bloggang.com mainmenu search
เทคนิคการถ่ายภาพเชิงสารคดี

อย่างที่รู้กันว่าในฐานะที่ผมเป็นช่างภาพ นอกจากมีงานที่ต้องทำประจำอยู่แล้ว แต่บ่อยครั้งผมก็มักจะได้ออกไปทำข่าวต่างๆ มากมายหลายประเภท ทำให้ผมรู้สึกอยากจะเขียนบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพเชิงข่าวและเชิงสารคดีอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนครับเพราะมันเป็นแนวทางการถ่ายภาพชนิดหนึ่ง  แต่ความน่าสนใจของมันไม่ใช่ความสวยงามของภาพไปซะทั้งหมด มันคือการบอกเล่าเรื่องราวความจริงที่เป็น “หนึ่งภาพแทนล้านคำ” ต่างหาก และวันนี้ผมจะมาแชร์จากประสบการณ์ของผมว่าถ้าเราอยากจะเริ่มถ่ายภาพแนวนี้ว่าเราควรมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง…



ในช่วงที่ผ่านมามีหลายๆ เหตุการณ์ที่ผมได้ถ่ายภาพนอกสถานที่ที่ต้องพบปะกับผู้คนมากพอสมควร ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับคอลัมน์ฉบับนี้ การถ่ายภาพเชิงสารคดีก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันสักนิดนะครับว่ามันไม่เหมือนภาพข่าว ข้อแตกต่างของมันคือภาพข่าวต้องเป็นภาพที่สดใหม่อยู่เสมอหากเวลาผ่านพ้นไปนานภาพเหล่านั้นก็จะตกกระแสไปอย่างรวดเร็ว ส่วนภาพถ่ายเชิงสารคดีไม่เน้นเรื่องความสดใหม่แต่ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องเป็นสำคัญและการชูประเด็นที่ช่างภาพจะสื่อออกมา ซึ่งมันจะใช้ประกอบกับสำนวนการเขียนให้กลมกล่อมสมบูรณ์มากขึ้นนั่นเอง

ภาพถ่ายเชิงสารคดีที่เราเห็นทั่วไปนั้นมักจะนำเสนอในรูปแบบของภาพชุด  เมื่อแต่ละภาพนั้นรวมกันแล้วสามารถเล่าเรื่องราวต่อเนื่องได้ตามประเด็นที่นักถ่ายภาพอยากจะสื่อสารออกมาให้ผู้รับได้เข้าใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือภาพทุกภาพที่นำเสนอต้องไม่บิดเบือนความเป็นจริง และไม่เป็นภาพที่ดูแล้วเป็นการเปลี่ยนความคิดหรือชักจูงคนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เพราะบางเรื่องนั้นอาจมีศาสนา การเมือง วิถีชีวิต เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นการเขียนบรรยายของเรานี่แหละที่จะทำให้ช่องว่างเรื่องของความละเอียดอ่อนนี้ลดลง

สำหรับการถ่ายภาพเชิงสารคดีนั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นภาพถ่ายแนววิถีชีวิตคนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงการถ่ายภาพทุกแนว ไม่ว่าจะเป็น ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพมาโคร ภาพใต้น้ำ ภาพถ่ายจากทางอากาศ ได้หมดครับ อยู่ที่เราจะเลือกในการนำเสนอมากกว่า  บทความนี้เราจะไม่พูดถึงการเขียนบรรยายอะไรทั้งสิ้น เราจะพูดถึงเรื่องภาพเท่านั้นนะครับตามที่เราอยู่ในฐานะคนหลังกล้องนั่นเอง

ถ้าเราอยากจะถ่ายภาพแนวนี้บ้างจะต้องทำยังไง! ไม่ยากครับ ในเบื้องต้นเราอาจจะหาสถานที่ใกล้ตัวและกำหนดภาพอยู่ในหัวซะก่อนกับประเด็นว่าจะนำเสนอภาพแนวไหน สำหรับขั้นตอนนี้ฟังดูไม่ยากเท่าไหร่ เพราะเราสามารถหาข้อมูลได้หลายๆ ทางจากโลกไซเบอร์ แต่สิ่งที่หลายๆ คนมักมีปัญหาคือการไปถ่ายภาพจริงๆ นี่แหละ เพราะผมเชื่อว่าคงมีหลายคนที่เคยไปถ่ายภาพวิถีชีวิตคนแล้วเขาไม่ปลื้มผู้ถ่ายอย่างเราเท่าที่ควร ดังนั้นวันนี้ผมจะมาแชร์ในแบบฉบับของผมกันว่า ถ้าเราจะต้องไปออกพื้นที่จริงๆ นั้นจะต้องเตรียมตัวอย่างไร… ตัวผมเองไม่ใช่คนที่เคร่งทฤษฎีมากสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นจากประสบการณ์จริงมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้วก็ขอให้ลืมกฎเกณฑ์เดิมๆ ไปสักครู่ได้เลยครับ…

