เหมือนเป็นการเปิดช่องให้ผู้หญิงมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆที่ผ่านมาเท่านั้นเอง แต่ถามว่าช่องทางที่คุณเขียนเปิดไว้ หลังจากการผ่านการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มันบ่งบอกว่าไม่แตกต่างกันเลย

โอเค กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดในเรื่องของการส่งบัญชีรายชื่อของผู้สมัครสส.ต้องคำนึงถึงโอกาสเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย แต่ถามว่าการกำหนดไว้แค่คำหรูๆสวยๆ แต่พอถึงภาคปฏิบัติ พรรคการเมืองไม่ส่งจะทำยังไง

ถามกลับไปที่พรรคการเมือง ก็บอกไม่มีผู้หญิงมาสมัคร จะให้ส่งใครล่ะ และเราก็ไปเอาอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เหมือนกับรัฐธรรมนูญเขียนไว้สวยๆ แต่พอถึงปฏิบัติใช้งานก็ไม่ได้ใช้ เพราะผู้ชายไม่ได้คิดว่าเป็นส่วนสำคัญ ไม่ได้คิดว่าจำเป็น เพราะเค้าต้องตีกันเรื่องใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นรัฐมนตรีอยู่แล้ว ใครจะมาเรียกร้องเรื่องหญิงชาย ในกลุ่มผู้หญิงเองก็ยังมองว่าไม่ใช่เป็นปัญหาสำคัญ ผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมยังมองว่าชีวิตด้านอื่นสำคัญมากกว่า

แม้แต่ไม่กี่สิบปีมานี้เองในยุค ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเคยวิจารณ์ผู้หญิงในเรื่องที่มาเรียกร้องสิทธิต่างๆว่า จะมาเรียกร้องอะไร ผู้หญิงยืนฉี่ได้ก่อนสิ หรือมีกลุ่มที่ว่าผู้หญิงอยากมีหนวดเหรอ มันไม่ใช่ไง ประเด็นคือว่า เราเป็น ‘คน’ เหมือนกัน

อ้วนเอาเรื่องวิทยานิพนธ์ไปพูดกับอาจารย์หลายท่านมาก มีท่านหนึ่งเป็นอาจารย์จุฬาบอกเดี๋ยวนี้นิสิตนิติจุฬามีแต่ผู้หญิง ผู้หญิงสอบเข้านิติศาสตร์ได้เกิน 50 % อย่างนี้ไม่ถูก น่ากำหนดโควต้า ตรงนี้เราต้องเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องมันสมอง ทำไมคุณไม่มองย้อนกลับว่าผู้หญิงฉลาดใช่มั้ย สอบแข่งขันกับผู้ชายได้ แสดงว่าใช้สมองนะ เราใช้หลักการสอบเข้าโดยใช้ความสามารถในเชิงความรู้ทางปัญญา แต่คุณจะเอาตรงนี้ไปเปรียบเทียบกับการเข้าสู่การเมืองไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน

เรากำลังพูดถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคซึ่งแตกต่างกันไป ปัจจัยในเรื่องการสอบเข้าคือ ความขยัน สมอง ซึ่งต่างกับการเมืองที่มีเงื่อนไขเยอะกว่ามาก คุณต้องเอาชนะก้าวข้ามอคติในสังคมกลุ่มนั้น คุณจะลงสส.เขตนี้ คุณต้องเอาชนะแนวความคิดของคนในพื้นที่ก่อน เพราะบางคนบอกไม่ชอบผู้หญิง ไม่อยากให้ผู้หญิงได้ ผู้หญิงเองก็ไม่ชอบผู้หญิงด้วยกันเยอะนะ นี่คือ อุปสรรคในแนวความคิด

ในแนวคิดของคนที่จะเลือกใครสักคนเป็นผู้แทนมันจะมีเรื่องอุปสรรคในความคิดเยอะ ผู้หญิงมีหน้าที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน อย่ามาเจ๋อเรื่องการเมือง อ้วนมีเพื่อนหลากหลายอาชีพ พวกข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ มองผู้หญิงไปอีกแบบหนึ่งเลย เค้ามองว่าเป็นแค่เพศสวยงาม มีหน้าที่แต่งตัวสวยๆ ให้เจริญหูเจริญตาก็พอแล้ว