--------------------------------------------------------------------------------

ศึกษาสถานที่



คงไม่มีใครคิดอยากจะไปถ่ายภาพที่ไหนสักที่แล้วสตาร์ทรถออกไปแบบไม่มีจุดหมาย อันดับแรกสุดคือการศึกษาข้อมูลของสถานที่ที่เราจะไปถ่ายครับว่าภาพรวมเป็นอย่างไร สภาพการเดินทาง มีอะไรที่ต้องเตรียมไปเป็นพิเศษรึเปล่า เพราะบางพื้นที่นั้นอย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างที่เราได้รับอยู่ทุกวันนั้นอาจจะไม่มีเลยก็เป็นได้ สำหรับในข้อนี้เชื่อว่าการถ่ายภาพทุกแนวก็ต้องใช้แนวทางนี้ทั้งสิ้น

--------------------------------------------------------------------------------

Mix & Match การแต่งกาย

เมื่อเราได้สถานที่และเป้าหมายที่จะไปถ่ายภาพแล้ว ยังไม่ต้องดูองค์ประกอบอื่นไกล ให้ดูที่เสื้อผ้าหน้าผมเรานี่แหละว่ามันเข้ากับสถานที่นั้นๆ รึเปล่า! ยกตัวอย่างแบบว่าจะต้องไปถ่ายวิถีชีวิตผู้คนที่ตลาดเก่าอายุอานามร่วมร้อยปี แต่เราแต่งตัวเหมือนไปเดินห้างสรรพสินค้า ในแง่ของความเด่นผมว่าไม่ผิดเลยว่าถ้าคุณไปอยู่ตลาดแล้วสายตาทุกคู่จะจับจ้องมาที่คุณอย่างแน่นอน แต่ในระหว่างการถ่ายภาพของคุณก็จะเหมือนโดนเพ่งเล็งตลอดเวลาแถมอาจจะเจอคำถามของคนในพื้นที่อีกต่างๆ มากมาย ทีนี้แหละอุปสรรคทางการถ่ายภาพต่างๆ นาๆ จะเข้ามานับไม่ถ้วน เอาเป็นว่าเลือกแต่งตัวที่คล่องตัวและคล้อยตามกับสถานที่จะดีกว่าครับ

ในส่วนนี้ผมจะพูดถึงเทคนิคการถ่ายภาพครับ สำหรับการถ่ายภาพเชิงสารคดีไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม เราควรจะไปลุยถ่ายภาพในพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล แต่การจะให้ได้มาซึ่งภาพที่ดีนั้นมีผมแบ่งองค์ประกอบเป็นข้อต่างๆ ดังนี้

--------------------------------------------------------------------------------

ยิ้มสยาม



นี่คืออาวุธเด็ดของช่างภาพในการชนะใจเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนที่ไม่รู้จักกันได้ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นแนวไหนก็ตาม และวิธีการในที่นี้ก็มีมากมายซะเหลือเกินที่เราจะสื่อสารออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าหาอย่างนอบน้อม การใช้น้ำเสียงที่ดูเป็นมิตร การถามไถ่พูดคุยเรื่องราวและแนะนำตัวเอง รวมไปถึงการขออนุญาตต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำอย่างเช่นการถ่ายภาพเป็นต้น ถ้าเราเข้าหาอะไรก็ตามอย่างเป็นมิตร สิ่งที่เราได้รับก็จะมาอย่างเป็นมิตรเหมือนกัน

--------------------------------------------------------------------------------

อาวุธคู่กาย

ถ้าเป็นการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์หรือแมลงเราอาจจะจัดเต็มเรื่องอุปกรณ์ได้ไม่ยากตราบเท่าที่แรงจะมี และสามารถถ่ายได้แบบชิวๆ ไม่ต้องแคร์คนรอบข้าง แต่ในการถ่ายภาพเชิงสารคดีแบบนี้ โดยเฉพาะภาพที่มีคนเข้ามาเกี่ยวแล้ว ความคล่องตัวและจิตใจของผู้ที่ถูกถ่ายเป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมากเลยทีเดียว



ในการลงพื้นที่จริงนั้น ถ้าเป็นไปได้การเลือกใช้กล้องและเลนส์ตัวเล็กๆ เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลยสำหรับการทำงานของเรา ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเจอเหตุการณ์ต่างๆ มานับไม่ถ้วนสำหรับการถ่ายภาพบุคคลที่เราไม่รู้จักกันมาก่อน และสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายภาพก็มีทั้งดีและไม่ดี ถ้าดีก็เสมอตัวไป แต่บางกรณีก็อาจจะแย่ถึงขั้นโดนไล่ไม่ให้ถ่ายเลยก็เป็นได้ ปัจจัยหนึ่งที่เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นก็มาจากอุปกรณ์ที่เราใช้ด้วยแหละครับ

อย่างที่บอกไปว่าความใหญ่ยักษ์จากอุปกรณ์ของเราสร้างจุดสนใจแก่คนในพื้นที่ได้มากทีเดียว มันก็อาจจะทำให้การถ่ายภาพของเราไม่ลื่นไหลอย่างที่คิดจากการประหม่าของตัวแบบเองที่มักจะเขินเมื่ออยู่ต่อหน้าเลนส์ขนาด 72 มม. ก็เป็นได้ ดังนั้นผมแนะนำให้เลือกใช้เลนส์ตัวเล็กหน่อยแต่ทรงพลัง ตัวอย่างเช่นพวกประเภทเลนส์ Fix หรือเลนส์ซูมชนิดไวแสงก็คงเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย นอกจากตัวแบบจะไม่ตื่นตระหนกตกใจกับเลนส์ขนาดมโหฬารแล้ว เราอาจจะสร้างความคุ้นเคยกับแบบได้รวดเร็วทำให้ถ่ายภาพง่ายกว่าที่คิดก็เป็นได้

อุปกรณ์อีกประเภทหนึ่งที่สร้างความสนใจได้พอสมควรก็คือ “แฟลช” ครับ สำหรับการใช้งานจริงๆ เวลาลงพื้นที่ก็ต้องดูความเหมาะสมว่าจังหวะไหนควรใช้ จังหวะไหนไม่ควร เพราะแสงแฟลชนี่แหละที่สร้างความน่ารำคาญแก่ผู้รับได้พอสมควร อันนี้ก็แล้วแต่สถานการณ์และวิจารณญาณ

--------------------------------------------------------------------------------

ถ่ายภาพแบบทีเผลอ



อย่างไรก็ตามแต่ กรณีที่เราจำเป็นต้องใช้เลนส์ที่มีขนาดใหญ่จริงๆ อย่างเลนส์เทเลโฟโต้ ก็มีทางออกสำหรับปัญหานี้ครับ อย่างที่บอกไปแล้วว่ายิ้มสยามคือสิ่งที่ทำลายกำแพงของคนที่ไม่รู้จักกันให้เกิดความสนิทสนมขึ้น หลังจากนั้นเราก็งัดเทคนิคการถ่ายภาพแบบ Candid มาใช้ซะเลย การถ่ายภาพแบบ Candid จะทำให้เราได้ภาพที่เป็นธรรมชาติมาก เนื่องจากระยะการถ่ายที่ไกลของเราทำให้ตัวแบบไม่รู้สึกเคอะเขิน ซึ่งนี่อาจจะเป็นข้อดีจากเลนส์ตัวนี้ที่เลนส์ Fix ทำไม่ได้ เรียกได้ว่ามีจุดดีจุดด้อยคนละแบบ แต่การถ่ายภาพในลักษณะนี้จำเป็นต้องมีความอดทนและรอคอยเป็นปัจจัยหลักด้วย เพราะเราคงไม่สามารถกดชัตเตอร์ในจังหวะเผลอของตัวแบบแล้วเข้าเป้าทุกภาพเป็นแน่ ดูจังหวะและรอคอยให้ดีๆ เผลอเมื่อไหร่ ก็รีบกดชัตเตอร์ให้ไว…

--------------------------------------------------------------------------------

Eye Contract



ไม่ว่าอารมณ์ของภาพที่เราสื่อสารออกมาจะเป็นอิริยาบถไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ทรงพลังไม่เสื่อมคลายและยังเป็นที่นิยมตลอดเวลาคือการเน้นที่ดวงตา Eye Contract ครับ การถ่ายภาพลักษณะนี้เป็นเรื่องของการสื่อสารอารมณ์ล้วนๆ จะโศกเศร้าเสียใจ ดีใจ ร้องไห้ ก็อ่านได้จากดวงตาทั้งนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ “ห้ามเบลอ” เด็ดขาด ไม่อย่างนั้นแอ็คชั่นตัวแบบจะดีแค่ไหน แต่ถ้าโฟกัสหลุดตาล่ะก็ จบกัน…อะไรก็ช่างที่มีลูกตาให้ชัดเข้าไว้ครับ ดูอย่างภาพมาโครแมลงหรือการถ่ายภาพแบบแพนกล้องสิ ทั้งหลุดทั้งเบลอกระจาย แต่ดวงตานี้ชัดแจ๋วเลย