และตัวผู้หญิงเองจำนวนไม่น้อยก็มองว่าสบายแล้ว มาเหนื่อยยากลำบากเรียกร้องอะไรทำไมล่ะ เดี๋ยวผู้ชายก็หาทุกอย่างที่คุณต้องการมาให้ แต่ถามหน่อยเหอะ แล้วความคิดของเราอยู่ตรงไหน เราได้แสดงออกถึงความคิดมั้ย และคุณแน่ใจได้ไงว่าผู้ชายจะทำสิ่งที่คุณต้องการได้ครบถ้วนทุกอย่าง มันไม่มีใครตอบปัญหาใครได้ยกเว้นตัวเค้าเองที่จะตอบ เหมือนอย่างอ้วน ใครจะมานั่งทายใจอ้วนได้ไงว่าอ้วนอยากได้อะไร



* ในเมื่อสังคมส่วนใหญ่หรือแม้แต่ผู้หญิงเองยังมีแนวคิดเช่นนี้ คุณอ้วนมีข้อเสนออะไร

ถ้าผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นในสัดส่วนที่เรียกว่า ‘มวลวิกฤติ’ (Critical Mass) มันเป็นศัพท์เทคนิคจากงานวิจัยของต่างประเทศ คำว่า ‘มวลวิกฤติ’ คือ มวลกลุ่มหนึ่งสามารถพลิกสถานการณ์ของกลุ่มในสังคม ชุมชนนั้นได้ และเค้าพูดในประเด็นว่ามวลวิกฤติควรอยู่ในจำนวนที่ร้อยละ 30

งานวิจัยที่ถูกอ้างถึงบ่อยๆ คือ เรื่องลิงในประเทศญี่ปุ่น มีการขนลิงไปทดลองบนเกาะแห่งหนึ่ง แล้วนักวิทยาศาสตร์เอาข้าวโพดไปโปรยให้ลิงกิน ส่วนใหญ่หยิบขึ้นมากินเข้าไปเลย มีคาย มีบ้วนทิ้ง แต่มีลิงอยู่ตัวหนึ่งคิดไม่เหมือนลิงตัวอื่น หยิบข้าวโพดไปล้างน้ำที่ลำธาร เอาทรายออกก่อนถึงจะกิน ตอนแรกทำอยู่ตัวเดียวยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในฝูงได้ จนเมื่อมีการขยับเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ดังนั้นอ้วนก็เลยเสนอในวิทยานิพนธ์ว่า ถ้าเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวความคิดของคนในสังคมได้ มันควรมีผู้หญิงเข้าไปในสัดส่วนร้อยละ 30 ก่อนที่จะให้เกิดแนวความคิดว่าควรมีการแก้ไขกฎหมายอะไรเพื่อส่งเสริมผู้หญิง

เพราะต้องเข้าใจว่าผู้หญิงผู้ชายมีความคิดหลากหลาย ตัวผู้หญิงเองยังมีแนวความคิดไม่เหมือนกันเลย ทีนี้ต้องเข้าไปในสัดส่วนประมาณนี้เพื่อเปิดโอกาสพลิกความคิดของผู้หญิง เฮ้ย ไอ้สิ่งที่สำคัญกับผู้หญิงไม่ใช่แค่ว่าทำไงให้คุณอ่อนเยาว์ตลอดกาล หรือสวยตลอดปีตลอดชาติ มันอยู่ที่ว่าคุณจะทำไงให้โอกาสในสังคมในเรื่องผู้หญิงผู้ชายที่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันอยู่ มันเกิดความเท่าเทียมกัน ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญกับคุณนะ

ประเด็นในเรื่องความเสมอภาคเป็นโอกาสที่เราต้องเริ่มต้นขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่น และเพื่อผลต่อไปในอนาคต ถ้าคุณคิดว่าไม่จำเป็น มันก็เป็นปัญหาขึ้นมาว่าเมื่อไรล่ะ ทำไมเราไม่คิดว่า โอเค เราสบาย เราเป็นชนชั้นกลาง ไม่ต้องทำงานด้วยความเหนื่อยยาก แต่เมื่อมองไปที่ผู้หญิงคนอื่น อย่างเช่น กลุ่มผู้หญิงใช้แรงงาน กลุ่มผู้หญิงผู้พิการ

อ้วนได้คุยกับกลุ่มผู้หญิงพิการ ฟังแล้วก็สะท้อนใจ เค้าบอกเค้าไม่ได้พิการแต่กำเนิด อุบัติเหตุทำให้เค้าต้องพิการกระดูกสันหลัง เป็นอัมพาตครึ่งท่อน จากทำงานเป็นพนักงานแบงค์ พอประสบอุบัติเหตุกลายเป็นคนพิการปุ๊บ เค้าต้องออกจากงานและมาเริ่มต้นวิชาชีพสำหรับคนพิการ เค้าถามว่าสมองเค้าปัญญาเค้าก็ยังใช้ได้อยู่ เพียงแค่ว่าเดินไม่ได้เท่านั้นเอง แต่เค้าต้องเริ่มต้นอาชีพใหม่เป็นอาชีพของพิการ นั่นเพราะสังคมมองว่าเค้าพิการ ทำให้เค้าด้อยค่าไปเลย