--------------------------------------------------------------------------------

แสงและเงา

ขาดไม่ได้เลยด้วยประการทั้งปวงสำหรับในข้อนี้ แสงและเงาคือตัวการทำให้ภาพเกิดมิติชนิดที่คนดูถึงกับต้องหยุดและพิจารณามานักต่อนักแล้ว การที่จะทำให้ได้มาซึ่งมิติของภาพนั้นเราก็ต้องดูทิศทางแสงเป็นสำคัญ สำหรับมือใหม่แล้วก็ขอให้ยึดถือมุมโพลาไรซ์เข้าไว้ ก็หมายถึงการถ่ายภาพด้านตรงข้ามพระอาทิตย์นั่นเอง และประสบการณ์ถ่ายภาพบ่อยๆ ก็จะทำให้เราดูทิศทางแสงได้ชำนาญขึ้น จำไว้ว่าภาพที่ไม่มีแสงไม่มีมิติ ถ่ายออกมายังไงความน่าสนใจก็ย่อมด้อยกว่าภาพที่มีมิติกว่าอย่างแน่นอน

--------------------------------------------------------------------------------

Foreground



หลักการในข้อนี้ดูแล้วคุ้นๆ เหมือนการถ่ายภาพวิวบ้างมั้ยครับ แท้จริงแล้วมันก็เป็นเทคนิคหนึ่งในการถ่ายภาพที่ใช้ได้ทั่วไป การให้ความสำคัญกับฉากหน้ามาเป็นส่วนประกอบทำให้ภาพของเราดูมีเรื่องราวและทำให้องค์ประกอบของเราดูมีเรื่องราวมากกว่าที่จะถ่ายตัวแบบโดดๆ อย่างเดียว และที่สำคัญเราต้องดูความสำคัญของตัวแบบและฉากหน้าให้ดีนะครับว่าจะให้อะไรเด่นกว่ากัน

--------------------------------------------------------------------------------

ถ่ายภาพระยะที่หลากหลาย

ในฐานะที่เราเป็นช่างภาพย่อมรู้จักชนิดของเลนส์ดีอยู่แล้วและก็ย่อมที่จะรู้ด้วยภาพถ่ายที่ได้จากเลนส์ระยะต่างๆ นั้นให้อารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกัน โดยเฉพาะการถ่ายภาพที่มีลักษณะเป็นชุดแบบนี้ หากจะถ่ายด้วยเลนส์ไวด์ไปซะหมด ถึงแม้ว่าทุกภาพจะสวยแต่มันขาดความหวือหวาน่าสนใจไป ให้เปลี่ยนความคิดใหม่ไปเลยครับ เราควรจะมีภาพระยะนอร์มอลบ้าง เทเลโฟโต้บ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาพของเราดูสมบูรณ์และครอบคลุมกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี แน่นอนว่ารวมไปถึงมุมมองการถ่ายภาพของเราด้วยว่าไม่ควรจะไปยืนถ่ายภาพอย่างเดียว มุมเสย มุมกด ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจได้ไม่แพ้กัน เผลอๆ แล้วจะอลังการกว่าด้วยซ้ำ ไม่เชื่อลองถามคนที่ชอบใช้เลนส์ไวด์ดูสิ

--------------------------------------------------------------------------------

ดวง



สุดท้ายนี้ใครที่มีเพื่อนชื่อ “ดวง” ขอให้พกมาเลยนะครับ แล้วภาพคุณจะดีเอง…นี่เป็นการหยอกเล่นของผมที่มีคนชื่อ “ดวง” ไปด้วยทุกครั้ง ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าการถ่ายภาพแบบไหนๆ เรื่องของ “ดวง” มักจะแนบชิดติดตามมาด้วยเสมอ ซึ่งผลลัพธ์ของมันจะออก ดวงดี หรือ ดวงแย่ อันนี้ก็ไม่อาจคาดเดาได้ หลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์อย่าง ฟ้าเน่า แสงไม่ดี ฝนตก ในเวลาที่เราจะถ่ายภาพ อะไรทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง หรือใครหลายคนที่อาจจะได้จังหวะของภาพระดับสุดยอดโดยเพื่อนๆ ที่ไปด้วยกันไม่มีโอกาสได้ถ่าย อะไรแบบนี้ นี่คือพลังของดวงครับ มันจะเกาะติดไปกับเราทุกครั้งที่ถ่ายภาพ แต่จะเปิดเผยตัวให้เราเมื่อไหร่ผมก็มิอาจรู้ได้ ส่วนในภาพถามว่าเกี่ยวกับดวงยังไงน่ะเหรอ ตอบได้คำเดียวว่า “ก็ดวงดีได้ถ่ายภาพจากมุมสูงยังไงล่ะ”

กุมารทอง ตลาดพระเครื่อง ตะกรุด พระสมเด็จ

Create Date :11 ตุลาคม 2555 Last Update :11 ตุลาคม 2555 14:19:27 น. Counter : 3756 Pageviews. Comments :0