บริษัทบอกชั้นจะจ้างคนพิการทำไม จ้างคนปกติไม่ดีกว่าเหรอ และคนปกติก็รู้สึกว่าถ้าบริษัทนี้ต้องจ้างคนในอัตราส่วน 100 คน ต้องกันให้คนพิการ 10 คน โอกาสของเค้าก็จะเหลือแค่ 90 คน พอคิดอย่างนี้ทุกคนก็เห็นแก่ตัว ย้อนกลับไปในเรื่องสส.สว. สมมติว่าผู้หญิงไปเรียกร้องต้องให้สัดส่วนที่นั่งผู้หญิงร้อยละ 30 ผู้ชายบอกแค่ 100 เก้าอี้ก็แย่งกันเกือบตายแล้ว เรื่องอะไรให้ถูกตัดไป 30 เหลือแค่ 70 โอกาสที่จะเข้าไปสภายิ่งน้อยลงไปอีก

ทีนี้การจะแก้ไขได้หรือไม่ มันอยู่แค่ที่ ‘ผู้มีอำนาจ’ ว่าจะเอาด้วยมั้ย

ในวิทยานิพนธ์อ้วนศึกษา 5 ประเทศ อาร์เจนติน่าใกล้เคียงไทยเราที่สุด ประเทศเค้าสามารถออกกฎหมายระบบโควต้าได้ ทั้งๆที่ผู้นำของเค้าตอนนั้นเป็นผู้ชาย เค้าพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้ให้ได้แม้ว่ารัฐสภาไม่เห็นด้วย และเค้าก็ทำสำเร็จ ได้เสียงจากผู้หญิงเยอะแยะ



* คาดหวังว่าแนวคิดในวิทยานิพนธ์จะได้รับการสานต่อมากน้อยขนาดไหน

มีคนบอกวิทยานิพนธ์อ้วนเป็นไปได้ยาก (หัวเราะ) แต่อ้วนก็ยังหวังว่าทำยังไงให้ออกกฎหมายที่เอื้อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ประเทศอื่นมีกันแล้วแต่ไทยยังไม่มีเลย ใน 5 ประเทศที่อ้วนศึกษา อาเจนติน่า นอร์เวย์ เกาหลีใต้ ราวันดา และอังกฤษ มีทิศทางการออกกฎหมายที่แตกต่างกันไป แต่มีจุดประสงค์เรื่องเดียวกันคือ ทำไงให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และเราเพียงมองว่าแนวทางไหนเหมาะสมกับประเทศไทย

ทุกวันนี้สส.สว.มองเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำไงให้คนอิ่ม ทำไงให้ของลดราคาลง ทำไงให้ใช้ชีวิตได้โดยให้มีเงินเหลือในกระเป๋า แต่ไม่ได้มองเลยว่าโอกาสเรื่องผู้หญิงผู้ชายยังไม่เท่าเทียมกันนะ ทำไมผู้หญิงได้โอกาสน้อยกว่า และต้องพึ่งพาผู้ชายอยู่ ทั้งที่ความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทำไงให้ผู้หญิงได้มีโอกาสพูด และนำเสนอบ้าง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เวลาพูด ให้ผู้ชายพูดเป็นหลัก ผู้ชายจะเข้าใจผู้หญิงได้ไงในเมื่อเค้าไม่เคยเป็นเรา

อย่าง อ้วนเคยประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน เราเข้าใจเลยว่าเราต้องการอะไร แต่ถามผู้ชายเข้าใจมั้ย เค้าไม่เข้าใจหรอก โยงมาในประเด็นกฎหมาย ปัญหาคือ ผู้ร่างเป็นผู้ชาย คุณร่างมา คุณไม่เคยถามผู้หญิงเลยว่าผู้หญิงต้องการแบบนี้รึเปล่า นั่นคือ ประเด็นให้อ้วนรู้สึกว่ามันต้องให้ผู้หญิงเข้าไปสู่ ณ จุดนั้นสิ

ขอวิจารณ์เรื่องพรบ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว กรอบของกฎหมายฉบับนี้ให้คำนิยามบอกว่า บุคคลในครอบครัวคือ สามีภรรยา รวมถึงอดีตสามีภรรยา ซึ่งเราก็มอง เฮ้ย มันไม่ถูกต้องนะที่จะให้อดีตสามีภรรยาถ้าเลิกไป 10 ปีแล้ว เกิดกลับมามาทำร้ายเรา แต่ให้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายพรบ.ตัวนี้ด้วย

ในเมื่อความเป็นสามีภรรยาจบไปตั้งนานแล้ว เกิดมีการใช้กำลังอีก ก็ต้องว่าตามประมวลกฎหมายอาญาสิ จะมาเข้าอยู่ในพรบ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวได้ไง



วัตถุประสงค์การร่างกฎหมายนี้ว่าคุ้มครองสถาบันครอบครัว เฮ้ย แต่ชั้นไม่เคยคิดจะสร้างสถาบันครอบครัวกับคนนี้อีกครั้งหนึ่ง เค้าก็เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่เมื่อทำผิดก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย

หรือตีเราขนาดนี้ ทำร้ายร่างกายขนาดนี้ ผู้หญิงไม่เอาแล้วล่ะ ชั้นไม่คิดกลับไปเป็นครอบครัวกับเธอหรอก ชั้นเลี้ยงดูชั้นเองได้ ทำไมชั้นต้องกลับไปอยู่เป็นครอบครัวแบบเดิมและกลับไปผวาว่าไม่รู้วันไหนจะมาทำร้ายชั้นอีกรึเปล่า หรือชั้นจะรู้ได้ไงว่าการที่กฎหมายบอกว่าส่งผู้ชายคนนี้ไปรับการแก้ไข จะไม่ทำให้ผู้ชายคนนี้กลับมาเหมือนเดิม ชั้นอยู่คนเดียวดีกว่า ทำไมชั้นต้องไปรักษาความเป็นครอบครัวแบบเดิมอีกในเมื่อชั้นไม่ต้องการ แต่กฎหมายไม่ได้เปิดช่องทางแบบนี้ให้ ทุกเคสต้องเข้าโครงการดำรงความเป็นครอบครัวอยู่นั่นแหละ

คุณต้องให้สิทธิ์ผู้หญิงถึงจะถูกต้อง ถามเค้าก่อนว่าผู้หญิงเห็นด้วยหรือไม่ จะเข้าโครงการนี้มั้ย นี่คือ สิ่งที่อ้วนเคยพูดตั้งแต่เป็นร่างกฎหมาย เคยพูดออกโทรทัศน์ด้วยว่าจริงๆแล้ว ต้องให้สิทธิ์ผู้หญิงสิ ไม่ใช่ความคิดของผู้ร่างถูกต้องหมด โดยไม่เคยไปถามความคิดของผู้หญิงเลย

มันเป็นสิทธิ์ของผู้หญิงที่จะดำเนินการแจ้งความ มันเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวด้วยถ้าไปดูประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยในเรื่องความเสียหาย กฎหมายจะไม่เข้ามายุ่ง เว้นแต่ผู้เสียหายคนนั้นเสียชีวิต หรือนอนไอซียู ไม่สามารถไปแจ้งความได้

* คุณอ้วนค้นพบอะไรระหว่างทำวิทยานิพนธ์

อ้วนว่าอ้วนได้ค้นพบแง่มุมของผู้หญิงมากขึ้นๆ โดยเฉพาะในแง่มุมผู้หญิงที่อยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าจริงๆแล้ว ผู้หญิงทั่วโลกคิดอะไรไม่แตกต่างกันหรอก และปัญหาของผู้หญิงก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่รูปแบบของปัญหาอาจแตกต่างกัน และสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องของความคิดก็ไม่แตกต่างกัน

รวมทั้งจากที่เคยรู้สึกแย่กับตัวเองว่าทำไมต้องมาเจอเรื่องราวแบบนี้ แต่ว่านั่นแหละ มันถูกลิขิตมา เราเจอเค้า มีปัญหากับเค้าเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้เรามานั่งเรียนกฎหมาย ทำให้เราได้เรียนรู้อีกโลกหนึ่ง ถ้าเราไม่เจอเรื่องแบบนี้ เราคงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้แบบนี้ อาจเป็นแค่พยาบาลทำงานตามสเต็ปไป มีมุมมองอีกมุมหนึ่ง แต่พอมีเหตุการณ์อะไรเข้ามา ทำให้มุมมองเราเปลี่ยนไป

สิ่งที่อ้วนเคยเจอถึงแม้เป็นเรื่องเลวร้าย แต่อย่างน้อยมันก็สะท้อนไปในตัวอ้วนด้วยว่าคนในสังคมเป็นยังไง เดี๋ยวนี้อ้วนไม่ได้สนใจแค่เรื่องตัวเอง แต่คิดด้วยว่าเราจะทำอะไรให้คนอื่นได้บ้างนอกเหนือจากทำเพื่อตัวเอง



ที่มา
manager.co.th
Create Date :09 มีนาคม 2552 Last Update :10 มีนาคม 2552 0:06:44 น. Counter : Pageviews. Comments :8